ปาร์ตี้ลิสต์ นโยบาย หรือ "ธุระไม่ใช่" ของเอ็นจีโอ

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ในขณะที่องค์กรภาคประชาชนกังวลและให้ความสนใจในประเด็นหลักการเกี่ยวกับ "สิทธิ" ต่างๆ ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ว่าจะลดน้อยถอยลงไปกว่ารัฐธรรมนูญ 2540 หรือไม่ ผมกลับไม่กังวลมากนัก

 

เพราะการได้บัญญัติ "สิทธิ" และหลักการเหล่านี้ไว้ในรัฐธรรมนูญ แม้เป็นเรื่องจำเป็นและสำคัญ แต่โลกมันซับซ้อนกว่านั้น เพราะต่อให้เราบรรจุมันไว้ว่า "สิทธิในการแสดงความคิดเห็นเป็นสิ่งที่ใครจะมาละเมิดไม่ได้อย่างยิ่ง อย่างยิ่งยวด สำคัญจริงๆ สำคัญที่สุด สำคัญมากๆนะตัวเอง" แต่เอาเข้าจริง สิทธิเหล่านี้มันก็ใช่ว่าจะเกิดได้ หรือได้รับการเคารพโดยเฉพาะจากรัฐจนตระหนักว่าจะต้องสร้างให้เป็นจริง

 

ยกตัวอย่างอีกก็ได้ว่า "สิทธิในการเดินทาง" ได้รับการรับรองในรัฐธรรมนูญ 2540 ในปฏิญญาสิทธิมนุษยชนสากลก็มี แต่หญิงไทยจะเดินทางไปในบางประเทศนั้นเป็นเรื่องแสนยากลำบากแค่ไหนใครก็รู้ หรือตาสีมีสิทธิเดินทาง แต่ตาสีจะมีเงินนั่งรถหรือนั่งเครื่องบินไปหาดใหญ่เยี่ยมญาติได้หรือไม่เป็นอีกเรื่อง การที่ตาสีจะเดินทางได้จริง จึงต้องอาศัยนโยบายของรัฐที่จะออกมาตรการมาประกันสิทธิ เช่น นโยบายจัดตั้ง บขส. บริษัทขนส่งจำกัด หรือการผลักดันโลว์คอสต์แอร์ไลน์ หรือการอุดหนุนค่าน้ำมัน หรือประกาศวันหยุดยาว เป็นต้น

 

เรื่องของสิทธิ จึงเป็นเรื่องของนโยบาย เรื่องของการกำหนดนโยบาย ตลอดจนการมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบาย เรื่องของพลังต่อรองในการกำหนดนโยบาย และอื่นๆ อีกเต็มไปหมด และคุณจะมีสิ่งเหล่านี้ได้ ก็ต่อเมื่อการเมืองไทยนั้นมีโครงสร้างและกลไกที่ทำให้เกิดการแข่งขันทางนโยบายจริงๆ จังๆ

 

ไม่ว่าคุณจะเกลียดชังพรรคไทยรักไทยแค่ไหนอย่างไร แต่ข้อเท็จจริงก็คือ พรรคไทยรักไทยเป็นพรรคแรกในรอบหลายสิบปีที่นำเสนอนโยบายอย่างเป็นระบบ เป็นรูปธรรม (ไม่เกี่ยวกับดีไม่ดี ไม่ว่ามันจะเป็นนโยบายที่ดีหรือไม่ดี) และใช้มันเป็นกุญแจสู่ชัยชนะอย่างถล่มทลายในการเลือกตั้งทุกครั้งที่ผ่านมา

 

ใครจะบอกว่า พรรคไทยรักไทยใช้เงินซื้อเข้ามาก็ตามที แต่การจะคิดและเชื่ออย่างนี้ได้ หัวใจต้อง "หิน" อยู่พอสมควร เพราะจะต้องเชื่อจริงๆ ว่า คนไทย19 ล้านคนนั้นโง่และซื้อได้ แต่เอาละ ต่อให้ใช้เงินซื้อมา ภาพแห่งชัยชนะของไทยรักไทยก็ยังไม่ใช่เงิน และยังเป็นนโยบายอยู่ดี

 

ที่สำคัญผลสำเร็จของไทยรักไทย ได้ทำให้พรรคอื่นๆ จำเป็นต้องคิดนโยบายมาแข่งขันชนิดหัวแทบแตก บางพรรคถึงขนาดต้องจัดแคมเปญเปิดตัวนโยบายกันชนิดสวยหรู เกทับบลัฟแหลกกัน ซึ่งการจะทำอย่างนั้นได้ พรรคการเมืองนั้นจำเป็นต้องอาศัยวิชาการ คนมีประสบการณ์ ดึงเอาคนมีความรู้ความสามารถเข้ามา พัฒนาคนของตนเอง สร้างระบบและระเบียบ พรรคการเมืองเริ่มมีห้องสมุดอย่างจริงจัง มีระบบฐานข้อมูลเพิ่มมากขึ้น

 

ถ้าเช่นนั้น ลองมาดูกันต่อมาว่า อะไรทำให้พรรคไทยรักไทยเสนอนโยบายได้ หรือกล้านำมันมาเป็นจุดขาย

 

คำตอบก็คือ เพราะรู้ว่า ถ้าเอานโยบายมาขาย เขาจะได้ ส.ส. มาอีกจำนวนหนึ่ง ไม่น้อยกว่า 20 เปอร์เซนต์ เพื่อช่วงชิงเสียงข้างมากและและความชอบธรรมที่จะครองอำนาจรัฐ และนั่นคือเหตุผลและที่มาประการหนึ่งของการออกแบบให้มี ส.ส. ใน "ระบบบัญชีรายชื่อ" หรือที่เรียกว่า "ปาร์ตี้ลิสต์"

 

ทีนี้มาดูกันอีกว่า ทำไมคณะผู้มีอคติร่างรัฐธรรมนูญ จึงเสนอให้ตัด ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อออกไป ผมไม่อยากคิดว่าพวกเขาไม่รู้ หรือไม่เรียนประวัติศาสตร์ หลายคนให้เหตุผลว่า พวกปาร์ตี้ลิสต์ เป็นนายทุนไม่ลงเลือกตั้ง ไม่ได้สัมผัสกับประชาชน ซึ่งเป็นเรื่องน่าขำที่สุดในรอบทศวรรษ ทั้งนี้เพราะเขาเหล่านั้นที่เสนอหน้าและอุปโลกน์ตัวว่าเป็นตัวแทนประชาชนมาร่างรัฐธรรมนูญ ไม่ได้ลงเลือกตั้งสักคน และดูถูกตัวแทนประชาชนจนต้องเห็นดีเห็นงามทำการยึดอำนาจรัฐประหาร

 

ผมกลับเห็นความฉลาดของพวกเขา นั่นคือ เขาจงใจให้ไม่มีการแข่งขันทางนโยบาย เพราะเมื่อพรรคการเมืองไม่มีการแข่งขันทางนโยบาย ประชาชนจะใช้แต่เงินเป็นตัววัดว่า จะเลือกใครดี และเป็นเหตุผลให้กดทับนักการเมืองจากการเลือกตั้งไว้ในวาทกรรม "ซื้อเสียง" "เลว" และ "ประชาชนยังโง่อยู่" ได้ตลอดกาล

 

เพราะเมื่อไม่มีการแข่งขันทางนโยบาย บ้านเมืองจะเป็นอย่างไร ไปทิศทางไหน คำตอบก็คือ จะขึ้นอยู่กับผู้ทรงคุณวุฒิที่เรียกว่าเทคโนแครต ข้าราชการ ที่นั่งอยู่ในคณะรัฐประหารและแกนนำภาคประชาสังคมทั้งหลาย ที่อดีตเคยมีบทบาทสำคัญอยู่ในสำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคม หรือ สภาพัฒน์ฯ ทั้งสิ้น

 

พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ อดีตนายกฯ ใช้สภาพัฒน์เป็นกุญแจหลักไม่ใช่หรือ น.พ.ประเวศ วะสี ก็เคยมีบทบาทสำคัญในสภาพัฒน์ ผู้ที่ทำให้สภาพัฒน์หันมาเน้นและให้ความสำคัญเรื่อง "คน" ชนิดเปลี่ยนแนวคิดในการพัฒนาจากหน้าเป็นหลังมือ คนอย่างคุณโฆษิต ปั้นเปี่ยมรัษฏ์ นั่นก็เป็นภาคธุรกิจที่เข้าไปนั่งในสภาพัฒน์ คุณสุเมธ ตันติเวชกุล นั่นก็เป็นอดีตเลขาฯ และ ฯลฯ

 

เพราะเมื่อไม่มีการแข่งขันทางนโยบาย บ้านเมืองจะอยู่ในฐานะที่ "คุมได้" จาก "ผู้ใหญ่" เหล่านี้

 

ที่จริงเป็นเรื่องน่าเห็นใจ เพราะสิ่งที่ท่านเหล่านี้วางขั้นตอนการพัฒนาเพื่อสร้างสังคมในฝันมาตลอดชีวิต ถูกนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งดึงเอาไปพัฒนาแบบนอกลู่นอกทางเสียเละเทะ

 

แต่ความเห็นใจก็ส่วนความเห็นใจ เพราะอย่างไรเสียในแผ่นดินที่เป็นของทุกคนเท่าเทียมกัน ทุกคนก็มีสิทธิที่จะฝันและสร้างสังคมที่ดีตามความคิดความเชื่อของตนเอง ไม่ได้จำกัดว่า คนดี จะมีเฉพาะแต่ "ผู้ใหญ่" เหล่านี้เท่านั้น

 

การไม่มี ส.ส. ระบบบัญชีรายชื่อ ยังทำลายสะพานเชื่อมต่อระหว่างเทคโนแครต ข้าราชการ และการเป็นนักการเมืองด้วย ที่ผ่านมา ข้าราชการและเทคโนแครตทั้งหลาย ต่างก็ใช้ช่องทางนี้เข้าสู่การเมืองหากผลงานและประสบการณ์ของตนโดดเด่นพอ

 

จะให้ ฯพณฯ เกษม วัฒนชัย องคมนตรีไปลง ส.ส. เดินไหว้ขอคะแนนเสียง และสัญญาไปเรื่อยกับชาวบ้าน ก็เป็นเรื่องน่าเห็นอกเห็นใจ  แต่ ส.ส. ระบบบัญชีรายชื่อก็ทำให้ท่านได้มีโอกาสเข้าร่วมกับพรรคไทยรักไทย จนได้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ หรือคนอย่างสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ อยู่บ้านเลี้ยงลูกทำงานบริษัทเอกชน ร้องเพลง "คนกับควาย" ดีกว่า หากต้องเริ่มต้นชีวิตทางการเมืองด้วยการเดินหาเสียงในเวลานั้น

 

ส.ส.แบบปาร์ตี้ลิสต์ จึงเป็นทางเลือกที่หลากหลายที่ทำให้ ส.ส. มีคุณภาพ และมีทางยกระดับคุณภาพ และเป็นช่องทางที่ทำให้คนเก่งๆ ดีๆ เข้าสู่แวดวงการเมือง

 

ก็ถ้าเป็นเช่นนี้แล้วจะไปยกเลิกทำไม

 

ที่จริงยังมีงานวิจัยอีกมากเกี่ยวกับเรื่องนี้ที่เขาเก็บบทเรียน ศึกษา อย่างเป็นวิชาการก่อนการร่างรัฐธรรมนูญ ตั้งแต่สมัย ศ.นพ.ประเวศ วะสี เป็นประธานคณะกรรมการพัฒนาประชาธิปไตย ไล่มาจนมี ส.ส.ร. และถกเรื่องนี้กันในขั้นตอนต่างๆ ตลอดการยกร่างรัฐธรรมนูญ 2540

 

ประทานโทษ ร่างรัฐธรรมนูญนะครับ ไม่ใช่เศษกระดาษ ใช้กับคนทั้งประเทศทุกคนนะครับ ครอบคลุมตั้งแต่เกิดจนตาย จะมาใช้อารมณ์ตัดสินกันได้ไง ให้มันเป็นวิชาการสักนิดไม่ได้หรือ จะตัดออกเพราะเออออกันในคนรุ่นนี้หรือตามกระแสกันก็พอจะเข้าใจ แต่อายเด็กรุ่นหลังที่จะต้องเปิดอ่านศึกษารัฐธรรมนูญกันไว้บ้างก็ดี ชื่อของท่านไม่ใช่หรือที่จะถูกจารึก

 

เอาละ เราจะหวังกับคนร่างฯเหล่านี้ก็คงไม่ได้ คงต้องถามองค์กรภาคประชาชนที่กำลังเคลื่อนไหวรัฐธรรมนูญด้วยว่า เราจะเอาแต่หลักการ ไม่ลองมาดูสถาบัน โครงสร้าง กลไกเหล่านี้บ้างเลยหรือ ทั้งๆที่ มันเป็นเครื่องประกันสิทธิ หรือว่าองค์กรภาคประชาชนคิดว่าไม่เกี่ยวข้องกับขอบเขตงานของตัวเอง...ถ้าเช่นนั้น เอาตัวเองออกจากเขตงานของตัวเองบ้างก็ดีนะครับ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท