Skip to main content
sharethis

5 มี.ค.50 -  พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี เป็นองค์ปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ "คิดเพื่อประเทศไทย" เนื่องในโอกาสวันนักข่าว ณ ห้องนภาลัย โรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพ โดยมีเนื้อหาบางส่วนน่าสนใจ ดังนี้


         


ในฐานะนายกรัฐมนตรี ที่จะต้องคิดดำเนินการทุกอย่าง และกำหนดทิศทางสำหรับประเทศ ที่มีประชากรกว่า 64 ล้านคน ภายในเวลาน้อยกว่า 12 เดือน ผมขอเรียนว่าเรื่องนี้คงไม่ใช่เรื่องง่ายของรัฐบาลชุดนี้ หรือที่จริงของรัฐบาลใดก็ตาม ที่จะแก้ไขปัญหาทางการเมือง สังคม และเศรษฐกิจ ที่สลับซับซ้อน ในระยะเวลาอันสั้น ความพร้อมของประชาชนทุกคน ของประเทศใดประเทศหนึ่ง ในการที่จะรับผิดชอบต่อการปกครองชุมชนและรัฐของตน


       


เราควรจะหันมาประเมินประเทศของเรา ในช่วงเวลา 40 ปี ที่ผ่านมาว่าเราเป็นประเทศที่มีพลวัฒน์ทางเศรษฐกิจมากที่สุด ประเทศหนึ่งในโลก ระหว่างปี พ.ศ 2508-2539 ประเทศไทยมีอัตราการเจิรญเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยเฉลี่ยเกินร้อยละ 7 ต่อปี หมายความว่า เราเป็นหนึ่งในสามประเทศที่มีอัตราการเจิรญเติบโตที่สูงที่สุดในโลก


 


เกือบตลอดช่วงเวลาดังกล่าวเรามีรัฐบาลผสมที่มุ่งสร้างฉันทามติ แต่เป็นรัฐบาลที่ไม่ค่อยมีประสิทธิภาพ และมีความยุ่งเหยิง ข้าราชการและผู้เชี่ยวชาญ ย่อมจะเป็นผู้ที่กำหนดนโยบาย และนำไปปฏิบัติ นักการเมืองส่วนมากก็รวยไป ท่ามกลางเงื่อนไขดังกล่าว


 


มีจุดเปลี่ยนแปลงสำคัญที่โดดเด่น 2 จุด คือ เหตุการณ์ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2516 และเหตุการณ์ระหว่างปี 2534-2535 ในกรณีแรก เยาวชนของเราได้แสดงออกซึ่งความสำนึกทางการเมือง ในระดับใหม่ ที่ได้รับการซึมซับโดยเร็ว ทั่วประเทศ ในกรณีที่สอง ชนชั้นกลางที่เติบโตอย่างรวดเร็วในกทม. ได้ดึงประเทศกลับมาสู่เส้นทางใหม่ ที่มีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้นตลอดช่วงเวลานี้


 


พลวัตรทางเศรษฐกิจของเราได้สร้างความร่ำรวยเพิ่มเติมอย่างมหาศาลให้แก่ประเทศ แต่ และขอย้ำว่าเป็นคำ "แต่" ที่ใหญ่และสำคัญมาก การกระจายความร่ำรวยดังกล่าวไม่เท่าเทียมกันมาโดยตลอดและยังคงเป็นเช่นนั้นในวันนี้


         


สิ่งท้าทายทางการเมือง ที่เรากำลังเผชิญอยู่ ไม่ได้เกิดขึ้นเมื่อเดือนกันยายนปีที่ผ่านมา สิ่งท้าทายทางการเมืองที่เรากำลังเผชิญอยู่ พวกเราทั้ง 64 ล้านคน ได้สะสมมาเป็นทศวรรษ และในจุดเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ ที่ผมได้กล่าวถึง คือ เมื่อปี พ.ศ.2516 และ 2535 เราได้พยายาม โดยการใช้วิธีการรุนแรง ที่จะปรับระบบการเมืองของเราและโดยรวม


 


ผมก็คิดว่า ในแต่ละครั้งเราประสบความสำเร็จในการนำมาซึ่งสังคม ที่มีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น นี่คือสิ่งท้าทายที่เราต้องเผชิญในวันนี้ ไม่มีรัฐบาลไหนที่จะสามารถหลีกเลี่ยง การจัดการอย่างเป็นรูปธรรมกับความเหลื่อมล้ำทางรายได้ ที่ประเทศของเราต้องเผชิญอยู่


         


ผมจึงขอเสนอว่า การขจัดช่องว่างทางรายได้ การขจัดความเหลื่อมล้ำทางรายได้ ระหว่างเมืองกับชนบท จะต้องเป็นภารกิจอันดับแรก ในวาระแห่งชาติ


         


สำหรับกระบวนการยกร่างรัฐธรรมนูญ สำหรับพรรคการเมืองที่กำลังปรับตัว และปรับจุดยืน สำหรับการเลือกตั้งครั้งต่อไป สำหรับผู้แทนสื่อทั้งหลาย ในการนำเสนอข้อมูล และการกระตุ้นการหารือภายในประเทศ และสำหรับประชาชน ชาวไทยทั้ง 64 ล้านคน ทั้งนี้ เป็นที่น่าเสียดายว่า เราไม่มีประสบการณ์ของการมีกรอบนโยบายที่ใช้ปฏิบัติได้ และที่ยั่งยืน อันจะสามารถจัดการกับปัญหาเร่งด่วนนี้ ในระยะเวลาที่เหมาะสม


         


กรอบนโยบายของรัฐบาลที่ผ่านมา ได้ปฏิบัติการจ่ายเงินเพื่อกระตุ้นการบริโภคซ่อนค่าใช้จ่ายที่แท้จริงนอกงบประมาณ และใช้ประโยชน์จากความนิยมทางการเมือง ที่ได้มาเพื่อโค่นระบบ การตรวจสอบถ่วงดุลที่ดี ที่บรรจุไว้ในรัฐธรรมนูญปี 2540 ก็ไม่สามารถจัดการกับปัญหาความไม่เท่าเทียมกันทางรายได้ ในลักษณะที่แท้จริง หรือยั่งยืน เราจำเป็น ที่จะต้องคิดอีกครั้งหนึ่ง


         


ผมต้องการให้พวกท่าน ได้ทราบถึงแนวคิดของผม เกี่ยวกับเรื่อง ซึ่งผมเห็นว่า เป็นประเด็นหลักที่เราต้องเผชิญ เราคงไม่สามารถกำจัด ความไม่เท่าเทียมกันทางรายได้ ที่ได้สะสมมาเป็นเวลาหลายทศวรรษ ภายในเวลาเพียงไม่กี่เดือน แต่เราสามารถพยายามวางรากฐานทางด้านการเมือง เศรษฐกิจและสังคม ที่จะทำให้ความไม่เท่าเทียมกันอย่างร้ายแรงนี้ ได้รับการจัดการ ภายในเวลาอันใกล้


          


เมื่อตอนเข้ารับตำแหน่ง ผมได้กำหนดวาระการปฏิรูป ใน 4 ด้านหลักๆ ที่ล้วนมีความเกี่ยวเนื่องกันอย่างใกล้ชิด คือ การปฏิรูปทางการเมืองอย่างสัมฤทธิผล การฟื้นฟูความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในชาติ การขจัดช่องว่างทางรายได้ และการนำหลักนิติธรรมกลับคืนมา


         


การปฏิรูปทางการเมืองอย่างสัมฤทธิผล หมายความว่า ภายในช่วงเวลาที่กำหนดไว้ ในรัฐธรรมนูญชั่วคราวจะมีการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ การจัดการสำรวจประชามติ และการจัดการเลือกตั้ง จนบัดนี้เราได้ดำเนินการตามช่วงเวลาที่กำหนดไว้ แต่ผมยังไม่พอใจ กับระดับของข้อมูลและการถกเถียงกันในสาธารณะ


         


เกี่ยวกับเรื่อง การยกร่างรัฐธรรมนูญ รัฐธรรมนูญคือ กฎหมายพื้นฐาน ซึ่งกำหนดว่าเราจะอยู่ร่วมกันได้อย่างไร ประชาชนทุกคนมีความรับผิดชอบ และจะต้องได้รับอำนาจจากการได้รับข้อมูล เพื่อที่จะได้ มีข้อมูลเพียงพอ เกี่ยวกับเรื่องที่จะต้องตัดสินใจ ผมมีความตั้งใจที่จะผลักดันให้ประชาชนมีส่วนร่วมมากขึ้น และมีการถกเถียงกันเพิ่มขึ้น


         


การฟื้นฟูความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน หมายความว่า เราจะต้องขจัดความแตกแยกทางการเมือง และนำความปรองดอง และความยุติธรรม กลับคืนสู่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ผมไม่คิดว่าความแตกแยกทางการเมือง จะสามารถแก้ไขได้ จนกระทั่งมีการจัดการกับความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจที่อยู่เบื้องหลัง


         


ในส่วนของสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่งใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ผมไม่เคยมีภาพลวง ว่าประเด็นนี้ จะสามารถแก้ไข ได้อย่างรวดเร็ว ถ้าเราพิจารณาห้วงเวลายาวนานของการละเลย และการบีบคั้น ซึ่งเลวร้าย ลงไปอีก จากนโยบายที่ใช้ความรุนแรง


         


ประการที่สอง จากเงื่อนไขสถานการณ์ ของโลกที่ได้ช่วยหล่อเลี้ยงการฟื้นฟูแนวคิด ทางศาสนา แบบอนุรักษนิยมเพื่อเป็นการป้องกัน สิ่งที่พวกเขามองว่า เป็นการโจมตีต่อความเชื่อทางศาสนา การใช้ความรุนแรงที่มีพื้นฐาน ในหลักศาสนา ที่ถูกบิดเบือนเป็นเรื่องที่จัดการได้ยาก ผมเชื่อมั่นว่า มันไม่สามารถระงับได้ โดยใช้การกดดัน แต่ในเวลาเดียวกัน เหยื่อของการกระทำดังกล่าวก็ควรได้รับความยุติธรรม


         


ผมมีความตั้งใจที่จะดำเนินนโยบาย สมานฉันท์ต่อไป และเพิ่มโอกาสทางเศรษฐกิจ และสร้างความสัมพันธ์ที่ดียิ่งขึ้นตลอดไปกับมาเลเซียและอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นประเทศเพื่อนบ้านของเรา


          


ส่วนการขจัดช่องว่าง ด้านรายได้ ได้ดำเนินการไปมากพอสมควรแล้ว แต่องค์ประกอบที่จำเป็นคือ การยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นนโยบาย การพัฒนาหลักของรัฐบาล สภาร่างรัฐธรรมนูญ จำเป็นต้องพิจารณาความเหมาะสมในนโยบายการปฏิรูป ที่สำคัญ


 


ประการที่สี่ คือ การนำหลักนิติธรรมกลับคืนมา ซึ่งรัฐบาลมีการดำเนินการ ที่รอบคอบ แต่เป็นไปอย่างมั่นคง คุณทักษิณ ชินวัตร ได้ให้สัมภาษณ์แก่นิตยสารไทม์ว่า การคอร์รัปชัน จะไม่หมดไปจากประเทศไทย ด้วยเหตุว่า การคอร์รัปชันได้ฝังอยู่ในระบบเสียแล้ว หากพวกเราคิดว่าคำกล่าวของคุณทักษิณ เป็นจริง เราก็ไม่สมควร ที่จะเรียกตัวเองว่าเป็นคนไทย ที่รักความเป็นธรรม หากปราศจากหลักนิติธรรม สิ่งอื่นใดก็ไม่มีความหมาย เนื่องจากจะไม่มีความยุติธรรม ความเท่าเทียมกัน และแน่นอนที่สุด ความเป็นประชาธิปไตย


         


พวกท่านหลายคน ได้วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลชั่วคราวชุดนี้ว่า ดำเนินการสืบสวนสอบสวน กรณีการคอร์รัปชัน และการใช้อำนาจในทางที่ผิดของบุคคลในรัฐบาลที่ผ่านมา มีความเชื่องช้า บางท่านได้เรียกร้องให้มีการใช้อำนาจบริหาร เพื่อเร่งรัดกระบวนการยุติธรรม แต่หากเรานำแนวทางดังกล่าวมาใช้ เราจะสามารถสร้าง ความแข็งแกร่ง ให้แก่หลักนิติธรรมได้อย่างไร และเมื่อใด ผมเชื่อว่าเราสามารถคาดหวังผลทีเป็นรูปธรรมจากการสืบสวนสอบสวนได้ในอนาคตอันใกล้นี้ และผมเชื่อมั่นในคุณธรรมความเป็นอิสระ ของกระบวนการยุติธรรมของเรา


         


ขณะเดียวกัน เราก็ได้ทำงานอย่างหนัก เพื่อยกเครื่องกระบวนการยุติธรรม อันเกี่ยวเนื่องกับความโปร่งใส ธรรมาภิบาล ในภาคราชการ และการปฏิรูปตำรวจครั้งใหญ่ที่สุด


         


ในหลายทศวรรษที่ผ่านมา แม้ว่ารัฐบาลนี้จะได้เน้นการปฏิบัติตามวาระการปฏิรูปที่สำคัญใน 4 ด้าน แต่ผมได้กล่าวตั้งแต่ต้น นับตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งว่า ผมจะให้ความสำคัญแก่ภาพภายในประเทศ และภาพต่างประเทศอย่างสมดุล และในความเป็นจริงประเทศไทย ก็เป็นองค์ประกอบส่วนหนึ่งของภาพต่างประเทศ โดยมีบทบาทแข็งขัน ในการแลกเปลี่ยนและความร่วมมือระหว่างประเทศ มาโดยตลอด เราต้องการให้หุ้นส่วนจากต่างประเทศ มาร่วมมือกับเรา ในการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ และเราต้องการให้ประเทศเพื่อนบ้าน ให้ความร่วมมือในการแก้ไขปัญหา ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อนบ้านที่ใกล้ชิดที่สุด


 


"ผมก็ยังเชื่อมั่นในประชาชนชาวไทยว่า ด้วยการร่วมแรงร่วมใจกัน เราจะก้าวไปสู่สังคม ที่มีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น มีความยุติธรรมมากขึ้นและมีความเท่าเทียมกันมากขึ้น ประธานาธิบดีจอห์นเอฟ เคเนดี ได้เคยกล่าวกับประชาชนชาวอเมริกันว่า อย่าได้ถามว่า ประเทศชาติจะทำอะไรให้แก่ท่านบ้าง แต่จงถามว่า ท่านจะทำอะไร ให้แก่ประเทศชาติได้บ้าง ซึ่งในวันนี้ผมขอกล่าวประโยคเดียวกันนี้กับพวกท่าน" พล.อ.สุรยุทธ์ กล่าวทิ้งท้าย


 


 


       


--------------------------------------


ที่มา: http://www.bangkokbiznews.com

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net