Skip to main content
sharethis

5 มี.ค.50 - นายธีรยุทธ บุญมี อาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ บรรยายพิเศษเนื่องในวันนักข่าว 5 มี.ค.หัวข้อ "คิดเพื่อประเทศไทย" ที่โรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯ โดยสรุปดังนี้ การแบ่งแยกได้จำกัดมุมคิดอนาคตประเทศไทยไว้ 4 ด้านคือ ภาคประชาชน ภาคการเมือง สถาบัน และประชาสังคม ภาคตุลาการภิวัตน์ และภาคปัญหาความมั่นคง คือ ภาคใต้และภัยจากการก่อการร้าย


 


ภาคประชาชน: เพิ่มอำนาจเติมเต็มความเป็นคนให้ประชาชน


นักคิดในยุคโมเดิร์นหรือยุคสมัยใหม่ เน้นความคิดหรือทฤษฎีมนุษยนิยม คือถือมนุษย์เป็นศูนย์กลางในทุกด้าน [1] แต่นักคิดหลังสมัยใหม่หรือร่วมสมัยมองต่างไป และถอดรื้อทฤษฎีเหล่านี้ให้เห็นว่า ที่จริงประชาชนถูกใช้เป็นข้ออ้าง ตกเป็นเหยื่อทั้งในเชิงทฤษฎีและความเป็นจริงตลอดมาทุกยุคทุกสมัย จำเป็นต้องเปลี่ยนมุมมองใหม่ เจาะลึกลงไปในรายละเอียด เพื่อขยายพื้นที่อำนาจความยุติธรรม และการมีส่วนร่วมของประชาชนให้มากขึ้น


 


มองให้เป็นรูปธรรมช่วง 6 ปี รัฐบาลทักษิณดำเนินนโยบายทุนนิยมเสรีบวกประชานิยม โดยลดฐานะประชาชนเหลือเพียงผู้บริโภค หรือเป็นลูกหนี้ ทิศทางข้างหน้าของภาคประชาชนควรหลุดพ้นไปจากกับดักนี้ ทิศทางรัฐธรรมนูญและรัฐบาล ควรเน้นการเพิ่มอำนาจในความเป็นจริงแก่ประชาชนและชุมชน ในชีวิตที่หลากหลายมิติหรือเต็มบริบูรณ์มากขึ้น คือ ขยายศักยภาพในการเป็นทุนทางสังคม ขยายศักยภาพในการเป็นทุนทางวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ สภาพแวดล้อม ขยายศักยภาพในการเป็นทุนทางปัญญาและความรู้ และสุขภาวะ รวมทั้งการแบ่งปันการเป็นเจ้าของทรัพยากรร่วมกับรัฐมากขึ้น


 


การพัฒนาชาวบ้านให้เติมเต็มมิติต่างๆ เหล่านี้ จะนำไปสู่การเป็นทุนทางเศรษฐกิจ และการเมืองที่ดี


 


ในการปฏิบัติที่เป็นจริง รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ควรบรรลุมิติเหล่านี้ เน้นสิทธิหรือนโยบายเหล่านี้ เช่น หลักสวัสดิการด้านสุขภาพ การศึกษาตลอดชีวิต ขณะเดียวกันรัฐก็ควรส่งเสริมการพัฒนามิติดังกล่าว เช่น ทางสังคม สร้างและส่งเสริมสหกรณ์ออมทรัพย์ ประชาคมท้องถิ่น กลุ่มเด็ก สตรี กลุ่มผลประโยชน์ทางด้านเกษตรหรือหัตถกรรม อุตสาหกรรมย่อยพื้นบ้าน กลุ่มสุขภาพ สภาพแวดล้อม ภูมิปัญญา ประวัติศาสตร์ กฎหมาย วัฒนธรรม เป็นต้น


 


ภาคการเมือง : ประชาธิปไตยสมดุล: อำนาจอธิปไตยของประชาชน ถ่วงดุลด้วยอำนาจสังคม


ทฤษฎีเป็นเครื่องชี้นำการปฏิบัติ ทฤษฎีมักทำให้เข้าใจโลกได้อย่างง่ายๆ จึงขาดรายละเอียดของความเป็นจริง ซึ่งถ้าเป็นนักคิดที่มักง่ายเอาสะดวกเข้าว่า ก็จะยึดติดกับหลักการใหญ่ของทฤษฎี โดยไม่มองว่ามีหลักการอื่นซึ่งสำคัญไม่แพ้กันประกอบอยู่ด้วย ดังนั้นที่ดูเป็นความต่างทางความคิด ที่จริงอาจไม่ต่างกันเลย ขึ้นอยู่กับการขบคิดทฤษฎีอย่างลึก ใช้หลักคิดลึกลงไปสู่รูปธรรมความเป็นจริง ซึ่งพูดภาษาที่นิยมใช้กันคือ รัฐธรรมนูญฉบับภูมิปัญญาไทย ซึ่งไม่ได้หมายถึงว่ามีแก่นแท้ความเป็นไทย หรือไทยมีลักษณะพิเศษ แต่หมายถึงการสอดคล้องสถานการณ์ ประวัติศาสตร์ ก็จะมีโอกาสคลี่คลายปัญหาได้


 


 ปัญหาใจกลางของการเมืองไทยปัจจุบันก็คือ ทำอย่างไรจึงจะให้อำนาจการบริหาร อำนาจนิติบัญญัติ เป็นประชาธิปไตยเต็มใบ คือมาจากการเลือกตั้งโดยเสรีของประชาชน ขณะเดียวกันก็ต้องสร้างระบบตรวจสอบนักการเมือง ข้าราชการ อย่างได้ผล จึงต้องมาจากอีกฐานอำนาจหนึ่ง คืออำนาจของสถาบันทางสังคมซึ่งไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง แต่ทำงานมานาน ดำรงอยู่มานาน ได้รับการยอมรับศรัทธาการทำงานจากประชาชน อาทิ สถาบันศาล สถาบันสื่อ สถาบันวิชาการ ฯ กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ การยอมรับว่าแหล่งที่มาของอำนาจไม่จำเป็นต้องมาจากแหล่งเดียว (monoism) แต่มาจากหลายแหล่งได้ (pluralism)


 


 นักสังคมวิทยามองว่า ความชอบธรรมของสถาบันต่างๆ ของการใช้อำนาจนั้น มีที่มาที่หลากหลายผสมผสานกัน คือ ความชอบธรรมของตัวบุคคล ความชอบธรรมเชิงจารีต ประเพณี ศาสนา ความชอบธรรมเชิงกฎหมาย ความชอบธรรมของระบบราชการและทฤษฎีการเมืองการบริหารแบบใหม่ รากฐานของความชอบธรรมนี้มาจากที่ใด คำตอบที่ดีที่สุดในปัจจุบันไม่ได้มาจากความถูกต้องหรือเหตุผลใดๆ แต่มักมาจากศรัทธา


 


 ส่วนระบบหาเสียงเลือกตั้ง ระบบการบริหารพรรค ระบบเสียงส่วนใหญ่ในพรรค ให้อำนาจนายทุน กลุ่มธุรกิจ จนปัจจุบัน ปัญหาร่วมกันของประชาธิปไตยทั่วโลกก็คือ การเข้ายึดกุมอำนาจการเมืองโดยทุนและกลุ่มธุรกิจ การยึดมั่นในหลักประชาธิปไตยเลือกตั้งแบบสุดโต่ง จึงเป็นสิ่งเดียวกับทุนนิยมเสรีและการแสวงหากำไรสูงสุดกับอำนาจการเมืองสูงสุด ก็กลายเป็นสิ่งเดียวกัน


 


 ในโลกแห่งความเป็นจริงมีหลักการอีกหลักหนึ่ง ซึ่งทุกคนเชื่อว่าคือหัวใจของประชาธิปไตยนั่นคือ "หลักการแบ่งแยกอำนาจ" แท้จริงแล้วหลักการนี้ขัดกับประชาธิปไตยอย่างยิ่ง เพราะเกือบไม่มีอำนาจตุลาการประเทศใดที่มีที่มาจากการเลือกตั้ง แต่มีที่มาจากความเชื่อมั่นในสถาบันยุติธรรมของสังคมเป็นหลัก


 


 ดังนั้นสิ่งที่ควรทำคือการสร้างประชาธิปไตยสมดุล ทำให้ระบบเลือกตั้ง พรรคการเมือง ระบบตัวแทน อำนาจบริหาร ส.ส. ส.ว. เป็นประชาธิปไตยมากที่สุด ไม่โน้มเอียงปิดกั้นหรือเอื้อประโยชน์กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง กระจายโอกาสอำนาจให้กับกลุ่มต่างๆ กว้างขวางที่สุด มีกลไกธรรมาภิบาลในตัวเองอย่างไร และจะทำให้ระบบตรวจสอบได้ผล มีอิสระแท้จริงอย่างไร คำตอบที่พูดถึงกันมากที่สุดคือ การให้องค์กรตรวจสอบมีที่มาจากการเลือกและคัดสรรของสถาบันตุลาการหรือสถาบันสังคมอื่น


 


 สิ่งที่ต้องพิจารณาคือ สิ่งที่เป็นหลักก็คืออำนาจของประชาชน ทิศทางใหญ่จึงควรเป็นทิศทางให้ประชาชนมีอำนาจมากขึ้น มีความยุติธรรมในชีวิตความเป็นอยู่มากขึ้น ในอีกด้านหนึ่ง อำนาจสถาบันยุติธรรม สถาบันทางสังคม ต้องจำกัดให้เป็นอำนาจเฉพาะการตรวจสอบทุจริตอย่างเคร่งครัด ไม่ใช้อำนาจกำหนดนโยบายและต้องไม่โน้มเอียงสุดขั้วกลายเป็นอมาตยาธิปไตยหรืออภิชนาธิปไตยดังที่มีความกังวลกันอยู่


 


 ภาคตุลาการภิวัตน์: หลักการแห่งการรุก กับหลักแห่งการระวังหรือกำกับตัวเอง


 ในอนาคตอันใกล้ ภารกิจของสถาบันศาลจะเพิ่มขึ้น จากคดีซึ่งส่งต่อมาจากองค์กรอิสระ จึงควรทำงานของตนอย่างดีที่สุด เพื่อลดแรงกดดันต่อสถาบันยุติธรรมของประเทศ ซึ่งมีแง่คิดเพิ่มเติมเกี่ยวกับตุลาการภิวัตน์ดังนี้


 


 ตุลาการภิวัตน์ คือ กระบวนการตรวจสอบถ่วงดุลการทุจริตฝ่ายบริหาร การใช้อำนาจเกินเลย การใช้อำนาจอย่างผิดกระบวนการ การใช้อำนาจโดยไม่ชอบด้วยเหตุผล ในแง่นี้ตุลาการภิวัตน์ในไทยควรมีลักษณะรุก เพราะปัญหามีมากและหมักหมมมานาน


 


 หากตัดสินลงโทษนักการเมือง ข้าราชการ ตามหลักฐานและหลักกฎหมายได้จริง ก็คงสร้างวัฒนธรรมการเมืองใหม่ให้นักการเมืองหลาบจำได้ ส่วนในแง่การเปิดพื้นที่สิทธิและการสร้างความยุติธรรมให้ประชาชนบ้านเราก็ขาดมานาน จึงเรียกร้องให้ตุลาการภิวัตน์มีลักษณะเร่งรุกเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ตุลาการภิวัตน์ในทุกแห่งต้องคู่ขนานหรือมีสิ่งที่เรียกว่า การกำกับตัวเองของฝ่ายตุลาการ


 


 กระบวนการกำกับตัวเองนี้มีหลายแง่ให้พิจารณาคือ 1.สิ่งใดที่อยู่ สิ่งใดที่ไม่อยู่ในขอบข่ายตุลาการภิวัตน์ 2.การเคารพในหลักการแบ่งแยกอำนาจ กล่าวคือ แม้ตุลาการจะมีอำนาจในการทบทวนการใช้อำนาจของฝ่ายอื่นๆ แต่ต้องไม่ทำในแง่การตัดสินทิศทางของนโยบาย การได้ผลหรือไม่ได้ผลของนโยบาย แต่ต้องตัดสินบนหลักความยุติธรรมของกฏหมาย


 


 3. หลักความยุติธรรมของกฎหมายที่ใช้กระบวนการตุลาการภิวัตน์ ประกอบด้วย 3 ส่วนใหญ่คือ รัฐใช้อำนาจถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ รัฐใช้อำนาจตามหลักเหตุผลหรือไม่ 4. การพิจารณาคดีความของศาลย่อมแยกขาดจากการ "ตั้งเป้าหมาย" ไว้ล่วงหน้า แต่ต้องขึ้นอยู่กับหลักการของตัวบทกฎหมาย ไม่ขึ้นอยู่กับคติส่วนบุคคล ซึ่งในกรณีของศาลไทยได้ยึดหลักนี้อย่างเคร่งครัดดีอยู่แล้ว ในช่วงหลังศาลบางประเทศยังเพิ่มเติมหลักความเป็นธรรมแก่เด็ก ผู้หญิง ชนกลุ่มน้อย คนจน คนด้อยโอกาส เป็นต้น เพื่อให้สอดคล้องกับโลกสมัยใหม่ที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว


 


 5. อีกหลักหนึ่ง ใช้ในกรณีที่การตัดสินคดีจะส่งผลกระทบต่อทั้งบุคคลและส่วนรวม ผู้พิจารณาจำเป็นต้องใช้หลักความได้สัดส่วน หรือหลักการถ่วงดุล ระหว่างประโยชน์ส่วนรวมและบุคคลด้วย


 


 6. การกำกับตัวเองในทางเทคนิคหรือการปฏิบัติภาระหน้าที่ กล่าวคือ การรับพิจารณาบางคดี การขยายสิทธิบางอย่างแก่ประชาชน จะเพิ่มคดีความแก่ศาลจนล้นเกินได้


 


ภาคใต้และการก่อการร้ายในเมือง


 ปัญหาภาคใต้และปัญหาการก่อการร้ายในเมืองมีแนวโน้มรุนแรงขึ้น ทั้ง 2 ปัญหาเกิดจากเหตุปัจจัยประวัติศาสตร์ 3 ด้านคือ ความขัดแย้งระหว่างทุนและอารยธรรมตะวันตกกับโลกมุสลิม, กระบวนการประวัติศาสตร์ของการเกิดความคิดชาตินิยม ซึ่งเกิดขึ้นในช่วง 200 ปีที่ผ่านมา ชาติต่างๆ พยายามกำหนดเขตดินแดน เพื่อให้เป็นอาณาเขตที่ชัดเจนของรัฐตนเอง เราสร้างความเป็นรัฐ-ชาติไทยได้มั่นคง เป็นที่ยอมรับจากประชาคมโลก


 


 แต่โชคร้ายที่ประชากรบางพื้นที่ คือในสามจังหวัดภาคใต้ มีชาวมลายู-อิสลามบางส่วน เกิดกระแสชาตินิยมของตนเองขึ้นมาเช่นกัน จึงเกิดเป็นกระแสสร้างชาติตัวเองหรือแยกดินแดนเป็นระยะๆ และด้านสุดท้ายสืบเนื่องจากด้านที่สอง คือเมื่อเกิดชาตินิยมมักเกิดระบบการเมืองการปกครอง วัฒนธรรม สังคม ที่ยกย่องคนกลุ่มใหญ่ มีอคติไม่ให้ความยุติธรรมความเคารพต่อคนส่วนน้อย เป็นปัญหาต่อเนื่องเรื่อยมา


 


 ปัจจัยที่หนึ่งอยู่นอกเหนือความควบคุมของเรา แต่การวางตัวดำเนินนโยบายต่างประเทศให้ถูกต้อง การสอดส่องภายในให้ดี ช่วยผ่อนเบาได้ ปัจจัยที่ 2 แก้ได้ด้วยการแก้ไขประวัติศาสตร์ ด้วยการปรับความคิดมาเป็นการรักชาติ สร้างชาติ ด้วยความคิดที่กว้างขึ้น มีลักษณะเป็นพหุชาติพันธ์นิยมมากขึ้น เจรจาปรึกษาหารือ สร้างความเข้าใจระหว่างกันมากขึ้น สำหรับปัจจัยที่ 3 ชนชั้นปกครองไทยเข้าใจสภาพปัญหามากขึ้นและเริ่มต้นแก้ไข แต่ควรทำอย่างจริงใจจริงจังมากขึ้น


 


 สำหรับปัญหาการก่อการร้ายในเมือง เกิดได้ทั้งปัจจัยภายในและภายนอกประเทศ มีหลักคิด ดังนี้ การลงทุนเพื่อป้องกันภัยก่อการร้ายในเมืองแม้จะสูงเท่าไรก็คุ้มค่า เพราะมันส่งผลกระทบสูงต่อเศรษฐกิจไทย เป้าหมายหลักของการก่อการร้ายหรือชนกลุ่มน้อยแยกดินแดนทั่วโลกคือ สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจ ชีวิต ทรัพย์สิน แก่คนกลุ่มใหญ่ จนรู้สึก "แพงเกินไป" หรือ "ไม่คุ้มค่า" ที่จะรักษาดินแดนนั้นๆ ไว้ ในที่สุดเป้าหมายการก่อการร้ายก็จะเข้าถึงเมืองสำคัญต่างๆ


 


 นอกจากนี้ ระบบการข่าวรวมทั้งการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ เป็นเครื่องมือสำคัญในการแก้ปัญหา ซึ่งต้องปฏิรูปอย่างจริงจัง และความรู้ทางกายภาพเกี่ยวกับจุดหรือพื้นที่เสี่ยงสูง ความเข้าใจเงื่อนไขทางจิตวิทยา วัฒนธรรมของฝ่ายก่อการร้าย เป็นเครื่องมือต่อต้านการก่อการร้ายที่ดีอีกอย่างหนึ่ง การศึกษาวิจัยจึงจำเป็น


 


 โลกยุคความเสี่ยงสมัยใหม่หมายถึงว่า ความเสี่ยงได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของทั้งระบบและวิถีชีวิต ความเสี่ยงแบบเก่าอาจตัดทิ้งได้ โดยมองเป็นค่าประกันภัยที่ต้องเสีย แต่ความเสี่ยงแบบใหม่ เช่น การก่อการร้าย โรคใหม่ๆ ภัยจากสภาพแวดล้อม สงคราม ฯลฯ ตัดทิ้งไม่ได้ คำนวณได้ยาก เพราะมันไม่ใช่ปัจจัยภายนอก แต่เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของระบบและวิถีชีวิต


 


 ทางแก้ที่ได้ผลที่สุดคือการยอมรับสภาพใหม่และปรับเข้าเป็นวิถีชีวิตแบบใหม่ ซึ่งการปรับวิถีชีวิตแบบใหม่ เช่น การมีวินัย ตื่นตัว มีเครือข่ายชุมชน กลุ่ม สอดส่องดูแล ตรวจตราการก่อการร้ายแบบต่างๆ อย่างเข้มแข็ง จะเป็นวิธีการแก้ไขปัญหาที่ได้ผลที่สุด


 


 เมื่อทุกประเทศในโลกเผชิญความเสี่ยงเหมือนกันหมด ในที่สุดจะมีการมองว่าประเทศใดพัฒนาตัวเองมากที่สุด ประเทศใดด้อยพัฒนาในด้านการต่อต้านป้องกันการก่อการร้าย ไทยเราสามารถตั้งเป้าเป็นประเทศปลอดการก่อการร้ายในระดับนำของโลกได้ถ้าตั้งใจจริง และผลดีทางเศรษฐกิจและด้านอื่นๆ จะตามมาภายหลัง


 


 


 


 


........................................


ที่มา: http://www.bangkokbiznews.com

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net