สัมภาษณ์พิเศษ นพ.จำรัส สรพิพัฒน์ : "ผมเกรงว่านิคมอุตสาหกรรมตรังจะร้าง"





หมายเหตุ -  ความพยายามในการจัดตั้งเขตอุตสาหกรรมจังหวัดตรังมีความเป็นรูปธรรมมากขึ้น เมื่อจังหวัดตรังได้เข้าไปเป็น 1 ใน 8 จังหวัดภาคใต้ที่เป็นสมาชิกกลุ่มในโครงการความร่วมมือเศรษฐกิจ 3 ฝ่าย ไทย-มาเลเซีย-อินโดนีเซีย หรือ IMT-GT และเพื่อการเชื่อมโครงการขนส่งสู่ต่างประเทศ บริเวณท่าเทียบเรือกันตัง

 

เขตอุตสาหกรรมจังหวัดตรัง ครอบคลุมพื้นที่หมู่ที่ 2, 3, 4 ตำบลทุ่งค่าย อำเภอย่านตาขาว เนื้อที่ประมาณ 1,648 ไร่ เน้นอุตสาหกรรมแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรเป็นหลัก ภายใต้งบประมาณไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท คาดว่าภายในปี 2550 นี้จะสามารถเริ่มดำเนินการได้

 

 

 

 

ดูรายงานการศึกษาเขตอุตสาหกรรมจังหวัดตรังอย่างละเอียดแล้ว มีประเด็นอะไรที่น่าสนใจบ้าง

เท่าที่ได้อ่าน "ร่างรายงานการศึกษาโครงการจัดตั้งเขตอุตสาหกรรมจังหวัดตรัง และโครงการก่อสร้างศูนย์ขนถ่ายสินค้าเพื่อการส่งออก ณ ท่าเทียบเรือกันตัง" ศึกษาโดย "บริษัท โซซิโอ - อีโคโนมี คอลซัลแตนส์ จำกัด" ซึ่งหนามาก เกือบทั้งหมดเป็นแค่ข้อมูลพื้นฐานทางด้านสังคม และสภาพภูมิศาสตร์ของจังหวัดตรัง

 

นอกจากนี้ก็เป็นข้อมูลเกี่ยวกับโครงการที่มีความเกี่ยวเนื่อง เช่น โครงการสามเหลี่ยมเศรษฐกิจไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย รวมถึงกฎระเบียบเกี่ยวกับสิทธิพิเศษสำหรับโรงงานฯ ในนิคมอุตสาหกรรม รวมถึงข้อกฎหมายต่างๆ

 

การศึกษาชิ้นนี้ ไม่ได้นำข้อมูลที่เกี่ยวข้องทั้งหมดมาประมวล แล้วชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องมีนิคมอุตสาหกรรมในจังหวัดตรัง เมื่ออ่านดูทั้งหมดแล้วพบว่าแทบจะไม่มีข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการจัดตั้งเขตอุตสาหกรรมโดยตรง

 

ข้อสำคัญคือ มีการนำแผนยุทธศาสตร์ของกลุ่มจังหวัดภาคใต้มาแสดงให้ดูด้วย

 

ประเด็นที่น่าสนใจคือ ยุทธศาสตร์ในกลุ่มจังหวัดนครศรีธรรมราช พัทลุง ระบุว่า ต้องการให้เกิดการพัฒนาการผลิต การเกษตร การตลาดเพื่อการเกษตร การพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ รวมถึงการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน ไม่มีอะไรเน้นหนักไปทางอุตสาหกรรมเลย

 

เท่าที่ร่างรายงานการศึกษาฉบับนี้อ้างว่า ระหว่างปี 2537 - 2548 มีการขยายตัวของโรงงานในจังหวัดตรัง 160 กว่าเปอร์เซ็นต์ ปริมาณ 600 กว่าโรง อ่านดูแล้วตกใจ ทำไมถึงขยายตัวมากมายนัก

 

พอดูรายละเอียดพบว่า โรงสีข้าวเล็กๆ โรงกลึงในชุมชน ร้านซ่อมรถจักรยานยนต์ก็เป็นโรงงาน โรงทำขนมจีน โรงทำขนมเค้กก็เข้าข่ายเป็นโรงงาน

 

เมื่อดูตรงนี้แล้ว เราตัดโรงงานเหล่านี้ออกไปได้เลย เพราะโรงงานแบบนี้ไม่เข้านิคมอุตสาหกรรมอยู่แล้ว หลายๆ กิจการเป็นบริการในชุมชน เข้าไปอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมก็ไม่รู้จะไปบริการใคร โรงงานอุตสาหกรรมในภาพที่เราเข้าใจ ไม่ใช่แบบนี้

 

พอเข้าไปดูในรายละเอียด โรงงานอุตสาหกรรมจริงๆ มีไม่มาก แต่ละโรงงานที่เกิดขึ้น ล้วนสอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจของบ้านเรา เป็นโรงงานแปรรูปผลิตผลการเกษตรขั้นพื้นฐาน เช่น แปรรูปไม้อย่างพารา โรงงานน้ำยางข้น แปรรูปสัตว์น้ำ

 

ต้องเข้าใจว่าอุตสาหกรรมเหล่านี้มีธรรมชาติอย่างไร จะยอมเข้าไปอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมหรือไม่ ผลิตผลการเกษตรส่วนใหญ่มีน้ำหนักและปริมาณมาก เมื่อเข้าไปดูข้อเท็จจริงจึงพบว่าโรงงานเหล่านี้อยู่กระจัดกระจายไปตามแหล่งวัตถุดิบ

 

สมมติโรงงานยางย้ายไปอยู่ในที่ไม่มียางพาราเลย ต้องขนยางไปแปรรูปขั้นต้นในนิคมอุตสาหกรรมที่ห่างไกลออกไป มันก็ไม่คุ้มค่ากับการลงทุน

 

นอกจากจะต้องอยู่ใกล้แหล่งผลิตแล้ว ยังขึ้นอยู่กับโรงงานผลิตสินค้าต่อเนื่องด้วย เคยสังเกตหรือไม่ว่า ทำไมมีโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มที่ภาคใต้ แต่ไม่มีโรงงานรีไฟน์ในภาคใต้ เรามีโรงหีบน้ำมันปาล์มทั่วไปหมด กระบี่ก็มี ตรังก็มี แล้วทำไมผู้ประกอบการ ถึงไม่ลงทุนทำโรงงานรีไฟน์ที่ภาคใต้

 

เรื่องนี้เข้าใจได้ว่า โรงงานอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันปาล์ม มันไม่ได้อยู่ในภาคใต้ เพราะโรงงานในแต่ละอุตสาหกรรมจะต้องตั้งในสถานที่ที่สามารถดึงเทคโนโลยีและบุคลากรมาใช้งานได้สะดวก มันมีเงื่อนไขและข้อจำกัดหลายอย่าง ทำให้ภาคใต้ไม่มีโรงงานรีไฟน์น้ำมันปาล์ม ถึงตั้งได้ต้นทุนก็จะสูง นี่ยังไม่นับความยากลำบากอย่างอื่นอีก

 

ในร่างรายงานการศึกษาฯ ผู้ศึกษาไม่สามารถชี้ให้เห็นเลยว่า มีเงื่อนไขอะไรบ้างในจังหวัดตรัง ที่สามารถจะบรรลุวัตถุประสงค์ตามที่อ้าง ข้อมูลในร่างรายงานการศึกษาฉบับนี้ ไม่สามารถนำมาเชื่อมโยง เพื่อตอบคำถามให้ได้ว่า ควรจะมีนิคมอุตสาหกรรมในจังหวัดตรัง

 

ในร่างรายงานการศึกษาฯ ไม่ได้พูดถึงจังหวัดใกล้เคียงในภาคใต้ ทั้งๆ ที่เป็นคู่แข่งไม่ว่าจะเป็นสงขลา นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี กระบี่ ภูเก็ต เรื่องที่เรานำมาพูดถึงกันมาก คือ ที่จังหวัดสงขลา เพราะที่นั่นมีนิคมอุตสาหกรรมภาคใต้ ซึ่งถึงทุกวันนี้ยังร้างอยู่

 

จำนวนโรงงาน 600 กว่าโรงในจังหวัดตรังมีอะไรบ้าง

ขุด ลอก กรวด ทราย หิน ดูดแร่ ดูดทราย ถ้าให้เข้าไปอยู่ในนิคมอุตสาหกรรม เขาจะไปดูดทรายที่ไหน โรงงานทำเส้นหมี่ โรงน้ำแข็ง โรงปลาป่น โรงสกัดน้ำมันจากเศษปลา โรงงานลูกชิ้นปลา โรงงานสกัดน้ำมันปาล์ม ผมว่าโรงงานพวกนี้ ไม่เข้าไปอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมแน่นอน

 

นอกจากนั้น ยังมีโรงสีข้าวเล็กๆ โรงทำขนมเข่ง โรงทำขนมอบแห้ง โรงทำข้าวเกรียบ โรงทำกาแฟผงเคลือบถั่ว โรงทำไอศกรีม เฉพาะ 3 โรงที่ห้วยยอด ก็ทำขายกินกันในหมู่คนห้วยยอด ถ้าย้ายเข้าไปอยู่ในนิคมอุตสาหกรรม ก็ไม่รู้จะขายใครเหมือนกัน

 

โรงทำกะปิ โรงฟอกหนังปลากระเบน โรงงานแปรรูปไม้ยางพารา โรงงานอัดน้ำยาอบไม้ โรงงานพวกนี้กระจายอยู่ในแหล่งที่มีวัตถุดิบ เพราะต้องซื้อไม้มาตัดเป็นท่อนเอาไปทำเฟอร์นิเจอร์ ทำวงกบประตู ผลิตไม้อัดยางพารา โรงเผาถ่านไม้ยางพาราก็ต้องอยู่ข้างๆ โรงงานแปรรูปไม้ยางพารา ถ้าอยู่ที่อื่นก็ต้องขนไม้เข้าโรงงาน ต้นทุนสูงอยู่ไม่ได้แน่นอน

 

พวกรับซื้อของเก่า เศษกระดาษ เศษเหล็ก โรงทำเครื่องหอม ร้านปะยางรถยนต์ ซ่อมรถจักรยานยนต์ ร้านพวกนี้ถ้าเข้าไปอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมก็ไม่รู้จะไปปะยางให้ใคร โรงงานน้ำยางข้น อันนี้อยู่กระจายกันไป โรงงานผลิตยางรัดของอยู่ที่กันตัง โรงงานทำเครื่องปั้นดินเผา ทำอิฐเผา ทำเตาอั้งโล่ พวกนี้ส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมในครอบครัว

 

ทำเหล็กดัด ประตูเหล็ก หน้าต่างเหล็ก ก็เป็นโรงงานห้องแถวทั้งนั้น โรงงานผลิตกระป๋อง โรงทำมีดกรีดยาง ตัด พับ ม้วน กลึงโลหะ เชื่อมประกอบอุปการณ์เครื่องยนต์ ก็คือ โรงกลึงทั้งหลาย ซ่อมเครื่องยนต์ ทั้งหมดเป็นบริการที่อยู่ในชุมชนต่างๆ

 

ส่วนโรงงานใหญ่ๆ เช่น โรงงานสกัดน้ำมันปาล์ม มันก็ต้องอยู่ตรงสิเกา เพราะสวนปาล์มอยู่ตรงนั้น ถ้าอยู่ห่างออกมา ต้องขนวัตถุดิบไกลๆ มันไม่ใช่เรื่อง

 

เขาบอกว่าถ้าปล่อยให้อยู่กันอย่างนี้ โรงงานจะกระจายเต็มพื้นที่ก่อมลพิษทั่วไปหมด ถ้าจับมาอยู่ที่เดียวกัน จะง่ายต่อการควบคุมดูแล

คนที่ดูแลควบคุมก็คือภาครัฐ ที่บอกว่าโรงงานกระจัดกระจายแล้วดูแลไม่ได้ ก็เท่ากับฟ้องตัวเองว่าไม่ทำงาน พอไปอยู่รวมกันแล้วควบคุมได้หรือไม่ อันนี้ให้ดูตัวอย่างนิคมอุตสาหกรรมชายฝั่งทะเลตะวันออก หรือนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ที่กำลังเป็นข่าวดังอยู่ตอนนี้ควบคุมได้จริงหรือเปล่า

 

ยิ่งให้ไปอยู่รวมกัน ยิ่งควบคุมไม่ได้ใหญ่ เพราะถ้าโรงงานไปรวมอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรม เขาจะมีอำนาจต่อรองสูงทันที เพราะเขาอยู่ในจุดที่ได้รับการส่งเสริมจากรัฐ ทันทีที่เขารวมกลุ่มกันคุณยิ่งทำอะไรไม่ได้ เหมือนนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด โรงงานเต็มไปหมดในที่สุดโรงเรียนต้องย้ายหนี ทั้งๆ ที่โรงเรียนอยู่มาก่อนโรงงาน

 

ประเด็นไม่ได้อยู่ที่โรงงานอยู่กระจัดกระจายแล้วควบคุมไม่ได้ มารวมอยู่ในที่เดียวกันแล้ว จึงจะควบคุมได้ ถึงพยายามต้อนโรงงานมาอยู่ในที่เดียวกัน ถ้าคุณไม่ทำงาน มันก็คุมไม่ได้ ผมบอกได้เลยว่า ถ้าขนโรงงานมาอยู่ที่เดียวกัน เขาจะยิ่งมีอำนาจต่อรองสูงกว่าอยู่กันกระจัดกระจาย ในสภาพต่างคนต่างอยู่ โรงงานที่กระจัดกระจายกันอยู่ คนชุมชนรอบๆ โรงงานยังพอควบคุมได้บ้าง

 

โรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ในจังหวัดตรัง ก็มีโรงงานแปรรูปอาหารสัตว์อยู่ที่บางรัก แล้วก็โรงงานสกัดน้ำมันปาล์ม 3 แห่ง แล้วก็โรงงานแปรรูปไม้ยางพารา โรงรมยาง โรงงานน้ำยางข้น เหล่านี้ถือเป็นโรงงานขนาดใหญ่ มันมีมลพิษ มีการติดตั้งบ่อบำบัดน้ำเสีย อยู่ที่ว่าคุณเข้าไปควบคุมหรือไม่ คุณทำงานกันหรือเปล่า ขนาดแก้ปัญหากันทีละโรงยังสู้เขาไม่ได้ ถ้าเขารวมกันเป็นสิบๆ โรง ไม่รู้จะสู้ได้ตรงไหน

 

ถ้าโรงงานเหล่านี้ เข้าไปอยู่ในที่เดียวกันจะเกิดอะไรขึ้น

ความเข้มข้นของมลพิษจะยิ่งหนักหน่วงขึ้นไปอีก ควบคุมดูแลได้ยาก ยกตัวอย่างนิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือ ที่จังหวัดลำพูน มีบริษัทรับจ้างบำบัดของเสีย เอาเข้าจริงบริษัทที่ว่านี้ กลับแอบบรรทุกของเสียไปทิ้งใส่บ้านชาวบ้าน

 

เราต้องตั้งคำถามว่า บ้านเราพวกเราอยากอยู่กันอย่างไร อันที่จริงมีคำตอบอยู่แล้ว เรามียุทธศาสตร์ของจังหวัด ที่มาจากการระดมความคิดเห็นร่วมกัน เราตกลงกันว่าจะทุ่มจุดหลักไปทางด้านการเกษตร ทางด้านการท่องเที่ยว เราต้องการใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน เป็นแหล่งสถานศึกษา เหล่านี้เป็นทิศทางของเรา ปรากฏอยู่ในแผนของจังหวัดเรียบร้อยแล้วด้วย เพราะฉะนั้น ทุกคนทุกฝ่ายควรจะยึดข้อตกลงนี้

 

ผมเชื่อว่าโรงงานที่มีอยู่แล้ว ถ้าเขาจะย้ายเข้านิคมอุตสาหกรรม มันต้องตอบคำถามให้ได้ว่า เขาจะได้รับสิทธิประโยชน์อะไร ต้นทุนการผลิตถูกลงหรือไม่ เงื่อนไขในการประกอบการดีกว่าเดิมหรือไม่ เพราะถ้าย้ายไปแล้วแย่กว่าเดิม เขาคงไม่ย้าย

 

แรงงานจะเอาจากไหน เพราะถ้าย้ายโรงงาน คุณต้องหาแรงงานใหม่ คุณต้องฝึกอบรมแรงงานใหม่ ต้องไปจัดระบบใหม่ ต้องตั้งต้นกันใหม่ ขณะที่ประกอบการอยู่ในที่เดิมคุณสู้เขาได้ พอย้ายไปที่ใหม่ก็เท่ากับไปนับหนึ่งใหม่

 

โจทย์ต่างๆ เหล่านี้ ในรายงานการศึกษาฉบับนี้ไม่มี ถ้ามีก็ต้องบอกด้วยว่า มีสิทธิประโยชน์อะไรบ้าง ที่จะให้กับพวกโรงงานเก่า

 

ถ้าบอกว่ากลุ่มเป้าหมายเป็นนักลงทุนหน้าใหม่ กลุ่มใหม่ จะไม่ต้อนโรงงานเก่าในพื้นที่เข้าไปอยู่ในนิคมอุตสาหกรรม ถ้าตั้งโจทย์อย่างนี้ คุณก็ต้องตอบให้ได้ว่า ใครบ้างที่จะแห่เข้ามา ถ้าบอกว่าคุณมีวัตถุดิบการเกษตรมากมาย ก็ต้องดูด้วยว่ากำลังการผลิตของเราในปัจจุบันเป็นอย่างไร

 

ยกตัวอย่างยางพารา วัตถุดิบบ้านเรามีมาก เรามีโรงรมยางขนาดใหญ่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ มีโรงงานขนาดกลางและขนาดต่างๆ อีกหลายโรง ต้องไปถามผู้ประกอบการด้วยว่า กำลังการผลิตที่เขามีอยู่ ใช้เต็มประสิทธิภาพแล้วหรือยัง ถ้าเขาต้องการเดินเครื่องตลอด 24 ชั่วโมง 365 วัน มีวัตถุดิบมากพอที่จะป้อนเขาหรือไม่

 

แรงงานจะหาจากที่ไหน ในส่วนของแรงงานไร้ฝีมือ ถ้าคุณบอกว่าเอาพวกพม่า พวกเขมรเข้ามาได้ มันก็ไม่สนองตอบคนท้องถิ่น ถ้าคุณบอกว่าต่อไปจะเอาอุตสาหกรรมไฮเทคมา โดยไม่เข้าใจธรรมชาติของอุตสาหกรรมไฮเทค ก็ไม่มีผู้ประกอบการเข้ามาอยู่ดี

 

เอาละ ถ้าเขาเข้ามาลงทุน ถามว่าคุณมีแรงงานที่มีทักษะสูงรองรับอุตสาหกรรมประเภทนี้มากน้อยแค่ไหน คุณมีสถาบันวิจัยหรือสถาบันการศึกษาในพื้นที่ สนับสนุนด้านการวิจัยและพัฒนาหรือไม่

 

คุณต้องศึกษาสิ่งเหล่านี้ให้ชัดเจนก่อน แล้วนำมาตอบโจทย์ ในร่างรายงานการศึกษาฉบับนี้ไม่ได้เขียนเรื่องเหล่านี้เอาไว้เลย

 

คนงานที่มีทักษะสูง ผู้ชำนาญการ นักวิชาการที่มีฝีมือ เขาก็รักครอบครัว จะย้ายไปอยู่ที่ไหนเขาคำนึงถึงครอบครัว ลูกจะเรียนโรงเรียนไหน จะกินอยู่อย่างไร สภาพสังคมเป็นแบบไหน เขาเก็บเอาไปคิดประกอบการตัดสินใจทั้งนั้นแหละ ถ้าให้เขาทำงานแถวๆ กรุงเทพฯ เป็นไปได้ที่จะดึงผู้ชำนาญการมาทำงานด้วย ลองไปชวนเขาไปทำงานที่ทุ่งกุลาร้องไห้ดู รับรองเจ๊งแน่ คนเหล่านี้เขามีสิทธิเลือก ตั้งโรงงานแล้วหาคนเก่งๆ มาทำงานให้ไม่ได้ มันก็เจ๊ง

 

แล้วไหนจะต้องมีอุตสาหกรรมต่อเนื่องอีก สมมุติอุตสาหกรรมประกอบรถยนต์ มันก็ต้องมีอุตสาหกรรมชิ้นส่วนต่างๆ ควบคู่กันไปด้วย ยกเว้นเป็นอุตสาหกรรมขันน็อต นำเข้าชิ้นส่วนทั้งหมดมาประกอบ ซึ่งก็ต้องดูด้วยว่า คุณมีระบบขนส่งเอื้ออำนวยหรือไม่ ถามว่าท่าเรือกันตังของจังหวัดตรัง เป็นท่าเรือระดับไหน ที่เราพูดว่าเป็นท่าเรือน้ำลึกนั้น ลึกจริงหรือไม่ เรือขนาดไหนเข้าเทียบท่าได้

 

กรณีศึกษาท่าเรือน้ำลึกสงขลา ทั้งที่มีสินค้าจากโรงงานในสงขลาหรือจากตรัง วิ่งนิดเดียวก็ถึงสงขลา แล้วทำไมผู้ประกอบการในสงขลาและจากตรัง ถึงขนสินค้าไปลงเรือที่ปีนัง เพราะค่าระวางของเราแพงกว่า คำถามก็คือ ค่าจัดการต่างๆ คุณสู้เขาได้หรือไม่

 

ท่าเรือน้ำลึก ถ้าไม่ลึกจริงก็ต้องขุดลอก ขุดลอกแล้วก็มีปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งตามมา หลังจากที่มีท่าเรือน้ำลึกสงขลา ธรรมสถานหาดทรายแก้ว ซึ่งอยู่ใกล้ๆ เคยมีที่ดินถึง 70 กว่าไร่ ตอนนี้ถูกกัดเซาะเหลือที่ดินอยู่นิดเดียวแค่ 4 ไร่กว่าๆ วัดลงไปอยู่ในน้ำเสียแล้ว อันนี้เป็นผลมาจากการขุดลอก และก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างชายฝั่ง

 

ในร่างรายงานการศึกษาระบุหรือไม่ว่าโรงงานประเภทไหนเข้ามาอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมตรัง

เป็นโรงงานน้ำยางพารา ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม แปรรูปอาหารทะเล ห้องเย็น แช่แข็ง ผลิตแผ่นไม้เอ็มดีเอ็กส์ อุตสาหกรรมต่อเรือ อุตสาหกรรมวัสดุก่อสร้าง อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า อุตสาหกรรมยานยนต์

 

ดูแต่ละประเภทแล้วคิดว่าเขาจะมาหรือไม่

ส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมด้านการเกษตร ซึ่งมีอยู่แล้วในจังหวัดตรัง ทีนี้เรามาดูกันว่า มันจะเพิ่มจำนวนขึ้นอีกหรือไม่ เช่น อุตสากรรมปาล์มน้ำมัน นอกจากผลิตน้ำมันปาล์มดิบแล้ว จะพัฒนาไปจนถึงมีโรงงานรีไฟน์หรือไม่

 

ถ้าจะให้ไปถึงขั้นนั้น ก็ต้องถามว่าโรงงานปาล์มน้ำมันในจังหวัดตรังอยู่แนวหน้าหรือไม่ คำตอบก็คือว่า โรงงานน้ำมันปาล์มขนาดใหญ่ อยู่ที่ชุมพร สุราษฎร์ธานี อย่างที่กระบี่ก็ใหญ่กว่าเรา ถึงขนาดนั้นก็ยังไม่มีโรงงานรีไฟน์ในพื้นที่เลย ต้องส่งไปเข้าโรงงานรีไฟน์ที่กรุงเทพฯ เพราะอุตสาหกรรมต่อเนื่องมันอยู่ที่นั่น

 

เพราะฉะนั้น คุณต้องตอบให้ได้ว่า ทำอย่างไรให้โรงงานรีไฟน์เข้ามา มีเงื่อนไขอะไรที่เขาจะเข้ามา คุณมีอะไรให้เขาเลือก ไม่ใช่มาเขียนลอยๆ อย่างนี้

 

ต้องดูว่าศักยภาพในการผลิตขั้นปฐมเป็นอย่างไร เช่น โรงหีบน้ำมันปาล์ม มีตัวเลขหลังจากที่ตั้ง 3 โรงงานขนาดใหญ่ โรงงานสกัดน้ำมันปาล์มเล็กๆ อยู่ได้กี่โรง เจ๊งไปกี่โรง ที่ยังเหลืออยู่เดินกำลังผลิตไม่ถึงร้อยเปอร์เซ็นต์อีกเท่าไหร่ จำนวนสวนปาล์มที่เหลืออยู่ มีโอกาสเติบโตได้แค่ไหน จะอิ่มตัวเมื่อไหร่ มากพอกับจะรองรับโรงงานขนาดไหน - กี่โรง ถ้าอย่างนี้มันถึงจะเป็นเนื้อเป็นหนังจริงๆ เป็นการศึกษาที่รอบคอบ

 

ผมดูแบบไม่ได้ศึกษา ผมเห็น 3 โรงที่มีอยู่ก็อยู่อย่างนั้น โรงเล็กๆ ก็เจ๊งไปบ้าง ผมเคยถามบางโรงเขาบอกผลิตได้แค่ 50 เปอร์เซ็นต์ของกำลังการผลิตที่มีอยู่จริง เพราะปริมาณปาล์มมีน้อยกว่ากำลังการผลิต

 

อย่างการแปรรูปอาหารทะเล ตอนนี้อยู่ได้ แต่ต้องใช้แรงงานจำนวนมาก โรงใหญ่ๆ มี 2 โรง เป็นไปได้หรือไม่ที่จะเกิดเพิ่มขึ้นมาอีก ต้องใช้แรงงานอีกเท่าไหร่ ปริมาณสัตว์น้ำทะเลที่เข้าท่าเรือกันตังมีเท่าไหร่ ต้องศึกษาต่อไปให้ได้ว่า เรามีข้อได้เปรียบอะไร ต้นทุนจะถูกกว่าที่สงขลาหรือที่สุราษฎร์ธานี หรือถูกกว่าภาคกลางหรือไม่ ทำไมผู้ประกอบการถึงอยากจะเข้ามาตั้งที่เรา

 

ไม่มีคำตอบปรากฏในร่างรายงานผลการศึกษาซักนิดเดียว

 

มองอุตสาหกรรมอีเลกทรอนิกส์ ที่จะดึงเข้ามาอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมตรังอย่างไร

คุณก็ต้องศึกษา การที่จะเกิดอุตสาหกรรมอีเลกทรอนิกส์ในพื้นที่นั้นๆ ต้องมีสิ่งที่สนับสนุนอะไรบ้าง ทำอย่างไรจะให้เราแข่งขันกับเวียดนาม หรือประเทศอื่นๆ ได้ ที่สำคัญที่สุด คือ ทรัพยากรมนุษย์ รวมทั้งเหตุผลอื่นๆ เช่น สิทธิประโยชน์ต่างๆ อันนี้ท้องถิ่นไม่มีสิทธิคิดอยู่แล้ว เพราะมันถูกกำหนดโดยกรอบใหญ่ของแผนพัฒนาประเทศ

 

ทิศทางของจังหวัดตรังควรเป็นอย่างไร

คนตรังเขาเลือกแล้ว ให้เป็นพื้นที่ทางการเกษตร ด้านการท่องเที่ยว ซึ่งโดยธรรมชาติมันเป็นของมันอยู่แล้ว ก็น่าจะศึกษาดูว่าต่อไปจะทำอย่างไร จะเพิ่มอะไร จะดูแลแบบไหน ปัจจุบันมีปัญหาอะไร จะพัฒนาอย่างไรไม่ให้สร้างปัญหากับชุมชนนั้นๆ แทนที่จะมานั่งเฝ้าหลับหูหลับตาบอกว่า ต้องเป็นนิคมอุตสาหกรรมอย่างเดียว

 

ถ้าจะพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ไม่ว่าเชิงอนุรักษ์ หรืออะไรต่างๆ จะทำอย่างไรไม่ให้ขัดแย้งกับผู้คนของเรา ทำอย่างไรไม่ให้ทำความเสียหายกับทรัพยากรทางการท่องเที่ยวของเรา ทั้งหมดมีอยู่แล้วในแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดอย่างยั่งยืน 20 ปี เราได้จัดโซนนิ่งเอาไว้เรียบร้อยแล้ว

 

ถ้าต้องการจะต่อยอด ก็ควรศึกษาให้ลึกลงไปว่า มีเงื่อนไขอะไรบ้างที่จะทำให้เกิดการพัฒนาเพื่อเพิ่มมูลค่า โดยเฉพาะในแง่ของความพร้อม ไม่ว่าในด้านทรัพยากรมนุษย์ หรืออะไรต่างๆ ซึ่งมันจะเกิดได้จริงมากกว่า

 

คิดว่านิคมอุตสาหกรรมตรังมีโอกาสเกิดหรือไม่

เขาดันให้มีให้ได้ มันก็มีโอกาสเกิด แต่เกิดแล้วจะประสบความสำเร็จหรือไม่ ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ผมเกรงว่าจะเป็นเขตอุตสาหกรรมร้าง สูญเงินเปล่า

 

เฉพาะหน้าคิดว่าจะมีผลกระทบอะไรเกิดขึ้นบ้าง

สิ่งที่จะเกิดขึ้นก่อน คือ ประชาชนในพื้นที่จะทะเลาะกับราชการ เพราะที่ตรงนั้นไม่ใช่ที่รกร้างว่างเปล่า ตอนนี้มีการปลูกสร้างผลอาสิน เป็นสวนยางพารา ก่อนหน้านี้เป็นที่นา ต่อมา มีการตัดถนนไปขวางทางน้ำ ทำนาไม่ได้ เขาก็เลยปลูกยาง ตอนนี้ยางกรีดได้แล้ว พอเขาลืมตาอ้าปากได้ ก็จะมาเอาที่ดินไปทำนิคมอุตสาหกรรม

 

ผมคิดว่าพอเอาคนออกไปแล้ว ที่ตรงนี้อาจจะกลายเป็นที่ร้าง เพราะไม่มีโรงงานเข้ามา แบบนี้มันน่าเวทนา แต่กว่าจะเอาคนออกไปได้ก็ต้องใช้เวลา ดูอย่างนิคมอุตสาหกรรมภาคใต้ที่จังหวัดสงขลา การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สู้กับชาวบ้าน 10 กว่าปี ที่ทุ่งค่ายไม่รู้จะสู้กันกี่สิบปี เพื่อให้ได้นิคมอุตสาหกรรมร้างขึ้นมาอีกหนึ่งนิคมฯ มันไม่คุ้ม

 

ถามว่าตอนนี้คนทุ่งค่ายไม่มีอะไรทำเลยหรือ มันก็ไม่ใช่ คนทุ่งค่ายเขามีสวนยาง พอได้อยู่ได้กินอยู่แล้ว

 

ผมเชื่อว่าถ้าศึกษาตามหลักวิชาจริงๆ ข้อสรุปจะออกมาว่าไม่คุ้มค่า ทำไม่ได้ น่าจะไม่มีใครมาลงทุน หรือถ้าจะให้ผู้ประกอบเข้ามาลงทุน คุณต้องเตรียมความพร้อมอะไรบ้าง เรื่องแบบนี้ใช้เวลามากไป นักการเมืองเขาไม่ทำหรอก

 

ถ้าจะมีนิคมอุตสาหกรรมต้องเตรียมอะไรบ้าง

ต้องเตรียมตั้งแต่การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ มาตรการสร้างแรงจูงใจ ซึ่งมันไม่อยู่ในอำนาจของท้องถิ่น เพราะเป็นเรื่องของข้อกฎหมาย เป็นเรื่องของข้อตกลงระหว่างประเทศ มีอะไรต่างๆ อีกมากมาย

 

ทำไมโครงการลักษณะนี้ ที่กำลังผลักดันกันทั่วประเทศ ถึงทำอะไรเหมือนกันไปหมด

ถ้ามองในแง่ดีว่า กลุ่มคนที่คิดไม่ได้มีผลประโยชน์ทับซ้อน ก็ต้องเป็นคนที่มองอะไรคับแคบ ไม่เข้าใจในสิ่งที่จะทำอย่างถ่องแท้และรอบด้าน พอคิดจะทำก็ใช้อำนาจบาตรใหญ่ เมื่อจะทำแล้วต้องทำให้ได้ คนพวกนี้ ไม่เคยต้องรับผิดชอบสิ่งที่ตัวเองทำลงไป เช่น สร้างตลาดกลางการเกษตรขึ้นมาแล้ว พอมันเจ๊ง เขาไม่ต้องรับผิดชอบ ถ้าเป็นเอกชนทำแล้วเจ๊งขึ้นมา ต้องใช้หนี้กันหัวโต

 

ขณะที่ข้าราชการ หรือนักการเมือง ทำแล้วไม่ประสบความสำเร็จ หรือล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง เขาไม่ต้องรับผิดชอบอะไรเลย แถมยังบอกใครต่อใครได้อีกว่า ผมเป็นคนผลักดันโครงการนั้นโครงการนี้ ในส่วนที่ไม่เป็นมรรคเป็นผล คนพวกนี้ไม่ต้องรับผิดชอบ เขาถึงได้ผลักดันโครงการลักษณะนี้ทั่วไปหมด

 

มันต้องมีมาตรการให้เขารับผิดชอบ ถ้ามีความผิดพลาดเกิดขึ้น

 

ถ้าทำตามหลักการของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ข้อมูลแค่นี้ทำไม่ได้หรอก ผมเชื่อว่าการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เขามีความรู้และผ่านบทเรียนความผิดพลาดบกพร่องมามากพอ นอกจากจะใช้อำนาจทางการเมืองไปบีบบังคับให้เขายอมรับ

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท