Skip to main content
sharethis

ประชาไท - (8 มี.ค.) ตามที่นักศึกษาชั้นปีที่ 1 สาขาวิชาชาติพันธุ์ศึกษาอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง สถาบันชาติพันธุ์และสันติศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย ได้ยื่นหนังสือร้องเรียนต่อหน่วยงานต่างๆ ให้ช่วยแก้ปัญหาที่เกิดจากพฤติกรรมของนายสมบัติ บุญคำเยือง ผู้อำนวยการสถาบันชาติพันธุ์และสันติศึกษานั้น


 


และต่อมาได้มีประกาศมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงรายลงวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2550 ให้ยุบเลิกสถาบันชาติพันธุ์และสันติศึกษา และให้โอนภารกิจตลอดจนบุคลากรในสังกัดของวิทยาลัยนานาชาติภูมิภาคลุ่มน้ำโขง จนทำให้เมื่อวันที่ 3 มี.ค. สมัชชาชนเผ่าแห่งประเทศไทย เครือข่ายผู้รู้ภูมิปัญญาชนเผ่า 13 ชนเผ่า และองค์กรชนเผ่าต่างๆ ออกแถลงการณ์คัดค้านการยุบสถาบันชาติพันธุ์และสันติศึกษานั้น


 


 


 


อธิการบดีชี้ ยังถือเป็นการอ้างชื่อร้องเรียนเหตุ นศ.ไม่ลงลายมือชื่อในหนังสือ


ล่าสุด เมื่อวันที่ 6 มีนาคมที่ผ่านมา ที่ห้องประชุมชั้น 2 มหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงราย (มรช.) ผศ.ดร.มาณพ ภาษิตวิไลธรรม อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงราย ได้แถลงถึงกรณีดังกล่าวว่า จากที่มีกลุ่มที่อ้างว่าเป็นนักศึกษาเอกชาติพันธุ์ศึกษาอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงชั้นปีที่ 1 ของมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย ตระเวนไปยื่นคำร้องและให้ข่าวในที่ต่างๆ นั้น จากภาพที่ปรากฏในสื่อไม่ใช่เฉพาะนักศึกษาเอกชาติพันธุ์ศึกษาฯ เท่านั้น แต่ยังมีอาจารย์ของหน่วยงานนั้นเข้าไปร่วม 2 คน และมีนักศึกษาของมหาวิทยาลัยราชภัฏอื่นๆ ร่วมผสมโรงด้วย


 


"ผมไม่อยากไปทึกทักว่านักศึกษาเอกชาติพันธุ์ชั้นปีที่ 1 เป็นผู้ร้องเรียน เพราะว่าเอกสารที่เขาส่งมาเนี่ย คือเขาไม่ได้ลงลายมือชื่อ เราต้องให้เกียรติเขาก่อน ต้องถือว่ายังไม่ได้ร้อง ส่วนภาพที่เขาไปปรากฏ ก็แบบที่ผมบอกไม่ใช่นักศึกษาชั้นปีที่ 1 นะ บางคนก็เป็นนักศึกษาปีอื่นเอกอื่นก็มี ที่ผมรู้จักก็ยังมีเลย แล้วก็เป็นอาจารย์ เพราะฉะนั้นก็ต้องให้เกียรติเขา แล้วถ้าเกิดเขาไม่ลงลายมือชื่อจริงๆ เราก็ต้องไปดูข่าวจากทางโทรทัศน์ แล้วก็เชิญเขามาพบว่าวันนั้นไปร่วมร้องด้วยใช่ไหม หรือว่าไปรับฟังอะไรเฉยๆ อย่างนี้ ถ้าเขาว่าบอกผมผ่านไปแล้วก็ไปรับฟัง ไม่ได้ตั้งใจเรียกร้อง เขาก็ไม่เกี่ยวนะ" ผศ.ดร.มาณพ ภาษิตวิไลธรรม อธิการบดี มรช.กล่าว


 


 


ระบุนักศึกษาร้องเรียนอาจมาจากความขัดแย้งระหว่างอาจารย์ในสถาบัน


อธิการบดี มรช. ยังกล่าวว่า ภายในหน่วยงานนั้น ยังมีกรณีที่มีอาจารย์ในสถาบันร้องถึงความไม่ชอบมาพากลของอาจารย์ 2 ท่านที่นำนักศึกษาไปเคลื่อนไหว ทำให้คาดว่าอาจจะเกิดจากความขัดแย้งภายในของสถาบันจนทำให้เรื่องบานปลายก็ได้


 


โดยมหาวิทยาลัยก็ได้เรียนเชิญประสานงานกับกลุ่มดังกล่าวให้ยื่นคำร้องที่มหาวิทยาลัยโดยตรง เพราะมหาวิทยาลัยจะได้ทำความจริงให้ปรากฏ ใครผิดก็ต้องว่าไปตามผิด ปรากฏว่า กลุ่มดังกล่าวได้เข้ามายื่นคำร้องต่อมหาวิทยาลัยตอนกลางเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา แต่ภายในเอกสารเป็นการพิมพ์ทั้งหมด แล้วลงนามว่ากลุ่มนักศึกษาชาติพันธุ์ศึกษาฯ ชั้นปีที่ 1 และแนบรายชื่อนักศึกษาชาติพันธุ์ศึกษาฯ ชั้นปีที่ 1 มา 15 คน แต่ไม่มีการลงลายมือชื่อเลย


 


มหาวิทยาลัยได้ตั้งกรรมการสืบข้อเท็จจริงก็ได้เรียนเชิญนักศึกษาทั้ง 15 คนมาพบ เพื่อให้ยืนยันคำร้องและให้ข้อมูลเพิ่มเติม ไม่อย่างนั้นก็จะมีการอ้างกันได้ ปรากฏว่าคณะกรรมการสืบข้อเท็จจริงรายงานมาว่า การมาครั้งแรกนั้น กลุ่มนักศึกษาดังกล่าวไม่ยอมลงชื่อร้องเรียน ซึ่งอาจเป็นปัญหาเรื่องความหวาดวิตกบางอย่าง คณะกรรมการสืบข้อเท็จจริงก็ให้กลับไปก่อน แล้วทำจดหมายตามมาทีหลังเป็นรายคน แล้วก็ให้มายื่นข้อมูล ข้อเรียกร้องในวันที่ 9 มี.ค. นี้


 


 


อธิการบดีระบุ "ผู้บริหารที่ถูกร้องเรียน" ลาบวชแล้ว! ถ้าสึกจะเชิญสื่อมาฟังเปิดใจ


ในส่วนของผู้บริหารที่ถูกร้องเรียนนั้น ผศ.ดร.มาณพ ภาษิตวิไลธรรม กล่าวว่าเหตุที่ไม่สามารถเชิญมาร่วมแถลงข่าวด้วย เพราะผู้บริหารคนดังกล่าวขออนุญาตลาบวชระยะสั้น โดย ผศ.ดร.มาณพกล่าวว่า เพราะคนเป็นครู สอนลูกศิษย์แล้ว แล้วมีความรู้สึกว่าลูกศิษย์และเพื่อนอาจารย์ที่ทำงานมาด้วยกันดำเนินการอย่างนี้ ก็ยังมีจิตไม่สงบพอ หลังจากเขาลาสิกขาบทมาเสร็จ จะเชิญสื่อมวลชนมารับฟัง ให้เขามาพูดเปิดใจอีกครั้งหนึ่ง ส่วนอีกฝ่ายหนึ่งเขาพบกับสื่อเป็นประจำอยู่แล้ว ก็ไม่ต้องเชิญมา อธิการบดี มรช.กล่าว


 



ยืนยันไปชี้แจง กมธ. "ครูหยุย" ตามนัด


ส่วนกรณีที่นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ หรือ ครูหยุย ประธานคณะกรรมการกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ และความมั่นคงของมนุษย์ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จะเชิญตนและสภามหาวิทยาลัยไปชี้แจงที่กรุงเทพในวันที่ 8 มี.ค. นั้น ตนเห็นว่าไม่มีปัญหา เพราะการดำเนินการต่างๆทาง มหาวิทยาลัยดำเนินการไปตามขั้นตอน และก็ให้ข้อเท็จจริง ไม่ได้เข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ต้องเข้าใจว่าสถานการณ์นี้ในฝ่ายของอาจารย์ 2 ท่านและนักศึกษากลุ่มหนึ่งที่อ้างว่าเป็นนักศึกษาชาติพันธุ์ฯ ก็ร้องเรียนกล่าวโทษผู้บริหารท่านหนึ่งใน 2 ประเด็นคือประเด็นเรื่องล่วงละเมิดทางเพศ กับเรื่องการหลอกหลวงเรื่องทุนการศึกษา



 


ชี้กลุ่มร้องเรียนไม่มีข้อมูล "ล่วงละเมิดทางเพศ" ชัดเจน


ในประเด็นการล่วงละเมิดทางเพศมหาวิทยาลัยให้ความสำคัญมาก เพราะว่าสถาบันการศึกษามีเรื่องนี้ไม่ได้เลย แต่ว่ากลุ่มที่ร้องเรียนในเรื่องนี้ยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจน 


 


"เท่าที่เราทราบข้อมูลก็คือว่า กลุ่มนี้ที่อ้างเรื่องการล่วงละเมิดทางเพศ ก็ยังขาดข้อมูลที่ ณ วันนี้ยังไม่ชัดเจน คืออาจยังไม่กล้าบอกก็ได้นะ แต่ว่าที่แน่ๆ ผมทราบว่าได้พยายามจะไปแจ้งความที่ สภ.ต.บ้านเดื่อ และตำรวจก็ไม่รับแจ้ง เนื่องจากว่าเป็นการแจ้งโดยคำบอกเล่า ไม่ใช่ผู้เสียหาย เพราะฉะนั้นผมก็อยากจะให้ผู้ที่มีข้อมูล ไม่จำเป็นจะต้องให้นักศึกษากลุ่มนี้ที่ร้องเรียน ร้องเรียนตรงมาที่มหาวิทยาลัยเลย เพราะเรื่องนี้เราให้ความสำคัญ ผิดก็ผิด ถูกก็ถูก"


 


 


ยัน นศ.ชาติพันธุ์ฯ ได้ทุนทั้ง "ให้เปล่า" และ "ให้กู้" ยันไม่มีนโยบายจ้าง นศ.ไปเรียน


ส่วนเรื่องที่นักศึกษาร้องเรียนว่า ผอ.สถาบันชาติพันธุ์ฯ จะให้ทุนการศึกษา 200,000 บาทต่อคน แต่เมื่อมาเรียนกลับไม่มีทุนนั้น ผศ.ดร.มาณพ ชี้แจงว่าจริงๆ แล้วนักศึกษาชาติพันธุ์ฯที่อ้างมีทั้งหมด 18 คน ไม่ใช่ 15 คน แล้ว 18 นี้ มี 3 คนที่ไม่ได้เข้าร่วม แล้วทั้ง 18 คนได้รับทุนการศึกษาหลายรูปแบบ คือในเอกสารจะบอกเลยว่า ได้ทุนแบบให้เปล่าเลยไม่ต้องชดใช้คืน หรือว่าทุน กรอ. ทุนองค์การบริหารส่วนจังหวัด ทุนวัฒนธรรมชนเผ่า คือแทบจะทุกคนได้ทุน มีที่จะไม่ขอจริงๆ เรียกว่าไม่มีเหลือ ได้รับทุนหมด แต่ปัญหาตรงนี้ไม่เกี่ยวกับทุน และมหาวิทยาลัยไม่มีนโยบายที่จะไปเอาเงินไปจ้างนักศึกษามาเรียน เพราะแต่ละปีนักศึกษาชาติพันธุ์ฯ เข้ามาเรียนกับ มรช.เป็นจำนวนมาก


 


 


ชี้เปลี่ยนสถาบันชาติพันธุ์ฯ ไปเป็นศูนย์ฯ ไม่ได้ยุบหน่วยงาน


อธิการบดี มรช.กล่าวถึงกรณีการยุบสถาบันชาติพันธุ์ศึกษาด้วยว่า จริงๆ แล้วไม่ได้ยุบแต่เป็นการปรับโครงสร้างใหม่ เนื่องจากว่าสถาบันชาติพันธุ์ฯ เดิมเจริญเติบโตมาจากศูนย์ชาติพันธุ์ฯ และเมื่อเติบโตมาเป็นสถาบันแล้ว ปัจจุบันนี้รับนักศึกษาเข้ามา นักศึกษาเหล่านี้เดิมมีแต่สถาบันชาติพันธุ์ที่เป็นเอกชาติพันธุ์ฯ ปี 1 ปัจจุบันปรากฏว่า มหาวิทยาลัยได้อนุมัติหลักสูตรปริญญาสหวิทยากรบริหารท้องถิ่น ซึ่งจะโอนผลการเรียน และสามารถเข้าศึกษาได้ใน 2-3 เดือนข้างหน้า เพราะฉะนั้นโดยหลักของการอุดมศึกษา สถาบันจัดการศึกษาโดยให้ปริญญาไม่ได้ ต้องเป็นเรื่องของมหาวิทยาลัย


 


"มหาวิทยาลัยก็ตั้งหน่วยงานหนึ่งขึ้นมา ซึ่งจริงๆ ก็ตั้งมาคู่กัน คือ วิทยาลัยนานาชาติเพื่อการพัฒนาลุ่มน้ำโขง แล้วก็แปลงสภาพจากสถาบันชาติพันธุ์ฯ มาเป็นศูนย์ชาติพันธุ์ฯ ไปอยู่ภายใต้วิทยาลัยนานาชาตินี้ และศูนย์พัฒนาเศรษฐกิจและสังคมฯ ซึ่งยุบจากสถาบันมาเป็นศูนย์มาอยู่ภายใต้วิทยาลัยใหม่ เรื่องนี้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับที่นักศึกษาออกมาร้องเรียน แต่เป็นแผนการที่มหาวิทยาลัยจะต้องดำเนินการอยู่แล้ว" ผศ.ดร.มาณพ กล่าว


 


อธิการบดี มรช. กล่าวทิ้งท้ายถึงนักศึกษาชาติพันธุ์ศึกษาฯ ชั้นปีที่ 1 ว่า "จริงๆ แล้วเขาก็เป็นนักศึกษาของเราอยู่ เขาไม่ได้ลาออกนะ เขาก็มีสิทธิ์ 100% ที่จะเรียน ที่จะย้ายวิชาเอก ที่จะบอกมหาวิทยาลัยว่าอะไรดี ไม่ดี แต่ว่าสิ่งที่เราอยากจะได้คือต้องให้เขานำปัญหานั้นมาที่มหาวิทยาลัย ถ้าเขานำปัญหาไปตระเวนในที่อื่น มันก็แก้ปัญหาไม่ได้สักที เพราะที่อื่นเขาไม่มีอำนาจโดยตรง อย่างเก่งเขาก็ให้คำแนะนำ ให้คำชี้แจง ปัญหามันไม่จบ บางทีพูดง่ายๆ มันก็ก็ไม่เกิดประโยชน์กับทุกๆ ฝ่าย เพราะฉะนั้น ผมอยากให้มาพูดกันตรงๆ ผิดก็ผิด ถูกก็ถูก"


 


ล่าสุดมีรายงานข่าวว่า นักวิชาการด้านสตรีศึกษาและมานุษยวิทยา เตรียมออกแถลงการณ์ให้กำลังใจนักศึกษาและอาจารย์ที่กล้าทำการเปิดเผยเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมต่อพฤติกรรมที่เหยียบย่ำศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้หญิง นักเรียน นิสิต นักศึกษาและกลุ่มชาติพันธุ์ที่เกิดขึ้นในสังคมไทย และเรียกร้องให้มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงรายยกเลิกคณะกรรมการที่แต่งตั้งขึ้นมาเพื่อสอบสวนวินัยของนักศึกษาหรืออาจารย์ที่ออกมาเรียกร้องความเป็นธรรม เนื่องจากผู้เรียกร้องไม่ได้เป็นผู้กระทำความผิด หากเป็นผู้เสียหาย โดยประชาไทจะได้นำเสนอต่อไป


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net