ประสงค์ชี้ร่าง รธน.50 ดีที่สุดแล้ว ย้ำประชามติไม่ผ่าน ความผิดรัฐบาล

ประชาไท - 11 มี.ค. 2550 เมื่อวันที่ 10 มี.ค. การประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญครั้งที่ 1 ที่ รร.สปริงฟิลด์ วิลเลจ กอล์ฟ แอนด์ สปา ได้เดินทางมาถึงวันสุดท้าย ซึ่งที่ประชุมได้พิจารณาโครงสร้างของรัฐธรรมนูญฉบับพ.ศ.2550 ทั้งหมด 15 หมวด ซึ่งส่วนใหญ่ยึดตามหมวดของรัฐธรรมนูญปี 40 โดยมีการเพิ่มเติม 4 หมวด คือ หมวดการเงินการคลังและการงบประมาณ หมวดการมีส่วนร่วมทางการเมืองโดยตรงของประชาชน หมวดจริยธรรมนักการเมืองและเจ้าหน้าที่ของรัฐ และหมวดองค์กรตามรัฐธรรมนูญ


 

น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ ประธาน กมธ. กล่าวในการแถลงข่าวสรุปผลการประชุมว่า 6 วันที่ผ่านมา คณะกรรมาธิการยกร่างฯ ได้หารือเกี่ยวกับการยกร่างฯ โดยทั้งสามกรอบ มีความคืบหน้ามากในรายละเอียด หลายเรื่องได้ข้อยุติ บางเรื่องที่ต้องถกแถลงจะนำไปประชุมหารือกันที่กรุงเทพฯ  

 

โดยเขากล่าวว่า ได้ย้ำกับกรรมาธิการยกร่างฯ หลายครั้งว่า พวกเราจะทำหน้าที่ให้สำเร็จและเป็นไปตามวัตถุประสงค์ในการรับใช้ประชาชน อย่างไรก็ตาม จะรับฟังความเห็นจากกลุ่มต่างๆ โดยจะคำนึงถึงเหตุผลข้อดีข้อเสีย เพื่อมาจัดทำรัฐธรรมนูญ50 ดังนั้นจะทำหน้าที่ยกร่างฯ โดยไม่เอาเรื่องอื่นมาวิตกกังวลและเสียเวลา เรื่องต่างๆ เป็นเรื่องของฝ่ายการเมือง รัฐธรรมนูญที่ร่างคิดว่าจะดีที่สุด อย่างไรก็ตาม สถานการณ์การเมืองและเศรษฐกิจมีผลต่อการลงประชามติเช่นกัน

 

"ประชามติจะผ่านหรือไม่นั้นไม่ได้ขึ้นอยู่กับรัฐธรรมนูญอย่างเดียว ผมร่างดีอย่างไรก็ตามถ้าสถานการณ์การเมือง การบริหารประเทศ และเศรษฐกิจไม่ดี ก็อาจจะไม่ผ่าน เพราะความคิดของคนในการลงประชามติจะขึ้นอยู่กับบรรยากาศบ้านเมืองขณะนั้น ดังนั้น รัฐบาลต้องช่วยผมด้วย ต้องสร้างปัจจัยที่เกื้อกูลหนุนเพราะบ้านเมืองไม่ใช่ของใครคนใดคนหนึ่ง"

 

เมื่อถามว่า จะมีการประสานไปยังรัฐบาลให้เข้าใจหรือไม่ น.ต.ประสงค์ กล่าวว่า ช่วยไปบอกเขาหน่อย ผมร่างแต่รัฐธรรมนูญ ไม่ได้ไปบอกใคร เขา(รัฐบาล)น่าจะเข้าใจ เชื่อว่าเขารู้ดี คำถามนี้คงดังไปถึงเขา

 

"ส่วนผมร่างรัฐธรรมนูญอย่างเดียวคงไม่เดินไปบอกว่านี่คุณเบาๆ หน่อยนะมันไม่ใช่หน้าที่ผม น.ต.ประสงค์ กล่าว

 

ต่อคำถามถึงการร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้ว่า ดูเหมือนยกร่างฯ ให้ คมช. ต่อท่ออำนาจได้หรือไม่ เช่น ที่มานายกฯ ที่อาจไม่ต้องมาจากการเลือกตั้ง น.ต.ประสงค์ กล่าวว่า เรื่องท่อ เรื่องสายไม่มีทั้งสิ้น ไม่มีการสั่งการใดๆ จากฝ่าย คมช. การประชุมแต่ละครั้งไม่มีธง เราทำงานอย่างอิสระ โปร่งใสเปิดเผย ให้ผู้สื่อข่าวได้เข้าฟัง

 

ส่วนกรณีบทบาทหน้าที่ของทหาร จะมีการเสนอตั้งผู้ตรวจการแผ่นดินฝ่ายทหาร หรือห้ามทำการขัดรัฐธรรมนูญในอนาคตหรือไม่นั้น น.ต.ประสงค์ กล่าวว่า คงเป็นไปตามรัฐธรรมนูญว่า ทหารมีหน้าที่ป้องกันประเทศ รักษาอธิปไตย รักษาความสงบเรียบร้อยของชาติบ้านเมือง หลักการยังคงอยู่ นอกจากนี้ ทหารก็เป็นข้าราชการ การยกร่างฯ ครั้งนี้ได้เพิ่มบทบัญญัติที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ของข้าราชการกับนักการเมืองเพื่อไม่ให้นักการเมืองใช้ประโยชนจากข้าราชการ ซึ่งรวมถึงทหาร ด้วย

 

ผู้สื่อข่าวถามว่า จะมีการบัญญัติให้ประชาชนสามารถต่อต้านรัฐประหารที่อาจเกิดในอนาคตหรือไม่ นายสมคิด เลิศไพฑูรย์ เลขานุการ กมธ. กล่าวว่า ในรัฐธรรมนูญ 40 ก็มีการบัญญัติไว้ แต่มาตรานี้มีผลปฏิบัติน้อย เพราะเมื่อทหารมาก็ล้ม รัฐธรรมนูญทำให้ไม่สามารถใช้มาตรานี้ได้ แต่ถ้าจะเขียนให้มีก็มีได้

 

เมื่อถามว่า มีการอภิปรายกันเรื่องงบกลาง แต่ไม่มีการพูดถึงงบลับของทหาร เป็นเพราะเกรงใจทหารหรือไม่ น.ต.ประสงค์ ตอบว่า ถ้าเกรงใจคงไม่มานั่งร่างรัฐธรรมนูญ ทหารต้องเกรงใจเรา เราก็ต้องเกรงใจทหาร แต่ทหารก็ต้องเกรงใจประชาชน เราก็เกรงใจ ต่างฝ่ายต่างต้องเกรงใจกัน อย่าระแวงสงสัย ทุกอย่างจะเป็นไปตามความต้องการของประชาชน ในการร่างเราต้องออกแบบแปลนการสร้าง เราเป็นสถาปนิกออกแบบแปลน แต่คนตัดสินคือประชาชน ซึ่งเป็นเจ้าของบ้าน บ้านยังไม่เสร็จจะไม่เอากันแล้ว นี่ยังไม่เสร็จยังอยู่ในขั้นตอนการฟังความเห็น

 

ต่อคำถามว่า มีความมั่นใจแค่ไหนว่า รัฐธรรมนูญฉบับที่กำลังร่างนี้จะเป็นฉบับสุดท้ายของประเทศไทย น.ต.ประสงค์ กล่าวว่า ประเทศไทยยังอยู่อีกนาน และคิดว่าเหตุการณ์วันข้างหน้าขึ้นอยู่กับผู้ใช้คือประชาชนและคุณภาพของฝ่ายการเมือง ส่วนตัวก็อยากให้ใช้ได้นานๆ คิดว่าคงไม่ต้องร่างอีกฉบับหนึ่ง

 

สำหรับการประชุมกรรมาธิการในขั้นตอนการยกร่างฯ รายมาตรานั้น น.ต.ประสงค์ กล่าวว่า จากเดิมที่กำหนดจะประชุมระหว่างวันที่ 6-11 เมษายน ที่พัทยาอาจไม่จำเป็นต้องเป็นการประชุมนอกสถานที่ โดยกรรมาธิการสามารถประชุมที่รัฐสภาซึ่งมีความพร้อมของข้อมูลมากกว่าและยังสะดวกต่อการเปิดโอกาสให้ประชาชนร่วมแสดงความคิดเห็นได้ด้วย

 

นายจรัญ ภักดีธนากุล รองประธาน กมธ. กล่าวว่า รัฐธรรมนูญฉบับ 50 จะต่างจากรัฐธรรมนูญ 40 ในทิศทางที่ชัดเจน 4 ข้อ คือ 1.ฝ่ายบริหารจะมีอำนาจลดลง แต่ไม่ได้ลดลงมาจนทำงานไม่ได้ 2.การมีส่วนร่วมของประชาชนจะมีเพิ่มมากขึ้น 3.ระบบตรวจสอบการใช้อำนาจของรัฐจะต้องมีประสิทธิภาพมากขึ้น และ 4.จริยธรรมคุณธรรมทางการเมืองการบริหารงานของนักการเมืองและข้าราชการประจำ

 

ต่อคำถามว่า ดูเหมือนมีการเทน้ำหนักให้ศาลในการสรรหาคัดเลือกผู้ดำรงตำแหน่งต่างๆ ค่อนข้างมาก จะมากถึงขั้นวิกฤตจนศาลตกเป็นเป้าทางการเมืองหรือไม่ นายจรัญ กล่าวว่า ถ้าเป็นจุดที่จำเป็นและหากลไกอื่นไม่ได้ จำเป็นต้องใช้องค์กรนี้คิดว่าเรามีความชอบธรรมที่จะใช้ ถึงแม้ท่านเองจะบอกว่าหนัก แต่ถ้าเป็นภาระความจำเป็นของสังคมส่วนรวมก็ต้องทำ

 

"เมื่อขอให้ฝ่ายตุลาการเข้ามารับภาระทางบ้านเมืองต้องอย่าให้เป็นผู้เล่นเอง แต่ให้เป็นคล้ายๆ กรรมการ มากกว่า เท่าที่ผ่านมาเป็นการขอให้เข้ามาเป็นตัวสรรหาบ้าง กลั่นกรองบ้าง หรือตรวจสอบการใช้อำนาจของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งซึ่งไม่น่าอันตรายจนเกินไป อย่างไรก็ตามต้องวิเคราะห์โดยละเอียดอีกที เพราะค่อนข้างล่อแหลม"

 

ด้านนายสมคิด กล่าวเสริมว่า เมื่อร่างแรกเสร็จสิ้นลง เขาและฝ่ายเลขานุการจะตรวจดูภาพรวมทั้งหมดอีกครั้งว่าอำนาจต่างๆ มีความสมดุลหรือไม่

 

ร.ศ.ธงทอง จันทรางศุ โฆษกกรรมาธิการยกร่างฯ กล่าวว่า วิธีการทำงานตลอด 6 วันมานี้ไม่ใช้วิธีลงประชามติ แต่จะฟังความคิดเห็นของที่ประชุม ถ้าเสียงข้างมากโน้มไปทางไหน เลขาฯ จะขอสรุปเป็นข้อสรุปเบื้องต้น บางเรื่องมีหลายความคิด เลขาฯ จะรับไปร่างเป็นสองแนวทางและอภิปรายกันต่อไป ส่วนประเด็นเรื่องสถาบันศาลจะยกไปคุยกันต่อที่กรุงเทพฯ และคาดว่าสัปดาห์หน้าจะแล้วเสร็จ ทั้งนี้ ยืนยันว่า ผลการสัมมนาที่ออกมายังไม่ใช่ข้อยุติ และจะต้องมีการหารือกันต่อ อย่างไรก็ตาม มั่นใจว่าจะทันตามกรอบเวลาที่กำหนด

 

น.พ.ชูชัย ศุภวงศ์ ประธานอนุกรรมาธิการยกร่างฯ กรอบที่ 1 ว่าด้วยสิทธิเสรีภาพ การมีส่วนร่วมของประชาชน และการกระจายอำนาจ กล่าวว่า ไม่ทราบว่ามีกระบวนการนำไปพูดให้ชาวบ้านในท้องถิ่นล้มล้างรัฐธรรมนูญหรือไม่อย่างไร แต่ในฐานะที่รับผิดชอบกรอบสิทธิเสรีภาพ หากรัฐธรรมนูญผ่านการประชามติ ประชาธิปไตยในท้องถิ่นจะเข้มแข็งชัดเจน คนในชุมชนจะมีส่วนร่วมในการรักษาทรัพยากรของตัวเองได้ ทั้งยังจะมีการเปิดพื้นที่ให้คนธรรมดาที่ไม่ได้สังกัดพรรค มาตั้งสภาชาวบ้านพูดคุยเรื่องการพัฒนาท้องถิ่นรวมถึงการมีส่วนร่วมของประชาชนในการทำประชามติ ร่วมจัดการในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นต้น

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท