Skip to main content
sharethis

(หมายเหตุจากประชาไท - จากกรณีที่นักศึกษาหลักสูตรชาติพันธุ์ศึกษาอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงร้องเรียนพฤติกรรมผู้บริหารสถาบันชาติพันธุ์และสันติศึกษาไปยังสื่อมวลชนและหน่วยงานต่างๆ นั้น ต่อมา ผศ.ดร.มาณพ ภาษิตวิไลธรรม อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย ได้แถลงข่าวเรื่องนี้อย่างเป็นทางการ ณ ห้องประชุมเอื้องสายหลวง มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย วันที่ 6 มีนาคม 2550 เวลาประมาณ 15.20 น. โดยก่อนหน้านี้ประชาไทได้เคยเสนอข่าวไปแล้ว (อ่านข่าวย้อนหลัง)


 


ซึ่งคำแถลงนี้มีขึ้นก่อนที่อธิการบดี มรช. เข้าพบคณะกรรมมาธิการกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการและความมั่นคงของมนุษย์ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในวันที่ 8 มีนาคม (อ่านข่าวย้อนหลัง) และ เครือข่ายผู้รู้ภูมิปัญญา 13 ชนเผ่า เข้าเจรจากับอธิการบดีในวันที่ 9 มีนาคม (อ่านข่าวย้อนหลัง)


 






1.ก่อนแถลงข่าว


 


ช่วงก่อนแถลงข่าวอย่างเป็นทางการ มีผู้สื่อข่าวช่อง 7 ขอสัมภาษณ์ก่อน ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้


 



 


ผู้สื่อข่าวช่อง 7 : (ฟังคำถามไม่ชัด)


อธิการบดี : กรณีที่มีผู้อ้างตัวว่า เป็นนักศึกษาชาติพันธุ์รุ่นที่ 1 ตระเวนร้องเรียนให้ข่าวไปในที่ต่างๆ นั้น ซึ่งจากภาพที่ปรากฏในสื่อเนี่ย เราพบว่า ไม่ใช่เฉพาะนักศึกษาชาติพันธุ์รุ่นที่ 1 ที่อ้างเท่านั้น ยังมีอาจารย์ของเราเข้าไปร่วมด้วย อย่างน้อย 2 คนและก็มีนักศึกษาเอกอื่นๆ เข้าไปร่วมด้วย ฉะนั้น มหาวิทยาลัยก็ให้ความสำคัญและก็ประสานงานเพื่อที่จะให้กลุ่มนี้เข้ามายื่นข้อเรียกร้องกับมหาวิทยาลัย เพื่อมหาวิทยาลัยจะได้แก้ไขปัญหา ให้เกิดประโยชน์กับทุกๆ ฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ก็ปรากฏว่า มายื่นข้อเรียกร้อง แต่ว่าการยื่นข้อเรียกร้องนั้น ในเอกสารระบุว่าเป็นกลุ่มนักศึกษาชาติพันธุ์ศึกษารุ่นที่ 1 แล้วก็แนบชื่อมาจำนวน 15 คนด้วยกัน แต่ว่าไม่มีการลงลายมือชื่อ


มหาวิทยาลัยก็ให้คณะกรรมการสืบข้อเท็จจริงเรียนเชิญผู้ที่มีรายชื่อทั้ง 15 คนมาพบ เพื่อให้ยืนยันคำร้อง แล้วก็ให้ข้อมูลเพิ่มเติม ปรากฏว่า คณะกรรมการสืบข้อเท็จจริง รายงานมาว่า การมาครั้งแรกนั้นกลุ่มนักศึกษากลุ่มเหล่านี้ไม่ยอมลงชื่อร้องเรียน ซึ่งอาจเป็นปัญหาเรื่อง ความหวาดวิตกบางอย่าง คณะกรรมการสืบข้อเท็จจริงก็ให้กลับไปก่อน แล้วทำจดหมายตามมาทีหลัง เป็นรายคน แล้วก็ให้มายื่นข้อมูลข้อเรียกร้องภายใน วันที่ 9 มีนาคม


 


 


ผู้สื่อข่าวช่อง 7 : เห็นว่า ทางครูหยุยจะเชิญท่านกับสภามหาวิทยาลัยไปที่กรุงเทพฯ ด้วย?


อธิการบดี : อันนี้ไม่มีปัญหา เพราะว่าจริงๆ แล้ว มหาวิทยาลัยนี่เราดำเนินการไปตามขั้นตอน ให้ข้อเท็จจริง ไม่ได้เข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เพราะต้องเข้าใจว่าสถานการณ์นี้ ในฝ่ายของอาจารย์ 2 ท่านและนักศึกษากลุ่มหนึ่งที่อ้างว่า เป็นนักศึกษาชาติพันธุ์ ก็ร้องเรียนกล่าวโทษผู้บริหารท่านหนึ่งในสองประเด็น คือ ประเด็นเรื่องล่วงละเมิดทางเพศ กับ เรื่องหลอกหลวงเรื่องทุนการศึกษา


 


ในขณะเดียวกัน อาจารย์และเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานเดียวกันนั้นแหละก็ร้องเรียนกล่าวโทษอาจารย์ 2 ท่าน อีกฝั่งหนึ่งด้วย เพราะฉะนั้นก็มหาวิทยาลัยก็สืบข้อเท็จจริงทุกคนที่เกี่ยวข้องเพื่อที่จะดำเนินการต่อไปว่า จะต้องสอบวินัยอะไรหรือไม่


 


ทีนี้ประเด็นที่น่าสนใจก็ คือว่า ข้อร้องเรียนมีสองประเด็นหลัก คือ การล่วงละเมิดทางเพศ ซึ่งการล่วงละเมิดทางเพศมหาวิทยาลัยให้ความสำคัญมากเพราะสถาบันการศึกษามีเรื่องนี้ไม่ได้เลย แต่เท่าที่เราทราบข้อมูล ก็คือว่า กลุ่มนี้ ที่อ้างเรื่อง การล่วงละเมิดทางเพศก็ยังขาดข้อมูล ที่ ณ วันนี้ยังไม่ค่อยชัดเจน คือ อาจยังไม่กล้าบอกก็ได้นะ แต่ที่แน่ๆ ผมทราบว่า ได้พยายามจะไปแจ้งความที่ สภ.ต.บ้านดู่ และตำรวจก็ไม่รับแจ้ง เนื่องจากว่า เป็นการแจ้งโดยคำบอกเล่าไม่ใช่ผู้เสียหาย เพราะฉะนั้น ผมเองก็อยากจะให้ผู้ที่มีข้อมูล ไม่จำเป็นจะต้องให้นักศึกษากลุ่มนี้ร้องเรียน ร้องเรียนตรงมาที่มหาวิทยาลัยเลย ผิดก็ผิด ถูกก็ถูก


 


 


ผู้สื่อข่าวช่อง 7 : ส่วนกรณีที่นักศึกษาอ้างว่า อาจารย์คนดังกล่าวให้มาเรียนแต่ไม่มีทุนให้ เรื่องนี้เป็นอย่างไร?


อธิการบดี : ในเรื่องนี้ก็น่าสนใจเหมือนกันเพราะว่าถ้าได้รับเอกสารประกอบ เพราะจริงๆ แล้วนักศึกษาเอกชาติพันธุ์ที่อ้าง มีทั้งหมด 18 คน ไม่ใช่ 15 คน แล้ว 18 คนมี 3 คนที่ไม่ได้เข้าร่วม แล้วทั้ง 18 คนได้รับทุนการศึกษาหลายรูปแบบ คือ ในเอกสารจะบอกเลยว่า ได้ทุนแบบให้เปล่าโดยไม่ต้องชดใช้คืน หรือว่าทุน กรอ. ทุนองค์การบริหารส่วนจังหวัด ทุนวัฒนธรรมชนเผ่า คือๆ แทบจะทุกคนได้ มีที่จะไม่ขอจริงๆ เรียกว่า ไม่มีเหลือเลย ได้ทุนหมด แต่ปัญหาตรงนี้ไม่เกี่ยวกับทุน


 


 


ผู้สื่อข่าวช่อง 7 : สรุปว่า ตอนนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบใช่ไหมครับ?


อธิการบดี : จริงๆ ก็คือ เรื่องทุนเราก็สนใจว่า มหาวิทยาลัยไม่มีนโยบายที่จะเอาเงินไปจ้างนักศึกษามาเรียนเพราะแต่ละปีมีนักศึกษาชาติพันธุ์เข้ามาเรียนกับเราเป็นจำนวนมาก


 


 


ผู้สื่อข่าวช่อง 7 : เบื้องต้นมีมูลอะไรบ้างไหมที่นักศึกษาออกมาเคลื่อนไหว?


อธิการบดี : ตอนนี้ เราคิดว่า เป็นความขัดแย้งภายใน แล้วขยายความขัดแย้งให้ใหญ่ขึ้น


 


 


ผู้สื่อข่าวช่อง 7 : ได้พูดคุยกับท่านที่ถูกกล่าวหา หรือยังครับ


อธิการบดี : ตอนนี้เรารอกรรมการสืบข้อเท็จจริง ให้ทุกคนที่เกี่ยวข้องรายงานข้อเท็จจริงขึ้นมาเพื่อที่จะดำเนินการในการสอบสวนต่อไป ทีนี้ปัญหา ก็คือ อาจจะงงเรื่องการสืบกับการสอบ  ขั้นตอนนี้เป็นขั้นตอนการสืบ ในทางราชการเรียกว่า สืบข้อเท็จจริง เมื่อสืบข้อเท็จจริงเสร็จแล้วก็สามารถตั้งประเด็นได้ชัดเจน มีข้อมูลประกอบตามสมควรถึงจะตั้งกรรมการสอบ ขั้นตอนนี้เราอยากให้เร็วที่สุด


 


 


ผู้สื่อข่าวช่อง 7 : คิดว่าจะเสร็จเมื่อไหร่ครับ?


อธิการบดี : ผมอยากให้เสร็จเร็วที่สุด (หัวเราะหึๆ) เพราะมหาวิทยาลัยสนใจในประเด็นแบบนี้ ถ้ามันเป็นจริงเราต้องแก้ไข แต่เนื่องจากว่า ความร่วมมือในการให้ข้อมูลยังไม่ดีพอ คือหมายความว่า กลุ่มที่ร้องเรียนยังเห็นว่า วิธีการตระเวนไปตามที่ต่างๆ น่าจะได้ประโยชน์มากกว่าที่จะมาให้ข้อมูล


 


 


ผู้สื่อข่าวช่อง 7 : ยังไม่ได้มาพบนะครับ?


อธิการบดี : เอ่อยัง...แต่ว่ายื่นมาแล้ว แต่ไม่ยอมลงนามคำร้องแน่นอน


 


 


ผู้สื่อข่าวช่อง 7 : สุดท้ายจริงๆ ครับ การยุบสถาบันชาติพันธุ์เพราะเหตุใด?


อธิการบดี : จริงๆ เราไม่ใช่ยุบเลิก เราเป็นการปรับโครงสร้างใหม่ เนื่องจากว่า สถาบันชาติพันธุ์เดิมเจริญเติบโตมาจากศูนย์ชาติพันธุ์ ปัจจุบันรับนักศึกษาเข้ามาใหม่ ทีนี้ นักศึกษาเหล่านี้เดิมมีแต่นักศึกษาเอกชาติพันธุ์ปี 1 เท่านั้น ปัจจุบันปรากฏว่า มหาวิทยาลัยได้อนุมัติหลักสูตรปริญญาสหวิทยาการบริหารท้องถิ่น ซึ่งเขาจะโอนผลการเรียนและสามารถสำเร็จการศึกษาได้ในอีก 2-3 เดือนข้างหน้า


                                         


ฉะนั้น โดยหลักของการอุดมศึกษา สถาบันจะไม่สามารถจัดการศึกษาให้ปริญญาได้ ต้องเป็นเรื่องของ วิทยาลัย  เพราะฉะนั้นพูดง่ายๆ ก็คือ มหาวิทยาลัยก็ตั้งหน่วยงานหนึ่งขึ้นมา ซึ่งจริงๆ ก็ตั้งมาคู่กัน คือ วิทยาลัยนานาชาติเพื่อการพัฒนาลุ่มน้ำโขง แล้วก็แปลงสภาพจากสถาบันชาติพันธุ์เป็นศูนย์ชาติพันธุ์อยู่ภายใต้วิทยาลัยนี้ แล้วศูนย์พัฒนาเศรษฐกิจและสังคมอีกศูนย์หนึ่ง ยุบจากสถาบันมาเป็นศูนย์ไปอยู่ภายใต้วิทยาลัยนานาชาติ


 


 


ผู้สื่อข่าวช่อง 7 : ถูกต้องตามกฎหมาย?


อธิการบดี : ถูกต้องอยู่ อันนี้เป็นหน่วยงานภายใน หน่วยงานภายในเป็นอำนาจบริหารของมหาวิทยาลัย ที่จะดำเนินการให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับนักศึกษา


 


 


ผู้สื่อข่าวช่อง 7 : ไม่ได้เกี่ยวข้องกับกรณีที่นักศึกษามาร้อง?


อธิการบดี : ไม่เกี่ยว มันเป็นแผนการที่มหาวิทยาลัยต้องดำเนินการอยู่แล้ว จริงๆ เรายุบทั้ง 2 หน่วยงามนะ


 


ยังมีหลายหน่วยงานที่ต้องยุบและปรับเปลี่ยนให้เหมาะกับสภาวการณ์ เช่น สำนักกิจการนักศึกษา เป็นคณะกิจการนักศึกษาไม่ได้ ต้องยุบและยกเลิกไปกลายไปเป็นกองพัฒนานักศึกษา มหาวิทยาลัยนี้จะมีการปรับเปลี่ยนเชื่อมโยงอยู่ตลอดเวลา แต่ไม่เกี่ยวกับเรื่องนี้


 


 


ผู้สื่อข่าวช่อง 7 : ขอบคุณครับ สวัสดีครับ (นักข่าวช่อง 7 กลับ)


 


 


สื่อมวลชนท้องถิ่น : ท่านอธิการบดีครับ แต่เดิมในการก่อตั้งศูนย์ได้ยินมาว่ามีการลงนาม MOU กับเอกชน


(เสียงเจ้าหน้าที่ มรช.) เดี๋ยวๆ รออธิการบดีแถลงทางการดีกว่า


 


 


2.ช่วงแถลงข่าวอย่างเป็นทางการ


 



 


ผศ.ดร.มาณพ ภาษิตวิไลธรรม อธิการบดี : กราบเรียนท่านสื่อมวลชน ต้องขอบคุณมากที่กรุณามาร่วมประชุม ผมจะขออนุญาตให้ข้อเท็จจริงนะครับ ที่เป็นกลาง ในฐานะผู้รับผิดชอบในเรื่องนี้นะครับ จากนั้นก็เรียนเชิญท่านสื่อมวลชนซักถามได้ในทุกประเด็นนะครับ


 


เอ่อ ผมขออนุญาตที่จะลำดับเรื่องเพื่อให้เห็นภาพให้เห็นภาพง่ายๆ ก็คือว่า ในช่วงประมาณเดือนที่ผ่านมา ได้มีกลุ่มบุคคลที่อ้างว่า เป็นนักศึกษาชาติพันธุ์ชั้นปีที่ 1 ของมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย ตระเวนไปยื่นคำร้องและให้ข่าวในที่ต่างๆ ในข้อร้องเรียน ซึ่งจากภาพที่ปรากฏในสื่อมวลชนนั้น ทางมหาวิทยาลัยเห็นว่า กลุ่มที่อ้างนั้นไม่ใช่เฉพาะนักศึกษาเอกชาติพันธุ์เท่านั้น แต่ยังมีอาจารย์ของหน่วยงานนั้นเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยและก็มีนักศึกษาของมหาวิทยาลัยราชภัฏเอกอื่น มาผสมโรงด้วย


 


เพราะฉะนั้นมหาวิทยาลัยก็ได้เรียนเชิญประสานงานกับกลุ่มดังกล่าวว่า ขอให้ยื่นคำร้องมาที่มหาวิทยาลัยโดยตรง เพราะมหาวิทยาลัยจะได้ทำความจริงให้ปรากฏแล้วสิ่งไหนที่จะต้องเป็นเรื่องที่จะต้องแก้ไขก็ต้องแก้ไข ใครผิดก็ต้องว่าไปตามผิด ก็ปรากฏว่า กลุ่มดังกล่าวได้มายื่นคำร้องต่อมหาวิทยาลัยตอนกลางเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา แต่ในเอกสารคำร้องนั้นเป็นพิมพ์ดีดหมดนะ เป็นพิมพ์หมด เป็นลายพิมพ์หมดเลย ไม่มีลายมือ แล้วลงนามว่า "กลุ่มนักศึกษาชาติพันธุ์เพื่อการพัฒนาอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง" และก็ใบสุดท้ายก็แนบรายชื่อนักศึกษาชาติพันธุ์ชั้นปีที่ 1 มา 15 คน


 


มหาวิทยาลัยก็ตั้งกรรมการสืบข้อเท็จจริง กรรมการสืบข้อเท็จจริงก็ได้เรียนเชิญนักศึกษาทั้ง 15 คนมาพบ


 


กรรมการสืบข้อเท็จจริงได้รายงานผมว่า นักศึกษาและผู้ที่เกี่ยวข้องไม่ยอมลงรายมือชื่อที่จะยืนยันคำร้องและยังไม่ยอมที่จะยื่นข้อมูลรายละเอียดเพิ่มเติม อาจจะด้วยเหตุผลใดๆ เราก็ไม่ทราบ ก็ให้เขากลับไปก่อน ตอนนี้กรรมการสืบข้อเท็จจริงก็มีจดหมายแจ้งให้เป็นรายบุคคล เพื่อให้เขามายื่นข้อเรียกร้อง พร้อมทั้งข้อมูลและรายละเอียด ซึ่งอาจจะไม่ใช่เป็นวาจา เป็นลายลักษณ์อักษรก็ได้ อันนี้เพราะอะไร อันนี้เพราะว่า มหาวิทยาลัยต้องการให้เกิดความแน่ชัดว่า ใครเป็นผู้รับผิดชอบร้องเรียนต่อมหาวิทยาลัยอย่างแน่นอน ไม่อย่างนั้นก็จะมีการอ้างกันได้นะครับ


 


ทีนี้ ประเด็นที่ร้องมามี 2 ประเด็น ประเด็นแรก คือ การล่วงละเมิดทางเพศของผู้บริหารหน่วยงาน 1 คน แค่ 1 คน กับอีกประเด็นหนึ่ง คือ เรื่องทุนการศึกษาในลักษณะที่ว่า ไปหลอกลวงให้ทุนการศึกษามา แล้วจะให้เรียนอะไรอย่างนี้นะ


 


ในแง่ความเป็นจริงนั้นจะต้องสืบข้อเท็จจริงต่อไป เพราะว่าในกรณีการล่วงละเมิดทางเพศ มหาวิทยาลัยถือเป็นเรื่องใหญ่มากก็ต้องสืบข้อเท็จจริงให้ได้  แต่ที่ปัญหาก็คือว่า กลุ่มที่ร้องเรียน ณ วันนี้ ยังไม่มาให้ข้อมูลกับเราว่า ผู้เสียหายที่จริงเป็นอย่างไร แต่กลุ่มที่ร้องเรียนทราบว่า มีความพยายามไปแจ้งความ แต่ว่าทางสถานีตำรวจไม่รับแจ้งความ เนื่องจากไม่ใช่ผู้เสียหาย  แต่อย่างไรก็ตาม ผมก็ถือโอกาสนี้กราบเรียนเลยว่า ถ้าบุคคลใดก็ตามที่มีข้อมูลเกี่ยวกับล่วงละเมิดทางเพศ เกี่ยวกับบุคลากรมหาวิทยาลัยขอให้ส่งตรงมาที่มหาวิทยาลัยเลยครับ เพราะมหาวิทยาลัยเป็นสถาบันการศึกษาต้องดำเนินการเรื่องนี้ ฉะนั้น ใครมีข้อมูลบอกมาเลยครับ โดยเฉพาะผู้ที่ว่าเป็นปัญหาจริง


 


ส่วนอีกประเด็นหนึ่งเรื่องของ ทุนการศึกษา  ผมอยากกราบเรียนว่าเรื่องทุนการศึกษานั้น มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย เรามีนักศึกษารับเข้ามาแต่ละปีมีประมาณ 4,000 คน ปัจจุบันอยู่ในระบบประมาณ 10,000 กว่าคน เรื่องทุนการศึกษานี้มหาวิทยาลัยเราจะให้การดูแลเป็นอย่างดี ฉะนั้นเอกสาร 2 ฉบับนี้ สื่อมวลชนสามารถดูได้ว่า มีตารางแสดงให้เห็นว่ามีนักศึกษากี่คน ให้ทุนอย่างไร


 


สำหรับนักศึกษาชาติพันธุ์ชั้นปีที่ 1 ที่ถูกแอบอ้าง ตอนนี้ต้องให้เกียรติกับนักศึกษากลุ่มนี้ด้วย  เพราะตอนนี้เราไม่แน่ใจว่า เขาร้องจริงหรือไม่ ต้องถือว่า อาจถูกแอบอ้างไปก่อน ในเอกนี้มีอยู่ 18 คน ในเอกสารคำร้องเสนอมาเพียง 15 คน อีก 3 คนไม่ร่วมด้วยนะ ด้วยเหตุผลอะไรเราต้องไปสืบข้อเท็จจริงกันก่อน แล้วใน 15 คน ถ้าดูข้อมูลที่ปรากฏนั้น ไม่ได้หมายความว่า มหาวิทยาลัยไม่ดูแล จะเห็นว่า แทบทุกคนได้ทุนให้เปล่า ทุนให้เปล่าหมายความว่าเป็นทุนที่ให้โดยไม่ต้องชดใช้คืน และก็เป็นทุนกู้ยืมที่ต้องใช้คืน แล้วรายละเอียดก็มีปรากฏในนั้น ใครได้ทุนอะไรบ้าง เป็นจำนวนเท่าไหร่ มีเงื่อนไขอย่างไร


 


พูดง่ายก็คือ ต้องเข้าใจนะครับว่า นักศึกษาชาติพันธุ์ของมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงรายไม่ได้มีแค่กลุ่มนี้นะครับ เท่าที่เราทราบจำนวนที่เขามาแจ้งจำนวน 500 กว่าคน ใน 500 กว่าคนมหาวิทยาลัยต้องดูแล แต่ปัญหาที่เขาร้อง ก็คือ ผู้บริหารท่านหนึ่งไปจูงใจว่า จะให้เงินเป็นแสนแล้วมาเรียน ซึ่งในแง่นโยบายหรือที่ผมดูแลไม่เคยมีในเรื่องนี้มาก่อน แต่อย่างไรก็ตาม มหาวิทยาลัยก็ต้องการดูข้อมูลให้แน่ชัด จริงๆ ไปพูดอย่างนั้นหรือเปล่า เพราะไปพูดจริงมหาวิทยาลัยก็ต้องลงโทษบุคคลของมหาวิทยาลัยที่ไปให้ข้อมูล นี่คือ ความรับผิดชอบของมหาวิทยาลัย ไม่ใช่ปฏิเสธ แต่ต้องทำความจริงให้ปรากฏแล้วก็แก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น


 


เพราะฉะนั้น ในปัจจุบันถ้าถามว่า เรื่องนี้ดำเนินการไปถึงไหน คำตอบก็คือ เรื่องนี้มหาวิทยาลัยตั้งกรรมการสืบข้อเท็จจริงมาชุดหนึ่งเพื่อนำข้อมูลรายละเอียดทั้งหมดมาประมวลเพื่อตั้งกรรมการสอบสวนเอาผิดต่อไป หรือ ถ้าปรากฏว่า สืบข้อเท็จจริงแล้วไม่มีมูลก็ตั้งกรรมการสอบไม่ได้ เพราะถ้าตั้งกรรมการสอบผู้ตั้งจะโดนร้องอีก ต้องเข้าใจว่า ในระบบราชการ การตั้งกรรมการสอบสวนความผิดเป็นเรื่องใหญ่มากต้องลงบันทึกประวัติด้วย ฉะนั้นต้องสืบก่อน เพราะฉะนั้นขั้นตอนนี้ยังอยู่ในขั้นสืบข้อเท็จจริง


 


แต่จริงๆ ข่าวที่ปรากฏออกไป นึกว่า สืบฝ่ายเดียว จริงๆ แล้วไม่ใช่ ในหน่วยงานนี้มีการร้องเรียนกันสองฝ่าย ฝ่ายหนึ่งที่อ้างว่าเป็น นักศึกษาเอกชาติพันธุ์ฯ พร้อมกับข้อมูลที่ปรากฏในสื่อมวลชนมีอาจารย์อยู่เบื้องหลังอย่างน้อย 2 คนที่ปรากฏในข่าว และนักศึกษาเอกอื่นไปร่วมด้วย กลุ่มนี้ร้องเรียนผู้บริหารใน 2 ประเด็นที่สื่อทราบแล้ว แต่อีกกลุ่มนี้ที่สื่อยังไม่ทราบ มีอาจารย์และเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานนั้นแหละก็ร้องเรียนอาจารย์ 2 คนที่ไปอยู่ในกลุ่มแรก ฉะนั้น มหาวิทยาลัยก็ต้องสืบข้อเท็จจริงทั้งสองฝ่ายเพื่อให้ความยุติธรรม


 


ทีนี้คำถาม คือ เมื่อไหร่จะเสร็จ


 


คำตอบ คือ อยากเสร็จให้เร็วที่สุด เสร็จพรุ่งนี้ได้ดีมาก และผมก็เร่งกรรมการสืบข้อเท็จจริง แต่กรรมการสืบข้อเท็จจริงบอกว่าความร่วมมือที่จะได้ข้อมูลมาต้องให้เวลา บางคนไม่ชอบที่จะให้ด้วยวาจา เขาก็จะเขียนข้อความมา แต่ควรไม่เกินหนึ่งเดือนต้องให้เสร็จ


 


ส่วนนักศึกษาเอกชาติพันธุ์ปีที่ 1 ที่ปรากฏชื่อตามสื่อ เราต้องยกประโยชน์ให้นักศึกษาเขาก่อนว่า  ณ ปัจจุบันนี้ยังถือว่า ยังถือว่าเป็นผู้ถูกแอบอ้างชื่ออยู่เพราะยังไม่ได้มาเซ็นชื่อร้องสักคน แล้วจริง   เขาก็ยังมีสถานะเป็นนักศึกษาของมหาวิทยาลัยอยู่ ถ้าเขามาเรียนในปีการศึกษาหน้าก็มาเรียนได้เหมือนเดิม ไม่มีกรณีใดๆ ทั้งสิ้นจะไปเกี่ยวข้องกับเขา ยกเว้นว่าเขาไปดำเนินกิจกรรมใดๆ ที่ปรากฏชัดแล้วมีเพื่อนนักศึกษาอื่นไม่ค่อยพอใจแล้วร้องมา ทีนี้มหาวิทยาลัยก็ต้องตั้งกรรมการสืบและสอบไปตามภาระหน้าที่ เช่น มีปัญหาเมื่ออาทิตย์ที่แล้วไปใช้เครื่องกระจายเสียงใกล้ตึกเรียน มีนักศึกษาปริญญาเอกกำลังสอบ มีนักศึกษาปริญญาโท ปริญญาตรีกำลังเรียนอยู่ อันนี้ใช้สิทธิเกินไปหน่อย แต่เท่าที่ทราบ นักศึกษาเขาก็เจรจากันเรียบร้อย เขาก็คุย ก็สอนกัน รุ่นพี่รุ่นน้องเขาก็สอนกัน ซึ่งผมก็ถือว่าเป็นเรื่องดี เพราะฉะนั้นตอนนี้มหาวิทยาลัยก็ไม่ได้ตั้งกรรมการไปลงโทษนักศึกษาเลย เพราะถือว่า นักศึกษาเขาต้องเรียนรู้และพัฒนา


 


อีกประเด็นหนึ่งที่สนใจกัน คือ สถาบันชาติพันธุ์ได้ยุบจริงหรือไม่ คำตอบว่าจริงๆ แล้วเราได้ปรับสถานะของสถาบันชาติพันธุ์ และ สถาบันพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมวัฒนธรรมอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ไปเป็น "ศูนย์" ในวิทยาลัยนานาชาติเพื่อการพัฒนาลุ่มน้ำโขง คือ งานยังคงเดิม แค่ปรับสถานะของหน่วยงานจากสถาบันเป็นศูนย์แทน


 


คำถาม คือ ทำไมต้องปรับชื่อสถาบัน แล้วเกี่ยวกับเหตุการณ์นี้ไหม


 


คำตอบ คือ ไม่เกี่ยว แต่ที่ต้องปรับเพราะสถาบันชาติพันธุ์ฯ เดิมรับนักศึกษาเอกชาติพันธุ์ฯ ปี 1 มาเรียน 1 ห้อง แต่ในขณะเดียวกันก็เปิดรับนักศึกษาเอกสหวิทยาการบริหารท้องถิ่นในหลักสูตรวุฒิบัตร แล้วในปัจจุบันหลักสูตรสหวิทยาการบริหารท้องถิ่นนี้ได้ผ่านการอนุมัติสภามหาวิทยาลัยเป็นหลักสูตรปริญญาตรีแล้ว ผู้ที่เขาเรียนเก็บวุฒิบัตรมาก็สามารถยื่นคำร้องขอโอนผลการเรียนได้ แล้วรุ่นแรกเนี่ย ถ้ายื่นคำร้องในภาคเรียนนี้ก็จะต้องสำเร็จการศึกษาในภาคเรียนหน้า เพราะฉะนั้น โดยระบบของอุดมศึกษาเนี่ย สถาบันที่เป็นหน่วยงานสนับสนุนจะจัดการศึกษาแล้วดูแลให้ปริญญาไม่ได้ ต้องเป็นคณะหรือวิทยาลัยเท่านั้น


 


เพราะฉะนั้น งานของชาติพันธุ์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงรายก็ต้องดำเนินการต่อไป เพราะฉะนั้นเงื่อนไขเครือข่ายทั้งหลายที่ร่วมทำกับพี่น้องชาติพันธุ์ก็ทำเหมือนเดิม เปลี่ยนชื่อเฉยๆ เพราะงานชาติพันธุ์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงรายเราทิ้งไม่ได้ เพราะว่าอะไร เพราะในแต่ละปีมีนักศึกษาเข้ามาเรียนกับเรา 4,000 คน ต้องมีนักศึกษาชาติพันธุ์เข้ามาไม่น้อยกว่า 700 คน แต่ว่า 700 คนนี้เวลาเราให้แจ้งชื่อก็แจ้งบางส่วนนะ บางส่วนไม่ต้องการแจ้งก็กลืนไป เพราะส่วนที่ต้องแจ้ง เช่น ไม่มีบัตรประชาชนที่เรียกว่าไร้สัญชาติ กลุ่มนี้ต้องดูแลเป็นพิเศษ ให้ทุนเลย ถ้าท่านดูจะเห็นว่า ในกลุ่มที่ถูกแอบอ้างก็มีบางคนไร้สัญชาติด้วย กลุ่มนี้เราต้องให้ทุน เป็นทุนให้เปล่าแต่ว่าจะไม่มาก แต่ต้องมาช่วยงานมหาวิทยาลัย


 


คือ พูดง่ายๆ ก็คือมหาวิทยาลัยพยายามที่จะเป็นกลาง แล้วก็เรื่องการกระทบกระทั่งกันระหว่างบุคคลากรของมหาวิทยาลัยเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นเป็นประจำ เพราะบุคลากรของมหาวิทยาลัยมีประมาณ 900 คน แต่ปัญหาข้อนี้ยุ่งยากซับซ้อนหน่อยตรงที่ว่า เมื่อมีปัญหาข้อขัดแย้งกัน ไม่เสนอให้มหาวิทยาลัยแก้ แต่ไปใช้วิธีแก้ด้วยการไปให้ข่าวภายนอก แล้วก็ทำให้สังคมเกิดความสับสนและทำให้เกิดความเสียหายให้กับนักศึกษาอื่นเกือบหมื่นกว่าคน ซึ่งเขาจะได้รับผลกระทบไปด้วย อันนี้เป็นเรื่องที่น่าเสียใจ แต่อย่างไรก็ตาม ในฐานะมหาวิทยาลัยที่เป็นสถานศึกษาก็ต้องค่อยๆ พูด ค่อยๆ คุยพัฒนาเขาไป อันนี้ข้อมูลที่ผมอยากแจ้งให้ทราบ เป็นข้อเท็จจริงนะครับ


 


ทีนี้อาจจะมีคำถามที่อยู่ในใจท่านว่า วันนี้ ทำไมไม่เอาผู้ที่ถูกร้องมาใช่ไหม เอ่อ ผู้บริหารที่ถูกร้อง ณ วันนี้ ได้ขออนุญาตลาบวชระยะสั้น เพราะคนเป็นครูเนี่ย สอนลูกศิษย์แล้ว แล้วมีความรู้สึกว่าลูกศิษย์และเพื่อนอาจารย์ที่ทำงานมาด้วยกันดำเนินการอย่างนี้ ก็ยังไม่มีจิตที่สงบพอ หลังจากเขาลาสิกขาบทมาเสร็จ ผมจะให้เขามาพบกับสื่อมวลชน ให้เขามาพูดเปิดใจอีกครั้งหนึ่ง วันนี้ถ้าจะให้เขามาก็ดูจะไม่เหมาะนะเพราะอยู่ในสมณะเพศแล้วจะเอามา รู้สึกจะยังไงชอบกลอยู่ ส่วนอีกฝ่ายหนึ่งที่ควรจะเชิญมาด้วย ก็ เขาก็พบกับสื่อเป็นประจำอยู่แล้วก็ไม่ต้องเชิญมา (หัวเราะ)


 


อันนี้คือ ที่มาที่ไปนะครับ คราวนี้ท่านมีคำถามไหนอีกก็เชิญถามได้ตามสะดวกก็จะให้ข้อเท็จจริงนะครับ แล้วส่วนใดที่แสดงความลำเอียงเข้าข้างใดข้างหนึ่งต้องขออภัยบางอย่างเพราะเราอาจพูดไม่ได้นะ ต้องให้ข้อเท็จจริงเท่านั้น ส่วนความเป็นจริงก็ต้องช่วยกันตีแผ่ ขอเชิญครับ.


 


 


คำถามจากสื่อมวลชน


 


 


นักข่าวเชียงราย 1 : ครับอาจารย์ อยากจะเรียนถามว่า เรื่องการตั้งกรรมการสอบสวนเรื่องนี้ เราจะมีการเชิญหน่วยงานที่เป็นกลาง เช่น สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เข้ามาร่วมสอบสวนด้วยไหม เพื่อให้ข้อมูลเป็นกลางจริงๆ ไม่มีความรู้สึกว่า พูดง่ายๆ ในภาษาชาวบ้านว่า คุยกันเอง มีแนวคิดจะตั้งกรรมการข้างนอกมาร่วมไหม?


อธิการบดี : ในขั้นตอนนี้ยังคงไม่ทำ คือ หมายความว่าการตั้งกรรมการสืบข้อเท็จจริง เราตั้งรองอธิการบดีที่ดูแลงานด้านวิชาการเป็นประธาน แล้วก็มีนิติกรที่ดูแลด้านกฎหมาย ผอ.กองการเจ้าหน้าที่ เข้ามาสืบข้อเท็จจริงก่อน แล้วตอนนี้ก็จะตั้งประธานโปรแกรมวิชานิติศาสตร์ คือมหาวิทยาลัยนี้เปิดวิชานี้เปิดวิชานิติศาสตร์ ก็จะเติมอีก อย่างที่ท่านถาม เพื่อความมั่นใจ  เอาประธานโปรแกรมวิชานิติศาสตร์มาเป็นกรรมการร่วมอีก  ทีนี้พอสืบเสร็จต่อไปต้องตั้งกรรมการสอบ เราก็คงต้องใช้บุคลากรภายในของมหาวิทยาลัยก่อน


 


แต่อย่างไรก็ตาม โดยสิทธิของผู้ที่ร้องและผู้ที่ถูกร้อง โดย พรบ.ข้อมูลข่าวสาร เมื่อมหาวิทยาลัยดำเนินการเสร็จก็สามารถเรียกข้อมูลไปดูทั้งหมดเลย การที่มามีบุคคลภายนอกเข้ามาเกี่ยวข้องต้องเป็นระดับที่สูงกว่ามหาวิทยาลัย อาจเป็นระดับกระทรวงขึ้นไปที่จะดำเนินการต่อไป แต่มหาวิทยาลัยนี่ต้องว่าไปตามข้อบังคับกับก่อน แต่ถ้าไม่มั่นใจก็ใช้ พรบ.ข้อมูลข่าวสาร หรือใช้สิทธิการร้องเรียนหรือถูกร้องเรียนว่าไปในขั้นตอนต่อไปได้ อันนี้คงแก้ไปเรียบร้อยแล้ว กระบวนการนี้นะครับ


 


 


นักข่าวเชียงราย 1 : กรณีนักศึกษาทั้ง 15 คนไปร้องกับศูนย์ดำรงธรรม และทางครูหยุย เรียนถามว่า นักศึกษายังเป็นนักศึกษา อยู่ไหมครับ ที่ไปร้อง?


อธิการบดี : ณ วันนี้ เราต้องถือว่า นักศึกษาชุดนี้ 18 คนนี่นะ เป็นนักศึกษาของมหาวิทยาลัยและจนวันนี้ เรายังไม่ถือว่าเขาเป็นผู้ร้องเพราะเอกสารคำร้องเขายังไม่สมบูรณ์ คือ เขายังไม่ลงชื่อนะ คือ มีบุคคลส่งคำร้องใส่ซองมาให้ที่โต๊ะผม เราตามมาให้เซ็นชื่อก็ไม่มีใครเซ็นสักคน ฉะนั้น เราต้องถือว่า เขาไม่เกี่ยวข้องนะต้องให้เกียรตินักศึกษาก่อน บางคนอาจยังไม่รู้ก็ได้ หรือ อาจจะรู้หมดก็ได้ ต้องใจเย็นหน่อย เขาเป็นนักศึกษาแน่นอน


 


 


นักข่าวเชียงราย 1 : มีอีกเรื่องที่ร้อง เขาไม่ได้รับทุนการศึกษา ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไรครับ?


อธิการบดี : ถ้าดูเอกสารตรงนี้ จริงๆ แล้วทุนการศึกษาของมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย ไม่น้อยกว่า 80 % ได้รับทุนในรูปแบบต่างๆ กัน ถ้าดูทั้ง 18 คนได้ทุนหมดนะ บางคนได้ทั้งทุนให้เปล่าและทุนกู้ยืม แต่ปัญหาไม่ใช่ทุนตรงนี้ ปัญหาเขาอ้างว่า ตอนที่จะรับเขาเข้ามาเรียนไปบอกว่า จะให้ทุนเรียนฟรี กี่แสนไม่รู้นะ บางคนก็บอกสองแสน บางคนก็บอกสี่แสน ซึ่งตรงนี้ถ้าถามผมในฐานะอธิการบดี ไม่มีโครงการให้ทุนฟรีอย่างนี้แน่นอน โดยนโยบาย โดยระบบไม่มีแน่นอน แต่...ต้องมีแต่นะ แต่ว่าคนของหน่วยงานนั้นจะพูดอย่างนี้หรือไม่ เรายังไม่ทราบ ซึ่งมหาวิทยาลัยก็อยากจะรู้เหมือนกัน ซึ่งถ้าไปพูดอย่างนั้นต้องรับผิดชอบ มหาวิทยาลัยไม่รู้มาแต่ต้นก็จริงแต่ก็ต้องไปลงโทษคนของตัวเอง นึกภาพออกไหม ตรงนี้ต้องให้ความเป็นธรรม ณ วันนี้ยังไม่ได้ข้อมูลว่า จริงๆ แล้วพูดจริงหรือไม่ แล้วพูดกับใคร มีพยานหลักฐานกี่คน ตรงนี้ไงที่เราต้องการสืบไง เพราะว่าระบบการรับนักศึกษาของมหาวิทยาลัย เรากระจายอำนาจให้กับคณะและวิทยาลัยเป็นผู้รับ นึกภาพออกไหม ซึ่งเขาก็มีกลวิธีในการรับหลากหลายกัน ทีนี้มหาวิทยาลัยต้องรับคำร้องมาพิจารณา ใช่ไหม จะปฏิเสธไม่ได้ จะปฏิเสธ นี่ไม่เหมาะสมแล้ว ต้องรับแล้ว ที่เราอยากได้ที่สุด คือ ช่วยให้ข้อมูลหน่อยๆ


 


 


นักข่าวเชียงราย 1 : อีกเรื่อง เห็นบอกมีความขัดแย้งภายในระหว่างอาจารย์กับผู้ที่ถูกกล่าว หรือไม่ จึงเกิดปัญหาเรื่องนี้ขึ้นมาครับ?


อธิการบดี : ถ้าถามผมตอนนี้นะ ยังไม่อยากปรักปรำทั้งสองฝ่าย ถ้าไม่ทะเลาะกันไม่น่าจะร้องกันทั้ง 2 ฝ่าย เขามีอาจารย์อยู่ประมาณ 6 คน ฟากหนึ่ง 4 คนร้อง 2 คน อีกฝากหนึ่ง 2 คนบวกกับนักศึกษา ซึ่งนักศึกษานี้ก็จะเป็นเอกชาติพันธุ์รุ่นหนึ่งทั้งหมดหรือไม่ก็ยังไม่แน่ใจนะ เพราะฉะนั้น ต่างคนต่างร้อง แต่ร้องคนละเรื่อง ฉะนั้นโดยข้อมูลนี่น่าจะทะเลาะกันแล้ว ถ้าไม่ทะเลาะไม่น่าจะร้องนะ ทีนี้ถ้าปกติเขาขัดแย้งกันแล้วเขาเชิญส่วนกลางไปช่วยพูดคุยแก้ปัญหาอย่างไรก็ดี คราวนี้เขาไม่ยอมแก้ปัญหาในมหาวิทยาลัย เขาไปพูดข้างนอก


 


 


นักข่าวเชียงราย 1 : เรื่องนี้ทางอธิการบดีได้รับรายงานบ้างไหมว่า มีปัญหาภายในสถาบันเกิดขึ้น?


อธิการบดี : จริงๆ แล้วทุกหน่วยงานเขาจะมี  คือๆ ในสังคมอุดมศึกษานี่นะ การเห็นตรงกันจะไม่เกิดขึ้นนะ คือ นักวิชาการ ต้องมีความเห็นไม่ตรงกัน และขัดแย้งกันเพื่อความสร้างสรรค์และพัฒนา แต่ว่าจะต้องไม่พัฒนาความคิดเห็นที่แตกต่างกันกลายเป็นความขัดแย้งส่วนบุคคล คือ ต้องเข้าใจ ทีนี้เขาอาจขัดแย้งกันจนเกิน Limit ไป ขยายจากความขัดแย้งเชิงวิชาการไปเป็นความขัดแย้งส่วนบุคคล ท้ายสุดก็อาจจะนำพาลูกศิษย์ก้นกุฏิไปเป็นเครื่องมือ ซึ่งในแง่มหาวิทยาลัยไม่อยากให้เกิดขึ้น เพราะจริงๆ แล้วต้องช่วยกันพัฒนานักศึกษาให้จบไปเป็นบัณฑิตที่มีคุณภาพให้ได้


 


 


นักข่าวเชียงราย 1 : ถามตรงๆ นิดนึงนะครับ ความขัดแย้งเรื่องอะไรครับ ?


อธิการบดี : ความขัดแย้งเรื่องอะไร...ท่าน...ผอ.วิทยาลัยนานาชาติ ท่าน รศ.ดร.มาฆะ ตอนนี้เป็นผู้ไปดูแลศูนย์ทั้งสองในนามวิทยาลัยนานาชาติ ตอนนี้จะมีนักศึกษาที่อยู่ในความดูแล 1.เอกชาติพันธุ์ศึกษา 2.เอกสหวิทยาการบริหารท้องถิ่น 3.ประกาศนียบัตรบัณฑิตการจัดการโปรแกรม และกำลังจะเปิดปริญญาโท ปริญญาเอกอีกนะ คราวนี้ขัดแย้งเรื่องอะไร อาจารย์พูดเฉพาะที่พอพูดได้นะ ที่ไม่ต้องถูกฟ้องนะครับ เดี๋ยวอธิการบดีจะเป็นจำเลย


 


รศ.ดร.มาฆะ ขิตตะสังคะ : เรียนท่านสื่อมวลชนนะคะ จริงๆ แล้วโดยส่วนตัว ดิฉันมิอาจสามารถล่วงรู้ความขัดแย้งได้ คือ ดิฉันมาร่วมงานกับราชภัฏในส่วนของการเป็นนักวิชาการจริงๆ แล้วก็ได้เห็นราชภัฏพัฒนาเติบโตในเรื่องการขยายความร่วมมือในกลุ่มประเทศอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง การจัดประชุมนานาชาติที่กัมพูชา ซึ่งเรามองในภาพกว้าง ความร่วมมือกับทางลาวหรือทางเวียดนาม ดิฉันจะมองตรงนั้นและตอนนี้ค่อนข้างเป็นไปด้วยดี คราวนี้กลับมาถามดิฉันว่า ไอ้จุดเล็กๆ ที่มันเป็นฝุ่นละอองนี่คืออะไร ดิฉันคงตอบไม่ได้ คงตอบอย่างที่ท่านอธิการพูด ในสถาบันอุดมศึกษาท่านก็ทราบ ปราชญ์เยอะ มีผู้ทรงคุณวุฒิเยอะ นั้นทุกคนก็มีทัศนะเชิงวิชาการมาก ไปอ่านตำรานู้นตำรานี้ก็อาจมีความขัดแย้งกันตรงนั้น แต่ในประเด็นส่วนตัวเนี่ย ดิฉันมองว่าคนเราถ้ามีความรู้สึกของการเป็นนักวิชาการ ของการเป็นนักวิจัยที่ลงไปสู่ชุมชนจริงๆ ความขัดแย้งที่เป็นฝุ่นละอองมันปัดเป่าได้ แต่เขาถ้าปัดเป่าไม่ได้ก็เป็นเรื่องของไม่รู้จริง หรือไม่ใช่นักวิชาการ ต้องใช้เวลาของการเป็นนักวิชาการอีก ดิฉันขอโทษด้วย ดิฉันตอบไม่ได้ว่ามันคืออะไร นะคะ


 


 


นักข่าวเชียงราย 1 : การร่างหลักสูตร การเขียนหลักสูตรของสถาบันชาติพันธุ์ก็จะมีองค์กรร่วม 5 องค์กร ตอนนี้เราเอาไปรวมกับวิทยาลัย เราต้องปรึกษาคนร่วมร่างด้วยไหมครับ?


อธิการบดี: นักศึกษาเอกชาติพันธุ์นี่ ยังอยู่ชั้นปีที่ 1 ใช่ไหม ยังเรียนต่อเนื่องไปอีก 2-3 ปี เพราะฉะนั้น อธิการบดี : เครือข่ายพี่น้องชาติพันธุ์ที่ร่วมหลักสูตรกับเราก็ต้องเข้ามาช่วยนะ เหตุการณ์นี้ไม่ใช่บ๊ายบายกันไม่ได้นะ เพราะเราได้ตกลงร่วมกันแล้ว นักศึกษาเอกชาติพันธุ์มีอยู่แล้วก็ต้องเข้ามาช่วยสอน มาช่วยดูแล มาช่วยฝึกเขาไป ยิ่งมีเหตุการณ์อย่างนี้ด้วย ต้องทำอย่างไรให้เด็กเขาเรียนรู้ว่า โลกนี้มีอะไรหลายอย่าง ทั้งจริง ทั้งเท็จ แล้วอะไรคือสิ่งที่ถูกต้องที่ควรทำ เพราะจริงๆ แล้วเพียงแต่เปลี่ยนชื่อ จากสถาบันมาเป็นศูนย์ภายใต้นั้น แต่งานยังคงเดิมทั้งหมด แล้วทางมหาวิทยาลัยก็วางแผนจะเชิญเครือข่ายชาติพันธุ์ทั้งหลายที่เราเคยทำงานร่วมกันมาคุยกันอยู่ รอให้เหตุการณ์นี้มันมีความชัดเจนกว่านี้หน่อย อีกสักเดือนหนึ่งน่าจะชัดเจนจะเรียนเชิญท่านมา ตอนนี้อาจจะสับสนไปหน่อยต้องขออภัย เพราะจริงๆ แล้วไม่เกี่ยวกับเรื่องนี้ ไอ้การที่ปรับเปลี่ยนชื่อเหมือนกับยุบหาย จริงๆ ไม่เกี่ยวกับเรื่องนี้ ไอ้การที่จะปรับเปลี่ยนชื่อ เป็นช่วงจังหวะที่มหาวิทยาลัยต้องทำเพื่อดูแลประโยชน์ของนักศึกษา นะครับจะได้สบายใจ


 


 


นักข่าวเชียงราย 2 : กรณีที่นักศึกษามายื่นนะครับ เรายังพิสูจน์ทราบไม่ได้ว่า เป็นนักศึกษาหรือไม่ คณะสืบความจริงต้องลงไปสืบไหมว่า เป็นตัวจริงหรือไม่ เพราะถ้าเกิดเป็นตัวจริงมาก็อาจจะยุ่ง คำถามที่สองนะครับการที่มีการร้องอาจารย์สองท่าน เขาร้องเรื่องอะไรครับอีกฝ่าย?


อธิการบดี : ในส่วนของนักศึกษา เราก็รอวันที่ 9 มีนาคม ตอนนี้ก็ทำหนังสือไปถึงนักศึกษาทั้ง 15 คนว่า ยังยืนยัน ใช่ไหมหรือว่า ถูกแอบอ้าง ถ้าไม่ส่งมา ผมก็ปรึกษาทางกรรมการสืบข้อเท็จจริงว่า สงสัยจะต้องเอาภาพที่ปรากฏในโทรทัศน์มาดูว่า เป็นเขาหรือไม่ เสร็จแล้วไปนั่งคุยว่าวันนั้นเขาไปนั่งฟังหรือไปร้อง อย่างไรก็ตาม เราอยากได้ข้อมูลจากผู้ที่ร้อง เมื่อเป็นข่าวอะไรออกไปเยอะแยะ ท้ายที่สุดไม่มีผู้ร้องมันก็เหนื่อยเหมือนกันนะ ไม่รู้จะทำอย่างไร แต่ท้ายที่สุดไม่มีผู้ร้อง เป็นการแอบอ้างก็จริง แต่มหาวิทยาลัยก็หยุดไม่ได้ สิ่งที่ร้องนั้นมีข้อมูลข้อเท็จจริงแค่ไหนอย่างไร มหาวิทยาลัยก็ต้องดูแลและรับผิดชอบ


 


ส่วนการร้องเรียนอีกฝ่าย เขาร้องก็คือว่า อาจารย์สองท่านที่ไปปรากฏตามสื่อทั้งหลายมาอยู่เมื่อประมาณปีหนึ่ง แต่คนอื่นเขาอยู่กันประมาณ 5-6 ปี แต่คนที่มาอยู่ไม่กี่ปี ไม่ถึงปีหนึ่งด้วยซ้ำมาพยายามมาทำลายสิ่งที่พวกเขาพยายามสร้างเป็นอุดมคติที่เกี่ยวกับพี่น้องชาติพันธุ์มาอย่างยาวนานให้สูญสลาย และทำลายภายในพริบตาเดียว นี่เขามองในมุมนั้น และเขาถือว่า มาสร้างความแตกแยก แตกความสามัคคี ไม่ตั้งใจทำงาน ไม่ลงเวลาทำงาน ก็ว่ากันไปอุตลุดหลายข้อหา สรุปว่า ต่างคนต่างฟ้อง มหาวิทยาลัยต้องนิ่ง ต้องนิ่งนะ ต้องนิ่ง ต้องสืบข้อเท็จจริงว่า ใครถูกใครผิดก็ต้องว่าไปตามความเป็นจริง


 


 


นักข่าวเชียงราย 2 : ขออนุญาตครับ กรณีที่องค์กรเอกชนที่ทำงานร่วมกับเครือข่ายชาวเขา ชาติพันธุ์ได้มีการยื่นแถลงการณ์ออกมาค่อนข้างยาว โดยเฉพาะประเด็นที่ว่าในการตั้งศูนย์ชาติพันธุ์แต่เดิมฯ เขาเคยมีส่วนร่วม แต่พอมหาวิทยาลัยปรับองค์กรและเขาก็ไม่ทราบมาก่อน ขอทราบข้อเท็จจริงและความเห็นครับ?


อธิการบดี : ทางองค์กรเขาก็ส่งหนังสือมาให้ทางมหาวิทยาลัยนะ ทีนี้ เนื่องจากช่วงนี้ฝุ่นยังไม่จาง ก็เลยบอกว่าใจเย็นๆ กันหน่อย (หัวเราะ) เดี๋ยวพอฝุ่นจาง ค่อนข้างมีความชัดเจน ก็จะเชิญเครือข่ายมาคุยกันว่าจริงๆ ก็กลับไปสู่จุดเดิมเรา คือ จุดเดิมที่เราเคยเป็นศูนย์ชาติพันธุ์  แล้วตอนหลังเราพัฒนาไปเป็นสถาบันชาติพันธุ์และสันติศึกษา ตอนนี้พอเป็นสถาบันฯ แล้วเราต้องการขยับจากสถาบันฯ ไปเป็นวิทยาลัยชาติพันธุ์และสันติศึกษา  แต่การขยับเป็นวิทยาลัยชาติพันธุ์ฯ มันไม่ได้  เนื่องจากมีเอกอยู่เอกเดียว คือ เอกชาติพันธุ์ ก็จำเป็นต้องถอยกลับมาสุดเริ่มต้นเหมือนเดิม เป็นศูนย์ชาติพันธุ์ฯ คงงานเหมือนเดิม แล้วไปรองรับบัณฑิตที่จะจบในอนาคตตามวัฒนธรรมของอุดมศึกษาเท่านั้นเอง เข้าใจว่าเนื่องจากเราไม่ได้ประชุมกันมาค่อนข้างนานก็อาจจะสื่อสารไม่ค่อยดี แต่ผมยืนยันนะว่า ไม่ควรเกินเดือนสองเดือนจะเชิญเครือข่ายมาพูดมาคุย มาปรับคลื่นกันใหม่ เพราะบางทีเครือข่ายอาจจะขาดมั่นใจเลยก็ได้นะ ไม่รู้อะไรเป็นอะไร


 


พอคุยกันใหม่ก็ ไม่ต้องห่วง งานชาติพันธุ์ของมหาวิทยาลัยราชภัฏถือเป็นประเด็นเอกลักษณ์ของมหาวิทยาลัย เพราะอะไร เพราะพี่น้องชาติพันธุ์ที่มีลูกหลานต้องการโอกาสทางการศึกษามีเยอะ แล้วที่ถูกแอบอ้างชื่อมา 15 คนก็เป็นสัดส่วนเท่าที่เรารู้ก็เพียงแค่ 2% เฉพาะลูกหลานชาติพันธุ์ที่มาลงชื่อว่าเป็นชาติพันธุ์แล้วให้มหาวิทยาลัยช่วยเหลือมี 500 คน ที่ถูกแอบอ้างมีแค่ 2% ยังเหลืออีกตั้งเยอะที่เราต้องดูแลต่อไป ทิ้งไม่ได้


 


 


ประชาไท : มีคำถามครับ กรณีการมีวิทยาลัยนานาชาติฯ ตั้งใหม่แล้วนโยบายเกี่ยวกับชาติพันธุ์จะเหมือนเดิมหรือเปล่า ข้อสอง กรณีที่นักศึกษาไปร้องเรียน ซึ่งท่านก็ยังไม่ยืนยันว่า ไม่ใช่นักศึกษาของท่านหรือไม่ คือที่เขาไปร้องเรียนว่า มีผู้อำนวยการหน่วยงานแห่งหนึ่ง ที่อ้างว่าจะให้ทุน 2 แสน และทีนี้จะมีการสอบเรื่องนี้หรือเปล่า ต่อเรื่องที่ท่านอธิการบดีเรียนว่าเรื่องทุนการศึกษาจริงๆ แล้วมีทุนให้กับนักศึกษา พอจะชี้แจงได้ไหมว่าเป็น ทุนให้กู้ หรือ ทุนให้เปล่า เพราะเท่าที่ทราบที่นักศึกษาร้องเป็นทุนให้เปล่า ไม่ใช่ทุนให้กู้?


อธิการบดี : ในคำถามแรก ก็คือว่า งานชาติพันธุ์ที่ทำอยู่แล้วยังทำต่อไป แต่จะขยายให้มากกว่าเดิมด้วยซ้ำไป เพราะมหาวิทยาลัยไปสร้างเครือข่ายกับประเทศเพื่อนบ้าน เช่นล่าสุดเมื่ออาทิตย์ที่แล้ว ผมไปลงนามความร่วมมือการวิจัยทางด้านชาติพันธุ์ร่วมกับมหาวิทยาลัยยูนนาน แล้วในเดือนกรกฎาคมก็จะไปสัมมนานานาชาติทั้งด้านการศึกษา การพัฒนาด้านชาติพันธุ์ที่โฮจิมินห์ พูดง่ายๆ งานชาติพันธุ์ยังคงเหมือนเดิม และขยายให้กว้างไกลกว่าเดิม เพียงแต่ว่า การสื่อสารอาจยังไม่ดี ต้องขออภัยพี่น้องเครือข่ายด้วย


 


ส่วนเรื่องการร้องเรียนเรื่องทุนการศึกษานั้น ที่ผมบอกว่าทุนการศึกษาได้ไหม ได้ ได้เป็นส่วนใหญ่ ได้เกือบหมด และทุนที่ได้มีทั้งแบบให้เปล่าและแบบกู้ ให้เปล่าหมายความว่า ได้รับไปเลย แต่อาจมีเงื่อนไขว่าต้องมาช่วยงานกองพัฒนานักศึกษานะ อันนี้ก็มี แต่ที่มันเป็นปัญหาไม่ใช่ทุนให้เปล่าหรือทุนกู้ยืม


 


แต่มันเป็นทุนที่บอกว่า ไปคุยกันก่อนมาเรียน นึกภาพออกไหม จะให้ 2 แสนหรือ 4 แสน ถ้ามาเรียนเอกนี้นะ ตรงนั้นต้องไปลงลึกสืบข้อเท็จจริงให้ได้ว่าเป็นจริงหรือไม่ ตรงนี้ถ้าไม่ได้รับความร่วมมือจากผู้ที่เกี่ยวข้อง มหาวิทยาลัยจะลำบากมาก เพราะไม่รู้จะแก้อย่างไร แต่แน่นอนที่สุด ต่อไปทางมหาวิทยาลัยต้องไปคุยกับคณะและวิทยาลัยว่าต้องระมัดระวังนะเวลาจะออกไปแนะแนว ต้องห้ามไปมีเงื่อนไขแบบนี้นะ ต่อไปอาจต้องมีการบันทึกเทปไว้ เวลาไปพูดไปคุยจะต้องพูดคุยอย่างไร และจะต้องเป็นไปตามแนวนโยบายของมหาวิทยาลัยนะ คือ พูดง่ายไม่มีในนโยบายของมหาวิทยาลัย แต่ตอนปฏิบัติเราก็ไม่ทราบ ต้องลงไปดู เราอยากจะให้ผู้มีข้อมูลช่วยบอกด้วย


 


 


 


ประชาไท : จากการร้องเรียนที่คณะกรรมาธิการ ที่ในเอกสารระบุว่า นักศึกษา 15 คน เรียนแล้วประสบภาวะหนี้ มาตรการเฉพาะหน้าของมหาวิทยาลัยมีมาตรการใดๆ ในการช่วยเหลือเขา หรือไม่?


อธิการบดี : คงต้องไปดูในรายละเอียดว่า หนี้ตัวนั้นหมายถึงอะไร เพราะจริงๆ แล้วข้อมูลในมือผม ทั้ง 18 คนได้ทั้งทุนให้เปล่าและทุนกู้ยืม ทีนี้คำว่าหนี้ เป็นหนี้ส่วนตัวหรือหนี้กู้เรียน ถ้าเป็นหนี้กู้เรียนก็เป็นหนี้แน่นอน (หัวเราะ) แต่หนี้กู้เรียนไม่ใช่เฉพาะ 15 คนนะ ต้องเข้าใจมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงรายเข้ามาปีหนึ่งประมาณ 4,000 คน ทุนกู้ยืมก็ประมาณ 80% เพราะฉะนั้นถ้าบอกว่าเป็นหนี้ลักษณะนี้ก็หนี้ทั้งมหาวิทยาลัยเหมือนกันนะ คือพูดง่ายๆ เป็นหนี้ลงทุนเพื่อการศึกษา เป็นการผ่อนภาระของครอบครัว ต้องไปคุยกับเขาในรายละเอียดว่า คำว่าหนี คือ หนี้อะไร ถ้าเป็นหนี้กู้ยืมก็เป็นสิทธิของเขา เพราะถ้าเขาไม่อยากกู้ ก็ไม่กู้ได้นะ เป็นสิทธิของเขา แต่ว่าไม่กู้ เขาก็ไม่ได้ทุน แต่ถ้ากู้ก็ต้องผูกพัน อันนี้ต้องให้ความยุติธรรมกับนักศึกษาทุกๆ คน ถ้าให้มหาวิทยาลัยไปบอกว่า เฉพาะ 15 คนฟรีหมด อีก 500 เอาไงล่ะ เราก็ต้องมองส่วนใหญ่ไว้


 


 


นักข่าวเชียงราย 2 : ถ้าสมมติว่า การตรวจสอบทราบว่า มีมูลว่า ไปรับปากว่าจะให้เงิน 2 แสน มหาวิทยาลัยจะดำเนินการอย่างไร?


อธิการบดี : แน่นอนล่ะ คนไปพูดผิดแหงๆ เลยนะ คนพูดต้องโดนลงโทษ อันที่สองในฐานะที่ผมเป็นหัวหน้าฝ่ายมหาวิทยาลัยต้องเสนอต่อสภามหาวิทยาลัยๆ น่ะ ว่าสภามหาวิทยาลัยต้องรับผิดชอบเพราะคนของเราไปทำอย่างนี้ จะช่วยอย่างไรก็ว่ากันไป ฉะนั้นก็ไปไล่เบี้ยกับคนที่พูดทีหลัง จะผ่อนใช้ไปจนกว่าเกษียณอายุ ก็ว่าไป แต่ปัญหาคือ จริงหรือไม่ ต้องเข้าใจนะ


 


 


นักข่าวเชียงราย 1 : ระยะเวลากำหนดขึ้นมาหรือยัง?


อธิการบดี : ในแง่การสืบ เราเร่งกรรมการทุกวัน ปัญหาก็คือว่า กลุ่มที่เขาไปตระเวนให้ข่าวแล้วอ้างว่าเป็นนักศึกษาชาติพันธุ์เนี่ย เราดูภาพจากสื่อมวลชนแล้วไม่ใช่นักศึกษาเอกนี้ทั้งหมด คือ มีอาจารย์ด้วย มีนักศึกษาเอกอื่นด้วย ตอนนี้มหาวิทยาลัยจะเชิญนักศึกษาเอกอื่นที่เรารู้มาพูดคุยว่า ตกลงจะร่วมร้องด้วยไหม คือถ้าร่วมร้องก็ต้องแสดงตัวอย่าไปอ้างชื่อน้องเขา เพราะบางคนที่ผมดูนี่เรียนปี 4 แล้ว ตอนนี้ก็ให้อาจารย์เขาไปตามตัวมา ถ้าคุณปี 4 แล้วจะร่วมร้อง อย่าไปใช้ชื่อน้องร้องสิ คุณร้องด้วยตัวคุณเองก็ได้ การร้องไม่ใช่เรื่องความผิด เป็นการทำความจริงปรากฏ ปัญหาตอนนี้คือยังไม่สามารถบอกได้ว่า จริงๆ ใครร้อง เพียงแต่ถูกอ้างชื่อว่า ชาติพันธุ์ 15 คน  


 


 


นักข่าวเชียงราย 1 : ถ้าไม่ได้ข้อเท็จจริงอย่างนี้ เรื่องก็ไม่จบ เรื่องก็ไปเรื่อยๆ หรือครับ?


อธิการบดี : ถ้าไม่มีคนร้องมันก็ต่อไม่ได้ มันก็สอบสวนความผิดทางวินัยไม่ได้ แต่ว่ามหาวิทยาลัยรู้เรื่องแล้ว แม้ไม่มีคนร้องก็ต้องลงไปดูข้อมูล แต่ว่าจะยากหน่อยที่ไม่มีใครให้ข้อมูล ถึงกราบเรียนว่า ถ้าสื่อมวลชนหรือพี่น้องประชาชนมีข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับบุคลากรของมหาวิทยาลัย ไม่จำเป็นต้องเป็นคนที่ถูกร้อง เป็นใครก็ตามใน 900 คน และเขาก็ทำไม่ดี ร้องมาที่อธิการบดีได้เลย เพราะมหาวิทยาลัยนี่เป็นมหาวิทยาลัยของประชาชน เราพยายามช่วยเหลือผู้ที่ขาดโอกาสทางการศึกษา ผู้ยากไร้ ผู้ด้อยโอกาสและพี่น้องชาติพันธุ์ ถ้ามีใครคนใดก็ตามไปทำกับนักศึกษา เราปล่อยไปไม่ได้ ถึงเรื่องนี้ไม่ร้องก็จบไม่ได้ ก็ต้องทำต่อไปให้ความจริงปรากฏ


 


 


นักข่าวเชียงราย 1 : มีนักศึกษาบางคนครับ อ้างขึ้นมาว่า เคยร้องผ่านทางมหาวิทยาลัยแล้วไม่มีความคืบหน้าของเรื่อง?


อธิการบดี : เหรอ


 


 


นักข่าวเชียงราย 1 : ไม่ทราบว่าท่านอธิการบดีได้รับร้องเรื่องนี้มั้ยครับ


อธิการบดี : คือถ้าชุดนี้ที่ผมว่า มีปึ๊งเดียว ปึ๊งอื่นไม่มี คือไม่มีร้องมาที่ผม ถ้าร้องมาที่ผม ผมรับประกันว่า ทำให้แน่นอน แต่ว่าที่ร้องมาตอนนี้มีอยู่ชุดเดียว ชุดที่เอ่ยชื่อแต่ไม่มีการลงลายมือชื่อ แต่มีรายชื่อนักศึกษาทั้ง 15 คน


 


 


นักข่าวเชียงราย 2 : ขออนุญาต กรณีอาจารย์ทั้งสองท่านที่อาจเข้าไปมีส่วนร่วมในการเรียกร้อง ถ้ามหาวิทยาลัยสืบทราบจริงว่า มีส่วนร่วมจริง เราจะดำเนินการอย่างไร?


อธิการบดี : ก็ต้องให้เกียรติแก่เขานะ ต้องไปสืบก่อนว่า เขาไปมีส่วนร่วมแค่ไหน สร้างความเสียหายแค่ไหน ทางมหาวิทยาลัยก็มีบทลงโทษตามน้ำหนักและเจตนา มีตั้งแต่ตักเตือน ภาคทัณฑ์ ปรับเงินเดือน ลดขั้นเงินเดือน ถึงขั้นไล่ออก แต่ไล่ออกไม่เคยปรากฏมาก่อน ส่วนใหญ่เราก็บอกว่า คุณอยู่สังคมที่นี่ไม่ได้แล้วนะไปหาที่ๆ ดีเถอะ อะไรก็ว่ากันไป ไม่ค่อยมีเหตุการณ์รุนแรงถึงขนาดนั้นนะ ส่วนใหญ่เท่าที่ผมมีประสบการณ์อยู่ที่นี่มาประมาณ 6 ปี ส่วนใหญ่จะเป็นการตักเตือน โทษจะเป็นการตักเตือน


 


 


นักข่าวเชียงราย 2 : ต้องเรียกทั้งสองท่านมาสอบถามไหมครับ


อธิการบดี : ครับ กรรมการสืบข้อเท็จจริงคงจะตามมา ผู้ที่เกี่ยวข้องเท่าที่ผมดูค่อนข้างเยอะ นักศึกษา 15 คน แต่จริงๆ เขามี 18 อาจารย์มี 6 ถ้าเขาให้ปากคำไปถึงใครก็ตาม มหาวิทยาลัยต้องตามนะ ถ้ามีเหตุการณ์เกิดขึ้นเมื่อ 3 ปีที่แล้ว ถ้าเขาบอกชื่อเราก็ต้องตาม ทิ้งไม่ได้ต้องตาม


 


 


นักข่าวเชียงราย 1 : วันพฤหัสบดีที่จะถึงนี้ (8 มี.ค.) ทางสภา (สนช.) จะเชิญทางมหาวิทยาลัยไปจะเดินทางไปไหมครับ?


อธิการบดี : จริงๆ เป็นคณะกรรมาธิการด้านสิทธิเด็ก หรือสตรี หรืออะไรอย่างนี้นะ เขาเชิญไปให้ข้อมูล ซึ่งอันนี้ก็ยินดีมาก คือพอผมมาเห็นข่าวในหนังสือพิมพ์ ผมก็ไม่กล้าไปถ้าลงข่าวผิดผมแย่เลย ตอนนี้ก่อนประชุมมีจดหมายมาถึงผมแล้ว ข้อมูลก็เป็นข้อเท็จจริง ข้อเท็จจริงเราเป็นอย่างไร เราทำอะไรอยู่ ท่านที่มีผู้ประสบการณ์จะได้แนะนำว่าน่าจะทำอย่างนั้นอย่างนี้ ผมก็ถือว่า เป็นโอกาสดีที่จะขอให้คณะกรรมาธิการช่วยดูเรื่องงบประมาณไปดูแลพี่น้องชาติพันธุ์หน่อย ตอนนี้ของเราเมื่อเทียบกับมหาวิทยาลัยอื่นของเราก็ยังน้อย อย่างทุนการศึกษาถ้าท่านดูในรายละเอียดนะ ถ้าท่านผู้มีอำนาจในประเทศให้ทุนให้เปล่ามาเยอะๆ พี่น้องชาติพันธุ์เรา ลูกหลานก็จะได้ไม่ต้องเป็นหนี้กู้ยืมมากไง ถือโอกาสนี้ไปบอก ยินดีมากเลย ถ้ามีที่อื่นจะเชิญไปอีกก็จะไปบอกอย่างนี้ "ช่วยหน่อยค้าบ ช่วยหน่อยค้าบ" ก็ไปแน่นอน


 


 


นักข่าวเชียงราย 2 : ผู้ถูกร้องเรียนตอนนี้ยังดำรงตำแหน่งเป็น ผอ.หรือเปล่า?


อธิการบดี : ไม่ครับ พอเราปรับสถานะจากสถาบันเป็นศูนย์ ก็พ้นตำแหน่งโดยอัตโนมัติ แล้วก็ไม่ให้ยุ่งเกี่ยวกับการเรียนการสอน เพราะฉะนั้นสถานะตอนนี้เขาต้องเน้นการวิจัย ข้อร้องเรียนจะจริงหรือเท็จยังไม่มีใครทราบ ต้องเคารพในสิทธิของเขา แต่ในขณะเดียวกันก็กันไว้ไม่ให้ถูกข้อร้องเรียนเพิ่มเติมว่า ถูกข่มขู่คุกคาม ไม่ได้รับความยุติธรรม ก็หลุดไปแล้ว ก็บวชอยู่ไง บวชอยู่


 


 


นักข่าวเชียงราย 2 : ตอนนี้ยังไม่มีใครลงชื่อของนักศึกษา 15 คน ส่วนหนึ่งน่าจะเกิดจากว่า คณะกรรมการสืบเป็นคนของมหาวิทยาลัย ทางนักศึกษาเกรงว่า มีความไม่เป็นกลางหรือเปล่า?


อธิการบดี : อันนี้จะเป็นความกลัวก็ได้นะ ซึ่งความกลัวมันมาจากหลายสาเหตุ กล้าๆ กลัวๆ ไง หรือ อาจจะมีผู้ชี้แนะก็ได้


 


คือ เราไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริง อย่างไรก็ตาม เราก็ต้องให้เกียรติกับเขาในการลงชื่อร้อง ถ้าท้ายที่สุด เขาไม่ลงชื่อร้องจริงๆ ก็ต้องเอาข้อมูลจากโทรทัศน์ว่า เขาได้ปรากฏตัวว่าร้องเรียน เพราะไปร้องที่อื่นเยอะแยะ ทำไมไม่มาร้องที่เรา ก็ยังสงสัยอยู่นะ


 


 


นักจัดรายการวิทยุซีอาร์ยู 1 : ขออนุญาตกราบเรียนท่านอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงรายนะครับ ในการแถลงข่าวในครั้งนี้ ก็คาดว่า จะสร้างความชัดเจนให้กับพี่น้องสื่อมวลชน ตลอดจนพี่น้องประชาชนชาวจังหวัดเชียงราย ความเป็นไปเป็นมาเป็นอย่างไร ข้อเท็จจริง เพราะที่ผ่านมาฟังความข้างเดียว ในโอกาสนี้อยากเรียนถามท่านอธิการถึงกิจกรรมที่มหาวิทยาลัยได้ทำมา ที่ประสบความสำเร็จ ที่สำคัญๆ เกี่ยวกับอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงและโครงการที่จะทำต่อไป มีอะไรบ้างครับผม?


 


อธิการบดี : มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงรายเราเนี่ย เราพัฒนามาจากสถาบันวิทยาลัยครู เพราะฉะนั้นเรามุ่งมั่นที่จะเป็นมหาวิทยาลัยเพื่อการพัฒนาท้องถิ่นเพื่อคนเชียงรายและจังหวัดใกล้เคียง เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราทำจึงต่างจากมหาวิทยาลัยทั่วๆ ไป เช่น เรามาเน้นการให้โอกาสทางการศึกษากับผู้ที่ขาดโอกาส ฉะนั้นเรื่องชาติพันธุ์ เพราะเดิมถูกสกัดกั้นไม่มีบัตรประชาชนเข้าเรียนไม่ได้ ของเราเป็นมหาวิทยาลัยแรกเลยนะที่รับมา แล้วมีการร่วมกับเครือข่ายในการช่วยเหลือกัน มีสื่อมวลชนหลายท่านถาม เรื่องเครือข่ายเป็นอย่างไร อันนี้เรามีความพยายามทำหลายอย่าง


 


ในแง่ของการพัฒนาลุ่มแม่น้ำโขง เรามีการวิจัยและสร้างเครือข่ายร่วมกับประเทศเพื่อนบ้าน มีการสัมมนานานาชาติ ปีที่แล้วก็สัมมนาที่กัมพูชา พูดง่ายๆ สิ่งที่มหาวิทยาลัยทำก็เพื่อการอยู่กันอย่างสมานฉันท์และสันติ โดยมีหลายๆ เอกด้วยกัน เช่น เอกชาติพันธุ์ศึกษา จริงๆ เจตนาก็ต้องการพัฒนานักศึกษารุ่นนี้ออกไปเป็นนักพัฒนา ที่ไม่ใช่พัฒนาประเทศไทยนะ แต่พัฒนาในลุ่มแม่น้ำโขง อย่างเอกสหวิทยาการบริหารท้องถิ่น จริงๆ ก็คือ ให้ผู้นำท้องถิ่นเป็นผู้นำและสามารถใช้กลวิธีพัฒนาเกิดขึ้น สรุปง่ายๆ ก็คือ มหาวิทยาลัยพยายามทำหลายๆ เรื่อง ซึ่งได้รับความร่วมมือกับพี่น้องประชาชนค่อนข้างเยอะ


 


ส่วนกรณีที่ปรากฏข่าวในครั้งนี้และผมมาแถลงข่าว ก็เพราะว่าอะไร เพื่อให้เกิดความเข้าใจอันดีด้วยกัน จริงแล้วทุกคนพยายามทำสิ่งที่ดีที่สุด แต่บางครั้งการตัดสินใจทำอะไรนั้นอาจจะเกินขอบเขตไปก็อยู่ในแนวทางมหาวิทยาลัยต้องดำเนินการไปตามข้อบังคับที่ถูกต้อง ใครผิดก็ต้องว่า ผิด ใครถูกก็ต้องว่า ถูก แต่ต้องเข้าใจนิดหนึ่งว่า เรื่องบางเรื่องไม่ได้สั่งการได้ในวันเดียว ถ้าสั่งการได้ในวันเดียวอาจจะผิดพลาดได้ ต้องให้ความยุติธรรมกับทุกฝ่าย


 


และผมขอยืนยันเลยว่า ในฐานะอธิการบดีและเป็นผู้บริหารมายาวนาน ผมจะใช้เกียรติประวัติผมเป็นหลักประกันว่าจะให้เป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย นักศึกษาจะถูกปกป้องและให้เขาได้เรียนจนจบสำเร็จการศึกษา นักศึกษาต้องเป็นหัวใจ อันนี้อยากให้พ่อแม่ผู้ปกครองได้สบายใจ


 


 


ประชาไท : กรณีที่มีความร่วมมือกับพี่น้อง และมีการสร้างเรือนของแต่ละชนเผ่า กรณีที่เขามาสร้างแล้วเกิดร้างไป ไม่ได้ประโยชน์ ตอนนี้ท่านจะดำเนินการแก้ไขเรื่องนี้อย่างไร?


อธิการบดี : เรื่องนี้ได้ปรึกษากับทีมงานนะ จริงๆ ก็ทีมงานชุดเดิมของสถาบันชาติพันธุ์ เขาก็มีผู้รับผิดชอบเครือข่าย ตอนหลังก็มีคนเข้าคนออกไปรับงานที่หลากหลายไป


 


งานเครือข่ายก็แผ่วไปเยอะ ตอนนี้พอกลับมาเป็นศูนย์ชาติพันธุ์ภายใต้วิทยาลัยนานาชาติก็ให้การบ้านไปว่า ต้องตั้งผู้รับผิดชอบด้านเครือข่ายมาให้ชัดเจน แล้วเชิญเครือข่ายมาพูดคุยว่า บ้านแต่ละหลังที่เราสร้างไป บางหลังเสร็จไป 80% บางหลังก็ 20% บางหลังก็เริ่ม ก็ต้องทำให้เสร็จทำให้เร็วเพื่อให้เกิดประโยชน์ เพราะบางจังหวะเศรษฐกิจไม่ดีก็ชะลอไป ตอนนี้เริ่มต้นกันใหม่ก็ทำกันให้ดี คงต้องพูดคุยให้บรรลุเป้าหมาย แล้วตรงนั้นมหาวิทยาลัยได้รับมอบที่ดินจากชาวบ้าน อนาคตก็มีประตูทางด้านทิศเหนือ


 


 


ประชาไท : อันนี้ภายในกี่ปี?


อธิการบดี : ภายในเดือน-สองเดือนต้องประชุมแล้วครับ เพราะเป็นงานที่ผมมอบหมายให้ทางท่าน ผอ.(สถาบันชาติพันธุ์) กับ ทีมงาน


 


 


ประชาไท : ประชุมกับผู้บริหารหรือชาวบ้าน?


อธิการบดี : ชาวบ้าน ต้องเป็นผู้แทนเครือข่าย เพราะผู้แทนเครือข่ายเราร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดตอนทำมหกรรมและตอนไปแสดงที่ประเทศจีน พอตอนหลังมาช่วยเรื่องหลักสูตร มามะรุมมะตุ้มเรื่องการเรียนการสอนก็เลยละเลยทางนี้ไปบ้าง ท้ายที่สุดก็ต้องไปสู่จุดเดิม จะต้องทำงานที่เคยทำไว้ให้เกิดความสำเร็จ


 


ก็ต้องขอขอบคุณท่านสื่อมวลชน กรุณามาพบปะพูดคุยซักถามวันนี้ ถ้ามีสิ่งใดที่ทางมหาวิทยาลัยจะทำงานร่วมกับสื่อมวลชนด้วยก็จะเป็นพระคุณยิ่ง...


 


และอย่าลืมนะครับวันที่ 15 มีนาคมนี้มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงรายร่วมกับสมาคมด้านสื่อมวลชนในจังหวัดเชียงรายทั้งหมดจะจัดประชุมใหญ่ เพื่อให้ข้อเสนอแนะต่อการร่างรัฐธรรมนูญ ที่จะมีข่าวว่ามีมาตราเฉพาะมาควบคุมสื่อเป็นการเฉพาะ เรามีความเห็นอย่างไร เพราะมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงรายผลิตบัณฑิตทางด้านนิเทศศาสตร์ ถือว่าเป็นหน้าที่ๆ จะต้องมาร่วมกับพี่น้องสื่อมวลชน มาพูดคุยกัน ต้องเสนอนะ เพราะถ้าเสนอช้าไปเขาไม่รับข้อเสนอเรา ขอถือโอกาสนี้เรียนเชิญทุกท่านด้วยนะครับ


 


ขอขอบคุณมากครับ


 






3.สัมภาษณ์นอกรอบ


 


หมายเหตุ - หลังการแถลงข่าวอย่างเป็นทางการของอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงรายแล้ว ประชาไทมีโอกาสถามคำถามเพิ่มเติมกับอธิการบดีดังนี้


 



 


ประชาไท : อยากเรียนถามเรื่อง ความเป็นมาของหลักสูตรชาติพันธุ์ฯ ว่ามีลักษณะอย่างไร?


อธิการบดี : หลักสูตรชาติพันธุ์ศึกษาเพื่อพัฒนาภูมิภาคลุ่มน้ำโขง หลักสูตรนี้เป็นหลักสูตรที่ดีมาก แล้วเดิมทีเดียวพี่น้องลูกหลานชาติพันธุ์ที่เข้ามาเรียนในมหาวิทยาลัย เขาก็จะมาเรียนคอมพิวเตอร์ เรียนบริหาร บัญชี อะไรเยอะแยะ นึกภาพออกไหม แต่ว่าหลักสูตรที่มีเฉพาะเรื่องชาติพันธุ์ อันนี้เป็นหลักสูตรแรกเลย คิดว่าเป็นหลักสูตรแรกในระดับปริญญาตรีของประเทศไทย แล้วการทำหลักสูตรนี้ หลักสูตรนี้ถ้าสำเร็จการศึกษาไปได้นะ ผู้ที่เป็นบัณฑิตในสาขานี้จะสามารถไปทำงานร่วมกับพี่น้องชาติพันธุ์ ไม่ใช่เฉพาะในประเทศไทย แต่ในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง แล้วนำไปสู่การพัฒนาที่ดีด้วย


 


เพราะฉะนั้นหลักสูตรนี้ เท่าที่ผมมีส่วนร่วมในการตรวจหลักสูตรนะ เพราะผมเป็นประธานสภาวิชาการต้องดูด้วย ก็ถือว่าเป็นหลักสูตรที่ดีมาก เพราะฉะนั้นตอนนี้ก็คือ ทำอย่างไรจะให้นักศึกษารุ่นที่ 1 เขานี้ เรียนต่อไปจนกระทั่งสำเร็จการศึกษา


 


 


ประชาไท : ก็กรณีเรื่องหลักสูตรชาติพันธุ์ท่านยืนยันว่าไม่มีผลกระทบ แม้ว่าจะโอนย้ายมาอยู่กับวิทยาลัยนานาชาติ?


อธิการบดี : ไม่มีๆ เหมือนเดิม ก็จริงๆ วิทยาลัย เหตุที่ต้องใช้ "วิทยาลัย" เพราะว่าอะไร เพราะระบบมหาวิทยาลัย เวลาเขาถามว่า จบเอกอะไร มันต้องบอกว่า เอกอันนี้ คณะไหนใช่ปะ เอกนี้คณะไหน เอกนี้วิทยาลัยไหน จะไม่มีคำว่า จบเอกนี้ จาก "สถาบัน" น่ะมันไม่มี ในระบบน่ะ ไม่ว่าจะไปประเทศไทย ประเทศจีน


 


ประเทศจีนหลังสุดผมไปที่ มหาวิทยาลัยยูนนานนี่ เขาจะต้องตั้งเป็นวิทยาลัย เป็นคณะ หรือโรงเรียน


 


เพราะฉะนั้นอย่างของชาติพันธุ์นี้ เราวางแผนปรับสถานะของเขามาไม่ใช่เหตุการณ์อันนี้ เราวางปรับ ตอนแรกเราคิดว่า ค่อยๆ ปรับ แต่ว่าตอนนี้มันมีอีกเอกหนึ่งเข้ามาสอดแทรกคือ เอกสหวิทยาการบริหารท้องถิ่นที่เขาเรียนมาหลายปีแล้วน่ะ แล้วพอหลักสูตรปริญญาตรีผ่านปัง เขามีสิทธิเอาที่เขาเรียนมาโอน ทีนี้พอเขาโอนว่า เขาจะจบเทอมหน้า ขืนไปบอกว่า จบชาติพันธุ์มันก็ยุ่งนะ ความเข้าใจเขาไม่ดี มันก็จะมีปัญหาต่อการสร้างความเข้าใจ


 


 


ประชาไท : คือมองหลังจากจบไปแล้ว?


อธิการบดี : อ๋อ จบไปแล้ว หมายถึง เตรียมจะให้เขา เขาต้องจบภายในเทอมหน้า เพราะฉะนั้นต้องปรับ อันนี้จริงๆ ถือว่าเป็นการปรับโครงสร้างให้มันเอื้อต่อนักศึกษาและบัณฑิตที่จะจบ ส่วนงานเหมือนเดิมแล้วขยายมากกว่าเดิม ส่วนผู้รับผิดชอบก็ยังเป็นชุดเดิม


 


ประชาไท : ตกลงท่านยังยืนยันว่า เรื่องนักศึกษานี้ยังเป็นเรื่องแอบอ้าง เพราะท่านยังไม่เห็นลายมือ แม้ว่าจะมีภาพปรากฏเป็นข่าว?


อธิการบดี : คือ ถ้าถามผมตอนนี้นะ ผมไม่อยากไปทึกทักว่า นักศึกษาเอกชาติพันธุ์ชั้นปีที่ 1 เป็นผู้ร้องเรียน เพราะว่าเอกสารที่เขาส่งมาเนี่ย คือ เขาไม่ได้ลงลายมือชื่อน่ะ ถ้าไม่ได้ลงลายมือชื่อใช่ไหม เราต้องให้เกียรติเขาก่อน ต้องถือว่า ยังไม่ได้ร้อง ส่วนภาพที่เขาไปปรากฏก็แบบที่ผมบอกไม่ใช่นักศึกษาชั้นปีที่ 1 นะ บางคนก็เป็นนักศึกษาปีอื่นเอกอื่นก็มี ที่ผมรู้จักก็ยังมีเลย แล้วก็เป็นอาจารย์ เพราะฉะนั้นก็ต้องให้เกียรติเขา แล้วถ้าเกิดเขาไม่ลงลายมือชื่อจริงๆ เราก็ต้องไปดูข่าวจากทางโทรทัศน์ แล้วก็เชิญเขามาพบว่าวันนั้นไปร่วมร้องด้วยใช่ไหม หรือว่าไปรับฟังอะไรเฉยๆ อย่างนี้ ถ้าเขาบอกผมผ่านไปแล้วก็ไปรับฟัง ไม่ได้ตั้งใจเรียกร้อง เขาก็ไม่เกี่ยวน่ะ


 


 


ประชาไท : ก็คือท่านยังยินดีคุยนักศึกษา?


อธิการบดี : คุยได้ตลอด เพราะว่า จริงๆ แล้วเขาก็เป็นนักศึกษาของเราอยู่นะ เขาไม่ได้ลาออกนะ เขาก็มีสิทธิ์ 100% ที่จะเรียน ที่จะย้ายวิชาเอก ที่จะบอกมหาวิทยาลัยว่าอะไรดี ไม่ดี ใช่ไหม แต่ว่าสิ่งที่เราอยากจะได้คือ ต้องให้เขานำปัญหานั้นมาที่มหาวิทยาลัย ถ้าเขานำปัญหาไปตระเวนในที่อื่น มันก็แก้ปัญหาไม่ได้สักทีเพราะที่อื่นเขาไม่มีอำนาจโดยตรง อย่างเก่งเขาก็ให้คำแนะนำ ให้คำชี้แจง ปัญหามันไม่จบ บางทีพูดง่ายๆ มันก็ไม่เกิดประโยชน์กับทุกๆ ฝ่าย เพราะฉะนั้น ผมอยากให้มาพูดกันตรงๆ ผิดก็ผิด ถูกก็ถูก ก็คือ คนผิดเราก็เอาไว้ไม่ได้ แต่ถ้าเขาถูก เราก็เอ้า...ถูกก็ถูก.


 

เอกสารประกอบ

คำแถลง "ฉบับเต็ม" ของอธิการบดี มรช. กรณีนักศึกษาเอกชาติพันธุ์ฯ ร้องเรียน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net