เครือข่ายประชาชนเหนือเปิดเวทีจับตารัฐออกกม.จัดการทรัพยากร "ดิน น้ำ ป่า"

ประชาไท - 13 มี.ค.2550 วานนี้ (12 มี.ค.) ที่หอศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เครือข่ายป่าชุมชนภาคเหนือ และองค์กรพัฒนาเอกชนต่างๆ อาทิ คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคเหนือ (กป.อพช.เหนือ) ฯลฯ ได้ร่วมกันจัดสัมมนาเรื่อง "นโยบายรัฐกับการจัดการทรัพยากรในสถานการณ์ใหม่" โดยช่วงหนึ่งได้มีการเสวนาหัวข้อ "สถานการณ์และนโยบายรัฐใหม่กับการจัดการทรัพยากรดิน น้ำ ป่า" ซึ่งมีผู้ดำเนินรายการคือ รจเรข วัฒนพาณิชย์ ผู้ประสานงานชุมชนคนรักป่า โดยมีวิทยากรคือนายเพิ่มศักดิ์ มกราภิรมย์ สมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และนายไพโรจน์ พลเพชร เลขาธิการสมาคมสิทธิและเสรีภาพประชาชน

 

นายเพิ่มศักดิ์ มกราภิรมย์ กล่าวว่า สถานการณ์ปัจจุบันมีสิ่งต่างๆ ที่เปลี่ยนแปลงพอสมควร และด้านการมีส่วนร่วมจัดการสิ่งแวดล้อม เห็นว่านายกรัฐมนตรี (พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์) ชอบและสนใจการเดินป่า และดูนโยบายของนายกรัฐมนตรีด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติซึ่งได้กล่าวต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติว่า การจัดการด้านทรัพยากรนั้น

 

1.จะสร้างสมดุลระหว่างการอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน โดยเฉพาะทรัพยากรชีวภาพ ให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจ ประสานกับหลักการด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมและสมดุลสำหรับทุกฝ่าย นโยบายดังกล่าวจะเห็นว่า เน้นเรื่องการสร้างสมดุลระหว่างการอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน 2.การสร้างคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่ดี 3.คือเรื่องของเศรษฐกิจที่สอดคล้อง ผสมผสานกับหลักการบริหาร สุดท้ายคือเรื่องการมีส่วนร่วมและเป็นธรรมสำหรับทุกฝ่าย

 

ขณะนี้เมื่อรัฐออกนโยบายมาแล้ว มีอะไรที่จะทำให้นโยบายบรรลุผลสำเร็จ น่าสนใจเรื่องที่ 1.คือ พ.ร.บ.ป่าชุมชน 2.คือเรื่องแก้ไข พ.ร.บ.ป่าไม้ และ 3.เรื่องการดูแลรักษาป่าไม้ของรัฐบาล

 

ในเรื่อง พ.ร.บ.ป่าชุมชน กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เสนอร่างไปที่ครม.แล้ว ครม.อนุมัติหลักการเมื่อวันที่ 6 มีนาคม และส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณา คิดว่าคงพิจารณาเสร็จในเดือนมีนาคม สาระสำคัญที่เขาเสนอ โดยหลักการแล้วคือเอาตัวร่าง พ.ร.บ.ป่าชุมชนที่พิจารณาในกรรมาธิการร่วมเป็นหลัก และตัดคำว่าพื้นที่อนุรักษ์พิเศษและกองทุนป่าชุมชนออกไป และเพิ่มเงื่อนไขขึ้นมาซึ่งอาจจะหนักกว่าเดิม ยกตัวอย่างมาตรา 25 วรรค 2 "เขตอนุรักษ์ตามวรรค 1 จะต้องไม่เป็นพื้นทีที่ทางราชการสงวนคุ้มครองไว้เฉพาะ...." อันนี้ยิ่งกว่าการกำหนด "เขตอนุรักษ์พิเศษ" คิดว่าถ้าเป็นอย่างนี้ป่าชุมชนเกิดไม่ได้

 

"ผมเป็นห่วงว่ารัฐบาลที่ได้มอบหมายให้บุคคลที่ดูแลกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเข้ามาบริหาร แต่ทำไมกลับเสนอกฎหมายออกมาอย่างนี้" นายเพิ่มศักดิ์กล่าว

                         

นายไพโรจน์ พลเพชร นำเสนอว่า เรื่องทรัพยากรธรรมชาติเป็นเรื่องที่ต่อสู้ยาวนานมาก หัวใจอยู่ที่ว่าใครจะมีอำนาจจัดการทรัพยากรในประเทศนี้ ทั้ง ดิน น้ำ ป่า ใครจะมีอำนาจ ราษฎร ชุมชน หรือรัฐที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จในการจัดการ ซึ่งที่ นายเพิ่มศักดิ์เล่าให้ฟังว่าเวลาไปพูดเรื่องป่าชุมชนก็ไปสู้เรื่องนี้เหมือนเดิม เรื่องใครจะจัดการ ประชาชนหรือรัฐ ในเรื่องส่งเสริมเพาะพันธุ์สัตว์ป่า มันก็คือการส่งเสริมให้มีการเพาะพันธุ์สัตว์ป่าเพื่อขายกิน มันเป็นธุรกิจใหญ่มาก เขากีดกันชุมชน จะขอจัดการเองแต่นำไปสู่การจัดการเพื่อใช้ทรัพยากรหากิน สร้างกำไร สร้างมูลค่า เปลี่ยนมูลค่าทรัพยากรให้ขายได้

 

ส่วนเรื่องกฎหมายป่าชุมชน ครม.อนุมัติวันที่ 6 มีนาคมที่ผ่านมา ในทางเจรจานั้นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ไปเจรจากับรัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมว่า สนช.เสนอก่อนแล้วตัดเรื่องกองทุนเสียเพราะไม่มีอำนาจในการเสนอในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการเงิน แล้วให้รัฐบาลเสนอเรื่องกองทุนประกบมาด้วย แต่อยู่ๆ ไม่มีเรื่องกองทุนในกฎหมายฉบับนี้ แสดงว่าผิดสัญญาในการเจรจานอกรอบ นี่คือตัวอย่างของการบิดพลิ้วครั้งที่ 1 การตัดตอนครั้งที่ 1

 

คือมันไม่ใช่เรื่องง่าย มันคือเรื่องการต่อสู้ ฝ่ายนั้นก็ต้องกันพื้นที่อำนาจของตัวเองไว้ให้ได้จนถึงที่สุด ดูที่เขาไปแอบเขียนไว้ในมาตราที่ 23 เปลี่ยนภาษาใหม่เท่านั้นเอง นี่คือลูกไม้ของเขา และประเด็นเรื่องการต่อสู้ในรัฐธรรมนูญ ถึงที่สุดมันก็คือการต่อสู้เรื่องทรัพยากรว่าแล้วใครล่ะจะมีอำนาจในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ เท่าที่สังเกตการณ์การร่างกฎหมาย ก็ได้เห็นปรากฏการณ์ว่าแนวคิดแบบอนุรักษ์นิยมมันมีอยู่ สิ่งที่เขียนไว้ในสิทธิชุมชนมันไม่เป็นจริงในทางปฏิบัติ จำเป็นต้องมีการปรับ ข้อน่าห่วงใยคือกฎหมายลูกก็แหย่เข้ามาเรื่อยๆ เรื่องพ.ร.บ.ป่าชุมชน เรื่องกฎหมายการจัดการและปฏิรูปที่ดิน กฎหมายน้ำ กฎหมายคุ้มครองสัตว์ป่า มีความพยายามหวงกันพื้นที่ไว้ให้กับหน่วยงานของรัฐเป็นสำคัญ การใช้ประโยชน์ก็ขัดแย้งในเรื่องสำคัญ คือ การสร้างมูลค่าและการอยู่รอดของชีวิตประชาชนอยู่ตลอดเวลา

 

"อย่างไรก็ตามต้องจับตามองว่าจะเป็นการสอดแทรกภาษากฎหมายในรัฐธรรมนูญ ที่ไม่เอื้อต่อการให้ภาคประชาชน เพื่อมีสิทธิชุมชน ในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพียงใด" นายไพโรจน์กล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท