Skip to main content
sharethis

รายงานพิเศษ: โรฮิงยาส์ ประชาชนที่ถูกลืมในพม่า[1]


 


โดย ปกป้อง เลาวัณย์ศิริ


 


 


"ผมกลับไปที่ประเทศพม่าไม่ได้ ถ้ากลับไปผมต้องโดนฆ่าแน่ แต่ตอนนี้


อยู่ที่นี้ผมก็ไม่มีเอกสารที่แสดงสถานะถูกต้องทางกฎหมาย"


 


- ผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงยาส์ในกรุงกัวลาลัมเปอร์
ประเทศมาเลเซีย[2]


 



 


ประเทศพม่านับว่าเป็นประเทศที่มีความหลากหลายทางเชื้อชาติมากที่สุดประเทศหนึ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เนื่องจากมีประชาชนที่เป็นคนเชื้อชาติพม่า กะเหรี่ยง มอญ คะชิ่น อารากัน ฯลฯ แต่กลุ่มคนกลุ่มหนึ่งที่ได้รับการลืมหรือทำให้ "ถูกลืม" จากกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ และ ไม่ได้รับการพูดถึงมากมายในเวทีวิชาการพม่าจนถึงในขบวนการเรียกร้องประชาธิปไตย คือ กลุ่มชาติพันธุ์ที่เรียกว่า "โรฮิงยาส์" (Rohingyas)


 


รายงานพิเศษนี้มีจุดมุ่งหมายในการสร้างความเข้าใจให้มากขึ้นในสังคมไทยเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ สถานการณ์ทางสังคมและสิทธิมนุษยชนของชาวโรฮิงยาส์ในประเทศไทย พม่า และหลายๆ ประเทศที่ชาวโรฮิงยาส์ลี้ภัยไปอยู่ มุมมองของขบวนการเรียกร้องประชาธิปไตยในพม่าเกี่ยวกับประชาชนชาวโรฮิงยาส์ และข้อเสนอแนะเกี่ยวกับสิทธิของประชาชนโรฮิงยาส์ที่ผู้เขียนคิดว่าควรจะได้รับ เพื่อสร้างความเข้าใจที่เป็นธรรมให้กับประชาชนไทยถึงสถานการณ์อันยากลำบากของประชาชนโรฮิงยาส์ ไม่ใช่ความเข้าใจอย่างมี "อคติ" ตามที่หนังสือพิมพ์บางส่วนได้นำเสนอในช่วงเวลาที่ผ่านมา


 



 


 


ประวัติศาสตร์และสถานการณ์ในพม่าชาวโรฮิงยาส์


ชาวโรฮิงยาส์เป็นประชาชนที่นับถือศาสนาอิสลาม อาศัยอยู่ทางตอนเหนือของรัฐอารากัน (ยะไข่) ในตอนเหนือของประเทศพม่าติดกับชายแดนประเทศบังกลาเทศ ซึ่งส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในเมือง Maungdaw, Buthidaung, Rathedaung, Akyab และ Kyauktaw ชาวโรฮิงยาส์มีภาษาเป็นของตัวเอง คือ ภาษาอินดิค (Indic language) ที่มีความคล้ายกับภาษาเบงกาลีที่ใช้พูดในประเทศบังกลาเทศและอินเดีย[3] ประชากรของชาวโรฮิงยาส์มีประมาณ 7 แสนถึง 1.5 ล้านคนในรัฐอารากันที่มีประชากรมากถึง 3 ล้านคน[4]


 


ประวัติศาสตร์ของชาวโรฮิงยาส์ยังมีความหลากหลายมากในปัจจุบัน มีรายงานและงานวิจัยหลายส่วนที่ให้ข้อมูลไว้ว่าเป็นผู้คนที่อยู่ในตอนเหนือรัฐอารากันมาตั้งแต่สมัยศตวรรษที่ 7-12 และได้นับถือศาสนาอิสลามเนื่องจากพื้นที่ทางตอนเหนือของรัฐอารากันมีพ่อค้าชาวอาหรับเข้ามาค้าขายเป็นเวลายาวนาน


 


แต่ในมุมมองของรัฐบาลเผด็จการทหารพม่า ชาวโรฮิงยาส์เป็นประชาชนที่ "ลี้ภัยอย่างผิดกฎหมาย" และอพยพมากจากประเทศบังกลาเทศในสมัยที่พม่าตกอยู่ภายใต้อาณานิคมของจักรวรรดินิยมอังกฤษ ดังนั้นด้วยทัศนคติเช่นนี้ของรัฐบาลเผด็จการพม่าทำให้ประชาชนชาวโรฮิงยาส์ไม่ได้รับการรวมเข้าไปในกลุ่มชนพื้นเมือง (Indigenous groups) ในรัฐธรรมนูญพม่า ส่งผลให้ไม่ได้รับสัญชาติพม่า


 


การที่ชาวโรฮิงยาส์ไม่ได้รับสัญชาติทำให้ไม่ได้รับการคุ้มครองใดๆ จากรัฐบาล ทั้งยังถูกคุกคามอย่างต่อเนื่องมากกว่าชนกลุ่มน้อยหรือประชาชนเชื้อชาติอื่นๆ โดยเฉพาะจากความแตกต่างทางศาสนาและเชื้อชาติ ได้รับการคุกคามและเลือกปฏิบัติในทุกระดับจากรัฐบาลเผด็จการทหาร ซึ่งรวมถึงสิทธิที่จะนับถือศาสนา การเข้าถึงการศึกษา สิทธิในการรักษาโรค จนถึงไม่สามารถแต่งงานได้ ถูกบังคับให้เป็นทำงานโดยไม่ได้รับค่าตอบแทน และไม่สามารถเดินทางออกนอกเพื่อไปประกอบอาชีพนอกพื้นที่ได้ ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่มีสภาพความเป็นอยู่ที่ยากจนมาก


 


นอกจากนี้ชุมชนชาวโรฮิงยาส์ยังได้รับการปราบปรามอย่างต่อเนื่องโดยมีเหตุการณ์สำคัญในปี ค.ศ. 1962 1978 และ 1991 ทำให้มีผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงยาส์หลบหนีภัยเข้าไปในบังกลาเทศ ปากีสถาน ซาอุดิอาราเบีย เป็นหลัก โดยที่ประเทศรองลงมา คือ สหรัฐอาหรับเอมิเรด มาเลเซีย และประเทศไทย[5]



สถานการณ์ในประเทศมาเลเซียและบังกลาเทศ


แม้ว่าในช่วงต้นทศวรรษ 1990 รัฐบาลมาเลเซียมีนโยบายที่ค่อนข้างประนีประนอมกับชาวโรฮิงยาส์ แต่จาอใสนโยบายค่อนข้างมีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงยาส์ในมาเลเซียมักจะได้รับการคุมขังเป็นระยะเวลาหลายเดือนในค่ายกักกัน โดยไม่ได้อาหาร ยารักษาโรค หรือสภาพความเป็นอยู่ที่ตามหลักสิทธิมนุษยชนสากล บางกรณีได้รับการข่มขู่หรือซ้อมก่อนถูกส่งกลับตัวมาประเทศไทย ซึ่งมีหลาย ๆ ครั้งที่แม้แต่สำนักงานข้าหลวงผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ยังไม่สามารถเข้าไปให้การช่วยเหลือทางกฎหมายได้


 


ในส่วนของบังกลาเทศ สถานการณ์ของชาวโรฮิงยาส์ก็ไม่ได้เลวร้ายไปกว่ากันเท่าไร ในปี 1978 ประชาชนชาวโรฮิงยาส์มากกว่า 2 แสนคนลี้ภัยไปประเทศบังกลาเทศ หลังจากยุทธการกษัตริย์มังกร (Dragon King) โดยกองทัพทหารพม่าที่ทำขึ้น เพื่อ "กำจัดบุคคลที่อาศัยอยู่ในประเทศ ซึ่งรวมถึงประชาชนและชาวต่างชาติที่เข้าประเทศอย่างผิดกฎหมาย"  กระบวนการนี้มีนโยบายโดยตรงต่อประชาชนผู้บริสุทธิ์จนนำไปสู่การฆ่า ข่มขืน และทำลายมัสยิดต่างในพื้นที่[6] ในช่วงปี 1992-1993 ประชากรโรฮิงยาส์อีกกว่า 250,000 คนหลบหนีเข้าไปในบังกลาเทศอีกระลอกซึ่งได้มีรายงานเป็นจำนวนมากเกี่ยวกับสถานการณ์การสังหารชาวโรฮิงยาส์อย่างเป็นระบบ (summary executions) การทรมาน และการข่มขืนในประเทศพม่า รวมถึงกรณีการถูกบังคับเป็นแรงงานเยี่ยงทาสโดยไม่ได้รับการค่าตอบแทนใดๆ โดยทหารพม่า


 


ในระหว่างปี 1992-1994 รัฐบาลบังกลาเทศได้ส่งตัวประชาชนโรฮิงยาส์มากกว่า 5 หมื่นคนกลับพม่าโดยการทำความเข้าใจระหว่างรัฐบาลบังกลาเทศกับรัฐบาลพม่า และล่าสุดนี้บ้านพักของผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงยาส์กว่า 6,000 คนที่อาศัยอยู่ตามแม่น้ำนาฟ (Naff) ติดกับชายแดนพม่า กำลังถูกรัฐบาลไล่ที่โดยอ้างว่าเป็นการสร้างที่อยู่อาศัยโดยผิดกฎหมาย ซึ่ง UNHCR ได้ประนามการดำเนินการครั้งนี้ว่าเป็นการกระทำ "ที่ไม่มีมนุษยธรรมเนื่องจากไม่มีการหาทางออกให้กับประชาชนเหล่านี้เลย" และมีการรายงานหลายครั้งว่ารัฐบาลบังกลาเทศได้พยายามไม่ให้ชาวโรฮิงยาส์ได้รับการช่วยเหลือจาก UNHCR[7]


 




ชาวโรฮิงยาส์ในประเทศไทย

เมื่อเปรียบเทียบกับสถานการณ์ชาวโรฮิงยาส์ในไทยกับสองประเทศที่กล่าวมาแล้ว ยังมีความแตกต่างและคล้ายกันอยู่ กล่าวคือ จำนวนประชากรชาวโรฮิงยาส์ในไทยไม่ได้มีจำนวนมากเท่าในบังกลาเทศหรือในมาเลเซีย มีจำนวนประมาณ 10,000 ถึง 15,000 คนเท่านั้น โดยส่วนใหญ่อยู่ที่จังหวัดระนองและมหาชัย แต่สถานการณ์ไม่ได้มีความเลวร้ายแตกต่างกันเลย เนื่องจากการที่ประเทศพม่าไม่ได้ให้การรับรองว่าเป็นประชาชนของพม่า อีกทั้งรัฐบาลไทยก็ยังไม่ได้มีการสำรวจประชาชนโรฮิงยาส์อย่างจริงจัง ทำให้หลาย ๆ ครั้งตกสำรวจ


 


อีกทั้งความเป็นไปได้ในการให้สถานภาพทางการเมืองกับชาวโรฮิงยาส์ยังเป็นไปได้ยากมาก เนื่องจากชาวโรฮิงยาส์ไม่ได้อยู่ในกลุ่มเชื้อชาติที่กระทรวงมหาดไทยจะให้สถานภาพทางการเมือง เช่น แม้ว่าชาวพม่าทั่วไปจำนวนหนึ่งจะสามารถลงทะเบียนเป็นแรงงานต่างด้าวได้อย่างถูกกฎหมาย แต่ชาวโรฮิงยาส์ไม่สามารถทำได้เนื่องจากเจ้าหน้าที่รัฐไม่ได้มีความรู้ในส่วนนี้และไม่เข้าใจว่าประชาชนชาวโรฮิงยาส์เป็นคนพม่า และหลายครั้งเข้าใจผิดว่าเป็นคนบังกลาเทศ ด้วยเหตุนี้ทำให้ชาวโรฮิงยาส์สามารถถูกกดขี่มากกว่าแรงงานพม่าเป็นพิเศษ[8]


 


รวมถึงการไม่มีความรู้เกี่ยวกับความเป็นมาของประชาชนโรฮิงยาส์ของประชาชนทั่วไป เห็นได้จากการเข้าใจผิดๆ ว่าประชาชนชาวโรฮิงยาส์พูดภาษามาลายูหรือเป็นกลุ่มนักรบรับจ้าง ซึ่งเป็นข้อมูลที่ไม่มีข้อเท็จจริงสนับสนุนแต่อย่างใด


 



 


ขบวนการเรียกร้องประชาธิปไตยในพม่า และก้าวต่อไปของชาวโรฮิงยาส์


จากการพูดคุยกับชาวโรฮิงยาส์ ทำให้ได้ความเข้าใจว่าชาวโรฮิงยาส์ได้มีส่วนร่วมในการต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตยร่วมกับชาวพม่าทั่วไป และได้มีบทบาทในการต่อต้านจักรวรรดินิยมอังกฤษ แต่อย่างไรก็ตาม ประเด็นเรื่องโรฮิงยาส์ยังเป็นประเด็นที่ค่อนข้างอ่อนไหวในการนำขึ้นมาพูดคุยในเวทีในขบวนการเรียกร้องเพื่อประชาธิปไตยในพม่า และหลาย ๆ ครั้งประเด็นของโรฮิงยาส์ยังเป็นประเด็นที่แหลมคมในบางครั้ง เมื่อมีการพูดถีงชาวโรฮิงยาส์ในเวทีสัมมนาหลาย ๆ ครั้ง เราจะได้ยินคำถามเชิงว่า "ทำไมเรียกคนกลุ่มนี้ว่าโรฮิงยาส์" ทำไมไม่เรียกว่าชาวอารากัน (ซึ่งคล้ายกับการไม่เข้าใจเรื่องอัตลักษณ์ "มาลายูมุสลิม" ของภาคประชาชนไทยบางส่วน) หรือ มีการตั้งคำถามเกี่ยวกับความชอบธรรมของสิทธิในการได้รับสัญชาติพม่าของประชาชนโรฮิงยาส์ในบางครั้ง


 


ส่วนหนึ่งเป็นเพราะความเป็น "สากลนิยม" (internationalist) ในขบวนการประชาธิปไตยในพม่ายังเป็นเรื่องที่ต้องผลักดันกันอย่างต่อเนื่อง เพราะในหมู่นักกิจกรรมและนักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยเรื่องพม่าในไทย ยังได้มีการผลักดันและเรียกร้องว่าประชาชนพม่าที่เข้ามาในประเทศไทยเป็นระยะเวลายาวนานระดับหนึ่งควรจะได้รับสัญชาติไทย[9] แต่ใยเมื่อกลับไปพูดถึงสิทธิของชาวโรฮิงยาส์แล้ว ยังมีการตั้งคำถามของสิทธิการได้สัญชาติพม่าของชาวโรฮิงยาส์ด้วยเหล่า ถ้าเราเข้าใจตรงกันว่าสิทธิของมนุษย์ทุกคนควรจะได้รับการคุ้มครองเหมือนกัน โดยไม่มีการเลือกปฎิบัติใด ๆ ทั้งสิ้น


 


ในส่วนของภาคประชาชนไทย การรับรู้เรื่องเกี่ยวกับชาวโรฮิงยาส์ยังอยู่ในระดับที่น้อยมาก แต่อย่างไรก็ดี ประเด็นนี้ควรจะเป็นประเด็นหนึ่งที่ได้รับการศึกษาเพิ่มเติ่ม เพราะภาคประชาชนไทยที่ทำงานกับองค์กรประชาธิปไตยพม่าจะมีบทบาทสำคัญในการผลักดันเรื่องสิทธิของชาวโรฮิงยาส์เข้าไปในการถกเถียงกับองค์กรพม่าด้วย ซึ่งผู้เขียนมีความหวังว่ารายงานนี้จะมีส่วนสำคัญในการจุดประกายในการถกเถียงเพิ่มเติ่มไม่มากก็น้อย


 


 


เว็บไซต์โครงการหมอไร้พรมแดน (Medical San Frontier)


http://www.msf.org.hk/publication/Bang/2.htm


 

 





[1] ขอขอบคุณ อดิศร เกิดมงคล อดีตเจ้าหน้าที่คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตยในพม่าในการให้ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับบทความนี้



[2] ดู Living in Limbo: Burmese Rohingyas in Malaysia รายงานประจำปี ค.ศ. 2000 เกี่ยวกับสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศมาเลเซีย ขององค์กร Human Rights Watch; http://www.hrw.org/reports/2000/malaysia/



[3] ชาวโรฮิงยาส์ไม่ได้พูดภาษามาลายูหรือภาษายาวีตามที่นักข่าวไทยบางสำนักซึ่งทำข่าวเรื่องโรฮิงยาส์อ้าง แต่พูดภาษาชิตตาโกเนี่ยน (Chittagonian) ซึ่งเป็นภาษาคล้ายกับภาษาในพื้นที่ Chittagong ในประเทศบังกลาเทศ



[4] ดู Myanmar - The Rohingya Minority: Fundamental Rights Denied รายงานของสำนักงานใหญ่ องค์กรนิรโทษกรรมสากล ประจำกรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร http://web.amnesty.org/library/Index/ENGASA160052004



[5] ดูรายละเอียดสั้น ๆ เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และภาษาที่เกี่ยวกับชาวโรฮิงยาส์ได้ที่ http://en.wikipedia.org/wiki/Rohingya



[6] ดูรายงาน The Rohingya Minority: Fundamental Rights Denied



[7] ดู Bangladesh to boot Burmese refugees from Camp ใน Democratic Voice of Burma (วันที่ 8 มีนาคม 2550)



[8] จากการพูดคุยกับผู้ปฎิบัติงานขององค์กรที่ให้การช่วยเหลือชาวโรฮิงยาส์ ในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2549



[9] เป็นข้อเสนอที่ได้รับมาจากอนุสัญญาว่าด้วยการส่งเสริมการลดบุคคลไร้สัญชาติของสหประชาชาติ (Convention on the Reduction of Stateless) โดยที่มีการเรียกร้องว่ารัฐจะต้องให้สัญชาติกับบุคคลที่เกิดในพื้นที่ของรัฐโดยไม่มีข้อแม้ใด ๆ หรือ มีข้อเรียกร้องขอสัญชาติหลังจากอยู่ในรัฐ ๆ นั้นเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 10 ปี ดูข้อมูลจากสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ - http://www.ohchr.org/english/law/statelessness.htm

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net