Skip to main content
sharethis


 


ประชาไท - 15 มี.ค. 50 เครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อน สมัชชาคนจน จำนวน 150 คน นำโดยนายสมัย หงส์คำ แกนนำสมัชชาคนจนกรณีเขื่อนราศีไศล เดินทางมาที่หน้าทำเนียบรัฐบาลเพื่อยื่นจดหมายเปิดผนึกถึง พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี เนื่องในวันหยุดเขื่อนโลก


 


นายสมัยกล่าวว่า ที่ผ่านมารัฐบาลไม่เคยรับฟังความคิดเห็นชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อน ทั้งก่อนและหลังการดำเนินโครงการก่อสร้าง ทางสมัชชาคนจนจึงเดินทางมาเนื่องในวันหยุดเขื่อนโลก เพื่อขอเรียกร้องให้รัฐบาลทบทวนและยุตินโยบายที่ผลักดันการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ และส่งเสริมการจัดการน้ำขนาดเล็กตามภูมิปัญญาท้องถิ่น ทั้งนี้ขอให้มีการรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นกับผู้ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อน และฟื้นฟูวิถีชีวิตชุมชนและทรัพยากรธรรมชาติจากโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ดังกล่าว  


 


สมาชิกกลุ่มสมัชชาคนจนจำนวน 4 คน แสดงละครการเมืองที่หน้าทำเนียบรัฐบาล โดยตัวละคร 3 ตัวมีป้ายแขวนคอเขียนคำว่าคนจน ซึ่งถูกผ้ามัดมือและมัดปาก ส่วนตัวละครที่เหลือ มีป้ายแขวนคอเขียนคำว่ารัฐบาล จากนั้นมีการแสดงละครให้เห็นว่า รัฐบาลเหยียบและกระทืบคนจนซึ่งถูกมัดมือมัดปากโดยไม่มีทางสู้ นอกจากนั้น มีการชูป้ายผ้าซึ่งมีขนาดยาวมีข้อความว่า 14 มีนา วันหยุดเขื่อนโลก และข้อความ "เอาเขื่อนคืนไป เอาธรรมชาติคืนมา"


 


หลังจากนั้นตัวแทนสมัชชาคนจนอ่านจดหมายเปิดผนึกซึ่งมีใจความว่า การสร้างเขื่อนซึ่งเสมือนเป็นสัญลักษณ์ของการพัฒนา แต่กลับสร้างปัญหาต่อวิถีชีวิตชุมชนและทรัพยากรธรรมชาติอย่างมาก ซึ่งมีการประเมินจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) แล้วว่า เขื่อนบางแห่ง เช่นเขื่อนปากมูลและเขื่อนแก่งเสือเต้น ส่งผลกระทบไม่คุ้มค่าต่อการลงทุน ทั้งนี้คนจนจำนวนมากต้องอพยพจากถิ่นฐานเพื่อหางานทำ อันเนื่องมาจากทรัพยากรธรรมชาติถูกทำลาย เพราะการสร้างเขื่อน จึงขอให้ทบทวนและยุติรวมทั้งรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น


 


 


000


 


 


จดหมายเปิดผนึก


เครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อน สมัชชาคนจน


14 มีนาคม 2550 ณ หน้าทำเนียบรัฐบาล


 


ตลอด 5 ทศวรรษ ที่ผ่านมา ดูเหมือนว่า เขื่อนเป็นเสมือนสัญลักษณ์ของการพัฒนา เขื่อนคือยาวิเศษขนานเดียวสำหรับแก้ปัญหา น้ำท่วม ภัยแล้ง และขาดแคลนพลังงาน ที่รัฐบาลทุกยุคทุกสมัยคิดได้ เป็นที่มาของถนนดี น้ำไหล ไฟสว่าง แต่ต้นทุนที่ต้องแลกมากับการสร้างเขื่อนถูกปกปิดไว้อย่างมิดชิดตลอดมา พวกเรา ชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการสร้างเขื่อนจากทั่วประเทศ ที่มารวมตัวกันในวันนี้ เพื่อประกาศให้รัฐบาลและสาธารณชน ได้รับรู้ความจริงที่พวกเราใช้ชีวิต ครอบครัวและชุมชน พิสูจน์ จนเห็นสัจธรรมว่าเขื่อนไม่ใช่ทางเลือกในการจัดการน้ำ และผลิตพลังงาน อย่างที่พวกเราเคยได้รับฟังการโฆษณาชวนเชื่อ แต่เขื่อนกับเป็นเหตุแห่งเภทภัยที่เกิดกับกับ วิถีชีวิต ชุมชนและทรัพยากรของพวกเราจนยากที่จะเยียวยา


 


บทเรียนการจัดการน้ำในลุ่มน้ำลุ่มน้ำเจ้าพระยา และลุ่มน้ำมูน สะท้อนความล้มเหลวของเขื่อนได้เป็นอย่างดีตลอด 10 กว่าปีที่ผ่านมาปัญหาน้ำท่วม และภัยแล้งในลุ่มน้ำดังกล่าวนับวันจะทวีความรุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคอีสาน เขื่อนของโครงการ โขง ชี มูล ที่กั้นแม่น้ำมูน แม่น้ำชี และลำน้ำสาขาไว้เป็นตอนๆ ต่อกันเป็นขั้นบันได กลับเป็นจำเลยสำคัญของชาวบ้าน ในข้อหาว่าเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วม จนชาวบ้านต้องเคลื่อนไหวเรียกร้องให้เปิดประตูน้ำเขื่อนของโครงการโขง ชี มูล


 


ส่วนด้านพลังงาน เขื่อนปากมูล จ.อุบลราชธานี ซึ่งเป็นเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้าตัวล่าสุดของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯใช้งบประมาณ ลงทุนกว่า 7,000 ล้านบาท แต่จากรายงานการประเมินความคุ้มค่าของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ในนามของกรรมาธิการเขื่อนโลก ชี้ชัดว่าเขื่อนปากมูลไม่คุ้มค่าต่อการลงทุน ทำให้ผู้มีส่วนได้เสียทั้งหมดของโครงการเป็นผู้เสียประโยชน์ รวมทั้งเจ้าของโครงการคือการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ ก็กลายเป็นผู้เสียประโยชน์ไปด้วย



ในสถานการณ์ที่เขื่อนเริ่มถูกตั้งคำถาม ถึงประสิทธิภาพที่แท้จริง และความคุ้มค่าต่อการลงทุน ภาพด้านลบของเขื่อนที่เกิดกับทรัพยากรธรรมชาติ และความเดือดร้อนของชาวบ้านนับวันจะทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น การสูญเสียพันธุ์ปลากว่า 100 ชนิดจากการสร้างเขื่อนปากมูล การสูญเสียพื้นที่บุ่งทามกว่า 100,000 ไร่ จากการสร้างเขื่อนราษีไศล ปัญหาการแพร่กระจายของดินเค็ม และปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากจากโครงการ โขง ชี มูล ปรากฏให้เห็นผ่านกระบวนการเคลื่อนไหวของชาวบ้าน ผ่านสื่อมวลชนและรายงานการศึกษาของนักวิชาการหลายสำนักอย่างต่อเนื่อง


 


ที่สำคัญเขื่อนทำให้พวกเราต้องถูกอพยพจากถิ่นฐาน สูญเสียที่ดินทำกิน พื้นที่ป่าไม้ และสูญเสียอาชีพที่พึ่งพิงกับทรัพยากรธรรมชาติ ทั้งอาชีพประมงและการพึ่งพาอาศัยทรัพยากรจากป่า การเก็บหาของป่า ซึ่งเป็นฐานเศรษฐกิจของชาวบ้านและชุมชน ซุปเปอร์มาเก็ตของคนจนถูกทำลายไปจากการสร้างเขื่อน ฐานทรัพยากรของชาวบ้านและชุมชยถูทำลายไป นำพามาซึ่งความยากจน เขื่อนจึงเป็นต้นเหตุที่รัฐทำให้พวกเรากลายเป็นคนจน ทำให้ครอบครัวและชุมชนของพวกเราล่มสลายอย่างปฏิเสธไม่ได้ ภาพลักษณ์ของเขื่อน ที่ถูกสร้างว่าเป็นการสร้างความเจริญทางเศรษฐกิจจึงต้องถูกตรวจสอบ


 


ความเดือดร้อนของพวกเรานั้น เริ่มตั้งแต่หน่วยงานเจ้าของโครงการเริ่มศึกษาโครงการ พวกเราก็จะต้องถูกจำกัดการพัฒนาด้านสาธารณูปโภคพื้นฐาน โดยทางราชการจะอ้างว่าหากสร้างเขื่อนแล้วสาธารณูปโภคที่ลงทุนไปจะเสียหายการลงทุนจะสูญเปล่า นอกจากนั้นทางราชการมักอ้างกฎหมายที่ดิน กฎหมายป่าไม้ และกฎหมายเกี่ยวกับสัญชาติ มาจัดการกับชาวบ้านที่คัดค้าน ใช้กำลังตำรวจ ทหาร ข่มขู่คุกคามชาวบ้านที่คัดค้านเขื่อน เป็นต้น


 


กระบวนการตัดสินใจที่ไม่โปร่งใสและแก้ไขปัญหาที่ไม่เป็นธรรม เป็นปัญหาสำคัญของการสร้างเขื่อนเสมอมา ผู้ได้รับผลกระทบถูกบังคับให้ต้องเสียสละเพื่อการพัฒนา โดยเฉพาะเขื่อนขนาดใหญ่ส่วนมากจะสร้างขึ้นได้ในยุคเผด็จการที่ชาวบ้านไม่อาจขัดขืนอำนาจรัฐได้


 


แม้ปัจจุบันจะมีกระบวนการตัดสินใจที่รัดกุมมากขึ้น แต่กรมชลประทานก็ยังหลีกเลี่ยง เช่น เขื่อนแก่งเสือเต้น ปัจจุบันทั้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ อธิบดีกรมชลประทาน พยายามผลักดันโครงการ ทั้งที่ รายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมฯไม่ผ่านการเห็นชอบจากคณะผู้ชำนาญการ ตามขั้นตอนของกฎหมาย อีกทั้งการศึกษาของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ได้ชี้ชัดแล้ว่า โครงการเขื่อนแก่งเสือเต้นไม่คุ้มทุน


 


ความล้มเหลวจากการสร้างเขื่อน ที่เกิดขึ้นไม่ใช่เพียงพวกเราเท่านั้นที่เป็นผู้เสียหาย แต่งบประมาณจำนวนมหาศาลที่ต้องทุ่มลงไปคือสมบัติของทุกคนในชาติ ในฐานะเจ้าของทรัพยากรธรรมชาติและเจ้าของงบประมาณแผ่นดิน พวกเราขอยืนยันว่าชีวิตของคนที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนไม่มีใครมีความเป็นอยู่ที่ดีกว่าเดิม และการเสียสละของพวกเราก็ไม่ได้ประโยชน์ที่แท้จริงของคนในชาติอย่างที่รัฐบาลกล่าวอ้าง ดังนั้น ในวาระวันหยุดเขื่อนโลก พวกเราจึงต้องการให้รัฐบาลดำเนินการดังต่อไปนี้


 


1.ทบทวนนโยบายการจัดการน้ำที่มุ่งเน้นการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ ยุตินโยบายการผลักดันการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ และส่งเสริมการจัดการน้ำขนาดเล็กตามภูมิปัญญาท้องถิ่น


 


2.รับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นกับผู้ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อน


 


3.ร่วมกับพวกเราในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชุมชน และทรัพยากรธรรมชาติที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อน


 


 


ขอแสดงความนับถือ


เครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อน สมัชชาคนจน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net