Skip to main content
sharethis

ประชาไท - 15 มี.ค. 50 นายเสรี  สุวรรณภานนท์ รองประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) คนที่ 1 กล่าวถึงกรณีที่พล.อ.วินัย ภัททิยกุล เลขาธิการคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.)  ระบุว่า หากร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ไม่ผ่านการทำประชามติ จะนำรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 มาปรับปรุงเพื่อใช้ในการเลือกตั้งว่า การยกร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้ โดยหลักจะต้องนำรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 มาเปรียบเทียบว่ามีความแตกต่างอย่างไร การเสนอความเห็นของเลขาธิการคมช. เป็นกระบวนการที่คมช.และรัฐบาลจะต้องรับผิดชอบ


 


ทั้งนี้ กระบวนการนี้ คงเป็นการเตรียมการของเลขาธิการคมช.ไม่ได้หมายความว่าส.ส.ร.จะต้องมีส่วนผูกพันหรือมีส่วนเกี่ยวข้องสภาร่างรัฐธรรมนูญมีหน้าที่ยกร่างรัฐธรรมนูญให้สมบรูณ์และมีประโยชน์กับบ้านเมืองและประชาชนมากที่สุด ส่วนประชาชนจะออกเสียงเห็นชอบหรือไม่ อยู่ที่ดุลยพินิจของประชาชน


 


ผู้สื่อข่าวถามว่า การแสดงความเห็นของคมช.เช่นนี้ จะทำให้การประชามติรัฐธรรมนูญทำได้ยากขึ้นหรือไม่ เพราะประชาชนอาจรู้สึกว่ารัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 เป็นรัฐธรรมนูญที่ดีอยู่แล้ว


 


นายเสรี  กล่าวว่า เรื่องนี้อยู่ที่ประชาชนจะตัดสินใจ โดยในกระบวนการดังกล่าว อาจะทำให้ประชาชนเปรียบเทียบในเบื้องต้นว่า หากจะเลือกร่างรัฐธรรมนูญที่จะเกิดขึ้นมี 2 ทาง คือ ร่างรัฐธรรมนูญที่กำลังยกร่าง และร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่านกระบวนการของคมช.และรัฐบาลเป็นผู้รับผิดชอบ ดังนั้นเรื่องดังกล่าวจะให้สาธารณชนทราบและตัดสินใจในเบื้องต้นว่า ต้องการรัฐธรรมนูญอย่างไร เป็นดุลยพินิจของคมช.


 


"การเตรียมการไว้ล่วงหน้าไม่มีข้อเสียหายอะไร เพียงแต่หากเปิดเผยออกมาอาจถูกมองว่าเป็นการชี้นำการจะทำอะไรแล้วเตรียมการไว้ก่อน ดีกว่าไปดำเนินการในภายหลังตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ. 2549 คมช.และรัฐบาลมีเวลา 30 วันในการนำรัฐธรรมนูญเก่ามาปรับปรุง ซึ่งเวลาอาจจะน้อยเกินไป


ดังนั้น หากมีเวลาที่สามารถทำอะไรไว้ก่อน ก็สามารถทำได้ เพียงแต่ไม่ควรเปิดเผยเพราะจะเป็นการชี้นำ"รองประธานส.ส.ร.กล่าว


 


ทั้งนี้  รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 เป็นรัฐธรรมนูญที่ได้รับการยอมรับว่า มีระบบการตรวจสอบที่เชื่อมโยงของแต่ละหน่วยงานและแต่ละองค์กรเป็นรัฐธรรมนูญที่มีกระบวนการที่รัฐธรรมนูญฉบับก่อนๆ ไม่มี โดยมุ่งที่จะให้มีการปฏิรูปการเมืองให้ดีขึ้น ดังนั้นการนำรัฐธรรมนูญนี้มาใช้แล้วเกิดปัญหาขึ้นจึงจำเป็นต้องกลับมาทบทวนว่า การใช้รัฐธรรมนูญมา 10 ปีเกิดอะไรขึ้นบ้างโดยนำผลเทียบเคียงนี้มาปรับปรุงรัฐธรรมนูญให้สอดคล้องกับสถานการณ์บ้างเมืองในปัจจุบัน


 


ผู้สื่อข่าวถามถึงกระแสความไม่ลงรอยของสมาชิกสสร.ที่เริ่มมีการแสดงความเห็นไม่ตรงกัน นายเสรี กล่าวว่า การทำงานทั่วไปหากยอมรับในกติกาว่า การทำงานต้องมีประสิทธิภาพและมีผลลัพธ์ที่ออกมาเป็นที่พึงพอใจร่วมกัน แต่เมื่อช่วงเวลาผ่านไปอาจมีข้อขัดข้องในการทำงานตนเห็นว่าเป็นสิ่งที่ดีที่จะกลับมาทบทวนในสิ่งเหล่านี้เพื่อปรับปรุงแก้ไขให้ดีขึ้น ส.ส.ร.ยอมรับความเป็นจริงโดยหากมีปัญหาจะช่วยกันแก้ไขและฟังความคิดเห็นซึ่งเป็นทิศทางที่ถูกต้อง


 


ผู้สื่อข่าวถามว่า ควรทำความเข้าใจกับประชาชนหรือไม่ว่า หากไม่รับร่างรัฐธรรมนูญจะได้รัฐธรรมนูญของคมช.นายเสรี กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นดาบสองคมและมองได้สองด้านเพราะหากเราให้ประชาชนเห็นร่างรัฐธรรมนูญก่อนแล้วเลือกระหว่างรัฐธรรมนูญสองฉบับก็ไม่จำเป็นต้องมีกระบวนการขั้นตอน


 


กระบวนการขั้นตอนได้สร้างไว้ว่าประชาชนจะต้องพิจารณารัฐธรรมนูญของสสร.ก่อนและหากประชาชนไม่เห็นชอบจึงไปที่ร่างของคมช.


 


กระบวนการขั้นตอนที่รัฐธรรมนูญวางไว้ได้กำหนดเป็นลำดับหากเรานำร่างรัฐธรรมนูญของคมช.มาพิจารณาก่อนจะไม่เป็นไปตามกระบวนการขั้นตอนและจะเกิดความขัดแย้ง


 


เมื่อถามว่าจากการทำงานที่ผ่านมายังถือว่าการร่างรัฐธรรมนูญเป็นไปตามแผนหรือไม่นายเสรี กล่าวว่าทุกอย่างยังคงเป็นไปตามแผนและมีความชัดเจนในกระบวนการที่กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญจะยกร่างแรกให้เสร็จภายในวันที่ 19 เมษายน 2550 โดยขณะนี้กระบวนการต่างๆ ได้ตกผลึกขึ้นเรื่อยๆส่วนระยะเวลายังอยู่ในกรอบที่กำหนดไว้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net