Skip to main content
sharethis


โดย วิทยากร บุญเรือง


 



 


เช่นเดียวกับเมื่อ 6 ปีที่แล้ว ในกรณีของกบฏไอทีวี คราวนี้พนักงานไอทีวีทั้งหมดต้องตกระกำลำบากแบกภาระความซวย เนื่องความผันผวนของอำนาจชนชั้นนำ


 


ถ้ามองตาม "มายาคติของฐานันดรที่ 4" แล้ว ครั้งนี้พนักงานที่ออกมาเรียกร้องไม่ให้ตนตกงานนั้นเรียกว่ารูปมวยเทียบที่จะเปรียบไม่ได้กับเหล่ากบฏไอทีวีเมื่อ 6 ปีก่อน พูดตรงๆ คือ มันเหมือนเป็นการดิ้นเฮือกสุดท้ายของคนที่ทำมาหากินกับวิชาชีพการสื่อสารเท่านั้น


 


แต่ลองมองอีกมุมหนึ่ง ความกล้าหาญชาญชัยของพนักงานไอทีวี ที่กล้าออกมาพูดตรงๆ เรื่อง ผ่อนบ้าน ผ่อนรถ และผลประโยชน์ส่วนตนต่างๆ นั้น  ถ้าหากลองแยกประเด็นออกจาก "มายาคติของฐานันดรที่ 4" หันมามองแบบ "การต่อสู้ของผู้ไร้ปัจจัยการผลิต" ด้านหนึ่งเราจะเห็นความสำคัญของสหภาพแรงงาน ที่ส่วนใหญ่พนักงานคอปกขาวมักจะละเลยกันไป ซึ่งประเด็นที่มีการพูดถึงกันไม่มากเท่าไหร่ นั่นก็คือการต่อสู้ภายในกรอบสหภาพแรงงาน ไอทีวีก็มีสหภาพแรงงานนะครับ! และถ้าไม่มีสหภาพแรงงานที่ไอทีวีแห่งนี้ ก็ไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น!


 


สหภาพแรงงานในความหมายที่รัฐทุนนิยมต้องการให้เป็น มันก็จะเป็นดังเช่นที่ว่า เป็นการรวมกลุ่มกันเพื่อหาตัวแทนของพนักงาน ในการเจรจาต่อรองกับนายจ้างให้พนักงานได้รับประโยชน์ ในเรื่องเกี่ยวกับสภาพการจ้าง การเรียกร้องค่าจ้าง สวัสดิการมากขึ้น ชั่วโมงการทำงานลดลง สภาพการทำงาน และสิ่งแวดล้อมในการทำงาน ได้รับการปรับปรุง คุณภาพชีวิตดีขึ้น เป็นต้น --- เป็นเหมือนการผ่อนคลายไม่ให้แรงงานลุกขึ้นมาสู้แบบจริงๆ จังๆ กับทั้งระบบ ให้หมกมุ่นอยู่กับเรื่องการต่อรองทางด้านปากท้องของกลุ่มคนในสถานประกอบการแห่งหนึ่งๆ เท่านั้น


 


แต่ในความหมายที่มันไกลไปกว่าเรื่องการต่อรองเรื่องปากท้องให้กับพนักงานในแห่งหนสถานประกอบการนั้นเพียงอย่างเดียว คือ การมีสหภาพแรงงานนั้น สามารถเป็นฐานของการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองของแรงงานส่วนใหญ่ การกดดันให้รัฐออกกฎหมายเกี่ยวกับแรงงาน หรือแม้แต่การรวมพลังกันสนับสนุนพรรคการเมืองของแรงงานขึ้นมาเอง --- และที่สำคัญที่สุด ที่ผ่านมาในแต่ละมุมของโลก มวลชนจากสหภาพแรงงานคือกำลังหลักในการต่อสู้กับระบบทุนนิยม ร่วมกับภาคประชาชนอื่นๆ


 


"สหภาพแรงงานไอทีวี" นั้นถือว่าเป็นคุณูปการที่กบฏไอทีวีได้สร้างไว้ให้แก่เพื่อนๆ ที่ยังอยู่ (ถึงแม้จะเดินคนละแนวทางกัน ;-) โดยมี น.. อรพิน ลิลิตวิศิษฏ์วงศ์ เป็นประธานสหภาพคนแรก จดทะเบียนกับกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม เมื่อวันที่ 5 มกราคม 2544 ซึ่งครั้งนั้นเหมือนเป็นการตั้งขึ้นมาสู้เฉพาะกิจ กับการเข้ามาของบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น --- และจุดจบของการต่อสู้ครั้งประวัติศาสตร์นั้นคือ ความพ่ายแพ้ของฝ่ายนายจ้างที่ต้องเสียเงินค่าชดเชยไป 20 ล้านกว่าบาท


 


 







 


กรณีกบฏไอทีวีและสหภาพแรงงานไอทีวี


 


สั่นสะเทือนวงการสื่อมวลชนครั้งใหญ่อีกครั้งหนึ่ง เมื่อไอทีวีปลดฟ้าผ่าทีมข่าว 23 คน แม้จะไม่ได้อยู่เหนือความคาดหมาย แต่หลายคนก็คงไม่คาดคิดว่าผู้บริหารไอทีวีจะใช้มาตรการรุนแรงขนาดนี้ โดยเฉพาะวิธีการที่เรียกไปปลดออกแบบไม่ให้ตั้งตัว โดยไม่มีการแจ้งล่วงหน้า


           


เหตุการณ์ปลดฟ้าผ่าครั้งนี้ เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์  2544 ทีมข่าว 7 คนที่เป็นแกนนำเคลื่อนไหวต่อต้านการแทรกแซงการเสนอข่าวของ บริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น ผู้ถือหุ้นใหญ่ ไอทีวี ถูกเรียกไปพบหัวหน้าฝ่ายบุคคลด่วน เพื่อจะพูดคุยถึงปัญหาภายใน ประกอบด้วย นายวิศาล ดิลกวณิช ผู้ประกาศและผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ, .. กรุณา บัวคำศรี ผู้ประกาศและผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจต่างประเทศ, .. ภัทราพร สังข์พวงทอง ผู้สื่อข่าวการเมือง, .. ยุวดี เตชะไพบูลย์ โปรดิวเซอร์รายการข่าว, .. อังสนา เทศขยัน โปรดิวเซอร์ข่าว, นายปฏิวัติ วสิกชาติ บ..ข่าว, .. ณาตยา แวววีรคุปต์ ผู้สื่อข่าวสายสังคม


           


แต่เมื่อกลุ่มนักข่าวดังกล่าวไปพบฝ่ายบุคคลกลับได้รับแจ้งว่าบริษัทเลิกจ้างทุกคนแล้ว พร้อมกับยื่นซองขาวให้ เหตุผลที่บริษัทอ้างคือ ให้ข่าวอันเป็นเท็จกรณีความขัดแย้งในไอทีวี เมื่อครั้งออกแถลงการณ์ด้านการแทรกแซงงานข่าวของชินคอร์ป ส่งผลให้บริษัทเสื่อมเสียชื่อเสียง


           


ขณะเดียวกัน ก็มีประกาศปลดพนักงานอีก 16 คน ด้วยเหตุผลเพื่อลดกำลังคนบางส่วนและมีปัญหาทัศนคติในการทำงาน ไม่สามารถทำงานร่วมกันได้ ประกาศนี้ลงชื่อโดยกรรมการผู้จัดการ บริษัท ไอทีวี จำกัด


           


ผู้ถูกปลด 16 คน ประกอบด้วย นายเชิดชาย มากบำรุง บรรณาธิการข่าว, .. สุวรรณา อุยานันท์ บรรรณาธิการข่าวบันเทิง, นายภุชงค์ แดงประเสริฐ โปรดิวเซอร์รายการสี่แยกรัชโยธิน, .. แก้วตา ปริศวงศ์, .. อรพิน ลิลิตวิศิษฏ์วงศ์, .. ชมพูนุช คงมนต์, ..นงลักษณ์ สุขใจเจริญกิจ, นางสุดารัตน์ จูเจียน ผู้สื่อข่าวสายสังคม, ..สินีนาฏ คุปตภากร โปรดิวเซอร์ข่าวเศรษฐกิจ, นายสุพจน์ สุขสงฆ์ ผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ, ..สกุณฑรีย์ จรูญโรจน์ ผู้กำกับรายการ, .. สุภาลักษณ์ ตั้งขจิตศีล ผู้สื่อข่าวต่างประเทศ, นายสกลเดช ศิลาพงษ์ โปรดิวเซอร์รายการจับกระแสโลก, นายจรูญโรจน์  ทิวไผ่งาม ผู้สื่อข่าวสายอาชญากรรม, .. จีรชฎา ทองนาค ประสานงานออกอากาศ และนายสมมาตร คุโณปการ ทีมงานไอทีวีทั้งหมดถูกสั่งให้เก็บข้าวของทุกอย่างออกจากบริษัทภายในวันนั้นโดยที่ทุกคนไม่มีใครรู้และมีโอกาสได้เตรียมตัวล่วงหน้ามาก่อนเลย


           


ภายในวันเดียวกันนั้นเอง ตัวแทนกลุ่มนักข่าวที่ถูกปลด อทิ นายวิศาล, นายเชิดชาย, นายปฏิวัติ, .. อรพินร่วมกันแถลงข่าวที่สมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจชั้น 9 ตึกช้าง นายวิศาลเผยว่า พนักงานทั้ง 23 คนไม่มีใครเซ็นในหนังสือให้ออก และไม่ยอมรับเงินค่าชดเชยโดยเด็ดขาด เพราะพวกตนไม่มีความผิด


           


นายวิศาลระบุด้วยว่าจะร้องเรียนไปยังสมาคมที่เกี่ยวข้องกับการดูแลสิทธิสื่อมวลชนทุกสมาคมไม่ว่าจะเป็นสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ หรือสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย อีกทั้งจะฟ้องศาลแรงงาน ศาลแพ่ง  และฟ้องในข้อหาหมิ่นประมาทด้วย เพราข้อความในหนังสือที่ให้ออกนั้นทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียง


           


อรพิน ลิลิตวิศิษฎ์วงศ์ ในฐานะประธานสหภาพแรงงานไอทีวี หรือ ส... หนึ่งในนักข่าวไอทีวีที่ถูกปลด ให้สัมภาษณ์ มติชนสุดสัปดาห์ ถึงเรื่องที่เกิดขึ้นว่า สาเหตุที่บริษัทปลดพนักงานทั้ง 23 คน ส่วนหนึ่งมาจากการออกมาเคลื่อนไหวต่อต้านชินคอร์ปที่แทรกแซงงานข่าว แต่อีกสาเหตุหนึ่งที่สำคัญมาก มาจากการร่วมกันตั้งสหภาพแรงงานไอทีวี


           


สิ่งที่ชี้ให้เห็นชัดคือ พนักงานที่ถูกปลด 22 คน จากทั้งหมด 23 คน เป็นสมาชิกสหภาพผู้ดำรงตำแหน่งประธาน รองประธาน 2 คน เลขานุการ เหรัญญิกและกรรมการ ถูกปลดออกหมด ทั้งที่บางคนไม่ได้เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวด้านการแทรกแซงงานข่าวเลย น.. อรพินระบุว่า ก่อนหน้าที่ผู้บริหารบริษัทพยายามล้มสหภาพมาตลอด โดยใช้วิธีการต่างๆ นานา นับแต่เริ่มจดทะเบียนกับกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม เมื่อวันที่ 5 มกราคม 2544 ที่ผ่านมา


           


หลังจากจดทะเบียนแล้ว เราก็ไปแจ้งกับนายจ้างในที่ประชุม ในฐานะผู้บริหารว่าพวกเรามีสหภาพแล้วนะ นายจ้างบอกว่าเป็นสิทธิของพวกคุณที่ทำได้ แต่ชินคอร์ปมีพนักงานตั้ง 5,000- 6,000 คน ไม่เห็นต้องมีสหภาพเขาก็ยังอยู่กันได้


           


ประธานสหภาพไอทีวี เล่าต่อว่า หลังจากนั้นอีก 2 วัน นายจ้างฝากผ่าน นายอัชญา สุวรรณปากแพรก ผู้อำนวยการสถานีไอทีวีให้มาบอก นายปฏิวัติ วสิกชาติ บรรณาธิการข่าวและเลขานุการสหภาพ ว่าให้ยุบสหภาพ ถ้าไม่ยุบต่อไปจะมีปัญหาแน่ หลังจากนั้นผู้บริหารก็มีความพยายามอีกหลายครั้งที่จะล้มสหภาพให้ได้ เช่น โทรศัพท์มาหาสมาชิกสหภาพ บอกให้ลาออก แต่หนักที่สุดคือ การปล่อยข่าวในกลุ่มพนักงานฝ่ายผลิตและฝ่ายรายการว่าในปี 2543 ไอทีวีจะให้โบนัส 1 เดือน แต่ใครที่ไปสมัครเป็นสมาชิกสหภาพจะไม่ได้โบนัส จนหลายคนหวาดผวาไม่กล้าสมัครเป็นสมาชิก


           


แต่กลุ่มสหภาพก็พยายามหาสมาชิกเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนได้เป็น 50 กว่าคน จากตอนเริ่มจดทะเบียนแค่ 14 คน แต่ยังถือว่าน้อยเมื่อเทียบกับพนักงานทั้งหมด 816 คน เพราะส่วนใหญ่ยังกลัวผู้บริหารและกลัวจะไม่ได้โบนัส จึงแบ่งรับแบ่งสู้ว่าให้สถานการณ์ภายในคลี่คลายก่อนถึงจะสมัคร


           


กระทั่งเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา มีการประชุมใหญ่เลือกตั้งกรรมการสหภาพแรงงานไอทีวี ได้ประธานและกรรมการตำแหน่งอื่นๆ รวม 15 คน ถือเป็นการตั้งสหภาพสมบูรณ์เต็มรูปแบบ จากนั้นเพียง 2 วัน คือวันที่ 7 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา จึงมีคำสั่งปลดพนักงาน 23 คน เกือบทุกคนเป็นสมาชิกสหภาพ


           


"เหตุผลหนึ่งที่ผู้บริหารกลัวสหภาพคงเป็นเพราะกลัวว่าสหภาพจะใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ และต่อไปพนักงานชินคอร์ปอีก 5000-6000 คนอาจจะเข้าร่วมเป็นสมาชิกด้วยก็ได้เพราะอยู่ในเครือเดียวกัน ตอนที่จัดงานปีใหม่พนักงานชินคอร์ปก็ติดประกาศเชิญพนักงานไอทีวีไปร่วม โดยเขียนในประกาศว่าในฐานะเพื่อนร่วมงานเครือเดียวกัน"


           


"บริษัทคงกลัวว่า ถ้าสหภาพใหญ่มากๆ และจะมีอำนาจต่อรองสูง ทำให้บริษัทอาจต้องสูญเสียผลประโยชน์บางอย่างไป"


           


เมื่อถามถึงความจำเป็นขององค์กรสื่อที่ต้องมีสหภาพ น.ส.อรพินกล่าวว่า สื่อมวลชนควรมีการตั้งสหภาพในองค์กรตัวเองเป็นอย่างยิ่ง เพราะสื่อทำงานที่เกี่ยวข้องกับการเรียกร้องความเป็นธรรมให้ประชาชนและสังคม มีบทบาทสูงในสังคม ดังนั้นควรต้องปกป้องสิทธิผลประโยชน์และความเป็นธรรมให้ตัวเอง เพื่อจะได้เป็นแบบอย่างที่ดีและเพิ่มความน่าเชื่อถือจากประชาชน ไม่ใช่ว่าเป็นปากเป็นเสียงให้คนอื่น แต่ตัวเองกลับถูกเอารัดเอาเปรียบจากนายจ้าง


           


หากนายจ้างให้ความร่วมมือก็จะเกิดผลดีอย่างยิ่ง ไม่มีใครได้เปรียบเสียเปรียบ เพราะทั้ง 2 ฝ่ายสามารถพูดคุยและต่อรองกันได้บนพื้นฐานของความถูกต้อง จะทำให้ทำงานด้วยกันอย่างราบรื่น การนำเสนอข่าวสารต่อประชาชนก็ทำได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย


           


"สหภาพไอทีวีเราคิดจะทำกันมาตั้งนานแล้ว ก่อนที่จะมีเรื่องเสียอีก เริ่มแรกความคิดเกิดจากโต๊ะข่าวสังคมที่ได้ทำข่าวเรื่องแรงงานและสหภาพต่างๆอยู่บ่อยๆ จึงคิดว่าไอทีวีก็น่ามีสหภาพบ้าง เราควรเป็นตัวอย่างให้ที่อื่น ที่สำคัญยังมีระเบียบบริษัทหลายอย่างที่ไม่เป็นธรรมกับพนักงาน เช่น เบี้ยเลี้ยงวันหยุด หรือ โอที กองทุนสำรองเลี้ยงชีพของไอทีวีก็ไม่มีทั้งที่ตั้งมา 5 ปีแล้ว บริษัทอื่นๆ เขามีกันหมด โบนัสก็ไม่เคยได้ เพิ่งได้เมื่อปีที่แล้วเป็นปีแรก แต่ก็เป็นแบบแปลกๆ เพราะปล่อยข่าวใช้โบนัสเป็นเครื่องมือกันไม่ให้พนักงานเข้าเป็นสมาชิกสหภาพ จนมาปลายปีที่แล้ว พอชินคอร์ปเข้ามาในไอทีวี ก็มาปลดพนักงานชุดใหญ่ประมาณ 80-100 คน ถูกลอยแพกันดื้อๆ พวกเราเลยมาคิดว่าสถานการณ์เริ่มไม่มั่นคงแล้ว ถึงเวลาที่ต้องมีสหภาพแล้ว ก็เลยไม่จดทะเบียนตอนต้นปีนี้ อยากให้สื่ออื่นๆ ลุกขึ้นมาเห็นความสำคัญของการมีสหภาพ ควรช่วยกันจัดตั้งขึ้นทุกองค์กร เพื่อเป็นปากเป็นเสียงให้พวกเรา โดยเฉพาะผู้บริหารอยากขอให้เห็นความสำคัญ ไม่ควรขัดขวาง ทุกวันนี้ต่างประเทศให้ความสำคัญกันมาก มีเกือบทุกบริษัท แต่ของไทยยังไม่เห็นความสำคัญอะไรเลย หลายปีก่อน ช่อง 9 ก็เคยตั้งสหภาพ แต่คนที่ตั้งโดนปลดออกหมด ก่อนนี้เดอะเนชั่นก็พยายามตั้งสหภาพ แต่เจ้าของใช้วิธียุบบริษัทแล้วเลิกจ้างไปเลย ตอนนี้ก็มีแต่ที่บางกอกโพสต์ที่มีสหภาพ แต่ไม่ค่อยมีบทบาทมากนัก"


           


น.ส. อรพินระบุว่า แนวทางต่อไปสำหรับพนักงานไอทีวีที่เป็นสมาชิกสหภาพที่ปลดนั้น จะยื่นฟ้องศาลแรงงานและร้องเรียนไปยังโครงการรณรงค์เพื่อแรงงาน ขอให้พิจารณาให้ทุกคนได้กลับไปทำงานที่ไอทีวีตามเดิม เพราะถือว่าบริษัททำผิด พ.ร.บ. แรงงานสัมพันธ์ ปี 2518 หมวด 9 ที่ระบุว่าห้ามนายจ้างขัดขวาง หรือแทรกแซงการตั้งสหภาพขแงพนักงาน รวมทั้งห้ามใช้วิธีเลิกจ้างกลุ่มผู้ตั้งสหภาพ เข้าข่ายผิดกฎหมายหมาตรา 121 และมาตรา 45


           


ประธานสหภาพแรงงานไอทีวีย้ำว่า พนักงานที่ถูกปลดทั้ง 23 คนจะเดินหน้าเรียกร้องความเป็นธรรม ไม่ยอมจำนนและก้มหัวให้นายทุนอย่างเด็ดขาด เพื่อสร้างบรรทัดฐานในการทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมาของสื่อมวลชน


 


ที่มา : มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับประจำวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2544 หน้า 69-70


 


 


 


ส่วนบทบาทการต่อสู้ของพนักงานไอทีวีครั้งล่าสุด นอกจากทัพหน้าที่ปลุกระดมมวลชนอยู่หน้าห้องส่ง , การใช้ทรัพยากรที่อยู่ในมือทำรายการ "ร่วมด้วยช่วยพนักงานไอทีวี (เฉพาะกิจ;-)" หรือ การเล่ารำลึกความหลังคุณงามความดีของสถานีโทรทัศน์แห่งนี้


 


อีกทัพหนึ่งที่นำโดยสหภาพแรงงานไอทีวียุคปัจจุบัน ก็ได้ส่ง จตุรงค์ สุขเอียด ประธานสหภาพแรงงานไอทีวี ไปยื่นคำร้องต่อศาลปกครองกลางเพื่อขอความคุ้มครองชั่วคราว  นอกจากนี้ก็ยังอาจมีการเตรียมต่อสู้ด้านกลไกกฎหมาย โดยเฉพาะตามกรอบ พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 ที่ยังมีศาลแรงงานกลางรองรับไว้อีกไม้หนึ่ง ซึ่งหลายคงก็คงเก็งกันไว้แล้วว่ายังไงพนักงานไอทีวีต้องรอด (อาจจะเป็นเรื่องของค่าชดเชยต่างๆ) เพราะประเทศไทยมีกฎหมายเกี่ยวกับแรงงานเพื่อคุ้มครองแรงงาน และที่ไอทีวีมีสหภาพแรงงานเอาไว้สู้เรื่องนี้โดยเฉพาะ --- ยิ่งเป็นแรงงานที่มีสื่ออยู่ในมือแบบนี้ ถ้าไม่รอดก็ไม่รู้ว่าจะว่ายังไงแล้ว ;-)


 


สำหรับเกมการต่อสู้ของสหภาพแรงงานไอทีวีที่ผ่านมา เราอาจจะมองเห็นได้ว่ามันก็เป็นเพียงแค่การสู้ในเกมแบบประนีประนอมเท่านั้น ใครจะล้มก็ล้มไป ขอให้พวกกูเหล่าพนักงานเปลี่ยนถ่ายไปที่ใหม่ มีสวัสดิการรองรับ หรือให้บอบช้ำน้อยที่สุด --- แค่นี้พอ


 


แต่การมีสหภาพแรงงานของไอทีวีก็เหมือนมีรูเล็กๆ รูหนึ่งที่ชี้ให้เห็นถึงโอกาส ที่เราเฝ้าฝันกันมานานแสนนาน นั่นคือสิ่งที่เรียกว่า "สถาบันสื่อเสรี" เพราะถ้าสหภาพแรงงานแห่งนี้ หรือสหภาพแรงงานของสื่อช่องอื่นๆ เข้มแข็ง (ยกเว้นช่องของทหาร ;-) นั่นแหละจะเป็นหนทางที่ภาคประชาชนสามารถเข้าไปทำอะไรกับสื่อได้มากกว่าที่เป็นอยู่ -- "ทีไอทีวี" จึงอาจจะเป็นดินแดนที่ท้าทายแห่งใหม่ของนักจัดตั้งสหภาพทั้งหลาย เพราะถ้าพวกคุณเข้าไปทำให้มันแข็งได้ ทำให้สหภาพแรงงานแห่งนั้นผสมผสานอุดมการณ์แห่งจรรยาบรรณสื่อและการต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมกันของสังคม มันจะกลายเป็นขบวนการที่สำคัญของภาคประชาชนขึ้นมาทันที


 


ซึ่งคงต้องลุ้นให้ รธน. ฉบับใหม่ยังคงโครงสร้างที่ให้อิสระกับสื่อมวลชน เช่นเดียวกับ รธน. ปี 2540 ในมาตรา 41 ที่ระบุว่า พนักงานหรือลูกจ้างของเอกชนที่ประกอบกิจการหนังสือพิมพ์ วิทยุกระจายเสียงหรือวิทยุโทรทัศน์ ย่อมมีเสรีภาพในการเสนอข่าวและความคิดเห็นภายใต้ข้อจำกัดตามรัฐธรรมนูญ โดยไม่ตกอยู่ภายใต้อาณัติของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐวิสาหกิจหรือเจ้าของกิจการนั้น แต่ต้องไม่ขัดต่อจรรยาบรรณ (แต่เมื่ออำนาจการร่างรัฐธรรมนูญ ดันอยู่ในมือเผด็จการแบบนี้ ก็คงต้องหนาวๆร้อนๆ กันบ้างแหละ สื่อทั้งหลาย ;-)


 


ถ้าหากเกิดขบวนการที่มีโครงสร้างสื่ออิสระผสานกับมวลชนของสหภาพแรงงานที่ต่อตรงได้กับมวลชนของภาคประชาชนภายนอกเกิดขึ้นมาจริงๆ ผมล่ะหวั่นใจแทนผู้ที่หวังจะครอบงำสื่อในอนาคตจริงๆ (อำนาจรัฐ,อำนาจทุน,อุดมการณ์ฝ่ายขวา) เราอาจได้เห็นสหภาพแรงงานและภาคประชาชนยึดกุมสื่อให้เป็นของเราเองได้ซักช่อง (ยังขอยืนยันเหมือนเดิมว่า ยกเว้นช่องของทหาร ;-) นำเสนออะไรที่มันท้ายทายโครงสร้างสังคมจริงๆ จังๆ --- เราอาจจะได้เห็นรายการเกาะติดม๊อบสมัชชาคนจน 24 ชม. แทนที่รายการปั้นดารา 24 ชม. , หรือข่าวสารคดีการพยายามสร้างสังคมใหม่ที่อเมริกาใต้ แทนที่ข่าว ควาย 8 หู 8 หาง ในช่วงข่าวภาคค่ำ


 


สรุปแล้ว ถ้าคุณเบื่อแนวทางฝันหวานของนักวิชาการทั้งหลายที่อยากให้มีสถาบันสื่ออิสระที่ยังคงเน้นจัดการจากบนลงล่าง รับนโยบายห่าเหวจากตัวแทนนักวิชาการผู้ทรงภูมิ หรือตัวแทนผู้ทรงเกียรติจากหลายภาคส่วนที่มาเป็นคณะกรรมการ ซึ่งมันฟังดูดี แต่ไม่รู้กี่ชาติเราจะทำได้ ... กับอีกแนวทางคือการเข้าไปผสานกับสหภาพแรงงานของสื่อโดยขบวนการของภาคประชาชน ต่อตรงกับผู้ปฏิบัติการ ไปยึดกุมมันแบบหักดิบ ยึดไมค์ ยึดกล้อง ยึดเครื่องส่ง มาเป็นของประชาชนธรรมดา ฯลฯ มันอาจจะดูแรงไปหน่อย แต่ทางเลือกแบบนี้ก็ไม่น่าที่จะปฏิเสธไปเลยทีเดียว ในเมื่อเราไม่มีทางไหนให้เลือกมากนักแล้วหนิ !


 


 


 







 


คอปกขาวทั้งหลายในวิสาหกิจของเอกชนหรือองค์กรที่สุ่มเสี่ยง ดังต่อไปนี้ ยังไงก็ลองคิดถึงเรื่องฟอร์มทีมงานจัดตั้ง สหภาพแรงงาน เผื่อไว้ก่อน หรือถ้าที่ไหนมีแล้วก็จัดเตรียมมวลชนไว้รอรับสถานการณ์ น่าจะดีครับ ;-)


 


บริษัท แอดวานซ์ อินโฟ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน)
บริษัท ซี เอส ล็อกซ์อินโฟ จำกัด (มหาชน)
บริษัท ชินแซทเทลไลท์ จำกัด (มหาชน)
บริษัท ไทยแอร์เอเชีย จำกัด
บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด มหาชน


คณะพนักงานประจำสำนักงานที่ทำการพรรคไทยรักไทย


ฯลฯ


 


 


 


ข้อมูลที่น่าสนใจสำหรับการจัดตั้งสหภาพแรงงาน :


 


พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518


การจัดตั้งสหภาพแรงงาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net