Skip to main content
sharethis

15 มี.ค.50 - องค์การหมอไร้พรมแดน (MSF) ซึ่งเป็นองค์กรสาธารณกุศลด้านการแพทย์ระหว่างประเทศ ประณามบริษัท แอ๊บบอต ลาบอแรตอรีส จำกัด ที่ตัดสินใจถอนคำขอขึ้นทะเบียนยาสำคัญหลายตัวในประเทศไทย โดยระบุว่า บรรษัทยาข้ามชาติแห่งนี้ซึ่งมีฐานที่นครชิคาโกอ้างเหตุผลการใช้กลวิธีชั่วร้ายนี้ว่าเป็นเพราะการบังคับใช้สิทธิของรัฐบาลไทย องค์การหมอไร้พรมแดนยืนยันว่า การบังคับใช้สิทธิเพื่อพัฒนาการเข้าถึงยาจำเป็นเป็นไปตามกฎหมายระหว่างประเทศ และผู้ป่วยจะเป็นผู้แบกรับผลกระทบจากการตัดสินใจอันหยาบคายของแอ๊บบอตครั้งนี้


 


หนึ่งในบรรดายาที่บริษัทแอ๊บบอตปฏิเสธที่จะขายในเมืองไทย คือ ยาโลพินาเวียร์/ริโทนาเวียร์ (LPV/r) ที่แอ๊บบอตทำการตลาดในนาม คาเรทร้า หรือ อลูเวีย (Aluvir) เป็นยาสำคัญในการรักษาผู้ป่วย/ผู้ติดเชื้อที่ดื้อยาต้านไวรัสสูตรพื้นฐาน ในสหรัฐฯ แอ๊บบอตเลิกขายยารูปแบบเก่าที่ต้องเก็บรักษาไว้ในที่เย็นตลอดเวลา บริษัทแอ๊บบอตยังคงขายยารูปแบบเก่าในประเทศไทยที่เป็นเมืองร้อน ยากที่จะใช้ยาที่ต้องเก็บในที่เย็นให้มีประสิทธิภาพ


 


"คนไข้ของเราในประเทศไทยที่ขณะนี้ใช้ยาตัวเก่าอยู่ รอคอยยารูปแบบใหม่ที่ไม่ต้องเก็บในที่เย็นมาอย่างยาวนาน" นายแพทย์เดวิด วิลสัน แพทย์ขององค์การหมอไร้พรมแดนในประเทศไทยกล่าว "ยาตัวนี้ขึ้นทะเบียนในสหรัฐฯตั้งแต่เดือนตุลาคม 2548 แต่ไม่สามารถใช้ได้ในไทยและอีกหลายประเทศทั้งที่ประเทศเหล่านี้มีความต้องการอย่างมาก การปฏิเสธที่จะไม่ขายยาในที่นี่ถือเป็นการทรยศอย่างร้ายแรงต่อผู้ป่วย"


 


องค์การหมอไร้พรมแดนให้การรักษาด้านยาต้านไวรัสกับผู้ป่วยกว่า 80,000 คนกว่า 30 ประเทศทั่วโลก หนึ่งในโครงการคือ Khayelitsha ในแอฟริกาใต้ ผู้ป่วย/ผู้ติดเชื้อประมาณ 20% ต้องเปลี่ยนมาใช้ยาต้านสูตรสำรองหลังได้รับการรักษาด้วยยาต้านมาประมาณ 5 ปี ขณะที่ความต้องการยาต้านไวรัสสูตรสำรองกำลังเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ยาสูตรสำรองส่วนใหญ่ไม่สามารถหาซื้อหาใช้ได้ในประเทศกำลังพัฒนาต่างๆ


 


ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2549 ประเทศไทยได้ประกาศบังคับใช้สิทธิโดยรัฐต่อยา 3 ตัว รวมทั้งยาต้านไวรัส เอฟฟาไวเร้นซ์ และ โลพินาเวียร์/ริโทนาเวียร์ ทั้งดร.มาร์กาเร็ต ชาน ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก (WHO) และ ปีเตอร์ พิอ็อต ผู้อำนวยการโครงการเอดส์แห่งสหประชาชาติ (UNAIDS) ต่างชื่นชมรัฐบาลไทยที่ใช้มาตรการยืดหยุ่นในข้อตกลงทรัพย์สินทางปัญญา (TRIPS) ในองค์การการค้าโลก องค์การหมอไร้พรมแดนของเรียกร้องให้ WHO, UNAIDS, รัฐบาลประเทศต่างๆ และองค์กรระหว่างประเทศทั้วโลกร่วมกันประนามการกระทำครั้งนี้ของบริษัทแอ๊บบอต


 


"การประกาศบังคับใช้สิทธิของไทยเป็นหนทางสำคัญที่ทำให้ราคายาลดลง และเพิ่มการเข้าถึงยา" เอเลน ที โฮเอน ผู้อำนวยการด้านนโยบายการรณรงค์การเข้าถึงยาที่จำเป็นขององค์การหมอไร้พรมแดนกล่าว "ดังนั้น การกระทำของแอ๊บบอตถือว่าน่าขยะแขยง"


 


เมื่อหนึ่งปีก่อน แอ๊บบอตได้ประกาศลดราคายาที่ขายให้แก่ประเทศแอฟริกาและประเทศด้อยพัฒนาในราคา 500 เหรียญสหรัฐฯต่อผู้ป่วยต่อปี ต่อมาเดือนสิงหาคม 2549 บริษัทแอ๊บบอตประกาศราคายาที่ขายให้แก่ประเทศที่มีรายได้ต่ำ และประเทศที่มีรายได้ระดับกลางค่อนข้างต่ำ เช่น ประเทศไทย ในราคา 2,200 เหรียญสหรัฐฯต่อผู้ป่วยต่อปี ซึ่งแพงมากเกินกว่าที่ผู้ป่วย/ผู้ติดเชื้อไทยจะซื้อหาได้ ทั้งที่ วันนี้ราคายาต้านสูตรพื้นฐานแบบรวมเม็ดราคาเพียง 140 เหรียญสหรัฐฯต่อผู้ป่วยต่อปีเท่านั้น


 


แอ๊บอบตล้มเหลวในการให้ข้อมูลตามคำร้องขอขององค์การหมอไร้พรมแดนที่เวียนถามหลายต่อหลายครั้งถึงการขอขึ้นทะเบียนยา องค์การหมอไร้พรมแดนและกลุ่มอื่นๆยังคงยืนยันให้แอ๊บบอตต้องขึ้นทะเบียนยาใหม่ในประเทศกำลังพัฒนา เพื่อที่ผู้ป่วยในประเทศที่ยากจนจะได้สามารถใช้ยาเหล่านั้น


 


"ราคายาที่แอ๊บบอตประกาศว่าลดราคาให้มีแต่ในกระดาษเท่านั้น เพราะบริษัทไม่ยอมไปขึ้นทะเบียนยาในประเทศต่างๆ" นายแพทย์ทีโด วอน ชอน-แองเกอร์เรอร์ ผู้อำนวยการรณรงค์การเข้าถึงยา องค์การหมอไร้พรมแดนกล่าว "และขณะนี้ บริษัทแอ๊บบอตก็ไปไกลกว่าอีก ด้วยการถอนคำขอขึ้นทะเบียนในประเทศไทย ซึ่งถือเป็นแทคติคที่จับผู้ป่วยเป็นตัวประกัน"


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net