Skip to main content
sharethis

สารคดีประวัติศาสตร์ที่ห้ามพูดถึงและห้ามถกเถียงของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งมาลายา (CPM)

ตติกานต์ เดชชพงศ

ข้อมูลจาก Apa Khabar Orang KamPung

 

สงครามแย่งชิงมวลชนระหว่างพรรคคอมมิวนิสต์แห่งมาลายา CPM: Communist Party of Malaya (หรือมาเลเซียในปัจจุบัน) กับรัฐบาลมาเลเซีย-ผู้สร้างประวัติศาสตร์ที่เป็นประโยชน์ให้แก่กลุ่มผู้มีอิทธิพลทางการเมืองในยุคแรกๆ ที่มีการสถาปนาประเทศมาเลเซีย เป็นประเด็นร้อนแรงที่ถูกหยิบมาถกเถียงเพื่อแสดงความคิดเห็นกันอยู่เรื่อยๆ ในหมู่นักวิชาการและนักประวัติศาสตร์

 

สารคดีบันทึกบทสัมภาษณ์ของอดีตสมาชิก 10 คนของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งมาลายาเรื่อง Apa Khabar Orang Kampung หรือ Village People Radio Show เป็นอีกความพยายามหนึ่งที่จะทบทวนและรื้อฟื้นเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ในมุมที่แตกต่างจากรัฐบาลมาเลเซีย

 

ผู้กำกับชาวมุสลิม "อาเมียร์ มูฮัมหมัด" กล่าวถึงชะตากรรมของผลงานเรื่องล่าสุดว่า "ผมไม่แปลกใจที่มันโดนแบน" เพราะเนื้อหาหลักของสารคดีเรื่องนี้คือถ้อยคำของอดีตคอมมิวนิสต์ที่ถูกขับไล่ออกจากแผ่นดินของตัวเอง หลังจากที่พวกเขาเป็นส่วนหนึ่งของกองกำลังที่ต่อสู้เพื่อต้านการยึดครองของประเทศญี่ปุ่น (ปี 1942-1945) และการกลับมาปกครองพื้นที่มาเลเซียของสหราชอาณาจักร (ปี 1945-1957)

 

สารคดีเรื่องนี้ถูกรัฐบาลมาเลเซียสั่งห้ามฉายในประเทศ แม้ว่ามันจะเป็นที่ยอมรับในเวทีหนังระดับสากล เช่น เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเบอร์ลินก็ตาม

 

เหตุผลที่รัฐบาลใช้ในการห้ามฉาย คือการระบุว่าเนื้อหาในสารคดีเรื่องนี้เป็นการ "บิดเบือนประวัติศาสตร์" และให้น้ำหนักแก่อดีตลูกพรรคคอมมิวนิสต์แห่งมาลายาจนเกินควร

 

ความหวาดระแวงต่อพรรคคอมมิวนิสต์แห่งมาลายาในยุคที่มีการสถาปนารัฐชาติมาเลเซียขึ้นมา เป็นเพราะกองกำลังติดอาวุธที่เคลื่อนไหวต่อต้านญี่ปุ่นและอังกฤษนี้ได้รับการสนับสนุนจากประเทศจีน และสมาชิกพรรคที่มีอำนาจในการตัดสินใจก็คือชาวมาเลเซียเชื้อสายจีน

 

การชูประเด็นความแตกต่างทาง "ความเชื่อ" และ "ศาสนา" โดยการโจมตีว่าสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์แห่งมาลายาไม่มีพระเจ้า ไม่มีศรัทธา และมีเชื้อชาติที่ไม่เหมือนกับชาวมาเลย์-มุสลิมส่วนใหญ่ในมาเลเซีย

 

นอกจากนี้ สมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์แห่งมาลายาหลายคนเป็นชาวมุสลิม เมื่อพวกเขาเข้าไปสังกัดพรรคที่ไม่ศรัทธาในสิ่งใด ความผิดนี้ย่อมร้ายแรงไม่น้อยในหมู่ชาวมุสลิมผู้เคร่งศาสนา

 

ผลก็คือสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์แห่งมาลายาต้องหลบหนีเข้าทางชายแดนใต้ของประเทศไทย เพื่อตั้งกองบัญชาการอย่างลับๆ และต่อสู้กับกองกำลังของรัฐบาลมาเลเซียที่ต้องการกวาดล้างพวกเขาให้สิ้นซาก แต่ความเจ็บปวดและจำยอมครั้งสำคัญที่สุดของอดีตพรรคคอมมิวนิสต์คือการที่รัฐบาลจีนหันมาให้ความร่วมมือกับรัฐบาลมาเลเซียและลงนามในสัญญาสงบศึกเมื่อปี 1989

 

เมื่อถูกตัดอาวุธและความช่วยเหลือจากจีนซึ่งเป็นแขนขาของกองกำลัง อดีตนักรบบางส่วนพยายามลี้ภัยกลับไปในมาเลเซีย แต่ส่วนใหญ่ไม่มีใครรู้ว่าชะตากรรมของพวกเขาเป็นอย่างไร

 

มีเรื่องเล่าลือกันในหมู่ญาติพี่น้องของอดีตสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ บ้างก็ว่าครอบครัวของพวกเขาถูกฆ่าอย่างโหดร้ายด้วยฝีมือของกองกำลังรัฐบาล ในขณะที่หญิงสาวอีกมากของกองกำลังถูกข่มขืนและฆ่าตายเช่นกัน

 

แต่การชำระประวัติศาสตร์ของผู้สูญหายที่เป็นอดีตพรรคคอมมิวนิสต์ในช่วงก่อตั้งประเทศมาเลเซีย ไม่เคยมี และไม่เคยเกิดขึ้นเลย...

 

อดีตหัวหอกสำคัญกว่า 10 ชีวิตของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งมาลายา ไม่ว่าจะเป็น อับดุลลาห์ ซีดี, ราชิด มาอิดิน, อาบู ซามาห์, ชามสิอะห์ ฟาเคห์, กามารุซมัน เตห์, สุริอานี อับดุลลาห์, ชุนซุน แซ่เหวย และอดีตสมาชิกพรรคอีกหลายคนที่เสียชีวิตไปแล้ว เลือกที่จะตั้งรกรากอยู่ในฝั่งไทย และทำเกษตรกรรมเลี้ยงชีพโดยไม่ได้กลับไปยังแผ่นดินเกิดของพวกเขาอีกเลยเป็นเวลากว่า 50 ทศวรรษ

 

สืบเนื่องมาจากการตั้งกองกำลังลับๆ ในฝั่งชายแดนไทย ซึ่งผู้กำกับไม่ได้ระบุชัดเจนว่าเป็นจังหวัดไหน ทำให้ประชากรในหมู่บ้านเล็กๆ ที่เงียบสงบนี้มีช่องว่างระหว่างวัยอย่างเห็นได้ชัด

 

ชาวมาลายาที่กลายเป็นชาวไทยไปแล้วในหมู่บ้านแห่งนี้ ถ้าไม่อายุ 60 ปี ขึ้นไป ก็จะเป็นเด็กๆ และวัยรุ่นในวัยประมาณ 15 ปี เพราะการที่กองกำลังลับๆ จะส่งเด็กทารกไปให้คนภายนอกเลี้ยง เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้เอาเสียเลย

 

ผู้กำกับมูฮัมหมัดให้สัมภาษณ์ในหนังสือพิมพ์ The Sun ของสิงคโปร์ ซึ่งเป็นอีกประเทศหนึ่งที่นำสารคดีเรื่องนี้ไปฉายในเทศกาลภาพยนตร์ของตัวเองในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เขาบอกกล่าวด้วยมุมมองของผู้สังเกตการณ์ว่า ความเชื่อมโยงระหว่างเด็กๆ ในหมู่บ้านอดีตพรรคคอมมิวนิสต์แห่งนี้กับความเป็นชาวมาเลเซีย นับวันยิ่งถูกกลืนหายไปเรื่อยๆ

 

เด็กวัยรุ่นเติบโตมากับบทเรียนวิชาภาษาไทยในโรงเรียน พวกเขาฟังละครวิทยุแบบไทยๆ ที่พูดถึงราชาแห่งแคว้นหนึ่งในตำนาน ผู้สงสัยว่าราชินีของตัวเองกำลังทรยศ พระองค์เลยสั่งขังนาง และเรื่องราวชิงรักหักสวาทของละครวิทยุไทยก็อบอวลอยู่ในบรรยากาศตลอด 72 นาทีของสารคดีเรื่องนี้

 

เมื่อมองจากสายตาของผู้กำกับชาวมาเลเซียที่เป็น "คนนอก" ของรัฐไทยอยู่เสมอ (บางครั้งภาพแห่งการเป็นศัตรูผู้แทรกแซงความมั่นคงก็ถูกโยนเข้าใส่ชาวมาเลเซียด้วย) สารคดีเรื่องนี้อาจถูกต่อต้านอย่างหนักจากชาวไทยบางกลุ่มเช่นกัน

 

นอกจากนี้ ข้อเท็จจริงที่ว่าผู้กำกับและทีมงานชาวมาเลเซียสามารถเข้านอกออกในจังหวัดชายแดนใต้ของไทย ก็อาจถูกแปรเป็นความตระหนกตกใจเรื่องภัยต่อความมั่นคงได้อีกเช่นกัน

 

แต่จากบทสัมภาษณ์ของผู้กำกับอาเมียร์ มูฮัมหมัด เขาได้ถ่ายทอดความเชื่อบางอย่างที่น่ารับฟัง และเราอาจต้องเงี่ยหูสดับสำเนียงที่แตกต่างกันออกไปบ้าง

 

"ประวัติศาสตร์ชาติแห่งมาเลเซีย ไม่ต่างจากประวัติศาสตร์ของชาติอื่น ประวัติศาสตร์ไม่ควรปิดกั้นเสียงที่แตกต่างจากการบอกเล่าของรัฐ ไม่อย่างนั้น เราคงลงเอยด้วยการเป็นผู้ที่ความจำเสื่อมเรื่องประวัติศาสตร์

 

การมีประวัติศาสตร์เพียงชุดเดียวอาจง่ายต่อผู้มีอำนาจในช่วงเวลาหนึ่ง แต่มันจะเป็นความเสียหายร้ายแรงต่อการปะติดปะต่อชุดจินตนาการของเรา

 

เหมือนอย่างที่เป็นอยู่ตอนนี้ นักการเมืองของปลุกปั่นวาทกรรมเรื่องเชื้อชาติให้เป็นที่พูดถึงในหมู่ชาวมาเลย์ เพื่อที่เราจะได้จำกัดขอบเขตของกลุ่มชาติพันธุ์ได้อย่างง่ายดาย แต่ถ้าเกิดสมมติว่าในมาเลเซียมีมากกว่าชนชาติเพียงสองกลุ่มคือ มาเลย์-มุสลิม ล่ะ เราจะทำอย่างไร?

 

สิ่งที่ผมแสดงให้เห็นในสารคดีเรื่องนี้ ได้รับการตีพิมพ์ในหนังสือหลายต่อหลายเล่ม มันเป็นมุมมองที่แตกต่างออกไป ท้ายที่สุด สาธารณชนควรจะมีสิทธิในการตัดสินใจด้วยตัวเอง

 

การแสดงออกซึ่งความเห็นที่แตกต่างเป็นปัจจัยหนึ่งของประชาธิปไตย แต่ดูเหมือนว่าประชาธิปไตยของเรามันช่างแปลกประหลาดเสียจริงๆ" อาเมียร์กล่าวปิดท้าย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net