สัมภาษณ์พิเศษ "หาญณรงค์ เยาวเลิศ" : ปลุกเขื่อนแก่งเสือเต้น คนที่จุดชนวน คือคนในรัฐบาลสุรยุทธ์

โดย องอาจ เดชา

 

 

 

เป็นที่รับรู้กันดีว่าในทุกปี เมื่อถึงฤดูแล้งหรือฤดูฝนคราใด ก็จะได้ยินข่าวการเสนอให้มีการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น รวมทั้งการสร้างเขื่อนอื่นๆ ด้วย ทว่าปีนี้ทำให้หลายฝ่ายไม่คาดคิดว่าจะมีการเสนอแบบรวดเร็วของคณะกรรมาธิการของสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และรวมไปถึงตัวของท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ กระทั่งมีการตั้งข้อสังเกตด้วยท่าที่แบบส่งลูกกันอย่างตั้งใจ อย่างไรอย่างนั้น  

 

ล่าสุด "ประชาไท" ได้สัมภาษณ์ นายหาญณรงค์ เยาวเลิศ จากมูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่าและพรรณพืชแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ ในฐานะศึกษาผลกระทบจากการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นมาอย่างต่อเนื่อง และไม่เห็นด้วยกับแนวคิดของภาครัฐและอีกหลายฝ่ายที่ออกมาสนับสนุนให้สร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น ซึ่งดำเนินการสวนทาง สร้างความขัดแย้งกับชาวบ้านที่จะได้รับผลกระทบโดยตรง เนื่องจากมีการสำรวจวิจัยชี้ชัดว่า การสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น เป็นกระบวนการที่ผิดกฎหมาย เพราะการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA)ยังไม่ผ่านความเห็นชอบ อีกทั้งเขื่อนแก่งเสือเต้นไม่ใช่ทางออกที่แท้จริง การปลุกเขื่อนแก่งเสือเต้นครั้งนี้ จึงเป็นเพียงความเชื่อมากกว่ามีเหตุผล

 

 

0 0 0

 

 

คิดอย่างไรที่ พล.อ. สุรพล ธินะจิตร ประธานคณะอนุกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ถึงออกมาหนุนให้สร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นในครั้งนี้

ไม่เคยรู้จัก หรือทราบชื่อเสียงเรียงนามมาก่อน และคนที่อยู่ในวงการที่เกี่ยวข้องกับการสร้างเขื่อน ไม่เคยทราบว่าท่านได้เกี่ยวข้องกับเขื่อนใดบ้าง แต่คงเป็นไปในแนวทางเดียวกัน คือเจตนาดีต่อประเทศชาติ ว่าถ้าสร้างเขื่อนแล้วป้องกันน้ำท่วมได้ จึงคิดว่าปัญหาที่ผ่านมา เมื่อทหารได้เข้ามาบริหารประเทศก็ได้โอกาส ที่จะผลักดันอย่างเต็มที่ จึงเสนอให้มีการสร้างเขื่อน เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วม และแก้ไขปัญหาภัยแล้ง

 

ซึ่งแท้ที่จริง อยากให้มีพิจารณาอยู่ 2-3 ประการ คือ 1.เขื่อนเหล่านี้แก้ไขปัญหาได้จริงหรือไม่ ไม่ว่าจะเป็นน้ำท่วมหรือภัยแล้งที่กล่าวอ้าง เพราะไม่ใช่แต่นักพัฒนาเอกชนเท่านั้นที่ไม่เชื่อ แต่ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบเองก็เดินทางไปศึกษาเขื่อนอื่นมากกว่ากรรมาธิการบางท่านที่อ่านแต่ทฤษฎี และฟังมาว่าเขื่อนเหล่านั้นเขื่อนเหล่านี้แก้ปัญหาเหล่านี้ได้ ทำให้เสียรังวัดไปหลายคนแล้ว ก็ความเชื่อแบบขาดองค์ความรู้ทั้งหลาย

 

2. บุคคลากรที่เข้าไปอยู่ใน สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ถือได้ว่าเป็นบุคลากรที่มีความสามารถ และพร้อมที่จะเป็นเยี่ยงอย่างต่อกระบวนการบริหารประเทศที่ดี เพราะท่านมาจากการยึดอำนาจเข้ามา ด้วยข้อหาว่ามีการคอรัปป์ชัน ไม่โปร่งใส ตรวจสอบไม่ได้ แต่ดูข้อเสนอของพวกท่านทั้งหลาย ไม่ได้มีความสำนึกเหมือนกับคนที่แต่งตั้งพวกท่านมา เพราะยังคิดเหมือนเดิม มีความเชื่อเหมือนเดิม เป็นไสยศาสตร์ ไม่เคยทบทวนความผิดพลาดของหน่วยงานราชการที่สร้างเขื่อนที่ผ่านมาว่าไม่เคยตอบสนอง ตั้งแต่วันที่เคยคิดโครงการ จนโครงการสร้างเสร็จ สร้างปัญหากับชาวบ้านไว้มากมาย ตั้งแต่เขื่อนแรกจนถึงเขื่อนสุดท้าย หรือแม้แต่เขื่อนที่กำลังก่อสร้างอยู่ปัจจุบัน คิดว่าจะดูแต่ภายนอก ที่ชาวบ้านเขาคัดค้านจนถึงปัจจุบันนี้ เพราะว่ากรมชลประทานตอบคำถามไม่ได้ และไม่ค่อยพูดความจริง แม้แต่ว่าน้ำจะท่วมถึงไหน ปัจจุบันกรณีเขื่อนแก่งเสือเต้น ยังตอบไม่ได้ และโกหกข้อมูลอยู่จนถึงปัจจุบัน

 

3. เป็นกระบวนการที่ผิดกฏหมาย เพราะเขื่อนขนาดใหญ่ ทั้งแก่งเสือเต้น และเขื่อนแม่วงก์ จะต้องมีการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) แต่ที่ผ่านมา รายงานดังกล่าวยังไม่ผ่านความเห็นชอบ เขื่อนแก่งเสือเต้น น้ำจะท่วมในอุทยานแม่ยมกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ เขื่อนแม่วงก์ อยู่ในเขตรักษาพันธ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง และได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก ตั้งแต่ปี 2535 ซึ่งการดำเนินการใด ๆ ที่มีผลกระทบต่อพื้นที่มรดกโลกจะดำเนินการมิได้ เพราะถือว่าขัดต่อภาคีอนุสัญญาดังกล่าว

 

เขื่อนแก่งเสือเต้น มติคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ให้ศึกษาเพิ่มเติม อีก 4 ประเด็น ตั้งแต่ปี 2538 ปัจจุบันยังไม่ได้ข้อสรุป ไม่ว่าจะเป็นเรื่องแผ่นดินไหว การอพยพโยกย้าย เรื่องสาธารณสุข และเรื่องระบบนิเวศป่าไม้สัตว์ป่า สาเหตุที่ไม่ผ่านเพราะกรมชลประทานไม่ได้มีความก้าวหน้าเรื่องการทำรายงานนั้นเอง 

 

 

แต่ดูเหมือนว่า แม้ชาวบ้านศึกษาวิจัยและชี้ว่าการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นไม่ใช่ทางออก แต่ก็ยังมีการอ้างปัญหาภัยแล้ง-น้ำท่วมอยู่เช่นเดิม                                                          

ชาวบ้านได้ทำการวิจัยจาวบ้าน เรื่องความสำคัญของพื้นที่ป่า อุทยานแห่งชาติแม่ยม ที่จะสร้างเขื่อนแก่งเสอเต้น และงานที่ท่านผู้หญิงสุธาวัลย์ เสถียรไท ได้ศึกษาเกี่ยวกับความสำคัญของคุณค่าป่าไม้ที่ไม่ใช่เนื้อไม้ ซึ่งรวมแล้วมีมุลค่ามากกว่าผลตอบแทนการสร้างเขื่อน แต่ก็ได้รับการกล่าวขานในแวดวงวิชาการ แต่เหตุการนี้เมื่อได้ถกเถกันพักหนึ่ง พอถึงสถานการณ์น้ำแล้งน้ำท่วมก็ถูกยกขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง ทั้งที่เคยเสนอทั้งทางออก และขีดจำกัดของทรัพยาในลุ่มน้ำยม

 

ปี 2549 คุณบัณฑูร เศรษฐศิโรจน์ และคณะได้งบทำการวิจัยเรื่องทางเลือกเชิงยุทธศาสตร์ หรือที่เรียกว่า (SEA) เพื่อให้ได้คิดว่าการที่สังคมแตกแยก เพราะทุกคนคิดว่า การแก้ไขปัญหาในลุ่มน้ำนี้ ต้องมีเขื่อนแก่งเสือเต้นเท่านั้น แต่เมื่อได้พิจารณาทางเลือกแล้ว มีทางเลือกอีกหลายทางเลือก และเมื่อพิจารณาถึงขีดจำกัดของด้านสิ่งแวดล้อมและสัมคม พบว่า น่าจะมีการเอาทางเลือกมาผนวกด้วยในการจัดการน้ำในลุ่มน้ำยม เช่น ฟื้นฟูพื้นที่รับน้ำ ผันน้ำหรือบายพาสน้ำ หรือขุดลอกแม่น้ำยมตั้งแต่สุโขทัยให้กว้างขึ้น แต่ในบริเวณที่เป็นที่ลุ่มก็ให้ป้องกันเป็นการเฉพาะ เช่น เทศบาลบางระกำ ก็ให้หาทางป้องกันไม่ให้ตัวเมืองหรือเขตเศรษฐกิจเสียหาย

 

แล้วทางออกที่แท้จริงอยู่ตรงไหน

ทางเลือกในการจัดการน้ำ เพื่อป้องกันน้ำท่วมและภัยแล้ง เคยเสนอไว้ตั้งแต่ เมื่อ 10 ปีมาแล้ว เช่น การสร้างเขื่อนขนาดเล็กๆ ตามลำน้ำ บริเวณไหนอยากใช้น้ำ ก็สร้างบริเวณนั้น หรือการบริหารการจัดการมาใช้ในการดำเนินการในลุ่มน้ำ

 

เพราะถ้าคิดว่า ทุกตารางนิ้วในลุ่มน้ำจะต้องได้ใช้น้ำในฤดูแล้ง หรือพื้นที่ในลุ่มน้ำนี้จะต้องได้ทำนาปีละ 2 ครั้ง หรือทุกพื้นที่น้ำจะต้องไม่ท่วม แต่เมื่อกลับมามองว่า น้ำเรามีอยู่แค่นี้ ก็ต้องมีพื้นทีสูงบางพื้นที่มีภาวะขาดน้ำบ้าง แต่จะทำอย่างไรไม่เดือดร้อนมาก จะทำนาสองครั้งไม่มีทางเป็นไปได้ เพราะเรามา น้ำอยู่แค่นี้ หรือพื้นที่ลุ่มบางพื้นที่ น้ำก็จะต้องท่วมเนื่องจากเราอยู่ที่ต่ำ

 

ปัญหาน้ำท่วม และยิ่งนานวันยิ่งท่วมหนักขึ้น ปัญหาอาจจะไม่ใช่เพราะเราไม่เขื่อน เขื่อนขนาดเล็ก ขนาดกลาง เราก็สร้างกันทุกปี แต่ปัญหาใหญ่อยู่ที่เราสร้างสิ่งก่อสร้างขวางทางน้ำ หรือปิดทางน้ำด้วยซ้ำไป

 

การเสนอทางออกไม่อยู่ในสายตาของนักสร้างเขื่อน เพราะหลักคิดของนักสร้างเขื่อน ต้องสร้างด้วยงบประมาณที่มากเข้าไว้ ใหญ่เข้าใว้ เมื่อใหร่ใหญ่หมด ค่อย ๆ กับไปหาเล็ก หรือเป็นประตูระบายน้ำที่เห็นกลาดเคลื่อนอยู่ในปัจจุบัน

 

ที่ผ่านมาเราไม่ค่อยเห็นคนที่คิดสร้างเขื่อนมีทางเลือก นอกจากการเสนอสร้างเขื่อนที่มีแผนอยู่นับสิบปีมาแล้ว ฟังเหมือนแผ่นเสียงตกร่อง กับเหตุผลวัตถุประสงค์เก่า ๆ ที่ฟังไม่ขึ้น

 

 

คิดอย่างไรกรณี อธิบดีกรมชลฯ รีบออกมาบอกว่าจะต้องเร่งสร้างเขื่อนฯ ให้ทันรัฐบาลชุดนี้

คิดว่าเป็นช่วงจังหวะและเป็นการฉวยโอกาสที่นักสร้างเขื่อนจะได้ฉวยโอกาสนี้ เพราะถ้าย้อนกลับไปดูเขื่อนใหญ่ๆ ที่สร้างได้ที่ผ่านมาอยู่ในช่วงเผด็จการเกือบทั้งนั้น และการที่ทหารมายึดอำนาจไปแล้วเข้าปกครองประเทศ อธิบดีฯ ก็คงคิดว่านี่น่าจะเป็นโอกาสที่จะผลักดัน โครงการที่ติดขัดมานาน ผสมกับที่ตนร่ำเรียนมาว่าเขื่อนขนาดใหญ่นี่แหละของวิเศษป้องกันน้ำท่วมก็ได้ แก้ไขปัญหาภัยแล้งก็ได้ อาศัยจังหวะนี้เสนอสร้างเสียให้ทันการ

 

 

ทราบข่าวมาว่าหลังปฏิวัติ ทหารได้เข้าไปในหมู่บ้านสะเอียบด้วย

หลังปฏิวัติ ทหารได้เข้าไปในหมู่บ้านสะเอียบด้วยเหตุผลเรื่องคลื่นใต้น้ำ แต่เบื้องลึกก็ได้รับการประสานความร่วมมือกับกรมชลประทานให้เข้าทำงานมวลชน เพื่อเป้าหมายการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น ด้วยความเชื่อว่าป่าไม้หมดแล้ว ก็เหมือนกับเวบไซต์ของกรมชลประทานที่เอาป่าผลัดใบมาให้ดู และเชื่อว่าเขื่อนสามารถป้องกันน้ำท่วมและแก้ไขปัญหาภัยแล้งได้จริง ก็เข้าทำงานในพื้นที่ด้วยวิธีการต่าง ๆ จนสุดท้ายมาเป็นว่ากรรมาธิการเกษตรฯ ที่มีนายทหารใหญ่เป็นประธาน และออกมาเรียกร้องให้สร้างเขื่อน โดยที่เจ้าตัวไม่เคยเข้าในพื้นที่หรือเรียกคุยว่า ผู้ได้รับผลกระทบเป็นอย่างไร ถือได้ว่ายังใช้วิธีการแบบเก่าๆ

 

 

ชาวบ้านสะเอียบมีความเห็นกันอย่างไรต่อการปลุกผีเขื่อนแก่งเสือเต้นอีกครั้ง

เมื่อไหร่ก็ตามที่มีคนระดับนโยบายออกมาพูดว่าจะต้องสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น ชาวบ้านก็เริ่มเป็นกังวลแล้วว่า เหตุการณ์ไม่สงบ โดยเริ่มตั้งแต่ความทุกข์เริ่มมาเยือน ไม่มีความสุขหรอก เพราะชาวบ้านที่นี่คิดว่าที่อยู่ปัจจุบันก็เป็นสุขดีอยู่แล้ว มีทรัพยากรมีบ้าน มีที่ทำกิน มีเครือญาติ อยู่ด้วยกันอย่างอบอุ่น ไม่คิดจะย้ายไปใหน

 

ประการแรกอาการที่เกิดขึ้นกับชาวบ้าน รู้สึกเครียด และต้องต่อสู้ อธิบายให้คนอื่นเข้าใจ ต้องเดินทางไปอีกหลายๆ ที่ ความสุขที่จะอยู่กับครอบครัว อยู่อย่างปกติแบบคนทั่วไปคงไม่ใช่ ต้องระแวดระวังบุคคลภายนอกที่จะเข้ามาในหมู่บ้าน และจะระแวงบุคคลแปลกหน้าไปหมด ส่วนผู้นำก็ต้องคอยเช็คสถานการณ์ว่าจะมีอะไรบ้างที่มาเคลื่อนไหวในหมู่บ้าน เป็นเรื่องที่คิดแล้วเศร้า ไม่เป็นสุขหรอก คนคิดอาจจะอยู่อย่างมีความสุข ส่วนชาวบ้านจะทุกข์ตลอดเวลาตั้งแต่มีข่าว

 

คนสะเอียบส่วนใหญ่ก็คิดว่าเมื่อไหร่จะเลิกสักที ถึงสร้างก็ไม่เกิดประโยชน์หรอก แต่ส่วนใหญ่ก็บอกว่าเมื่อเปลี่ยนรัฐบาลทีก็จะมีนโยบายต่อเรื่องนี้อีกครั้ง แต่หลายคนก็กล่าวว่า พวกเราต่อสู้ด้วยความจริง ใครคิดร้ายก็ขอให้มีอันเป็นไป และที่สำคัญเราก็ขอสาปแช่งกับบุคคลไม่หวังดี อย่างน้อยคนที่ออกมาสนับสนุนโดยเฉพะระดับรัฐมนตรีก็ได้เสียชีวิตไปหลายคนแล้ว รวมทั้ง ส.ส.ด้วย

 

สุดท้ายคิดว่าถ้าสังคมนี้ยังมีความยุติธรรม ก็จะได้รับการพิจารณาอย่างถูกต้อง ถึงแม้จะมีระดับอธิบดีออกมาหนุนสุดตัวก็ตาม ขอให้แพ้ภัยตัวเอง ชาวบ้านสะเอียบกล่าวเหมือนจะปลอบใจตัวเองด้วยเป็นนัยๆ  

 

 

มองรัฐบาลชุดนี้อย่างไร กับการแก็ไขปัญหาที่สวนทางกับข้อเรียกร้องของชาวบ้านในพื้นที่

คิดว่าก็มีคนที่คิดสวนทางกับชาวบ้านเสมอ รู้สึกผิดหวังกับรัฐบาลเฉพาะกิจ ที่แทนที่จะมาแก้ไขปัญหาบ้านเมือง กลับมาสนับสนุนการสร้างเขื่อนในท่ามกลางความสับสน คิดว่ารัฐบาลไม่น่าจะเพิ่มความขัดแย้งในสังคมเพิ่มอีกต่อ เพราะคนที่มาจุดชนวนเรื่องนี้ ก็เป็นคนในรัฐบาลเองนั่นแหละ ต้องควบคุมกันบ้าง

 

รัฐบาลนี้น่าจะเป็นตัวอย่างที่ดีในแก้ไขปัญหาบนฐานคิดของการบริหารราชการที่ดี รับฟังปัญหาชาวบ้าน และให้เกิดกระบวนการชาวบ้านอย่างแท้จริง ถ้าใครไม่ทำก็ต้องพยายามตบให้เข้ารูปเข้ารอย แต่สถานการณ์ที่เกิดขึ้น เหมือนว่าไม่ได้สนใจสิ่งเหล่านี้ ปล่อยให้รัฐมนตรี อธิบดี และพลพรรคออกมาเสนออยู่ว่าทางเลือกในการจัดการน้ำจะต้องสร้างเขื่อนเท่านั้น ไม่ได้ศึกษาเขื่อนเก่าเลย ว่าสร้างปัญหาไว้มากมาย ไม่ได้แก้ไขปัญหาน้ำท่วมเลย  

 

มีข้อเสนอ ข้อเรียกร้องอะไรไปถึงพลเอกสุรยุทธ์ รัฐบาล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ก็คงจะเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรี ได้เข้ามาดูแลเรื่องนี้อย่างจริงจัง เพราะข้อเสนอของรัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เอาข้อเสนอของตนเองเป็นตัวตั้ง และไม่ได้คิดถึงความรู้สึกของผู้ได้รับผลกระทบเลย ถ้าจะคิดดำเนินการเรื่องนี้เบื้องต้นจะต้องให้ชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงเป็นรู้ที่จะตัดสินใจ อย่าเอาการร้องเรียนของคนในลุ่มน้ำมาอ้าง เพราะหน่วยงานราชการจะต้องยืนอยู่บนพื้นที่ฐานที่เป็นจริง

 

สุดท้ายอยากจะเรียกร้องให้ยกเลิกเสียที เพราะทำให้ชาวบ้านทุกข์มา 18 ปี มันทรมานพอแล้ว ถ้าจะทำก็ศึกษากันอย่างจริงจังเลยว่าจะเอาอย่างไรต่อ ไม่ใช่ศึกษาว่า ถึงอย่างไรก็ต้องสร้าง เพื่อความเชื่อของนักสร้างเขื่อนเพราะสร้างเขื่อนแล้วป้องกันน้ำท่วม และมีน้ำในระบบชลประทาน แต่ไม่ได้มองแบบเป็นองค์รวม แต่ที่ผ่านมาก็สะท้อนให้เห็นตัวผู้นำมองปัญหาเรื่องนี้ไม่ลึกซึ้งเท่ากับชาวบ้าน

 





 

จดหมายเปิดผนึกถึง

พี่น้องประชาชนทุกท่าน กับเหตุผลที่ไม่ควรสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น

อุทยานแห่งชาติแม่ยม ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่

 

 

ทำไมต้องเขื่อนแก่งเสือเต้น

 

ทุกฤดูแล้ง ทุกฤดูฝน ชาวบ้าน ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ ต้องออกมาต่อต้าน คัดค้าน โครงการเขื่อนแก่งเสือเต้นมานานนับสิบปี เนื่องจากว่าเป็นช่วงที่รัฐบาล และกรมชลประทาน ได้โอกาสในการผลักดันโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้น โดยอ้างว่าเขื่อนแก่งเสือเต้น จะสามารถแก้ไขปัญหาภัยแล้ง น้ำท่วมได้ ทั้งที่มีผลการศึกษาจากหลายหน่วยงานได้ข้อสรุปแล้วว่า โครงการเขื่อนแก่งเสือเต้น ไม่สามารถแก้ไขปัญหาภัยแล้ง น้ำท่วมได้ อาทิ

 

1. ผลการศึกษาของ องค์การอาหารและการเกษตรโลก (FAO) ด้วยเหตุผลเรื่องการป้องกันน้ำท่วม เขื่อนแก่งเสือเต้น สามารถ เยียวยาปัญหาน้ำท่วมได้ เพียง 8 เปอร์เซ็นต์

 

2. ผลการศึกษาของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนา ประเทศไทย (TDRI.) ด้วยเหตุผลทาง เศรษฐศาสตร์ ได้ข้อสรุปว่า เขื่อนแก่งเสือเต้นไม่คุ้มทุน

 

3. ผลการศึกษาของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ด้วยเหตุผลทางนิเวศวิทยา ที่มีข้อสรุปว่าหากสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นจะกระทบต่อระบบนิเวศน์ของอุทยานแห่งชาติแม่ยมเป็นอย่างมาก หากเก็บผืนป่าที่จะถูกน้ำท่วมไว้จะมีมูลค่าต่อระบบนิเวศน์ และชุมชนอย่างมาก

 

4. การศึกษาของ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ด้วยเหตุผลทางด้าน ป่าไม้ สัตว์ป่า ที่มีข้อสรุปว่า พื้นที่ที่จะสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น เป็นทั้งอุทยานแห่งชาติที่มีความอุดมสมบูรณ์ อีกทั้งยังเป็นแหล่งป่าสักทองธรรมชาติ ผืนเดียวที่เหลืออยู่ ดังนั้น ควรเก็บรักษาไว้ เพื่ออนาคตของประชาชนไทยทั้งประเทศ

 

5. ผลการศึกษาของมูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่า และพรรณพืชแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ ด้วยเหตุผลในการจัดการน้ำ ยังมีทางออก และทางเลือกอื่น ๆ อีกหลายวิธีการ ที่แก้ไขปัญหาน้ำท่วมได้ โดยไม่ต้องสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น

 

6. ผลการศึกษาของมหาวิทยาลัยนเรศวร ได้เสนอ 19 แผนงานการจัดการน้ำแบบบูรณาการ ซึ่งสามารถแก้ไขปัญหาทั้งน้ำแล้ง น้ำท่วม ได้อย่างเป็นระบบทั้งลุ่มน้ำยม โดยไม่ต้องสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น

 

7. ผลการศึกษาของกรมทรัพยากรธรณี ได้ชี้ชักว่า บริเวณที่จะสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น ตั้งอยู่แนวรอยเลื่อนของเปลือกโลก คือ รอยเลื่อนแพร่ ซึ่งยังมีการเคลื่อนตัวอยู่ตลอดเวลา ซึ่งเป็นการเสี่ยงอย่างมากที่จะสร้างเขื่อนใกล้กับรอยเลื่อนของเปลือกโลก เสมือนหนึ่งเป็นการวางระเบิดบนหลังคาบ้านของคนเมืองแพร่

 

8. ผลการศึกษาของโครงการพัฒนายุทธศาสตร์ทางเลือกนโยบายการจัดการลุ่มน้ำยม (SEA) ชี้ให้เห็นว่ามีทางเลือกมากมายในการจัดการน้ำ ในลุ่มน้ำยม โดยไม่ต้องสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น เช่น การทำทางเบี่ยงน้ำเลี่ยงเมือง การทำแก้มลิง การพัฒนาอ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก เป็นต้น

 

 

ป่าสักทองธรรมชาติผืนสุดท้ายของไทย

พื้นที่อ่างเก็บน้ำของโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้น จะกระทบต่อผืนป่าสักทองธรรมชาติผืนสุดท้ายของประเทศไทย ซึ่งมีไม้สักทองขึ้นอยู่อย่างหนาแน่น กว่า 40,000 ไร่ ริมแม่น้ำยม ตั้งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติแม่ยม  จ.แพร่ โดยกรมชลประทานอ้างว่าพื้นที่ที่จะเป็นอ่างเก็บน้ำเขื่อนแก่งเสือเต้น ไม่มีสภาพป่าแล้ว ขณะที่ชาวบ้านตำบลสะเอียบต้องเชิญชวนสื่อมวลชนไปพิสูจน์สภาพป่าสักทองเป็นประจำทุกปี

 

พิธีบวชป่า สืบชะตาแม่น้ำ เป็นประเพณีที่ชาวบ้าน ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ จัดเป็นกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง เพื่อแสดงเจตนารมณ์ในการร่วมกันอนุรักษ์ป่าสักทองและขอขมาต่อแม่น้ำยม อีกทั้งเป็นการประกาศจุดยืนในการคัดค้านเขื่อนแก่งเสือเต้นมาโดยตลอด   หากแต่ป่าสักทองธรรมชาติผืนนี้ กลับเป็นพื้นที่เป้าหมายของนักแสวงประโยชน์ ที่ไม่ได้คำนึงถึงอนาคตของรุ่นลูกรุ่นหลาน นอกจากงบประมาณที่จะมาพร้อมกับโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้น กว่า 12,000 ล้านบาท ยังมีไม้สักทองอีกกว่า 40,000 ไร่ ซึ่งมูลค่าไม่ต่ำกว่า 8,000 ล้านบาท จึงไม่แปลกที่โครงการเขื่อนแก่งเสือเต้น เป็นเสมือนผีที่ถูกปลุกให้ฟื้นคืนชีพมาตลอดทุกยุคทุกสมัย

 

 

แนวทางในการแก้ไขปัญหา ภัยแล้ง น้ำท่วม ลุ่มน้ำยม โดยไม่ต้องสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น

การจัดการน้ำแบบบูรณาการ ลุ่มน้ำยมทั้งระบบ ได้มีการศึกษาและวางแผนโดยกรมทรัพยากรน้ำกระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม ได้ผลสรุปออกมาแล้วว่า ไม่จำเป็นต้องสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น ก็สามารถบริหารจัดการน้ำได้ ซึ่งในแผนนี้ใช้งบประมาณน้อยกว่าโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้นเสียอีก แต่ระบบราชการไทย ถือประเพณีไม่ขัดขวางผลประโยชน์ของหน่วยงานราชการด้วยกัน แผนการจัดการลุ่มน้ำยมทั้งระบบของกรมทรัพยากรน้ำ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จึงไม่ได้ดำเนินการให้เป็นจริง การจัดการโดยใช้แนวทางทางภูมินิเวศวิทยา การจัดการน้ำแบบใหม่ และการพัฒนาที่ยั่งยืน มองภาพรวมการแก้ไขปัญหาการจัดการน้ำทั้งระบบ จึงจะสามารถแก้ไขปัญหาภัยแล้ง น้ำท่วม ลุ่มน้ำยมได้ แต่ทำไมไม่เลือก

 

1. การฟื้นฟูป่าต้นน้ำ การฟื้นฟูป่าไม้ การอนุรักษ์ป่า การปลูกป่าเสริม การปกป้อง พิทักษ์ รักษา และการจัดการป่า โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วม นับเป็นแนวทางหนึ่งที่จะฟื้นฟูเสถียรภาพของระบบนิเวศน์ ให้กลับคืนมาสู่สมดุล อย่างยั่งยืน

 

2. การขุดลอกตะกอนแม่น้ำ อันจะสามารถฟื้นฟูแม่น้ำให้กลับมาทำหน้าที่แม่น้ำตามธรรมชาติได้ การทำทางเบี่ยงน้ำเพื่อระบายออกนอกเขตชุมชน การสร้างเครือข่ายทางน้ำเพื่อกระจายน้ำไปยังนอกเขตชุมชน ซึ่งได้เริ่มดำเนินการไปบ้างแล้ว หากแต่บางจังหวัด บางพื้นที่ที่ยังติดขัดเรื่องงบประมาณในการดำเนินการ เพราะผู้แทนราษฎรในพื้นที่นั้นๆ ไม่มีศักยภาพในการดึงงบประมาณมาดำเนินการ ตรงข้ามกับพื้นที่ที่มีผู้แทนราษฎร มีรัฐมนตรี การดำเนินการแล้วเสร็จลุล่วงไปหลายโครงการ แต่ก็ยังไม่สมบูรณ์พอที่จะสามารถแก้ไขปัญหาภัยแล้ง น้ำท่วมได้ เพราะโครงการต่างๆ ยังไม่ครบตามแผนที่วางไว้ทั้งระบบ

 

3. การฟื้นฟูที่ราบลุ่มแม่น้ำยม การขุดลอกคูคลองที่เชื่อมระหว่างแม่น้ำกับห้วยหนองคลองบึง  การยกถนนให้สูงขึ้น หรือเจาะถนนไม่ให้กีดขวางทางน้ำ การสร้างบ้านเรือนให้อย่างน้อยชั้นล่างสุดต้องสูงกว่าระดับน้ำท่วมสูงสุด

 

4. การแนะนำให้เกษตรกรการปลูกพืชอายุสั้น พันธุ์พืชที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ การกำหนดให้เป็นเขตเสี่ยงภัยจากน้ำท่วม การหยุดยั้งการสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่ขวางทางน้ำในเขตที่ราบลุ่มแม่น้ำยม

 

5. การใช้ประโยชน์จากพื้นที่ให้เหมาะสม เช่น เป็นที่ท่องเที่ยว เป็นแหล่งประมง เขตอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ สิ่งเหล่านี้นอกจากจะสอดคล้องกับระบบนิเวศน์ ยังสามารถป้องกันน้ำท่วมพื้นที่ทางตอนล่างลงมาตลอดจนถึงกรุงเทพฯ ได้ เนื่องจากที่ราบลุ่มแม่น้ำยมเป็นที่พักน้ำ ที่สามารถพักน้ำไม่ให้ไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาพร้อมกันถึง 500-1,500 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งปริมาณมากกว่าความจุของโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้นเสียอีก

 

6. การซ่อมบำรุง ปรับปรุงระบบชลประทานที่มีอยู่แล้ว ปัจจุบันลุ่มแม่น้ำยมมีระบบชลประทานขนาดใหญ่ และขนาดกลาง 24 แห่ง ระบบชลประทานขนาดเล็ก 220 แห่ง บ่อน้ำตื้น 240 บ่อ และระบบสูบน้ำด้วยพลังไฟฟ้าของกรมพัฒนา และส่งเสริมพลังงาน 26 แห่ง รวมพื้นที่ชลประทาน 1,117,465 ไร่ ระบบชลประทานเหล่านี้ล้วนแต่มีประสิทธิภาพต่ำ กล่าวคือ ประสิทธิภาพเฉลี่ยระบบชลประทานของกรมชลประทานมีเพียง 35% ส่วนระบบสูบน้ำด้วยพลังไฟฟ้ามีประสิทธิภาพเฉลี่ย 57% ขณะที่ประสิทธิภาพระบบชลประทานทั่วโลกเฉลี่ย 64% การจัดการด้วย DSM โดยการซ่อมบำรุงระบบชลประทานที่มีอยู่แล้วให้มีประสิทธิภาพ การสนับสนุนให้เกิดกลุ่มผู้ใช้น้ำ การให้ความรู้แก่ผู้ใช้น้ำจะสามารถทำให้เหลือน้ำจำนวนมาก เฉพาะระบบของกรมชลประทานถ้าใช้ระบบ DSM จะเหลือน้ำถึง 101 ล้านลูกบาศก์เมตร เทียบเท่ากับปริมาณในการอุปโภคบริโภคของคนในลุ่มแม่น้ำยมถึง 7.6 ล้านคน

 

7. การพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็ก ในการแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำในลุ่มแม่น้ำยม สามารถดำเนินการได้โดยการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็กตามที่มีรายละเอียดในแผนการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็ก ซึ่งจัดทำโดย กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทยแผนดังกล่าวสามารถแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำได้โดยใช้งบประมาณเฉลี่ยแล้วหมู่บ้านละประมาณ 3 ล้านบาทเท่านั้น

 

8. การพัฒนาระบบประปา การขาดแคลนน้ำในเมืองใหญ่ ๆ โดยเฉพาะในฤดูแล้งที่ความต้องการน้ำมีสูง ไม่ได้เกิดจาก การขาดน้ำดิบเท่านั้น แต่เกิดจากระบบการผลิตน้ำประปาของการประปาภูมิภาคไม่เพียงพอ ตัวอย่างเช่น เมืองสุโขทัยขาดแคลนน้ำประปาในฤดูแล้ง เพราะระบบการผลิตน้ำประปามีความสามารถในการผลิตน้ำประปาเพียง 60 % ของความต้องการน้ำประปาสูงสุดในฤดูแล้ง การขยายระบบการผลิตน้ำประปาจะสามารถช่วยในการขาดแคลนน้ำอุปโภค-บริโภค ในเมืองใหญ่ได้ อย่างไรก็ตามการรณรงค์ให้มีการประหยัดน้ำในฤดูแล้งก็ยังเป็นสิ่งจำเป็น

 

ทางเลือกในการจัดการน้ำที่ดำเนินการศึกษาโดยคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร พิษณุโลก เสนอโครงการแก้ไขปัญหาภัยน้ำท่วมแบบเบ็ดเสร็จ 19 แบบ คือ

 

1.ปลูกป่าป้องกันน้ำท่วม

2. เกษตรแนวระดับป้องกันน้ำท่วม

3.อ่างเก็บน้ำขนาดเล็กกักเก็บน้ำเพื่อการเกษตรของชุมชน

4.ป้องกันไฟและแนวซับน้ำ

5.พื้นที่กักเก็บน้ำเพื่อป้องกันภัยน้ำท่วมบนที่สูง

6.คลองเฉลิมพระเกียรติป้องกันน้ำท่วมฉับพลัน

7.ชลประทานแนวระดับป้องกันน้ำท่วม

8.ศูนย์อพยพเพื่อบรรเทาภัยน้ำท่วมหมู่บ้าน

9.ตุ่มน้ำเพื่อป้องกันน้ำท่วม

10.ถนนเฉลิมพระเกียรติป้องกันน้ำท่วม

11.สะพานและทางระบายน้ำเฉลิมพระเกียรติ

12.อ่างเก็บน้ำหน้าเมืองเพื่อป้องกันน้ำท่วม

13.แนวคันดินป้องกันเมืองเพื่อป้องกันน้ำท่วม

14.พื้นที่กักเก็บน้ำชั่วคราวป้องกันน้ำท่วม

15.ฝายพิเศษป้องภัยน้ำท่วม

16.ระบบเตือนภัยธรรมชาติสู่ภูมิภาค

17.โครงการศึกษาเพื่อการป้องภัยธรรมชาติ

18.ความร่วมมือกองทัพบกในการขุดคลอง คู อ่างเก็บน้ำ แนวคันดิน

19.ความร่วมมือตำรวจตระเวนชายแดน ให้ความรู้แก่ประชาชน

 

 

บทสรุป

ยุคสมัยของการหากินกับโครงการขนาดใหญ่ได้สิ้นสุดลงแล้ว เราไม่มีป่าธรรมชาติมากพอที่จะให้ทำลายอีกต่อไป รัฐบาลใดใดที่เข้ามาบริหารชาติบ้านเมือง ต้อง หยุด ทำลายป่า หยุด ทำลายชุมชน หยุด อ้างเพื่อประชาชน หยุด ผลาญเงินประเทศชาติ หยุดหากินกับโครงการขนาดใหญ่ หยุด เขื่อนแก่งเสือเต้น ไผกึ๊ดสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น จงฉิบหายวายวอด เจ็ดชั่วโคตร

 

 





 

จดหมายเปิดผนึก

เครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อน สมัชชาคนจน

14 มีนาคม 2550 ณ หน้าทำเนียบรัฐบาล

 

ตลอด 5 ทศวรรษ ที่ผ่านมา ดูเหมือนว่า เขื่อนเป็นเสมือนสัญลักษณ์ของการพัฒนา เขื่อนคือยาวิเศษขนานเดียวสำหรับแก้ปัญหา น้ำท่วม ภัยแล้ง และขาดแคลนพลังงาน ที่รัฐบาลทุกยุคทุกสมัยคิดได้ เป็นที่มาของถนนดี น้ำไหล ไฟสว่าง แต่ต้นทุนที่ต้องแลกมากับการสร้างเขื่อนถูกปกปิดไว้อย่างมิดชิดตลอดมา พวกเรา ชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการสร้างเขื่อนจากทั่วประเทศ ที่มารวมตัวกันในวันนี้ เพื่อประกาศให้รัฐบาลและสาธารณชน ได้รับรู้ความจริงที่พวกเราใช้ชีวิต ครอบครัวและชุมชน พิสูจน์ จนเห็นสัจธรรมว่าเขื่อนไม่ใช่ทางเลือกในการจัดการน้ำ และผลิตพลังงาน อย่างที่พวกเราเคยได้รับฟังการโฆษณาชวนเชื่อ แต่เขื่อนกับเป็นเหตุแห่งเภทภัยที่เกิดกับกับ วิถีชีวิต ชุมชนและทรัพยากรของพวกเราจนยากที่จะเยียวยา

 

บทเรียนการจัดการน้ำในลุ่มน้ำลุ่มน้ำเจ้าพระยา และลุ่มน้ำมูน สะท้อนความล้มเหลวของเขื่อนได้เป็นอย่างดีตลอด 10 กว่าปีที่ผ่านมาปัญหาน้ำท่วม และภัยแล้งในลุ่มน้ำดังกล่าวนับวันจะทวีความรุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคอีสาน เขื่อนของโครงการ โขง ชี มูล ที่กั้นแม่น้ำมูน แม่น้ำชี และลำน้ำสาขาไว้เป็นตอนๆ ต่อกันเป็นขั้นบันได กลับเป็นจำเลยสำคัญของชาวบ้าน ในข้อหาว่าเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วม จนชาวบ้านต้องเคลื่อนไหวเรียกร้องให้เปิดประตูน้ำเขื่อนของโครงการโขง ชี มูล

 

ส่วนด้านพลังงาน เขื่อนปากมูล จ.อุบลราชธานี ซึ่งเป็นเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้าตัวล่าสุดของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯใช้งบประมาณ ลงทุนกว่า 7,000 ล้านบาท แต่จากรายงานการประเมินความคุ้มค่าของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ในนามของกรรมาธิการเขื่อนโลก ชี้ชัดว่าเขื่อนปากมูลไม่คุ้มค่าต่อการลงทุน ทำให้ผู้มีส่วนได้เสียทั้งหมดของโครงการเป็นผู้เสียประโยชน์ รวมทั้งเจ้าของโครงการคือการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ ก็กลายเป็นผู้เสียประโยชน์ไปด้วย


ในสถานการณ์ที่เขื่อนเริ่มถูกตั้งคำถาม ถึงประสิทธิภาพที่แท้จริง และความคุ้มค่าต่อการลงทุน ภาพด้านลบของเขื่อนที่เกิดกับทรัพยากรธรรมชาติ และความเดือดร้อนของชาวบ้านนับวันจะทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น การสูญเสียพันธุ์ปลากว่า 100 ชนิดจากการสร้างเขื่อนปากมูล การสูญเสียพื้นที่บุ่งทามกว่า 100
,000 ไร่ จากการสร้างเขื่อนราษีไศล ปัญหาการแพร่กระจายของดินเค็ม และปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากจากโครงการ โขง ชี มูล ปรากฏให้เห็นผ่านกระบวนการเคลื่อนไหวของชาวบ้าน ผ่านสื่อมวลชนและรายงานการศึกษาของนักวิชาการหลายสำนักอย่างต่อเนื่อง

 

ที่สำคัญเขื่อนทำให้พวกเราต้องถูกอพยพจากถิ่นฐาน สูญเสียที่ดินทำกิน พื้นที่ป่าไม้ และสูญเสียอาชีพที่พึ่งพิงกับทรัพยากรธรรมชาติ ทั้งอาชีพประมงและการพึ่งพาอาศัยทรัพยากรจากป่า การเก็บหาของป่า ซึ่งเป็นฐานเศรษฐกิจของชาวบ้านและชุมชน ซุปเปอร์มาเก็ตของคนจนถูกทำลายไปจากการสร้างเขื่อน ฐานทรัพยากรของชาวบ้านและชุมชยถูทำลายไป นำพามาซึ่งความยากจน เขื่อนจึงเป็นต้นเหตุที่รัฐทำให้พวกเรากลายเป็นคนจน ทำให้ครอบครัวและชุมชนของพวกเราล่มสลายอย่างปฏิเสธไม่ได้ ภาพลักษณ์ของเขื่อน ที่ถูกสร้างว่าเป็นการสร้างความเจริญทางเศรษฐกิจจึงต้องถูกตรวจสอบ

 

ความเดือดร้อนของพวกเรานั้น เริ่มตั้งแต่หน่วยงานเจ้าของโครงการเริ่มศึกษาโครงการ พวกเราก็จะต้องถูกจำกัดการพัฒนาด้านสาธารณูปโภคพื้นฐาน โดยทางราชการจะอ้างว่าหากสร้างเขื่อนแล้วสาธารณูปโภคที่ลงทุนไปจะเสียหายการลงทุนจะสูญเปล่า นอกจากนั้นทางราชการมักอ้างกฎหมายที่ดิน กฎหมายป่าไม้ และกฎหมายเกี่ยวกับสัญชาติ มาจัดการกับชาวบ้านที่คัดค้าน ใช้กำลังตำรวจ ทหาร ข่มขู่คุกคามชาวบ้านที่คัดค้านเขื่อน เป็นต้น

 

กระบวนการตัดสินใจที่ไม่โปร่งใสและแก้ไขปัญหาที่ไม่เป็นธรรม เป็นปัญหาสำคัญของการสร้างเขื่อนเสมอมา ผู้ได้รับผลกระทบถูกบังคับให้ต้องเสียสละเพื่อการพัฒนา โดยเฉพาะเขื่อนขนาดใหญ่ส่วนมากจะสร้างขึ้นได้ในยุคเผด็จการที่ชาวบ้านไม่อาจขัดขืนอำนาจรัฐได้

 

แม้ปัจจุบันจะมีกระบวนการตัดสินใจที่รัดกุมมากขึ้น แต่กรมชลประทานก็ยังหลีกเลี่ยง เช่น เขื่อนแก่งเสือเต้น ปัจจุบันทั้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ อธิบดีกรมชลประทาน พยายามผลักดันโครงการ ทั้งที่ รายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมฯไม่ผ่านการเห็นชอบจากคณะผู้ชำนาญการ ตามขั้นตอนของกฎหมาย อีกทั้งการศึกษาของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ได้ชี้ชัดแล้ว่า โครงการเขื่อนแก่งเสือเต้นไม่คุ้มทุน

 

ความล้มเหลวจากการสร้างเขื่อน ที่เกิดขึ้นไม่ใช่เพียงพวกเราเท่านั้นที่เป็นผู้เสียหาย แต่งบประมาณจำนวนมหาศาลที่ต้องทุ่มลงไปคือสมบัติของทุกคนในชาติ ในฐานะเจ้าของทรัพยากรธรรมชาติและเจ้าของงบประมาณแผ่นดิน พวกเราขอยืนยันว่าชีวิตของคนที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนไม่มีใครมีความเป็นอยู่ที่ดีกว่าเดิม และการเสียสละของพวกเราก็ไม่ได้ประโยชน์ที่แท้จริงของคนในชาติอย่างที่รัฐบาลกล่าวอ้าง ดังนั้น ในวาระวันหยุดเขื่อนโลก พวกเราจึงต้องการให้รัฐบาลดำเนินการดังต่อไปนี้

 

1.ทบทวนนโยบายการจัดการน้ำที่มุ่งเน้นการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ ยุตินโยบายการผลักดันการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ และส่งเสริมการจัดการน้ำขนาดเล็กตามภูมิปัญญาท้องถิ่น

 

2.รับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นกับผู้ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อน

 

3.ร่วมกับพวกเราในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชุมชน และทรัพยากรธรรมชาติที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อน

 

 

เครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อน สมัชชาคนจน

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท