Skip to main content
sharethis

ประชาไท -18 มี.ค. 2550  ตามที่ 8 องค์กรประชาธิปไตย ประกอบด้วยกลุ่มคนวันเสาร์ไม่เอาเผด็จการ กลุ่ม 19กันยาต้านรัฐประหาร สมาพันธ์ประชาธิปไตย มูลนิธิวีรชนประชาธิปไตย กลุ่มเพื่อนรัฐธรรมนูญ 2540 กลุ่มกรรมกรเพื่อประชาธิปไตย กลุ่มพลเมืองภิวัฒน์ และกลุ่มคนจนเมืองเพื่อประชาธิปไตย กำหนดการเคลื่อนไหวต้านรัฐประหารระหว่างวันที่ 17,18 และ 20 นั้น วานนี้ (17 มี.ค.) กลุ่มคนวันเสาร์ไม่เอาเผด็จการและกลุ่มพลเมืองภิวัฒน์ ได้เริ่มต้นกิจกรรมต้านรัฐประหารในวาระครบรอบ 6 เดือนแล้ว โดยจัดให้การชุมนุมและปราศรัยขึ้นที่สนามหลวง ตั้งแต่เวลาประมาณ 16.00น.


 


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กิจกรรมภายในบริเวณที่ชุมนุม ประกอบด้วยเวทีปราศรัย โต๊ะลงชื่อไม่รับรัฐธรรมนูญฉบับ2550ของกลุ่มพลเมืองภิวัฒน์ ภายใต้โครงการ "ไทยเซย์โน" และแผ่นป้ายของกลุ่มคนวันเสาร์ไม่เอาเผด็จการเผยแพร่ข้อมูล อาทิ รายละเอียดการใช้งบประมาณของรัฐบาล จดหมายจาก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร


 


นายสมบัติ บุญงามอนงค์ แกนนำกลุ่มพลเมืองภิวัฒน์ กล่าวว่า ขณะนี้มีผู้มาลงชื่อผ่านทางเว็บไซต์ www.thaisayno.com เพื่อแสดงออกว่าไม่รับรัฐธรรมนูญฉบับ คมช.แล้ว 1,300 คน นอกจากนี้ยังมีการตั้งโต๊ะในการชุมนุมวันนี้เพื่อให้ประชาชนร่วมลงชื่อด้วย


 


นายสมบัติ กล่าวว่า ผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐธรรมนูญฉบับที่กำลังร่างกันอยู่นี้ น่าจะมาจาก 3 สาเหตุคือ เป็นผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร ไม่ยอมรับ ส.ส.ร.ที่มาจากการแต่งตั้ง และไม่เชื่อว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้จะเป็นประชาธิปไตย  


 


"เอาเนื้อหามาดูดีกว่า ตอนนี้ประชาชนจำนวนมากรอดูเนื้อหาของรัฐธรรมนูญอยู่ อย่างไรก็ตาม การลงประชามติ ซึ่งเป็นเงื่อนไขให้คนเลือกข้างว่าเอาหรือไม่เอารัฐธรรมนูญนั้น จะกลายเป็นการตัดสินว่า ประชาชนพอใจหรือไม่พอใจกับ คมช. มากกว่า วันลงประชามติจะเป็นวันตัดสินอนาคตของ คมช. ถึงวันนี้ ไม่เชื่อว่าจะมีการเลือกตั้งโดย คมช." นายสมบัติกล่าว


 


ทั้งนี้ นายสมบัติ กล่าวถึงความหลากหลายของกลุ่มคนที่มาร่วมชุมนุมว่า ผู้ที่มานั้นมีสองกลุ่มคือ กลุ่มที่ชอบ พ.ต.ท.ทักษิณ และกลุ่มที่ไม่เอารัฐประหาร ซึ่งการมาร่วมกันครั้งนี้มีจุดร่วมเดียวกัน นั่นคือการต้านรัฐประหาร


 


 


ด้าน น.ส.ชนกาญจน์ พันธุ์เดิมวงศ์ แกนนำกลุ่ม 19 กันยาต้านรัฐประหาร เปิดเผยว่า ในวันนี้ (18 มี.ค.) ทางกลุ่มจะนัดชุมนุมที่ท้องสนามหลวงเวลา 15.00 น. โดยมีกิจกรรมเล่นว่าว ซึ่งว่าวแต่ละตัวจะมีรูปภาพใบหน้าของสมาชิก คมช.และ พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ จากนั้นจะตัดสายว่าว เพื่อแสดงถึงการตัดขาดไม่ยอมรับอำนาจ คมช.และ พล.อ.เปรม เพราะเชื่อว่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการรัฐประหาร และเป็นผู้ที่มีการกระทำขัดต่อระบอบประชาธิปไตย หลังจากนั้นจะมีการเคลื่อนขบวนไปที่หน้าบ้านสี่เสาเทเวศร์ เพื่อทำกิจกรรมตัดโค่นเสาทั้ง 4 เสา ซึ่งค้ำจุนอำนาจเผด็จการทหาร โดยประกอบด้วย เสาแรก เป็นเสาของ พล.อ.เปรม ในฐานะผู้อยู่เบื้องหลังการกระทำของ คมช. สถาบันทหาร คมช. เสาที่ 2 แทนสัญลักษณ์ สภานิติบัญญัติ สภาร่างรัฐธรรมนูญ เสาที่ 3 เป็นเสาองค์กรอิสระ เช่น คตส. และป.ป.ช. ส่วนเสาสุดท้าย เป็นเสาพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่เคยเคลื่อนไหวอย่างไม่เป็นประชาธิปไตยจนนำมาสู่รัฐบาลทหาร


 


น.ส.ชนกาญจน์ กล่าวว่า ทางกลุ่ม ต้องการดึง พล.อ.เปรมให้มาอยู่ในที่แจ้งให้ประชาชนได้รับรู้บทบาทและการบงการของคนคนนี้ เพราะที่ผ่านมาเป็นผู้อยู่เบื้องหลังโดยไม่ต้องแสดงความรับผิดชอบต่อปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้น และทางกลุ่มไม่ต้องการระบอบเปรมธิปไตยในรูปแบบการแทรกซึมของวิธีการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีคนนอกโดยไม่ต้องมาจากการเลือกตั้ง  


 


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เวลา 18.45น. บนเวทียังมีการเสวนา โดยนายประสิทธิ์ ปิวาวัฒนพานิช อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) กล่าวว่า ศาลฎีกาไทยนั้น เอาการยึดอำนาจเป็นหลัก ความชอบธรรมมาทีหลัง ทำให้ใครล้มรัฐบาลได้ก็กลายเป็นรัฐบาล โดยกล่าวถึงเหตุการณ์ที่ รสช.ยึดทรัพย์รัฐบาลเก่าย้อนหลัง แล้วศาลรัฐธรรมนูญมีการวินิจฉัยว่า การยึดทรัพย์นั้นไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญว่า การตัดสินนี้ก็ยังไม่ก้าวหน้าเท่าที่ควร เนื่องจากไม่วินิจฉัยไปถึงรัฐบาล รสช.ที่ไม่ได้มาอย่างถูกกฎหมายเช่นกัน


 


นอกจากนี้ นายประสิทธิ์ กล่าวว่า เหตุแห่งการยึดอำนาจครั้งนี้ไม่ชอบธรรม เนื่องจากที่อ้างว่าเพื่อแก้ไขความไร้ประสิทธิภาพของรัฐบาลทักษิณ แล้วรัฐบาลนี้ดีหรือด้อยกว่า บริหารประเทศอย่างไร การแก้ไขความขัดแย้งในหมู่ประชาชนนั้นก็ล้มเหลว โดยจะเห็นว่า คมช.และรัฐบาลเลือกปฏิบัติ คตส.เลือกตรวจสอบเฉพาะบางโครงการ มีการละเมิดสิทธิการรับรู้ข่าวสารของประชาชน ปิดกั้นการแสดงความคิดเห็น ปิดเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ปิดข่าว BBC CNN ปิดกั้นไม่ให้ พ.ต.ท.ทักษิณเข้าประเทศ รวมทั้งสิทธิการดำเนินกิจกรรมของพรรคการเมือง ทั้งที่ในรัฐธรรมนูญ 2549 มาตรา 3 รับรองสิทธิบุคคล ตามกฎบัตรสหประชาชาติที่ไทยเป็นภาคี


 


"ระบบตรวจสอบทุจริตก็สอบตก เนื่องจากนายกฯเองก็มีกรณีเขายายเที่ยง ประธาน คมช.มีข่าวจดทะเบียนสมรสซ้อนและ พล.อ.สพรั่ง กัลยาณมิตร ก็มีเรื่องการใช้งบที่เยอรมนี ทั้งหมดจะเห็นว่า ไม่ได้ดีกว่ารัฐบาลเดิมเลย นอกจากนี้ องคมนตรีนั้นต้องเป็นกลางทางการเมือง เนื่องจากในรัฐธรรมนูญระบุว่า องคมนตรีต้องไม่ฝักใฝ่พรรคการเมือง แต่หลังรัฐประหาร จากคำกล่าวว่า ถนนทุกสายมุ่งสู่โรมก็กลายเป็นถนนทุกสายมุ่งสู่บ้านสี่เสาฯ ดังนั้นจึงน่าสงสัยในความเป็นกลางขององคมนตรี" นายประสิทธิ์ กล่าว  


 


นายพิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มธ. กล่าวว่า การต่อสู้เมื่อสามรอบแรกคือ 14 ต.ค. 6 ต.ค.และพ.ค. 35 นั้น เขาอยู่ด้านล่างของเวทีมาตลอด นี่เป็นครั้งแรกที่เขาอยู่บนเวทีด้วยตัวเอง นั่นแปลว่า คนที่เคยต่อสู้สามครั้งแรกนั้นไม่มีใครแล้ว


 


นายพิชิต กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจและสังคมในช่วง 14-15 ปีที่ผ่านมา ค่ายสังคมนิยมล่มสลาย ทุนนิยมเริ่มขยายไปสู่ประเทศต่างๆ รวมทั้งทำให้เกิดการพัฒนาประชาธิปไตย และเมื่อเกิดการพัฒนาเศรษฐกิจแบบทุนนิยม อินเตอร์เนต และเครื่องใช้ไฟฟ้า ทำให้คนติดต่อสื่อสารกันอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้เผด็จการอยู่ไม่ได้ในโลกปัจจุบัน สำหรับในไทยนั้น เมื่อโลกาภิวัตน์เข้ามาเกิดทุนสื่อสาร โทรคมนาคม เครื่องใช้ไฟฟ้า การส่งออก ซึ่งทำให้ไทยกลายเป็นประเทศเสรี มีประชาธิปไตยและค้าขายในโลกอย่างมีศักดิ์ศรี แต่ก็ไปกระทบกลุ่มทุนเก่าที่อยู่มานาน บางกลุ่มเป็นร้อยปี เช่น กลุ่มวัสดุก่อสร้าง ธนาคาร ซึ่งเป็นกลุ่มที่อยู่กับเศรษฐกิจแบบเก่าที่ขายภายในประเทศ


 


"นโยบายประชานิยม เป็นการนำทรัพยากรจากกรุงเทพฯสู่ชนบททำให้รากหญ้าเข้าถึงเงินทุน แม้ว่า5ปีจะสั้นไปที่จะตรวจสอบว่าแก้ปัญหาของประชาชนได้ไหม แต่ก็ทำให้พ.ต.ท.ทักษิณได้รับความนิยมจากประชาชน ข้อบกพร่องมีก็วิจารณ์กันได้ เพราะเขาเป็นนักการเมือง ไม่เหมือนบางคนที่วิจารณ์ไม่ได้" นายพิชิต กล่าว


 


ทั้งนี้ นายพิชิตได้วิพากษ์วิจารณ์ถึงการทำงานของรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ว่า เป็นการเข้ามาล้างแค้นส่วนตัว ไม่มองว่านโยบายใดเป็นประโยชน์ต่อประชาชน โดยยกเลิกนโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจประชานิยมทั้งชุด ลุย รื้อ เลิก เปลี่ยนชื่อ นโยบาย เช่น เปลี่ยนชื่อนโยบาย 30บาทฯ โอท็อป และตัดเงินอุดหนุนด้วย


 


"นอกจากนี้ยังมีการเพิ่มงบกลาโหม ตั้งทหารมาเป็นบอร์ดรัฐวิสาหกิจ ตั้งทหารตรวจสอบกรณีสนามบินสุวรรณภูมิ ทั้งที่ควรตั้งผู้เชี่ยวชาญมากกว่า นโยบายทางเศรษฐกิจอย่างมาตรการกันเงินสำรอง 30% ก็ทำให้ตลาดหุ้นเสียหาย แก้ พ.ร.บ.ประกอบธุรกิจคนต่างด้าวเพื่อล้างแค้นหุ้น SHIN เพื่อบอกว่าเป็นบริษัทต่างชาติ ทั้งหมดนี้ทำให้กระทบต่อระบบเศรษฐกิจ ประชาชนหยุดใช้จ่าย ธุรกิจต่างๆ ก็หยุดลงทุน ล่าสุด เดือนมกราคม จำนวนนักท่องเที่ยวลดลงเนื่องจากระเบิดส่งท้ายปีเก่า "


 


"การต่อสู้เพื่อเอาประชาธิปไตยกลับมาในครั้งนี้ หวังให้คว่ำบาตรการร่างรัฐธรรมนูญเผด็จการ ซึ่งแสดงออกแล้วว่า จะยกเลิกระบบปาร์ตี้ลิสต์ ให้ ส.ว.มาจากการสรรหาและให้มีนายกฯคนนอก ซึ่งเท่ากับรัฐธรรมนูญ รสช. นั่นเอง ทั้งนี้ ขอเรียกร้องให้นำรัฐธรรมนูญ 40 กลับมาใช้ทันที จัดการเลือกตั้งทันที และมาตัดสินกันที่การเลือกตั้ง" นายพิชิตกล่าวทิ้งท้าย


 


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังการเสวนา ตัวแทนทั้ง 8 องค์กรได้ร่วมกันอ่านแถลงการณ์ต้านรัฐประหาร จากนั้นร่วมกันปล่อยลูกโป่งสีขาวขึ้นสู่ท้องฟ้าและมีการจุดพลุ ทั้งนี้ ในช่วง 17.30 น. นั้น มีผู้ชุมนุมประมาณ 300-400 คน ขณะที่ช่วงค่ำ มีผู้ชุมนุมประมาณ 1000 คน โดยตลอดการชุมนุมมีการตะโกน "คมช.ออกไป" เป็นระยะๆ


 


ทั้งนี้ สำหรับกิจกรรมในวันที่ 18 มี.ค. นำโดยเครือข่าย 19 กันยาต้านรัฐประหาร จะมีการเดินขบวนไปยังบ้านสี่เสาเทเวศน์ โดยระบุในใบปลิวว่า เป็นศูนย์บังคับบัญชาคณะรัฐประหาร โดยจะเปิดเวทีที่สนามหลวงเวลา 15.00น. จากนั้นเคลื่อนขบวนไปยังบ้านสี่เสาเทเวศน์ เวลา 17.00น. โดยนัดให้แต่งกายด้วยชุดดำ ซึ่งทางกลุ่มใช้เป็นสัญลักษณ์ในการต้านรัฐประหารด้วย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net