Skip to main content
sharethis

"ปลอดการครอบงำของอำนาจรัฐ (และราชการ)


   ปลอดการครอบงำของอำนาจทุน


   บริหารโดยตรงโดยภาคประชาชน"


 


สโลแกนที่เครือข่ายองค์กรภาคประชาชนหลายองค์กรมานั่งหารือกันเพื่อผลักดันเรื่อง "ไอทีวี" ขานรับกับหลายส่วนที่เรียกร้องให้แปรสภาพเป็น "ทีวีสาธารณะ"


 


หลักใหญ่ใจความอีกประการ คือ รายการต้องคำนึงถึงการส่งเสริมให้ประชาชนเกิดการเรียนรู้และพัฒนา เป็นพื้นที่ให้กลุ่มคนที่ถูกละเลย ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มคนพิการ กลุ่มชาติพันธุ์ พื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ฯลฯ


 


เครือข่ายองค์กรภาคประชาชนที่ว่าประกอบด้วย กลุ่มกู้คืนไอทีวี, คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.), มูลนิธิเข้าถึงเอดส์, สหพันธ์องค์กรผู้บริโภค, มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค, มูลนิธิสุขภาพไทย, เครือข่ายคนพิการ, มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม, ขบวนการตาสัปปะรด, เครือข่ายการศึกษาเพื่อเด็ก, เครือข่ายสื่อเพื่อเด็ก, เครือข่ายครอบครัว, คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย,เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี เอดส์ แห่งประเทศไทย


 


องค์กรภาคประชาชนมีความเห็นร่วมกันว่าควรผลักดันทีวีสาธารณะในตอนนี้ โดยอยู่บนฐานของพ.ร.บ.องค์การแพร่ภาพและการกระจายเสียงสาธารณะ ที่ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ แห่งทีดีอาร์ไอได้ยกร่างขึ้น แต่มีการวิจารณ์ในส่วนของคณะกรรมการสรรหาบอร์ดของทีวีสาธารณะนี้ที่มีภาคประชาชนเพียง 2 คนนอกนั้นเป็นนักวิชาการกับตัวแทนสื่อมวลชน


 


"จริงๆ กรรมการสรรหาข้างมากควรมากจากภาคประชาชน เพราะภาคประชาชนมีความหลากหลายมาก" จอน อึ๊งภากรณ์ อดีตส.ว.และแกนนำกลุ่มทวงคืนไอทีวีกล่าวพร้อมระบุว่า ได้หารือเรื่องนี้กับดร.สมเกียรติแล้วว่าคงมีการแก้ไขได้หลังจากเสนอกฎหมายนี้สู่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ


 


จอนยังเสนอความคิดเห็นว่า กรณีไอทีวีนั้น การผลักดันต้องไม่ไปพัวพันเรื่องที่ถูกฟ้องอยู่ รวมถึงพนักงานกว่า 1,000 คน เนื่องจากคงไม่สามารถรับพนักงานทั้งหมดมาทำทีวีสาธารณะได้


 


ส่วนกรณีที่รัฐบาลอนุมัติให้ทีไอทีวีเป็นหน่วยบริการรูปแบบพิเศษ (SDU: Service Delivery Unit) ของกรมประชาสัมพันธ์นั้น จอนกล่าวว่า เรื่องนี้จะเป็นการบิดเบือนเจตนารมณ์ที่รัฐบาลบอกว่าอยากจะให้สถานีนี้เป็นทีวีสาธารณะ และจะทำให้การแปลงสภาพทีไอทีวีมีความยุ่งยากซับซ้อนขึ้น


 


ทั้งนี้ เอสดียูคือ เอสดียูจัดตั้งขึ้นมาตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบราชการไทย พ.ศ.2546-2550 และมาตรา 16 ของ พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2545 ที่ต้องการให้มีโครงสร้างองค์กรรูปแบบใกล้เคียงกับระบบธุรกิจอื่น ไม่มีสถานะเป็นนิติบุคคล โดยได้รับการยกเว้นหรือผ่อนคลายระเบียบบางประการเพื่อให้เกิดความคล่องตัว แต่ไม่ได้เป็นอิสระ หรือตัดขาดจากหน่วยงานแม่ 100% สามารถจะเรียกเก็บค่าบริการจากหน่วยงานแม่ต้นสังกัดหน่วยงาน หรือลูกค้าผู้รับบริการอื่นๆ ได้ ทั้งในรูปแบบของ direct charge หรือ internal charges เพื่อหารายได้ให้เพียงพอกับรายจ่ายในการดำเนินงาน และไม่จำเป็นต้องส่งรายได้ทั้งหมดของรัฐ แต่ต้องนำรายได้บางส่วนส่งคลังในอัตราไม่ต่ำกว่าอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล


 


เถกิง สมทรัพย์ นายกสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะกรรมการรับฟังความคิดเห็นเพื่อกำหนดอนาคตไอทีวีที่คุณหญิงทิพาวดี เมฑสวรรค์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีระบุว่า คณะกรรมการชุดนี้เกินครึ่งเป็นเอ็นจิโอและนักวิชาการ มีระยะเวลาทำงาน 1 เดือน ในช่วงต้นเดือนเมษายนนี้คาดว่าจะมีการรับฟังความเห็นโดยใช้วิธีเชื่อมสัญญาให้ไอทีวี หรือช่อง 11 ถ่ายถอดสดตามเวทีจังหวัดต่างๆ 8 จุด เพื่อรายงานความคิดเห็นของประชาชนอย่างทั่วถึง และก่อนหน้าจะเปิดรับฟังความคิดเห็นจะมีการให้ข้อมูล ความรู้เรื่องทีวีสาธารณะด้วย อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ต้องเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการเพื่อพิจารณาอีกครั้ง


 


เถลิงยังเสนออีกว่า ควรมีการจัดตั้งคณะกรรมการที่จะร่างพันธสัญญากับรัฐบาล โดยมีเนื้อหาเหมือนมาตรา 39, 40, 41 ในรัฐธรรมนูญปี 2540 เพื่อเป็นหลักประกันและเป็นการแสดงเจตนารมณ์ทางการเมืองว่ารัฐบาลจะไม่แทรกแซงทีไอทีวีระหว่างที่ยังเป็นของรัฐอยู่ขณะนี้ นอกจากนี้ในส่วนของรายการก็น่าจะทดลองให้ทีไอทีวีตอนนี้ออกอากาศรายการในรูปแบบเนื้อหาของทีวีสาธารณะไปได้ก่อนพลางๆ


 


ตัวแทนจากมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม (มอส.) กล่าวว่า จากการจัดเวทีปฏิรูปสื่อทั้งระบบในหลายจังหวัดพบข้อเสนอที่หน้าสนใจของประชาชนคือพวกเขาต้องการให้ไปรับฟังประชาชนด้วยเช่นกันว่าต้องการให้ไอทีวีเป็นแบบไหน อย่างน้อยในระดับภาค และต้องการรับทราบข้อมูลข่าวสารต่างๆ เกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด นอกจากนี้เรื่องคณะกรรมการบริหารทีวีสาธารณะประชาชนจังหวัดต่างๆ เห็นว่าส่วนใหญ่มักกระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพฯ หรือมีการรวมศูนย์อำนาจเหมือน กทช. น่าจะมีการกระจายมากกว่านี้ ในอนาคตอาจมีคณะกรรมการสื่อสารระดับจังหวัด


 


"ในกระบวนการผลักดันเรื่องนี้ต้องให้ประชาชนรู้สึกร่วม มีระดับของการรับรู้ร่วมกัน ประเด็นไอทีวีต้องพูดกันมากๆ อย่างต่อเนื่องในทุกรูปแบบ เช่นกรณีวิทยุชุมชนถ้าประชาชนรู้สึกเป็นเจ้าของมันยากที่ใครจะไปล้มของเขาในระยะยาว" ตัวแทนจากมอส.กล่าว


 


อย่างไรก็ตาม คาดกันว่าพ.ร.บ.องค์การแพร่ภาพและการกระจายเสียงสาธารณะ จะมีการนำเสนอสนช.พิจารณาในสัปดาห์หน้า และทางองค์กรเครือข่ายภาคประชาชนยังระบุด้วยว่าจะเข้าพบกับรัฐบาลเพื่อนำเสนอจุดยืนและการผลักดันเรื่องนี้ด้วย


 


 


 






 


แถลงข่าว


ไอทีวีต้องเป็นทีวีสาธารณะของประชาชน


 


ผู้แทนเครือข่ายองค์กรภาคประชาชน ด้านสุขภาพ เอดส์  คนพิการ ผู้บริโภค แรงงาน ครอบครัว เด็ก เยาวชน และองค์กรด้านการปฏิรูปสื่อ ไม่เห็นด้วยกับการดำเนินการแก้ไขปัญหาไอทีวีของรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และขอเรียกร้องต่อรัฐบาลให้จัดการปัญหาไอทีวีโดยรีบดำเนินการให้ไอทีวีเป็นสถานีโทรทัศน์สาธารณะ ตามความหมายที่ประชาชนทุกคนเป็นเจ้าของ และเป็นทีวีที่ปลอดจากการแทรกแซงของรัฐ ระบบราชการ การเมือง และธุรกิจเอกชน โดยประชาชนมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการ เพื่อรับใช้สังคมทุกภาคส่วน และมีข้อเสนอเบื้องต้นดังต่อไปนี้


๑.      หยุดการเตรียมการของกรมประชาสัมพันธ์ ในการจัดตั้งหน่วยบริหารจัดการแบบ SDU เพราะจะเป็นอุปสรรคในการที่จะทำให้การนำไอทีวีมาเป็นทีวีสาธารณะ และขัดแย้งกับการตั้งคณะทำงานรับฟังความคิดเห็นของสำนักนายกรัฐมนตรี


๒.      ขอให้กรมประชาสัมพันธ์ ดำเนินการทดลองออกอากาศ ให้ไอทีวีมีผังรายการที่ยึดวัตถุประสงค์ในการเป็นทีวีสาธารณะ


๓.      รัฐต้องสร้างหลักประกันและแสดงพันธะสัญญาในการไม่แทรกแซงสื่อทุกประเภท ตามมาตรา ๓๙, มาตรา ๔๐ และมาตรา ๔๑ ของรัฐธรรมนูญ ปี ๔๐


๔.     ภาคประชาชนที่มาร่วมประชุมในวันนี้ได้ตั้งตัวแทนเบื้องต้น ซึ่งประกอบไปด้วย ๑)จอน อึ้งภากรณ์ ๒)รสนา โตสิตระกูล ๓)นิมิตร์ เทียนอุดม ๔)ต่อพงษ์ เสลานนท์ ๕)วีรพงษ์ เกรียงสินยศ ๖)พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา ๗)ฉัตรชัย เชื้อรามัญ ๘)ศุกาญจน์ตา สุขไผ่ตา ๙) เฉลิมชัย เผื่อนบัวผัน ๑๐) วันชัย บุญประชา เพื่อผลักดันและติดตามให้ไอทีวีเป็นทีวีสาธารณะต่อไป


 


 


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net