Skip to main content
sharethis


เมื่อวันที่ 20 มี.ค. นายชานนท์ ดวงมณี ปลัดอำเภอฝ่ายความมั่นคง อ.เวียงแหง จ.เชียงใหม่ และนายโยธิน จันทวี นักวิชาการป่าไม้ 6 สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 จัดประชุมหารือถึงแนวทางแก้ไขปัญหากรณีการอพยพชาวบ้านนาอ่อนขึ้น ณ ศาลารวมใจรักษาดินแดนยิ่งชีพ อ.เวียงแหง โดยมีตัวแทนชาวบ้านนาอ่อนและศูนย์ปฏิบัติการณ์ร่วมเพื่อแก้ไขปัญหาประชาชนบนพื้นที่สูง (ศปส.) เข้าร่วมประชุม

 


นายชานนท์ ดวงมณี ปลัดอำเภอฝ่ายความมั่นคง อ.เวียงแหง กล่าวว่า การจัดประชุมครั้งนี้เพื่อต้องการหารือกันว่าจะแก้ปัญหาดังกล่าวอย่างไร เพราะชาวบ้านนาอ่อนเองก็ต้องทำมาหากินที่นั่น แต่ขณะเดียวกันพื้นที่ป่าบริเวณดังกล่าวก็มีการถูกบุกรุกมากขึ้น เพราะเดิมทีบ้านนาอ่อนมีบ้านเรือนเพียง 3 หลังคาเรือน แต่ปัจจุบันเพิ่มขึ้นเป็น 13 หลังคาเรือน ดังนั้นเมื่อผู้คนมีจำนวนเพิ่มขึ้น พื้นที่ทำกินก็ต้องมีการขยายเพิ่มขึ้นตามไปด้วย และในอนาคตอาจเพิ่มขึ้นมากกว่านี้


 


นายชานนท์ กล่าวต่อว่า พื้นที่บริเวณหมู่บ้านนาอ่อนเป็นเขตอุทยานแห่งชาติ ที่ผ่านมาทางราชการก็เคยมีแผนจัดระเบียบหมู่บ้านชุมชนชายแดนโดยให้ชาวบ้านนาอ่อนย้ายกลับไปอยู่ที่หมู่บ้านเดิม ซึ่งเรื่องนี้เคยมีการตกลงกันแล้ว ซึ่งชาวบ้านนาอ่อนก็ได้รับปากเจ้าหน้าที่ว่าจะอยู่ที่บ้านนาอ่อนจนกว่าจะเก็บผลผลิตแล้วเสร็จ ซึ่งทางราชการก็ยินยอม แต่ต่อมาก็ยังไม่มีการย้ายจนถึงปัจจุบัน ขณะที่พื้นที่รองรับนั้นมีการจัดหาไว้แล้วคือที่บ้านแปกแซมและบ้านหินแตว อย่างไรก็ตามหากในอนาคตชาวบ้านยังไม่ย้ายกลับก็อาจมีปัญหาด้านข้อกฎหมายคือการบุกรุกพื้นที่อุทยานแห่งชาติได้


 


นายโยธิน จันทวี นักวิชาการป่าไม้ 6 สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 กล่าวว่า ปัจจุบันพื้นที่รองรับที่บ้านแปกแซมนั้นเจ้าหน้าที่จัดเตรียมพื้นที่รองรับไว้ให้ชาวบ้านแล้วครอบครัวละ 4 ไร่ มีการจัดระบบชลประทานให้สามารถทำการเกษตรได้ในฤดูแล้ง เรื่องดินก็มีทางกรมพัฒนาที่ดินเข้ามาตรวจคุณภาพดินแล้ว เรื่องผลผลิตทางการเกษตรก็จะมีสำนักงานเกษตรเข้ามาดูแล ขณะเดียวกันก็มีพ่อค้ามารับซื้อไม่อั้นในราคาที่สูงกว่าราคาท้องตลาดถึง 2 เท่าด้วย แต่หากชาวบ้านยังดื้อไม่ยอมอพยพออกมาก็จะมีปัญหาในอนาคตได้


 


นายอาหวู่ โนลี ตัวแทนชาวบ้านนาอ่อน กล่าวว่า แม้ว่าชาวบ้านบางส่วนจะย้ายมาจากบ้านแปกแซมและบ้านหินแตว แต่ช่วงนั้นชาวบ้านก็มีที่ทำกินอยู่ที่บ้านนาอ่อนแล้ว และปัจจุบันก็ไม่ได้มีการขยายพื้นที่ทำกินเพิ่มขึ้นแต่อย่างใด อีกทั้งเมื่อเกิดกรณีการบุกรุกพื้นที่เจ้าหน้าที่ก็มักกล่าวโทษว่าเป็นฝีมือชาวบ้านนาอ่อนโดยที่ไม่มีการตรวจสอบแต่อย่างใด เพราะบริเวณดังกล่าวนั้นมีชุมชนอาศัยอยู่หลายหมู่บ้าน ดังนั้นการที่เจ้าหน้าที่กล่าวหาว่าเมื่อเกิดการบุกรุกป่าเป็นเพราะฝีมือชาวบ้านนาอ่อนเพราะต้องการกดดันให้ชาวบ้านนาอ่อนอพยพออกจากพื้นที่


 


นายอาหวู่ กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมานั้นราชการพยายามหลอกล่อให้ชาวบ้านนาอ่อนใจอ่อน ยอมอพยพออกจากพื้นที่โดยมักกล่าวอ้างพื้นที่รองรับที่บ้านแปกแซมและบ้านหินแตวดินมีคุณภาพเพราะมีกรมพัฒนาที่ดินมาพัฒนาให้ กรมชลประทานก็มาพัฒนาแหล่งน้ำให้ ทางเกษตรก็มาส่งเสริมด้านการเกษตร มีการรับซื้อผลผลิตทางการเกษตรในราคาสูง แต่ปัจจุบันนั้นชาวบ้านแปกแซมและบ้านหินแตวจำนวนมากต้องไปทำงานรับจ้างนอกหมู่บ้าน ชาวบ้านบางส่วนที่ทำการเกษตรก็มีที่ทำกินนอกหมู่บ้านเพราะที่ดินในหมู่บ้านใช้ประโยชน์ไม่ได้ แม้กระทั่งผู้ใหญ่บ้านแปกแซมเองก็ไม่ได้ทำการเกษตรในหมู่บ้าน ต้องมาทำนาที่อื่น ดังนั้นคำกล่าวอ้างที่ราชการอ้างมาชาวบ้านจึงเชื่อไม่ได้


 


นายวิวัฒน์ ตามี่ ผู้ประสานงานศูนย์ปฏิบัติการณ์ร่วมเพื่อแก้ไขปัญหาประชาชนบนพื้นที่สูง(ศปส.) กล่าวว่า ตอนนี้ชาวบ้านนาอ่อนยังสามารถอาศัยอยู่ในหมู่บ้านได้ เพราะเมื่อวันที่ 12 ธ.ค. 2549 ที่ผ่านมา ทางคณะกรรมการสิทธิ์ฯ ได้ประชุมร่วมกับจังหวัด ป่าไม้ ทหาร และองค์กรที่เกี่ยวข้อง ซึ่งได้ข้อสรุปว่าให้มีการตั้งคณะกรรมการร่วมเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงและแก้ไขปัญหา ซึ่งระหว่างนี้ห้ามเจ้าหน้าที่จับกุมดำเนินคดีหรือสั่งอพยพชาวบ้านจนกว่ากระบวนการตรวจสอบของคณะกรรมการและแล้วเสร็จ ขณะเดียวกันชาวบ้านก็ห้ามขยายพื้นที่ทำกินเพิ่ม แต่ทว่าปัจจุบันการดำเนินการของคณะกรรมการชุดนี้ยังไม่มีเรื่องใดคืบหน้า ยังไม่มีการตรวจสอบปัญหาใดๆทั้งสิ้น


 


นายวิวัฒน์ กล่าวต่อว่า อีกทั้งเมื่อวันที่ 20 ก.พ.ที่ผ่านมานี้ตนทราบจากชาวบ้านนาอ่อนว่าทาง อ.เวียงแหงได้เรียกประชุมชาวบ้าน โดยแจ้งให้ชาวบ้านย้ายกลับไปอยู่หมู่บ้านเดิม หากยังไม่ย้ายทางอำเภอจะตัดความช่วยเหลือในทุกๆด้าน หากชาวบ้านคนใดมีปัญหาหรือความเดือดร้อนก็ให้ไปแจ้งคณะกรรมการสิทธิ์ฯ แทน ซึ่งเรื่องที่เกิดขึ้นสร้างความไม่พอใจแก่ชาวบ้านเป็นอย่างมาก และที่สำคัญตอนนี้ทาง อ.เวียงแหง พยายามให้ชาวบ้านนาอ่อนเป็นแพะ เพราะหากที่ใดมีการบุกรุกป่าก็จะกล่าวหาว่าคนนาอ่อนเป็นคนทำโดยไม่มีการตรวจสอบข้อเท็จจริง ทั้งที่พื้นที่บริเวณนั้นมีพื้นที่ติดต่อกับหลายหมู่บ้าน ดังนั้นหรณีที่เกิดขึ้นถือว่าเจ้าหน้าที่กำลังใช้อำนาจกดดันให้ชาวบ้านนาอ่อนอพยพออก โดยที่ไม่สนใจคณะกรรมการตรวจสอบแก้ไขปัญหาที่ตั้งขึ้นมา


 


อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในที่ประชุมครั้งนี้มีข้อสรุปว่าให้คณะกรรมการที่แต่งตั้งมานั้นไปดำเนินการรังวัดพื้นที่ กันแนวเขตหมู่บ้านและพื้นที่ทำกินออกมาให้ชัดเจนก่อน เพราะสามารถตรวจสอบได้ว่าพื้นที่ทำกินและที่อยู่อาศัยของชาวบ้านมีเนื้อที่เท่าไรและหากมีการบุกรุกเพิ่มก็สามารถตรวจสอบได้ ซึ่งการรังวัดดังกล่าวจะดำเนินการในวันที่ 27-28 มี.ค.นี้ หลังจากนั้นจะทำการประชุมคณะกรรมการทั้งหมดในการแก้ไขปัญหาในวันที่ 3 เม.ย.นี้ต่อไป


 


อนึ่ง นโยบายการอพยพชาวบ้านนาอ่อนออกจากพื้นที่นั้นเป็นผลมาจาก เจ้าหน้าที่รัฐนำโดยเจ้าหน้าที่โครงการหลวงแปกแซม ทหาร จาก ร.7 พัน 2 แปกแซม เจ้าหน้าที่ป่าไม้อุทยานแห่งชาติเชียงดาว ผู้ใหญ่บ้าน ม.6 บ้านแปกแซม และผู้ใหญ่บ้านเปียงหลวง หมู่ 1 ได้ประชุมร่วมกันและมีคำสั่งให้อพยพชาวบ้านนาอ่อน หมู่ 1 ต.เปียงหลวง อ.เวียงแหง จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นหมู่บ้านชาวเขาเผ่าลีซู 13 หลังคาเรือน 52 คนอพยพออกจากหมู่บ้านให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 30 พ.ย.2549 ที่ผ่านมา โดยอ้างว่าชาวบ้านนาอ่อนบุกรุกป่าอุทยานแห่งชาติเชียงดาว และหมู่บ้านยังอยู่ในเขตพื้นที่ของสถานีสาธิตและถ่ายทอดการเกษตร ป่าไม้ สิ่งแวดล้อม ตามพระราชดำริ บ้านแปกแซม ดังนั้นภายใต้นโยบายการจัดระเบียบชุมชนของสถานีฯ จำเป็นต้องอพยพชาวบ้านนาอ่อนทั้งหมดออก


 


กรณีที่เกิดขึ้นชาวบ้านนาอ่อนได้ร้องเรียนต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ เครือข่ายลีซูแห่งประเทศไทย รวมทั้งคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ(กสม.) โดยแจงว่าชาวบ้านไม่ได้บุกรุกป่าตามที่เจ้าหน้าที่กล่าวอ้าง ส่วนกรณีพื้นที่หมู่บ้านอยู่ในเขตสถานีสาธิตและถ่ายทอดการเกษตร ป่าไม้ สิ่งแวดล้อม ตามพระราชดำริ บ้านแปกแซมนั้น แท้จริงแล้วชาวบ้านอาศัยอยู่ในพื้นที่ดังกล่าวก่อนที่สถานีฯจะมาตั้งด้วยซ้ำ


 


กระทั่งวันที่ 12 ธ.ค. 2549 ที่ผ่านมา นายชัยพันธุ์ ประภาสะวัตร ผอ.สถาบันเพื่อสิทธิชุมชน ในฐานะอนุกรรมการประสานงานฐานทรัพยากรด้านสิทธิในการจัดการที่ดินและป่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) และได้ประชุมส่วนราชการที่เกี่ยวข้องกับการอพยพชาวบ้านนาอ่อน ซึ่งที่ประชุมครั้งนั้นได้ข้อสรุปร่วมกันว่า 1.ให้แต่งตั้งคณะทำงานขึ้นมา 1 ชุด โดยมีองค์ประกอบคณะทำงานจาก 3 ภาคส่วน คือ ตัวแทนภาครัฐราชการ ตัวแทนคณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และตัวแทนราษฎรในพื้นที่ มีอำนาจหน้าที่เพื่อศึกษาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับความเป็นมาและสถานะของที่ดินอันเป็นมูลเหตุกรณีอย่างรอบด้าน โดยกระบวนการมีส่วนร่วมร่วมของทุกภาคส่วน โดยให้คณะทำงานฯมีระยะเวลาการดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 60 วันทำการนับจากมีคำสั่งแต่งตั้ง


 


2.ระหว่างการดำเนินการของคณะทำงานให้ราชการยุติการอพยพชาวบ้านจนกว่าการดำเนินการจะแล้วเสร็จ 3.ระหว่างการดำเนินการของคณะทำงานให้ชาวบ้านยุติการก่อสร้างอาคารบ้านเรือนเพิ่มเติมและห้ามบุกรุกทำประโยชน์ที่ดินเพิ่มเติม แต่ในพื้นที่ทำกินเดิมชาวบ้านสามารถใช้ประโยชน์ได้ตามปกติ 4.ให้ชาวบ้านเป็นหูเป็นช่วยเจ้าหน้าที่ในการเฝ้าระวังและแจ้งเหตุหากมีการตัดไม้ทำลายป่าในพื้นที่.


 


 


 


 


 


ที่มา สำนักข่าวประชาธรรม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net