จดหมายจากผู้อ่าน :จดหมายฉบับหนึ่งถึง "มติชน"

20 มี.ค. 2550

 

ถึงกองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์มติชน

           

ผมเป็นผู้ติดตามหนังสือพิมพ์มติชนมาโดยตลอดตั้งแต่เริ่มเป็นวัยรุ่นที่พอจะมีสำนึกทางการเมือง ก็ชื่นชอบและชื่นชมมติชนทำหน้าที่แบบนักหนังสือพิมพ์มืออาชีพ(professionalism) นำเสนอข่าวสารสาระโดยมุ่งเป้าหมายด้านคุณภาพแก่สังคมมาก่อนผลกำไร กล้าที่จะเสนอข่าวสารที่ท้าทายกลุ่มอิทธิพลทางการเมืองมาโดยตลอด ต่างจากหนังสือพิมพ์ "เศษกระดาษ" หัวสีบางฉบับที่เน้นแต่ยอดขายด้วยข่าวเร้าอารมณ์อย่างไม่มีความรับผิดชอบต่อสังคม

 

โดยปกติแล้ว ผมเป็นคนที่ไม่ชอบเขียนถึงสิ่งที่มีลักษณะดูเป็น "ทางการ" ใดๆทั้งสิ้นเว้นแต่รายงานที่ทำส่งอาจารย์ที่มหาวิทยาลัย แต่ที่ต้องเขียนมาวันนี้ก็เนื่องด้วยความคับอกข้องใจภายหลังจากที่ได้อ่านมติชนรายวัน ฉบับวันอังคารที่ 20 มีนาคม พ.ศ.2550

           

"ม็อบสนามหลวงลามปาม ไล่พล.อ.เปรม" (เน้นข้อความโดยผู้เขียน)

ผมทราบดีอยู่แล้วว่าในความเป็นจริงนั้น มันไม่เคยมีการมองโลกที่ "เป็นกลาง" (neutral) หรือเป็น "วัตถุวิสัย" (objectivity)  คนเรานั้นรับรู้โลกได้ก็ด้วยตำแหน่งแห่งที่ที่เขายืนอยู่ มองเห็นและรับรู้สิ่งต่างๆได้จากจุดยืนนั้นๆ ซึ่งหากจะถามว่างั้นใครเล่าที่จะ "เป็นกลาง" ก็เห็นจะมีแต่มุมมองแบบพระเจ้า (God"s eyes view) เท่านั้นกระมัง

 

งานหนังสือพิมพ์เองก็เช่นกัน ที่ย่อมหนีไม่พ้นการนำเสนอ "เรื่องเล่า" ต่างๆที่ล้วนเต็มไปด้วยอคติและค่านิยมที่เกิดจากประสบการณ์ที่สั่งสมขึ้นมาบนทางเดินที่หนังสือพิมพ์นั้นๆได้เติบโตมา ซึ่งอคติและค่านิยมเล่านี้สังเกตเห็นได้ชัดเจนที่สุดก็ตั้งแต่ตอนที่กองบรรณาธิการ "เลือก" ว่าเหตุการณ์หรือปรากฏการณ์ใดควรจะถูกนำไปเขียนเป็นข่าว เช่น กองบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์บางฉบับเลือกที่จะเขียนข่าวคนขอหวยกับลูกวัวเกิดใหม่ที่มีสองหัวลงหน้าหนึ่ง ส่วนอีกฉบับเลือกที่จะเขียนข่าวชาวบ้านเลี้ยงปลาผู้เดือดร้อนจากน้ำเน่าลงหน้าหนึ่งแทน

 

นอกจากนี้ อคติและค่านิยมต่างๆสามารถแสดงออกมาอย่างชัดเจนผ่านการ "เลือก" ใช้ภาษาหรือถ้อยคำที่เฉพาะเจาะจง ซึ่งภาษาหรือถ้อยคำนั้นๆจะเป็นตัวกำหนดกำกับการรับรู้และความเข้าใจที่เรามีต่อปรากฏการณ์ต่างๆ เช่น การที่หนังสือพิมพ์ต่างๆในไทยใช้คำเรียกคณะทหารที่ใช้รถถังและกำลังพลยึดอำนาจจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งว่า "คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ"(คมช.) ในขณะที่สื่อจากโลกตะวันตกเรียกว่า "junta" หรือ "คณะทหารเผด็จการ" ซึ่งถ้อยคำที่เรียกต่างกันนี้ให้ความหมายและความรู้สึกต่อผู้อ่านต่างกันอย่างลิบลับ

 

โดยส่วนตัวผมเอง เท่าที่ผ่านมาก็รู้สึกพึงพอใจในระดับหนึ่งต่อจุดยืนและการทำหน้าที่นักหนังสือพิมพ์ของมติชน ในด้านที่มุ่งเสริมสร้างกระบวนการประชาธิปไตย กล้านำเสนอความเห็นและมุมมองที่แตกต่าง เปิดให้มีพื้นที่แห่งการปะทะปฏิสังสรรค์ทางการเมืองที่สร้างสรรค์

 

แต่การพาดหัวว่า "ม็อบสนามหลวงลามปาม ไล่พล.อ.เปรม" ของมติชนที่ผมได้กล่าวไว้ในตอนต้นนั้น ทำให้ผมรู้สึกว่ามติชนกำลังทำสิ่งที่เป็นการถอยหลังลงคลองพร้อมๆกันกับการลดทอน "คุณภาพ" ของหนังสือพิมพ์ที่เรียกตัวเองว่า "หนังสือพิมพ์คุณภาพ เพื่อคุณภาพของประเทศ"

 

ประการแรกเลยคือการเลือกใช้คำว่า "ม็อบ" ไปเรียก กลุ่มผู้คัดค้านไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยา 49 นั้น เป็นการจงใจที่จะบิดเบือนและทำลายความหมายในการเคลื่อนไหวทางการเมืองครั้งนี้อย่างชัดเจน มติชนเลือกที่จะนิยามกลุ่มประชาชนที่มารวมตัวกันอย่างหลวมๆเพื่อเคลื่อนไหวทางการเมืองโดยมีเป้าหมายร่วมกันอย่างหนึ่งคือ คัดค้านการรัฐประหารของคณะทหารที่ฉีกรัฐธรรมนูญที่ร่างขึ้นมาโดยตัวแทนที่ชอบธรรมของประชาชน ให้กลายเป็นเพียงแค่ "ม็อบ" ซึ่งตามความรับรู้ของคนทั่วไปแล้วก็คือกลุ่มผู้ประท้วงดาษดื่นธรรมดาที่มาทำให้รถติดและส่งเสียงดัง

 

จาก "กลุ่มประชาชนที่เรียกร้องกระบวนการประชาธิปไตย" ก็ถูกมติชนทำให้กลายเป็นเพียง "ม็อบสนามหลวง"

 

ประการถัดมาคือการเลือกที่จะเรียกการที่กลุ่มประชาชนดังกล่าวออกมาต่อต้านบทบาทหลังฉากของพล.อ.เปรมที่มีต่อการรัฐประหารครั้งนี้ว่า "ลามปามพล.อ.เปรม" ซึ่งก็ชัดเจนอยู่แล้วว่าท่าทีของมติชนต่อการเคลื่อนไหวครั้งนี้เป็นเช่นไร

 

ในวัฒนธรรมแบบนับอาวุโสเช่นสังคมไทยนั้น คำว่า "ลามปาม" นั้น มีไว้ใช้กล่าวถึงกริยาอาการของเด็กเป็นการก้าวร้าวและไม่เคารพผู้อาวุโส ซึ่งเป็นความหมายเชิงลบ เป็นสิ่งที่ไม่พึงกระทำ

 

แต่สำหรับสังคมประชาธิปไตยนั้น อยู่บนฐานคิดที่ว่า "คนเราเท่ากัน", คนเรามีเหตุผลและสำนึกรู้ในการตัดสินใจของตน, เรื่องทางการเมืองไม่มีเด็ก/ไม่มีผู้ใหญ่ จะอายุเท่าไหนก็ล้วนเป็นปัจเจกบุคคลที่มีสิทธิทางการเมืองเสมอกัน ด้วยเหตุนี้เองเขาจึงกำหนดในการเลือกตั้งนั้น แต่ละคนมี 1 เสียงเท่ากันแทนที่จะเป็นการให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่มีอายุ 18-35 ปีมี 1เสียง, 36-50ปี มี 2 เสียง, 51ปีขึ้นไปมี 3 เสียง  

 

ดังนั้นการที่มติชนเลือกนิยามว่า "ม็อบสนามหลวงลามปาม ไล่พล.อ.เปรม" จึงเป็นการเลือกถ้อยคำที่มิได้มาจากฐานคิดแบบประชาธิปไตย หากแต่เป็นฐานคิดแบบนับอาวุโส (ผู้เยาว์ต้องเชื่อฟังผู้อาวุโส)

 

แม้ว่าพล.อ.เปรมมักถูกสื่อเรียกในภาษาข่าวว่า "ป๋า" แต่ในการเมืองแบบประชาธิปไตยแล้ว พล.อ.เปรม ก็ไม่ใช่ "พ่อ" ของกลุ่มผู้ชุมนุมต้อต้านคณะทหารเผด็จการที่ทำการรัฐประหาร ที่การตั้งคำถามหรือไม่เห็นด้วยกับบทบาททางการเมืองของพล.อ.เปรม จะถือเป็นการ "ลามปาม" ลองคิดกลับกันบ้างสิ ว่าหากสมัยรัฐบาลที่แล้วมีสื่อพาดหัวข่าวว่า "ประชาธิปัตย์ลามปาม ตั้งกระทู้ไม่ไว้วางใจพ.ต.ท. ทักษิณ" ประชาธิปไตยไทยจะเป็นเช่นไร

 

สิ่งที่ได้กล่าวมานี้ทำให้ผมรู้สึกถึงท่าทีที่เปลี่ยนไปของมติชน ซึ่งแม้ในทางหนึ่งผมก็พอจะเข้าใจมติชน ที่ว่าความเลวร้ายของสิ่งที่เรียกว่า "ระบอบทักษิณ" นั้นทำให้ผู้คนจำนวนมากไม่สนใจว่าจะเป็นวิธีการใด ขอเพียงแต่เอาระบอบนี้ออกไปให้ได้ก่อน แต่อีกทางหนึ่งผมก็อยากจะย้ำเตือนว่า "ระบอบทักษิณ" นั้น เป็นเพียงปรากฏการณ์หนึ่งอันเป็นผลผลิตจากสังคมไทย ผลผลิตจากวุฒิภาวะทางการเมืองของพลเมืองไทย ซึ่งทางออกที่ยั่งยืนนั้น ไม่สามารถได้มาด้วยวิธีการฉาบฉวย คิดสั้น เพราะสิ่งที่เราจะได้คือ "อัปรีย์ไป จัญไรมา" หากแต่เราจะต้องยึดมั่นในกระบวนการประชาธิปไตย (อันเป็นกระบวนการที่ไม่มีวันจบสิ้น) ที่ประชาชนแต่ละคนจะสามารถบอกด้วยตัวเองได้ว่า อะไรคือความต้องการผลประโยชน์ของเขา  สามารถกำหนดตัดสินใจเลือกทางออกจากปัญหาต่างๆด้วยตัวของเขาเอง ไม่ใช่ให้กลุ่มคนเพียงหยิบมือมาชี้บอกว่า คนอีก 60 ล้านต้องการอะไรและควรจะได้อะไร

 

จากที่ผมได้กล่าวมาทั้งหมดนั้น ก็นำมาสู่คำถามสำคัญที่มีต่อมติชน คือคำถามว่าด้วยจุดยืนทางการเมือง มติชนไม่จำเป็นต้องมาใส่ใจในสิ่งที่ผมเขียนมาเลย หากจุดยืนของมติชนคือการเข้าได้กับทุกระบอบการเมือง (ไม่ว่าจะประชาธิปไตยหรือเผด็จการ ฉันก็ O.K.) แต่หากมติชนยังคิดว่าตนยังเลือกที่จะเป็นหนังสือพิมพ์ที่ยึดมั่นในประชาธิปไตย ส่งเสริมให้อำนาจกำหนดตัดสินชะตาชีวิตของประชาชนเป็นของตนเอง ก็ควรจะทบทวนถึงท่าทีการเขียนข่าวของตนเองด้วย

 

                                                                                        ด้วยความนับถือ

                                                                                    กฤษณะ  มณฑาทิพย์

           

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท