Skip to main content
sharethis

อรรคพล สาตุ้ม , ภฤศ ปฐมทัศน์ รายงาน


 



อาจารย์ประมวล เพ็งจันทร์


 


เมื่อวันที่ 10-11 มีนาคม ที่ผ่านมา งาน "เดิน...สู่อิสรภาพ" ถูกจัดขึ้นเพื่อเปิดตัวหนังสือชื่อเดียวกันของ อาจารย์ ประมวล เพ็งจันทร์ จัดโดยสำนักพิมพ์ สุขภาพใจ ซึ่งอุตส่าห์เดินทางมาไกลจากกรุงเทพฯ เพื่อมาจัดงานนี้ถึงเชียงใหม่โดยเฉพาะ


           


ช่วงเช้าของวันที่ 10 มีนาคมเริ่มต้นด้วยกิจกรรม "ไหว้พระ 9 วัดเพื่อวัดก้าว ให้รอยเท้าคุยกับหัวใจ" เป็นการเดินทางเท้าทางใกล้จากวัดพระสิงห์ ถึงวัดหมื่นล้าน มี อาจารย์ประมวล รวมถึงมิตรสหาย , สื่อมวลชน และผู้สนใจทั่วไปร่วมเดิน


           


ส่วนในช่วงบ่าย มีเวทีสนทนา "จากเชียงใหม่ถึงเกาะสมุย 66 วัน กับ 1,000 กิโลเมตร เมื่อสองเท้าสัมพันธ์กับหัวใจ...มีของฝากอะไรจากริมทาง?" เวทีเปิดด้วยการร้องเพลงจากบรรดาลูกศิษย์และการอ่านบทกวีจาก แสงดาว ศรัทธามั่น นักเขียนเชียงใหม่ผู้มีฉายา "ขบถโรมานซ์" ประกอบเสียงเพลง


           







เดินสู่อิสรภาพ


 


เป็นน้ำตาแห่งความปิติประทับใจ อ่านงานเขียน แล้วร้องไห้คารวะคุณค่า


เมื่อ "ประมวล เพ็งจันทร์" คนเดินดินธรรมดา กล่าวคำอำลา ลูกศิษย์วันปิดห้องเรียน


มีทั้งรอยยิ้ม มีทั้งน้ำตา มีชีวิตชีวาคราพูดอ่าน เขียน


ปรัชญาชีวิตหยั่งเรียนรู้แสนพากเพียร ชีวีเปลี่ยนเปล่งปลั่งงาม ประกายแห่งปรัชญา


…เป็นหนึ่งเดียวกับโลกเอกภพจักรวาล


เป็นบทเพลงขับขานพลิ้วเพราะเจิดจ้า


เป็นชีวิตจิตวิญญาณ "ตถาตา"


รู้คารวะชีวิต ชีวา แม่พระธรรมชาติจบให้


เดินสู่อิสรภาพ..ดวงใจเอิบอาบ ผุดผ่องใส


เย็น นิ่งลึก ปลดปล่อยวางว่างหทัย จิตวิญญาณหัวใจครูแกล้วกล้า


"เพ็งจันทร์" จันทร์เพ็ญ ทอแสงสว่าง


เรืองรองเจือโอบกอดโลกหล้า


หลอมรัดโลกเอกภาพจักรวาล หลอมวิญญาณ์


หลอมชีวิตคุณค่างดงามแล้ว!


......


ด้วยจิตคารวะ รัก+พลังใจ


อ้าย "แสงดาว ศรัทธามั่น"


คิมหันตกุล, 8 มี.. 50 วันสตรีสากล


ล้านนาอิสระ,เจียงใหม่


 


 


ก่อนจะเริ่มเข้าสู่กิจกรรมสนทนาซึ่งได้ อาจารย์ ประมวล เพ็งจันทร์ มาเป็นผู้เล่าประสบการณ์การเดินทาง นอกจากนี้ยังมีผู้ร่วมสนทนาคือ วิรัช หรรษาศิริพจน์ พนักงานบริษัทเอกชนใน จ.กำแพงเพชร ผู้ที่เคยมีน้ำใจเลี้ยงอาหารอาจารย์ประมวลและแอบเอาเงินใส่เป้ให้อาจารย์ (อ้างอิงจากหนังสือหน้า 219-234) และ อาจารย์สมปอง เพ็งจันทร์ ภรรยาอาจารย์ ประมวล ผู้ดำเนินรายการคือ คุณนฤมล มั่นวงศ์วิโรจน์ ผู้ประกาศข่าวช่อง 11 เชียงใหม่


 


หนังสือเรื่อง "เดิน...สู่อิสรภาพ" พูดถึงรายละเอียดการเดินทางของตัวอาจารย์ประมวลเองในรูปแบบสารคดีกึ่งบันทึก ตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ สุขภาพใจ มีลูกศิษย์จำนวนหนึ่งร่วมเขียนคำนำรวมถึงช่วยเหลือในกระบวนการทำหนังสือ เนื้อหาเล่าตามลำดับเวลาเริ่มตั้งแต่บรรยากาศของการสอนเป็นวันสุดท้ายก่อนที่จะลาออกจากราชการ การเตรียมตัวเริ่มออกเดินทาง ไปจนถึงสิ้นสุดการเดินทางที่เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี บ้านเกิดของอาจารย์ในที่สุด


 


หนังสือเล่มนี้เขียนขึ้นในช่วงเวลาหลังจากที่ อาจารย์ประมวล ได้เดินทางจนถึงจุดหมายดั่งที่ตั้งใจไว้ และกลับมาอยู่ที่เชียงใหม่ โดยอาศัยพำนักที่วัดอุโมงค์เป็นที่เขียนเรื่องราวประสบการณ์จากการเดินทางเท้าในช่วงปีที่ผ่านมา


 


อาจารย์ประมวลได้พูดถึงความรู้สึกของอาจารย์ในช่วงที่เขียนหนังสืออยู่ที่วัดอุโมงค์ไว้ดังนี้


 


"ความรู้สึกตอนที่ผมเขียนหนังสืออยู่ที่วัดอุโมงค์นี้ ผมรู้สึกซาบซึ้ง เวลาก่อนที่ผมจะเขียนหนังสือ ผมจะอ่านบันทึกที่ผมพกติดตัวไปด้วยตอนเดินทางก่อน พออ่านบันทึกแล้วมันจะมีความรู้สึกเหมือนเราสำนึกในบุญคุณของคนเหล่านั้น ความสำนึกที่ผมมีนั้นเป็นความรู้สึกที่อยากบอกเพราะะว่า แต่การบอกไม่ใช่บอกตรง ๆ ใช่ไหม บอกให้รู้ว่าผมตื้นตันบอกให้รู้บางสิ่งบางอย่าง เป็นความรู้สึกที่ร้อยเรียง"


 


ช่วงที่อาจารย์ยังสอนอยู่ในมหาวิทยาลัยก่อนหน้าที่จะออกหนังสือเล่มนี้ อาจารย์ได้ทำหนังสือเล่มหนึ่งเกี่ยวกับแม่ของอาจารย์เองในชื่อ "นม" ซึ่งเป็นหนังสือที่บรรดาเหล่าลูกศิษย์ต่างสมัครใจช่วยเหลือการจัดหน้า ตรวจรูปเล่มกัน ถึงแม้จะไม่เป็นที่รู้จักแพร่หลายนัก แต่ก็ได้สื่อถึงความรู้สึกที่มีต่อแม่ผ่านทางงานเขียน ซึ่งอาจารย์ได้นำมาพูดเทียบกับเรื่อง "เดิน...สู่อิสรภาพ" ที่พูดถึงความรู้สึกที่มีต่อเพื่อนมนุษย์


 


"ตอนที่ทำหนังสือเรื่องนมเนี่ยนะครับ เป็นความรู้สึกที่ตอนนั้นผมระลึกถึงผู้หญิงคนหนึ่งที่เป็นแม่ ความรู้สึกตอนนั้นมันมีความหมาย มันมีความยาวนานในเชิงมิติของความสัมพันธ์ที่ยาวนาน แล้วความรู้สึกเช่นนี้นะครับเราเริ่มคิดว่าเราสามารถมีความรู้สึกเช่นนี้ได้กับเพื่อนมนุษย์ทุกคน แต่ว่ามันไม่ง่ายนัก เพราะมันมีระยะของความสัมพันธ์ กับแม่นี่เหมือนเป็นคนที่เราจะคิดถึงรำลึกถึงอะไรหลาย ๆ เรื่องได้ เพราะแม่อยู่ใกล้ชิดกับเรา แต่กับเพื่อนมนุษย์ เราจะต้องตกอยู่ในสถานการณ์บีบคั้นพอสมควร เช่น เราหิวข้าวสุด ๆ แล้ววันหนึ่ง เขาเอาข้าวมาให้เราด้วยความรู้สึกอยากให้เรากินข้าว อยากให้เราอิ่ม ทั้งที่ความรู้สึกแบบนี้มันก็อยู่ในใจแม่เราเหมือนกัน เมื่อลูกหิวแม่ก็อยากให้ลูกกิน เมื่อลูกหนาวแม่ก็อยากให้ลูกอุ่น เมื่อลูกเจ็บปวดแม่ก็อยากให้ลูกหาย ความรู้สึกแบบนี้มันมีอยู่ในแม่ แต่ในความรู้สึกของเพื่อนมนุษย์เนี่ยมันไม่เกิดทันที มันต้องทำให้ตกอยู่ในสถานการณ์บางสิ่งบางอย่าง เช่นเวลาที่เราลำบากมาก ๆ เสียก่อน"


 










 



 


ประมวล เพ็งจันทร์ ผู้ชายธรรมดาๆ ผู้ตัดสินใจยุติบทบาทการเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยในวันคล้ายวันเกิดอายุ 51 ปีของเขา เพื่อออกเดินเท้าจากเชียงใหม่กลับสู่ บ้านเกิดที่เกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี ด้วยเงื่อนไข


1. ไม่พกเงินติดตัว


2. ไม่เดินไปหาคนรู้จัก หากคนรู้จักอยู่ที่ไหนก็จะหลีกเลี่ยง


3. ไม่ร้องขออาหาร เว้นแต่มีผู้หยิบยื่นให้เองโดยไม่เดือดร้อน


4. ไม่เบียดเบียนใคร หรือสิ่งใด


5. ไม่กำหนดเวลา


6. ไม่วางแผนการเดินทาง หรือกำหนดเส้นทางที่แน่ชัด


 


ตลอดเส้นทางเดินเท้ากว่า 1,000 กิโลเมตร เหตุการณ์น่าระทึกใจต่างๆ เกิดขึ้นมากมาย


 


และอีกหลากหลายเรื่องราวการเดินทาง ซึ่งเป็นจุดพลิกชีวิต ให้ผู้เขียนได้พบบทเรียนอันมีค่าและท้าทายที่จะประทับอยู่ในความทรงจำไปอีกนานแสนนาน


 


๕๐ ปี ๖๖ วัน กับกว่า ๑,๐๐๐ กิโลเมตร


ร่วมผจญภัยเพื่อหลุดพ้นวังวนแห่งความทุกข์


 


หนังสือที่จะนำเราหันกลับมาสำรวจใจตัวเองกันมากขึ้น ทำให้ทุกๆ ก้าวย่างของชีวิตเป็นก้าวย่างที่เบิกบานมองผู้คนและสิ่งต่างๆ เปลี่ยนไปโดยไม่รู้ตัว


 · เฉียดตายจากการเดินเท้าขึ้นดอยอินทนนท์


 · นอนร่วมกับหมาขี้เรื้อน


 · ต้องทนหิว เพราะไม่มีข้าวกินอยู่ถึง 3 วัน


 · ถูกชาวบ้านและตำรวจล้อมตัวกลางดึก


 · ถูกสงสัยว่าเป็นคนบ้า บ้างก็ว่าเป็นขโมย เป็นสายสืบ


 


ประมวล เพ็งจันทร์ คนตัวเล็กๆ แต่เปี่ยมด้วยปณิธานยิ่งใหญ่คนนี้ ได้ตัดสินใจยุติบทบาทการเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยซึ่งเป็นที่เคารพรักของนักศึกษาเป็นอย่างมาก ในวันคล้ายวันเกิดอายุ ๕๐ ปีของเขา เพื่อออกเดินเท้าจากเชียงใหม่สู่เกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี ด้วยเงื่อนไขที่ว่า


 - จะไม่เดินไปหาคนรู้จัก หากคนรู้จักอยู่ที่ไหนก็จะหลีกเลี่ยง


 - จะไม่พกเงินติดตัวสักบาท


 - จะไม่ร้องขออาหารจากใคร ยกเว้นมีผู้หยิบยื่นให้เองโดยไม่เดือดร้อน


ตลอดเส้นทางเดินเท้ากว่า ๑,๐๐๐ กิโลเมตร รวมระยะเวลา ๖๖ วัน ได้ถูกบันทึกและเรียบเรียงออกมาเป็นหนังสือเล่มนี้ เพื่อบอกเล่าเรื่องราวแห่งชีวิตที่ท้าทาย และน่าจดจำ และยังเป็นเสมือนจดหมายขอบคุณจากผู้เขียนถึงผู้ให้ความเมตตาอาทรในตลอดเส้นทาง (ที่มา : http://www.booktime.co.th)


 


สุดท้าย อาจารย์ประมวลก็ได้พูดถึงตัวหนังสือเล่มนี้ไว้ว่า อยากจะให้เป็นผลงานที่มาจากประสบการณ์ เนื่องจากงานวรรณกรรมสมัยนี้เกิดจากจินตนาการเสียเป็นส่วนมาก และถึงแม้จะเป็นไม่ได้หวังว่าจะถึงขั้นเปลี่ยนแปลงสังคมได้ แต่อย่างน้อยก็อยากให้ผู้อ่านได้รับรู้สึกด้านที่สวยงามของมนุษย์


           


"กับงานเขียนชิ้นนี้ก็ไม่ได้คาดหวังในลักษณะหวังผล แต่คิดว่าถ้าหนังสือได้เผยแพร่ก็น่าจะ เป็นอะไรเล็ก ๆ น้อย ๆ ในวงวรรณกรรม เพราะบางครั้งงานเขียนในวงวรรณกรรมก็เกิดจากจินตนาการ ไม่มีฐานอะไรบางอย่าง ไม่ได้ถึงขั้นหวังว่ามันจะมีผลกระทบอะไรกับสังคม แต่เป็นในระดับที่ให้เราได้ร่วมทำสิ่งดี ๆ กัน เป็นประสบการณ์ที่ได้พบเจอกับความงดงามของมนุษย์ ซึ่งบางทีเราคิดเอา แต่วันหนึ่งผมได้สัมผัสมันจริง ๆ ก็ไม่ได้คาดหวังอะไรมาก แค่อยากให้อย่างน้อยนักศึกษาเราเนี่ย ได้รับรู้ว่า ครูของเขาคนหนึ่งทำเช่นนี้แล้วเกิดความรู้สึกเช่นนี้ เขาอาจจะมีวามรู้สึกดี ๆ กับเพื่อนมนุษย์เพื่มขึ้นครับ น่าจะบอกว่าหวังอะไร หวังจะเห็นความสัมพันธ์ที่ดีงานระหว่างเพื่อนมนุษย์ แล้วสิ่งนี้มันเกิดขึ้นได้"


 


อัลลีน เฉลิมไชยกิจ บรรณาธิการหนังสือ "เดิน...สู่อิสรภาพ" จากสำนักพิมพ์สุขภาพใจ ได้พูดถึงการทำงานด้านรูปเล่มของหนังสือเล่มนี้ และบอกว่าเป็นงานที่ทำอย่างมีความสุข


 


"สำหรับบรรณาธิการเล่ม ก็ไม่ได้แก้เนื้อหาอะไรมาก เพราะอาจารย์เขียนมาดีอยู่แล้ว ก็จะเน้นบริหารมากกว่าว่า จะออกแบบปกยังไงให้สวย ตอนแรกว่าจะวาดเอาสีน้ำแต่ก็ไม่ลงตัว เลยใช้รูปจริงที่ถ่ายจากชะอำดีกว่า เพราะถ้าเป็นภาพวาดบางคนจะคิดว่าเป็นนิยายเพราะหนังสือมันเล่มหนา


 


"สิ่งที่ได้จากการเป็นบรรณาธิการหนังสือเล่มนี้ก็คือ มันแตกต่างจากหนังสือเล่มอื่นตรงที่ เราไม่ต้องกังวลเรื่องค่าตอบแทนที่เป็นเม็ดเงินเลย ถ้าเป็นโดยทั่วไปเราต้องคำนึงเรื่องการตลาดอีกว่า นักเขียนจะพอใจกับที่เราจัดการให้เขาไหมหรืออะไร แต่งานนี้เป็นการทำงานที่สบายใจมาก เพราะไม่ว่าจะทำอะไรที่อาจารย์เห็นว่าเหมาะสมเนี่ย อาจารย์จะเห็นด้วยเสมอ มันไม่มีความกดดันเลย เหมือนกับที่เขียนในคำนำสำนักพิมพ์ว่าทุกคนมีรอยยิ้มตลอดเส้นทาง แล้วเป็นหนังสือพิเศษตรงที่ว่า ทุกคนที่เข้ามาร่วมทำ ทำด้วยใจจริง ๆ อย่างลูกศิษย์ ก็เข้ามาวาดรูปให้ จัดหน้าให้ เราก็เข้ามาเก็บตกที่ยังไม่เรียบร้อย แล้วก็เข้ามาทำปก แล้วอาจารย์เทพศิริ สุขโสภาที่เข้ามาอยากวาดรูปด้วยอะไรอย่างนี้ เหมือนกับเราไม่ต้องไปขวนขวายหาภาพประกอบเลย คือมีคนเขียนภาพประกอบให้อยู่แล้ว เป็นหนังสือที่วิเศษมาก ทำงานมีความสุข"


           


บรรณาธิการของหนังสือเล่มนี้ยังได้ทิ้งท้ายอีกว่า การได้อ่านหนังสือเล่มนี้ทำให้เกิดความเข้าใจในเรื่องของคุณค่าความดีว่า เป็นเรื่องของความรู้สึก เรื่องของจิตใจ ไม่ใช่เรื่องที่มาจากสมอง


           


"เนื้อหาของหนังสือเล่มนี้ ถ้าถามว่าคนอ่านได้อะไร โดยส่วนตัว อ.ประมวล เค้าไม่ได้คาดหวังว่าคนอ่านจะได้อะไร แต่เค้าอยากจะทำสิ่งที่เค้าอยากจะทำ แต่เวลาเราอ่านแล้ว ปฏิเสธไม่ได้ว่าชีวิตมันเปลี่ยนไปโดยไม่รู้ตัว เพราะว่าเป็นเรื่องความรู้สึก เมื่อก่อนเราเคยรู้สึกว่าเราจะต้องทำอย่างงั้นอย่างงี้เพราะว่ามันเป็นสิ่งที่ดี เพราะเราคิดจากสมอง แต่คราวนี้พอเราอ่านหนังสือแต่ละเล่มก็บอกเราว่า ให้ปล่อยวาง ให้เมตตา แล้วมันไม่เข้าไปถึงใจ มันเหมือนบอกเราแค่นั้นเอง ว่าเราต้องทำดีแล้วเราก็ทำไม่ค่อยได้ เพราะมันเป็นความดีที่เราต้องใช้สมองคิด พอเราเลือกที่จะทำดีโดยความคิดจากสมอง มันจะทำยากเพราะมันไม่ใช่ธรรมชาติออกมาจากใจ พออ่านหนังสือเล่มนี้แล้วทำให้... สิ่งที่สื่อความรู้สึกของอาจารย์ คือเขาไม่ใช้เหตุผล แต่เขาใช้ความรู้สึก แล้วเวลาเราอ่านเราก็จะติดความรู้สึกนั้น ก็คือ รู้สึกว่าเป็นเป็นอะไรดี ๆ ที่จะออกมาจากใจ ไม่ใช่สมองพวกความคิดเหตุผล"


           


ผู้ร่วมเขียนภาพประกอบของหนังสือเล่มนี้ อาจารย์เทพศิริ สุขโสภา ได้แสดงความเห็นหลังจากได้อ่านหนังสือเล่มนี้ โดยได้เปรียบความงามของรูปภาพกับการเขียนหนังสืออันเกิดจากการเดินสู่อิสรภาพว่า "ที่จริงแล้ว สิ่งที่เราอยากคาดหวังคือว่า อยากให้อาจารย์ประมวลไปเดินอาจจะในประเทศหรือนอกประเทศ เขาก็จะไปหยิบแง่มุมต่าง ๆ ออกมา เขาจะไม่พูดซ้ำหรอก อย่างมากก็ซ้ำอีกเล่มเดียว ผมเชื่อว่าถ้าคนทำงาน เดี๋ยวเขาจะพบมุมมองอื่นๆ ต่อไปการเดินของเขาอาจจะแยกภาคก็ได้ เดินอีสาน แยกไม่เหมือนภาคใต้ ที่นี่เขายังอยากเดินไหม เขาจะเดินได้อีกกี่เที่ยวเล่า พวกเราต้องพยายามให้อาจารย์ประมวลเดินอีก และเขาก็จะเป็นกระจกส่อง เขาจะไปหยิบเอามุมต่าง ๆ มาให้เราอีก เขาคงจะทำไปได้เรื่อยๆแหละ แบบคนที่เขียนรูป ไปไหนก็เขียนได้ หยิบมดมันก็เป็นเขียนได้ มันก็เป็นภาพที่สวยอีกแหละ ผมก็หวังว่า..."


             


อาจารย์เทพศิริ ก็พูดโดยกล่าวถึงเรื่องชีวิตของคน ที่ตัดสินใจไปสู่การหลุดพ้น เป็นเป้าหมายของการสะท้อนวิถีชีวิต โดยอธิบายรายละเอียดว่า


 


"โครงเรื่องของอาจารย์ประมวล เขามีเป้าอยู่ในใจก่อนแล้วที่กระหายอยากทำ คือการเดินเพื่อปลดปล่อยตัวเอง เดินเพื่อพบบางสิ่งบางอย่างที่เป็นการหลุดพ้น ไปสู่การหลุดพ้นเพื่อเข้าใจชีวิตบางอย่าง ถ้าไม่เดิน มันไม่เห็นภาพของการหลุดพ้น หลุดพ้นจากความซ้ำซาก ความจำเจ การอยู่ในห้องเรียนนานๆ สอนนักศึกษาแต่ละปี เราก็ต้องเอาเล่มเดิม บทเดิม จะไปเอาลึกกว่านั้นได้ไงเล่า ก็เตรียมมาสำหรับชั้นเรียนนั้น มันก็วนๆ มันก็เบื่อ ที่สำคัญบางคนเบื่อไม่รู้จะทำอย่างไร ต้องอยู่ตรงนั้น มันต้องผ่อนส่งรถผ่อนส่งบ้าน ความไม่พร้อมต่าง ๆ ไม่มีเงินเดือนไม่ได้อย่างน้อย แค่มุมมอง แค่ประเด็นการทิ้งสิ่งซ้ำซากจำเจ เพื่อไปหาสิ่งใหม่ อันนี้ขึ้นต้นก็มีบทเรียนสวยแล้ว คุณเหรอมีนักศึกษาคอยกราบคอยไหว้ ไปไหนคนเรียกอาจารย์ มีเกียรติ์ต่าง ๆ คุณต้องละจากต้องนี้ไป บางทีบางคนมันทำไม่ได้น่ะ ผมไปอยู่ในโลกของสถาบันการศึกษา ผมเห็นหลายคนจบเลย บางคนไปไม่เป็น เมื่อลาออกจากราชการ งง หมดเลย"


 


ท้ายที่สุด อาจารย์เทพศิริ ก็ได้กล่าวแนะนำหนังสือในแง่มุมของสุนทรียศาสตร์ ว่าเราต้องไม่ลืมความสวยงาม เหมือนภาพวาดในแต่ฉากของหนังสือ นอกจากนี้ยังควรช่วยกันสร้างบรรยากาศการอ่านหนังสือเล่มนี้ แล้วจัดวงเสวนา พูดคุยกันเรื่องหนังสือ เพื่อสะท้อนออกมาว่ามีความเห็นที่แตกต่างกันอย่างไร


 


 "มุมหนึ่ง…มุมแรกของอาจารย์ประมวล คือ กล้าที่จะหักใจ เพื่อไปสู่ปลายฝันของตัว คนที่เคยผ่านชีวิตพระมา รู้ดีว่าการธุดงค์ คืออะไร การธุดงค์ต้องมีเป้า และเราต้องไปให้ถึง ระหว่างทางต้องเราจะต้องเอาชนะความกลัว ความโกรธ ความหิวความโลภ ต่าง ๆ ตลอดทางเลย เอาชนะข้างในตัวเองเนี่ยแหละ อาจารย์ประมวลทำอย่างนั้น ในตอนขึ้นต้นได้สวย ระหว่างทางไป ได้พบเห็นแต่ละฉาก เวลาคุณดูเรื่องให้ดูเป็นฉากน่ะ คนเราเนี่ยไม่ว่าจะเป็นนิยาย มันจะเดินผ่านฉากหนึ่งไปสู่ฉากหนึ่ง แม้แต่ชีวิตของเรา มันจะผ่านฉากชีวิตเราจริง ๆ เช่น ผ่านสู่ฉากประถม แก่ก็ผ่านฉากมัธยม ตัวละครมันเปลี่ยน น่ะ ครู-เพื่อนคนละชุด ไปสู่มหาวิทยาลัยก็ว่าไป ดูเป็นตัวละครไป โดยอาจารย์ประมวลเดินไป ทุกฉาก ทุกตัวละคร อาจารย์ประมวล สามารถสะท้อนแง่มุม ซึ่งดูได้ง่ายแต่เราลืมสังเกต การพบคนแปลกหน้าสารพัด พบหมา พบแมลง อะไรของแกไม่รู้ มีแง่คิดหมด สวยงามมีแง่ชวนคิด เข้าใจชีวิตมากขึ้น เคยเกลียดก็แปรเปลี่ยนเป็นความรัก ความเห็นใจ ความเข้าใจ เคยรังเกียจหมาขี้เรื้อน พอถึงตัวเองป่วย ล้มลงไป โอ้ ! ร่างกายเรา ซึ่งมันจะตาย จะไร้ค่าอยู่แล้ว มันยังมีความอุ่น ที่เอื้อให้สัตว์ ที่มันลำบาก คือ หมาขี้เรื้อน ซึ่งมันมีขน มันอุ่นอยู่แล้ว มันหลุดไป เปลือยมาเอื้ออาศัยความอุ่นของร่างกายเรา ผมเล่าเป็นฉากๆ เหมือนไปเดินเอง แต่เราไม่ต้องเบียดหน้าที่อาจารย์ และคนอื่นอาจจะอ่าน และตั้งวง คุณอยากให้คนอื่นอ่านเยอะ ๆ คุณไปสนับสนุนการตั้งวง ใครมีมุมมอง มันมีความเข้มของการตั้งวงเสวนาแลกเปลี่ยนในเรื่องนี้."


 


รายงานย้อนหลัง


ประมวล เพ็งจันทร์ กับประสบการณ์นักเดินทางแห่งจิตวิญญาณ, ประชาไท, 17 กันยายน 2549

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net