Skip to main content
sharethis

วันอาทิตย์ที่ 25 มีนาคม 2550 ที่สมาคมศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ชาวบ้านจากเครือข่ายเกษตรทางเลือก เครือข่าวผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ เครือข่าย สลัม และเครือข่ายผู้บริโภค ราว 500 คน รวมตัวกันโดยนัดหมายเพื่อร่วมทำความเข้าใจอีกครั้งถึงประเด็นปัญหาเกี่ยวกับเอฟทีเอไทย-ญี่ปุ่น หรือ JTEPA ไม่ว่าเรื่องสิทธิบัตรจุลชีพ ของเสียอันตราย การลงทุน สาธารณสุข โดยที่ข้อตกลงฉบับนี้กำลังจะเข้า ครม. ในวันอังคารนี้ และน่าจะได้ลงนามในช่วงต้นเดือนเมษายนเมื่อนายกฯ เดินทางไปญี่ปุ่น


 


(รายละเอียดข้อห่วงใยเรียบเรียงไว้ใน "สมุดปกดำ" ซึ่งวางแจกภายในงาน ดาวน์โหลดได้ในเอกสารประกอบด้านล่าง)


 



 


เป็นการทำความเข้าใจก่อนที่ภาคบ่ายจะเคลื่อนขบวนไปยังสถานีโทรทัศน์ทีไอทีวี เพื่อทดสอบความเป็น "ทีวีสาธารณะ" ที่หลายฝ่ายเรียกร้องอยากให้เป็น โดยกลุ่มคน 500 คนนี้ต้องการให้ทีไอทีวีนำเสนอประเด็น JTEPA นี้ราวหนึ่งชั่วโมงครึ่ง เพื่อถกกันอย่างอย่างลึกซึ้ง กว้างขวาง ก่อนที่จะมีการลงนาม


 


ก่อนจะไปถึงไอทีวี ขอแวะที่เวทีอภิปรายช่วงเช้าเล็กน้อย เนื่องจากมีอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่าง "ประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์" มาร่วมด้วย


 


ประพัฒน์ยืนยันหนักแน่นว่า ประเทศไทย "ไม่มีความพร้อม" ที่จะลงนามข้อตกลง เนื่องจากไม่มีการจัดเตรียมระบบภายใน โดยเฉพาะในประเด็นของเสียอันตราย กรมควบคุมมลพิษภายใต้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมไม่มีอำนาจตรวจโรงงาน สารพิษที่นำเข้ามาทั้งหมดไม่ผ่านกรมควบคุมมลพิษแต่กลับไปผ่านกรมโรงงานอุตสาหกรรมโดยผลงานที่ผ่านมาปรากฏชัดว่าความน่าเชื่อถือของกรมโรงงานแทบจะไม่มี ดังนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ประเทศไทยต้องปฏิรูประบบกฎหมายก่อน


 


ประการต่อมา ประพัฒน์ระบุว่า พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรีพึงรับผิดชอบต่อประชาชนทั้งประเทศ ต้องกล้าหาญที่จะขัดใจข้าราชการ


 


"หากปล่อยเลยตามเลยไปตามเอกสารที่ส่งมา ผมเชื่อมั่นได้ว่า การขึ้นมาเป็นรัฐบาลชั่วคราวนี้จะสร้างความอัปยศอย่างยิ่ง หากเร่งรีบลงนามแล้วท่านจะรับไม่ไหว แค่นี้ก็มีเหตุผลเพียงพอที่นายกฯ จะไปพูดกับนายกฯ ญี่ปุ่นว่าขอเวลาศึกษาเรื่องนี้และสร้างความพร้อมให้มากกว่านี้" ประพัฒน์กล่าว


 


ขณะที่อดีต ส.ว. ไฟแรงอย่าง "ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ" ฟันธงตรงไปตรงมาว่า รัฐบาลนี้ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง จึงไม่มีสิทธิใดๆ ที่จะไปเซ็นสัญญาที่กระทบต่อประชาชนเป็นล้านคน อีกทั้งกระบวนการเจรจาที่เกิดขึ้นก็ไม่มีความโปร่งใส


 


"รัฐบาลหลายรัฐบาลเขารู้ว่าถ้าไปทำเอฟทีเอกับประเทศใหญ่ๆ ประเทศอุตสาหกรรม  มันเสียเปรียบลูกเดียว มีแต่รัฐบาลโง่ๆ และไม่สนใจต่อประชาชนเท่านั้นที่ยังจะทำ ในละตินอเมริกาไม่มีใครเอาแล้ว เขาอาศัย WTO แทน เพราะพื้นที่นี้มีการรวมกำลังของประเทศกำลังพัฒนาต่อรองได้ ชาวนาทั่วโลกสมานฉันท์กันต่อรองได้มีแต่เม็กซิโก ซึ่งทุกวันนี้จนลงกว่า 80% คนครึ่งค่อนจะฆ่ากันอยู่ทุกวันนี้"


 


"มีการอ้างผลประโยชน์ที่จะได้ด้านการส่งออกสินค้าเกษตร หากเปรียบเทียบกับตัวเลขที่รัฐบาลให้ว่า กรณีเอฟทีเอไทย-ออสเตรเลีย การส่งออกของไทยที่ส่งออกไปออสเตรเลียเพิ่มขึ้น 30% แต่ในจำนวนนั้น 99 % มาจากบริษัทใหญ่ๆ อย่างซีพี เซนทาโก"  


 


เขาระบุด้วยว่า สาเหตุความไม่พร้อมอีกประการหนึ่งคือ การคอรัปชั่นของข้าราชการ โดยเฉพาะในภาคการเกษตร ขณะนี้มีคดีหรือกรณีร้องเรียนมากมาย ไทยจะไปแข่งขันกับประเทศอื่นได้อย่างไร ในเมื่อเจ้าหน้าที่ยังมีวัฒนธรรมการเอาเปรียบประชาชน


 


เกียรติ สิทธิอมร จากพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งแม้พรรคมีท่าทีไม่ชัดเจนต่อเรื่องนี้ แต่เกียรติยืนยันว่า เอฟทีเอที่เจรจาไปแล้วมีหลายกรณีที่มีปัญหา ถ้าไม่แก้ไขอันเก่าเสียก่อนภาคประชาชนไม่มีทางไว้ใจรัฐบาล อย่างไรก็ตาม กระบวนการเจรจาที่เป็นอยู่ก็ไม่น่าไว้ใจ การประชุมที่จุฬาฯ ไม่อาจเป็นประชาพิจารณ์ เอกสาร 900 กว่าหน้าก็ไม่เปิดเผย คำท้วงติงต่างๆ ไม่มีคำตอบชัดเจน มีแต่การระบุว่าจะทำเป็นเอกสารแนบสัญญา ซึ่งไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง ทำไมไม่แก้ที่ตัวบท เพราะประเทศอื่นๆ จะอ้างอิงตัวบทเป็นหลัก ให้ญี่ปุ่นไว้เท่าไรก็ต้องให้เขาเท่านั้นหรือมากกว่า


 



 



 


ช่วงบ่าย ชาวบ้านราว 500 คนเดินทางไปยังอาคารชินวัตร 3 ซึ่งเป็นที่ตั้งของสถานีโทรทัศน์ทีไอทีวี หรือไอทีวีเดิม ท่ามกลางแดดร้อนเปรี้ยง ฝ่ายข่าวของไอทีวีออกมาเจรจาท่ามกลางการดูแลของเจ้าหน้าที่ตำรวจ เจรจากันจนได้เข้านั่งบริเวณพื้นที่โล่งหน้าอาคารชินวัตร 3 แทนที่จะยืนร้อนขวางถนน (แต่กระนั้น ก็ไม่ได้สิทธิในการใช้ห้องน้ำ)


 


"เราไม่ได้มาบุกยึด ปิดล้อมไอทีวี แต่เรามาเพื่อให้ไอทีวีได้ทำหน้าที่ทีวีสาธารณะ เป็นพื้นที่พูดคุยเรื่องที่สำคัญยิ่งนี้กับประชาชน เพราะถ้าไอทีวีมีเจตจำนงเป็นทีวีสาธารณะ นับแต่บัดนี้ไอทีวีต้องทำงานเพื่อสื่อสารความจริง เราไม่ขัดข้องถ้าจะเชิญฝ่ายรัฐมาออกรายการร่วมกันด้วย ข้อมูลต่างๆ ที่เราเตรียมมาจะทำให้ประชาชนรู้ว่า JTEPA ไม่ใช่เรื่องของคน 20 กว่าคนแน่ๆ" กรรณิการ์ กิจติเวชกุล จากเอฟทีเอว็อชท์ขึ้นกล่าวบนรถขยายเสียง


 


มีการระบุด้วยว่า การถกเถียงถึงประเด็นข้อห่วงใยที่ผ่านมาเป็นเพียงการอภิปรายในเวทีต่างๆ ซึ่งมีผู้ฟังในวงจำกัด ขณะที่กระทรวงการต่างประเทศนั้นสามารถซื้อโฆษณาแทรกในรายการโทรทัศน์ หรือวิทยุ โดยเฉพาะของกรมประชาสัมพันธ์ เพื่อนำเสนอข้อดีของการทำเอฟทีเอกับญี่ปุ่นมาโดยตลอด


 



 



 


"ไอทีวีซึ่งได้มาจากเลือดและน้ำตาของประชาชนเมื่อเดือนพฤษภาคม 2535 ควรจะได้ทำหน้าที่สื่อสารกับสาธารณะอย่างครบถ้วน จริงจังในเรื่องนี้ เพราะข้อตกลงกว่า 940 หน้า ไม่ได้มีแค่เรื่องการค้า มันยังหมายถึงประเด็นใหม่ๆ ที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของประชาชน โดยที่ยังไม่มีคำตอบและหลักประกันที่ชัดเจนจากภาครัฐ" จักรชัย โฉมทองดี จาเอฟทีเอว็อทช์ กล่าว


 


จากการประสานกับผู้บริหารของเจ้าหน้าที่ฝ่ายข่าวของไอทีวีเบื้องต้นระบุว่า ไอทีวียินดีเป็นสื่อกลางให้ โดยจะนำเสนอเรื่องนี้ผ่านข่าวต้นชั่วโมง รวมไปถึงข่าวภาคค่ำคืนนี้และข่าวเช้าวันพรุ่งนี้(26 มี.ค.) ก่อนที่จะมีการหารือกันว่าไอทีวีหรือทางเอฟทีเอว็อทช์จะเป็นผู้เชิญหน่วยงานราชการมาร่วมรายการในเวลาบ่ายสองวันพรุ่งนี้


 


ดูเหมือนการได้ออกข่าวต้นชั่วโมง และออกรายการสั้นๆ ไม่เป็นที่สอดคล้องกับความมุ่งหวังที่จะมีรายการเสวนาเรื่องนี้อย่างจริงจังราว 1 ชั่วโมงครึ่งดังที่ทางเครือข่ายตั้งความหวังไว้ จึงมีการส่งตัวแทนเข้าไปหารือกับผู้บริหารสถานีอีกครั้ง


 



 


ท้ายที่สุด หลังปักหลักกันอยู่ราว 4 ชั่วโมง จึงได้ข้อสรุปร่วมกันว่า ทีไอทีวีไม่สามารถจัดเวลาให้ได้มากขนาดนั้นเพราะมีการทำสัญญาซื้อเวลากับบริษัทต่างๆ ไปแล้ว ที่พอจะทำได้จึงเป็นช่วงข่าว 21.45 น. ซึ่งจะมีการอัดเทปสัมภาษณ์ตัวแทนคือ วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ และสุกรานต์ โรจนไพรวงศ์ นำไปออกอากาศช่วงดังกล่าวเป็นเวลา 15 นาที และพรุ่งนี้ในรายการร่วมมือร่วมใจก็จะได้คุยเรื่องนี้กันอีกราว 20 นาที


 


ดังนั้น เวลาออกอากาศที่จะได้สื่อสารกับสังคมสิริรวมแล้วจึงเป็นครึ่งชั่วโมงกว่า นี่คือน้ำพักน้ำแรงของชาวบ้าน 500 คน ที่อยากจะให้สังคมช่วยกันพิจารณาข้อตกลงเอฟทีเอไทย-ญี่ปุ่นกันอย่างจริงจังรอบด้าน และร่วมกันตัดสินใจ


 


.... ว่ากันตามตรง การรายงานเรื่องนี้เป็นหน้าที่ของสื่อมวลชนอยู่แล้ว ประเด็นนี้เป็นประเด็นสำคัญที่ควรจะต้องทำอยู่แล้ว...


 


น่าท้อแท้แทนประชาชน และน่าอับอายแทนสื่อมวลชนไทยทั้งหมดทั้งปวง.

เอกสารประกอบ

สมุดปกดำ : วิเคราะห์ความตกลงที่ถูกปกปิด เอฟทีเอไทย-ญี่ปุ่น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net