Skip to main content
sharethis


ประชาไท - 28 มี.ค. 2550 เมื่อวันที่ 27 มี.ค. สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย เชิญนักวิชาการมาให้ข้อมูลเรื่องปัญหาในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้หัวข้อ "Spiral of Violence: A panel on the deepening conflict in Thailand"s deep south" ในกำหนดการมีวิทยากรได้แก่ รศ.ดร.ปณิธาน วัฒนายากร จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ผศ.ดร.ชิดชนก ราฮิมมูลา จากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี และนพ.แวมาฮะดี แวดาโอ๊ะ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ อย่างไรก็ตาม นพ.แวมาฮะดี ไม่สามารถมาร่วมการเสวนาได้

 


ผศ.ดร.ชิดชนก อับดุลราฮิม ให้ข้อมูลว่าสถานการณ์ใน 3 จังหวัดภาคใต้ขณะนี้รุนแรงมาก ดังจากสถิติที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เก็บข้อมูลไว้แสดงให้เห็น มีเพียง 3 อำเภอ จาก 250 อำเภอ เท่านั้นที่ไม่มีเหตุรุนแรง ส่วนการศึกษาใน 3 จังหวัดก็กำลังมีคุณภาพต่ำลง มีนักศึกษาสอบผ่านเพียง 30 % จาก 70 % จึงต้องลดเกรดเพื่อให้นักศึกษาผ่านซึ่งความจริงยังไม่ใช่ทางออก เป็นเพียงการแสดงความไม่เข้าใจของกระบวนการยุติธรรมของรัฐ


 


ผศ.ดร.ชิดชนก ยังบอกอีกว่า จากการประชุมของ กองบัญชาการผสมพลเรือน ตำรวจ ทหาร ที่ 43 (พตท.43) และ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) มีแนวโน้มว่าความรุนแรงจะดำเนินต่อไปอีก 20 ปี และจะรุนแรงมากใน พ.ศ.2550 กับ พ.ศ. 2551


 


จากนั้น ผศ.ดร.ชิดชนก ให้เหตุผลด้วยการเล่าถึงกรณีปัญหาตัวอย่างว่าขณะนี้ แม้แต่เด็กอายุ 5 ขวบก็ถามคนอื่นว่าเป็นชาวพุทธหรือมุสลิมเมื่อต้องการรู้จัก หรือในกรณีความสัมพันธ์ระหว่างพุทธกับมุสลิม ก็มีปัญหาเช่น เมื่อเด็กมุสลิมคนหนึ่งไปอำเภอแม่ลาน จังหวัดปัตตานี ก็ถูกเยาวชนไทยพุทธ 3 คน ตีจนเสียชีวิตอีกตัวอย่างหนึ่ง ตำรวจตระเวนชายแดนระดับหัวหน้าในอำเภอสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา เล่าว่ามีชาวบ้านมาถามว่าขอแก้แค้นคนมุสลิมได้หรือไม่ เพราะเชื่อคนๆ นั้นเป็นผู้ก่อการไม่สงบ หรือเมื่อไปสัมภาษณ์ทหารพบเช่นเดียวกันคือชาวบ้านมาขอปืนไปแก้แค้นคนมุสลิม อย่างไรก็ตามเจ้าหน้าที่ไม่ให้และอธิบายไปว่าจะจับกุมถ้าทำเช่นนั้น


 


ทั้งนี้ ผศ.ดร.ชิดชนก เชื่อว่า เจ้าหน้าที่รัฐระดับสูงทั้งทหารและตำรวจยังต้องการสร้างกระบวนการสันติภาพ แต่ในระดับปฏิบัติการนั้นยังไม่เกิดขึ้น เพราะยังมีกรณีเกิดขึ้นเช่นที่บ้านกูจิงลือปะ อำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาส ที่มีทั้งการตะโกนและตะคอกใส่ประชาชน แสดงให้เห็นว่าเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ไม่เข้าใจสันติวิธี ขณะเดียวกัน พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผู้บัญชาการทหารบกและประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติก็ยังไม่ให้ความสนใจกับสถานการณ์ปัญหาเจ้าหน้าที่ไม่เข้าใจพื้นที่จริงๆด้วย


 


นอกจากนี้ ผศ.ดร.ชิดชนก กล่าวด้วยว่า ข้อเสนอของคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ(กอส.) ก็ยังไม่กล้าพอที่จะเสนอประเด็นที่ ผศ.ดร.ชิดชนกเคยรับผิดชอบในการค้นคว้าข้อมูลมุมมองของนักศึกษาในพื้นที่ 3 จังหวัด เมื่อตั้งคำถามว่า อยากให้ 3 จังหวัดปกครองอย่างไร


 


นักศึกษาตอบว่าอยากให้มีเขตปกครองพิเศษภายใต้รัฐไทย แต่เจ้าหน้าที่รัฐมองว่าสร้างความรุนแรง ทั้งนี้ในมุมนักศึกษามองว่าอยากเป็นคนไทยที่มีอัตลักษณ์มลายู อย่างไรก็ตามในอนาคตเชื่อว่าสามารถเรียกร้องผ่านกระบวนการสันติวิธีได้


 


มีผู้สื่อมวลชนต่างประเทศถาม ผศ.ดร.ชิดชนกว่า อาร์เคเค คืออะไร ผศ.ดร.ชิดชนก ตอบว่าเป็นลักษณะของกลุ่มติดอาวุธเล็กๆ ในประเทศอินโดนีเซีย แต่กลุ่มกระบวนการในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้นำวิธีการนี้มาใช้ซึ่งไม่ใช่ชื่อองค์กรแต่อย่างใด


 


ด้าน รศ.ดร.ปณิธาน กล่าวว่า ไม่ใช่ครั้งแรกที่เกิดสถานการณ์ความรุนแรงในภาคใต้ขนาดนี้ และคงไม่ใช่ครั้งสุดท้าย เพราะเกิดมาตั้งแต่อดีตอย่างที่เห็นในภาพยนตร์ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช และรัฐไทยเพิ่งสามารถผนวกรวมได้ในช่วงปี 1900 นี้เอง


 


ส่วนกรณีเหตุการณ์ไม่สงบที่เกิดขึ้นเชื่อว่าขบวนการได้รับการจัดตั้งและฝึกฝนมาอย่างดี กรณีหรือเซะเป็นคำตอบได้เลยว่ารัฐไทยกำลังเผชิญกับขบวนการที่ใช้แนวคิดจากต่างประเทศ เช่น อิรัก อัฟกานิสถาน หรืออาเจะห์ และการมีกำลังทหาร 20,000 คนยังน้อยเกินไป อีกทั้งเป็นทหารจากภาคอีสานที่พูดภาษาท้องถิ่นไม่ได้แต่ต้องมาดูแลพื้นที่รับผิดชอบในสัดส่วน 1 คน ต่อพื้นที่ 1 ตารางกิโลเมตร การแก้ปัญหาคงต้องใช้กำลังที่มากกว่านี้ตามแนวชายแดน ต้องสนธิกำลังทั้งทหาร ตำรวจ และกองกำลังอาสาสมัคร


 


ทั้งนี้ในช่วงทศวรรษที่ 1970 ก็มีการใช้กองกำลังอาสาสมัครในการปราบปรามคอมมิวนิสต์ซึ่งก็ได้ผล นอกจากนี้จะต้องตัดการส่งยุทธปัจจัย ทำลายค่ายฝึกของฝ่ายก่อการ และควบคุมการเข้า-ออกตามแนวชายแดน การแก้ปัญหาจึงจะสำเร็จ


 


เมื่อสื่อมวลชนมีคำถามว่า ศอ.บต. สามารถรองรับปัญหาในปัจจุบันได้อีกหรือ เพราะเป็นโครงสร้างที่ใช้กับปัญหาในอดีตซึ่งไม่เหมือนกันเลยกับปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบันที่ถือว่าเป็นปัญหาใหม่


 


รศ.ดร.ปณิธาน ตอบปัญหานี้โดยกล่าวว่า ศอ.บต. ยังใช้ได้แต่ต้องปรับองค์กรให้ทันสมัยขึ้น


 


เมื่อถามต่อไปว่าสถานการณ์ปัจจุบันถึงเวลาหรือยังที่ต้องมาพิจารณาเรื่องแนวทางเขตปกครองพิเศษ รศ.ดร.ปณิธาน ตอบว่า อาจเข้าใจคำว่าเขตปกครองพิเศษไม่ตรงกัน เขามองว่า ศอ.บต.ก็หมายถึงเขตปกครองพิเศษแล้ว เพราะรัฐต้องการวิถีเศรษฐกิจและสังคมใหม่มาแก้ปัญหา รวมทั้งยังกล่าวด้วยว่าในพื้นที่ 3 จังหวัดมีปัญหาเรื่องกระบวนการยุติธรรมด้วย


 


นางอังคณา นีละไพจิตร สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติและคณะทำงานยุติธรรมเพื่อสันติภาพได้แสดงความเห็นหลังการรับฟังข้อมูลโดยยืนยันว่า ความยุติธรรมเป็นประเด็นสำคัญในการแก้ปัญหา 3 จังหวัดภาคใต้ การสร้างความเป็นธรรมในพื้นที่เป็นสิ่งจำเป็นที่รัฐต้องรับฟังให้มาก แต่กังวลว่าเวลานี้จะมีเรื่องอคติ เพราะเท่าที่เห็นปัจจุบันรัฐเลือกที่จะติดอาวุธให้คนไทยกลุ่มหนึ่งเท่านั้นในขณะที่อีกกลุ่มยังต้องตกอยู่กับความเสี่ยง การเพิ่มอาวุธและฝึกอาวุธในการปกป้องตัวเองนั้นถ้าใช้ผิดทางจะมีความหวาดระแวงและกังวลต่อกันสูง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net