ถกรธน.50 รายมาตรา-ห้ามนักการเมืองเป็น "เจ้าของกิจการโทรคมนาคม"

ประชาไท - 28 มี.ค. 2550 วานนี้ (27 มี.ค.) ที่รัฐสภา ก่อนการประชุมของคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ น.. ประสงค์ สุ่นศิริ ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงการประชุมที่จะมีขึ้นระหว่างวันที่ว่า 27-29 มี.ค. นี้ว่าทั้ง 3 วันเป็นการประชุมทั้งวัน เนื่องจาก กมธ. ต้องพิจารณารายละเอียดทุกมาตราทั้ง 15 หมวด ซึ่งเรื่องใดที่เป็นเรื่องทั่วไปและมีมติตรงกันสามารถผ่านไปได้ ส่วนเรื่องที่ยังไม่เป็นข้อยุติ จะนำไปพิจารณาในการประชุมเพื่อสรุปเนื้อหาทั้งหมด ในวันที่ 6-11 เมษายนที่จะถึงนี้ ที่บางแสน จังหวัดชลบุรีต่อไป

           

ทั้งนี้ น..ประสงค์ ยืนยันว่า ในวันสุดท้ายของการประชุมที่บางแสน กมธ.จะได้ข้อสรุปของ รธน.ร่างแรกทั้งหมด จากนั้นจะจัดพิมพ์จำนวน 1 ล้านฉบับเพื่อแจกจ่ายไปยัง 76 จังหวัด พร้อมกันนั้นกรรมาธิการรับฟังความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมของประชาชนที่มีนายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง เป็นประธานจะอธิบายเนื้อหาร่าง รธน.และรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนด้วย

           

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า ระยะเวลาเพียง 1 เดือนจะสามารถอธิบายให้ประชาชนเข้าใจได้หรือไม่ น..ประสงค์ กล่าวเพียงว่า จะใช้เวลา1ปีเลยดีไหม ถ้าอธิบายให้ชัดเจนประชาชนก็จะเข้าใจนอกจากคนที่ไม่อยากเข้าใจแล้วก็บอก "ไอ เซย์ โน"

 

ต่อมา เวลา 9.30 น. คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญที่มี น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ เป็นประธาน ได้ประชุมพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตราเป็นครั้งแรก โดยนายสมคิด เลิศไพฑูรย์ เลขานุการคณะกรรมาธิการ ได้นำเสนอร่างรัฐธรรมนูญ 2550 ที่ได้จัดขึ้นตามมติของที่ประชุมคณะกรรมาธิการ ประกอบกับข้อคิดเห็นของคณะอนุกรรมาธิการยกร่างฯ ทั้ง 3 กรอบ เพื่อให้คณะกรรมาธิการพิจารณา โดย ขอให้เอกสารที่ใช้ในการพิจารณาเป็นเอกสารลับ เนื่องจากเนื้อหายังไม่เป็นที่ยุติ หากเผยแพร่ออกไป ประชาชนอาจเข้าใจผิดได้

 

โดยประเด็นที่น่าสนใจ คือ มีการเพิ่มเติมในมาตรา 3 ให้การปฏิบัติหน้าที่ของรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล รวมทั้งองค์กรตามรัฐธรรมนูญและหน่วยงานของรัฐต้องเป็นไปตามหลักนิติธรรม

 

ไม่แก้มาตรา 7

นอกจากนี้ ยังมีการพิจารณาในแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 7 โดยนายสมคิด เลิศไพฑูรย์ เลขาฯ กล่าวว่า ที่ประชุมเคยหารือว่าน่าจะให้มีองค์กรคอยทำหน้าที่วินิจฉัยด้วย เพราะจากประสบการณ์รัฐธรรมนูญปี 40 มีปัญหา จึงมีการเสนอเขียนในมาตรา227/1 กรณีมีปัญหาตามมาตรา 7 ให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาด

 

ด้านประพันธ์ นัยโกวิธ กมธ. กล่าวว่า สาเหตุที่รัฐธรรมนูญเดิมไม่บัญญัติไว้นั้น เพื่อให้แต่ละองค์กรที่เกี่ยวข้องวินิจฉัย ไม่ใช่ใช้องค์กรใดองค์กรเดียว เช่น หากเป็นบทบัญญัติที่เกี่ยวกับประเพณีการปกครอง ก็ให้รัฐสภาใช้อำนาจวินิจฉัย หากยิ่งเขียนมากจะยิ่งแคบ

 

นายสุพจน์ ไข่มุกด์ กมธ. กล่าวว่า ควรต้องมีเจ้าภาพเพราะที่ผ่านมาต่างคนต่างเกี่ยงกันและไม่มีใครยอมรับอำนาจ และถ้าเกี่ยวพันกันระหว่างสองอำนาจ เช่น ตุลาการกับนิติบัญญัติ แล้วใครจะวินิจฉัย จึงเห็นว่า ถ้ามีตัวบทรับรองอำนาจ ปัญหาก็น่าจะคลี่คลาย

 

ด้านนายคมสัน โพธิ์คง กมธ. กล่าวว่า เห็นด้วยกับนายประพันธ์ เพราะมาตรา 7 เป็นช่องว่างในรัฐธรรมนูญ เพื่อเปิดให้องค์กรที่เกิดปัญหาเป็นผู้ใช้อำนาจวินิจฉัย แต่ต้องสอดคล้องกับประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตย การกำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจวินิจฉัยเรื่องอำนาจของสถาบันต่างๆ ต้องระวังว่าจะก้าวล่วงกับสถาบันอื่น ทั้งนี้ ถ้าเกิดปัญหากับศาลรัฐธรรมนูญ องค์กรไหนจะชี้ นอกจากนี้ การใช้มาตรา 7 นั้นใช้ควบคู่กับมาตราอื่น ทั้งนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับการใช้อำนาจตามมาตรา 3 จึงน่าจะให้องค์กรที่มีลักษณะหน้าที่นั้นวินิจฉัยเอง

 

นายมานิจ สุขสมจิตร กมธ. กล่าวว่า ให้คงไว้ตามเดิม เมื่อเกิดปัญหากับองค์กรไหนก็ให้เป็นหน้าที่ขององค์กรนั้น กรณีที่เกิดคราวที่แล้วที่ต้องการเปลี่ยนตัวนายกฯ หากมีการแก้ไขตรงนี้ เท่ากับต้องการให้ศาลรัฐธรรมนูญมาสั่งให้แต่งตั้งนายกฯ ตามที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยหรือ

 

นายสมคิด กล่าวสรุปให้คงมาตรา 7 ไว้ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 และตัดมาตรา 227/1 ที่ให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญในการวินิจฉัยออกไป

หมวด "พระมหากษัตริย์" คงไว้ตามเดิม

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในหมวด 2 เรื่องพระมหากษัตริย์นั้น มีการเสนอให้คงมาตรา 8-25 ไว้ตามเดิม เช่นเดียวกับรัฐธรรมนูญปี 2540 อย่างไรก็ตาม มีการอภิปรายกันอย่างกว้างขวางในมาตรา 11 ที่ระบุว่า พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจที่จะสถาปนาฐานันดรศักดิ์และพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์

 

โดยนายเดชอุดม ไกรฤทธิ์ กล่าวว่า ได้ตั้งข้อสังเกตว่า กรณีดังกล่าวทำให้สำนักนายกรัฐมนตรีเป็นผู้ผูกขาดในการเสนอชื่อผู้สมควรได้รับเครื่องราชฯ มาโดยตลอดทำให้นักการเมืองและคู่สมรสที่ไม่ได้เป็นผู้ทำคุณงามความดีใช้เป็นช่องทางในการขอพระราชทานเครื่องราชฯ มาโดยง่าย


ขณะที่นายประพันธ์ นัยโกวิท กรรมาธิการ กล่าวว่า การขอพระราชทานเครื่องราชฯ เป็นไปอย่างผิดเพี้ยนโดยสำนักนายกรัฐมนตรี ที่นักการเมืองบางคนไปบังคับผู้รับผิดชอบเรื่องนี้ในสำนักนายกฯ ทั้งที่ตนเองก็ไม่ได้สร้างคุณงามความดีในแผ่นดิน แต่กลับสร้างความเสื่อมเสีย พร้อมกันนี้นายประพันธ์ ยังเสนอให้มีการถอดถอนเครื่องราชฯจากผู้ที่มีความประพฤติไม่ดี ไม่เช่นนั้นผู้ที่กระทำความดีจะไม่มีกำลังใจ

อย่างไรก็ตาม น.ต.ประสงค์ กล่าวว่า เรื่องดังกล่าวควรจะไปเพิ่มเติมในหมวดที่เกี่ยวข้องกับ นายกรัฐมนตรีคณะรัฐมนตรี หรือหมวดว่าด้วยจริยธรรมคุณธรรมจะมีความเหมาะสมมากกว่า

 

ห้ามนักการเมืองเป็นเจ้าของกิจการโทรคมนาคม

สำหรับหมวด 3 สิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทย เป็นที่น่าสังเกตว่า ก่อนหน้านี้ ในการประชุมคณะอนุกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญกรอบที่ 1 ว่าด้วยสิทธิเสรีภาพ การมีส่วนร่วมของประชาชน และการกระจายอำนาจ ที่มีนพ.ชูชัย ศุภวงศ์ เป็นประธานการประชุม ที่ประชุมได้เห็นควรเพิ่มการคุ้มครองเสรีภาพของบุคคล โดยเพิ่มเสรีภาพของบุคคลในการแสดง และการสื่อสารทางสื่ออิเล็คทรอนิคส์ (อ่านข่าวย้อนหลัง) แต่เมื่อฝ่ายเลขาฯ ได้ร่างรายมาตราแล้ว กลับไม่มีเนื้อหาในส่วนนี้

 

นอกจากนี้ ในมาตรา 46 ซึ่งเดิมคือ มาตรา 40 ในรัฐธรรมนูญ 2540 นั้น ที่ประชุมได้เห็นชอบให้มีองค์กรของรัฐองค์กรหนึ่งที่เป็นอิสระทำหน้าที่จัดสรรคลื่นความถี่ที่ใช้ในการส่งวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และวิทยุโทรคมนาคมเป็นทรัพยากรสื่อสารของชาติเพื่อประโยชน์สาธารณะ และกำกับดูแลการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์และโทรคมนาคม

 

ทั้งยังเห็นชอบให้บัญญัติว่า กิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และสื่อสารโทรคมนาคมสาธารณะต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการดำเนินการ และต้องสนับสนุนการศึกษาวัฒนธรรม ความมั่นคงของรัฐ และประโยชน์สาธารณะอื่น รวมทั้งต้องมีมาตรการเพื่อป้องกันการควบรวมหรือการครอบงำระหว่างสื่อมวลชนด้วยกันเองหรือโดยบุคคลอื่น ซึ่งจะมีผลเป็นการขัดขวางเสรีภาพในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารหรือปิดกั้นการได้รับข้อมูลข่าวสารที่หลากหลาย และต้องเปิดโอกาสให้มีการแข่งขันโดยเสรีอย่างเป็นธรรม

 

รวมทั้งห้ามผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็นเจ้าของกิจการหรือถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์ วิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ หรือโทรคมนาคม ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมหรือในนามตนเองหรือผู้อื่นด้วย

 

ถกเครียด เรียนฟรี 12 ปี ไม่ได้ข้อยุติ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในช่วงหนึ่งของการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญรายมาตราในช่วงบ่าย เมื่อเข้าสู่การพิจารณาในส่วนที่ 8 ในเรื่องสิทธิเสรีภาพในการศึกษามาตรา 47 ที่ระบุว่าบุคคลย่อมมีสิทธิเสมอกันในการรับการศึกษาขั้นพื้นฐานไม่น้อยกว่า 12 ปี ที่รัฐจะต้องจัดให้อย่างทั่วถึงและมีคุณภาพ โดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย ซึ่งมีการเพิ่มเติมจากรัฐธรรมนูญปี 2540 ว่า โดยผู้ยากไร้หรือผู้ด้อยโอกาส ต้องได้รับการสนับสนุนจากรัฐเพื่อให้ได้รับการศึกษาโดยทัดเทียมกับบุคคลอื่น ที่ประชุมได้ถกเถียงกันอย่างหนักในหลายประเด็น

 

โดยนายศรีราชา เจริญพานิช กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญกล่าวว่า การศึกษาของไทยต้องมีคุณภาพและทั่วถึง เพราะการศึกษาที่มีอยู่ในขณะนี้ไร้อนาคต โดยเฉพาะการจัดการศึกษาตามข้อกำหนดของรัฐธรรมนูญปี 2540 ทำให้การศึกษาของไทยไปไม่ถึงไหน ดังนั้นการที่กรรมาธิการกำหนดให้มีการจัดสรรงบประมาณ 12 ปี จะต้องมีการผ่อนส่งงบประมาณปัญหาตอนนี้คืองบประมาณของเราไม่เพียงพอจึงควรจะกำหนดเกณฑ์การศึกษาขั้นพื้นฐาน 9 ปีเท่านั้น

 

"ส่วนการที่ระบุว่าไม่ต้องเก็บค่าใช้จ่ายจะเป็นการกระทบสิทธิเอกชน และทำให้โรงเรียนเอกชนที่มีอยู่เป็นจำนวนมากได้รับผลกระทบ จึงอยากให้ตัดคำว่าไม่เก็บค่าใช้จ่ายออกไป เพราะถึงอย่างไรโรงเรียนบางแห่งก็คิดค่าหัวเด็กก่อนเข้าคนละแสนสองแสนอยู่ดี ดังนั้นเรื่องนี้ควรจะนำความเป็นจริงในสังคมไทยมาประกอบด้วย" กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าว

 

นายศรีราชากล่าวอีกว่า กลไกในการควบคุมระบบการศึกษาไทยล้มเหลวมานานแล้ว เขาเป็นอาจารย์สอนหนังสือมาหลายปีรู้ดีว่าอะไรเป็นอะไร แต่ก่อนผอ.เขตการศึกษาก็เป็นหัวคะแนนให้พรรคไทยรักไทย เวลาจะย้ายครูก็เรียกรับเงินครั้งละแสนสองแสน หรือจะทำอะไรที่ใช้มติก็เอาคนของตัวเองมากลายเป็นพวกมากลากไป กรรมาธิการยกร่างฯทุกคนต้องมองโลกด้วยความเป็นจริงไม่นั่งเทียนเขียนรัฐธรรมนูญเขียนออกมาสวยหรูแต่ใช้อะไรไม่ได้

 

ขณะที่นายพิสิฐ ลี้อาธรรม กรรมาธิการยกร่างฯ กล่าวว่าเห็นด้วยกับแนวคิดของนายศรีราชา เพราะการร่างรัฐธรรมนูญไม่ควรเอาอุดมการณ์มาเขียน การที่กรรมาธิการกำหนดว่าบุคคลย่อมมีสิทธิเสมอกันในการรับการศึกษาขั้นพื้นฐานไม่น้อยกว่า 12 ปี ซึ่งในการระบุ 12 ปี ก็ไม่ชัดว่าเป็นมัธยมศึกษาหรืออาชีวะศึกษาดังนั้นเรื่องนี้จึงควรพิจารณาให้รอบคอบ

 

ด้านนายธิติพันธ์ เชื้อบุญชัย กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญกล่าวว่า จำเป็นต้องเพิ่มคำว่ามาตรฐานลงไปในมาตรานี้ด้วยเนื่องจากเป็นการสร้างเกณฑ์การศึกษา นอกจากจะมีคุณภาพแล้วยังต้องมีมาตรฐานด้วยเพราะไม่เช่นนั้นจะทำให้เกิดการเหลื่อมล้ำ

 

ทั้งนี้ ที่ประชุมได้ถกเถียงกันอย่างกว้างขวางจนไม่สามารถหาข้อยุติได้ โดยนายศรีราชาได้สงวนเรื่องการกำหนดจำนวนการศึกษาขั้นพื้นฐานไว้เป็น 9 ปี ส่วนนายธิติพันธ์ขอสงวนคำว่ามาตรฐานไว้ และนายพิสิฐขอสงวนเรื่องไม่เก็บค่าใช้จ่าย รัฐต้องจัดการศึกษาให้ทั่วถึง และการกำหนดชั้นของการศึกษาว่าเป็นมัธยมศึกษาหรืออาชีวะศึกษา ที่ประชุมจึงสงวนไว้ไปโหวตหาข้อยุติในวันที่ 10 เม.ย.

 

จับตา! "กมธ.ยกร่างฯ" เปิดช่อง "นายกฯฉุกเฉิน"

สถาปนาอำนาจ "คณะบุคคล" ออกมติไล่ผู้นำ-เลือกใหม่

รายงานข่าวแจ้งว่า แม้ว่าการประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญวันนี้ (27มี.ค.) จะไม่เห็นชอบให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าสถานการณ์เข้าสู่วิกฤตการณ์ต้องใช้มาตรา 7 แต่ในวันพรุ่งนี้ (28มี.ค.) ที่ประชุมจะพิจารณาอีกช่องทางหนึ่งที่จะเป็นที่มาของนายกรัฐมนตรีในภาวะฉุกเฉินหรือในสถานการณ์วิกฤต โดยจะบรรจุอยู่ในมาตรา 67 ที่ว่าในกรณีที่ประเทศอยู่ในภาวะวิกฤตตีบตันทางการเมือง ให้นายกรัฐมนตรี ประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานวุฒิสภา ประธานศาลฎีกา ประธานศาลปกครองสูงสุด ประธานองค์กรอิสระ มีอำนาจเรียกประชุมกันพิจารณาป้องกันวิกฤตปัญหา พร้อมกำหนดให้มติที่ออกมามีผลตามกฎหมายและได้รับการคุ้มครองโดยรัฐธรรมนูญ

 

รายงานข่าวแจ้งว่า การกำหนดบทบัญญัตินี้เจตนาที่จะนำบทเรียนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในยุครัฐบาลทักษิณ ที่แม้จะมีแรงกดดันต่างๆ นานา ซึ่งมาตรานี้จะเปิดให้บุคคลที่กำหนดไว้คนใดคนหนึ่งสามารถเรียกประชุมได้ทันทีเมื่อเห็นว่าการเมืองจะเข้าสู่ทางตันและสามารถออกมติให้องค์กรต่างๆปฎิบัติตาม เช่นสามารถออกมติให้นายกฯลาออก แล้วดำเนินการสรรหานายกรัฐมนตรีคนใหม่ได้แต่นายกฯจะเป็นส.ส.หรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับบทบัญญัติที่ว่าด้วยที่มาของนายกรัฐมนตรีว่ามาจากไหนก็ต้องเป็นไปตามนั้น

 

 

 


 

อ่านประกอบ

ข้อสรุปร่างแรกรัฐธรรมนูญ ปี 2550

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท