Skip to main content
sharethis

รองประธาน ส.ส.ร.คนที่ 2 ค้าน "คณะบุคคลยามวิกฤต" ในมาตรา 67 วรรค 2 เชื่อแก้ปัญหาไม่ได้จริง ปักใจคนร่างอยากแทรกในมาตรา 7 แต่ทำไม่ได้เลยเอามาใส่ในมาตรา 67 แทน เชื่อถึงมีวรรคดังกล่าวก็หยุดปฏิวัติไม่ได้ ถ้าจะทำกันจริง

ประชาไท - 30 มี.ค. 2550 นายเดโช สวนานนท์ รองประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) คนที่ 2 กล่าวถึงกรณีที่คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญเพิ่มเติมมาตรา 67 วรรค 2กรณีเกิดภาวะวิกฤตหาทางออกไม่ได้ให้ประธานสถาบันสำคัญทางการเมืองประชุมหาทางออกว่า ประเด็นนี้เป็นข้อเขียนเชิงปราม แต่โอกาสที่จะเกิดเหตุดังกล่าวคงยาก อย่างไรก็ดี คงห้ามการปฏิวัติไม่ได้แม้มีกรรมาธิการบางคนเสนอให้นำผู้นำเหล่าทัพมาประชุมด้วยก็คงมาหยุดการปฏิวัติไม่ได้ถ้าจะทำกันจริงๆ

ทั้งนี้ การเขียนวรรคดังกล่าวน่าจะมีผลทางจิตวิทยามากกว่า หมายความว่าอย่างน้อยก็มีการปรามกันไว้แสดงเจตนารมณ์ให้เห็นชัดว่าไม่ต้องการให้เกิดทางตันในรัฐธรรมนูญต้องหาทางออกให้ได้ โดยต้องเป็นภาวะวิกฤตทางการเมืองจริงๆ เช่น นายกฯไม่ลาออกไม่มีการอภิปรายในสภาอย่างที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว อย่างไรก็ดีตนคิดว่าเมื่อคณะดังกล่าวประชุมมีผลออกมาก็คงไม่สามารถหาข้อยุติได้เพราะองค์ประกอบในนั้นยังมีฝ่ายรัฐบาลด้วย เช่น ประธานรัฐสภาเมื่อไม่ได้แยกผู้มีข้อพิพาทออกไปก็รู้สึกว่าประชุมแล้วคงไม่มีผลแต่ก็ยังอยากฟังคำอภิปรายถ้ามีเหตุผลดีก็อาจบรรจุในรัฐธรรมนูญใหม่ได้

"เรื่องนี้มีความพยายามบรรจุมาก่อนหน้านี้หลายครั้งแต่ผลสุดท้ายก็ไม่เอา ส่วนที่ยังแขวนวรรค 3

เรื่องให้มติของคณะดังกล่าวมีผลบังคับใช้ได้และคณะนั้นได้รับความคุ้มครองผมมองว่ามีนัยที่จะให้นายกฯมาจากคนนอกแต่ก็เป็นการชั่วคราวในภาวะวิกฤตเท่านั้นซึ่งตรงนี้ยากเพราะไม่ได้กำหนดระยะเวลาเอาไว้ หากเข้ามาเป็นแล้วอยู่ 10 ปี จะว่าอย่างไร นอกจากนี้หากลองสวมมาตรานี้กับกรณีพ.ต.ท.ทักษิณชินวัตร ไม่ยอมลาออกจากตำแหน่งหลังยุบสภาฯแล้วหาคนนอกไม่ได้เพราะรัฐธรรมนูญบัญญัติว่านายกฯมาจากส.ส.จุดนี้ก็อาจโยงไปถึงมาตรา 7 อีกแต่ก็ใช้ไม่ได้เพราะอย่างไร รัฐธรรมนูญก็ไม่ให้เอานายกฯมาจากคนนอกจริงๆ ประเด็นนี้ผมมองว่าเขาอยากแทรกในมาตรา 7 แต่ก็แทรกไม่ได้จึงมาแทรกไว้ที่นี่ ซึ่งผมไม่เห็นด้วยในฐานะที่เคยเขียนรัฐธรรมนูญมา เพราะมาตรามันดูแย้งกันเอง" นายเดโช กล่าว

นายเดโช กล่าวอีกว่าประเด็นนี้ยังมองได้ว่าหากคณะประธานสถาบันการเมืองมาประชุมแล้วมีผลอย่างใดเกิดขึ้นรัฐบาลที่เข้ามารักษาการแทนจะเป็นใครเชื่อมโยงอำนาจอธิปไตยและมีความยึดโยงกับประชาชนตรงไหน ทั้งนี้ ประเด็นนี้ในรัฐธรรมนูญใหม่ก็มีการพูดถึงว่าช่วงยุบสภาหรือหมดวาระจะให้มีรัฐบาลคนนอกเข้ามารักษาการก็ต้องจับตาดูมาตรานี้ด้วย เพราะผลของมาตรา 67 วรรค 2จะโยงมาที่มาตรานี้เช่นกัน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในช่วงเช้า นางเสาวลักษม์ กิตติประภัสร์ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนานโยบายสาธารณะ และคณะมอบข้อเสนอเกี่ยวกับการบรรจุกระบวนการพัฒนานโยบายสาธารณะแบบครบวงจรในรัฐธรรมนูญ 2550 แก่นายเดโช ทั้งนี้ข้อเสนอดังกล่าวมีกลไกที่เป็นรูปธรรม อาทิ ควรบรรจุประเด็นด้านการมีส่วนร่วมของประชาชนเป็นหมวดหนึ่งโดยเฉพาะควรมีกลไกทางกฎหมายที่ประชาชนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมได้จริงโดยยกระดับเป็นหมวดว่าด้วยนโยบายสาธารณะควรมีองค์กรอิสระในการจัดทำประชาพิจารณ์ และปรับปรุงมาตรา 76 ในรัฐธรรมนูญ 2540 เป็น "รัฐต้องส่งเสริมและสนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชนในกระบวนการนโยบายสาธารณะอย่างครบวงจรการตัดสินใจทางการเมือง การวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจ สังคมและการเมืองรวมทั้งการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐทุกระดับ"

ด้านนายเดโช กล่าวว่ายินดีที่จะรับข้อเสนอดังกล่าวส่งให้คณะกรรมาธิการยกร่างฯ พิจารณา ทั้งนี้ ข้อเสนอดังกล่าวคงจะได้ไปช่วยทำให้คณะกรรมาธิการยกร่างฯปรับปรุงในข้อเสนอที่คณะกรรมาธิการทำอยู่ทั้งนี้เรื่องการมีส่วนร่วมที่จะให้ปฏิบัติได้จริงในที่ประชุมมีการพูดกันอยู่เรื่องกองทุนการมีส่วนร่วมและการเปิดให้ประชาชนประชาพิจารณ์ในเรื่องนโยบายสาธารณะได้สะดวกยิ่งขึ้นตนคิดว่าเรื่องการมีส่วนร่วมสำคัญและการทำประชาพิจารณ์ต้องมีหน่วยงานกลางและอิสระไม่ใช่องค์กรเจ้าของเรื่องมาจัดประชาพิจารณ์ไม่เช่นนั้นการทำประชาพิจารณ์ก็จะกลายเป็นประชาสัมพันธ์ให้สื่อแต่ไม่ใช่การมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างแท้จริง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net