ฉาว ฉะ แฉ!!! กมธ.ยกร่าง มีเอี่ยวทุนใหญ่ๆ

ประชาไท - 30 มี.ค. 2250 ผู้สื่อข่าวรายงานว่าการประชุมของคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญรายมาตราในช่วงบ่ายหมวดนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐเริ่มดุเดือดขึ้นเมื่อคณะกรรมาธิการได้หยิบยกส่วนแนวนโยบายด้านเศรษฐกิจ เรื่อง รัฐต้องดำเนินการให้มีการกระจายรายได้อย่างเป็นธรรม ขยายโอกาสในการประกอบอาชีพของประชาชน และส่งเสริมการพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่นเพื่อใช้ในการประกอบอาชีพ

 

โดยนพ.ชูชัย ศุภวงศ์ กรรมาธิการยกร่างฯ กล่าวว่า เรื่องนี้อยากให้เขียนกว้างๆ โดยยกตัวอย่างประเด็นการทำเหล้าเถื่อน หรือ ทำกระแช่ เป็นปัญหาผูกขาดในสังคมไทยเพราะในยุโรปมีการผลิตพวกนี้เป็นแสนๆรายจนมีการพัฒนาอย่างมาก แต่ระบบผูกขาดในเมืองไทยเป็นระบบที่คอรัปรวมศูนย์อย่างมาก เอาข้าราชการไปจับชาวบ้าน ให้ทั้งรถ ทั้งเงิน เป็นระบบที่สร้างความเสียหายกับราชการอย่างใหญ่หลวงและชุมชนอย่างมาก และคนพวกนี้มากำหนดนโยบายสาธารณะตลอดเวลา ไม่ว่า อยู่ในรัฐบาลไหนรวมทั้งเข้ามาร่วมรัฐธรรมนูญ

 

คำพูดของ นพ.ชูชัย สร้างความไม่พอใจให้กับนายไพโรจน์ พรหมสาสน์ กรรมาธิการยกร่างฯ ด้วยกันเป็นอย่างมาก โดยนายไพโรจน์ได้ประท้วงขอให้นพ.ชูชัย ถอนคำพูด โดยให้เหตุผลว่า ได้ฟังการอภิปรายของ นพ.ชูชัย ตั้งแต่ช่วงเช้าแล้ว รู้สึกไม่สบายใจ เพราะบังเอิญเขาเป็นที่ปรึกษาอยู่กับนายเจริญ สิริวัฒนภักดี เจ้าของเบียร์ช้าง แต่ทำด้านเกษตรอุตสาหกรรม ไม่เกี่ยวกับเรื่องเหล้า และนพ.ชูชัย พูดเรื่องนี้สองครั้ง พร้อมกับย้ำมามาร่วมร่างรธน.ด้วย ดังนั้นถ้าไม่ถอนเขาไม่ยอม

 

แต่นพ.ชูชัย ได้ตอบโต้กลับทันทีว่า ไม่ขอถอน เขาพูดกว้างๆ และเมื่อเช้าก็ได้พูดเรื่องซีพี แต่ซีพีหมายถึง corrupt people ซึ่งธุรกิจข้ามชาติเป็นธุรกิจไม่มีสัญชาติ ไปอยู่จีนก็สัญชาติจีน อยู่ไทยก็สัญชาติไทย ไม่เคยสร้างผลประโยชน์ให้กับแผ่นดินไทยเลย ทำลายชุมชน รวมทั้งการผูกขาดผลิตเหล้า ก็ทำความชั่วช้าในสังคมอย่างมาก

 

อย่างไรก็ตาม นายไพโรจน์ ไม่ยอมและโต้กลับว่า "โทษครับ นั่งร่วมร่างรธน. ผมไม่ได้ติดใจเลย แต่บังเอิญผมเป็นที่ปรึกษาด้านเกษตร ไม่เกี่ยวเรื่องเหล้าอะไรเลย แต่เห็นพูดสองครั้ง คงเป็นเพราะผมไปอภิปรายเนื้อหากรอบ 1 เรื่องสิทธิเสรีภาพของท่านมากเกินไปหรือไม่ ท่านก็เลยย้อนกลับมาที่ ซึ่งไม่ควรเป็นเช่นนี้ เราทำงานด้วยกัน ไม่ควรเสียดสีกันดีเปล่า"

 

ท่ามกลางบรรยากาศที่ตึงเครียด น.ต.ประสงค์ ซึ่งทำหน้าที่เป็นประธานการประชุมจึงขอร้องให้พิจารณาต่อไป

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการพิจารณาในหมวดแนวนโยบายพื้นฐานของรัฐ ซึ่งข้อเสนอของนายศรีราชา เจริญพานิช ที่ให้เขียนเรื่อง ภาษีมรดก และการเก็บภาษีทรัพย์สิน ซึ่งในการพิจารณาก่อนหน้านี้ของกมธ.ต่างเห็นพ้องต้องกันว่าจะกำหนดลงในรธน. แต่เมื่อพิจารณาลงรายละเอียด กมธ.กลับไม่ใส่ไว้เพราะเห็นว่า กำหนดตายตัวเกินไป จึงใช้คำว่า "ปรับปรุงระบบการจัดเก็บภาษีให้มีความเป็นธรรม และสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพเศรษฐกิจและสังคม

 

 

แนะจับตาการร่างรายมาตรา เริ่มเห็น "จุดยืน" กมธ. แต่ละคน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าภายหลังจากเสร็จสิ้นการประชุมกรรมาธิการต่างแยกย้ายกันออกมาเพื่อเดินทางกลับบ้าน ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตในทุกวันนายไพโรจน์จะเข้ามาทักทายกลุ่มผู้สื่อข่าวก่อนจะกลับ แต่วันนี้กลับรีบจ้ำอ้าวออกไปจากห้องประชุม ขณะที่กลุ่มผู้สื่อข่าวพยายามวิ่งไปสอบถามข้อเท็จจริงถึงประเด็นที่เกิดขึ้นแต่นายไพโรจน์รีบวิ่งเข้าลิฟท์และกล่าวสั้นๆ ว่า "ไม่มีอะไร อย่าเขียน อย่าเขียน"

 

ขณะที่ นพ.ชูชัย ศุภวงศ์ เปิดเผยหลังการประชุมว่า การร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้ต้องไม่มีผลประโยชน์แฝงเร้นเพราะมาทำงานเพื่อชาติ เพราะการที่ขบวนการพลังประชาธิปไตยหรือภาคประชาชนเองออกมาเคลื่อนไหวและพูดว่า การร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้เป็นการร่างโดยอำมาตย์ ข้าราชการ ขุนนาง กลุ่มทุน กลุ่มธุรกิจ เป็นข้อสังเกตที่คนควรรับฟังและควรให้ความสนใจ เพราฉะนั้นสิ่งที่จะแก้ปัญหาตรงนี้คือการให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมอย่างกว้างขวาง โดยมีสื่อเป็นตัวช่วย เพราะฉะนั้นกระบวนการที่ให้สื่อรับฟังการอภิปรายทุกขั้นตอน รวมถึงการลงประชามติ เขาไม่เห็นว่าจะเป็นความลับแต่อย่างใด ใครจะลงประชามติในเรื่องใด ใครชื่ออะไร สื่อน่าจะบันทึกไว้เป็นประวัติศาสตร์ด้วยซ้ำไปและในหลายๆ ครั้ง จะเริ่มเห็นว่าแต่ละท่านมีจุดยืนอย่างไร

 

กรรมาธิการยกร่างฯ ผู้นี้กล่าวว่า ฝรั่งมีสุภาษิตบอกว่า คนเราไม่กล้าแสดงความเห็นแก่ตัวต่อหน้าสาธารณะ ด้วยเหตุว่าจะมีการตรวจสอบต่อหน้าสาธารณะ แต่ถ้าอยู่ในที่ปิดบังซ้อนเร้นคนเราจะประพฤติชั่วได้เสมอ เพราะฉะนั้น จากกระบวนการที่ผ่านมาที่น.ต.ประสงค์ได้วางไว้ทำให้ความน่าเชื่อถือของกรรมาธิการดีขึ้นตามลำดับ พอลงรายมาตราแล้วก็จะเห็นที่มาที่ไปของแต่ละคน เพราะฉะนั้นสื่อจะทำหน้าที่สำคัญในการติดตามเรื่องนี้

 

"ผมไม่ได้ว่า ผมดีหรือใครดีไม่ดีแต่เป็นเรื่องที่กระบวนการเฝ้ามองเป็นเรื่องสำคัญ ถ้าเราอยู่ในห้องกระจกที่ใส เวลาเราจะนั่งจะนอนต้องระวังตัวคนข้างนอกเห็น แต่ถ้าทึบ การนั่งของเราหรืออากัปกิริยาเราจะเป็นอีกแบบหนึ่ง เพราะฉะนั้นการเฝ้ามองหรือการจ้องมอง สามารถกำหนดพฤติกรรมคนได้" นพ.ชูชัยกล่าว

 

ผู้สื่อข่าวถามว่า ตราบใดที่กระบวนการยังเปิดหมด แม้ว่าใครจะมีที่มาจากใครก็น่าเป็นห่วงน้อยกว่าหรือไม่ เนื่องจากอยู่ในสายตาของสังคม นพ.ชูชัย กล่าวว่า แท้จริงแล้วกระบวนการที่มาของคนก็มีความสำคัญ  กมธ. 35 คนถูกตั้งคำถามและมีความเคลือบแคลงสงสัยถึงที่มา ด้วยเหตุนี้ก็ยิ่งต้องสร้างความโปร่งใสในการทำงานให้มากที่สุด ถ้ากระบวนการที่มาชอบก็อาจจะระมัดระวังเรื่องนี้น้อยลง แต่ไม่ว่าคนจะมีที่มาอย่างไร กระบวนการวางกฎติกาหลักเกณฑ์ของสังคมต้องเปิดเผยโปร่งใส เขาไปดูชุมชนมาร้อยกว่าชุมชนทั่วประเทศ จากการทำงานโรงพยาบาลชุมชนสิบกว่าปี เวลาชุมชนวางกติกาไม่เคยเห็นเขาวางกติกาใครเอาเปรียบใครได้ ไม่เคยเห็นเขาวางกฎเกณฑ์กัน 2-3 คน แต่วางตามลานวัด ตามโรงเรียน เป็นสาธารณะทั้งนั้น และทุกคนก็ให้ความเคารพตามกติกานั้น

 

เมื่อถามว่ากระบวนการที่มาถึงวันนี้แรงกดดันหรือกลุ่มต่างๆ มีผลต่อข้อเสนอเรื่องสิทธิประชาชนหรือไม่ น.พ.ชูชัย กล่าวว่า เขายังไม่กล้าสรุป เพราะยังไม่เห็นภาพชัดเจน แต่สิ่งที่ได้พูดเมื่อวานและวันนี้ มีคนตั้งข้อสังเกตว่าเมื่อเขาตั้งคำถามกับทีมกฤษฏีกาหรือทีมเลขาถึงเนื้อหาสาระและกระบวนการทำงานกรรมาธิการบางท่านก็แทรกแซงว่าเป็นการไม่ไว้วางใจกัน ทำให้การดำเนินการประชุมไม่มีประสิทธิภาพ เนื่องจากว่าอนุกรรมาธิการ1 มีร่างรายมาตราของตัวเองด้วย ซึ่งจริงๆ แล้วเราทำตามที่เขาวางไว้ โดยมีร่างเทียบกับปี 2540 แต่ที่ฝ่ายเลขานุการคณะกรรมาธิการเสนอไม่ได้เทียบกับปี 40 แต่วันนี้ (29 มี.ค.) เขามีแล้ว เพราะฉะนั้นเราต้องอธิบายว่าที่เราร่างใหม่ดีกว่าปี 40 อย่างไร เมื่อไม่มีการเทียบมาตราใหม่ทำให้ผมตามไม่ทัน และอนุกรรมาธิการก็ไม่ได้มีโอกาสเข้ามาช่วย เพราะฉะนั้นผมจึงไม่สามารถดูแลในส่วนที่เกี่ยวเนื่องกับผมได้ ก็ต้องบอกและคุยกัน การมาตั้งข้อสังเกตอย่างนี้ไม่เป็นธรรมกับการทำงาน ตอนนี้ผมก็ยังไม่กล้าสรุปว่าใครเป็นอย่างไร เพราะปรากฎการณ์ที่ผ่านมาก็ไม่มีอะไรชัดเจน

 

เมื่อถามว่าพลังของอำมาตยาและกลุ่มทุนสร้างแรงกดดันมากแค่ไหน นพ.ชูชัย กล่าวว่า เขาคิดว่าสื่อมวลชนและคนในสังคมที่อ่านเนื้อหาในรัฐธรรมนูญจะตอบตรงนี้ได้ดี ว่ารัฐธรรมนูญมีเนื้อหาสาระเป็นไปในทางรับใช้หรือเอื้อต่อกลุ่มไหน วันพุธที่ 4 เม.ย.จะมีการพิจารณาเรื่องสิทธิชุมนุม ซึ่งถือเป็นหัวใจของหมวดสิทธิเสรีภาพ อนุกรรมาธิการวิจัยค้นคว้ากันมาแรมปี และได้ข้อมูลจากเครือข่ายชุมชนทั่วประเทศ

 

นพ.ชูชัย กล่าวว่า ที่เขาได้พูดเรื่องธุรกิจเหล้าที่ผูกขาดและเอาเงินไปให้ข้าราชการไล่จับชาวบ้าน แต่ตัวเองร่ำรวยมหาศาลจากธุรกิจน้ำเมา สร้างระบบคอร์รัปชั่นในราชการอย่างมโหฬารทั้งประเทศ ทำไมทำให้เกิดสิ่งเหล่านี้ได้ และธุรกิจน้ำเมาสร้างความเสียหายให้ประเทศอย่างมโหฬารทั้งอุบัติเหตุ ความรุนแรงในครอบครัว ที่สำคัญขวางกั้นภูมิปัญญาท้องถิ่นที่สามารถผลิตเหล่านี้ได้ในราคาถูก ที่พูดไม่ได้ส่งเสริมให้กินเหล้า แต่เป็นการสะท้อนให้เห็นถึงการผูกขาด พวกนี้ร่ำรวยมหาศาลระดับโลก แล้วจะเข้ามากำหนดนโยบายสาธารณะในทุกรัฐบาล รวมทั้งบริษัทที่บอกว่าเพื่อการเกษตร เข้าไปผูกขาดชาวบ้าน ทำให้ชุมชนและเกษตรกรอ่อนแอลง เป็นระบบที่ทำลายชุมชน เพราะฉะนั้นเรื่องสิทธิชุมชนเป็นหัวใจสำคัญที่เขาจะรักษาฐานทรัพยากร เพื่อดำรงชีวิตของเขาได้เป็นการรักษาประเทศชาติบ้านเมือง เป็นฐานรากประชาธิปไตยของจริง ถ้าไม่สามารถสร้างตรงนี้ให้เกิดขึ้นได้ ประชาธิปไตยทางตรง หรือประชาธิปไตยแท้จริงก็ไม่สามารถเกิดขึ้นได้

 

"ผมพูดมาตลอดว่าประชาชนไม่ควรไว้ใจนักเลือกตั้ง ส.ส. ส.ว. เช่นเดียวกับส.ส.ร.กมธ.รวมทั้งตัวผมด้วย"นพ.ชูชัย กล่าว

 

แฉ เสนอร่างรธน.ไปอย่างเขียนอีกอย่าง

ด้านแหล่งข่าวในกรรมาธิการรายหนึ่ง ให้สัมภาษณ์ถึงการร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้ ว่า มาตราเกี่ยวกับสิทธิชุมชนที่กฤษฎีการ่างมาไม่โอเค หลายส่วนมีรายละเอียดอีกเยอะที่หายไป

 

"เสนออย่างไปเขียนอีกอย่าง สาย คมช. 10 คนเขาคงออกแบบมาแล้ว มีคนกฤษฎีกาอยู่ในนั้น" แหล่งข่าวกล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท