Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis


 







นำเสนอข้อเขียนของ แกนนำเยาวชน โครงการเยาวชนรู้เรียน Right to know (RTK) ซึ่งเป็นโครงการเกี่ยวกับการพัฒนารูปแบบการสื่อสารเรื่องเอดส์และเรื่องเพศแก่เยาวชน ดำเนินการโดย มูลนิธิพัฒนาเครือข่ายเอดส์ (เอดส์เน็ท) สำนักงานภาคเหนือ สนับสนุนงบประมาณโดยองค์การยูนิเซฟประเทศไทย


 


 


จิราพร แสนาบาล


 


 


1


 


ปัง…ปัง ไม่ใช่เสียงปืนหรอก แต่เป็นเสียงเคาะประตูของแม่พร้อมกับเสียงตะโกน


"ตื่น ๆ จะนอนกินบ้านกินเมืองกันไปถึงไหน" คล้ายกับว่าถ้าเช้าไหนไม่ได้ยินเสียงนี้ ค่ำคืนนั้นจะยาวนานมากขึ้น


 


แม่คิดว่า คนนอนตื่นสายคือคนขี้เกียจ แต่ฉันคิดว่าไม่ใช่ คนเราจะทำอะไรก็ต้องรู้ตัวเองดีว่าถ้าไม่ขยัน ไม่ตรงเวลาจะเกิดอะไรขึ้น ตัวเองย่อมต้องรู้หน้าที่ของตัวเอง ว่าวันนี้จะต้องทำอะไร เวลาไหนบ้าง


 


เกิดมาหลายปีตื่นสายมาหลายครั้ง ป่านนี้ยังหาจุดยืนของตัวเองไม่ได้ เหมือนอยู่หายใจทิ้งไปวัน ๆ ยังทำตัวไม่เอาไหน  ความคิดนี้มันเกิดขึ้นทุกครั้งเมื่ออยู่คนเดียว วนเวียนสับสนอยู่ในความคิด


 


เมื่อ 5 ปีก่อน มีความทรงจำดี ๆ เก็บไว้ ครั้งนั้นเป็นประสบการณ์ที่ดี ไปทำกิจกรรมเพื่อประโยชน์ของผู้อื่นบ้าง ไปร่วมกิจกรรมกับพี่ ๆ ที่เคยทำงานพัฒนามานานหลายปี  พัฒนา เป็นคำสั้น ๆ ฟังง่าย แต่ทำยากลำบากสำหรับเรา เพราะก่อนที่จะทำอะไรสักอย่าง ต้องคิดแล้วคิดอีก "คิดให้ตกผลึก"


 


"ตบมือ 1 ครั้ง ตบมือ 2 ครั้ง" เสียงของผู้นำเกมก่อนจะเริ่มทำกิจกรรมต่อไป มีเสียงหัวเราะ ถกเถียงปัญหา ช่วยกันระดมความคิดให้เกิดสิ่งที่ดีขึ้น เมื่อความคิดเป็นรูปเป็นร่าง เห็นแนวทาง แล้วลงมือทำ พวกเราช่วยกันทำตามแนวทางให้ดีที่สุด บ่อยครั้งเป็นไปตามที่คาดไว้และดีเกินคาด อีกบ่อยครั้งผิดหวังแต่สิ่งที่ทำทุกครั้งเกิดการค้นพบมากมาย


 


เสี้ยวความทรงจำ ถูกสะสมเก็บมาหลายวัน หลายเดือน หลายปี เก็บเอาไว้อย่างดี ไม่มีเลือนหายไปกับ "เวลา" หากมองลงไปลึก ๆ แล้วยังมีเศษเสี้ยวเล็ก ๆ อีกมากมาย ถูกจดจำและบันทึกไว้เป็นประสบการณ์


 


 


2


 


คืนนั้น


มีคณะผู้หวังดี ขอแทรกแสดงคั่นเวลาของคณะหมอลำซิ่งที่ชาวบ้านจ้างมาสร้างความรื่นเริงในงานศพ เพื่อแสดงละครหุ่นกระบอกและละครเวที เนื้อหาของบทละครถูกถ่ายทอดให้สังคมรู้ว่าตอนนี้เกิดอะไรขึ้นที่หมู่บ้านเรา น้ำตาของยายที่นั่งดูอยู่ด้านล่างเวทีไหลออกมา เพราะเนื้อหา คำพูด มันแทงใจดำ ดัง "ปั๊ก" ของยายเหลือเกิน


 


เป็นการกระตุ้นให้ฉันอยากทำ อยากจะร่วมกับคณะผู้หวังดีนี้บ้าง คณะนี้ไม่ใช่คนโด่งดัง คนหล่อคนสวยมาจากไหน เป็นหนุ่มสาวในหมู่บ้านที่หน้าตาธรรมดา ลุกขึ้นมาทำงานพัฒนา นำโดยครูหัวใจแกร่งกับพี่สาวใจนักสู้ ฉันจึงเข้าไปเมื่อ 5 ปีที่แล้ว จากคืนนั้นถึงวันนี้ เกิดชิ้นงานหลายชิ้นได้เป็นที่ยอมรับ การเปลี่ยนแปลงในสิ่งดีๆ เกิดขึ้น …ยังมีเรื่องราวมากมายเช่น


 


เด็กสาวอายุ 15 มีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน มีลูกทั้งๆ ที่ตัวเองไม่อยากมี


พ่อแม่จับได้ บังคับให้แต่งงาน  ถูกไล่ออกจากโรงเรียน


 


..............


 


"หนูเป็นอะไรไม่รู้ แสบ ๆ ที่น้องของหนู"


"เมื่อวานหนูเมามากไปเลย... แล้วหนูจะท้องไหม"


"จะติดเชื้อไหม"


"ผมอยากลองมีมั่ง ดูในหนังแผ่นกับเพื่อน พวกมันท้าผมว่าผมไม่แน่จริง ผมจึง… "


"เลือดของผมเป็นบวก"


 


สิ่งเหล่านี้มันเกิดขึ้นแล้วเป็นงานหนัก เป็นสิ่งที่ท้าทายสำหรับพวก หลายวิธีที่พวกเราทำให้มันดีขึ้น เพื่อไม่ให้ลูกหลานเราทำแท้ง ติดเอดส์ ไปมากกว่านี้ ทำให้พวกเขาเริ่มรู้จักการป้องกัน และเริ่มปฏิบัติจริงเพราะรักตัวเองและรับผิดชอบต่อคนอื่น


           


3


 


เมื่อฉันผ่านชีวิตจากรั้วการศึกษาที่เสมือนเป็นกรอบที่ให้ทุกคนต้องเข้าไป เพื่อให้สังคมยอมรับเรื่องของระดับความคิด ปัญญา ยิ่งจบสูงมากเท่าไหร่ก็ได้รับการยอมรับมากเท่านั้น ใบปริญญาเป็นเหมือนใบเบิกทางเพื่อใช้เป็นเกณฑ์การตัดสินค่าตอบแทนในการทำงาน


 


ในวันรับปริญญาทุกคนต่างยินดี รุ่นพี่ที่จบไปแล้ว พูดโอ้อวดงานที่ทำเงินเดือนที่ได้ให้รุ่นน้องได้อิจฉา จุดชนวนให้เข้าไปสู่มนุษย์เงินเดือน


 


ก่อนที่ฉันจะผ่านมันมาได้ ฉันถามตัวเองหลายครั้ง มันเกือบทำให้ฉันกลายเป็นมนุษย์เงินตราไร้จิตวิญญาณไปแล้ว ยุคนี้เป็นยุคที่ผู้คนต่างแสวงหาโอกาสที่จะได้ทำงานที่มีค่าตอบแทนสูง ประเภทที่ชี้นิ้วสั่งได้ยิ่งเหมาะเหม็ง


 


งานอาสาสมัครจึงเป็นงานที่หลายคนในยุคเงินตรา แทบจะนึกไม่ออกว่าเป็นงานแบบไหน ทำเพื่ออะไรในเมื่อไม่มีค่าตอบแทน หรือได้ค่าตอบแทนที่ก็ดูเหมือนจะน้อยมาก ไม่คุ้มกับระดับการศึกษาที่สังคมขีดกรอบไว้ แต่ฉันอยากจะลองสิ่งที่แตกต่าง ความคิดที่อยากจะแตกต่าง ทำให้ฉันก้าวเข้ามาเป็นอาสาสมัคร


 


บ้านที่ไม่ต้องเช่า มีที่นาพอปลูกข้าวกินได้ตลอดทั้งปี เลี้ยงปลา ปลูกผัก เลี้ยงไก่



แม้วันนี้ ฉันไม่มีเงินสักบาทเดียว ท้องของฉันก็อิ่มได้อย่างสำราญ ได้อยู่กับครอบครัว ดูแลซึ่งกันและกัน


 


 


 


 


จิราพร แสนาบาล  "ป๊อปแป๊บ" เป็นเยาวชนโครงการเยาวชนรู้เรียนเครือข่ายเยาวชนอีสาน จบมหาวิทยาลัยราชภัฏ ปริญญาตรีสาขาพัฒนาชุมชน ปัจจุบัน เธอทำงานกับอาจารย์สุมาลี  วรรณรัตน์ นักพัฒนาในพื้นที่ โดยทำงานในโครงการ การสื่อสารเรื่องเอดส์เรื่องเพศกับเยาวชน


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net