Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 








นำเสนอข้อเขียนของ แกนนำเยาวชน โครงการเยาวชนรู้เรียน Right to know (RTK) ซึ่งเป็นโครงการเกี่ยวกับการพัฒนารูปแบบการสื่อสารเรื่องเอดส์และเรื่องเพศแก่เยาวชน ดำเนินการโดย มูลนิธิพัฒนาเครือข่ายเอดส์ (เอดส์เน็ท) สำนักงานภาคเหนือ สนับสนุนงบประมาณโดยองค์การยูนิเซฟประเทศไทย


 


 


สุนา


 


บ้านสุนา  อยู่ในดินแดนเมืองเหนือจังหวัดเชียงราย แต่เป็นชุมชนอีสาน หรือเรียกว่าอีสานอพยพมาตั้งถิ่นฐานบ้านช่องอยู่ที่นี่ จนมีชื่อเรียกว่า อีสานปางลาว  สุนาเกิดที่นี่แต่ปู่ย่าตายายของเธอโยกย้ายอพยพมาจากอีสาน


 


เล่ากันว่า เมื่อปี 2506 ทหารจากอีสานที่ขึ้นมาประจำการเขตชายแดนภาคเหนือในช่วงสงครามตอนนั้น เมื่อทหารกลับบ้านก็ไปบอกต่อว่า ที่นี่อุดมสมบูรณ์  จึงมีคนอพยพโยกย้ายเข้ามา ต่อมาปี 2508 กลุ่มบริษัททำไม้ ได้สัมปทานไม้ก็จ้างคนอีสานมาทำงาน ก็เลยตั้งหลักปักฐานกันอยู่ที่นี่ หลังจากนั้นก็มีการโยกย้ายกันมาขบวนใหญ่  ส่วนใหญ่มาจากจังหวัดอุดรธานี


 


ชีวิตที่ต้องเดินต่อไป


 


"เริ่มต้นตรงไหนดี…เริ่มเมื่อหนู อายุ 14 ตอนนั้นพ่อเสียชีวิตเพราะติดเชื้อเอชไอวี  อาจารย์จึงชวนมาทำงาน (อาจารย์สุมาลี  วรรณรัตน์) โครงการ "พี่สอนน้อง"  ทำประมาณ 2 ปี กับเยาวชนที่ยากจนพ่อแม่ติดเชื้อบ้าง พ่อแม่ติดคุกบ้าง พวกเขาได้รับผลกระทบหลาย ๆ อย่างเช่นกัน


 


จากพี่สอนน้องก็มาทำงาน RIGHT TO KNOW (RTK) หรือ โครงการเยาวชนรู้เรียน  ในช่วงแรกๆ  ทำคล้ายๆ กับเครือข่ายชุมชนอีสาน ตอนแรกทำ 4 หมู่บ้าน แบ่งเป็นสองกลุ่ม เน้นในเรื่องวัฒนธรรมชุมชน คือทางเหนือจะเป็นคนเหนือ แต่ที่นี่จะมีกลุ่มคนอีสานในหมู่คนเหนือมีเยอะมาก แต่ละหมู่บ้านเป็นพี่เป็นน้องกัน  เราจะใช้ภาษาวัฒนธรรมเป็นตัวสื่อ เพราะว่าเราใช้ภาษาเดียวกันเข้าใจกันและกันได้ง่าย  จากนั้นมาก็ขยายออกมาเป็น 14 หมู่บ้าน  เป็นชุมชนคนอีสานเหมือนกัน และเพิ่มประเด็นเรื่องเอดส์ เรื่องเพศ เรื่องยาเสพติดลงไป เครือข่าย 14 หมู่บ้านนี้เป็นคนอีสานอพยพหมด หนูเป็นคนที่นี่เกิดที่นี่ แต่ปู่ย่าตายายก็อพยพมาจากอีสาน"


 


"เมื่อพ่อเสีย หนูอยู่กับแม่  มียาย มีป้า มีน้องชาย และป้าเป็นโรคประสาท แม่ติดเชื้อ และไวรัสเข้าตา เดี๋ยวนี้ตามองไม่เห็นทั้งสองข้าง เราเป็นลูก เราต้องมีเวลาให้แกมาก ๆ ดูแลแบบผิวเผินไม่ได้ ถ้าเราอยากให้เขาอยู่กับเรานาน ๆ ต้องหมั่นไปพูดไปคุยกับเขาบ่อย ๆ  ให้เขาอารมณ์ดี "


 


"แรกๆ ที่พ่อเสีย และรู้ว่าแม่ติดเชื้อ  เรารับไม่ได้ เรายังเงียบอยู่ ในช่วงนั้นเเม่จะอ่อนแอ คิดมาก และมีโรคแทรกซ้อนบ่อย แม่ทรุดลงเร็วมาก เหลือแต่กระดูก ตอนหลังก็ดีขึ้น กินยาต้านไวรัส  ก่อนนี้แม่ไปรับเองเดือนละครั้ง เดี๋ยวนี้ลูกไปรับแทนเพราะตามองไม่เห็นเลย"


 


"ช่วงนี้อาการดีขึ้น ตอนแรกไปตรวจเดือนละครั้ง ต่อมาไปสองเดือนครั้ง และ 6 เดือนครั้ง ตอนนี้ก็ปีหนึ่งไปตรวจครั้งหนึ่ง แม่แข็งแรงเป็นปรกติแล้ว  นอกจากตามองไม่เห็นเท่านั้นแหละ คนที่ตามองไม่เห็นเขาจะท้อนะ  แม่มองไม่เห็นมาสามปีแล้ว…


 


ยาต้านนี่ต้องกินเรื่อย ๆ กินตลอด หยุดไม่ได้ ถ้าหยุดภูมิคุ้มกันมันก็พังกินเรื่อย ๆ ต้องกินตรงเวลา ถ้ากินไม่ตรงเวลา เกิดดื้อยาขึ้นมาก็ลำบาก ต้องตั้งนาฬิกาปลุกเลย วันละสองครั้ง 4 โมงเช้า 4 โมงเย็น ก่อนหน้านั้นชื้อ แพงมากพันห้าร้อยต่อเดือน แต่ตอนนี้ได้ฟรี


 


ยาพวกนี้มีผลข้างเคียง ก่อนนี้ เราไปเข้าโรงพยาบาลเอกชน แม่เป็นโรคหนึ่งคือกินยาตัวนั้นไม่ได้แต่หมอให้กิน ไม่รู้เขาคิดอย่างไร ยานั้นกินแล้วตัวดำเป็นตอตะโกเลย ช่วงหลังย้ายมาโรงพยาบาลของรัฐก็รักษามาเรื่อย ๆ ก็ดีขึ้น ยานี้กินก็เสี่ยงกับโรคไต ที่ตาบอดก็เพราะผลข้างเคียงส่วนหนึ่ง และเชื้อด้วยส่วนหนึ่ง แต่ตอนนี้แม่เข้มแข็งขึ้น


 


ถ้าใครเจอปัญหาแบบนี้ เราต้องยอมรับและทำให้ได้ด้วย คือถ้าเราทำไม่ได้ เขาจะไปเร็วพูดตรง ๆ แบบนี้นะ ต้องดูแลต้องใส่ใจอย่างมาก  อย่างหนูไปเรียนกลับมา ถ้าทำกับข้าวให้เขาไม่ทัน เขาก็กินได้น้อยกินข้าวไม่อร่อย ก็จะส่งผลกับสุขภาพกับจิตใจ


 


แม่มีเพื่อนบ้านที่เข้าใจ แกจะมีเพื่อนบ้านคนเฒ่าคนแก่ ที่ลูกไปทำงานต่างประเทศมาแอ่วมาอู้มาคุยกัน สังคมกับครอบครัวต้องไปด้วยกันจึงจะดี


 


ชีวิตวัยเยาว์หายไป


 


สุนาไม่ได้ใช้ชีวิตแบบเด็กวัยเยาว์ เธอต้องรับผิดชอบดูแลครอบครัว ที่มีคนแก่ คนป่วย และน้องชาย เธอหาทุนการศึกษาโดยเองมาตลอด เมื่อถามว่ารู้สึกว่าชีวิตตัวเองหนักมั้ย เธอว่า


 


"รู้สึกว่าหนัก ตอนนั้นอายุยังน้อย แต่เราต้องคิดว่าคนอื่นก็เหมือนกันไม่ใช่เป็นแต่เรา ช่วงนั้นไปทำงานอาสาสมัครก็ได้เบี้ยเลี้ยงบ้าง  ทำงานกับอาจารย์สุมาลี และทำงานประสานงานให้พี่อ้อ (พะยอม เป็นมงคล ผู้ประสานงาน RTK และทำงานที่เกี่ยวกับงานเยาวชน) และได้รับทุนรัฐบาลในการเขียนเรียงความปีละหมื่นบาท เขียนเรื่องครอบครัวตามความเป็นจริง"


 


สุนาเล่าถึงการทำงานเป็นเป็นแกนนำเยาวชน RTK ว่า    


 


"ตอนเป็นแกนนำก็ได้จัดค่าย เป็นวิทยากร ทำกิจกรรมบ้าง มีเยาวชนที่ทำงานแบบนี้  14 หมู่บ้านก็ทำโดยวิทยากรที่เป็นเยาวชนในหมู่บ้าน อย่างในช่วงที่ต้องตอบคำถาม ให้เยาวชนไปสื่อสารเรื่องเอดส์เรื่องเพศกับเยาวชนด้วยกันเอง พอเข้าไปใหม่ ๆ ก็มีปัญหาว่า ทำไมต้องมาพูดมาถามเรื่องส่วนตัว เราต้องยอมรับว่าเป็นเรื่องส่วนตัวของเขา เขาจะตอบหรือไม่ตอบก็ได้ เขาอาจจะให้ข้อมูลเท็จก็ได้ เราต้องสร้างความคุ้นเคย เรื่องใหญ่ต้องสร้างความคุ้นเคย ต้องหมั่นไปพูดจาสร้างความคุ้นเคย การทำงานกับเยาวชนอย่างเดียวไม่พอ เราต้องทำงานกับผู้ที่เกี่ยวข้องกับเยาวชนด้วย เช่น ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วย อบต. เวลาที่เราจัดกิจกรรม เราก็ต้องประสานงานกับพวกเขา


 


บางครั้งก็ผ่านไปด้วยดี บางครั้งก็มีอุปสรรค เพราะเรื่องเอดส์เรื่องเพศมันใหม่ เพราะไม่มีใครลงไปทำงานกับพวกเขาอย่างนั้น เป็นเรื่องที่เยาวชนจะฮือฮามาก คือแบบสาธิตการใช้ถุงยางอนามัย แต่เราก็ต้องทำตัวปกติ


 


ในทางสังคมเป็นเรื่องส่วนตัวที่ไม่ควรเปิดเผย แต่มันไม่ได้แล้วสำหรับคนไม่รู้ เป็นเรื่องใหญ่


 


ช่วงแรกๆ นี่โดนโห่ ไปๆ มาๆ ก็ชินแล้ว ช่วงหลังไม่โดนแล้วเพราะเราให้ข้อมูลให้ความรู้ให้เขาเข้าใจ ช่วงหลังเขามาขอถุงยางอนามัยกับเรา แต่ละหมู่บ้านเราจะสร้างแกนนำเยาวชนด้วย จากเพื่อนไปสู่เพื่อน จากแกนนำรุ่นหนึ่งก็ไปสู่อีกรุ่นหนึ่ง เขาก็ไปให้ความรู้กับเยาวชนในหมู่บ้านของเขาต่อกันไป


 


แกนนำมากน้อยแล้วแต่หมู่บ้าน บางหมู่บ้านก็สองคน บางหมู่บ้านก็สี่คน งานของเราคือลงตามหมู่บ้าน เพราะว่าเยาวชนที่เราให้ความรู้ก็จะเอาไปใช้กับกลุ่มเพื่อนที่โรงเรียน ขยายออกไป อย่างเพื่อนที่โรงเรียนเขารู้เขาก็มาพูดคุย บางคนมาขอถุงยางอนามัย พอเขามาขอถุงยางอนามัย  เราก็แนะนำกับเขาได้ในเรื่องต่างๆ เช่น เรื่องความสัมพันธ์ที่มีต่อกัน ว่าควรจะเป็นอย่างไร และควรจะป้องกันอย่างไร ปัญหามีมาปรึกษาเยอะเหมือนกัน ทั้งตอนที่เรียนอยู่โรงเรียนและมหาวิทยาลัย พวกเรียนมหาวิทยาลัยก็ต่างกันออกไป เป็นระดับหนึ่งไม่เหมือนมัธยม สังคมจะต่างกันมาก มีความรู้ เป็นผู้ใหญ่ มีปัญหาเรื่องเปลี่ยนแฟนบ่อย เห็นชัดมากไม่ใช้ถุงยาง ที่มหาวิทยาลัยก็มีสื่อเรื่องนี้บ้าง แต่สื่อบางอย่างไม่ได้ผลเช่นแค่เอาโปสเตอร์ไปติดบอร์ด เขาไม่สนใจอ่าน แต่ถ้าใส่ไปในสื่อวิทยุของมหาวิทยาลัยจะดีกว่า ถึงแม้ว่านานๆ ครั้งจะได้ยิน"


 


ไปเยี่ยมบ้านสุนา

 


บ้านของสุนา เป็นบ้านไม้ มีใต้ถุนสูง ที่ใต้ถุนบ้านมีแม่ และยายนั่งอยู่  ยายอายุเกือบจะ แปดสิบ แต่ดูยังแข็งแรง ดูได้จากผักสวนครัวหน้าบ้านยาย ไม่ต้องซื้อผักกิน มีผักกาด ผักชี ต้นหอม มะละกอ พริกขี้หนู และอีกสารพัดผัก ล้วนเป็นมือของยายทั้งนั้นที่ปลูกขึ้นมา


 


นอกจากปลูกผักแล้วยายยังหาของกินจากหนองน้ำ ช่วงนี้เป็นหน้าหนาวน้ำแห้งเป็นโคลนยายหาหอย ขุดเอาจากโคลนแห้ง ๆ หอยจะซุกตัวอยู่ที่นั่น ยายขุดเอามาเก็บเอาไว้เป็นกระสอบและแบ่งให้ผู้มาเยือนด้วย


 


ยายเป็นคนอารมณ์ดี แต่หูแกไม่ดี หูไม่ได้ยิน แต่กระนั้นยายก็เป็นคุยสนุกสนาน หัวเราะอย่างอารมณ์ดีตลอด ยายพูดถึงหลานสาวว่า สงสารหลานสาวต้องมาอยู่กับคนแก่ ๆ ทั้งนั้น ทำกับข้าวเป็น แต่ทอผ้าไม่เป็น


 


ว่าแล้วยายก็เดินไปรื้อผ้าทอผีมือยายมาให้ดู ลายผ้าทอของยายสวยจริง ๆ เป็นลายผ้าทออีสาน


ยายเล่าว่า เพิ่งจะขายที่ทอผ้าไปเพราะไม่รู้จะเอาไว้ทำไม ยายแก่แล้วทอไม่ไหว  หลานสาวเขาจะเรียนเป็นครู ส่วนหลานชายก็เรียนอาชีวะ


เย็นนี้มีเพื่อนบ้านมาเยี่ยมสองคน พวกเขากลับมาจากการเก็บผัก ผู้หญิงคนหนึ่งบอกว่าตัวเขาสู้ยายไม่ได้ ยายหาเก่ง หาผักหาหอย แล้วยายก็แข็งแรงกว่าด้วย


 


ส่วนแม่ แม้ว่าตาจะมองไม่เห็นแต่แม่ก็ช่วยตัวเองในขณะอยู่ในบ้าน มีความสุขตามสมควร สุขภาพจิตดี มีลูกสาวลูกชายคอยดูแลอย่างดี


  


งานใหม่ของสุนา


 


ก่อนเรียนจบสุนาก็ฝึกงานที่รีสอร์ทไม่ไกลจากบ้านมากนัก และเมื่อเรียนจบเธอทำงานที่นั่นต่อทันที ทำงานแผนกต้อนรับอยู่ส่วนหน้า


 


เธอว่า "ต้องปรับตัวเพราะงานที่รีสอร์ทต่างจากงานกิจกรรม เช่นเวลาทำงานถ้าหากเข้าหกโมงต้องตอกบัตรก่อนหกโมง ถ้าตอกหกโมงก็คือสาย แต่มันก็ดีเราจะได้รู้จักบริหารเวลา แต่ที่น่ากลัวคือต้องปรับตัวเข้ากับระบบตามคำสั่ง เขาตีกรอบไว้ให้เราเรียบร้อยไม่ต้องคิด เรียนรู้กันคนละแบบ แขกที่มาพักก็ไม่เหมือนกันเลยสักวัน แต่ก็ดีได้เห็นคนที่ต่างออกไป ที่รีสอร์ทส่วนใหญ่จะเป็นฝรั่งเดินทางมาจากยุโรป "


 


ในช่วงนี้สุนาบอกว่า ไม่ค่อยจะได้ไปช่วยเป็นแกนนำ เพราะว่ามีงานเยอะขึ้น แต่ช่วงที่เป็นแกนนำก็ได้ฝึกแกนนำรุ่นใหม่ ทำหน้าที่แทนกันได้แล้ว


 


เธอคือ


สุนา เลขนอก  เป็นอาสาสมัครเยาวชนบ้านปางลาว


และเป็นผู้ช่วยผู้ประสานงานโครงการเยาวชนรู้เรียนเครือข่ายเยาวชนอีสาน


จบการศึกษาที่มหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงราย  คณะศิลปศาสตร์ เอกภาษาอังกฤษ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net