สุขภาพคนเชียงใหม่วิกฤติ นักวิชาการเสนอประกาศภาวะฉุกเฉิน


ทิพย์อักษร มันปาติ
สำนักข่าวประชาธรรม

สภาวะทางมลพิษทางอากาศที่ปกคลุมพื้นที่ภาคเหนือตอนบนหลายจังหวัด เช่น เชียงราย เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง แม่ฮ่องสอน พะเยา น่าน เนื่องจากควันไฟจากการเผาไหม้ ทั้งไฟป่า การเผาขยะ และเศษใบไม้ ที่เกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่องเป็นนานหลายวันติดต่อกัน จากการรายงานของสำนักจัดการคุณภาพอากาศและเสียง กรมควบคุมมลพิษ เมื่อวันที่ 6 มี.. 2550 พบว่าปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กทีเป็นอันตรายต่อสุขภาพ โดยสถานการณ์ใน จ. เชียงใหม่ ระหว่างวันที่ 31.. - 8.. 2550 สถานีโรงเรียนยุพราช ตรวจพบค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมง สูงสุดเท่ากับ 162 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ในวันที่ 4.. 2550 และสถานีศูนย์ราชการรวม พบค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมง สูงสุดเท่ากับ 137 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ในวันที่ 5.. 2550

นอกจากนี้ สถานการณ์ตั้งแต่วันที่ 28.. 2550 เป็นต้นมา พบว่า สถานีโรงเรียนยุพราช ค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมงสูงสุด เท่ากับ 191 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ในวันที่ 2 มี.. 2550 และสถานีศูนย์ราชการรวม ค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมง สูงสุดเท่ากับ 240 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ในวันที่ 5 มี.. 2550

ป้องกันภัยเฉพาะหน้า แจกผ้าปิดจมูก

ล่าสุด วานนี้ ค่าเฉลี่ยของฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 10) สูงสุดที่ 284 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร ส่งผลให้ประชนต้องทนอยู่ในสภาพถูกรมควัน และที่ร้ายไปกว่านั้นคือ ยังมีประชาชนอีกเป็นจำนวนมากไม่รู้ว่ากำลังเผชิญอยู่กับมหันตภัยมืด ที่มีส่งสัญญาณอันตรายต่อสุขภาพทั้งในระยะสั้นและระยะยาวโดยตรง ไม่ใช่หมอกไอธรรมดาอย่างที่เข้าใจกัน

 

อย่างไรก็ตาม จากการประชุมรับฟังข้อมูลเรื่องมลพิษทางอากาศ ณ ห้องประชุมชั้น 3 ศาลากลาง จ.เชียงใหม่ โดยมี นายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เดินเข้าร่วมประชุมรับรู้ และรับฟังปัญหาในพื้นที่ เพื่อเตรียมนำเสนอข้อมูลต่อคณะรัฐมนตรี ว่าถึงเวลาอันสมควรแล้วหรือไม่ที่จะประกาศภาวะฉุกเฉินทางสิ่งแวดล้อม พร้อมกันนี้ กระทรวงสาธารณสุขได้ส่งมอบหน้ากากป้องจมูกแก่หน่วยงานจังหวัดภาคเหนือที่ประสบปัญหามลพิษควันไฟ

 

นายไพบูลย์ กล่าวว่า โดยส่วนตัว ตนมีความเห็นว่า 1. การจัดการแก้ไขปัญหาในระดับพื้นที่มีความสำคัญ 2. ความร่วมมือ รวมพลังของทุกฝ่าย 3. พลังของภาคประชาชน เครือข่าย องค์กร สถาบัน เมื่อรับรู้แล้วต้องช่วยกันแก้ไขปัญหา 4. การให้ข้อมูลการรับรู้แก่ประชาชนอย่างได้ผล ต้องอาศัยการสื่อสาร 2 ทิศทาง ด้วยรูปแบบที่หลากหลาย เพื่อให้เกิดการนำไปปฏิบัติ 5. ข้อมูลความรู้ และจากประสบการณ์ประกอบกัน จะทำให้ความร่วมมืออยู่บนฐานของความจริง รับรู้ว่าปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องรีบด่วน 6. เมื่อได้เรียนรู้แล้ว ต้องนำมาตรึกตรอง ปรับปรุง ทบทวนผลภายหลังจากการปฏิบัติ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาต่อไป อะไรที่ดีอยู่แล้วก็ทำให้ดีขึ้น หรืออะไรที่ยังไม่ดีก็ปรับปรุง และ 7. การไม่กลัวปัญหา

 

"ต้องให้ปัญหาสร้างปัญญา ทำให้เราเข้มแข็ง รวมทั้งเป็นโอกาสให้สร้างทัศนคติที่ดีต่อปัญหา เพื่อพร้อมป้องกันภัยพิบัติ อันจะนำไปสู่การสร้างสังคมที่สร้าง พอเพียง สิ่งแวดล้อมน่าอยู่ เป็นสังคมที่เข้มแข็งทั้งสุขภาพ สุขภาวะ มีคุณธรรม ความดี และสันติสุขร่วมกัน" นายไพบูลย์ กล่าวทิ้งท้าย

 

ด้าน นายบุญเลิศ บูรณูปกรณ์ นายกเทศมนตรีเทศบาลนครเชียงใหม่ กล่าวว่า ตนคิดว่าแนวทางแก้ไขปัญหามลพิษที่เกิดจากควันไฟเผาไหม้ในพื้นที่ภาคเหนือตอนบนในขณะนี้ ด้านพื้นที่เมืองเชียงใหม่ที่กำลังประสบปัญหาดังกล่าว ต้องมีเครื่องมือที่ดีเข้ามาช่วย เช่น เครื่องบินที่สามารถโปรยผงเคมี หรือโปรยน้ำในพื้นที่ของ อ.แม่แจ่ม หรือ อ.แม่ลาน้อย จะช่วยป้องกันควันไม่ให้เข้าสู่เขตเมืองเชียงใหม่อีกต่อไป ซึ่งน่าจะใช้เวลาประมาณ 3-5 วัน ในการจัดการกับปัญหาให้ลดลงได้

 

"ผมอยากจะขอกราบเรียนท่านรองนายกรัฐมนตรีในเบื้องต้นว่า ให้เรามาแก้ปัญหากันที่ต้นเหตุจะได้หรือไม่โดยขอกำลังจากกองทัพทางอากาศในการร่วมกันปฏิบัติงานครั้งนี้ คิดว่าเชียงใหม่จะปลอดมลพิษทางอากาศได้" นายบุญเลิศ กล่าว 

 

นายวิชัย ศรีขวัญ ผู้ว่าราชการ จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า แนวทางลดปัญหามลพิษโดยการโปรยน้ำในอากาศ ตามที่นายกเทศมนตรีเทศบาลนครเชียงใหม่ได้เสนอนั้น เป็นกระบวนงานเฉพาะหน้าที่จะต้องแก้ไข ส่วนแผนงานระยะยาว ซึ่งเรื่องการเผาเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตประชาชนนั้น สิ่งที่สำคัญในกระบวนงานแรก คือ 1. ต้องให้การเรียนรู้กับทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นผู้ที่กระทำเอง และผู้ที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งทางจังหวัดได้ขอให้นายแพทย์ส่วนจังหวัดเป็นเจ้าภาพในการให้รายละเอียดส่วนการเรียนรู้ทั้งหมด

 

2. การสร้างอาสาสมัครขึ้นมาทุกพื้นที่ ทุกชุมชน ซึ่งเป็นสิ่งที่มีความจำเป็น โดยต้องขอความร่วมมือกับทางหน่วยราชการ และภาคประชาชน ต้องการเครือข่ายตรงนี้ขึ้นมา ทั้งนี้ผู้ที่เป็นอาสาสมัครต้องเป็นต้นแบบให้กับผู้อื่น และคอยเฝ้าระวังไม่ให้ผู้อื่นกระทำ

 

3. เมื่อเราไม่ให้ประชาชนเผา ก็ต้องให้ประชาชนรู้ว่าจะจัดการอย่างไร เช่น นำเศษใบไม้แห้งไปทำปุ๋ยหมัก หรือเชื้อเพลิง เป็นต้น โดยขณะนี้เราของให้หน่วยงานท้องถิ่น อบจ., อบต., เทศบาลนคร เก็บขยะ และเศษใบไม้ทั้งหมดนำมาจัดการ และ 4. การควบคุมให้เป็นไปตามนโยบายการแก้ไขปัญหา พร้อมทั้งส่งเสริมและให้รางวัลแก่หน่วยงานที่ปฏิบัติงานตามแนวทางนโยบาย

 

ก่อนประกาศกฎอัยการศึกทางสิ่งแวดล้อม

 

นายอภิวัตน์ คุณารักษ์ ผอ. สำนักสิ่งแวดล้อมภาค 1 จ. เชียงใหม่ กล่าวว่า ขณะนี้ปัญหามลพิษทางอากาศได้นำเสนอเข้า ครม. แล้ว โดยให้ดำเนินการตามมาตรการที่ทางจังหวัดเสนอไปก่อนไปแล้ว หากมาตรการขั้นต้นดำเนินการไม่ได้ผล ในกรณีที่จะระงับปัญหาให้ได้ก็ต้องใช้มาตรการขั้นสุดท้ายคือ การประกาศภาวะฉุกเฉินทางสิ่งแวดล้อม โดยนายกรัฐมนตรีจะเป็นผู้ประกาศ

 

"ข้อมูลจะต้องแน่นพอที่จะประกาศภาวะฉุกเฉิน เนื่องจากมีเหตุผลที่จะส่งผลกระทบด้านเศรษฐกิจและสังคม แม้โดยสภาพร่างการของเราตอนนี้จะรู้สึกว่าได้รับผลกระทบ แต่เราก็ต้องมีข้อมูลตัวเลขมาสนับสนุนด้วย" นายอภิวัตน์ กล่าว

 

ผอ. สำนักสิ่งแวดล้อมภาคที่ 1 กล่าวต่อว่า ปัญหามลพิษที่เกิดขึ้นในปีนี้นับว่าอยู่ในขั้นรุนแรง มีผลกระทบต่อสุขภาพ เพราะมีความต่อเนื่องยาวนาน อย่างไรก็ตาม กรณีหากมีการประกาศภาวะฉุกเฉินนั้น ผู้กระทำผิดมีโทษจำคุก 1 ปี ปรับ 1 แสน บาท เปรียบเสมือนการประกาศกฎอัยการศึก ซึ่งจะมีผลกระทบหลายอย่าง ดังนั้นจำเป็นต้องดูว่าพื้นที่ไหนมีความรุนแรง ต้องมีข้อมูลมากพอเพื่อที่จะระบุพื้นที่ให้แน่นอน ไม่เช่นนั้นจะกระทบกับคนในพื้นที่ที่ไม่เกี่ยวข้องได้ ดังนั้นการประกาศภาวะฉุกเฉินดังกล่าวจึงไม่สามารถประกาศไปเรื่อยเปื่อยได้ ทั้งนี้ ต้องดูองค์ประกอบหลายอย่าง ซึ่งต้องยอมรับว่ายังมีหลายฝ่ายที่สะท้อนว่าได้รับผลกระทบ และความเดือดร้อน เช่น ภาคธุรกิจ ภาคการท่องเที่ยว เมื่อเป็นเช่นนี้ การประกาศภาวะฉุกเฉินทางสิ่งแวดล้อม อาจทำให้กลุ่มดังกล่าวได้รับความเสียหาย ไม่มีคนมาท่องเที่ยวอาจส่งผลต่อเนื่องหลายเรื่อง เช่น คนตกงาน แล้วหันไปปล้นฆ่าคนแทนก็เป็นได้ ดังนั้นจึงต้องดูองค์ประกอบหลายๆ เรื่อง

 

"การประกาศภาวะฉุกเฉินสามารถทำได้ แต่จำเป็นต้องดูองค์ประกอบหลายๆ ด้าน อย่างรอบคอบ เพราะผลกระทบที่ตามมามีมหาศาล เชื่อมโยงหลายด้านว่าจะได้คุ้มกับเสียหรือไม่" ผอ. สำนักสิ่งแวดล้อมภาคที่ 1 กล่าว

 

สุขภาพรอไม่ได้ ต้องใช้ไม้ตายประกาศภาวะฉุกเฉิน

 

ดร.ดวงจันทร์ อาภาวัชรุตม์ ผอ.โครงการฮ่วมมือฮ่วมใจ๋ หื้อเจียงใหม่-หละปูนอากาศดี และนักวิจัยสถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า องค์กรภาคประชาชนได้เคลื่อนไหวเรียกร้องให้มีการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศมาอย่างน้อยเป็นระยะเวลา 7 ปีแล้ว ทุกครั้งที่มีผู้ว่าราชการ จ. เชียงใหม่มา เราขอเข้าพบท่านเพื่อชี้แจงปัญหา แต่ท่านกลัวว่าจะกระทบการท่องเที่ยว ปัญหาจึงไม่ได้รับการแก้ไขและเรื้อรังตลอดมา ในปี 2547 เกิดภาวะมลพิษทางอากาศใกล้เคียงกับปีนี้ สถานกงศุลอเมริกัน จ.เชียงใหม่ ได้ประกาศอพยพประชาชนอเมริกันออกจากเมืองเชียงใหม่ และขณะนี้ คนอเมริกันที่มาทำงานที่เชียงใหม่ได้รับเบี้ยเลี้ยงกันดารเพราะมีความเสี่ยงต่อสุขภาพ

 

"ปัญหามลภาวะทางอากาศที่เกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้ เราไม่ควรจะมาตั้งคำถามแล้วว่ามีผลต่อสุขภาพมากแค่ไหน แล้วไม่ใช่ว่าเราไม่ทำอะไรเลย เช่น ถ้าเราปิดจมูกแล้วจะเป็นเหตุให้นักท่องเที่ยวไม่มาเที่ยวเชียงใหม่นั้นไม่เป็นความจริง เพราะว่าตอนนี้สถานกงศุลอเมริกันได้แจ้งไปทางกรุงเทพ และกรุงวอชิงตัน รวมทั้งสถานกงศุลของประเทศอื่นๆ ก็ได้ทำการแจ้งเตือนประชาชนของตนเกี่ยวกับเรื่องนี้แล้ว ถ้าประเทศไทยไม่มีมาตรการที่บอกว่าเราสนใจและเรากำลังแก้ไขปัญหา นักท่องเที่ยวจะไม่มาอีกเลย แต่ถ้าเราบอกว่าเรามีภาวะวิกฤติ และเรากำลังตั้งใจแก้ปัญหา ดิฉันคิดว่าชาวต่างประเทศเข้าใจ" ดร.ดวงจันทร์ กล่าวย้ำ

 

อย่างไรก็ตาม ดร.ดวงจันทร์ กล่าวต่อว่า แม้ว่าเรื่องของไฟป่าในบางครั้งจะไม่สมารถควบคุมได้ จากการรับฟังการสนทนาแลกเปลี่ยนในเวทีประชุมครั้งนี้ ตั้งข้อสังเกตว่า ดูเหมือนว่าเรากำลังบอกเพียงว่าปัญหามลพิษทางอากาศที่เกิดขึ้นมาจากไฟป่าเพียงอย่างเดียว ทั้งที่ในความเป็นจริงนั้น ในช่วงหน้าแล้งของทุกๆ ปี จะมีภาวะสะสมมลภาวะทางอากาศเกิดขึ้นจากมลพิษที่ก่อในหุบเขา แต่ในปีนี้มลภาวะทางอากาศมีอาการหนักกว่าปีอื่นๆ ซึ่งพบว่าไม่ได้เกิดจากไฟป่าเพียงเท่านั้น แต่มีการเผาไฟในพื้นที่ตลอดเวลา ทุกวัน และทุกพื้นที่ด้วย ดังนั้น การมาบอกว่าถ้าแก้ไฟป่าที่แม่ฮ่องสอนได้ เชียงใหม่จะดีขึ้นจึงเป็นไปไม่ได้

 

ทั้งนี้ ดอยสุเทพเป็นตัวชี้วัดวิกฤติทางอากาศในเมืองเชียงใหม่ได้ ซึ่งในช่วงที่อากาศเป็นปกติจะสามารถมองเห็นดอยสุเทพได้อย่างชัดเจน แต่จะไม่สามารถมองเห็นอะไรเลย ในรัศมีประมาณ 1 กิโลเมตร นอกจากนี้ตนต้องขอชี้แจงว่า สภาวะอากาศที่มีฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 120 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร ใน 24 ชั่วโมง ไม่ใช่ค่ามาตรฐานในสภาวะที่เป็นปกติ แต่เป็นค่าข้อบ่งชี้ว่าร่างกายสามารถรองรับได้ ซึ่งถ้าหากค่าฝุ่นละอองมีมากเกินกว่านี้จะเป็นอันตรายต่อสุขภาพ   

 

 

ควันพิษจ่อจมูก เร่งสร้างความเข้าใจ

 

ดร. ดวงจันทร์ กล่าวว่า ข้อมูลการศึกษาของกรมมลพิษเกี่ยวกับค่ามาตรฐานของฝุ่นละอองในอากาศเชียงใหม่ ตั้งแต่ปี 2541-2550 พบว่า ในปี 2542 มีเหตุการณ์ไฟไหม้ป่าครั้งใหญ่ที่อินโดนีเซียทำให้ค่าฝุ่นละเอียดเพิ่มสูงขึ้นด้วย ดังนั้นปัญหาดังกล่าวจึงไม่ใช่ปัญหาเฉพาะพื้นที่ นอกจากนี้การรณรงค์ตั้งแต่ปี 2546 เป็นต้นมา ชี้ให้เห็นว่า คุณภาพอากาศดีขึ้น แต่ภายหลังจากหยุดการรณรงค์ ปัญหาสภาพอากาศเสียก็กลับมาอีก นอกจากนี้ อัตราผู้ป่วยมะเร็งปอดใน จ. เชียงใหม่ ต่อประชากรหนึ่งแสนคน เพิ่มสูงในลักษณะก้าวกระโดด จากปี 2545 มีอัตราการป่วยร้อยละ 9.03 ส่วนปี 2548 เพิ่มเป็นร้อยละ 58.12  อีกทั้ง จากการศึกษาของนักวิจัย โดยเปรียบเทียบกับจำนวนผู้ป่วยด้วยโรคมะเร็งปอดภายในประเทศไทย พบว่า จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นเมืองท่องเที่ยว มีค่าสูงกว่ามาตรฐานของประเทศ กล่าวคือ อัตราผู้ป่วยเป็นรอง จ. ลำปาง ซึ่งมีเหมืองถ่านหินแม่เมาะเท่านั้น        

 

"ปัญหามลพิษทางอากาศไม่ได้มีเฉพาะการเผาป่าเท่านั้น และที่เกิดขึ้นบนดอยไม่ได้แปลว่าเป็นไฟป่าทั้งหมด เช่น บนดอยสุเทพประชาชนการเผาขยะเพราะไม่มีการจัดการขยะ อีกทั้งในทุกๆ วันประชาชนยังเผาทุกสิ่งทุกอย่าง ดิฉันจึงกังวลว่า หากเราไปมุ่งเน้นเฉพาะเรื่องไฟป่าเพียงอย่างเดียวปัญหาจะไม่ได้รับการแก้ไขอย่างแท้จริง และในความเป็นหุบเขาของจังหวัดทางภาคเหนือก็จะมีปัญหาเหมือนกัน เช่น จ.เชียงใหม่ และ จ.ลำพูน ซึ่งเป็นพื้นที่ในแอ่งกระทะ ประชาชนเปรียบเหมือนกบต้มสุก คิดว่าสิ่งแวดล้อมที่ตนเองอาศัยยังดีอยู่ แต่ในความเป็นจริงกำลังจะถูกต้มแล้ว" ดร. ดวงจันทร์ กล่าว

 

ดร. ดวงจันทร์ กล่าวต่อว่า ในการแก้ไขปัญหาต้องมี 3 ระดับ คือ 1. ระดับพื้นที่จังหวัด 2. ระดับภาคเหนือทั้งหมด ที่ต้องร่วมมือกัน และ 3. ระดับภูมิภาค โดยขณะนี้ ตนเห็นว่ามีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องประกาศภาวะฉุกเฉิน เพราะประชาชนไม่ทราบถึงปัญหาและไม่ได้ปกป้องตัวเอง   ภายใน 5 ปีหลังจากนี้ คาดว่าค่ารักษาพยาบาลจะเพิ่มสูงขึ้น จะมีผู้ป่วยเสียชีวิตในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ และมีนาคม รวมทั้งมีผู้สูงอายุเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลมากขึ้น โดยเฉพาะในปีนี้จะมากขึ้นกว่าทุกๆ ปีที่ผ่านมา

 

"อยากจะขอปรึกษาและเรียกร้องว่า สถานที่ออกกำลังกายหรือสนามกีฬากลางแจ้งควรงดให้บริการประชาชนเพราะในสภาวะอากาศเช่นนี้จะส่งผลต่อสุขภาพทำให้ปอดดำ ตอนนี้ควรใช้วิกฤติให้เป็นโอกาสโดยให้ประชาชนรับทราบความวิกฤตินี้ แล้วหันมาช่วยกันจะดีกว่าที่รัฐแก้ปัญหาโดยการทำฝนหลวง ในขณะที่ประชาชนยังไม่รู้ต้นสายปลายเหตุว่าตัวเขาเองก็มีส่วนก่อมลพิษ หรือสิ่งที่เกิดขึ้นมีส่วนกระทบต่อชีวิตของเขาเช่นกัน " ดร. ดวงจันทร์ กล่าว  

 

สิ่งที่เราจะต้องทำมากที่สุดคือ แจ้งให้ประชาชนทราบ ทุกคนไม่ได้ติดตามดูโทรทัศน์ หรือฟังวิทยุกันทั้งหมด ต้องใช้ระบบขายตรงแจ้งให้รู้ตัวว่าเกิดปัญหาขึ้นแล้ว ตอนนี้ที่ยังใจเย็นกันอยู่เพราะไม่รู้ข้อมูล ถ้ารู้แล้วจะตกใจว่ามีตัวเลขการเสียชีวิตด้วยโรคปอดสูงขึ้นมา ตอนนี้อาการอาจจะยังไม่เกิดในคนที่ยังแข็งแรง แต่ในระยะเวลา 5 ปี เตรียมดูสถิติคนป่วยด้วยโรคปอด และโรคหัวใจตีบ ที่จะเพิ่มขึ้นแน่นอน ซึ่งหมายถึง งบประมาณที่จะต้องใช้จ่ายในการดูแลรักษาพยาบาล ซึ่งไม่ใช่ผู้ป่วยทุกคนสามารถรับภาระจ่ายได้เต็มจำนวน สิ่งที่เกิดขึ้นคือ 1. ประสิทธิภาพในการทำงาน 2. เสียชีวิตก่อนวัยอันควร ซึ่งหมายถึงการสูญเสียแรงงาน และกระทบเศรษฐกิจแน่นอน

 

"ที่จริงต้องประกาศภาวะฉุกเฉินแล้ว เพราะสุขภาพคนรอไม่ได้ ทำไมต้องรอมาตรการทั้งหลายทั้งปวงในเมื่อผลการวิจัยชี้ให้เห็นชัดเจนแล้วว่าคนอาจจะตายเพิ่ม 7-20% ตอนนี้ร้านขายยามียอดขายเพิ่มทั้งการไอ มีน้ำมูกเรื้อรัง ซึ่งการสูดอากาศในภาวะเช่นนี้ไม่รู้ว่ามีเชื้อโรคกี่ชนิด ดังนั้นต้องมีมาตรการจัดการอย่างเข้มข้น และเร่งด่วน เมื่อแจ้งเตือนแล้วไม่ปฏิบัติตามต้องจับกุมตามกฎหมาย ไม่เช่นนั้นไม่แก้ปัญหาสักที" ดร. ดวงจันทร์ กล่าว

 

ในขณะนี้ได้เตรียมทำใบปลิวประมาณ 10,000 แผ่น แจกจ่ายให้ประชาชนอีกเป็นจำนวนมากที่ยังไม่ทราบปัญหา ต้องให้ประชาชนรู้ว่าสิ่งแวดล้อมมีความสำคัญต่อเขาอย่างไร เพื่อจะได้มีส่วนในการแก้ไขปัญหา และไม่สร้างมลพิษอื่นๆ เมื่อประชาชนรู้แล้วย่อมจะรู้จักป้องกันตนเอง ซึ่งนับเป็นมาตรการป้องกันปัญหาอีกอย่างหนึ่ง ดีกว่าการไปตั้งคลินิกพิเศษ ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ดี แต่ว่าต้องทำมาตรการหลายอย่างไปพร้อมๆ กันด้วย

 

รศ.ดร.นพ.พงศ์เทพ วิวรรธนะเดช หัวหน้าภาควิชาแพทยศาสตร์ชุมชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า จากรายงานการศึกษาของหลายๆ ประเทศ รวมทั้งประเทศไทยด้วยที่ยืนยันชัดเจนว่า ทุกๆ 30 ไมโครกรัมของฝุ่น (PM 10) ที่เพิ่มขึ้น จะพบว่าผู้ป่วยเสียชีวิตด้วยโรคทางเดินหายใจเพิ่มขึ้น 7-20% ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับพื้นที่ด้วยว่าเป็นที่ไหน เช่น ที่ประเทศไทยพบว่ามีการเสียชีวิตเพิ่มขึ้น 10% หากดูเฉพาะอาการป่วย พบว่าเพิ่มขึ้น 5.5%

 

"ที่สำคัญคือประชาชนไม่ได้ป่วยเฉพาะโรคทางเดินหายใจเท่านั้น แต่ยังพบทั้งผู้ป่วย และผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นจากโรคหัวใจ และโรคหลอดเลือดด้วย ทั้งนี้ จากการศึกษาในเชียงใหม่ เป็นที่ปราศจากความสงสัยแล้วว่าในวันที่มีฝุ่นเพิ่มสูงขึ้น มีความสัมพันธ์กับสุขภาพหรือสมรรถภาพปอดที่ลดลดของผู้ป่วยที่เป็นหอบหืด" นพ.พงศ์เทพ กล่าว

 

อนึ่ง ผลศึกษาวิจัยโดย คณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ และสถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พบปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กในอากาศจังหวัดเชียงใหม่และลำพูน ดังนี้

1. อันเนื่องมาจากมีภูเขาล้อมรอบสองจังหวัด ทำให้ฝุ่นละอองขนาดเล็ก (ซึ่งมีสารมลพิษทางอากาศอยู่ด้วย) ไม่ถูกพัดพาไปที่อื่นได้ง่าย

2. เชียงใหม่เป็นเมืองท่องเที่ยวที่มียวดยานพาหนะมาก

3. ลำพูนมีแหล่งอุตสาหกรรมขนาดใหญ่

4. ยังไม่มีการควบคุมการเผาขยะ ใบไม้กิ่งไม้

5. ฝุ่นละอองขนาดเล็กเกินระดับมาตรฐาน 

6. มีการเจ็บป่วยทางด้านโรคทางเดินหายใจและโรคมะเร็งปอดสูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศไทย

7. มีการร้องเรียนเกี่ยวกับมลพิษทางอากาศจำนวนสูงขึ้นทุกปี

8. ทัศนวิสัยการบินถูกกระทบบ่อยครั้งขึ้น

9. มีแหล่งกำเนิดฝุ่นละอองขนาดเล็กเพิ่มจำนวนมากขึ้น

 

วันนี้ ปัญหามลพิษที่ลอยให้เห็นประจักษ์ชัดอยู่ซึ่งๆ หน้าในขณะนี้ ชัดเจนมากพอที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะหยุดลังเลเสียทีว่า จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ และการท่องเที่ยว รัฐบาลต้องเร่งตัดไฟเสียแต่ต้นลม ประกาศให้ทุกคนรู้ปัญหาเพื่อร่วมกันหาแนวทางดับเหตุภัยก่อนสายไปกว่านี้  เมืองในควัน คนถูกรมควัน คงไม่น่าอยู่อีกต่อไป

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท