Skip to main content
sharethis

ประชาไท - 1 เม.ย.2550 คณะกรรมาธิการวิสามัญวิชาการตรวจร่างรัฐธรรมนูญและกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ สภาร่างรัฐธรรมนูญ ร่วมกับคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดสัมมนาเรื่อง "ที่มาและอำนาจหน้าที่ของวุฒิสมาชิก" เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2550 ณ ห้อง 103 คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ โดยมีคณาจารย์ นักวิชาการ อดีต ส.ส.และ ส.ว.เข้าร่วมการสัมมนาดังกล่าวด้วย ซึ่งพอจะสรุปความคร่าวๆ จากงานสัมมนาได้ดังต่อไปนี้


 



อาจารย์ชุมพล ศิลปอาชา


 


วุฒิสภาในอดีตก่อนรัฐธรรมนูญ 2540 เป็นสภาที่ค้ำบัลลังค์รัฐบาล เพราะรัฐบาลควบคุมสภาผู้แทนฯ ไม่ได้ ดังนั้นจึงใช้วุฒิสภาเป็นฐานอำนาจโดย 1) การให้ประธานวุฒิสภาเป็นประธานรัฐสภาเพื่อประโยชน์ในการกำหนดญัตติต่างๆ  2) การให้ทหาร ตำรวจ ข้าราชการผู้ใหญ่ ที่อยู่ในการโอวาสเป็นวุฒิสสมชิก 3) เขียนกฎหมายให้อำนาจ ส.ว. เท่ากับ สส. โดยเฉพาะอำนาจในการลงมติไม่ไว้วางใจ 3) การลงมติผ่านร่างงบประมาณและ พ.ร.ก. ต้องประชุมพร้อมกันทั้ง 2 สภา ทั้งหมดนี้ก็เพื่อค้ำบัลลังค์รัฐบาล


            ปัญหาของวุฒิสภาในอดีตที่มาจากการแต่งตั้ง คือ เมื่อประชุมเสร็จแล้ว ต่างคนต่างก็กลับกรมกอง ไม่มีใครอยู่รับรองประชาชนที่มาร้องเรียน ส.ว.ในอดีตไม่ใช่ ส.ว.ของประชาชน


            ต่างกับวุฒิสภาที่มาจากการเลือกตั้ง จะพบว่า 6 ปีที่ผ่านมาของวุฒิสภา ห้องประชุมไม่ว่าง มีผู้ทรงคุณทำงานจำนวนมาก ประชาชนมาร้องเรียนวุฒิสภามากกว่าสภาผู้แทนฯ ทำให้ศักดิ์ศรีวุฒิสภาสูงขึ้น กระทั่งสูงกว่าสภาผู้แทนราษฎร


            ในการทำหน้าที่ก็เช่นเดียวกัน ในอดีตการพิจารณากฎหมายต่างๆ ผ่านวุฒิสภาที่มาจากการเลือกตั้งง่ายดายไม่ปัญหา แต่ในชุดวุฒิสภาที่มาจากการเลือกตั้ง ในการอภิปรายร่างงบประมาณฯ สมันนายกฯ ชวน หลีกภัย สมัยวุฒิสภาที่มาการเลือกตั้งมีการลงมติ 67 ต่อ 67 จนกระทั่งประธานวุฒิสภาต้องยกลืมตัดสิน เหตุการณ์อย่างนี้ไม่เคยมีมาก่อนนอกจากวุฒิสภาที่มาจากการเลือกตั้ง แสดงให้เห็นการทำหน้าที่อย่างเต็มที่


            ข้อเสนอ


            1. วุฒิสภาต้องมาจากการเลือกตั้ง แต่หากต้องการสรรหาคนดี ก็สามารถสรรหาได้ เช่น อาจจะสรรหามา 2 เท่าของจำนวนที่พึงมี แต่ต้องเอารายชื่อดังกล่าวไปให้ประชาชนเป็นคนเลือกตั้ง


            2.  บทบาทวุฒิสภา ต้องเป็นองค์กร "ถ่วงดุล" สภาผู้แทนฯ และควบคุมการบริหารราชการและองค์กรต่างๆ ไม่ใช่องค์กร "กลั่นกรอง" แต่ไม่ต้องให้อำนาจในการเสนอกฎหมาย และให้ตัดระบบการสรรหาองค์กรอิสระออกไป ให้เหลือแต่อำนาจในการแต่งตั้งเท่านั้น


            3. องค์กรอิสระทั้ง 7 องค์กร เป็นอู่ข้าวอู่น้ำและลานลงจอดของข้าราชการเกษียณอายุ ดังนั้น คำว่า "ซี 10" ในคุณสมบัติของผู้ที่จะมาเป็นองค์กรอิสระให้ตัดทิ้งไป ควรเปิดโอกาสให้คนมีความรู้ความสามารถด้านอื่นเข้ามาได้


            4. วาระไม่ควรยาวนานรวด 6 ปี และหมดวาระพร้อมการ การหมดวาระควรจะ Overlap คือมีครึ่งหนึ่งเปลี่ยนทุก 3 ปี และควรการเว้นวรรค 1 สมัย


            5. ข้าราชการที่จะมาสมัครเป็นองค์กรอิสระหรือสมัคร ส.ว. ควรที่จะพ้นจากราชการมาแล้ว 3 ปี ไม่เช่นนั้นจะใช้เส้นสายและอิทธิพลในการให้ได้มาซึ่งตำแหน่ง


 



หมอมาลินี สุขเวชชวรกิจ


           


นักการเมืองต้องมาจากการเลือกตั้ง ไม่ใช่การสรรหา การเอาข้าราชการหรือคนมีชื่อเสียงมาทำงานในสภา ตัวอย่าง สนช. เป็นสภาที่ไม่สนใจประชาชน ไม่มีความสนใจจะมองว่าประชาชนต้องการอะไร


            วุฒิสภาต้องมาจากการเลือกตั้ง จะสรรหามาก็ได้ แต่ต้องลงไปสู่ประชาชน ไปสร้าง Commitment กับประชาชนและให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินใจ


            แนวทางการเลือกตั้ง ต้องมีตัวแทนแต่ละจังหวัด และ อาจจะมีตัวแทนจากสายอาชีพ ในเรื่องของวาระ ควรที่จะสามารถลงสมัครรับเลือกตั้งได้ต่อเนื่องไม่ต้องเว้นวรรคหากประชาชนต้องการ


 



นายนิพนธ์ วิสิษฐยุทธศาสตร์


 


จากประสบการณ์ที่เคยเป็น ส.ว.ทั้งจากการแต่งตั้งและเลือกตั้ง บอกได้เลยว่า ส.ว. ที่มาจากการแต่งตั้งเป็นสภาตรายาง ประชุมกันน้อยมาก และมาไม่ค่อยครบองค์ อภิปรายกันน้อย สภาแทบจะร้างและ รัฐบาลสั่งอะไรก็ได้จน


            จุดอ่อนของสภาผู้แทนฯ คือไม่ค่อยอภิปรายร่างกฎหมาย เพราะกฎหมายเสนอโดยรัฐบาล แต่วุฒิสภาที่มาจากการเลือกตั้งทำหน้าที่ในการกลั่นกองกฎหมายได้ดีเต็มร้อย นอกจากนี้สภาที่มาจากการแต่งตั้งเช่นกรณี สนช. ในการพิจารณาร่างงบประมาณฯ ปี 2550 กว่า 1.5 ล้านล้าน ที่ผ่านมานั้น  สนช. ใช้เวลาในการพิจารณาไม่กี่ชั่วโมงและมาประชุมกันน้อยมาก ซึ่งเรื่องนี้น่าเป็นห่วงประเทศชาติไม่ใช่เรื่องเล่นๆ


            วุฒิสภาชุดที่มาผ่านมามีจุดอ่อนคือ การใช้อำนาจในการตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล รัฐธรรมนูญเปิดโอกาสในการล่ารายชื่อเพื่อตรวจสอบรัฐ 120 ชื่อ แต่วุฒิสภาที่ผ่านมาไม่สามารถทำได้เลย


            ยืนยันว่าวุฒิสภาถ้าไม่มีก็ไม่มี แต่ถ้ามีมันก็มีประโยชน์ และถ้ามีต้องมาจากการเลือกตั้ง


 



อาจารย์วุฒิศักดิ์ ลาภเจริญทรัพย์


 


ตรรกะที่ว่า ส.ว.ที่มาจากการเลือกตั้งแล้วจะดี มันไม่จริง มันไม่เป็นไปตามตรรกะ ไม่ว่าจะมาจากการแต่งตั้งหรือเลือกตั้ง ไม่ได้เป็นหลักประกันว่าจะรับผิดชอบต่อหน้าที่หรือเป็นคนดี ดังนั้นต้องมีกลไกอย่างอื่นมาควบคุม


            จากร่างรัฐธรรมนูญ 2550 ซึ่งเป็นเอกสารลับนั้นพบว่า จำนวนวุฒิสภาตามร่างฯ มี  160 คน โดยพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามข้อเสนอของคณะกรรมการสรรหา ซึ่งคณะกรรมการสรรหาดังกล่าวมีอยู่ 7 คน คือ 1) ประธานศาลฎีกา 2)ประธานศาลปกครองสูงสุด 3) ประธาน กกต. 4) ประธานคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน 5) ประธาน ป.ป.ช. 6) ผู้พิพากษาศาลฎีกาที่ที่ประชุมใหญ่มอบหมายหนึ่งคน 7) ตุลากาลศาลปกครองสูงสุดที่ที่ประชุมมอบหมายหนึ่งคน  


            การสรรหา มาจาก 2 ส่วน ดังนี้ 1) คัดเลือกบุคคลที่มีความเหมาะสมในแต่ละจังหวัดๆ 1 คน และ 2)  จำนวนที่เหลือ 82 คน สรรหาคัดเลือกจากบุคคลที่มีความเหมาะสม วิชาการ รัฐ เอกชน ภาควิชาชีพ และภาคอื่นๆ และผู้ที่ลงนามสนองพระบรมราชโองการคือ ประธานสภาผู้แทนราษฎร


            อาจารย์วุฒิศักดิ์ไม่ค่อยสบายใจกันกับ Model นี้ โดยเฉพาะคณะกรรมการสรรหา เพราะมีตัวแทนนักกฎหมายมากเกินไปและแม้กรรมการสรรหาส่วนใหญ่จะมาจากฝ่ายตุลาการที่เป็นเสาหลักของบ้านเมืองอยู่ขณะนี้ แต่ถ้าให้อำนาจการเมืองมากเกินไป อาจถูกแทรกแซงและเสียหลักไป นอกจากนี้ในส่วนของคุณสมบัติตัวแทนสายวิชาชีพ พบว่าองค์กรวิชาชีพของไทยที่เป็นทางการและมีความเข้มแข็งนั้นแทบจะไม่มีเลย ที่เป็นรูปเป็นร่างก็ได้แก่สภาทนายความแห่งชาติ ส่วนองค์กรอื่นไม่มีเลย จุดนี้น่าเป็นห่วง


            ข้อเสนอ


            ส.ว.ควรมีที่มาจาก 2 ประเภท


            1. มาจากการเลือกตั้งจังหวัดละ 1 คน  ไม่จำเป็นต้องคำนวณจากจำนวนประชากร


            2. มาจากการสรรหา เพื่อลดความเป็นการเมือง ลดความโยงใยระหว่างวุฒิสภากับพรรคการเมือง เพื่อที่จะได้ทำหน้าที่ตามอำนาจหน้าที่อย่างเต็มที่ โดยจำนวนอาจจะมีมากกว่า 76 คนหรือเท่ากันก็ได้ โดยการสรรหา ซึ่งการสรรหาก็มีหลายแบบ แต่ยังบอกไม่ได้ว่าจะให้ใครเป็นคนสรรหา


 



นายดำรง พุฒตาล


 


ส.ว.ที่มาจากการเลือกตั้ง ไม่หลากหลาย ไม่เหมือนการแต่งตั้งที่สามารถเลือกได้ว่าอยากให้ครอบคลุมสายอาชีพอะไรบ้าง


            ข้อเสียของการแต่งตั้ง การตรากฎหมายคำนึงถึงการใช้กฎหมายมากกว่าประชาชน เพราะตัวเองเป็นราชการจึงมองว่าทำอย่างตนเองจึงจะบังคับใช้กฎหมายได้ แต่ไม่ได้มองว่าประชาชนจะได้อะไรจากกฎหมาย


            ข้อเสียของการเลือกตั้ง พยายามที่จะมีส่วนได้เสียกับโครงการของรัฐ การพิจารณากฎหมายล่าช้าเพราะอภิปรายกันมากและอภิปรายซ้ำซ้อน ประธานในที่ประชุมไม่แม่นกฎหมาย การแต่งตั้งกรรมาธิการมักจะแต่งตั้งคนที่ไม่มีความรู้ความสามารถและคนใกล้ชิด


            ข้อเสนอ


ให้มีการเลือกตั้งมาก่อนครึ่งหนึ่ง จากนั้นพิจารณาว่า ส.ว.ที่มาจากการเลือกตั้งนั้นขาดแคลนในสาขาใดบ้าง จากนั้นให้แต่งตั้งสายอาชีพที่ขาดไปอีกครึ่งหนึ่ง


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net