เปิดผลฟังความเห็นประชาชน ส่วนใหญ่หนุน "ส.ว.เลือกตั้ง"

ประชาไท - 3 เม.ย. 2550 เมื่อวันที่ 2 เม.ย. เวลา 09.30 น. มีการประชุมสภาร่างรัฐธรรมนูญ โดยมีนายนรนิติ เศรษฐบุตร เป็นประธาน มีวาระที่สำคัญคือคณะกรรมาธิการวิสามัญประสานการมีส่วนร่วมและการประชามติ โดยนายวรพล โสคติยานุรักษ์ รองประธาน กมธ. ได้รายงานความคืบหน้าการทำงานของกมธ. ว่า จากการจัดเวทีรับฟังความเห็นประชาชนจังหวัดต่างภาคเหนือ 177 เวที ภาคกลาง 100 เวที ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 213 เวที และภาคใต้ 47 เวที รวม 537 เวที

 

นายวรพล กล่าวว่า กรอบที่ 1 สิทธิเสรีภาพและการมีส่วนร่วมของประชาชน ประชาชน 92 % เห็นควรให้ตรากฎหมายให้ประชาชนมีหลักประกันในเรื่องสิทธิเสรีภาพมากขึ้น 66.9 % เห็นว่าควรจะเพิ่มอำนาจให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนให้มากขึ้น 74.5 % เห็นว่าควรวางระบบป้องกันการละเมิดสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชน 81% เห็นว่าควรจัดให้มีกองทุนสนับสนุนการเมืองภาคพลเมือง เช่น สนับสนุนการจัดเวทีผู้นำชาวบ้าน 72% เห็นว่าควรลดอำนาจรัฐและเพิ่มอำนาจประชาชน

 

นายวรพล กล่าวต่อไปว่า ในกรอบ 2 ว่าด้วยสถาบันการเมือง ประชาชน 63.1% ให้ลดจำนวนส.ส.และส.ว. ส่วนประเด็น ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อนั้น ประชาชน 36% ให้คงไว้ แต่ 46.2% ให้ยกเลิก ประชาชน 66.1% เห็นว่าควรให้ ส.ส.และ ส.ว.ต้องจบปริญญาตรี 68.7% เห็นว่าส.ส.ควรมีอิสระในการปฎิบัติหน้าที่และการลงมติในเรื่องต่างๆ มากกว่าที่เป็นอยู่ 68% เห็นควรให้คงการกำหนดเขตเลือกตั้งแบบเขตเดียวเบอร์เดียวไว้เช่นเดิม แต่ 10.8% ไม่เห็นด้วย

 

ส่วนในประเด็นที่มาของส.ว.นั้น พบว่าประชาชน 41.5% เห็นว่าควรจะมาจากการสรรหาจากตัวแทนของกลุ่มอาชีพทุกภาคส่วนในสังคมแทนการเลือกตั้ง ขณะที่ 33% ไม่เห็นด้วย และประชาชน 47.1% เห็นว่าไม่ควรให้มีอำนาจถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

 

นายวรพล กล่าวว่า ประชาชน 75% เห็นว่านายกฯ ควรมาจากส.ส.และนายกฯ ควรเป็นส.ส.ได้ในขณะเดียวกัน มีเสียงที่ไม่เห็นด้วยเพียง 7.1%เท่านั้น ขณะที่ 72.6% เห็นว่าควรกำหนดให้นายกฯดำรงตำแหน่งได้ไม่เกิน 2 วาระติดกันหรือไม่เกิน 8 ปี ประชาชน 77.1% เห็นว่านายกฯควรถูกอภิปรายและถูกตรวจสอบได้ง่ายขึ้น 77.8% เห็นว่าควรกำหนดให้ชัดเจนว่ากรณีที่นายกฯหรือรัฐมนตรีต้องคำพิพากษาให้ลงโทษจำคุกแม้ว่าจะให้รอลงอาญาเท่านั้น ประชาชน 81.6% ให้มีการกำหนดคุณธรรมและจริยธรรมในการปฎิบัติหน้าที่ของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและมีบทลงโทษกรณีที่ฝ่าฝืนด้วย

 

นายวรพล กล่าวว่า สำหรับกรอบ 3 องค์กรตรวจสอบอิสระและศาล ประชาชน 72.6% เห็นว่าถ้ากรณีที่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในระดับประเทศและระดับท้องถิ่นกระทำความผิดทุจริตร่ำรวยผิดปกติไม่ควรมีอายุความในการฟ้องคดี ขณะที่ 71.5% เห็นว่าควรมีองค์กรอิสระระดับจังหวัดในการติดตามตรวจสอบการใช้อำนาจของผู้บริหารท้องถิ่น ขณะที่ 74.5% เห็นว่าควรมีการกำหนดกลไกหรือมาตรการตรวจสอบการใช้อำนาจของฝ่ายการเมืองที่กระทำต่อข้าราชการประจำและการควบคุมการใช้จ่ายเงินงบประมาณ

 

นายวรพล กล่าวว่า จากการทำแบบสอบถามเป็นรายบุคคลจากประชาชนจำนวน 36,324 คนตามภาคต่างๆได้แก่ภาคกลาง 20,827 คน ภาคเหนือ 7,161 คน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 5,131 คน และภาคใต้ 3,205 คน มีความเห็นที่น่าสนใจเช่น ประชาชน 84% เห็นว่าควรมีการสอบถามประชาชนในการบริหารประเทศของรัฐในเรื่องต่างๆที่มีผลกระทบต่อประชาชน ขณะที่ 50% ให้เลื่อนส.ส.ที่ได้อันดับรองลงไปเป็นส.ส.แทนกรณีที่ส.ส.ถูกใบแดง

 

"ประชาชน 67.9 % เห็นว่าส.ว.ควรจะมาจากการเลือกตั้งทั้งหมด 16.3% เห็นว่ามาจากการแต่งตั้งบางส่วน และ 8%ควรจะมาจากการแต่งตั้งทั้งหมด ขณะที่ 6.7% เห็นว่าควรเลือกตัวแทนกลุ่มอาชีพในจังหวัดเพื่อเลือกตัวแทนในกลุ่มของตน 7.6%ให้เลือกตั้งโดยตรงจากรายชื่อที่กลุ่มอาชีพเสนอ 6.5%ให้ประชาชนเลือกตัวแทนไปเป็นคณะผู้เลือกตั้งแล้วให้คณะผู้เลือกตั้งไปออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้งจากรายชื่อที่กลุ่มอาชีพเสนอ"

 

นายวรพล กล่าวว่า ประชาชน 62.2%ให้นายกรัฐมนตรีต้องมาตอบกระทู้ต่อรัฐสภาทุกครั้ง ขณะที่ 78.2%ให้ควรกำหนดมาตรการในการควบคุมและการตรวจสอบการใช้จ่ายเงินงบประมาณเพื่อมิให้ตกอยู่ในการครอบงำของฝ่ายการเมือง

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อการรายงานเสร็จสิ้นลงนายเสรี สุวรรณภานนท์ รองประธานคนที่ 1 ซึ่งทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม ได้เปิดให้สมาชิกได้ซักถาม โดยนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย ประธาน กมธ.รับฟังความเห็นประชาชนภาคกลาง ลุกขึ้นอภิปรายโดยตั้งข้อสังเกตว่า ขณะนี้ประชาชนกำลังเกิดความสับสนว่าการดำเนินงานจัดเวทีอบรมหรือรับฟังความเห็นประชาชนนั้นเป็นหน้าที่ของ กมธ.ชุดไหนกันแน่ระหว่าง กมธ.ฟังความเห็นกับ กมธ.ประสานการมีส่วนร่วมฯเพราะ กมธ.ประสานการมีส่วนร่วมมีการจัดเวทีฟังความเห็นรวมทั้งมีการอบรมวิทยากรด้วย จึงเกิดปัญหาการทำงานซ้ำซ้อนกัน

 

"การช่วยกันทำงานนั้นไม่ถือว่าเป็นปัญหาแต่ตอนนี้หน่วยงานราชการต่างๆเริ่มเกิดความสับสนไม่รู้ว่าจะประสานกับใคร และงบประมาณจะมีการซ้ำซ้อนบานปลายออกไปเพราะไม่มีการรวมศูนย์ในการจัดงบประมาณ และที่สำคัญคือประชาชนเกิดความลังเลว่าตกลงจะเชื่อถือเวทีไหน ประชาชนเริ่มถามว่าความเห็นที่เขาแสดงออกไปนั้นจะนำไปใช้ได้จริงเป็นประโยชน์ต่อการร่างรัฐธรรมนูญหรือไม่"นายสุรชัย กล่าว

นายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง ตอบว่า นายสุรชัยเข้าใจคลาดเคลื่อนโดยสิ้นเชิง ขอยืนยันว่า กมธ.ประสานการมีส่วนร่วมไม่เคยจัดเวทีฟังประชาชนเอง แต่ร่วมมือกับ กมธ.วิสามัญประจำจังหวัดทุกครั้ง ไม่มีทางซ้ำซ้อนกับกมธ.ชุดอื่นเด็ดขาด

 

ขณะที่นายมนตรี เพชรขุ้ม ส.ส.ร.ซึ่งมาจากภาคใต้ อภิปรายว่า ไม่สบายใจที่นายสมศักดิ์ เทพสุทิน แกนนำกุล่มมัชฌิมา ให้สัมภาษณ์ทางโทรทัศน์ว่าในทำนองว่าไม่เข้าใจว่าชุดนี้ทำอะไรอยู่ เกรงใจใคร รอฟังใครอยู่จึงไม่ร่างรัฐธรรมนูญ ขอเรียนว่าขณะนี้ ส.ส.ร.กำลังรอฟังความเห็นประชาชน ถ้าจะเกรงใจก็เกรงใจประชาชน

 

"ผมขอย้อนถามว่าท่านกำลังเกรงใจใครหรือไม่จึงออกมาพูดอย่างนี้ ใครสั่งมาให้เลือกตั้งให้เร็วหรือไม่ ไม่รู้ว่าใช้สมองพูดหรือไม่ ท่านเป็นถึงรัฐมนตรีหลายสมัยหลายกระทรวงน่าจะมีความคิดและคำพูดที่ดีกว่านี้"นายมนตรี กล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท