ต่างมุมกับข้อสอบ "พงศ์เทพ เทพกาญจนา"

ประชาไท - 4 เม.ย.50 เมื่อวันที่ 3 เม.ย. นายวิชา มหาคุณ กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญในฐานะอดีตตุลาการกล่าวถึงกรณีที่นายพงษ์เทพ เทพกาญจนา รองหัวหน้าพรรคไทยรักไทยในฐานะเป็นอาจารย์พิเศษคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และเป็นผู้ร่วมออกข้อสอบ "หลักวิชากฎหมาย" ของคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จนถูกนักศึกษาร้องเรียนถึงการตั้งคำถามโจมตีผู้พิพากษาในศาลยุติธรรมเรื่องจริยธรรมในการเข้ามาทำงานให้กับคณะรัฐประหารว่า เรื่องจริยธรรมข้อสอบต้องถามท่านก่อนว่ามีธงอะไรในใจหรือไม่ และใจกว้างพอหรือไม่หากนักศึกษาไม่เห็นด้วยกับธงที่ตั้งไว้ จะให้คะแนนนักศึกษาคนนั้นอย่างไรเพราะเรื่องจริยธรรมในวิชาชีพกฏหมายเป็นความคิดเห็นที่ไม่มีหลักยึดตายตัวไม่เหมือนกับวิชาคณิตศาสตร์มันต้องมีข้อมูลที่เพียงพอที่จะให้นักศึกษาได้เข้าใจและได้ตอบคำถาม

 

"ผมก็งงอยู่เหมือนกันกับข้อสอบของท่านที่บอกว่า ในการปฏิบัติหน้าที่ท่านได้รับค่าตอบแทนจำนวนหนึ่ง ซึ่งมากกว่าเงินเดือนที่ได้รับจากตำแหน่งผู้พิพากษาด้วย ในแง่ของจริยธรรมตุลาการท่านควรปฏิบัติหน้าที่กรรมการตรวจสอบด้วยหรือควรดำเนินการอย่างไร ซึ่งส่วนนี้ผมต้องตั้งคำถามกลับว่าเงินที่ได้รับมานั้นเป็นการได้รับโดยการทุจริตหรือไม่ และค่าตอบแทนที่ได้รับเกิดจากการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือทุจริตหรือเปล่า มันเหมือนหรือต่างกันอย่างไรกับการที่นักการเมืองที่ไปรับทรัพย์และทุจริตเขานอกเหนือจากเงินเดือนที่นักการเมืองเหล่านั้นได้รับ เพราะถ้านักการเมืองทำอย่างนั้นในแง่ของจริยธรรมมันไม่ได้และไม่ถูกต้องอยู่แล้ว ซึ่งยกตัวอย่างหากเคร่งกันขนาดนั้นนักการเมืองที่ได้รับแต่งตั้งเป็นคณะกรรมาธิการชุดหนึ่งของสภาแล้วรับเงินตรงนั้นการซึ่งก็เท่ากับเป็นการตรวจสอบนอกเหนือจากการรับเงินเดือนในทางการเมือง แบบนี้ถือว่านักการเมืองคนนั้นผิดหรือไม่ เพราะถ้าผิดก็ต้องคืนเงินที่ได้รับจากเบี้ยประชุมทั้งหมดที่ท่านได้รับมา เพราะถ้าจะเอาเคร่งครัดขนาดนั้นก็ต้องว่าแบบนั้น"อดีตตุลาการผู้นี้กล่าว

 

นายวิชายังได้กล่าวถึงหลักจริยธรรมของตุลาการว่า จริยธรรมของตุลาการคือการปฏิบัติหน้าที่อย่างเป็นกลางไม่ต้องไปยุ่งเกี่ยวทางการเมืองไม่ฝักใฝ่ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด เพราะเรื่องการมาปฏิบัติหน้าที่ต้องทราบข้อมูลก่อนว่าจะต้องมีการอนุญาตจากคณะกรรมการข้าราชการตุลาการ(กต.) และถ้าหากจะผิดก็ต้องเริ่มผิดจากที่กต.แล้ว เพราะหาก กต.เห็นว่าเรื่องนั้นไม่ถูกจริยธรรม กต.ก็ต้องไปอนุญาตให้ไป เพราะ กต.ดูแลเรื่องความประพฤติของผู้พิพากษา แต่นี่กต.อนุญาตว่าให้ไปปฏิบัติหน้าที่เพื่อบ้านเมืองได้ก็เป็นเรื่องที่ถูกต้อง

 

"เรื่องนี้ผมไม่รู้ว่าในใจของคุณพงษ์เทพคิดอะไรอยากประชดประชันอะไรหรือเปล่า แต่ท่านเอาข้อสอบที่มีธงในใจมาถามนักศึกษาแบบนี้ผมก็เห็นใจนักศึกษา เพราะถ้านักศึกษาตอบไม่ตรงตามธงที่เขาคิด เพราะถ้าคุณพงษ์เทพตั้งธงว่าผิดคำตอบก็ต้องผิดตามธงของคุณพงษ์เทพ แต่ถ้านักศึกษาบอกว่าไม่ผิดจะให้คะแนนเขาอย่างไร ซึ่งความเห็นทางคุณธรรมจริยธรรมของคนเรามีหลากหลาย มันต้องขึ้นอยู่ที่สภาพแวดล้อมด้วย อย่างไรก็ตามเรื่องนี้ผมว่าต้องตั้งคำถามกับทางมหาวิทยาลัยด้วยว่าคนที่จะมาสอนเรื่องจริยธรรมวิชาชีพควรที่จะเป็นผู้ประกอบวิชาชีพนั้นโดยตรง เพราะเรื่องคุณธรรมจริยธรรมต้องดูระยะยาวตอนนี้คุณพงษ์เทพทำหน้าที่เป็นนักการเมืองแล้วก็ต้องให้เกียรติมหาวิทยาลัยด้วย คุณธรรมจริยธรรมไม่ใช่เรื่องของกฎหมายโดยแท้ แต่เป็นเรื่องของความรู้สึก ถ้าผมเป็นนักศึกษาผมก็จะต้องเลือกเอาว่าจะตอบคำถามแบบเอาคะแนนหรือเอาความรู้"อดีตตุลาการผู้นี้กล่าว

 

ด้านนายกิตติศักดิ์ ปรกติ ประธานสภาอาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กล่าวถึงกรณีเดียวกันว่า เรื่องนี้เขามองว่าเป็นสิทธิเสรีภาพในเรื่องของหลักวิชาการ เพราะจากที่เขาอ่านคำถามดูแล้วก็เป็นสิทธิของอาจารย์ที่จะสามารถตั้งคำถาม เพราะยิ่งปิดกั้นแม้กระทั่งคำถามในเชิงวิชาการก็จะเป็นเรื่องใหญ่ ดังนั้นเราจึงควรทำเรื่องนี้ให้เปิดกว้างและโปร่งใส อย่างไรก็ตามจากรูปแบบของคำถามแล้วเขามองว่าเป็นการตั้งโจทย์เพื่อเปิดโอกาสให้นักศึกษาได้วิพากษ์วิจารณ์ซึ่งคำถามเช่นนี้ก็น่าจะได้เปิดโอกาสให้สังคมได้รับทราบเช่น ควรหรือไม่ที่กรรมาธิการยกร่างรับเงินเดือนจากหลายทาง หรือควรหรือไม่ที่สมาชิกสภานิติบัญญัติ(สนช.) และสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) รับเงินเดือนหลายทางและทำงานในหลายตำแหน่ง ซึ่งคำถามที่ตั้งขึ้นด้วยความบริสุทธิ์ใจแบบนี้ควรที่จะได้รับการวิพากษ์วิจารณ์จากทางสังคม

 

"เรื่องนี้จะมีพิสูจน์ได้ง่าย คือเมือนักศึกษากล้าที่จะวิพากษ์วิจารณ์แล้ว อาจารย์ผู้ที่ออกข้อสอบข้อนี้จะให้คะแนนเด็กอย่างไร เพราะเมื่อเด็กตอบแล้วไม่ได้รับความเป็นธรรมในสิ่งที่เขาได้ตอบลงไปเขาก็สามารถนำเรื่องมาร้องเรียนให้ถอดถอนอาจารย์คนนั้นออกจากตำแหน่งได้ ซึ่งเรื่องนี้ต้องรอขั้นตอนในการสอบทุกอย่างแล้วเสร็จ ผมคิดว่าหากนักศึกษาคนไหนติดใจในการตอบของตนเองและได้รับคะแนนไม่เป็นธรรมก็สามารถขอดูข้อสอบและส่งเรื่องร้องเรียนเพื่อขอความเป็นธรรมได้" ประธานสภาอาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กล่าว

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท