Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ประวิตร โรจนพฤกษ์


 


 


คำถามสำคัญอันหนึ่งที่สื่อกระแสหลักโดยเฉพาะหนังสือพิมพ์ควรตั้งได้เสียทีก็คือ เมื่อไหร่คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) จะเปลี่ยนชื่อ โดยเฉพาะการตัดคำว่า "ประชาธิปไตย" ออกจากชื่อองค์กรไปเสียที


 


ผู้เขียนขอเดาอย่างหยาบๆ ว่า "ให้ตายก็ไม่มีวัน"


 


อย่างไรก็ตาม พฤติกรรมขององค์กรที่ชื่อ "ครป." ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา หรือแม้กระทั่ง 1 ปีที่ผ่านมา มีลักษณะขัดกับหลักการประชาธิปไตย โดยเฉพาะประชาธิปไตยแบบที่มีส่วนร่วมจากประชาชนมากขึ้นทุกที


 


ก่อนหน้าที่ ครป. จะแถลงข่าวเรื่องการร่วมก่อตั้งกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย แกนนำ ครป. ก็รู้ดีว่า นายสนธิ ลิ้มทองกุล ซึ่งที่สุดก็กลายเป็นผู้นำที่ทรงอิทธิพลมากที่สุดในกลุ่มพันธมิตรฯ เพิ่งได้เข้าไปขอพบ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน เพื่อขอให้ทหารยืนอยู่ข้างประชาชน ซึ่งถ้าให้แปลตรงๆ ก็หมายถึงว่าขอให้ทหารกระทำการรัฐประหาร จัดการทักษิณ และคำขอร้องนี้เป็นจริงภายในเวลาไม่ถึงสิบเดือน เมื่อเกิดรัฐประหารขับไล่นายกฯ ทักษิณ ชินวัตร ผู้ซึ่งเป็นผู้นำทางการเมืองที่ถูกกล่าวหาว่า โกงกินและใช้อำนาจในทางที่ผิดมากที่สุดคนหนึ่งในประวัติศาสตร์การเมืองไทย


 


หลังรัฐประหาร 5 วัน จึงได้ยินเสียงนายสุริยะใส กตะศิลา เลขาธิการ ครป. ออกมาพูดอ้อมแอ้มกับสื่อทำนองว่า ตนมิได้สนับสนุนรัฐประหาร แต่มันได้เกิดขึ้นแล้ว แต่หลังจากนั้น ครป. ก็ขยันทำหน้าที่เป็นเสมือนพี่เลี้ยงและติวเตอร์ให้กับกลุ่มที่ก่อการรัฐประหารและฉีกรัฐธรรมนูญทิ้ง โดยพูดเสนอแนะผ่านทางสื่อเป็นระยะๆ ทุกสัปดาห์ แถมมีการให้คะแนนเป็นรายเดือนว่า รัฐบาลที่ทหารแต่งตั้งของ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นั้นสอบผ่านไม่ผ่าน


 


ในขณะเดียวกัน หนึ่งในที่ปรึกษาและอดีตประธาน ครป. คือ รศ.สุริชัย หวันแก้ว ก็ได้รับและยอมรับการแต่งตั้งจากทหารให้ดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาอุปโลกน์หรือที่เรียกว่า สภานิติบัญญัติแห่งชาติโดยนิตินัย ซึ่ง อ.สุริชัย นั้น ยังได้เขียนบทความ เรื่อง "ข้ามพ้นจากกับดักคำถามที่เรียวแคบ" ลงมติชน ทำนองว่า สังคมมีทางเลือกน้อย


 


หลังจากรัฐประหารไม่นาน ฝุ่นยังไม่ตกพื้น นายธนาพล อิ๋วสกุล บรรณาธิการนิตยสารฟ้าเดียวกัน ก็ออกมาเขียนแฉ กล่าวหาว่า ครป. ได้เขียนโครงการขอเงินจากรัฐมนตรีสำนักนายกฯ ของรัฐบาลทหารเป็นจำนวน 16 ล้านบาท (ดู "ฟ้าเดียวกัน" ฉบับ ม.ค.-มี.ค. 2550 หน้า 3-4 แต่ถอนการขอทุนไปในภายหลัง ด้วยเหตุผลอันใดไม่ทราบชัด) แถมนายธนาพลยังออกมาเปิดโปงว่า นายสุริยะใสไปร่วมงาน "สตรีสูงศักดิ์" ซึ่งจัดเลี้ยงฉลองชัยชนะพันธมิตรกู้ชาติ เมื่อวันที่ 7 มกราคมที่ผ่านมา โดยที่มี พล.อ.สพรั่ง กัลยาณมิตร แกนนำรัฐประหาร ผู้ที่ภายหลังขนานนามตนเองว่า "วีรบุรุษแห่งชาติ" ไปร่วมงานด้วยอย่างชื่นมื่น


 


ตอนแรก ครป. ก็แฮปปี้กับรัฐบาลขิงแก่ และเคยเชียร์ว่า สมควรแล้วที่รัฐบาลสุรยุทธ์จะใช้สื่อในกำมือเพื่อโปรโมทพีอาร์รัฐบาลชุดใหม่ที่แต่งตั้งโดยทหารและ ครป. (ขอโทษพิมพ์ผิด ที่จริงต้องเป็น คมช.) แต่ ครป. ก็ไม่เคยตั้งคำถามวิจารณ์การที่ทหารแต่งตั้งพรรคพวกนายพลหลายคนไปนั่งตามบอร์ดองค์กรรัฐวิสาหกิจต่างๆ เป็นว่าเล่นเต็มไปหมด หรือไม่สนใจจะตั้งข้อสงสัยว่า กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญมีปัญหาไม่ยอมรับการจัดสรรการศึกษาพื้นฐาน 12 ปี ซึ่งรัฐต้องออกค่าใช้จ่าย โดยอ้างว่ารัฐขาดงบประมาณ แต่กลับอนุมัติให้เขียนเพิ่มงบทหารจัดซื้ออาวุธยุปโธปกรณ์ที่ทันสมัยและมีเทคโนโลยีโดยที่ไม่มีใครในกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญตั้งคำถาม


 


แต่พอกาลผ่านไป 6 เดือน นายพิภพ ธงไชย ประธาน ครป. ก็ได้ออกมาให้สัมภาษณ์ลงในหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ฉบับวันที่ 2 เมษายนที่ผ่านมา ว่าถึงเวลาเปลี่ยนตัวนายกฯ แล้ว เพราะสุรยุทธ์ทำงานไม่เข้าตา ทั้งยังเสนอถึงกระทั่งว่า พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ซึ่งเป็นผู้นำรัฐประหาร ควรมารับตำแหน่งรองนายกฯ เพื่อดูแลด้านความมั่นคง ครป. ยังพูดขู่ว่ากลุ่มพันธมิตรนั้นพร้อมที่จะออกมาเคลื่อนเพื่อผลักดันเปลี่ยนแปลงตัวนายกฯ หากจำเป็น


 


ในสภาพที่นักการเมืองพรรคฝ่ายค้านไร้สมรรถภาพ (มาหลายสมัยแล้ว) องค์กรอย่าง ครป. ได้กลายเป็นแหล่งป้อนข่าวและสร้างข่าวให้กับหนังสือพิมพ์รายวันอย่างด่วนแดกทั้งสองฝ่าย ซึ่งสื่อก็มักง่ายและรับอย่างสำเร็จรูป ได้ทุกสัปดาห์ หรือสัปดาห์ละหลายครั้ง (นักข่าวสายการเมืองจากหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งบอกว่า "ครป. ก็เป็นแฟนประจำที่ [หนังสือพิมพ์] ใช้บริการ แถมยังไม่ใช่ฉบับเดียว แต่แทบทุกฉบับ [ครป.] ติดตามและทันเหตุการณ์ในประเด็นการเมือง จนสามารถวิพากษ์วิจารณ์ทันกับความต้องการของสื่อมวลชนทุกครั้ง และสององค์กรนี้รู้จังหวะ เส้นสายกลไกของสื่อดี ไม่เคยปล่อยให้ช่องว่างทางข่าวสารโดยเฉพาะวันหยุดที่ไม่ค่อยมีข่าวให้สูญเปล่า")


 


ปัญหาก็คือ องค์กรที่ใช้ชื่อ "ประชาธิปไตย" องค์กรนี้ เริ่มทำตัวคล้ายกับโบรกเกอร์ทางอำนาจการเมือง หาใช่องค์กรรณรงค์เพื่อประชาธิปไตยอย่างแท้จริงอีกต่อไปไม่ คน 2-3 คนในองค์กรดูเหมือนจะสามารถตัดสินใจอะไรต่างๆ และอ้างเสียงประชาชน (ในแง่นี้ก็ไม่ต่างจากนักเลือกตั้งที่โกงกินจำนวนหนึ่งที่อ้างเสียงประชาชน เพียงแต่พวกนักเลือกตั้งอย่างน้อยก็ได้ลงทุนซื้อเสียง) ในขณะเดียวกัน ตัวผู้แทน ครป. คือนายสุริยะใส (ซึ่งจริงๆ แล้วอาจจะแทนแต่เพียงตนเองและพี่น้องอีกจำนวนไม่กี่คน) สามารถสร้างกระแสเป็นข่าวหน้าหนึ่งได้ โดยไม่ต้องถามเสียงประชาชน แต่อ้างว่าเป็นองค์กรประชาชน (ดู วิวาทะเรื่อง "องค์กรผี" หรือ "องค์กรที่ไม่มีฐานประชาชน" ที่เปิดประเด็นโดยใจ อึ๊งภากรณ์ ตั้งแต่ปี 2544) มีแนวโน้มพัฒนาไปสู่การเมืองแบบชูตัวบุคคลเป็นหลัก (ซึ่งก็คือตัวนายสุริยะใสและพิภพเอง)


 


เห็นได้จากหนังสือที่เพิ่งพิมพ์ออกใหม่โดยสำนักพิมพ์โอเพ่นที่ว่าด้วย พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ซึ่งชื่อนายสุริยะใส หรือผู้เขียนนั้นมีขนาดตัวอักษรใหญ่กว่าชื่อเรื่องของหนังสือประมาณ 3-4 เท่าก็ว่าได้ แถมหน้าปกเป็นรูปนายสุริยะใสขนาดเต็มจอ และพื้นหลังเป็นสีเหลืองแจ๊ดอีกต่างหาก


 


มันน่ากลัวว่าการเมืองแบบ ครป.นี้กำลังกลายเป็นการเมืองแบบ elite หรือคนกลุ่มน้อยแบบใหม่ที่สื่อกระแสหลักให้ความสำคัญมากเกินไปอย่างเกินจริง (over represented and over hype) ในขณะที่เสียงประชาชนไม่ได้เป็นแม้กระทั่งข่าวรองตามหน้าหนังสือพิมพ์


 


การเมืองเช่นนี้ เป็นการเมืองแบบกบเลือกนาย (politics of regime change) ที่เชื่อว่าบ้านเมืองจะมีทางออก หากได้ผู้นำดี และชาติจะพ้นภัย จึงไล่ได้ตั้งแต่ยุคทักษิณยันสุรยุทธ์


 


แต่ที่น่าแปลกใจคือว่า ทำไม ครป.ไม่เคยถามถึงความรับผิดชอบของกลุ่มทหารที่เรียกตนเองว่า คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) คนอย่างนายสุริยะใสหรือพิภพ คิดว่า คมช. ควรรับผิดชอบไหม และควรรับผิดชอบอย่างไร หากแต่งตั้งนายกฯ (อย่างไม่ชอบธรรม) ผิดคน และที่มากกว่านั้นก็คือ ครป. ควรรับผิดชอบด้วยหรือไม่อย่างไรกับสภาพเละตุ้มเป๊ะทางการเมืองปัจจุบัน และในฐานะที่ช่วยต่อ "ท่อน้ำเลี้ยง" ให้เผด็จการทหารมากว่า 6 เดือน


 


น่าเสียดายว่า ในสังคมที่คำว่า "ประชาธิปไตย" ถูกบิดเบือนจนจำหน้าตาไม่ได้ กลุ่มคนบางคนที่อ้างตนว่าเป็นประชาธิปไตย หรืออยู่เพื่อประชาธิปไตย สามารถทำอะไรได้หลายๆ อย่างที่ขัดกับหลักประชาธิปไตยโดยมิต้องรับผิดชอบ โดยสื่อ (กระแสหลักและกระแสรองอีกจำนวนหนึ่ง) มิสนใจตรวจสอบ


 


แต่ผู้เขียนไม่แปลกใจ เพราะว่าแม้แต่กลุ่มทหารที่ทุกวันนี้ตั้งตนเป็นคณะมนตรีฯ ก็โฆษณาตั้งแต่เริ่มรัฐประหารไปได้ไม่กี่ชั่วโมงแล้วว่า เป็นคณะปฏิรูปการปกครองระบอบ "ประชาธิปไตย" อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.)


 


แถมเกือบ 7 เดือนหลังรัฐประหารผ่านไปแล้ว สื่อจำนวนมากก็ยังเชื่อว่า พวกทหารเหล่านั้นมาช่วยสรรค์สร้างประชาธิปไตยให้สังคมจริง


 


 


 


(หมายเหตุ -- ผู้ช่วยจากประชาไท เพิ่งพิมพ์บทความเสร็จก็มีข่าวด่วนเข้ามือถือจากไอ.เอ็น.เอ็น. โพลิติกส์ ว่า 15.11 น. "ครม. ขึ้นเงินเดือนตอบแทนคน คมช. อีก ร้อยละ 15" ส่วนตอบแทนเพื่ออะไรนั้นผู้เขียนไม่แน่ใจ หลังจากพิมพ์ไปได้ 1 นาที อีกข่าวจาก ไอ.เอ็น.เอ็น.เจ้าเก่าเข้ามาบอกว่า "พันธมิตรเซ็งรัฐงานอืดปาหี่อำนาจเก่า นัดถก 5 แกนนำ 10 เม.ย. ฟื้นกลุ่ม")

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net