Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

โดย ปิติ ชูใจ


 



 


อากาศอบอ้าวของฤดูร้อนอาจผลักไสให้ใครหลายคนที่มาแอบอิงกับเมืองหลวงต้องมุ่งหน้าสู่ชายทะเล ไปให้คลื่นเห่กล่อมหัวใจที่มันร้อนรุ่มได้เย็นลง (แม้กระทั่งจะร่างรัฐธรรมนูญยังต้องถ่อกันไปไกลถึงบางแสนเลย...คิดดู)


 


ชายทะเลยอดนิยมของคนเมืองหลวงคงหนีไม่พ้นเกาะเสม็ด หัวหิน เกาะช้าง ฯลฯ ที่ต้องใช้ทั้งทรัพย์สินและเวลาในการเดินทางมิใช่น้อย เแต่คนที่มีเวลาน้อย เบี้ยน้อย หอยน้อย คงทำได้แค่เดินทางไปเปลี่ยนบรรยากาศที่ไหนสักแห่งที่ไม่ไกลมากนัก


 


และแล้วเมืองที่ใกล้ที่สุดอย่าง "สมุทรสาคร" ก็เป็นคำตอบสุดท้าย ถึงแม้จะไม่ค่อยรู้จักอะไรที่นั่นมากไปกว่า "ท่าฉลอม" กับ "มหาชัย" แต่เท่าที่จำได้จากการเรียนวิชาสังคมตอนเด็กๆ ดูเหมือนว่าสมุทรสาครคืออีกจังหวัดหนึ่งที่เป็นเมืองชายทะเลของไทย


 


ลมทะเลบ้านใกล้เรือนเคียงคงพอทำให้ชื่นใจได้บ้าง ตบท้ายด้วยการกินไอติมมหาชัยชื่อดังสักถ้วยโตๆ แค่นี้ก็หรูแล้ว...


 



 



บรรยากาศในตัวเมืองสมุทรสาคร


 


ระยะเวลาในการเดินทางจากกรุงเทพไปสมุทรสาครไม่ต่างจากการนั่งรถเมล์จากดอนเมืองไปรามคำแหงในช่วงเวลาเร่งด่วนสักเท่าไหร่ นั่งหลับๆ ตื่นๆ ไปสักพักก็ถึงที่หมาย แต่พอได้เจอกับอากาศร้อนจนตับแทบวายไม่แพ้กัน ก็พลันตาสว่างขึ้นมาทันที


 


ยิ่งได้เห็นคำขวัญประจำจังหวัดตัวใหญ่ๆ ว่า "เมืองประมง ดงโรงงาน ลานเกษตร เขตประวัติศาสตร์" อยู่ใต้ป้าย "ยินดีต้อนรับ สู่จังหวัดสมุทรสาคร" ก็พึงสังวรณ์ขึ้นมาทันทีว่าที่คิดจะหนีร้อนมาพึ่ง (เย็น) ลมทะเลสมุทรสาครนั้น อาจเป็นความคิดที่ผิดมหันต์ก็เป็นได้! เพราะเมืองที่เป็น "ดงโรงงาน" ก็คงจะร้อนรุ่มเป็นไฟ ไม่แพ้เมืองมหานครที่จากมา


 


แต่ไหนๆ ก็ถึงที่หมายแล้ว อย่างน้อยก็ต้องไปสำรวจท่าฉลอมกับมหาชัยตามที่ตั้งใจไว้สักหน่อย...


 


การเดินทางสำรวจเริ่มต้นที่อำเภอเมือง แถวๆ สมาคมการประมง สมุทรสาคร ไม่ใกล้ไม่ไกลจากนั้นจะมีท่าเรือสำหรับคนที่ต้องการข้ามจากฝั่งมหาชัยไปท่าฉลอม อันเป็นแหล่งอุตสาหกรรมประมงขึ้นชื่อของจังหวัด


 


นั่งเรือเล่นสักพักพอให้ลมพัดเหงื่อแห้ง เรือก็แล่นมาถึงท่าฉลอมพอดี เมื่อลงจากเรือไปเก็บบรรยากาศในพื้นที่ก็พบว่าลักษณะบ้านเรือนส่วนใหญ่เป็นบ้านสองชั้นแบบเก่าทำจากไม้ ดูแล้วแปลกตาและทำให้ชื่นใจมากกว่าการมองตึกสูงๆ เบียดเสียดกันในเขตเมือง (ทุกเมืองนั่นแหละ ไม่ใช่แค่กรุงเทพเมืองเดียว)


 


กลิ่นคาวปลาและแผงลอยขายผลิตผลจากทะเลมีให้เห็นอยู่ประปราย แต่ที่สะดุดตาสะดุดใจคือ "ผู้คน" ที่เดินผ่านไปผ่านมานับไม่ถ้วน


 


สาวๆ นุ่งผ้าซิ่น เกล้าผมมวย ทาแก้มด้วยแป้งขาวๆ เดินสวนกับเราไปหลายต่อหลายกลุ่ม เช่นเดียวกับหนุ่มๆ ที่ดูออกว่าเป็นผู้ใช้แรงงาน แต่ลักษณะบางอย่างทำให้รู้สึกว่าพวกเขาเหล่านั้นมีอะไรที่แตกต่าง(เกือบถึงขั้นแปลกแยก) จากบรรยากาศรอบตัว


 


บางทีอาจเป็นเพราะการหลบตา ไม่มองหน้า และการไปไหนมาไหนรวมกันเป็นกลุ่มใหญ่ รวมถึงสำเนียงไม่คุ้นหูที่พวกเขาใช้สื่อสารกัน ทั้งหมดนั้นมีส่วนทำให้ผู้มาเยือนรับรู้ถึงความแปลกที่แปลกทางเหล่านี้ได้อย่างไม่ยากเย็นอะไรเลย


 


คงไม่ผิดนักถ้าจะเรียกกลุ่มคนที่เดินสวนกับเราไปว่า "แรงงานต่างด้าว" และพวกเขาทำให้การเดินทางมาเยือนสมุทรสาครครั้งนี้เริ่มมีอะไรน่าสนใจมากขึ้น…


 


เราแวะคุยกับเจ้าของร้านขายปุ๋ยแห่งหนึ่งเพื่อถามไถ่เรื่องถนนหนทาง แต่แล้วคำถามของเราก็ลุกลามไปสู่การทำความรู้จักกับความเป็นสมุทรสาครในทัศนะของคนท้องถิ่นอย่างคร่าวๆ


 


จากปากคำเจ้าของร้านขายปุ๋ย ชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนในสมุทรสาครก็เรื่อยๆ ตามอัตภาพ แต่ถ้าจะพูดถึงสมุทรสาครในแง่ที่เป็นเมืองใหญ่ซึ่งเต็มไปด้วยโรงงานอุตสาหกรรม ความเป็น "ดงโรงงาน" ที่อยู่ในคำขวัญประจำจังหวัด คือสิ่งที่ชักนำ "ผู้คนที่แปลกปลอม" อย่างแรงงานต่างด้าวเข้ามาเป็นจำนวนมาก


 


เท่าที่ได้ฟังคำบอกเล่า เราไม่ได้ยินความรู้สึกต่อต้านเจืออยู่ในน้ำเสียงสักเท่าไหร่ แต่การแบ่งแยกพวกเรา "คนไทย" ออกจาก "พวกเขา" ที่เป็นคนต่างชาติดูจะชัดเจนแจ่มแจ้งจนไม่เหลืออะไรให้สงสัย


 


และด้วยการดำรงอยู่ของแรงงานต่างด้าวเหล่านี้เอง (ส่วนใหญ่น่าจะเป็นชาวพม่า) ทำให้เราได้เห็นอะไรที่ไม่เคยเห็นมาก่อนในกรุงเทพ ไม่ว่าจะเป็น ป้ายบอกเวลาปิด-เปิดห้างสรรพสินค้า หรือแม้กระทั่งป้ายหน้าร้านค้าในตลาดที่ปิดประกาศข้อความภาษาพม่าควบคู่กับภาษาไทย


 


ไม่เว้นแม้แต่ "ภายใน" ห้างสรรพสินค้าขนาดกลางที่เราหลบร้อนไปพึ่งแอร์ และพบว่ามีข้อความภาษาพม่า (เขียนว่าอะไรไม่รู้เหมือนกัน) ตั้งโชว์อยู่บนเคาน์เตอร์ขายสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ทั่วห้าง


 


การที่เราได้เห็นภาษาพม่าเหมือนเป็นภาษาราชการภาษาที่สองในจังหวัดที่อยู่ห่างจากกรุงเทพเพียง 30 กิโลเมตร ทำให้อดคิดไม่ได้ว่าที่ตั้งใจจะมาเปลี่ยนบรรยากาศในจังหวัดใกล้ๆ - บางทีเราอาจจะมาไกลถึงประเทศเพื่อนบ้านแล้วก็เป็นได้...


 



 



 


ป้ายประกาศภาษาพม่าที่มาควบคู่กับป้ายภาษาไทย


 


ถ้ามองในแง่ดี ดูเหมือนว่า "ตัวตน" ของชาวพม่าในสมุทรสาครจะชัดเจนและเป็นที่ยอมรับมากกว่าแรงงานจากประเทศลาวหรือกัมพูชา ถึงขั้นที่พ่อค้าแม่ขายต้องตั้งป้ายสื่อสารกันเป็นกิจจะลักษณะ


 


ไม่ใช่ป้ายภาษาอังกฤษ ไม่ใช่ป้ายภาษาจีน ไม่ใช่ป้ายภาษาญี่ปุ่น...แต่เป็นป้ายภาษาพม่า!


 


การสื่อสารประมาณนี้น่าจะมีสาเหตุจากการที่ปริมาณแรงงานชาวพม่ามีมากกว่าแรงงานชาติอื่นๆ เป็นปัจจัยหลัก


 


จากสถิติที่มาค้นข้อมูลดูทีหลัง จังหวัดสมุทรสาครมีแรงงานชาวพม่าที่ขึ้นทะเบียนมากกว่า 93,000 คน และจำนวนที่ว่ามานี้ยังไม่ได้นับรวมแรงงานพม่าอีกเป็นจำนวนมากที่เข้ามาทำงานอย่างหลบๆ ซ่อนๆ ไร้ตัวตนและไร้กฏหมายรองรับ


 


มาคิดดูแล้วก็คงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรที่คนไทยบางส่วนจะปรับตัวให้คุ้นเคยกับแรงงานชาวพม่าเหล่านี้ และเริ่มสร้างปฏิสัมพันธ์ภายใต้เงื่อนไขของทุนเป็นอันดับแรก...ความสัมพันธ์แบบนี้น่าจะเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ง่ายที่สุดแล้ว


 


เมื่อมีปริมาณคนมากพอ ชาวพม่าก็กลายเป็น "ลูกค้า" หรือ "กลุ่มเป้าหมาย" อีกกลุ่มหนึ่งของผู้ประกอบการ ทั้งรายใหญ่และรายย่อย แต่ถ้าจะบอกว่าพวกเขายอมรับลูกค้ากลุ่มนี้เสมือนเป็นลูกค้าวีไอพีก็คงไม่ใช่


 


การหยิบยื่นอำนาจในการจับจ่ายใช้สอยให้กับแรงงานต่างด้าวเหล่านี้ ในแง่หนึ่งแทบไม่ต่างจากการหยิบยื่นอำนาจจอมปลอมให้กับกลุ่มคนที่มีต้นทุนที่จะนำมาใช้จ่ายในการบริโภคเพียงน้อยนิด


 


แต่นั่นก็คือความจริงที่หลายคนมองว่าป็นเรื่อง "ช่วยไม่ได้" ใช่ไหม ถ้าหากว่าใครสักคนจะอยากได้อยากมีวัตถุอุปโภคบริโภคโดยไม่ดูกำลังของตัวเอง?


 


น่าเสียดายที่ในระหว่างที่ใครหลายคนมีปฏิสัมพันธ์กับแรงงานพม่า ความรู้สึกว่าพวกเขาเป็นคนแปลกหน้าก็ไม่ได้ลดน้อยลงเลย


 


ถ้าดูจากการสำรวจของจังหวัดสมุทรสาครอีกครั้งจะพบว่า แรงงานชาวพม่าส่วนใหญ่เป็นกลไกสำคัญของอุตสาหกรรมประมง ด้วยเหตุผลว่าค่าแรงของพวกเขานั้นต่ำกว่าแรงงานขั้นต่ำ และสามารถออกทะเลเป็นเวลานานๆ ได้โดยไม่ต้องห่วงหน้าพะวงหลังใดๆ นอกเหนือจากนั้นพวกเขาก็จะไปเป็นแรงงานในโรงงาน เป็นกรรมกรทั่วไป รวมถึงไปการเป็นแรงงานในครัวเรือนด้วย


 


ขณะเดียวกันนี้เอง ปัญหาแรงงานอพยพชาวพม่าก็เป็นเรื่องใหญ่ที่ค้างคาในใจชาวสมุทรสาคร เพราะการที่แรงงานต่างด้าวไม่มีอะไรที่ผูกพันใน "แผ่นดินไทย" นั่นคือประเด็นสำคัญที่ทำให้พวกเขาพร้อมทำ "อะไรก็ได้" ที่อาจเป็นอันตรายต่อผู้อื่น เพียงเพื่อให้ตัวเองได้ในสิ่งที่ต้องการ


 


ท่ามกลางสายตาหวาดระแวง-ไม่แน่ใจ ความสัมพันธ์ส่วนใหญ่ระหว่างคนไทยกับแรงงานต่างด้าวชาวพม่าดำเนินไปภายใต้เงื่อนไขของการซื้อขายแลกเปลี่ยนมากกว่าสิ่งอื่นใด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องวัตถุหรือว่าแรงงาน


 


แต่ในความสัมพันธ์นอกเหนือจากนั้น ตัวตนของแรงงานต่างด้าวพร้อมจะถูกมองข้ามไปอย่างง่ายดาย...


 


หลายคนอาจมองว่าแรงงานเหล่านี้คือปัญหา แต่เราไม่มีทางปฏิเสธการมีอยู่ของพวกเขาได้ และสิ่งที่หนักหนากว่านั้นคือข้อเท็จจริงที่ว่า ถ้าหากไม่มีแรงงานต่างด้าวมาทำงานเพื่อรองรับความต้องการบริโภคของคน "ไทย" ต้นทุนที่ผู้บริโภคต้องจ่าย หรือต้นทุนที่ผู้ประกอบการต้องจ่าย คงจะบานปลายกว่านี้มากนัก


 


แล้วจุดพอดีระหว่างความสัมพันธ์ของคนในพื้นที่กับคนต่างด้าวอยู่ตรงไหน? จะทำอย่างไรให้เราเห็นคนเป็นคนเท่าเทียมกัน ไม่ได้มองว่าสิ่งมีชีวิตที่พูดต่างภาษากันเป็นเพียง "แรงงานสำเร็จรูป" ของเราเพียงอย่างเดียว?


 


คำถามที่ไม่มีคำตอบวิ่งวนเวียนอยู่ในหัว แม้แต่ลมยามเย็นที่พัดจากชายทะเลเข้าสู่เมืองสมุทรสาครก็ไม่อาจดับความสงสัยนี้ได้


 


000


 


ก่อนจะเดินทางกลับสู่เมืองที่จากมา เราปิดท้ายด้วยการกินหอยทอด-ผัดไทยแถวตลาดมหาชัยเป็นการสั่งลา (น่าเสียดายที่อดกินไอติมมหาชัย เพราะหาร้านไม่เจอ)


 


รสชาติอาหารที่สั่งมาก็ธรรมดา แค่พอกินได้ แต่เมื่อสาวเสิร์ฟชาวพม่ายกอาหารมาให้ที่โต๊ะพร้อมรอยยิ้มซื่อและดูเอียงอาย อาหารมื้อนั้นก็มีกลิ่นและรสชาติของความเป็นกันเองเพิ่มขึ้นมาอีกอักโข...


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net