ถ้า "เสาหลักแห่งจริยธรรม" หายไป

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

จิรนันท์ หาญธำรงวิทย์

 

อาทิตย์ก่อนกระทรวงวัฒนธรรม ผู้กุมคำจำกัดความของคำว่า "วัฒนธรรมอันดีงามที่ควรค่าแก่การรักษา" ได้ออกมาวิพากษ์วิจารณ์การถ่ายนู้ดการกุศลของบรรดาดารานักแสดงคนดังในสังคม ว่าเป็นพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม

 

ถัดจากนั้น ก็มีข่าวว่า กระทรวงไอซีที หรือกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร บล็อคเว็บไซต์ www.saturedayvoice.com ของกลุ่มคนวันเสาร์ไม่เอาเผด็จการ ไม่กี่วันต่อมา www.youtube.com เว็บไซต์ฝากไฟล์วิดีโอชื่อดังของ google ก็พลอยโดนบล็อคไปกับเขาด้วย

 

ทั้งสองเว็บไซต์นี้ถูกบล็อคเนื่องด้วยถูกตัดสินว่าเข้าข่ายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ (ยังไม่นับถึงเว็บไซต์ต่างๆ ที่ถูกปิด โดยไม่มีการชี้แจงและเว็บไซต์ที่ไม่สามารถเข้าถึงได้—ไม่รู้แม้กระทั่งสาเหตุว่าทำไม)

 

หลังจากนั้นไม่กี่วัน กระทรวงชื่อยาวเข้าใจยากอย่างกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ก็ดอดไปยึดเอาหนังสือการ์ตูนซึ่งได้รับแจ้งว่ามีภาพล่อแหลมออกจากแผงหนังสือในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิต์

 

น่าสนใจว่า กระทรวงทั้งสามที่มีบทบาทคนละอย่างกัน แต่กลับมีจุดร่วมกันอย่างมีนัยยะสำคัญ นั่นคือ การเดินไปสู่ "สังคมคุณธรรมและจริยธรรม" ความประพฤติที่ "ดีงาม" และ "ถูกต้อง" เท่านั้นที่ได้รับอนุญาตให้มีพื้นที่ ส่วนอะไรที่ถูกตัดสินแล้วว่าเป็น "ความชั่วร้าย" และ "ผิดบาป" ก็ช่วยชิดซ้ายไปก่อนได้เลย

 

น่าสนใจว่า ถ้าไม่มีกระทรวงทั้งสาม เราจะสามารถใช้ชีวิตได้ด้วยความปกติสุข หรือสังคมจะเน่าเฟะจนอยู่ไม่ได้กันเลยรึเปล่า

 

เมื่อดูจากวาระการเกิดแล้ว กระทรวงวัฒนธรรมนั้นตั้งขึ้นในสมัย จอมพล ป. ในปี 2495 จากนั้นได้ถูกยกเลิกไปเมื่อปี 2501 โดยย้ายไปสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ จนกระทั่งถูกตั้งขึ้นใหม่ใน ปี 2545

 

ระหว่างช่วงที่ไม่มีกระทรวงนี้อยู่ สังคมก็ไม่เห็นเดือดร้อน หากจะมีภาพโป๊ของดาราหลุดมาให้เป็นบ้างบางโอกาส ในกรณีที่มีคนไม่ชอบใจก็ลุกออกมาวิจารณ์ได้ว่าจะชอบหรือไม่ชอบภาพนั้นๆ

 

เพียงให้เขาได้เลือกด้วยตัวเอง…

 

หรืออย่างกระทรวงไอซีที ที่เพิ่งมาพร้อมกับการมีขึ้นของอินเตอร์เนตไม่นาน ในทางเทคนิค ไม่ว่าไอซีทีจะบล็อคเว็บอย่างไรหรือเท่าไหร่ คนที่อยากจะเข้าถึงข้อมูลก็พร้อมจะเสาะแสวงหาช่องทางเข้าถึงได้อยู่ดี เพียงแต่ยากสักหน่อยเท่านั้น และในความเป็นจริง ถ้าไอซีทีไม่บล็อคเว็บ สุดท้ายแล้ว ถ้าจะมีอะไรที่ "ไม่เหมาะสม" สังคมก็จะรู้เอง

 

เพียงให้เขาได้เลือกด้วยตัวเอง...

 

หรือแม้แต่ถ้ากระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ตามเก็บหนังสือการ์ตูนแผงแล้วแผงเล่า เด็กๆ ย่อมรู้อยู่แล้วว่าจะหามันได้จากไหน (สำหรับพ่อแม่ที่ห่วงว่าสิ่งที่ลูกอ่านจะทำให้เขาเป็นอันตราย อย่างน้อยที่สุด ถ้าทำให้ลูกสามารถหยิบอะไรมาอ่านก็ตามอย่างสบายใจ เพื่อที่พ่อแม่เองก็จะรู้ได้โดยไม่ต้อง "ส่อง" จะดีกว่าไหม?) 

 

เพียงให้เขาได้เลือกด้วยตัวเอง...

 

น่าแปลกใจที่ "คุณพ่อรู้ดี" ที่อ้างตัวเป็นผู้ตัดสินความดีงามของคนอื่น กลับไม่เคารพการตัดสินใจและสิทธิของคนอื่นเอาเสียเลย

 

ถ้าไม่มีกระทรวงวัฒนธรรม นักศึกษาจะแต่งตัวอย่างไร ใครจะห้ามเขาในวันวาเลนไทน์ ผ้าไทยจะยังอยู่ต่อไปหรือไม่ ใครจะออกมาวิจารณ์ดาราสาวเพื่อธำรงวัฒนธรรมอันดีงามของไทย (อ้อ แต่ถ้าใครอยากได้วัฒนธรรมดีงามของสยาม แนะนำให้ไปที่นี่ ;p)

 

ถ้าไม่มีกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ลูกหลานของเราจะเจอกับการ์ตูนประเภทไหนบ้าง เขาจะถูกยั่วยุโดยการ์ตูนจนเสียคนไหม

 

ถ้าไม่มีกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ข้อมูลบางอย่างที่ถูกส่งผ่านสื่ออิเล็คทรอนิคส์จะทะลุทะลวงบั่นทอนความมั่นคงของชาติได้หรือไม่

 

ก็น่าลองดูสักทีเหมือนกัน...

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท