Skip to main content
sharethis

ศูนย์ข่าวประชาสังคมอุบลฯ


 


 


เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2550 เวลา 10.00 น. ได้มีตัวแทนชาวบ้านโดยการนำของกำนันผู้ใหญ่บ้าน และนายก อบต. จำนวนกว่า 2,000 คน จาก 9 ตำบล 3 อำเภอ ประกอบด้วย อำเภอโขงเจียม อำเภอสิรินธร และอำเภอพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี เดินทางมาเพื่อเข้ายื่นหนังสือร้องเรียนพร้อมรายชื่อประชาชนที่เดือดร้อนกว่าหมื่นคน ต่อนายเสนีย์ จิตตเกษม รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี และพลเอกสุรินทร์ พิกุลทอง ประธานกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อส่งต่อให้ พลเอกสนธิ บุญรตกลิน ประธาน คมช. และพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี ขอร้องให้ทบทวนมติ ครม. สมัย พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ให้ กฟผ. เปิดเขื่อนปากมูล 4 เดือน คือ ตั้งแต่เดือน พฤษภาคม ถึง เดือน สิงหาคม ตามที่กลุ่มสมัชชาเรียกร้อง ซึ่งก่อนหน้าที่นายเสนีย์ จิตตเกษม รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี และพลเอกสุรินทร์ พิกุลทอง ประธานกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จะลงมาพบปะพูดคุย ทำความเข้าใจกับชาวบ้านนั้น ได้มีตัวแทนชาวบ้านจำนวน 6 คน ประกอบด้วย กำนันตำบลทรายมูล โพธิ์ศรี หนองแสงใหญ่ คำเขื่อนแก้ว คันไร่ และห้วยไผ่ ขึ้นไปเจรจา เบื้องต้นกับบุคคลทั้งสอง ซึ่งเป็นตัวแทนในการรับหนังสือร้องเรียนดังกล่าวกับชาวบ้านที่สนามหน้าศาลากลางจังหวัด


 


นายสำเริง สิงห์คำ กำนันตำบลคำเขื่อนแก้ว อำเภอสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี เปิดเผยว่า การที่ กฟผ. ได้ทำการเปิดบานประตูระบายน้ำของเขื่อนปากมูลตามมติ ครม. เป็นระยะเวลา 4 เดือน คือ ระหว่างเดือนพฤษภาคม ถึงเดือนสิงหาคม ตั้งแต่ปี 2544 เป็นต้นมา พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าการเปิดเขื่อนปากมูลตามข้อเรียกร้องของสมัชชาคนจนไม่เกิดประโยชน์แต่อย่างใด แต่ทำให้ชาวบ้าน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรที่ต้องอาศัยน้ำจากแม่น้ำมูลทำการเกษตรได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก ไม่สามารถวางแผนปลูกพืชผัก หรือทำการเกษตรในระยะยาว และต่อเนื่องได้ เพราะเมื่อเปิดเขื่อนปากมูลแล้วระดับน้ำในแม่น้ำมูลจะลดต่ำกว่ามาก บางช่วงมีน้ำแห้งขอด จึงทำให้ที่ผ่านมาชาวบ้านไม่กล้าลงทุนทำการเกษตร เนื่องจากเกรงว่าจะได้รับความเสียหายคลองชลประทานที่สร้างไว้ใช้งานไม่ได้ ซึ่งในอดีตหลังจากสร้างเขื่อนปากมูลเสร็จใหม่ ๆ กฟผ. ร่วมกับกรมประมงได้นำพันธุ์ปลา และพันธุ์กุ้งก้ามกรามมาปล่อยปีละหลายสิบล้านตัว ชาวบ้านสามารถจับกุ้ง จับปลาขายได้ไม่ต่ำกว่า 500 - 600 กิโลกรัมต่อวัน แต่เมื่อมีการเปิดเขื่อนปากมูล กุ้ง ปลา ที่ปล่อยไว้จะไหลลงสู่แม่น้ำโขงหมด และที่ผ่านมาชาวบ้านพยายามอดทนมาโดยตลอด เนื่องจากไม่ต้องการให้เกิดความแตกแยก ขึ้นในหมู่บ้าน


 


"สิ่งที่เรามาเรียกร้องในวันนี้นั้นมาเพื่อขอให้ทางภาครัฐบาลช่วยเหลือในเรื่องน้ำที่ใช้อุปโภค บริโภค และทำการเกษตร เนื่องจากประชาชนขาดแคลนน้ำมาเป็นระยะเวลากว่า 5 ปี หลังจากที่มีการเปิดเขื่อน"


 


ด้านนายพลเอกสุรินทร์ พิกุลทอง ประธานกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ปัญหาของประชาชนที่เกิดขึ้นนั้นสามารถที่จะแก้ไขได้อย่างแน่นอน ยินดีเป็นอย่างมาที่ได้มารับเรื่องเพื่อที่จะแก้ไขต่อไป


 


"อยากให้ภาพการมาในครั้งนี้เป็นตัวอย่าง เพราะเรามาด้วยตัวเอง และมาด้วยความสันติวิธี"


 


ขณะที่นางสาวสมภาร คืนดี ตัวแทนชาวบ้าน(สมัชชาคนจน กรณีเขื่อนปากมูล) กล่าวว่า สำหรับกรณีนี้ส่วนตัวแล้วตนเห็นว่า ในการเปิดประตูน้ำในเขื่อนปากมูลนั้นเป็นการทำให้ชาวบ้านในบริเวณนั้นได้ใช้ประโยชน์ของทรัพยากรธรรมชาติร่วมกัน


 


อย่างไรก็ตามสำหรับการเดินทางมายื่นหนังสือในวันนี้เป็นความคิดเห็นร่วมกันของชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อน และต้องการให้ พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ ได้ทบทวน มติ ครม. สมัย พ.ต.ท. ทักษิณ ชันวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โดยต้องการให้ กฟผ. ปิดเขื่อนปากมูลรักษาระดับน้ำให้คงที่และเมื่อปิดเขื่อนปากมูลแล้ว ขอให้กรมประมง และ กฟผ. ได้ฟื้นฟูแม่น้ำมูลให้มีความอุดมสมบูรณ์ มีการปล่อยปลา ปล่อยกุ้งก้ามกราม เพื่อให้ชาวบ้านสองฝั่งแม่น้ำมูลมีน้ำสำหรับประกอบอาชีพเกษตรกรรม และทำอาชีพประมงได้ตลอดทั้งปี โดยขอให้รักษาระดับน้ำของเขื่อนปากมูลไว้ที่ระดับ 108 เมตร และสำหรับการมายื่นหนังสือร้องเรียนในครั้งนี้ประชาชนได้มาเรียกร้องโดยสันติวิธี ไม่มีการกระทำที่รุนแรงแต่อย่างใด โดยหลังจากที่ตัวแทนจากจังหวัดอุบลราชธานีลงมารับมอบหนังสือ พร้อมทำความเข้าใจกับประชาชนเสร็จแล้ว จากนั้นประชาชนก็ได้สลายตัวกลับไป

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net