Skip to main content
sharethis

ยืนตามข้อเสนอเปิดช่อง "ตุลาการพระธรรมนูญจากศาลทหารสูงสุด" เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้


ในช่วงบ่ายเป็นการพิจารณาในส่วนหมวดที่ 10 เรื่องศาล โดยในส่วนของศาลรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 218 ระบุว่าศาลรัฐธรรมนูญจะประกอบด้วยประธานศาลรัฐธรรมนูญ 1 คน และตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอื่นอีก 8 คน ซึ่งตามรัฐธรรมนูญปี 2540 ระบุว่าจะมีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 15 คน และปรับองค์ประกอบของตุลาการให้มาจาก (1) ผู้พิพากษาศาลฎีกาที่ดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าผู้พิพากษาศาลฎีกาที่ได้รับเลือกจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา จาก 5 เหลือ 3 คน (2)ตุลาการจากศาลปกครองสูงสุดเท่าเดิม 2 คน (3)ผู้ทรงคุณวุฒิสาขานิติศาสตร์ ซึ่งมีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านนิติศาสตร์จาก 5 เหลือ 2 คน(4) ผู้ทรงคุณวุฒิสาขารัฐศาสตร์ รัฐประศาสนศาสตร์ หรือสังคมศาสตร์ หรือผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารราชการแผ่นดินอย่างแท้จริงจาก 3 เหลือ 2 คน


 


สำหรับในมาตรา 219 ที่กำหนดเกี่ยวกับคุณสมบัติของผู้ที่จะมาเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ มีการเสนอให้ย้าย "ตุลาการพระธรรมนูญในศาลทหารสูงสุด" ซึ่งในรัฐธรรมนูญปี 2540 ไม่มี จากมาตรา 218 (3) ไปใส่ในมาตรา 219 โดยไม่มีกรรมาธิการคนใดคัดค้าน


 


ทั้งนี้ มีความพยายามที่จะให้ตัดข้อความที่ระบุว่าเคยเป็นทนายความไม่น้อยกว่าสามสิบปี และการเสนอให้เปลี่ยนจากอย่างน้อยต้องเป็นศาสตราจารย์เป็นรองศาสตราจารย์ และมีการเสนอให้ตัดคนที่เคยเป็นรัฐมนตรีว่าสามารถเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้


 


อย่างไรก็ตาม นายศรีราชา เจริญพานิช กรรมาธิการยกร่างฯ แย้งว่าหากเปลี่ยนเป็นรองศาสตราจารย์อาจจะมีปัญหาเพราะเราต้องการผู้ที่ทรงคุณวุฒิจริงๆ และอีกหน่อยก็จะมี รองศาสตราจารย์ที่มาจากมหาวิทยาลัยราชภัฏเต็มไปหมด และต่อไปคนจะได้ตำแหน่งนี้กันมากขึ้น โดยเชื่อว่า 5-6 ปีข้างหน้าจะมีรองศาสตราจารย์เป็นหมื่นคน


 


นายมนตรี ศรีเอี่ยมสอาด กรรมาธิการยกร่างฯ กล่าวว่า ศาลรัฐธรรมนูญเป็นศาลชั้นเดียว และคำวินิจฉัยเป็นเด็ดขาด มีผลผูกพันทุกองค์กรของรัฐ ดังนั้นจึงต้องหาคนที่มีคุณสมบัติสูงมากๆ และบางคนที่กำหนดไว้ยังมีคุณสมบัติไม่เพียงพอที่จะเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เพราะอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบสูง สูงกว่าศาลฎีกาเสียด้วยเพราะเป็นเรื่องของประเทศชาติโดยตรง


 


นายวุฒิสาร ตันไชย กรรมาธิการฯ กล่าวว่า คนที่เคยเป็นรัฐมนตรีไม่ควรเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เนื่องจากไม่มีอะไรยืนยันว่า จะไม่ผูกพันกับการเมือง


 


นายสมคิด เลิศไพฑูรย์ กล่าวว่า คนที่เคยเป็นรัฐมนตรีนั้นผ่านงาน การบริหารราชการแผ่นดินมา หลายประเทศนั้นให้คนที่เคยเป็นรัฐมนตรีเป็นตุลาการได้ จึงน่าจะคงไว้


 


ขณะที่นายประพันธ์ นัยโกวิท กล่าวว่า ในส่วนของคนที่เคยรัฐมนตรี เห็นว่าควรที่จะให้คงไว้ เพราะคนที่จะเป็นได้ก็ไม่ได้เป็นง่ายๆ ถ้าคุณสมบัติไม่เหมาะสมก็จะไม่ผ่านในขั้นการสรรหาเอง


 


ด้านนายสมคิด กล่าวสนับสนุนให้คงไว้เช่นกัน "เรากำลังพูดถึงตำแหน่ง ไม่ใช่ตัวคน เพราะรัฐมนตรีมีทั้งคนดีคนไม่ดี เราจะรังเกียจเขามากเกินไปรึเปล่า"


 


นายปกรณ์ ปรียากร กมธ. กล่าวว่า "ในหลักการของศาลรัฐธรรมนูญทั่วโลก เรื่องของรัฐมนตรีจำเป็น ศาสตราจารย์ไม่ดีก็มี กรรมการสิทธิมนุษยชนไม่ดีก็มี ถ้าใช้คำว่าคนนั้นก็ไม่ดี คนนี้ก็ไม่ดี สุดท้ายก็เหลือแต่พวกเราล่ะครับได้เป็น" (ที่ประชุมหัวเราะ)


 


ทั้งนี้ ท้ายที่สุดคณะกรรมาธิการมีมติให้ตัดเพียงตำแหน่งผู้ที่เคยดำรงตำแหน่งผู้บริหารในรัฐวิสาหกิจเท่านั้น ส่วนตำแหน่งอื่นนั้นให้คงไว้เช่นเดิม


 


ลดจำนวนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเหลือ 9 คน ให้กรรมการสรรหามี 5 คน วุฒิฯ ทำได้แค่รับรอง


ต่อมาเป็นการพิจารณาในมาตรา 220 โดยวรรคแรกเป็นระบุเกี่ยวกับเรื่องการสรรหาตุลาการรัฐธรรมนูญตามมาตรา 218 (3) และ (4) โดยให้คณะกรรมการสรรหามาจาก ประธานศาลฎีกา ประธานศาลปกครองสูงสุด ประธานองค์กรอิสระเลือกกันเองเหลือ 1 คน ประธานสภาผู้แทนราษฎร และผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนฯ โดยการคัดเลือกต้องได้คะแนนไม่ต่ำกว่า 3ใน 4 และต้องทำให้เสร็จในสามสิบวัน และในวรรคสองให้วุฒิสภาเป็นผู้รับรอง กรณีที่วุฒิสภาไม่รับรองทั้งหมดให้ส่งกลับไปยังกรรมการสรรหาพร้อมด้วยเหตุผล หากกรรมการสรรหาเห็นด้วยก็ให้เริ่มกระบวนการใหม่ แต่หากกรรมการสรรหายืนตามเดิมก็ให้ประธานวุฒิฯ นำความกราบบังคมทูลเพื่อโปรดเกล้าฯ ในกรณีที่ไม่สามารถสรรหาได้ตามเวลา ให้ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาและที่ประชุมใหญ่ศาลปกครองสูงสุดแต่งตั้งผู้พิพากษาในศาลฎีกาหรือตุลาการในศาลปกครองสูงสุด แล้วแต่กรณีฝ่ายละสามคนเป็นกรรมการสรรหาเพื่อดำเนินการ


 


นายไพบูลย์ วราหะไพฑูรย์ กมธ.เสนอว่า หากอฯ นุหนึ่ง คณะกรรมการสรรหาทำเสร็จในสามสิบวัน แต่ไม่กำหนดเวลาทำงานของวุฒิสภา กลัวว่าจะมีการดึงและไม่เกิดองค์กร จึงต้องการที่จะให้กำหนดเวลา


แต่ทั้งนี้ก็มีผู้ที่ติงว่าหากกำหนดเพียงสามสิบวันอาจจะไม่เพียงพอ เพราะที่ผ่านมานั้นก็ปรากฏชัดว่าทำงานไม่ได้ตามเวลาที่กำหนด


 


แต่สุดท้ายที่ประชุมก็ได้กำหนดให้เติมว่า เวลาการพิจารณาของวุฒิสภาต้องใช้ไม่เกินสามสิบวัน


 


นอกจากนี้นายวุฒิสาร ตันไชยยังขอให้กำหนดการรับรองของวุฒิสภาว่าต้องใช้เสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวน ส.ว. ทั้งหมด ซึ่งที่ประชุมก็เห็นด้วย


 


ด้านนายประพันธ์กล่าวว่า การใช้เสียงไม่น้อยกว่า 3 ใน 4 กรรมการสรรหามี 5 คน ดังนั้น 3ใน 4 ต้องได้คะแนน 4 คน และในนั้นมีฝ่ายการเมือง 2 คน หากฝ่ายการเมืองปฏิเสธ อย่างไรก็เลือกไม่ได้ จึงเสนอให้ใช้เสียงข้างมาก คือ 3 ใน 5 จะเหมาะสมกว่า


 


นายจรัญ ภักดีธนากุล กล่าวว่า ส่วนตัวต้องการให้เป็น 4 จาก 5  หรือ 3 จาก 4 แต่ปัญหาที่ผ่านมาคืออย่างไรก็ตามจะโหวตไม่ได้สักที เพราะฝ่ายการเมืองเขาไม่ต้องการ แต่ตอนนี้เรากระจายทั้งฝ่ายการเมืองทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาล แต่หากเขาร่วมมือกันเราก็ควรที่จะเชื่อเขา


 


ด้านนายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ระบุว่า ตามวรรคแรกน่าจะเป็นเสียงกึ่งหนึ่ง แล้วเสียง 3ใน4 ก็น่าจะใช้กับวรรคสองที่ต้องยืนยันความเห็นต่อวุฒิสภา เพราะหมายความว่าห้าคนจะหักล้างกับวุฒิภาได้


 


นายประพันธ์เสนอว่า หลักการน่าจะเป็นทำนองเดียวกับการสรรหา กกต.คือ เมื่อยืนยันครั้งที่สองไปแล้วก็ให้ใช้เสียง 2 ใน 3 แทนเพื่อให้เกิดความแตกต่างระหว่างวรรคหนึ่งและวรรคสอง เพราะจำเป็นต้องยืนยันและคานกับวุฒิสภา


 


ด้านนายจรัญ กล่าวว่าหากเป็นไปตามวรรคหนึ่งต้องใช้เสียง 3 คนใน 5 คน หากฝ่ายการเมืองรวมกับองค์กรอิสระได้ ศาลจะไม่มีกำลังคานเลย เพราะศาลจะเหลือ 2 คนเท่านั้น แต่เห็นด้วยว่าตามวรรคสองที่เป็นการยืนยันข้อเสนอต่อวุฒิสภา เห็นว่าจะยืนยันต้องเอกฉันท์ แต่หากไม่ยืนยันก็ให้เริ่มตามวรรคหนึ่งใหม่คือใช้เสียง 3 ใน 4 เช่นเดิม


 


ด้านสมคิดสนับสนุนว่าเมื่อเรากำหนดให้ฝ่ายการเมืองมีทั้งประธาน ส.ส. และผู้นำฝ่ายค้าน ก็เพื่อให้เขาคานกันอยู่แล้วไม่มีทางเข้ากัน


 


แต่ที่ประชุมก็ได้ตกลงว่าการสรรหาครั้งแรกจะใช้เสียง 3 ใน 4 และในวรรคสองหากจะยืนยันความเห็นต้องเป็นเอกฉันท์


 


สำหรับการพิจารณาในมาตรา 225 ระบุว่าศาลยุติธรรม ที่กำลังพิจารณาคดีคู่ความที่โต้แย้งว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมาย ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ สามารถร้องขอให้ยื่นเรื่องต่อให้ศาลรัฐธรมนูญพิจารณาว่าข้อกฎหมายที่กำลังพิจารณาคดีนั้นขัดแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ หากเรื่องอยู่ในการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญให้ศาลยุติธรรมรอการพิจารณา และระบุอีกว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญใช้ได้ในคดีทั้งปวงแต่ไม่กระทบต่อคำพิพากษาอันถึงที่สุดแล้ว


 


แต่นายวิชา มหาคุณ แย้งว่าน่าจะให้ศาลยุติธรรมมีอำนาจวินิจฉัยว่าจะยื่นเรื่องหรือไม่ เพราะเกรงว่าเรื่องจะเข้าสู่ศาลรัฐธรรมนูญมากเกินไป


 


ขณะที่นายนุรักษ์ มาปราณีต กล่าวว่าอยากให้เติมว่า ศาลควรเห็นชอบด้วยแล้วจึงส่ง เพราะจะได้ป้องกันการประวิงเวลาในการพิจารณาคดี


 


นายไพบูลย์ กล่าวว่า ในอดีตให้ศาลที่พิจารณาคดีเป็นผู้เห็นชอบด้วยตัวเองไม่เปิดโอกาสให้คู่ความยื่นคำร้องเรื่องก็ไม่เข้ามาสู่ศาลรัฐธรรมนูญ ต่อมาก็เปลี่ยนเป็นศาลต้องเห็นควร เรื่องก็ไม่เข้ามาเลย แต่ตาม 40 คือเมื่อส่งเข้ามาหลายครั้งก็เป็นประเด็นที่ศาลรัฐธรรมนูญนำมาพิจารณา หากเพื่อความรอบคอบก็ควรจะให้กำหนดว่าการยื่นร้องจะต้องยื่นว่าขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญอย่างไร ก็จะลดปัญหาได้


 


นายจรัญได้อภิปรายเพิ่มเติมว่า ขอให้เพิ่มว่าการโต้แย้งต้องทำด้วยความสุจริต และไม่ต้องหยุดการพิจารณาแต่ให้รอการวินิจฉัยเท่านั้นเพื่อคดีจะได้ไม่หยุด และไม่มีการประวิงคดี โดยที่ประชุมเห็นด้วยกับแนวคิดนี้


 


สำหรับมาตรา 228 ที่ระบุว่าให้องค์ประชุมของศาลรัฐธรรมนูญมี 7 คน แต่นายนุรักษ์ มาปราณีต ขอให้ลดลง เพราะหากมีตุลาการถูกคัดค้านหรือปฏิบัติหน้าที่ไม่ได้ก็จะทำให้พิจารณาคดีไม่ได้


 


นายไพบูลย์กล่าวว่า ในอดีตมีตุลาการ 15 คน ก็มีองค์คณะเพียง 9 และจากประสบการณ์คือที่ผ่านมามักจะมีการแย้งตุลาการบางคน ทำให้พิจารณาคดีไม่ได้ จึงอยากกำหนดไว้เบื้องต้นว่าควรมีองค์คณะเพียง 5 คนก็น่าจะเพียงพอ เพราะโดยหลักต้องพิจารณาครบทุกคนอยู่แล้ว โดยท้ายที่สุดที่ประชุมก็เห็นด้วย


โดยมาตรา 229 ที่ระบุว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเป็นเด็ดขาดมีผลผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล และองค์กรอื่นของรัฐ ซึ่งนายประพันธ์บอกให้เปลี่ยนคำ เพราะองค์กรอื่นของรัฐจะรวมไปถึงองคมนตรีหรือไม่ ซึ่งนายสมคิดระบุว่า น่าจะรวมไปถึงด้วย แต่ก็ไม่ได้มีการตัดแต่อย่างใด


 


"วิชา" เสนอให้ประธานศาลฎีกาตั้งเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม ขณะที่ กกต. ตั้งแง่อำนาจศาลปกครองก้าวก่าย


ส่วนการพิจารณาในช่วงเย็นคือมาตรา 235 ระบุองค์ประกอบของคณะกรรมการตุลาการ ประกอบด้วยประธานศาลฎีกาเป็นประธาน กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในแต่ละชั้นศาล ได้แก่ศาลฎีกา 6 คน ศาลอุทธรณ์ 4 คน และศาลชั้นต้น 2 คน ซึ่งเป็นข้าราชการตุลาการในแต่ละชั้นศาลและได้รับเลือกจากข้าราชการตุลาการในแต่ละชั้นศาล กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจำนวน 2 คนซึ่งไม่เเป็นหรือเคยเป็นข้าราชการตุลาการ และได้รับเลือกจากวุฒิสภา


 


สำหรับ มาตรา236 เป็นมาตราที่ระบุถึงการจัดตั้ง สำนักงานศาลยุติธรรม และการแต่งตั้งเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม นายวิชาเสนอให้เลขาธิการศาลยุติธรรมให้มาจากการเสนอของศาลฎีกามิใช่เสนอโดยคณะกรมการตุลาการ เพราะเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรมต้องทำงานประสานกับประธานศาลฎีกาโดยตลอด และปัญหานี้ก็เคยเกิดขึ้นเป็นความขัดแย้งมาแล้ว โดยเป็นปัญหาการทำงานที่ไม่ลงรอยระหว่างประธานศาลฎีกา และเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม ซึ่งที่ประชุมก็เห็นชอบตาม


 


ต่อมาเป็นการพิจารณาในส่วนของศาลปกรองศาล โดยมาตรา 237 ระบุถึงอำนาจในการพิจารณาคดีของศาลปกครอง อย่างไรก็ตาม ได้มีกรรมาธิการบางคนที่อภิปรายว่าที่ผ่านมาศาลปกครองได้พิจารณาก้าวก่ายคำสั่งขององค์กรอื่น เช่น นายประพันธ์ นัยโกวิท และนางสดศรี สัตยธรรม ซึ่งทั้งคู่เป็น กกต.และมีปัญหาเรื่องอำนาจระหว่างศาลปกครอง และ กกต. มาก่อน โดยระบุว่า หลายครั้งการตัดสินของศาลปกครอง เป็นปัญหาในทางปฏิบัติ เช่นระบุว่าคำสั่งเลือกตั้งใหม่ของ กกต.เป็นโมฆะ จึงต้องการให้บัญญัติ ให้อำนาจขอบเขตให้ชัดเจน


 


นายคมสัน โพธิ์คง ให้ระบุว่าศาลปกครองจะตัดสินได้ต้องให้พิจารณาเฉพาะคำสั่งทางปกครอง มิใช่อำนาจที่ใช้ได้ตามรัฐธรรมนูญมอบให้ ซึ่งท้ายที่สุดทางฝ่ายเลขานุการก็ให้เพิ่มเติมวรรคท้ายว่า มีอำนาจตามที่กฎหมายบัญญัติ


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net