Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis


 


ภัควดี วีระภาสพงษ์


 


 


การเดินทางไปเยือนละตินอเมริกาของประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช เมื่อเดือนที่แล้ว เป็นความพยายามครั้งสำคัญอย่างยิ่งยวด ซึ่งจะมีผลกระทบกว้างไกลต่อการเมือง, การทหาร, เศรษฐกิจ ทั้งภายในประเทศสหรัฐฯ เอง ตำแหน่งแห่งที่ของสหรัฐฯ ในโลก รวมไปจนถึงการรักษาผลประโยชน์และอิทธิพลอำนาจของตระกูลบุชไว้ด้วย  แม้สายตาของคนส่วนใหญ่จะจับจ้องไปที่จุดมุ่งหมายของสหรัฐฯ ในการคานอำนาจกับประธานาธิบดีอูโก ชาเวซ  แต่วาระที่สำคัญไม่แพ้กันในการเดินทางไปเยือนครั้งนี้ ก็คือการผูกพันธมิตรเชิงยุทธศาสตร์กับบราซิลในการผลิตเอธานอล  หากมองโดยผิวเผิน สองประเด็นนี้อาจดูเหมือนไม่เกี่ยวกัน  แต่แท้ที่จริงมีความเกี่ยวร้อยกันอย่างลึกซึ้ง


 


ในปัจจุบัน บราซิลเป็นผู้ผลิตเอธานอลอันดับหนึ่งในโลก รองลงมาก็คือสหรัฐอเมริกา บราซิลเองก็ตั้งความหวังกับการเป็นพันธมิตรครั้งนี้ไม่น้อยไปกว่าสหรัฐฯ เพราะมันหมายถึงการตอกย้ำสถานะประเทศผู้นำในระดับภูมิภาค  และไม่แน่ว่าเอธานอลอาจเป็นเชื้อเพลิงที่ขับดันบราซิลให้พุ่งพรวดขึ้นเป็นมหาอำนาจระดับโลกได้ในอนาคตเหมือนกัน  สหรัฐอเมริกาให้ความสำคัญกับการเดินทางเยือนบราซิลครั้งนี้อย่างจริงจัง ด้วยการส่งนิโคลาส เบิร์นส์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศ และโธมัส แชนนอน หัวหน้าฝ่ายกิจการซีกโลกตะวันตก ไปเตรียมการล่วงหน้าก่อนการเดินทางไปถึงของบุช


 


เป้าหมายสองประการข้างต้นของสหรัฐฯ มาบรรจบกัน ณ จุด ๆ หนึ่ง นั่นคือ การใช้บราซิลเป็นพันธมิตรเชิงยุทธศาสตร์ เพื่อหาทางโดดเดี่ยวเวเนซุเอลาและกลุ่มประเทศที่ยึดมั่นในนโยบายรวมละตินอเมริกาเพื่อคานอำนาจของสหรัฐฯ  แม้ว่าลูลาจะเต็มใจจับมือกับบุชในเรื่องเอธานอล  แต่เขายังไม่มีทีท่าจะตั้งตัวเป็นปฏิปักษ์กับชาเวซ และประกาศชัดเจนว่าบราซิลยังคงยึดมั่นใน Mercosur หรือตลาดร่วมอเมริกาใต้  ในที่นี้ เราจะยกเรื่องชาเวซไว้ก่อน  แล้วหันมาสนใจกับตัวแปรตัวใหม่ในโลก นั่นคือ เชื้อเพลิงชีวภาพเอธานอล  เอธานอลกำลังจะกลายเป็นตัวแปรหลักอีกประการหนึ่งต่อโฉมหน้าความเป็นไปในโลก


 


เบื้องหลัง "การแสวงหาพลังงานทางเลือก" ของบุช


การประกาศนโยบาย "แสวงหาพลังงานทางเลือกใหม่" ของประธานาธิบดีบุช ไม่ใช่แค่ลมปากที่พยายามฉุดคะแนนนิยมที่กำลังตกต่ำให้กระเตื้องขึ้น  แต่มันเป็นการวางแผนจริงจังในระยะยาว ทั้งสำหรับผลประโยชน์ (ที่ส่วนใหญ่เป็นของบรรษัทข้ามชาติ) ของสหรัฐฯ และของตระกูลบุชเอง


 


เมื่อนิโคลาส เบิร์นส์ ไปเยือนบราซิลในต้นเดือนกุมภาพันธ์ เขาให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ในบราซิล ซึ่งเปิดเผยให้เห็นแผนการของวอชิงตันในภูมิภาคละตินอเมริกา "เราต้องพึ่งพิงน้ำมันมากไป ดังนั้น เราต้องหาทางพัฒนาพลังงานทางเลือกอื่น  เราต้องลดการบริโภคน้ำมัน เราผลิตเอธานอลจากข้าวโพดเพราะเรามีไร่ข้าวโพดจำนวนมาก  ส่วนคุณ (บราซิล) ผลิตเอธานอลจากอ้อย เราทั้งสองเป็นผู้นำโลก [ในการผลิตเอธานอล] เราครอบครองกว่า 70% ของตลาดโลก....เชื้อเพลิงชีวภาพจะกลายเป็นจุดเชื่อมโยงที่ยิ่งใหญ่ที่สุดและสร้างสรรค์ที่สุดระหว่างบราซิลกับสหรัฐอเมริกา"


 


เบิร์นส์ยังกล่าวเสริมด้วยว่า บราซิลสามารถมีบทบาทสำคัญในการกระตุ้นให้เกิดการผลิตเอธานอลในอเมริกากลางและหมู่เกาะแคริบเบียน  (นี่คือเหตุผลหนึ่งเบื้องหลังการไปเยือนกัวเตมาลาของบุช)  เพราะสองภูมิภาคนี้มีไร่อ้อยขนาดใหญ่ของเอกชน  เบิร์นส์ยังชี้ให้เห็นตรง ๆ ว่า ข้อตกลงในการพัฒนาเชื้อเพลิงชีวภาพกับบราซิลจะช่วยให้สหรัฐฯ ลดการพึ่งพาน้ำมันนำเข้าจากเวเนซุเอลาและอิหร่าน


 


มีรายงานจำนวนมากชี้ให้เห็นว่า ในทศวรรษหน้า การลงทุนที่สำคัญจะทุ่มไปที่เชื้อเพลิงชีวภาพ  โดยเฉพาะบราซิลจะได้เปรียบประเทศอื่นมาก  ทั้งนี้เพราะบราซิลมีการวิจัยและพัฒนาเรื่องนี้ล่วงหน้าก่อนประเทศอื่นถึงกว่า 20 ปี  และเป็นประเทศเดียวในปัจจุบันที่สามารถลดต้นทุนการผลิตจนถึงระดับแข่งขันในตลาดได้  ตัวแปรที่สำคัญอย่างยิ่งประการหนึ่งคือ การพัฒนาเทคโนโลยีทางการเกษตรในการผลิตอ้อยได้สำเร็จ


 


การลงทุนในด้านเชื้อเพลิงชีวภาพจะมาจากบรรษัทข้ามชาติยักษ์ใหญ่  ไม่ว่าจะเป็นบรรษัทที่ผลิตเมล็ดพันธุ์ดัดแปลงพันธุกรรมอย่าง ซินเจนตา, มอนซานโต, ดูปองท์, ดาวเคมิคัล, ไบเออร์, BASF  บรรษัทเหล่านี้มีการลงทุนในพืชผลที่สามารถนำมาผลิตเอธานอลและไบโอดีเซลแล้ว  บางบรรษัทกำลังเตรียมการขายเมล็ดพันธุ์จีเอ็มโอที่ออกแบบมาเพื่อเพิ่มผลผลิตของพืชที่ใช้ในการผลิตเอธานอล


 


ตระกูลบุชมองการณ์ไกลในเรื่องนี้  เจบ บุช น้องชายประธานาธิบดี ผละจากตำแหน่งผู้ว่าการรัฐฟลอริดาเมื่อปลายเดือนมกราคมและวางมือจากการเมืองชั่วคราว  เปล่าเลย เขาไม่ได้ถอดใจ  แต่เพื่อเข้ารับตำแหน่งในคณะกรรมการเอธานอลระหว่างประเทศแห่งทวีปอเมริกา (Inter-American Ethanol Commission) ต่างหาก  ซึ่งเป็นองค์กรที่วอชิงตันคิดจะใช้สร้างความสัมพันธ์ในแนวทางอื่น ๆ กับละตินอเมริกา ที่นอกเหนือจากความสัมพันธ์ทางการเมืองและการทหารแบบเดิม ๆ  เป้าหมายที่ประกาศอย่างเป็นทางการของคณะกรรมการนี้คือ "มีภารกิจเพื่อส่งเสริมการใช้เอธานอลเป็นส่วนผสมในน้ำมันทั่วทั้งทวีปอเมริกา"


 


ทั้งหมดนี้สอดรับเป็นอย่างดีกับคำปราศรัยของประธานาธิบดีบุชในวันที่ 22 มกราคม ที่เสนอให้ออกกฎหมายบังคับให้น้ำมันต้องมีส่วนผสมของเอธานอล 20% ในอีกสิบปีข้างหน้า  เอธานอลเป็นดาวรุ่งดวงใหม่ในการลงทุน  และดังที่เจบ บุช พูดตรง ๆ ว่า เอธานอลคือ "ตัวกระตุ้นที่จะช่วยขจัดอุปสรรคทางการค้าเสรีภายในภูมิภาคนี้"  กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ เอธานอลอาจทำได้สำเร็จในสิ่งที่ FTAA ล้มเหลวมาแล้ว


 


อย่างไรก็ตาม แผนการนี้ย่อมหมายถึงปริมาณการบริโภคเอธานอลที่จะพุ่งพรวดถึง 800% เมื่อถึง ค.ศ. 2017  แม้ว่าการผลิตข้าวโพดในสหรัฐอเมริกาจะเติบโตกว่า 30% ต่อปี  แต่ก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการ  นี่เองคือเหตุผลเบื้องหลังการแสวงหาพันธมิตรทางยุทธศาสตร์อย่างบราซิล


 


พันธมิตรเอธานอล: สหรัฐฯ กับบราซิล



ในคำปราศรัยเมื่อเดือนมกราคมที่เวทีเศรษฐกิจโลกในเมืองดาโวส  ประธานาธิบดีลูลาของบราซิลเสนอว่า สหรัฐอเมริกาควรเข้ามามีส่วนร่วมในการสนับสนุนทางการเงินและเทคโนโลยีในการก่อตั้งโรงงานผลิตเอธานอลในประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ทั้งหลาย  เพื่อให้การผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพมีราคาถูกลงและส่งเสริมการผนวกรวมของระบบเศรษฐกิจโลก


 


ผลประโยชน์ของสองประเทศนี้ดูจะเข้ากันได้อย่างเหมาะเจาะ  แม้ว่าในความเป็นจริง ผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่จะตกเป็นของกลุ่มธุรกิจยักษ์ใหญ่ของสองประเทศมากกว่า  โดยมีคณะกรรมการฯ ที่เจบ บุช เป็นประธาน เป็น "ตัวเชื่อมระหว่างผู้นำธุรกิจของสหรัฐอเมริกากับบราซิล เพื่อพัฒนาตลาดเชื้อเพลิงชีวภาพที่ผลิตจากอ้อยกับข้าวโพด"


 


แนวทางของสหรัฐฯ นั้นไม่ต้องการให้เกิดการบริโภคเอธานอลที่ผลิตจากข้าวโพดมากเกินไป เพราะเกรงว่าจะทำให้ราคาข้าวโพดสูงขึ้นจนฉุดไม่อยู่  นอกจากนี้ เอธานอลของบราซิลมีราคาถูกกว่าของสหรัฐฯ ถึง 25%  การผูกพันธมิตรกันจะทำให้สหรัฐฯ ประหยัดต้นทุน หลีกเลี่ยงปัญหาการขาดแคลนข้าวโพดหรือการขึ้นลงของราคาพืชผล รวมถึงมีอิสระด้านพลังงานมากขึ้นในระดับหนึ่ง  แต่โครงการนี้จะไปถึงดวงดาวได้ ต้องมีการขยายที่ดินเพาะปลูกพืชผลที่จะมาผลิตเอธานอลอย่างขนานใหญ่  นี่คือเหตุผลที่บราซิลกลายเป็นเป้าหมายสำคัญ  เพราะบราซิลมีที่ดินแถบลุ่มแม่น้ำอเมซอนอีกเหลือเฟือ  เมื่อรวมกับประเทศในอเมริกากลางและแคริบเบียนที่จะมาขึ้นรถไฟขบวนนี้  ทุกอย่างก็เป็นดังที่สำนักข่าว Mercosur ชี้ว่า รัฐบาลสหรัฐฯ ต้องการดึงทั้งทวีปอเมริกาเข้ามา "เป็นแหล่งผลิตวัตถุดิบเชื้อเพลิงชีวภาพ" รวมทั้ง "สร้างหลักประกันด้านราคาของพลังงานทางเลือกนี้ไปด้วยในตัว"


 


เอธานอลของบราซิลนั้นสามารถแข่งขันในตลาดโลกได้ ตราบที่ราคาน้ำมันสูงกว่า 40 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล  ส่วนเอธานอลของสหรัฐฯ จะแข่งขันได้  ราคาน้ำมันต้องสูงกว่า 60 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล  เอธานอลของยุโรปยิ่งแล้วใหญ่ มันต้องรอให้ราคาน้ำมันสูงกว่า 80 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลเสียก่อนจึงพอจะแข่งขันในตลาดโลก นอกจากนี้ บราซิลยังสามารถเปลี่ยนอ้อยไปเป็นเอธานอลด้วยประสิทธิภาพที่สูงกว่าการเปลี่ยนข้าวโพดเป็นเอธานอลของสหรัฐฯ ถึง 5 เท่า  ขณะที่การบริโภคน้ำมันด้านการขนส่งในโลกนั้น เชื้อเพลิงชีวภาพมีส่วนแบ่งอยู่เพียง 1% และ 1.8% ในสหรัฐอเมริกา ในบราซิลกลับใช้เชื้อเพลิงชีวภาพถึง 20%  


 


กำไรหวานของภาคธุรกิจ


เชื้อเพลิงชีวภาพกลายเป็นช่องทางทำกำไรมหาศาลจนนักลงทุนจ้องตาเป็นมัน  หากจะปฏิบัติให้บรรลุเป้าหมายที่ประธานาธิบดีบุชประกาศไว้  คือเพิ่มการบริโภคเอธานอลเป็น 20% สหรัฐอเมริกาจะต้องเพิ่มการผลิตเอธานอลจาก 20,400 ล้านลิตร เป็น 132,400 ล้านลิตร ในเวลาแค่ 10 ปี  นี่ยังหมายถึงการขยายพื้นที่เพาะปลูก ลงทุนในการวิจัยเพื่อผลผลิต ประดิษฐ์เมล็ดพันธุ์จีเอ็มโอ  และลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน เช่น โรงงานและท่อส่งเอธานอล เป็นต้น


 


เพื่อให้บรรลุเป้าหมายข้างต้นร่วมกัน บราซิลต้องเพิ่มการส่งออกเอธานอลจาก 4 ล้านแกลลอน เป็น 35 ล้านแกลลอนใน ค.ศ. 2017  ต้องสร้างโรงงานเพิ่มอีก 77 โรงก่อน ค.ศ. 2012  ด้วยเงินลงทุนราว 2.5 พันล้านดอลลาร์  เงินทุนส่วนใหญ่น่าจะไหลมาจากสหรัฐอเมริกา  ในปัจจุบัน ประมาณ 3.4% ของอุตสาหกรรมนี้แปรรูปไปเป็นของเอกชนแล้ว  ในอีก 10 ปีข้างหน้า ครึ่งหนึ่งของอุตสาหกรรมเอธานอลจะไม่ใช่ของชาวบราซิลอีกต่อไป  แค่ปีที่แล้ว โรงงานผลิตเอธานอลที่ใหญ่ที่สุดของประเทศก็ถูกขายให้คาร์กิลล์ บรรษัทยักษ์ใหญ่ข้ามชาติด้านธุรกิจเกษตร


 


แม้ว่าภาคธุรกิจของบราซิลจะยังขัดข้องอยู่กับกำแพงภาษีเอธานอลที่สูงลิบลิ่วของสหรัฐฯ  แต่นักธุรกิจชั้นนำก็ยังเห็นช่องทางในธุรกิจนี้  ทั้งความหวังว่าสหรัฐฯ จะลดภาษีลง หรือไม่ก็หันไปส่งเสริมให้ประเทศเพื่อนบ้านอื่น ๆ หันมาปลูกพืชผลที่ใช้ผลิตเอธานอล  ตลอดจนการลงทุนในด้านโรงงาน ท่อส่งและการคมนาคมขนส่ง   บริษัทรถยนต์ของบราซิลยิ่งยินดีกับข้อตกลงครั้งนี้  ในปัจจุบัน รถยนต์ที่ผลิตในบราซิลถึง 82% ใช้พลังงานแบบผสมผสาน คือใช้ทั้งน้ำมันและเอธานอล  บราซิลย่อมหวังอย่างยิ่งว่า  การก้าวล่วงหน้าไปก่อนในพลังงานทางเลือกใหม่ จะทำให้ได้เปรียบประเทศอื่น ๆ ในโลก


 


แล้วความขมตกอยู่ที่ใคร?


องค์กรภาคประชาชนจำนวนมากในบราซิลกำลังวิตกว่า ความรุ่งโรจน์ที่ภาคธุรกิจใฝ่ฝันหา อาจหมายถึงหายนะทางสังคมและสิ่งแวดล้อม  การขยายการส่งออกเอธานอลหมายถึงการขยายพื้นที่เพาะปลูกไร่อ้อยแบบพืชเชิงเดี่ยวออกไปอย่างมหาศาล  ซึ่งจะยิ่งซ้ำเติมปัญหาการไร้ที่ดินทำกิน ความยากจน การว่างงาน การทำลายสิ่งแวดล้อมในชนบท ให้หนักข้อกว่าเดิมอีก ในเวทีสมัชชาเพื่อการขัดขืนต่อธุรกิจเกษตร (Forum of Resistance to Agribusiness) กลุ่มองค์กรเอกชนทั่วทั้งอเมริกาใต้ออกแถลงการณ์ว่า  "การส่งเสริมรูปแบบการผลิตและส่งออกเชื้อเพลิงชีวภาพอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ถือเป็นภัยคุกคามอย่างร้ายแรงต่อภูมิภาคของเรา ทรัพยากรธรรมชาติของเรา และอำนาจอธิปไตยของปวงชนชาวอเมริกาใต้"


 


แม้ว่าการขยายอุตสาหกรรมเอธานอลอาจกระตุ้นจีดีพีของบราซิลให้พุ่งปรี๊ด และย่อมมีชาวบราซิลจำนวนหนึ่งมั่งคั่งขึ้นมาจากกระบวนการนี้  แต่ประชากรส่วนใหญ่คงไม่ได้รับประโยชน์มากนัก  กล่าวกันตามความจริงแล้ว รูปแบบความเติบโตทางเศรษฐกิจโดยอาศัยการส่งออกสินค้าเกษตรเป็นหัวจักร ไม่ต่างอะไรเลยจากสมัยที่บราซิลเป็นอาณานิคมของโปรตุเกส  มันสร้างความมั่งคั่งให้เจ้าที่ดินที่มีเพียงหยิบมือหนึ่ง  และไม่มีทางช่วยลดช่องว่างทางรายได้ระหว่างคนรวยคนจนที่สูงติดอันดับโลกของบราซิล  


 


การผลิตอ้อยของบราซิลนั้นผูกพันแนบแน่นกับระบบอาณานิคมเสมอมา  ซึ่งประกอบด้วยการกดขี่ขูดรีดแรงงานและการกระจุกตัวของกรรมสิทธิ์เหนือที่ดิน  ความยากจนในชนบทมีความเชื่อมโยงกับระบบการผลิตอ้อยมานมนาน  ยกตัวอย่างเช่น ในรัฐเปอร์นัมบูกู ซึ่งเป็นแหล่งผลิตอ้อยที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ  ความยากจนในเขตนี้ก็จัดอยู่ในระดับสูงที่สุดในโลกด้วย


 


นอกจากนั้น กระบวนการผลิตในไร่อ้อยก็มีความเปลี่ยนแปลงน้อยมากจากสมัยอาณานิคม  คนงานไร่อ้อยเป็นแรงงานกลุ่มหนึ่งที่ต้องทำงานหนักที่สุดในโลก  ใบอ้อยนั้นคมราวกับมีด อากาศก็ร้อนจัด  การที่บราซิลรักษาต้นทุนการผลิตอ้อยที่ต่ำที่สุดในโลกไว้ได้  ก็โดยอาศัยการขูดรีดแรงงาน การจ้างแรงงานกึ่งทาสจำนวนมหาศาล และการไม่ยอมออกกฎข้อบังคับด้านสิ่งแวดล้อม  ประมาณกันว่า มีแรงงานอพยพตามฤดูกาลราว 40,000 คน จากภาคตะวันออกเฉียงเหนือและรัฐมีนัสชีไรส์เดินทางมาทำงานในฤดูเก็บเกี่ยวในเซาเปาลู  ชั่วโมงทำงานยาวนานมากและต้องตัดอ้อยให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้  เพราะรายได้ของคนงานคิดตามน้ำหนักอ้อยที่ตัดได้  จาก ค.ศ. 2004-2006 เท่าที่มีการบันทึกไว้ในรัฐเซาเปาลู มีคนงานเสียชีวิต 17 คน จากการทำงานหนักเกินไป  และใน ค.ศ. 2005 มีบันทึกคนงานเสียชีวิตถึง 416 คน ในกระบวนการผลิตเอธานอล


 


ความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจหรือความอับเฉาของสิ่งแวดล้อม?


ภาคอุตสาหกรรม รัฐบาล และสื่อกระแสหลัก มักปลุกกระแสเอธานอลว่าเป็นพลังงานทางเลือกใหม่ที่ "เขียว" และสะอาด  มันจะช่วยลดปัญหาโลกร้อนและลดการพึ่งพิงน้ำมัน  แต่ในความเป็นจริง กระบวนการผลิตเอธานอล โดยเฉพาะที่ผลิตจากข้าวโพดในสหรัฐฯ เป็นตัวการสร้างมลภาวะทางอากาศมากที่สุดแหล่งหนึ่ง  และการปลูกพืชเชิงเดี่ยวเพื่อนำมาผลิตเอธานอลจะนำไปสู่การทำลายธรรมชาติครั้งใหญ่อีกครั้งของมนุษย์  โดยเฉพาะในเขตป่าอเมซอนที่เป็นปอดใหญ่แห่งหนึ่งของโลก


 


เฉพาะในรัฐเปอร์นัมบูกู  มีพื้นที่ป่าเหลืออยู่แค่ 2.5% เท่านั้น  พื้นที่ป่าดั้งเดิมถูกแปรสภาพไปเป็นไร่อ้อยหมดแล้ว  เพื่อตอบสนองความต้องการเอธานอลในอนาคต บราซิลจะต้องทำลายป่าอีกราว 148 ล้านเอเคอร์  แม้แต่นายธนาคารคนหนึ่งในเซาเปาลู ซึ่งไม่ต้องการเปิดเผยชื่อ ก็ยังรู้สึกไม่สบายใจในเรื่องนี้  เขากล่าวว่า นอกจากการทำลายป่า อุตสาหกรรมอ้อย-เอธานอลจะผลักพืชผลเกษตรอื่น ๆ ให้บุกรุกป่าเพิ่มขึ้นอีก  "เพราะอ้อยให้ราคาสูงกว่าต่อไร่  พื้นที่ที่มีภูมิอากาศดีกว่าจะหันมาปลูกอ้อยกันหมด  ทำให้อ้อยเข้าไปครอบครองที่ดินที่เคยผลิตธัญญาหารหรือใช้เลี้ยงปศุสัตว์  ผู้ผลิตธัญญาหารจึงย้ายไปเพาะปลูกในพื้นที่ที่ไกลออกไป เช่นในภาคตะวันตกตอนกลาง  ซึ่งแต่ก่อนนี้ใช้เลี้ยงปศุสัตว์  ผลลัพธ์ที่จะกระทบชิ่งไปอีกทอดก็คือ ผู้เลี้ยงปศุสัตว์จะต้องออกหาที่ดินผืนใหม่ เช่น ป่าอเมซอน"


 


การต่อต้าน


การที่ลูลามุ่งหน้าเข้าหาการส่งออกเอธานอลในฐานะหัวจักรของการพัฒนาเศรษฐกิจ เขากำลังหันหลังให้ชาวบราซิลหลายล้านคนที่ลงคะแนนเสียงเลือกพรรคแรงงานขึ้นสู่การเป็นรัฐบาล แลกกับคำมั่นสัญญาว่าจะมีความเปลี่ยนแปลงทางสังคม-เศรษฐกิจ โดยเฉพาะการปฏิรูปที่ดิน  ซึ่งขัดแย้งโดยตรงกับการส่งเสริมธุรกิจเกษตรในการผลิตเอธานอล


 


ด้วยเหตุนี้เอง ระหว่างที่บุชเดินทางมาเยือนบราซิล คนจนจำนวนหลายพันคน ทั้งที่เป็นสมาชิกของขบวนการชาวนาโลก (Via Campesina) และขบวนการแรงงานไร้ที่ดิน (MST) จึงออกมากระทำอารยะขัดขืนเพื่อประท้วงทั้งรัฐบาลสหรัฐฯ และรัฐบาลของตนเอง  การประท้วงมีตั้งแต่การบุกเข้ายึดบรรษัทธุรกิจเกษตรข้ามชาติทั่วประเทศโดยไม่ใช้ความรุนแรง  ผู้หญิงจำนวน 900 คน เข้ายึดโรงกลั่นเอธานอลของบริษัทเซวาซาในเมืองเซาเปาลู  อีกกลุ่มหนึ่งเข้ายึดโรงงานกระดาษในริโอกรันเดดูซุล ฯลฯ การเข้ายึดนี้มีเป้าหมายเพื่อบอกรัฐบาลว่า พวกเขาไม่เห็นด้วยกับการใช้ธุรกิจเกษตรเป็นหัวจักรกระตุ้นความเติบโตทางเศรษฐกิจ  เวียคัมเปซินายังออกแถลงการณ์ด้วยว่า  ในที่ดินทุก 100 เฮคแตร์ (ประมาณ 600 ไร่) ที่ปลูกอ้อย มันสร้างงานขึ้นเพียงตำแหน่งเดียว  แต่ในไร่นาของเกษตรกรรายย่อย กลับสามารถสร้างงานได้ถึง 35 ตำแหน่ง  การกว้านซื้อที่ดินของบรรษัทข้ามชาติเท่ากับขับไล่คนจนในชนบทให้เข้าไปแออัดอยู่ตามสลัมในเมือง


 


เฌา เปโดร สชีดิเล ในฐานะตัวแทนของ MST และเวียคัมเปซินาประกาศว่า "บุชมาบราซิลในฐานะเด็กส่งจดหมายให้บรรษัทข้ามชาติ  บริษัทธุรกิจเกษตร บริษัทน้ำมันและบริษัทรถยนต์ ที่ต้องการเข้ามาควบคุมการผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพ"  กระนั้นก็ตาม ผู้ประท้วงพยายามชี้ประเด็นให้เห็นว่า สิ่งที่พวกเขาต่อต้าน ไม่ใช่ตัวเอธานอล แต่พวกเขาต่อต้านการส่งเสริมให้ผลประโยชน์ตกอยู่ในมืออุตสาหกรรมขนาดใหญ่ต่างหาก  มีการเสนอให้การผลิตเอธานอลควรอยู่ในมือของเกษตรกรรายย่อย  โดยกระจายระบบเกษตรกรรมให้มีผลผลิตหลากหลาย และให้ความสำคัญกับการผลิตอาหารเป็นอันดับแรก  บราซิลควรผลิตเอธานอลเพื่อการบริโภคภายในประเทศเป็นหลัก  ไม่ใช่เพื่อสนองความต้องการของสหรัฐฯ


 


โลกยังต้องการพลังงานทางเลือกที่จะมาทดแทนน้ำมัน  เพียงแต่ขอให้มันเป็นทางเลือก "สีเขียว" (ที่ไม่ใช่สีทหารนะ!) ที่แท้จริง  และไม่ใช่ "สีเขียว" บนคราบน้ำตาของใคร


 


 


--------------------


 


ข้อมูลจาก :


 


Isabella Kenfield, "Brazil's Ethanol Plan Breeds Rural Poverty, Environmental Degradation" (Silver City, NM: International Relations Center, March 6, 2007).
http://americas.irc-online.org/am/4049


 


Isabella Kenfield and Roger Burbach, "Militant Brazilian Opposition to Bush-Lula Ethanol Accords," March 27, 2007, ZNet (http://www.zmag.org/weluser.htm)


 


Sasha Lilley, "Green Fuel's Dirty Secret," June 1st, 2006, http://www.corpwatch.org/


 


Juan Antonio Montecino, "Latin America has Moved," March 21, 2007, ZNet (http://www.zmag.org/weluser.htm)


 


Raúl Zibechi, "United States and Brazil: The New Ethanol Alliance" (Silver City, NM: International Relations Center, March 7, 2007).
http://americas.irc-online.org/am/4051

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net