Skip to main content
sharethis

เว็บไซต์มติชนรายงานว่า หลังจากบริษัทแอ๊บบอต แลบอราตอรีส สหรัฐอเมริกา ขอถอนกระบวนการขึ้นทะเบียนยาใหม่ 7 ตัว จากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เพื่อต่อต้านกระทรวงสาธารณสุขบังคับใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตรยา (Compulsory Licensing) โดยไม่ยอมเข้าร่วมการเจรจาต่อรองค่าตอบแทนสิทธิบัตร 0.5% ของมูลค่าการจำหน่ายยาชื่อสามัญ ในวันที่ 26 มีนาคมที่ผ่านมา จนถูกมูลนิธิเอดส์ประกาศคว่ำบาตรไม่ซื้อสินค้าเครือแอ๊บบอต และถูกรุมประณามจากองค์กรหมอไร้พรมแดน มูลนิธิคลินตัน ยูเอ็นเอดส์ ฯลฯ


 



เมื่อวันที่ 10 เมษายน ที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) นพ.ศิริวัฒน์ ทิพย์ธราดล เลขาธิการ อย. เป็นประธานคณะกรรมการเจรจาต่อรองราคายาและการเจรจาค่าตอบแทนสิทธิบัตรที่กระทรวงสาธารณสุขบังคับใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตรยา ครั้งที่ 2  กับบริษัทยาที่เป็นผู้แทนผู้ทรงสิทธิบัตรของยา 3 ชนิด ได้แก่ ยาเอฟฟาไวเรนซ์ของบริษัท เอ็มเอสดี (ประเทศไทย) จำกัด, ยาคาเลตตรา ของบริษัท แอ๊บบอต แลบอราตอรีส, ยาพลาวิคซ์ของบริษัท ซาโนฟี่- อเวนตีส (ประเทศไทย) จำกัด  ปรากฏว่าการเจรจาวันนี้มีผู้แทนบริษัทยาเข้าร่วมเจรจา 2 บริษัท คือ บริษัท เอ็มเอสดี (ประเทศไทย) จำกัด เจ้าของยาเอฟฟาไวเรนซ์ และบริษัท แอ๊บบอตฯ เจ้าของยาคาเลตตราที่ไม่ยอมมาเจรจาครั้งแรก ส่วนบริษัทซาโนฟี่ ไม่ได้เข้าร่วมเจรจาโดยแจ้งว่าผู้บริหารระดับสูงติดภารกิจขอนัดเจรจาในเดือนพฤษภาคมนี้


 



นพ.ศิริวัฒน์กล่าวว่า ผลการเจรจาผลสรุป ดังนี้ 1.บริษัท เอ็มเอสดี เสนอราคายาเอฟาไวเรนซ์ 726 บาทต่อขวด จากราคาเดิมขวดละ 1,400 บาท  2.บริษัท แอ๊บบอต มีจุดยืนที่ต้องการเห็นการสร้างสมดุลระหว่างระบบสิทธิบัตรกับการเข้าถึงยาของประชาชน ดังนั้น แม้จะไม่เห็นด้วยกับการประกาศบังคับใช้สิทธิกับยาคาเลตตราของกระทรวงสาธารณสุขและไม่ขอเจรจาอัตราค่าตอบแทน แต่ทางบริษัทได้นำเสนอราคาใหม่ของยาคาเลตตราให้คณะกรรมการพิจารณาจากราคาเดิม ก่อนการประกาศบังคับใช้สิทธิ อยู่ที่ 5,938 บาทต่อคนต่อเดือน ลดราคาลงมาเหลือเพียง 3,488 บาทต่อคนต่อเดือน หรือลดลง 41.5% ซึ่งเป็นราคาที่อาจจะต่ำกว่าราคายาสามัญด้วย ซึ่งทางคณะกรรมการจะได้พิจารณาและนำเสนอกระทรวงสาธารณสุขต่อไป ส่วนเรื่องการถอนการขึ้นทะเบียนยาใหม่ 7 ตัว ยังไม่ได้มีการหารือ 3.บริษัท ซาโนฟี เจ้าของยาพลาวิคซ์ไม่เข้าร่วมการเจรจาในวันนี้ เนื่องจากได้แจ้งว่าผู้บริหารระดับสูงติดภารกิจ และขอให้มีการนัดหมายเพื่อเจรจาในโอกาสหน้าต่อไป คาดว่าราวต้นเดือนพฤษภาคมนี้


 



เลขาธิการ อย.กล่าวว่า ในวันนี้คณะกรรมการยังได้เชิญบริษัท โนวาร์ตีส (ประเทศไทย) จำกัด มาเจรจาหารือเพื่อหามาตรการร่วมกันในการเพิ่มการเข้าถึงยารักษามะเร็งบางประเภทโดยให้กระทรวงสาธารณสุขรับผิดชอบค่าใช้จ่ายใน  3 เดือนแรกของการรักษา และทางบริษัทจะรับผิดชอบค่าใช้จ่าย 9 เดือนที่เหลืออยู่ ใน 1 ปี แต่ยังไม่ได้นำเสนอทางเลือกเกี่ยวกับการลดราคายา


 



"สำหรับยาเอฟฟาไวเรนซ์ ซึ่งทางองค์การเภสัชกรรมได้นำเข้ามาแล้ว ก็ต้องเดินหน้าต่อไป เพราะถือว่าเป็นเรื่องที่เราต้องดำเนินการเพื่อทำให้บริษัทยาเห็นว่าเราเอาจริงกับการประกาศบังคับใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตร ส่วนข้อเสนอที่ทางบริษัทเสนอเข้ามาใหม่นั้นทางคณะกรรมการจะสรุปนำเสนอต่อ นพ.มงคล ณ สงขลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาตัดสินใจ" นพ.ศิริวัฒน์กล่าว


 



เลขาธิการ อย.กล่าวว่า คณะกรรมการได้นัดหารือกันอีกครั้งในช่วงกลางเดือนพฤษภาคมนี้ และยังยินดีเปิดรับข้อเสนอของบริษัทยาทุกบริษัท



 


ดร.กิตติมา ศรีวัฒนกุล ผู้แทนบริษัท เอ็มเอสดี (ประเทศไทย) จำกัด สาขาของบริษัท เมอร์ค แอนด์ โค อิงค์ เจ้าของสิทธิบัตรยาเอฟฟาไวเรนซ์ สำหรับผู้ติดเชื้อไวรัสเอชวี กล่าวภายหลังเจราจาต่อรองว่า ที่ผ่านมาทางบริษัทได้ลดราคายาลงจนใกล้เคียงกับราคายาเลียนแบบที่มีการสั่งนำเข้าจากประเทศอินเดีย ดังนั้น ในวันนี้ทางบริษัทจึงไม่ได้ทำการเจรจาค่าตอบแทนสิทธิบัตรแต่อย่างใด เพราะได้เสนอราคาจำหน่ายยาที่เหมาะสมแล้ว และที่ผ่านมากระทรวงสาธารณสุขเองได้ยอมรับในสมุดปกขาวชี้แจงบังคับสิทธิเหนือสิทธิบัตรด้วยว่า เป็นราคาที่ใกล้เคียงกับยาเลียนแบบจริง โดยยาเลียนแบบที่นำเข้าราคา 650 บาทต่อเดือน ขณะที่ยาต้นแบบของทางบริษัทราคา 726 บาทต่อเดือน และเมื่อเป็นเช่นนี้เหตุใดไม่ให้ผู้ป่วยได้ใช้ยาต้นแบบ ที่มีประสิทธิภาพกว่าและเป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วยเอง



 


"บริษัทขณะนี้เรียกว่าได้ถอยจนหลังติดฝาแล้ว และคงลดราคายาลงไปกว่านี้ไม่ได้อีก โดยเป็นมาตรฐานราคายาที่กำหนดใช้เหมือนกันทั่วโลก" ดร.กิตติมากล่าว



 


ขณะที่ น.ส.สารี อ๋องสมหวัง ผู้จัดการมูลนิธิผู้บริโภค กล่าวว่า การต่อรองของบริษัทยาโดยยอมลดราคาเป็นเพียงกลยุทธ์ของบริษัทยาที่ทำทุกทางเพื่อไม่ให้มีการบังคับใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตรยา ดังเช่นที่เคยทำกับประเทศบราซิล หรือในประเทศกำลังพัฒนา ทั้งนี้ การยอมลดราคายาลงไม่ได้เป็นหลักประกันได้ว่าจะสามารถช่วยให้ผู้ป่วยเข้าถึงยาได้มากขึ้น เพราะอาจเป็นเพียงการลดราคาลงชั่วคราว หรือลดราคายาเฉพาะที่ใช้ในโรงพยาบาล (รพ.) ของรัฐ แต่ รพ.เอกชนยังคงราคาที่สูงเช่นเดิม อย่างไรก็ตาม กระทรวงสาธารณสุขจะต้องเดินหน้าในการใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตรยาต่อไป และไม่ควรยอมรับหรือนำข้อเสนอเหล่านี้มาพิจารณอีก



 


"สายเกินไปที่บริษัทยาเหล่านี้จะมาขอเจรจาต่อรองและยอมลดราคาลง ซึ่งแม้ราคาที่ลดลงอาจจะดูว่าเป็นราคาที่ต่ำกว่าราคาสามัญ แต่ความจริงราคายาสามารถลดลงได้มากกว่านี้อีก อย่างไรก็ตาม การลดราคานั้นไม่สามารถประกันการเข้าถึงยาของผู้ป่วยได้เหมือนกับการประกาศซีแอลของกระทรวงสาธารณสุข และว่าแม้ว่าบริษัทยาอย่างแอ๊บบอตจะขอเจรจายอมลดลาคาลง แต่ทางเราก็ยังยืนยันที่จะเดินหน้าคว่ำบาตรสินค้าในเครือบริษัทแอ๊บบอตต่อไป" น.ส.สารีกล่าว




 


 


 


---------------------------------


ที่มา: http://www.matichon.co.th/matichon

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net