Skip to main content
sharethis

วานนี้ (16 เมษายน 2550) แพทย์หญิงซินเทีย มาว หรือหมอซินเทีย ชาวกะเหรี่ยง เปิดเผยกับ นสพ.ผู้จัดการรายวันว่า ตามที่ได้เปิดคลินิกใน อ.สอด จ.ตาก หรือที่รู้จักกันในนาม คลินิกแม่ตาว เพื่อรักษาพยาบาลคนไข้ โดยไม่จำกัดเชื้อชาติ และไม่คิดค่าใช้จ่าย ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2531 นั้น ปัจจุบันแม่ตาวคลินิกมีเตียงรองรับผู้ป่วยได้ 160 เตียง ซึ่งในปี 2549 มีผู้ป่วยเข้ารับการรักษาประมาณ 50,000 คน


 


ทั้งนี้ผู้ป่วยซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนยากจนจากฝั่งประเทศพม่า และแรงงานพม่าใน อ.แม่สอด อ.แม่ระมาด อ.ท่าสองยาง อ.พบพระ และ อ.อุ้มผาง จ.ตาก โรคที่ตรวจพบมากที่สุดคือ มาลาเรีย วัณโรค และโรคเอดส์ โดยเฉพาะผู้หญิงส่วนใหญ่ติดเชื้อมาจากสามี ซึ่งสะท้อนถึงสถานการณ์ระบบสาธารณสุขในพม่าว่ายังไม่มีประสิทธิภาพ ให้บริการไม่ทั่วถึง โดยเฉพาะในท้องถิ่นห่างไกลจากเมืองใหญ่ ทำให้โอกาสของคนยากจนจะได้รับการรักษาพยาบาลในโรงพยาบาลมีน้อย ซึ่งคนเหล่านั้นจำนวนมากต้องดิ้นรนข้ามประเทศมารักษาพยาบาลในคลินิกแม่ตาวประเทศไทย


 


"ตั้งแต่เริ่มเปิดคลินิก มาลาเรียเป็นปัญหาใหญ่ที่สุด ผู้คนมากมายเสียชีวิตเพราะโรคมาลาเรีย ในเวลาต่อมาเราพบโรคอื่นๆ ด้วยแต่ที่มากอย่างน่าตกใจคือการทำแท้ง เนื่องจากส่วนใหญ่ไม่รู้จักวิธีคุมกำเนิด ปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น รวมทั้งปัญหายาเสพติดและเอดส์ในกลุ่มหญิงขายบริการ ซึ่งกำลังจะรุนแรงมากขึ้น นอกจากนี้ห้องแลบไม่มีประสิทธิภาพอุปกรณ์ไม่ครบ ทำให้ผู้ป่วยได้รับการถ่ายเลือดโดยไม่มีการตรวจสอบเชื้อเอชไอวี ส่งผลให้หลายคนได้รับเชื้อร้ายจากโรงพยาบาล กลายเป็นเหยื่อบริสุทธิ์ของการสาธารณสุขที่ล้มเหลวในพม่าไป" หมอซินเทีย กล่าว


 


หมอซินเทีย กล่าวต่ออีกว่า แม้ว่าคลินิกจะได้รับความช่วยเหลือด้านอุปกรณ์การแพทย์และยารักษาโรคจาก 20 ประเทศทั่วโลก แต่บุคลากรทางการแพทย์มีไม่เพียงพอ โดยที่ผ่านมาคลินิกได้อบรมเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ส่งไปทำงานด้านสาธารณสุข และเยียวยาคนเจ็บป่วยในพม่า ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากองค์กรการแพทย์ระดับสากลหลายองค์กร


 


อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่จะต้องเผชิญความเสี่ยงต่อการถูกจับกุม เพราะรัฐบาลทหารพม่ามองว่าคลินิกแห่งนี้เป็นกลุ่มต่อต้านรัฐบาลทหารพม่า ขณะที่คลินิกแม่ตาวยังต้องการความช่วยเหลือจากนานาประเทศ ในเรื่องยารักษาโรคต่างๆ ในระยะยาว มากกว่าการช่วยเหลือบริจาคเป็นครั้งคราว


 


สำหรับแพทย์หญิงซินเทีย มาว หรือหมอซินเทีย ชาวกะเหรี่ยง หลบหนีภัยจากเหตุการณ์ทหารพม่าปราบปรามผู้ชุมนุมประท้วงครั้งใหญ่เมื่อปี พ.ศ. 2531 ก่อนจะมาก่อตั้งคลินิกแม่ตาว ใน อ.แม่สอด จ.ตาก เพื่อรักษาพยาบาลคนไข้ไม่จำกัดเชื้อชาติที่เดินทางมาจากฝั่งประเทศพม่าโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย จากอาคารไม้เก่าๆหลังเดียว ซึ่งใช้เป็นสถานที่พักฟื้นผู้ป่วยจากการรักษาที่โรงพยาบาลแม่สอด ได้ขยายตัวมีอาคารเพิ่มขึ้นจนเป็นโรงพยาบาลขนาดเล็ก มีเตียงรองรับผู้ป่วยได้อย่างน้อย 160 เตียง


 


นอกจากนี้ยังได้รับรางวัลแมกไซไซปี 2545 รางวัลเอเชียนฮีโร่จากนิตยสารไทม์ ปี 2546 และเป็นหนึ่งในผู้หญิง 1,000 คน ทั่วโลกที่ได้รับการเสนอชื่อให้ได้รับรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพ คือผลพลอยได้จากการอุทิศตนเพื่อช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ผู้เจ็บป่วย


 


หมอซินเทีย กล่าวว่า ตอนเริ่มแรก ไม่ได้ตั้งใจจะเปิดคลินิกรักษาโรค เดินทางมาถึงที่นี่พร้อมกับนักศึกษาพม่า ที่เดินขบวนประท้วงเมื่อหลายปีก่อน ในตอนนั้นนักศึกษาหลายคนหลบหนีเข้าป่าใกล้ชายแดนไทย เมื่อเจ็บป่วยหรือบาดเจ็บหนักต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลแม่สอด ดังนั้นจึงเริ่มหาสถานที่สำหรับพักฟื้นผู้ป่วย ซึ่งได้รับความเมตตาจากคนไทยในท้องถิ่น องค์กรศาสนา และองค์กรที่ให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมจากนานาประเทศจนถึงปัจจุบัน


 


ด้านนางเยาวนาฐ สุวรรณกาศ นายกกิ่งกาชาดอำเภอแม่สอด เปิดเผยภายหลังเดินทางไปตรวจเยี่ยมคลินิกแม่ตาว ต.แม่ตาว อ.แม่สอด เมื่อเร็วๆ นี้ เพื่อรับทราบแนวทางการดำเนินงาน ด้านการรักษาพยาบาลแรงงานต่างด้าวและชาวพม่าตามแนวชายแดน ด้าน อ.แม่สอด จ.ตากว่า คลินิกแม่ตาว ของแพทย์หญิงซินเทีย มาว หรือหมอซินเทีย เป็นที่พึ่งพิงของชาวพม่าในยามเจ็บป่วยอย่างแท้จริง


 


ทั้งนี้ จะสังเกตได้จากตัวเลขของผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาจำนวนมาก และมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งตนจะประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเข้าไปสนับสนุนทั้งในเรื่องงบประมาณ และบุคลากรเข้าไปเสริมสร้างประสิทธิภาพในการรักษาของคลินิกแม่ตาว รองรับกับจำนวนของผู้ป่วยต่อไป


 


ที่มา : ผู้จัดการรายวัน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net