Skip to main content
sharethis


 


 


ท่ามกลางสภาพอากาศและสภาพการเมืองที่ร้อนระอุในเดือนเมษายน "จาตุรนต์ ฉายแสง"  รักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทย ได้เปิดแถลงข่าวพูดคุยกับผู้สื่อข่าวหลายสำนัก ณ ที่ทำการพรรคไทยรักไทยเมื่อวันที่ 11 เมษายนก่อนหยุดยาวฉลองสงกรานต์ เพื่อประเมินสถานการณ์หลังจากนี้ รวมถึงประเมินพลังของฝักฝ่ายต่างๆ โดยเฉพาะกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่ออกมาเคลื่อนไหวก่อนหน้านั้น 1 วัน (10 เม.ย.) เรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีทบทวนตัวเอง เนื้อหาการให้สัมภาษณ์บางส่วน บางประเด็นถูกนำเสนอในหน้าหนังสือพิมพ์ฉบับต่างๆ ไปแล้ว แต่ "ประชาไท" ขอเรียบเรียงมุมมองการวิเคราะห์ของรักษาการหัวหน้าพรรคต้องห้ามมาให้อ่านกันเต็มๆ อีกครั้ง .... คลายร้อน 


 


 


0 0 0


 


ผู้สื่อข่าว : คิดอย่างไรกับบทบาทของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่แถลงข่าว (10 เม.ย.) ประเมินผลงาน 6 เดือนของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) และรัฐบาล


จาตุรนต์ : เป็นเรื่องน่าตกใจสำหรับสังคมไทย มันเป็นการแสดงถึงความล้มเหลวของการสมานฉันท์ เพราะนอกจาก คมช. จะล้มเหลวที่จ้องทำลายล้างกลุ่มเป้าหมายทางการเมืองเป็นหลัก รวมถึงทำให้รัฐบาลล้มเหลวในการสมานฉันท์ในหลายด้านที่รัฐบาลคิดจะทำแล้ว มาถึงตอนนี้ยิ่งสะท้อนว่าเป็นการล้มเหลวในกลุ่มเดียวกันเอง แม้แต่ คมช. รัฐบาล และพันธมิตรฯ สมานฉันท์กันเองยังไม่ได้


 


เรื่องนี้เป็นความต่อเนื่องจากการที่ คมช. และพันธมิตรฯ จ้องที่จะเสนอแนวความคิด นโยบายในการทำลายล้างฝ่ายตรงข้ามมาตลอด เมื่อไม่กี่วันนี้ก็มีแผนทำลายล้างฝ่ายตรงข้ามที่เรียกสวยหรูว่า "ประชาสัมพันธ์เชิงลึก" ที่ไม่ได้เสียหายเฉพาะเงิน 12 ล้านบาท แต่ยังเสียหายในแง่การส่งสัญญาณ แสดงให้เห็นถึงการแบ่งฝักแบ่งฝ่าย หลังสุด การแสดงความเห็นของพันธมิตรฯ ยิ่งทำให้เห็นว่าการสมานฉันท์ในสังคมไทยล้มเหลวโดยสิ้นเชิง


 


ที่ว่าน่าตกใจคือ มันเป็นการแสดงให้เห็นว่า แนวความคิดแบบ "คณาธิปไตย" ยังมีบทบาทครอบงำตัวละครสำคัญๆ ในการเมืองไทย นั่นก็คือ กลุ่มพันธมิตรฯ พวกเขาเสนอความคิดเห็นโดยถือว่ากลุ่มตนสามารถกำหนดความเป็นไปในบ้านเมืองได้ตามใจชอบ ไม่ต้องยอมรับกติกาใดๆ เมื่อไม่พอใจรัฐบาลก็ต้องการจะเปลี่ยนรัฐบาล เมื่อรัฐบาลไม่ทำตามความเห็นของพวกเขา เขาก็ปลุกให้เปลี่ยนรัฐบาล  เมื่อเห็นว่าการเลือกตั้งหากเกิดขึ้นตามกำหนดแล้วยังทำลายล้างกลุ่มเป้าหมายที่เรียกว่า "กลุ่มอำนาจเก่า"  ไม่ได้ เขาก็เสนอว่ายังไม่ต้องรีบเลือกตั้งก็ได้ แม้ไม่พูดแบบนี้โดยตรง แต่การที่พูดว่าต้องปฏิรูปการเมือง ปฏิรูปสื่อ ปราบทุจริตเสียก่อนค่อยเลือกตั้ง มันไม่ได้หมายความว่าให้เร่งทำสิ่งเหล่านี้เสียก่อนถึงเดือนธันวาคมนี้ เพราะมันเป็นไปไม่ได้ที่จะปฏิรูปการเมือง ปฏิรูปสื่อ และปราบทุจริตให้หมดภายในเดือนธันวาคม โดยเฉพาะการปกครองภายใต้ คมช.อย่างปัจจุบัน คมช.ได้กระทำการจนกระทั่งการเมืองไทยก็เป็นเผด็จการอยู่ แล้วมันจะปฏิรูปอย่างไร คมช.ได้สั่งห้ามสื่อลงข่าวของบางกลุ่มที่ตรงข้ามกับ คมช. คมช. ไม่ได้ปราบปรามการทุจริตในเรื่องใหม่ๆ รวมทั้งการปราบปรามการทุจริตในรัฐบาลที่แล้วก็ไม่เป็นไปโดยกระบวนการยุติธรรม


 


ฉะนั้น ถ้าบอกว่าทำ 3 อย่างนี้ให้เสร็จก่อนค่อยเลือกตั้ง หมายความว่า เราก็ต้องไม่มีการเลือกตั้งไปอีก 100 ปีภายใต้การปกครองของ คมช.


 


การเสนอของพันธมิตรฯ เช่นนี้ เป็นการเสนอที่ไม่คำนึงถึงผลเสียที่จะเกิดกับบ้านเมือง เพราะเสนอความเห็นจนคนเริ่มไม่แน่ใจว่าจะมีการเลือกตั้งกันตามกำหนดหรือเปล่า  มันย่อมกระทบต่อการลงทุนทั้งต่างประเทศและในประเทศ เป็นผลเสียต่อเศรษฐกิจ เป็นผลเสียต่อส่วนรวม


 


อีกทั้งข้อเสนอของพันธมิตรฯ ก็สับสน ขัดแย้งกันเอง ไม่มีทางที่ใครจะทำตามได้ถูก ข้อเสนอที่บอกว่าต้องปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ปฏิรูปสื่อ ขณะเดียวกันก็บอกว่า คมช.กับรัฐบาลขัดแย้งกัน ไร้เอกภาพ แน่นอน มันต้องขัดแย้งแน่ หากรัฐบาลจะปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมก็ต้องขัดแย้งกับ คมช. เพราะ คมช.ได้ทำลายกระบวนการยุติธรรมไปแล้ว หากรัฐบาลจะปฏิรูปสื่อก็ต้องขัดแย้งกับ คมช. รัฐบาลอาจไม่ทำตาม 4 ข้อซึ่งเป็นเหตุผลในการรัฐประหาร ก็แน่นอน เพราะในการแถลงนโยบายรัฐบาลไม่ได้จะทำตาม 4 ข้อนั้น


 


สิ่งที่พันธมิตรฯ วิจารณ์ก็เป็นการวิจารณ์ สนช. แล้วมาลงที่การให้นายกฯ ทบทวนบทบาทตัวเอง ทั้งที่ สนช. มาจาก คมช. นอกจากนี้ยังมีการขยายความข้อเสนอที่เรียกร้องให้นายกฯ ทบทวนตัวเอง จนคนเข้าใจว่าต้องการเปลี่ยนนายกฯ นั่นเอง


 


แล้วยังพูดเรื่องรัฐประหารซ้อน ยิ่งทำให้บ้านเมืองเสียหายหนักขึ้นอีก เวลานี้มันไม่มีความจำเป็นเลย ต่อให้ คมช.ต้องการทำตามพันธมิตรฯ คือจะเปลี่ยนนายกฯ ก็ไม่ต้องรัฐประหารซ้ำ ประธาน คมช.สามารถถอดนายกฯ ได้อยู่แล้ว มันไม่เหมือนรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง จะมาอ้างเหตุอะไรยึดอำนาจ แต่ถ้าถามความเห็นพรรคไทยรักไทย เราก็จะบอกว่าคิดให้ดี  เปลี่ยนแล้วจะเอาใครมาเป็น จะแย่ลงอีกหรือไม่ เราต้องคำนึงถึงความรู้สึกของคนที่มีต่อนายกฯ ด้วย ในสถานการณ์อย่างนี้ พล.อ.สุรยุทธ์ ก็พยายามสมานฉันท์เต็มที่ ทำอะไรหลายอย่างโดยไม่ทำลายหลักการที่สำคัญบางเรื่อง เช่น การไม่ก้าวก่ายองค์กรที่มีหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรม


 


 


ผู้สื่อข่าว :  ช่วยประเมินสถานการณ์ของรัฐบาล และอิทธิพลของพันธมิตรฯที่มีต่อ คมช.


ถึงที่สุดแล้วพันธมิตรฯ เป็นผู้ให้กำเนิด คมช. และต่อมาก็คือรัฐบาล ฉะนั้น รัฐบาลปัจจุบันก็อยู่ในสภาพที่อาจจะเรียกได้ว่า มาทางไหนอาจต้องไปทางนั้น ส่วน คมช.เดิม คณะทหารที่ยึดอำนาจก็มีน้อยมากเพียงไม่กี่คน ไม่มีความรู้ประสบการณ์เกี่ยวกับการยึดอำนาจและการปกครองบ้านเมือง แต่เป็นเพราะพันธมิตรฯ ได้ปูพื้นฐานสร้างความชอบธรรมให้กับการยึดอำนาจ จึงเกิด คปค.ที่ต่อมากลายเป็น คมช. คนที่ไม่เคยคิดจะมีอำนาจปกครองบ้านเมืองก็ได้มาปกครองบ้านเมือง หากคิดตามเหตุผลที่เขามักพูดอยู่ในเรื่องแค้นต้องชำระ เราก็พอจะสรุปได้ว่า มันเป็นเรื่องบุญคุณต้องทดแทน พันธมิตรฯ จึงมีอิทธิพลต่อคมช.มาก คมช.คงคิดว่าบุญคุณต้องทดแทน อีกเหตุผลหนึ่งก็คงกลัวด้วยว่า ถ้าไม่ทำตามข้อเรียกร้องอาจจะเกิดการชุมนุมต่อต้านคัดค้านโดยพันธมิตรฯ จนสถานการณ์บานปลายควบคุมไม่ได้ คมช.และรัฐบาลก็จะประสบกับสถานการณ์ที่รัฐบาลที่แล้วประสบมานั่นเอง


 


ทั้งหมดนี้เกิดจากการที่สังคมไทยได้ปล่อยให้มีคณะบุคคลมามีอำนาจในการกำหนดความเป็นไปของบ้านเมืองเหนือผู้อื่น เริ่มต้นก็อยู่ในสภาพอนาธิปไตย ต่อมาก็ยอมรับระบบคณาธิปไตย คือการมีอำนาจของกลุ่มคน หมู่คณะ ขณะนี้เราจึงอยู่ในวังวนของการที่ไม่สามารถจะพัฒนาสังคมให้ไปอยู่ในการปกครองที่มีกติกาที่ทุกคนต้องเท่าเทียมกัน


 


 


ผู้สื่อข่าว : มีการหารือกันในพรรคเรื่องของการปฏิวัติซ้อนหรือไม่


มีการพูดจาหารือกัน แต่ยังไม่เป็นกิจจะลักษณะ โดยหลักการเราไม่เห็นด้วยกับการยึดอำนาจ รัฐประหารซ้ำหรือรัฐประหารซ้อน อันที่จริงเราไม่เห็นด้วยตั้งแต่ที่เกิดขึ้นมาแล้ว รวมทั้งที่หากจะมีขึ้นอีก เพราะมันไม่ใช่ทางแก้ปัญหาให้กับประเทศ ยิ่งทำซ้ำก็จะสร้างความเสียหายให้กับประเทศมากยิ่งขึ้น แล้วก็ไม่มีเหตุผลความจำเป็นใดๆ อ้างอะไรก็ฟังไม่ขึ้น


 


อย่างไรก็ตาม บทบาทของพรรคไทยรักไทยคงมีไม่มากไปกว่าการแสดงความเห็นในการคัดค้านเรื่องนี้เท่านั้น ทำได้แค่นั้น เราไม่ได้ทำงานการเมืองแบบสร้างมวลชนไว้สู้รบปรบมือกับใคร เราเน้นการให้เหตุผล แล้วก็หวังว่าสังคมไทยจะได้เรียนรู้โทษและภัยของการทำรัฐประหาร แล้วค่อยๆ พัฒนาไปสู่สังคมที่ปฏิเสธการรัฐประหาร ปฏิเสธเผด็จการ ปฏิเสธการใช้ความรุนแรง แล้วหันมาสร้างกติกาที่ดี ยอมรับกติกาที่ดี และยอมรับการดำเนินการตามกติกานั้น ซึ่งข้อหลังนี้ก็ยังเป็นห่วง ถ้าพูดถึงการเลือกตั้งที่จะมีขึ้น ดูอาการของ คมช. และพันธมิตรฯ แล้ว น่าเป็นห่วงว่าเขาจะให้เลือกตั้งตามกำหนดไหม ดูเหมือนจะมีการพูดทำนองว่า ถ้าเลือกตั้งต้องเลือกตั้งแบบที่ทำให้ไทยรักไทยต้องสูญพันธุ์เท่านั้น ถึงจะยอมรับผลการเลือกตั้ง


 


เช่นนั้นก็ต้องถามว่าจะมีการเลือกตั้งเพื่ออะไรกันแน่ จะเลือกตั้งตามแบบประชาธิปไตยที่ทั่วโลกเขาทำกันหรือเปล่า เพราะคุณกำลังบอกว่ากลุ่มอำนาจเก่าต้องหายไป นักการเมืองเก่าต้องหายไป หากเลือกตั้งแล้วพรรคไทยรักไทยยังได้รับเสียงสนับสนุนมากพอสมควร จะล้มกระดานกันอีกหรือเปล่า หรือพรรคไทยรักไทยต้องแพ้ราบคาบไปเลยจึงจะถือเป็นการเลือกตั้งที่คุณยอมรับได้


 


ต่อเนื่องจากคำถามที่ว่าไปนี้ เรากำลังจะรวบรวมข้อมูล สิ่งที่ผู้มีอำนาจทั้งหลายแสดงความเห็นตามที่ต่างๆ แล้วมานำเสนอต่อสังคมไทยให้ช่วยกันคิดว่า อยากเห็นการเลือกตั้งแบบไหน สังคมไทยควรมีความเข้าใจ ความคิดเห็นต่อการเลือกตั้ง และระบบกติกาต่างๆ อย่างไร


 


 


ผู้สื่อข่าว : ในเมื่อคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ อัยการสั่งไม่ฟ้องไปแล้ว คมช.จะได้รับผลกระทบอย่างไรบ้าง เพราะมันเป็นเหตุผลข้อสำคัญข้อหนึ่งในการยึดอำนาจ  


            การที่อัยการสั่งไม่ฟ้องในเรื่องนี้ก็แสดงให้เห็นอีกกรณีหนึ่งว่า การอ้างเหตุผลในการยึดอำนาจ เป็นการอ้างที่เลื่อนลอย ไม่มีพื้นฐานความจริงรองรับอย่างเพียงพอ พรรคไทยรักไทยเราไม่ต้องการใช้กรณีข้อกล่าวหาเกี่ยวกับการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพมาเป็นประโยชน์ทางการเมือง เราไม่อยากพูดถึงกรณีที่ผ่านๆ มา แต่ถ้าถาม เรื่องอย่างนี้สะท้อนให้เห็นว่า ที่อ้างๆ กันจนกระทั่งมาเป็นเหตุผลในการยึดอำนาจ นับวันก็ยิ่งแสดงให้เห็นว่าเลื่อนลอย ผ่านไป 6 เดือน ยังไม่มีอดีตรัฐมนตรีตกเป็นผู้ต้องหาในกระบวนการยุติธรรมแม้แต่คนเดียว ส่วนความแตกแยกทางความคิดของคนในสังคม ผ่านไป 6 เดือนนั้นยิ่งรุนแรงกว่าตอนก่อนยึดอำนาจเสียอีก


 


สรุปแล้ว มันเป็นข้ออ้างที่คิดขึ้นมาอย่างรวดเร็วกะทันหัน แล้วสุดท้ายก็ทำให้ คมช.รวมถึงกลไกต่างๆ ของ คมช.จมอยู่ในปลักของ 4 ข้อนี้ วนเวียนทำอยู่ในเรื่องที่มันไม่มีเหตุผลรองรับ ไม่มีเวลาไปทำเรื่องอื่นที่ควรจะทำ จนกระทั่ง คมช.เสื่อมลงๆ แล้วยังไปหลงกลพรรคประชาธิปัตย์ที่เน้นอยู่ที่ 4 ข้อนี้ เขาต้องการให้ทำมากๆ เพื่อทำลายคู่แข่งทางการเมืองของเขา คมช.และพันธมิตรฯ ก็พยายามให้รัฐบาลต้องทำแต่ 4 ข้อ ก็เลยแย่ไปด้วยกันหมด  เรื่องทุจริตและคดีหมิ่นฯ ก็เป็นอย่างที่ว่าไป เรื่องความแตกแยกในสังคมยิ่งทำยิ่งหนัก เรื่องการแทรกแซงองค์กรอิสระก็ได้แทรกแซงเรียบร้อยเต็มไปหมดและหนักกว่าเดิม


 


ที่บอกว่า หนักกว่าเดิม เช่น การตั้ง คตส.ขึ้น โดยเลือกสรรบุคคลที่จ้องทำลายบุคคลในรัฐบาลที่แล้วเข้าไปอย่างเห็นชัดเจน การเชิญ คตส. ปปช. สตง.ไปหารือกับ คมช.เป็นระยะ แล้วองค์กรเหล่านี้ก็ออกมาบอกว่าความคืบหน้าเป็นที่พอใจของ คมช.แค่ไหน อย่างไร เหล่านี้เป็นเรื่องทำไม่ได้ทั้งนั้น ถ้าจะเคารพในความเป็นองค์กรอิสระ


 


ผู้สื่อข่าว : การเมืองหลังสงกรานต์รัฐบาล คมช.จะต้องประสบกับปัญหาหนักอะไรบ้าง


ที่หนักหนามากๆ ซึ่งเป็นปัญหาพื้นฐานเลยคือ ความเสียหายทางเศรษฐกิจ ความเดือดร้อนของประชาชน แต่ก็คงไม่ถึงกับเกิดการเคลื่อนไหวต่อต้าน คมช. จนส่งผลถึงเสถียรภาพของ คมช.หรือรัฐบาล  ขณะที่การชุมชนต่างๆ ของกลุ่มองค์กรที่เรียกร้องเสรีภาพก็ดี ประชาธิปไตยก็ดี ส่วนที่คัดค้าน คมช.ก็ดี จะมีมากขึ้นและเพิ่มความเข้มข้นขึ้นอีก แต่ก็ยังไม่เพียงพอที่จะส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพของ คมช.และรัฐบาล เพราะการประกาศแล้วว่าจะมีการเลือกตั้ง คนก็ไม่อยากเห็นบ้านเมืองเสียหายมากไปกว่านี้ ไม่อยากเห็นความรุนแรง เพราะฉะนั้น ส่วนที่น่าวิตกมากกว่าอย่างอื่นคือ ความขัดแย้งกันเองระหว่างรัฐบาล คมช.และพันธมิตรฯ  สิ่งนี้นี่อาจกำหนดการอยู่การไปตลอดจนเสถียรภาพของรัฐบาลและ คมช.ได้


 


 


ผู้สื่อข่าว : แสดงว่าตัวสำคัญของปัญหาสมานฉันท์กลับกลายเป็นกลุ่มพันธมิตรฯ


มันก็ปนๆ กัน เวลานี้เราแยกพันธมิตรฯ ออกจากคมช.และรัฐบาลอย่างเด็ดขาดไม่ได้ มันเป็นกระบวนการเดียวกันที่พัฒนามาจากการสร้างกลุ่มต่อต้านรัฐบาลที่แล้ว แล้วเรียกตัวเองว่า "พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย" ทั้งๆ ที่เรียกร้องหาเผด็จการ แล้วต่อมาจึงได้เผด็จการทหารมา แล้วก็ตั้งรัฐบาลตั้งกลไกของตนเองขึ้น ทำงานแบบร่วมมือกัน สั่งการกัน ตรงกันบ้าง ขัดแย้งกันบ้าง จึงควรจะมององค์กรเหล่านี้เป็นส่วนประกอบที่สำคัญของการปกครองปัจจุบัน


 


 


ผู้สื่อข่าว :  มองอย่างไรกับม็อบ "พีทีวี" และกลุ่ม "พิราบขาว" ฯลฯ ที่ถูกมองว่า ชุมนุมแบบล้ำเส้น เลยเถิด


ในส่วนของการชุมนุมขององค์กรอื่นๆ ไม่ว่าองค์กรใด พรรคไทยรักไทยมีความเห็นเพียงว่า ถ้าเขาชุมนุมหรือแสดงความเห็นโดยใช้สิทธิเสรีภาพและปฏิบัติตามกฎหมาย ก็ควรได้รับการคุ้มครอง ในส่วนของเนื้อหาสาระหากเกี่ยวกับการเรียกร้องประชาธิปไตย เรียกร้องเสรีภาพ เราก็อาจจะใช้คำว่า "เห็นด้วยหรือสนับสนุนในทางความคิดหรือหลักการ" ส่วนประเด็นนอกเหนือไปจากนี้ เราไม่มีความเห็น แต่ไม่ว่าจะเป็นเรื่องไหน เราไม่ไปเข้าร่วม และไม่ไปดำเนินการด้วยวิธีเดียวกัน


 


 


ผู้สื่อข่าว : ดูเหมือนหลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่า ม็อบที่เกิดขึ้นในขณะนี้เป็นการชุมนุมเพื่อรอเวลาให้พัฒนาไปถึงอนาคตที่จะมีคำตัดสินในคดียุบพรรค และการตรวจสอบทุจริตของ คตส.


            อันนี้พูดในฐานะพรรคไทยรักไทย เราไม่เห็นประโยชน์ และไม่ต้องการให้เกิดขึ้น มันไม่เห็นจะเป็นประโยชน์กับคดียุบพรรคหรือการตรวจสอบของ คตส.แต่อย่างใด และถ้าใครคิดว่าทำแล้วจะมีประโยชน์ต่อคดียุบพรรค เราก็จะบอกว่า อย่าทำเลย แต่เท่าที่สังเกตการชุมนุมเขาก็ไม่ได้พูดแบบนี้ ความเคลื่อนไหวสนับสนุนอดีตนายกฯ ทักษิณนั้นเป็นเรื่องของเขา ทางพรรคไม่ได้ไปสั่งการให้เกิดสิ่งเหล่านี้ และไม่อยู่ในจุดที่จะไปห้ามใครได้ พรรคไทยรักไทยมีความเห็นหรือนโยบายอย่างไร ทำการเมืองด้วยวิธีการอย่างไร เราพูดของเราชัดเจน แต่ท่ามกลางสถานการณ์นั้นอาจจะมีคนที่ไปเคลื่อนไหว ขณะเดียวกันก็เสนออะไรที่เป็นประโยชน์กับพรรคไทยรักไทยด้วย มันเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ แต่ไม่ใช่เป็นความประสงค์ของเรา กลุ่มองค์กรต่างๆ ที่เคยร่วมงานกับพรรคไทยรักไทยและเคลื่อนไหวอยู่ในขณะนี้ ปัจจุบันก็มีสถานภาพที่แตกต่างกันไป ซึ่งสังคมควรแยกแยะให้ได้ว่า มันไม่ใช่อันเดียวกันทั้งหมด มันมีจุดร่วมกันอยู่ที่การเรียกร้องประชาธิปไตยเหมือนกัน แต่ถ้าเขาไปเรียกร้องให้ล้ม คมช.หรือรัฐบาล พรรคไทยรักไทยไม่ได้มีนโยบายแบบนั้น


 


 


ผู้สื่อข่าว : ประเมินบทบาทของพรรคอย่างไรในช่วงเลือกตั้ง


ยังอีกหลายขั้นตอนมาก คาดการณ์ได้ยาก เวลานี้ต้องดูตั้งแต่ว่าพรรคไทยรักไทยจะอยู่ในสภาพอย่างไร เราเชื่อว่าคงไม่ถูกยุบ โดยดูจากพยานหลักฐาน ข้อเท็จจริง แต่ขณะเดียวกัน คมช.ก็พูดเรื่อยๆ ว่า เราต้องถูกยุบแน่ ก็ต้องดูว่าจะเกิดอะไรขึ้นในคดียุบพรรค จะเกิดอะไรหลังจากนั้น


 


อย่างไรก็ตาม เรามั่นใจว่าจะลงสมัครรับเลือกตั้งได้ในนามพรรคไทยรักไทย ผลการเลือกตั้งจะเป็นอย่างไร คาดการณ์ยากมาก ณ วันนี้เราไม่เชื่อเลยว่า การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นจะเป็นการเลือกตั้งที่มีความยุติธรรม หากสถานการณ์ยังเป็นอย่างนี้ โดยเฉพาะประกาศ คปค. 2 ฉบับ ยังไม่ได้รับการแก้ไข เราก็ไม่เชื่อว่าการเลือกตั้งนี้จะมีคุณภาพเท่าไรนัก คงสักแต่ว่ามีการเลือกตั้งเกิดขึ้น พรรคการเมืองก็ไม่ได้พัฒนานโยบาย ประชาชนก็ไม่รู้ว่าพรรคไหนมีนโยบายอย่างไร มันจะเป็นแบบเดิมว่า "เลือกตั้งทั้งที เลือกคนดีเข้าสภา" แต่ไม่รู้ว่าแต่ละพรรคจะมีนโยบายอย่างไร  


 


นอกจากนั้นในแง่ความยุติธรรม พรรคไทยรักไทยถูกมองเป็นศัตรูของ คมช. ถูกมองเป็นกลุ่มอำนาจเก่าที่ต้องทำลายล้าง ถูกห้ามการเสนอข่าวต่อสังคมโดยที่ คมช.เรียกตัวแทนสื่อมวลชนทั้งประเทศไปขอความร่วมมือแกมบังคับไม่ให้เสนอข่าวของพรรคไทยรักไทยฝ่ายเดียว แล้วมันจะเป็นการเลือกตั้งที่บริสุทธิ์ยุติธรรมได้อย่างไร นี่เป็นสมมติฐานข้อกังวลในวันนี้


 


แต่เราก็ยังหวังว่ากติกา ความพยายาม การกระทำที่ไม่ชอบธรรมทั้งหลายเหล่านี้จะถูกสังคมคัดค้าน แล้วก็ต้องยอมยกเลิกไป ถอยไปเสียบ้าง แล้วผลการเลือกตั้งจะเป็นอย่างไร คงต้องดูว่ากติกาเป็นอย่างไร เราได้รับความเป็นธรรมมากน้อยแค่ไหนมาประกอบด้วย ถ้ายังคงไม่เป็นธรรมอยู่อย่างนี้ก็จะเป็นการเลือกตั้งที่รู้ผลล่วงหน้า ถ้ามีความเป็นธรรมพอสมควร ให้เราได้แข่งแบบยุติธรรมพอสมควร เราก็ยังหวังว่า เราจะได้รับการสนับสนุนจากประชาชนจำนวนมาก แต่จะมากแค่ไหนคงยังบอกตอนนี้ไม่ได้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net