33 ศพ "เวอร์จิเนีย เทค" : ปืนไม่บ้า คนบ้า

จาก "silent reseach society"

18 เมษายน 2007

 

 

วันที่ 16 เมษายน 2550 หนังสือพิมพ์ลงข่าวนักศึกษามหาวิทยาลัย Virginia Tech ประเทศสหรัฐอเมริกาถูกสังหารเสียชีวิตทันที 32 ศพ จากมือปืนซึ่งเป็นนักศึกษาด้วยกันซึ่งภายหลังได้ฆ่าตัวตายเป็นคนที่ 33 นอกจากนั้นยังมีผู้บาดเจ็บอีกกว่า 20 คน

 

เมื่อสถานการณ์สงบลง เจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐาน เเละเจ้าหน้าที่ตำรวจระบุว่า ผู้ก่อเหตุคือนักเรียนปีสุดท้ายชาวเกาหลี ใช้ปืนพก Glock ขนาด 9 ม.ม. สองกระบอก พร้อมซองกระสุนสำรอง กราดยิงนักศึกษาร่วมมหาวิทยาลัย ส่งผลให้การสังหารหมู่ครั้งนี้เป็นฆาตกรรมที่มีผู้เสียชีวิตมากที่สุด เเม้ว่าการฆาตกรรมหมู่ในสถานศึกษาจะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เเต่ก็ไม่มีครั้งใดที่มีจำนวนผู้บาดเจ็บเเละเสียชีวิตมากเท่านี้

 

การนำเสนอข่าวจากสื่อมวลชนต่างประเทศ ยกประเด็นที่สำคัญมาสองประเด็น คือมิติด้าน "มนุษย์" และอีกด้านเกี่ยวกับเรื่อง "อาวุธ"

 

ประเด็นเเรก เมื่อนักข่าวทราบตัวว่า ผู้ก่อเหตุเป็นใคร ก็เกิดการทำข่าวเจาะลึกถึงเบื้องหลังของผู้ก่อเหตุ ปัจจัยด้านเชื้อชาติ จิตวิทยา เเละหาร่องรอยของความ "ผิดปกติ" ที่ทำให้นักศึกษาผู้นี้กระทำการดังกล่าวขึ้นมา

 

การค้นหาความป่วยไข้ของนักศึกษาผู้ก่อการ เริ่มจากการสัมภาษณ์เพื่อนร่วมหอพัก อาจารย์ที่สอนวิชาการเขียนเชิงสร้างสรรค์ เเละบุคคลเเวดล้อมเท่าที่จะหาได้

 

ผลการค้นพบเเทบจะบ่งชี้ได้ทันทีว่า นักศึกษาคนนี้ "ผิดปกติ" เพราะเขาเป็นคนเก็บตัว ไม่ค่อยมีใครรู้จัก ไม่พูดกับใคร เเละมักเขียนความเรียงที่ระบุถึงความรุนเเรง ต่อต้านสังคม เเละเหยียดนักศึกษาที่รวยเเละเหยียดผู้หญิง จนอาจารย์ผู้สอนต้องเเนะนำให้ไปพบที่ปรึกษาด้านสุขภาพจิต เเละรับประทานยาต้านอาการซึมเศร้า ส่วนเพื่อนๆ เองก็วิตกกังวลว่า เขาจะก่อเหตุรุนเเรงเช่นนี้สักวัน [1]

 

นอกจากนี้ยังมีการเเสดงความคิดเห็นในเว็บบอร์ดว่า จริงๆ เเล้วยังมี "คนบ้า" อีกมากมายที่พร้อมจะทำอันตรายคนอื่น เเม้จะไม่มีปืนในมือ ก็จะหา "อาวุธอื่น" มาทำร้ายผู้คนจนได้ ดังนั้นจึงเสนอให้มีตรวจสอบประวัติ เพื่อให้เเน่ใจว่า คนผิดปกติทางจิต จะไม่ได้รับอนุญาตให้ซื้อเเละครอบครองอาวุธปืน [2]

เมื่อเจ้าหน้าที่ตรวจดูใบเสร็จรับเงินจากร้านค้าที่ขายปืนให้กับเขา เเละระบุผู้ขายได้ นักข่าวจึงสัมภาษณ์ผู้ขายอาวุธให้กับเขา

 

จอห์น มาร์เคลล์ เจ้าของร้าน Roanoke Firearms กล่าวว่า ร้านของเขาขายปืนพก Glock เเละกระสุนซ้อมกล่องหนึ่งให้นักศึกษาผู้ก่อเหตุ เมื่อ 36 วันที่เเล้วในราคา 571 เหรียญสหรัฐ

"เขาเป็นเด็กดี ดูเรียบร้อย เราจะไม่ขายปืนให้ ถ้าเราคิดว่า การซื้อมีเลศนัย [3] "

 

ประเด็นที่สอง นักข่าวเเละสำนักข่าวจำนวนไม่น้อย รายงานข่าวเรื่องการควบคุมอาวุธปืนในสังคม ซึ่งเป็นประเด็นที่ถกเถียงกันมานานในสังคมอเมริกา โดยเปรียบเทียบอัตราการฆาตกรรมระหว่างประเทศพัฒนา เเล้วที่มีการควบคุมอาวุธปืน กับสหรัฐอเมริกา (ซึ่งการซื้อเเละครอบครองอาวุธปืน เป็นสิทธิเสรีภาพที่ได้รับการรับรองในรัฐธรรมนูญ กระเเสควบคุมอาวุธเอง ก็ได้รับการต่อต้านจากกลุ่มนักล็อบบี้ของสมาคมปืนไรเฟิลเเห่งชาติ หรือ National Rifle Association: NRA)

 

ข่าวกลุ่มนี้มักเสนอว่า "สังคมที่มีปืนเกลื่อนกลาด เเละเข้าถึงได้ง่าย ย่อมเพิ่มความเสี่ยงให้กับการใช้อาวุธปืนมากขึ้น" [4]

 

ข่าวทั้งสองเเง่นำเสนอความป่วยไข้ของคนเเละสังคม จากมุมมองของ "อุปลักษณ์สุขภาพ" ของความป่วยไข้ ของสังคมที่อาจสะท้อนมาในร่างกายของปัจเจก (ภาษาไทยโปรดดู ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ [5])

มุมมองเช่นนี้มักจะค้นหาร่องรอยของความ "ผิดปกติ" ที่ไม่ลงรอยกับความคาดหวังของสังคม เพื่อสืบสาวไปถึงโครงสร้างทางสังคมที่ "หล่อหลอม" เเละวัฒนธรรมที่รองรับเเละสร้างที่ฟักตัวของความป่วยไข้นั้น

 

ความป่วยไข้ของผู้ก่อการรายล่าสุด จากมุมมองของเพื่อนนักศึกษาเห็นว่า นักศึกษาที่ก่อเหตุในกรณีนี้ี เเละกรณีอื่นๆ สามารถอยู่ในสังคมได้ ไม่ได้หลุดมาจากโรงพยาบาลบ้า สามารถทำตัวดูเหมือนคนปกติ "เป็นเด็กดี เเละดูเรียบร้อย" ไปซื้ออาวุธได้โดยผู้ขายไม่ได้ตั้งข้อรังเกียจเเละสงสัย เเละน่าจะสามารถผ่านการทดสอบการคัดกรอง "คนปกติ" ที่มีคุณสมบัติเพียงพอจะครอบครองอาวุธได้

 

อาการบ่งชี้ความป่วยไข้ ที่นำเสนอในข่าวว่าเป็นคนที่ชอบเขียนบทความที่ส่อเเสดงการนิยมรุนเเรง เเละ การใช้ยาเเก้ซึมเศร้า ก็เป็นประเด็นที่ไม่ได้อยู่ในการพิจารณาความเหมาะสมในการซื้อเเละครอบครอง อาวุธ ทั้งการใช้ยาเเเก้ซึมเศร้าก็เเทบจะเป็นเรื่องปกติในสังคมอเมริกัน ที่อารมณ์ไม่พึงประสงค์ต่างๆ สามารถควบคุมได้โดยการใช้ยา

 

อุปลักษณ์ความ "ป่วยไข้" เเบบคาบเส้นเเละไม่่เเสดงอาการในบางพื้นที่ของนักศึกษาผู้นี้ จึงไม่ใช่ความป่วยไข้ที่เเสดงอาการออกมาอย่างชัดเจน จนทำให้เขาถูกส่งเข้าสถานบำบัด หรือทำให้เจ้าของร้านปฏิเสธที่จะขายอาวุธให้ การวัดอาการป่วยไข้ที่ไม่ได้เเสดงออกทางร่างกาย จึงไม่สามารถวัดได้ที่ท่าทาง กริยา หรือหน้าตา หรือเเม้กระทั่งการตรวจสอบประวัติอาชญากรรม

 

ปัญหาของการสร้างเกณฑ์การตัดกรองผู้ที่เหมาะสมในการครอบครองอาวุธปืน ก็คือร่างที่ป่วยไข้มักจะไม่เเสดงออกในลักษณะ "ผู้ร้ายโรคจิต" ที่เห็นในภาพยนตร์

 

เเละความป่วยไข้ของบุคคลก็มักจะถูกโยนให้เป็นภาระของ "ครอบครัว" เป็นอันดับเเรก ครอบครัวจะถูกขุดคุ้ย วิจัย สำรวจ ว่าได้บ่มเพาะ "ฆาตกร" มาอย่างไร เป็นความจริงที่ว่า บางครอบครัวมีสภาพเหมาะกับสูตรสำเร็จของ "บ้านสร้างนักฆ่า" เเต่บางครอบครัวอาจจะไม่ตรงตามสูตรดังกล่าว ขึ้นอยู่กับเเว่นเเละวิธีวิทยาของผู้มอง ในขณะที่ครอบครัวอาจจะไม่สังเกตเห็นความป่วยไข้ ที่อาจเกิดในพื้นที่อื่นๆ เช่นที่โรงเรียน ที่ทำงาน เป็นต้น คนที่มีท่าทางรักสงบ เป็นปกติในที่หนึ่ง อาจจะเป็นคนชอบใช้ความรุนเเรงในอีกที่หนึ่งก็ได้

 

การสร้างภาพเหมารวม ตายตัว ของสังคม ครอบครัว เเละวัฒนธรรมเฉพาะกลุ่มที่ "บ่มเพาะ"คนเหล่านั้น เป็น "สูตรสำเร็จ" เช่น สูตรสำเร็จของนักเรียน/ นักศึกษาที่คว้าอาวุธมายิงกราดเพื่อนร่วมสถาบันด้วยกัน มักถูกสรุปเเละลดทอนว่า เป็นคนเงียบๆ เก็บตัว มีพฤติกรรม รุนเเรง มาจากพื้นเพยากจน และเป็นคนกลุ่มน้อย หรือชายขอบในสังคม

 

หากการวิเคราะห์หยุดลงเพียงเท่านี้ ก็เท่ากับละเลยร่างทางสังคม เเละวัฒนธรรมที่ป่วยไข้ เเน่นอนว่าหากสังคมมีร่างทางสังคม/วัฒนธรรม คำว่า "ร่าง" น่าจะเป็นพหูพจน์ มีร่างหรือพื้นที่ทางสังคมที่ "สุขภาพดี" ปะปนกับร่างที่มี "สุขภาพเสื่อมโทรม" อันเป็นบ่อเกิดเเห่งโรค สังคมสามารถดำเนินการกับร่างที่เจ็บป่วยได้หลายรูปแบบ ทั้งรักษา โอบอุ้ม เเละผลักไส

 

ด้วยความกลัวว่าจะเกิดปฏิกริยาต่อผู้คนที่ร่วมร่างทางสังคมของความเป็น "เกาหลี" ในอเมริกา หลังเกิดเหตุ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศเกาหลีใต้ได้ออกมาเเถลงว่า "เหตุการณ์นี้คงไม่ก่อให้เกิดอคติเเละการเผชิญหน้าทางเชื้อชาติ [6] "

 

เเล้วร่างทางสังคมเเละวัฒนธรรมเเบบใดที่ก่อให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ซ้ำเเล้วซ้ำเล่าเป็นประจำเเทบทุกปี?  สำนักข่าวเอพี สรุปว่า

 

ในขณะที่บางคนโทษผู้ยิง ทัศนคติจากทั่วโลกต่อกฎหมายอาวุธปืนในสังคมอเมริกันสะท้อนว่า การเข้าถึงปืนเพิ่มความเป็นไปได้ที่จะใช้ปืน ไม่มีใครเห็นด้วยกับข้อเสนอว่า หากมีปืนมากขึ้น นักศึกษาน่าจะไม่เสียชีวิตมากขนาดนี้ เพราะนักศึกษาอาจใช้ปืนยิงสกัดผู้ก่อเหตุก่อนได้

 

ข่าวเดียวกันเสนอว่าหนังสือพิมพ์ในเม็กซิโกพาดหัวว่า "อเมริกา [ตาย] 33 เม็กซิโก [แก๊งค์ค้ายายิงกัน ตายเเค่] 20" [7]

 

ร่างทางสังคมเเบบไหนที่ทำให้อเมริกา "ชนะขาด" ในพาดหัวข่าวนี้ บรรดานักเรียน นักศึกษา ที่ยิงเพื่อนร่วมสถานศึกษาอาจจะ "ป่วย" มาจากครอบครัว "ไม่สมบูรณ์" เเละสังคมที่ "กีดกัน ดูถูก เหยียดหยาม ความเป็นอื่น" พวกเขาอาจเป็น "ฆาตกรวัยรุ่น" ที่เชื่อใน "ความรุนเเรง" ในฐานะ "การยืนยันอัตลักษณ์เพศชาย"


เเล้วเราจะเรียกสังคมที่สามารถซื้อปืนได้ในห้างสรรพสินค้าราวกับว่าเป็น "warmart [sic.]" หรือสังคมที่มีวุฒิสมาชิกที่บอกทันทีว่า "อย่าเพิ่งรีบตัดสินเรื่องเเก้กฎหมายอาวุธให้เข้มงวด " [8] สังคมที่มีกลุ่มล็อบบี้เพื่อรักษาเสรีภาพในการครอบครองอาวุธ เเละต่อต้านการตั้งข้อจำกัดใดๆ ก็ตามที่รัฐธรรมนูญรองรับ ราวกับว่าสังคมยังไม่ก้าวพ้นยุค "สภาพธรรมชาติ" หรือยุคไร้กฎหมาย ว่าเป็นสังคม "ป่วยคาบเส้น" ได้หรือไม่

 

ร่างทางสังคมที่ "ป่วยคาบเส้น" นี้ มีมายาคติว่า "ปืนไม่ได้ฆ่าคน เเต่คนนั่นเเหละที่ฆ่าคนกันเอง" หรือ "ปืนไม่ผิด คน [ป่วยทางจิต] ผิด" ทำให้ไม่สามารถมองข้ามความเชื่อมโยงระหว่างสังคม เเละวัฒนธรรมที่ส่งเสริมการใช้ความรุนเเรง มองข้ามกลไกทางการค้าที่ทำให้เครื่องมือช่วยให้ความรุนเเรงบรรลุผลได้ง่าย ขึ้น รุนเเรงมากขึ้น เเละหาได้ง่ายขึ้น

 

การลดทอนเเละผลักไสคนที่ใช้ปืนก่อเหตุเป็น "คนบ้า/ ป่วย/ สติไม่ดี" มาจากครอบครัวยากจน เป็นคนชายขอบ จากร่างทางสังคมของชนชั้นที่ป่วยไข้ แม้จะเป็นเรื่องจริงที่ปฏิเสธไม่ได้

 

เเต่หากเราหยุดเท่านั้น การสร้างอุปลักษณ์ความป่วยไข้ของบุคคลและครอบครัวธำรงสถานะของคนที่ผลิตปืน เจ้าของโรงงานผลิตอาวุธ เเละกลุ่มผลประโยชน์ ให้เป็นคนที่สมบูรณ์ด้วยสติสัมปะชัญญะ เป็นร่างกายที่สมบูรณ์ของสังคม และเเพร่ระบาดส่งผลกระทบไปทั่วทั้งสังคม ซ้ำกำลังจะชูเเคมเปญ "ซื้อปืนป้องกันตัว เพราะสังคมไม่ปลอดภัย" เพิ่มยอดขายกันอีกครั้งหนึ่ง เเทนที่จะวางมือจากผลประโยชน์บ้าง เเล้วหันมาเยียวยาความป่วยไข้ของคน สังคมเเละวัฒนธรรม ให้ปลอดภัย

 

นี่ก็คืออาการ "ป่วยคาบเส้นทางจิต" ที่มองไม่เห็น ใช่หรือไม่

 

ท่ามกลางเสียงเรียกร้องให้ติดอาวุธเพื่อเยียวยาสถานการณ์ในภาคใต้ ประเทศไทยคงจะตามเทรนด์นี้ไปติดๆ

 

 

 

…………………………………………….


[1] สำนักข่าว เอ พี "Va. Tech gunman writings raised concerns" (งานเขียนของมือปืนสร้างความหวาดวิตก) ที่ http://news.yahoo.com/s/ap/virginia_tech_shooting;_ylt=Au0FGm6L2z1wAS8gcphILNim1OFF เเละ รอยเตอร์ ""Loner" student blamed for Virginia Tech shooting" นักศึกษา "ชอบทำตัวโดดเดี่ยว" ก่อเหตุใน Virginia Tech) ที่ เป็นต้น

 

[2] เช่น "Maniacs that run amok with guns will choose other means if they don"t have guns, like a Ryder truck full of fertilizer. When you"re tackling this issue, try to come up with ideas to identify and adjust these maniacs early (like, where were this shooter"s family and friends, if any?). Some small % of humanity will always turn wolf, guns are not part of that issue.
However, I believe that harsh and draconian sentencing should start to be applied to anyone who commits a crime with a gun. Background checks on anyone buying guns should be highly extensive and easy to fail. Large accumulations of guns (eg: Waco) should not be legal"[…] ความคิดเห็นของ Dan Stackhouse ใน http://thecaucus.blogs.nytimes.com/2007/04/16/virginia-tech-and-gun-control/

 

[3] สำนักข่าว เอ พี "Va. Tech gunman writings raised concerns" (อ้างเเล้ว)

 

[4] เช่น หนังสือพิมพ์ LA Times "Gun control debate resumes, on one side anyway" http://www.latimes.com/news/la-na-gunlaw17apr17,1,6144169.story เเละ AP "U.S. gun laws draw heat after massacre" http://news.yahoo.com/s/ap/20070418/ap_on_re_eu/virginia_tech_world_view

[5] ชัยวัฒน์ สถาอานันท์. (2546) "อุปลักษณ์เชิงสุขภาพ/ สันติภาพเชิงวิพากษ์" เเละ "ทั้งเป็น "เหยื่อ" เเละ "ฆาตกร"?: สู่ทฤษฎีทั่วไปว่าด้วยความรุนเเรงในสังคมไทย" ใน อาวุธมีชีวิต (อ้างเเล้ว) หน้า 206-212 เเละ 81-113

 

[6] AP "U.S. gun laws draw heat after massacre" (อ้างเเล้ว)

 

[7] AP (เพิ่งอ้าง) มุมมองจากประเทศอื่นๆ อาจหาได้จาก Washington Post "Shock, Sympathy And Denunciation Of U.S. Gun Laws" ที่ http://www.washingtonpost.com/wp-dyn/content/article/2007/04/16/AR2007041601871.html?hpid=sec-world?hpid=sec-world

 

[8] AP "Reid warns against rush on gun control" ที่ http://news.yahoo.com/s/ap/virginia_tech_gun_control;_ylt=AhpMjVAFsYGO7GcBeTSux9hbbB

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท