Skip to main content
sharethis

กอ.รมน.ภาค4 รับหน้าเสื่อ ดันกฎหมายรองรับแนวร่วมป่วนใต้กลับใจ ฟื้นแนวทาง "มาตรา17 สัตตะ กฎหมายคอมฯ" กลับมาใช้ ถ้ามอบตัวเป็นหมู่คณะ เตรียมตั้งหมู่บ้านให้อยู่


 


พ.อ.อัคร ทิพย์โรจน์ โฆษกกองทัพบก เปิดเผยว่า ขณะนี้กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 กำลังศึกษาความเป็นไปได้ ทั้งด้านข้อกฎหมาย ข้อดีข้อเสีย ในการรื้อฟื้นแนวทางตามมาตรา 17 สัตตะ พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ พ.ศ. 2495 มาใช้รองรับการเข้ามอบตัวของกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตามที่พล.ท.วิโรจน์ บัวจรูญ แม่ทัพภาคที่ 4  ในฐานะผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 เสนอต่อนายกรัฐมนตรี จากนั้นจะนำเข้าพิจารณาในกองอำนวยการรักษาความมั่นคง ก่อนจะนำเสนอให้คณะรัฐมนตรีดำเนินการต่อไป


 


พ.อ.อัคร กล่าวด้วยว่า เนื่องจากพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ พ.ศ. 2495 ถูกยกเลิกไปแล้ว ถ้าจะนำแนวทางดังกล่าวกลับมาใช้ใหม่ อาจจะต้องออกเป็นพระราชบัญญัติ หรือพระราชกำหนด ซึ่งขึ้นอยู่กับกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ทั้งนี้ การดำเนินการต้องเร็ว เพราะเป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วน ส่วนจะตั้งหน่วยงานใหม่ขึ้นมาดูแลผู้ออกมามอบตัวหรือไม่ ยังตอบไม่ได้ ไม่ว่ากระบวนต่างๆ จะออกมาแบบใดก็ตาม ทั้งหมดก็ยังต้องอยู่ภายใต้โครงสร้างของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ต่อไป


 


"ในขั้นต้นทุกฝ่ายเห็นด้วย เพราะเป็นความประสงค์ของฝ่ายปฏิบัติการ ส่วนจะมีรูปแบบอย่างไรนั้น จะต้องปรึกษาผู้รู้อีกครั้งว่า กระบวนการควรจะเป็นอย่างไร ส่วนเรื่องกลไกทางกฎหมาย คงต้องปรึกษากับกระทรวงยุติธรรมด้วย" พ.อ.อัคร กล่าว


 


พ.อ.อัคร กล่าวว่า สำหรับคนที่เข้ามามอบตัวตามเงื่อนไขนี้ ต้องมีการตรวจสอบว่า มีความเป็นมาอย่างไร ในอดีตผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ที่ออกมามอบตัว ตามมาตรา 17 สัตตะ จะถูกนำไปสอบถามยังศูนย์ซักถามของตำรวจสันติบาล ที่ถนนเศรษฐศิริ เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร ซึ่งในกรณีของจังหวัดชายแดนภาคใต้ อาจให้ศูนย์ซักถามค่ายอิงคยุทธบริหาร อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี ทำหน้าที่ซักถามต่อ


 


"ไม่ว่าผู้ที่เข้ามามอบตัวจะเป็นอย่างไร หรือจะมาแบบไหน ทางรัฐต้องเข้าไปดูแล ให้ความช่วยเหลือ ทั้งเรื่องการดำรงชีวิต การคุ้มครองและรักษาความปลอดภัยให้ดีที่สุด ถ้ามาเป็นหมู่คณะ ก็อาจจะจัดที่อยู่อาศัยในสถานที่ปลอดภัย เช่น ตั้งหมู่บ้านให้อยู่ร่วมกัน คล้ายหมู่บ้านสตรีหม้ายของสมเด็จพระบรมราชินีนาถ" พ.อ.อัคร กล่าว


 


 


มาตรา 17 สัตตะ


"มาตรา 17 สัตตะ" เป็นตัวบทที่บัญญัติไว้ใน "พระราชบัญญัติป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ พ.ศ. 2495" ประกาศใช้เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2495 ปัจจุบันพระราชบัญญัติฉบับนี้ ถูกยกเลิกไปแล้ว สำหรับมาตรา 17 สัตตะ มีเนื้อหา ดังต่อไปนี้...


 


"ในกรณีที่มีการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ ถ้าพนักงานสอบสวนเห็นว่า ผู้ต้องหาคนใดได้กระทำความผิดดังกล่าวเพราะหลงผิด หรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์ หรือมีเหตุที่ไม่สมควรดำเนินคดีกับผู้ต้องหาคนใด ให้พนักงานสอบสวนส่งสำนวนสำหรับผู้ต้องหาคนนั้น พร้อมทั้งความเห็นไปยังผู้อำนวยการป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ ซึ่งมีเขตอำนาจ เหนือท้องที่ที่มีการสอบสวน


 


"ถ้าผู้อำนวยการป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ตามวรรคหนึ่ง เห็นชอบด้วยกับความเห็นของพนักงานสอบสวน ว่าไม่สมควรดำเนินคดีกับผู้ต้องหา ให้ผู้อำนวยการป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์กำหนดเงื่อนไขให้ผู้ต้องหาปฏิบัติแทนการถูกฟ้องคดี โดยให้ผู้ต้องหาดังกล่าวเข้ารับการอบรม ณ สถานที่ที่กำหนดเป็นเวลาไม่เกินหกเดือน และจะกำหนดเงื่อนไข ให้มารายงานตัวต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เป็นครั้งคราวตามที่กำหนดภายหลังการอบรมแล้วด้วยก็ได้ แต่จะกำหนดระยะเวลาที่ให้มารายงานตัวเกินหนึ่งปีไม่ได้


 


"การกำหนดเงื่อนไขให้ผู้ต้องหาปฏิบัติแทนการฟ้องคดีตามวรรคสอง จะกระทำได้ ต่อเมื่อผู้ต้องหายินยอมปฏิบัติตามเงื่อนไขแล้ว และเมื่อผู้ต้องหาได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขครบถ้วนแล้ว จะฟ้องผู้ต้องหาสำหรับการกระทำที่ต้องหานั้นอีกไม่ได้"


 


[ทั้งนี้ มาตรา 17 สัตตะ เพิ่มความโดยคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 25 ลงวันที่ 17 ตุลาคม พ.ศ.2519]

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net