Skip to main content
sharethis


 


ประชาไท - โครงการรณรงค์ระดมความคิดเห็นต่อการปฏิรูปการเมืองและรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของภาคประชาชนภาคเหนือ มูลนิธิพัฒนาศักยภาพชุมชน และโครงการการมีส่วนร่วมในการร่างรัฐธรรมนูญในสถาบันการศึกษา มูลนิธิสถาบันวิชาการ 14 ตุลา ได้ร่วมกันจัดค่ายสัมมนาแกนนำนักศึกษาขึ้นเพื่อแนะนำแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับพื้นฐานการเมือง , ประชาธิปไตย และรัฐธรรมนูญ


 


โดยค่ายแรกได้จัดขึ้นที่สมาคมสร้างสรรค์ชีวิตและสิ่งแวดล้อมม่อนแสงดาว อ.เมือง จ.เชียงราย เมื่อวันที่ 22-23 เมษายน 2550 ที่ผ่านมาโดยมีวิทยากรหลายท่านได้มาบรรยายให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องการเมือง ประชาธิปไตยและพลังของคนหนุ่มสาว  


 


ในหัวข้อ "บทบาทนักศึกษาและคนหนุ่มสาวต่อการเมืองและสังคมไทย" นายทรงศักดิ์ ปัญญาดี นศ.ปริญญาโท ภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้บรรยายถึงประวัติศาสตร์การเมืองไทยหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองปี พ.ศ. 2475 จนถึงปัจจุบันรวมถึงอธิบายถึงการเคลื่อนไหวของขบวนการนักศึกษาไทยในช่วงประวัติศาสตร์


 


นายทรงศักดิ์ ปัญญาดี ได้อธิบายถึงกระบวนการที่ทำให้นักศึกษาเกิดความแปลกแยกออกไปจากความเป็นเนื้อในของสังคมและการขาดหายไปในการต่อสู้เพื่อสังคมในสถานการณ์ปัจจุบัน ว่าเป็นผลอันเกิดจากการที่เศรษฐกิจของไทยดีขึ้น นักศึกษาไม่รู้สึกว่าเป็นหนี้สังคม ไม่รู้สึกเป็นหนี้เงินภาษีของประชาชน รู้สึกว่าพ่อแม่ของตนเป็นผู้ส่งเสียให้เรียนเท่านั้น


 


ทั้งนี้นายทรงศักดิ์ ปัญญาดี ยังตั้งคำถามแก่นักศึกษาที่เข้าร่วมฟังการบรรยายว่า พลังบริสุทธิ์ของนักศึกษาคืออะไร? และยังคงอยู่หรือไม่? พร้อมกับเสนอให้นักศึกษาประเมินศักยภาพของตนเอง, เปิดโอกาสศึกษาและขวนขวายหาความรู้นอกตำรา ทั้งนี้เพื่อเชื่อมโยงปัญหายิบย่อยเข้ากับโครงสร้างปัญหาที่ใหญ่กว่า เพื่อนำไปสร้างสรรค์กิจกรรมการเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่ในอนาคต


 


หัวข้อ "บทบาทนักศึกษาและคนหนุ่มสาวทั่วโลกต่อการเมืองและสังคม" นายวิทยากร บุญเรือง คอลัมนิสต์จากประชาไท ได้บรรยายถึงขบวนการนักศึกษาเพื่อประชาธิปไตย ( Students for a Democratic Society : SDS ) ที่เกิดขึ้นในยุค 1960"s และหวนกลับขึ้นมาเบ่งบานอีกครั้งเมื่อปีที่แล้ว


 


นายวิทยากร ได้อธิบายว่าการต่อสู้ของขบวนการนักศึกษาในระดับสากลเกิดจากภาวการณ์ที่คนรุ่นใหม่ได้ตั้งคำถามแก่สังคมในแต่ละยุคสมัยนั้น แล้วนำมาเชื่อมโยงกับตนเอง คนรอบข้าง และสังคม ไม่ว่าจะเป็น สงครามเวียดนามในยุค 1960"s -สงครามอิรักในยุคปัจจุบัน , แนวคิดฝ่ายซ้ายเฟื่องฟู 1960"s -และแนวคิการต่อต้านนโยบายเสรีนิยมใหม่ในยุคปัจจุบัน ว่าสิ่งเหล่านั้นมันกระทบกับใครบ้าง? เราควรทำอย่างไร? และนั่นคือเหตุผลที่นักศึกษาต้องออกมาเคลื่อนไหวเพื่อความเป็นธรรม


 


ทั้งนี้นายวิทยากร ได้สนับสนุนให้นักศึกษาออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องในประเด็นใดก็ได้ที่เหล่านักศึกษาเองเห็นว่าเป็นปัญหา แต่สิ่งที่ต้องเตรียมก็คือ "ภาษา" ในการอธิบายเหตุผลของการเคลื่อนไหวเหล่านั้นเอาไว้ให้สมเหตุสมผลด้วย


 


ส่วนหัวข้อ "การเมืองเรื่องรัฐธรรมนูญ" อาจารย์เจษฎา โชติกิจภิวาทย์ ผู้อำนวยการโครงการพื้นที่ทางสังคมฯ ได้บรรยายถึงประวัติศาสตร์การเมืองไทยรวมถึงความสำคัญของการเมืองที่ต้องผลักดันโดยประชาชนอย่างจริงจัง ทั้งนี้อาจารย์เจษฎา โชติกิจภิวาทย์ ยังได้ฝากถึงนักศึกษาคนรุ่นใหม่ให้หันมาสนใจปัญหาทางสังคม-การเมืองให้มากขึ้น


 


โดยกิจกรรมในค่ายนอกจากจะมีการให้ความรู้จากการบรรยายของวิทยากรแล้ว ยังมีกิจกรรมอื่นๆ อาทิ การร่วมระดมความคิดบทบาทของนักศึกษาต่อปัญหาการเมืองไทยและรัฐธรรมนูญ, การร่วมเสนอข้อเสนอรัฐธรรมนูญที่พึงปรารถนา, การร่วมชมสารคดี เหตุการณ์การอภิวัฒน์ 2475, เหตุการณ์ 14 ตุลาและ 6 ตุลา, เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ รวมถึงการเล่าเรื่องคนหนุ่มสาวกับการแสวงหาและประวัติศาสตร์การต่อสู้ของคนหนุ่มสาว ผ่านบทเพลง เป็นต้น


 


ทั้งนี้โครงการจัดค่ายสัมมนาแกนนำนักศึกษาเพื่อแนะนำแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับพื้นฐานการเมือง, ประชาธิปไตย และรัฐธรรมนูญ นี้จัดขึ้นเป็นค่ายแรกของปี และจะมีขึ้นอีกต่อจากนี้ไปในหลายสถาบันการศึกษาในภาคเหนือ ซึ่งประชาไทจะติดตามมารายงานต่อไป


 


0 0 0


 


คนรุ่นใหม่ทำไมถึงสนใจการเมือง? ( จากค่ายสัมมนาแกนนำนักศึกษาจังหวัดเชียงราย )


 


 



 


นายเมธา แสนมหายักษ์ (เบสท์) พึ่งจบมัธยมศึกษาปีที่ 6 จากโรงเรียนสามัคคีวิทยาคม จ.เชียงราย


 


ประชาไท : คิดยังไงถึงมาสนใจเรื่องการเมือง?


เบสท์ : เพราะรู้สึกว่าการเมืองไทยตั้งแต่อดีด-ปัจจุบันไม่ถูกใจเรา การพัฒนาของประเทศยังไปไม่ถึงไหน ทั้งๆที่เราถูกแขวนให้เป็นประเทศกำลังพัฒนามานาน ตอนนี้เวียดนามแซงเราไปแล้ว ... เริ่มสนใจมาตั้งแต่ ม.3 ตอนนั้นแม่เป็นหนี้ ผมเลยไปอ่านกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาสู้ช่วยแม่ ช่วงแรกสนใจนิติศาสตร์ก่อน แต่เมื่อเราเรียนรู้มาเรื่อยๆ จึงมารู้ว่าปัญหามันเป็นเรื่องการเมือง ที่นายทุนเอาเปรียบคนอื่น


 


ประชาไท : ในความเข้าใจของเรา รัฐธรรมนูญคืออะไร?


เบสท์ : มันคือกฎหมายสูงสุดที่ประชาชนต้องทำตาม


 


ประชาไท : แล้วใครควรมีส่วนร่วมในการเขียนมัน?


เบสท์ : ถ้าเป็นไปได้อยากให้ทุกคนมีส่วนร่วมร่าง เด็ก-ผู้ใหญ่-คนแก่ รวมถึงทุกอาชีพจะได้เห็นปัญหาทุกๆ ด้าน แต่เมื่อไปร่างหมดทุกคนไม่ได้ ก็ต้องมีตัวแทนจากทุกภาคส่วนไปช่วยร่าง  ในกระบวนการร่างนั้นประชาชนก็ต้องรับรู้ว่าทำอะไรกันบ้าง  ในเมื่อเราไม่ได้ไปร่าง อย่างน้อยที่สุดก็ขอให้ได้รู้บ้าง


 


นางสาววริศรา ธนะบูรณ์ (จุ้ย) นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงใหม่


 


ประชาไท : ทำไมถึงมาสนใจเรื่องการเมือง?


จุ้ย : อย่างแรกคือเคยทำงานเพื่อสังคมมาหลายอยู่หลายด้าน (วัฒนธรรม,เอดส์,สิ่งแวดล้อม) เลยอยากทำสิ่งที่มันแตกต่างกันออกไปบ้าง ทั้งนี้การเมืองเป็นเรื่องสำคัญ ไม่มีการเมืองก็ไม่มีใครบริหารประเทศ


 


ประชาไท : หลังการทำการรัฐประหาร สนใจการเมืองเพิ่มมากขึ้นหรือไม่?


จุ้ย : สนใจมากขึ้นกว่าเดิม ติดตามข่าวสารโดยเฉพาะสื่อหนังสือพิมพ์มากขึ้น ในเรื่องรัฐธรรมนูญก็ติดตาม เพราะอยากรู้เรื่องเกี่ยวกับสิทธิเด็กและสตรีในรัฐธรรมนูญฉบับนี้


 


นางสาวเบญจพร หอมดอก (กวาง) นักศึกษาจากจังหวัดน่าน


 


ประชาไท : คิดว่าสังคมไทยปัจจุบันเห็นความสำคัญกับกลุ่มชาติพันธุ์มากน้อยแค่ไหน?


กวาง : ในอดีตเขาไม่เคยคิดถึงกลุ่มชาติพันธุ์กันเลย ตอนนี้ก็เห็นนิดหน่อย เหมือนเป็นเสียงเล็กๆ ที่ออกมาพูด


 


ประชาไท : คนรุ่นใหม่กลุ่มชาติพันธุ์ควรหันมาสนใจเรื่องการเมืองหรือไม่? เพราะอะไร?


กวาง : ควร เพราะว่าการเมืองเป็นเรื่องสำคัญ เป็นเรื่องที่เราสามารถเรียนรู้เพื่อมาเป็นบทเรียนและแนวทางในการต่อสู้เพื่อเรียกร้องสิทธิของพวกเรา


 


ประชาไท : อยากให้กลุ่มชาติพันธุ์มีส่วนร่วมกับการร่างรัฐธรรมนูญหรือไม่?


กวาง : อยากให้ชนเผ่ามีส่วนร่วมในครั้งนี้ ครั้งหน้า และครั้งต่อไป ( หากจะมีการร่างอีก ) เพราะกลุ่มชาติพันธุ์ก็มีตัวตนอยู่ในประเทศนี้ ... ซึ่งที่ผ่านมาแทบจะไม่มีส่วนร่วมเลย


 


นางสาวนันทวัน ใจมูลมั่ง (กิ๊ฟ) นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง


 


ประชาไท : คิดว่าการมีส่วนร่วมในการร่างรัฐธรรมนูญในสถาบันการศึกษาคืออะไร?


กิ๊ฟ : คือการให้นักศึกษาได้แสดงความคิดเห็นว่ามันควรเป็นอย่างไร ให้นักศึกษาได้แลกเปลี่ยนความเห็นออกไปด้วย ไม่ใช่ให้นักศึกษามานั่งฟังอย่างเดียวว่าเขาทำอะไรกัน และรัฐธรรมนูญน่าจะหืทุกคนมีส่วนร่วม เพราะมันเป็นกฎหมายสูงสุด


 


ประชาไท : หลังการทำการรัฐประหาร สนใจการเมืองเพิ่มมากขึ้นหรือไม่?


กิ๊ฟ : สนใจมากขึ้น และหลังออกจากค่ายนี้ไปก็คงจะสนใจเพิ่มมากขึ้นอีก โดยเฉพาะประเด็นของรัฐธรรมนูญ


 


ประชาไท : คิดยังไงกับนักศึกษาในปัจจุบันที่ไม่ตื่นตัวในเรื่องของการเมือง


กิ๊ฟ : น่าจะสนใจกันให้มากกว่านี้ และอยากให้มีกิจกรรมแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับเรื่องการเมืองเพิ่มมากขึ้น.


 

 







 


ตัวอย่างข้อเสนอ "รัฐธรรมนูญที่พึงปรารถนา" จากค่ายสัมมนาแกนนำนักศึกษาจังหวัดเชียงราย


 



  • ต้องการรัฐธรรมนูญที่ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างจริงจัง
  • รัฐธรรมนูญต้องครอบคลุมคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนทุกคน
  • ต้องตรวจสอบบัญชี การเงิน-ทรัพย์สิน ของบุคคลที่มาดำรงตำแหน่งทางการเมืองและข้าราชการ
  • เก็บภาษีในอัตราก้าวหน้า
  • ช่วยเหลือคนว่างงาน , เพิ่มสวัสดิการให้แก่แรงงาน
  • ให้สิทธิเสรีภาพแก่ทุกเพศ ( ชาย,หญิง,เพศที่ 3 )
  • ทำให้สื่อออกจากการครอบงำของอำนาจรัฐ
  • ต้องการนายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้ง
  • ต้องการรัฐธรรมนูญที่ทำให้ทุกคนในประเทศเท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะเป็นเชื้อชาติ ชนเผ่า
  • ฯลฯ

 


 


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net