แผนถอนทหารจากอิรัก?! รู้จักลิเกเดโมแครต (ตอน 2)

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

: The Real War

อุทัยวรรณ เจริญวัย

 

 

 

 

 

 

จากแอนตี้วอร์ถึงจอมมั่วนิ่ม : หยุดเดี๋ยวนี้ ถอนเดี๋ยวนี้ ไม่มีข้ออ้าง

 

แม้โดยภาพรวม ผู้นำของเดโมแครตและรีพับลิกันจะมีจุดยืนที่แตกต่างกันต่อร่างกฎหมายนี้...แต่ไม่น่าเชื่อว่า เหตุผลของทั้งสองฝ่ายที่พร่ำแสดงต่อสาธารณะ จะวนเวียนไปมาอยู่กับคาถาบทเดียวกัน นั่นก็คือ  support our troops หรือ "สนับสนุนทหาร" นั่นเอง

           

"เราจะอยู่เคียงข้างเพื่อสนับสนุนทหาร"

           

ทั้งแนนซี เพโลซี และบิ๊กๆ เดโมแครตอีกมาก ต่างก็มาในอารมณ์นี้เหมือนกันหมด ในการให้สัมภาษณ์ซีเอ็นเอ็นหลังชนะเลือกตั้งหมาดๆ 12 พ.ย. แนนซี เพโลซียังคงยืนยันว่า...เดโมแครตจะไม่ตัดงบสงครามแน่นอน

           

"เพราะทหารของเราตกอยู่ในอันตราย พวกเขาถูกส่งไปที่นั่น ไม่ว่าเราจะเห็นด้วยกับนโยบายหรือไม่…" เธอสรุปว่า "เราจะไม่ยอมตัดงบสำหรับทหารของเราที่นั่น"

 

สนับสนุนทหาร = ให้ทุนบุชทำสงครามต่อ?

 

สนับสนุนทหาร = ปล่อยห้ทหาร "ถูกใช้" ในสงครามที่ไม่ยุติธรรม ไม่ชอบธรรม ผิดศีลธรรม ผิดกฎหมาย?

 

สนับสนุนทหาร = ปล่อยให้ทหารเดินหน้าก่อ "อาชญากรรมสงคราม" ในอิรักและอัฟกานิสถานต่อไป?

 

 

 

Military Families Speak Out  องค์กร "ครอบครัวทหารต้านสงคราม" ที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์อเมริกา (กว่า 3,200 ครอบครัว) เบื่อมุขลิเก "จอมแอบอ้าง" นี้มาก จึงขอออกแถลงการณ์เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องของทุกฝ่ายว่า

 

"การสนับสนุนทหารที่ดีที่สุดที่พวกเขา (สมาชิกคองเกรส) จะสามารถทำให้ทหารได้ ก็คือ จบสงครามนี้ซะ นำทหารกลับบ้าน และให้การดูแลทหารเมื่อพวกเขากลับมาถึง"

 

และสำหรับนักการเมืองรายใดก็ตาม ที่ชอบแอบอ้างว่าการมีอยู่ของอเมริกาที่นั่นหมายถึงการ "ช่วยเหลือ" อิรักแล้วล่ะก็ World Can't Wait กลุ่มแอคทิวิสต์ผู้ไม่พิศวาสการรอคอย ข้ออ้างและลูกมั่วใดๆ ขอยกมือประท้วงด้วยคน - - ต้องถอนหมดและถอนด่วนเท่านั้น เพราะการยึดครองหรือการมีอยู่ของอเมริกาน่ะแหละ เป็นตัวการสำคัญที่สร้างปัญหาจบไม่ลงในอิรักทุกวันนี้ต่างหาก

 

"มันคือความจริงที่ไม่สามารถปฏิเสธได้ว่า ความรุนแรงที่กำลังถาโถมใส่และฉีกอิรักออกเป็นชิ้นๆ ทุกวันนี้ เริ่มต้นขึ้นเมื่อกองทัพอเมริกาบุกเข้ามายึดอิรัก สิ่งหนึ่งที่ทุกคนจำเป็นจะต้องเข้าใจไว้ก็คือ - กองทัพอเมริกาไม่ได้อยู่ที่นั่นในฐานะ "กองกำลังเพื่อรักษาสันติภาพ" - ทหารอเมริกาไม่ได้ถูกใครจับโยนเข้าไปในสงครามกลางเมืองอิรัก แต่ทหารอเมริกาถูกประธานาธิบดีจอร์จ บุชและคณะของเขาส่งไปบุกรุกและยึดครองอิรักต่างหาก กองทัพอเมริกาจึงรับผิดชอบโดยตรงต่อความตายและการทำทารุณกรรมต่อชาวอิรักนับไม่ถ้วน จะไม่มีสิ่งที่ดีๆ สำหรับชาวอิรักผุดขึ้นมาจากสถานการณ์เช่นนี้ได้...ตราบที่การยึดครองของอเมริกายังดำเนินต่อไป

 

ทหารอเมริกาไม่ได้ถูกส่งไปเป็นกรรมการคอยห้ามใครในสงครามกลางเมือง จอร์จ บุชและลูกทีมของเขาไม่ได้ส่งทหารไปเพิ่มเพื่อไกล่เกลี่ยระงับความขัดแย้งที่เกิดขึ้น ถึงเขาจะยืนยันถึง "เจตนาดี" ของเขาก็เถอะ กองทัพอเมริกาน่ะแหละ คือแหล่งผลิตความรุนแรงที่สำคัญที่สุดที่ได้เข่นฆ่าสังหารชีวิตผู้คนไปแล้วมากมายในอิรัก กองทัพอเมริกา -ผู้รับใช้นโยบายบุกรุกและยึดครองของระบอบปกครองบุช - เป็นตัวลงมือก่อการและทำให้ความรุนแรงดำเนินอยู่"

 

 

 

กับตรรกะมั่วๆ ที่อยู่เบื้องหลังแผน "ถอนทหาร" ของเดโมแครต ปัญญาชนซ้ายต่างก็ส่ายหน้าเอือมระอา-รับไม่ได้ไปตามๆ กัน และหนึ่งในนั้นก็มี "บิ๊กเนม" อย่าง ฮาเวิร์ด ซิน (Howard Zinn) รวมไว้ด้วย

 

"ภายใต้การยึดครองที่โหดร้ายทำลายชีวิตผู้คนอย่างที่เป็นอยู่ กำหนดการถอนทหารในอนาคต ไม่เพียงแต่จะเป็นสิ่งที่สมควรถูกตำหนิประณามในทางศีลธรรมเท่านั้น (เวลาที่มีโจรผู้ร้ายมาบุกรุกที่บ้าน ทำลายข้าวของ และใช้ความรุนแรงกับลูกๆ ของคุณ คุณจะยื่นกำหนดการถอนตัวออกจากบ้านให้คนร้ายมั้ย?) แต่กำหนดการถอนทหารยังเป็นเรื่องของตรรกะที่เหลวไหลฟังไม่ขึ้นอีกด้วย ถ้าทหารของเรากำลังทำหน้าที่ป้องกันสงครามกลางเมือง ช่วยเหลือผู้คน ช่วยควบคุมสถานการณ์ความรุนแรง ก็ถ้ามันเป็นอย่างนั้น แล้วจะต้องมีการถอนทหารเกิดขึ้นทำไม? แต่ถ้าในความเป็นจริง ทหารของเรากำลังทำในสิ่งที่ตรงกันข้าม - กระตุ้นให้เกิดสงครามกลางเมือง ทำร้ายผู้คน และเป็นตัวก่อความรุนแรงเสียเอง - พวกเขาก็ควรจะถอนทัพออกมาให้เร็วที่สุดเท่าที่เรือและเครื่องบินจะสามารถพากลับมาบ้านได้"

 

เร็วที่สุดเท่าที่เครื่องบินจะพากลับมาบ้านได้ เพราะถ้าไม่เร็วที่สุดแล้ว...มันจะตามมาด้วย "ราคา" ที่ต้องจ่ายชนิดที่โหดมากๆ - - จอห์น เมอร์ฟี (John Murphy) ผู้สมัครสส. อิสระ เพนซิลเวเนีย (ซึ่งได้รับการรับรองสรรพคุณจาก นอม ชอมสกี และปัญญาชนอีกตรึม) ลองอาสาถอดสมการมาให้ดู ด้วยร่างกฎหมายที่เดโมแครตกล้าลองดี "ท้าทายบุช" ครั้งนี้ เดโมแครตกำลังพูดกับบุชว่า

 

"เราต้องการให้คุณฆ่าผู้บริสุทธิ์ในอิรักเพิ่มขึ้นเพียง 60,000 เท่านั้น และเรายังต้องการให้คุณจำกัดความตายของทหารอเมริกันไว้อีก 1,800 ก็พอ ส่วนทหารบาดเจ็บพิการไม่ควรจะเพิ่มเกิน 30,000 หลังจากนั้น คุณต้องยุติสงครามได้แล้ว แต่เพราะเรารู้ว่ามันจะเป็นการตัดสินใจที่ยากลำบากสำหรับคุณมากๆ ท่านประธานาธิบดีบุช เราก็เลยจะช่วยให้คุณสบายใจขึ้น โดยอนุญาตให้คุณฆ่าคนได้เพิ่มขึ้นอีก 10,000 คนในอัฟกานิสถาน"

 

ยกเว้น Move On - แอคทิวิสต์เชื่องๆ หางเครื่องเดโมแครตแล้ว ประชาคมแอนตี้วอร์ส่วนใหญ่ในอเมริกา ไม่มีกลุ่มไหนเอาด้วยกับร่างกฎหมายนี้ (รวมพวกที่มีเยื่อใยใกล้ชิดกับเดโมแครตจำนวนมาก) ตั้งแต่ 5 กุมภาพันธ์เป็นต้นมา แอคทิวิสต์ต้านสงครามกลุ่มหนึ่งยังได้จัดแคมเปญประท้วงผู้แทนในสภาคองเกรสขึ้น ชื่อว่า Occupation Project โดยพุ่งเป้าไปที่การตัดงบสงครามเป็นการเฉพาะ

 

ภายใต้แคมเปญที่ว่า แอคทิวิสต์จะบุกไปประท้วงถึงที่ออฟฟิศของสมาชิกสภาคองเกรส นอกจากจะใช้วิธี sit-in หรือนั่งกีดขวางบริเวณรอบๆ และบล็อคการจราจรแล้ว บางครั้งยังมีการบุกเข้าไปข้างในเพื่ออ่านรายชื่อผู้ที่เสียชีวิตจากสงครามอิรัก หรือแม้แต่การจัดปาร์ตี้น้ำชาหน้าประตูบ้านร่วมด้วย จนถึงปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา มีรายงานว่า มีแอคทิวิสต์มากกว่า 240 รายที่ถูกตำรวจจับไป

 

"หยุดสนับสนุนแผนถอนทหารจอมปลอมเดี๋ยวนี้" หนึ่งในคำขวัญบนป้ายผ้าของผู้ประท้วงว่าไว้

 

ก็แล้วแผนถอนทหาร-ยุติสงครามที่ประชาคมแอนตี้วอร์อยากจะเห็น...มีหน้าตาเป็นยังไง?

 

 

เดนนิส คูซินิช

 

ถ้าจะมีอะไรสักอย่างในพรรคเดโมแครตที่ "สอดคล้องอย่างแรง" กับแนวทางของพวกแอคทิวิสต์/พีซนิกแล้วล่ะก็ มันต้องเป็นแผน "ถอนตัวจากอิรัก" ของ เดนนิส คูซินิช - ส.ส. เดโมแครตที่ไม่ปกติมากที่สุดและ "ได้ใจ" จากประชาคมซ้ายมากที่สุดนั่นเอง

 

ในส่วนของสงครามอิรัก คูซินิชมีบทบาทนำในการต่อต้านสงครามนี้มาตั้งแต่แรก และไม่เคยโหวตให้งบสงครามที่ผ่านมาแม้แต่ครั้งเดียว (เรตติ้ง 99% จาก Peace Majority Report เป็นประกัน)

 

HR 1234 คือร่างกฎหมายเกี่ยวกับอิรักของคูซินิชที่เขาพยายามผลักดันมาตลอดตั้งแต่ปลายกุมภาพันธ์ มันไม่ใช่แค่แผนถอนทหารที่ถอนทหารเท่านั้น แต่มันคือ "แผนยุติการยึดครองอิรัก" ฉบับสมบูรณ์และครอบคลุมทุกเรื่อง - - 28 มีนาคมที่ผ่านมา คูซินิชให้สัมภาษณ์รายการ Democracy Now! เกี่ยวกับรายละเอียดของแผนนี้ว่า

 

"ผมร่างแผนนี้ขึ้นมาด้วยความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่ยูเอ็น พวกเขาบอกว่ามันจะใช้เวลาสองหรือสามเดือนที่จะสามารถเคลื่อนไหวจัดตั้งกองกำลังนานาชาติจำนวนที่มากพอ เพื่อมาแทนที่กองทัพอเมริกาที่กำลังถอนตัวออกไป เพราะฉะนั้นผมขอบอกว่า ภายในสองหรือสามเดือน...เราจะสามารถนำทหารกลับบ้านและให้กองกำลังนานาชาติเข้ามาช่วยสร้างเสถียรภาพในอิรักได้ แต่ประชาคมนานาชาติเหล่านี้จะไม่เข้ามายุ่งเกี่ยวเลย ตราบใดที่อเมริกายังยึดครองอิรักและมีฐานทัพเปิดใช้อยู่ที่นั่น เพราะฉะนั้นเราจำเป็นจะต้องหันเหไปสู่ทิศทางใหม่"

 

นอกจากจะปิดฐานทัพ ำเนินการเพื่อนำทหารกลับบ้าน ให้กองกำลังเพื่อสันติภาพของนานาชาติเข้ามาแล้ว ตามแผนนี้ อเมริกายังต้องหยุดการแปรรูปน้ำมันอิรักไปให้ภาคเอกชน ควบคุมราคาอาหารและเชื้อเพลิง ตลอดจนปกป้องอิรักจากการเป็นเหยื่อในนโยบายปรับโครงสร้างของไอเอ็มเอฟและธนาคารโลกอีกด้วย

 

คูซินิชไม่เห็นด้วยอย่างมากกับข้อกำหนดประเภทเอื้ออาทร-อุทิศส่วนบุญให้บรรษัทน้ำมัน ในร่างกฎหมายของเดโมแครตฉบับที่เพิ่งผ่านสภาไป โดยบิ๊กๆ เดโมแครตได้เรียกร้องให้รัฐบาลอิรักผ่านกฎหมายไฮโดรคาร์บอน เพื่อรองรับการแปรรูปขนานใหญ่ หรือพูดได้ว่า เปิดบ่อน้ำมันอิรัก (ผลประโยชน์มูลค่ามหาศาลหลายล้านล้านดอลลาร์) ให้เอกชนต่างชาติเข้ามาควบคุมได้โดยตรงนั่นเอง

 

"ลองคิดดูว่า ถ้าตุลาคมปีที่แล้ว เดโมแครตบอกประชาชนอเมริกันว่า ถ้าคุณเข้าคูหาไปโหวตเราในเดือนพฤศจิกายน เราไม่เพียงแต่จะให้เงินทุนทำสงครามต่อไปตลอดยุคสมัยของบุช  แต่เราจะยังแปรรูปน้ำมันอิรัก และช่วยให้บริษัทน้ำมันได้รับรางวัลตรงนี้อีกด้วย - ซึ่งเป็นสิ่งที่...ผมคิดว่าสงครามครั้งนี้มันก็เกี่ยวกับผลประโยชน์ตรงนี้มาตั้งแต่แรกแล้วนะครับ - และถ้าเราพูดแบบนี้ ผมไม่คิดว่าประชาชนจะอยากโหวตให้เดโมแครต เพราะฉะนั้นเราต้องรักษาศรัทธาของประชาชนอเมริกันเอาไว้

 

แผนของผมจะช่วยได้ โดยเราจะคืนการควบคุมสินทรัพย์ที่เกี่ยวกับน้ำมันอิรักทั้งหมดให้กับชาวอิรัก ผลักดันแผนไกล่เกลี่ยปรองดองระหว่างชีอะต์ ซุนนี และเคิร์ดให้คืบหน้า ซึ่งเรื่องนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้ตราบใดที่อเมริกายังยึดครองอิรักอยู่ เราจะเปิดโอกาสให้เกิดการบูรณะซ่อมแซมประเทศที่ซื่อสัตย์และจริงใจ ไม่ปล่อยให้คอนแทรคเตอร์หรือผู้รับเหมาของอเมริการายไหนอยู่ที่นั่นอีก คนพวกนั้นเอาแต่โกงเงินของชาวอิรัก รวมทั้งเงินภาษีของชาวอเมริกันด้วย

 

เราจะต้องให้งานแก่ชาวอิรัก ให้ผู้รับสัญญาว่าจ้างชาวอิรักเป็นคนทำงานนี้ เราจะต้องให้ค่าปฏิกรรมสงคราม เพื่อเอาไว้ช่วยเหลือชาวอิรักที่ต้องเสียบ้านหรือเสียคนรักไปในสงคราม เราจะต้องทำให้ราคาอาหารและพลังงานมีเสถียรภาพ และในส่วนที่อิรักต้องเกี่ยวข้องกับสถาบันต่างๆ ในประชาคมโลก เราต้องดำเนินมาตรการให้มั่นใจได้ว่า อิรักจะไม่ได้รับความทุกข์ยาก อันเนื่องมาจากข้อกำหนดในโปรแกรมการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจของไอเอ็มเอฟและธนาคารโลก"

 

เป็นการถอนการยึดครองเบ็ดเสร็จทั้งทางทหารและทางเศรษฐกิจ และถ้าให้คนอิรักทั้งประเทศโหวตเลือกได้...แผนของคูซินิชก็คงจะได้รับชัยชนะอย่างถล่มทลาย

 

นอกจากจะเป็นนักมังสวิรัติ ไม่ชอบฆ่าสัตว์ ไม่เอาสงคราม ไม่เอาการครอบงำของบรรษัทข้ามชาติหรือ "โลกาภิวัตน์ฉบับทุนดีไซน์" แล้ว คูซินิชยังเป็นนักการเมืองขวัญใจรากหญ้าที่ต่อสู้เพื่อรักษาผลประโยชน์ชาวบ้านและผู้ใช้แรงงานมาโดยตลอด ในเรื่องสิทธิพลเมือง สิทธิมนุษยชน และสิ่งแวดล้อม เขาก็ยังมีบทบาทโดดเด่นและมีจุดยืนที่เป็นตัวของตัวเอง...อย่างไม่ว่อกแว่ก

 

อะเจนดาของเขาควรจะได้รับการสนับสนุน ถ้าเพียงแต่เดโมแครตจะเป็น "ของจริง" มากกว่า "ราคาคุย"  แต่ด้วยวิวัฒนาการที่ตกต่ำเลวทรามมานานแล้วของสองพรรคการเมืองใหญ่ในอเมริกา ไม่มีที่ทางสำหรับของจริง-ไม่ล้อเล่นมากนักในพรรคเดโมแครต และแผนอิรักของเดนนิส คูซินิชก็ย่อมจะเจอจุดจบ...เหมือนกับความพยายามในอีกหลายๆ ประเด็นของเขาน่ะแหละ

 

 

รู้จักหัวหน้าคณะลิเก : ใครใหญ่? ใครคิดอะไรอยู่?

 

ภายใต้แคมเปญเลือกตั้งที่แข่งกันแพงระยับมากขึ้นทุกงวด ช่วยไม่ได้ที่อะเจนดาของสองพรรคใหญ่...จะแข่งกัน "ขยับไปขวา" และ "โพร-บรรษัท" มากขึ้นเรื่อยๆ

 

จากข้อมูลของ Open Secrets แคมเปญหาเสียงเลือกตั้งมิดเทอม 2006 ที่ผ่านมาหมาดๆ ในส่วนของสภาผู้แทนฯ เดโมแครตจ่ายเงิน "ลงทุน" ไปถึง 391 ล้านดอลลาร์ (รีพับลิกัน 457) วุฒิสภาอีก 286 ล้านดอลลาร์ (รีพับลิกัน 247) โดยรวมสองพรรค ก็เกือบๆ 1,400  ล้านดอลลาร์ หรือ 5 หมื่นล้านบาท...แค่นั้นเอง

 

ด้วยเหตุนี้ จึงไม่ต้องแปลกใจ ที่เดโมแครตขาใหญ่ทั้งหลายล้วนเป็นพวกที่โหวตให้อำนาจบุชไปทำสงครามกับอิรักตั้งแต่แรก และตลอด 4 ปีที่ผ่านมา สิ่งเดียวที่พวกนี้ทำได้ก็คือ ตำหนิบุชว่าทำสงครามไม่เก่ง ไม่ฉลาด ยุทธวิธีผิดพลาด...แต่ไม่เคยบอกว่าสงครามนี้ผิดกฎหมาย ผิดศีลธรรม และจะยุติสงครามโดยการถอนทหารกลับบ้าน

 

พรรคเดโมแครตไม่เคยนำเสนออะเจนดาชัดๆ ของตัวเองในเรื่องสงครามอิรัก (มีแต่ทัศนะส่วนตัว ของใคร-ของมัน) แม้แต่ในการหาเสียงปลายปีที่แล้ว เดโมแครตยังคงขายความคลุมเครือ-ท่าทีกั๊กๆ เหมือนเดิม พร้อมหลบเลี่ยงไปเล่นประเด็นในบ้านแทน (ซึ่งเอาเข้าจริง...ก็ไม่ได้ก้าวหน้าอะไรอีกต่างหาก เรื่องปกป้องสิทธิพลเมืองสอบตก เรื่องระบบประกันสุขภาพทั่วหน้าก็ลืมไปได้)

 

จนกระทั่งถึงจุดๆ หนึ่ง เมื่อชัดเจนว่า กระแสต้านนโยบายอิรักของบุช...โหมแรงจัดทั้งจากหีบบัตรและในส่วนชนชั้นนำ โดยเฉพาะจากซีกบรรษัท กองทัพ กระทรวงต่างประเทศ ประชาคมข่าวกรอง ฯลฯ เริ่มมีเสียงไม่พอใจหนักขึ้นเรื่อยๆ ว่า นโยบายของบุชกำลังทำลายผลประโยชน์ ทำลายกองทัพ และการยอมรับของอเมริกาในประชาคมโลก เดโมแครตจึงถูกบังคับให้ต้องมี "จุดยืน" และนำเสนอ "ทางเลือก" ที่จริงจังขึ้นมาแทนที่

 

หลังชัยชนะ พฤศจิกายน หนึ่งในทีมผู้นำ-ประธานคณะกรรมาธิการการทหารของวุฒิสภา คาร์ล เลวิน (Carl Levin) ย้ำกับซีเอ็นเอ็นว่า

 

"ไม่มีแผนถอนทหารทั้งหมดอยู่ในข้อเสนอ...ไม่ว่าจะฉบับไหนของเรา"

 

พ้นไปจากกลุ่ม "โพรเกรสสีฟ" (Congressional Progressive Caucus) ที่โดยเฉลี่ยตามใจนายทุนพรรคน้อยกว่ากลุ่มอื่นแล้ว ในส่วนของสภาผู้แทนฯ ที่หลากหลาย เดโมแครต 233 ชีวิต ยังประกอบด้วยอีก 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ กลุ่ม "นิวเดโมแครต" (New Democrat Coalition) และกลุ่ม "บลูด็อก" (Blue-Dog Coalition) - ซึ่งล้วนแต่อยู่ในซีกขวาและมีอะเจนดาหลักๆ เหมือนกัน :

 

โพร-บรรษัท   โพร-สงคราม   โพร-กองทัพ   โพร-เอ็มไพร์   และโพร-อิสราเอล

 

โดยเปรียบเทียบ บลูด็อกเป็นกลุ่มที่ถูกติดป้ายว่า "ขวาสุด" ในเดโมแครต เพราะในประเด็นสังคม (ศาสนา การแต่งงาน การทำแท้ง การเซนเซอร์ โทษประหาร ฯลฯ) พวกนี้จะออกเป็นขวา-อนุรักษ์ ขณะที่นิวเด็มจะออกกลางๆ และเสรีนิยม

 

แต่ที่สำคัญ กลุ่มนิวเดโมแครตหรือพวกที่ยึดโยงกับองค์กร ดีแอลซี (Democratic Leadership Council) นี้ ไม่ได้มีฐานที่มั่นแคบๆ แค่ในสภาผู้แทนฯ เท่านั้น เครือข่ายสมาชิกยังรวมไปถึงในวุฒิสภาและระดับท้องถิ่น (เช่น ผู้ว่าการมลรัฐ) อีกด้วย

 

ดีแอลซี/นิวเดโมแครต กลุ่มก้อนที่มีอิทธิพลมากที่สุด (อ่านว่า : ความสามารถในการระดมทุนสูงสุด) ในพรรคเดโมแครต คือใคร? คิดอะไรอยู่?

 

ดีแอลซีได้รับก่อตั้งขึ้นในปี 1985 ภายหลังเดโมแครตพ่ายแพ้ โรนัลด์ เรแกน แห่งรีพับลิกันอย่างยับเยินถึง 2 สมัยซ้อน เพื่อที่จะยึดทำเนียบขาวคืน เดโมแครตกลุ่มหนึ่งจึงวางแผนปรับเปลี่ยนแนวทางของพรรคให้ขยับไปขวา "ไล่ตามรีพับลิกัน" มากขึ้น แม้ว่าพวกนี้จะนิยมชูธงติดป้ายตัวเองให้ดูดีว่า เป็นพวก "สายกลาง" (centrist) หรือ "ทางเลือกที่สาม" ก็ตาม

 

บิล คลินตัน กับ อัล กอร์ 

 

 

ฮิลลารี คลินตัน 

 

คีย์แมนสำคัญตั้งแต่ยุคแรกมีอยู่ 2 คน คือ อัล ฟรอม (Al From) ผู้ก่อตั้งและซีอีโอในปัจจุบัน และ วิล มาร์แชล (Will Marshall) กูรูด้านนโยบาย (ต้นยุค 80 ทั้งสองคนเคยมีบทบาทวงในเป็นทีมทำงานของกิลลิส ลอง ประธานคอคัสหรือที่ประชุมสส. เดโมแครตยุคนั้น) สมาชิกเด่นๆ ของดีแอลซีในยุคแรกมีทั้ง บิล คลินตัน, อัล กอร์ (เดี๋ยวนี้ไม่ใช่) โจเซฟ ลีเบอร์แมน (Joseph Lieberman) ผู้สมัครรองประธานาธิบดีคู่กับอัล กอร์

 

ในแคมเปญเลือกตั้งประธานาธิบดีปี 2004 จอห์น แครี คือผู้สมัครที่เป็นตัวแทนจากดีแอลซี (ระยะหลัง เสียงเริ่มแตก) และในแคมเปญเลือกตั้งขั้นต้นเพื่อคัดตัวผู้เข้าชิงประธานาธิบดีปี 2008 นอกจาก ฮิลลารี คลินตัน ผู้สมัครตัวเก็งหมายเลขหนึ่งจะอยู่ในสังกัดนี้แล้ว วุฒิสมาชิกในกลุ่มนี้ที่ลงสมัครเข้าชิงยังรวมถึง โจเซฟ ไบเดน (Joseph Biden) ประธานคณะกรรมาธิการการต่างประเทศ และ เอแวน บายห์ (Evan Bayh) สมาชิกคณะกรรมาธิการการทหารและอื่นๆ อีกหลายชุด ขณะที่ดาราหน้าใหม่มาแรงอย่าง บารัก โอบามา (Barack Obama) ก็มีรายงานว่า...เป็นผู้เข้าชิงที่มีสายสัมพันธ์กับกลุ่มนี้เช่นกัน

 

บิล คลินตัน ก้าวขึ้นเป็นประธานดีแอลซีในปี 1990-1991 และได้รับเลือกตั้งเข้าสู่ตำแหน่งประธานาธิบดีปี 1993-2001 พร้อมกันนั้น ดีแอลซีซึ่งเป็นองค์กรอิสระนอกพรรค ก็ได้เริ่มเข้ามามีอิทธิพลครอบงำต่อพรรคเดโมแครตตั้งแต่ปี 1992 เป็นต้นมา เดโมแครตเริ่มขยับไปขวาชัดเจนในหลายๆ ประเด็น คลินตันได้ละทิ้งอะเจนดาที่เคยเอื้ออาทรรากหญ้าอย่าง "New Deal" หันมาผลักดันการค้าเสรี/ลัทธิเสรีนิยมใหม่แทน (ผลงานชัดๆ อาทิ NAFTA) ตลอดจนการจำกัดอำนาจรัฐบาล ตัดทอนระบบสวัสดิการสังคม และลดความก้าวหน้าในนโยบายภาษี พร้อมกับส่งเสริมการใช้กำลังและการแทรกแซงทางการทหารไปด้วย

 

นอกจากจะรับเงินบริจาคจากสถาบันและมูลนิธิของพวกขวาๆ แล้ว ดีแอลซียังสนุกกับการรับเงินบริจาคจากยักษ์ใหญ่น้ำมัน ยักษ์ใหญ่ในกิจการทหารและความมั่นคง ตลอดจนบรรษัทข้ามชาติที่ติดอันดับ Fortune 500 อีกมาก

 

 

วิล มาร์แชล

 

 

โจ ลีเบอร์แมน

 

แต่ที่น่าสนใจกว่านั้น ใครบอกว่า...นีโอคอนเป็นโรคระบาดเฉพาะในหมู่รีพับลิกัน? ในส่วนของเดโมแครตเอง ทั้งวิล มาร์แชล และโจ ลีเบอร์แมน ต่างก็มีจุดยืนใกล้ชิดและเคยร่วมงานกับนีโอคอนอยู่หลายครั้ง โดยเฉพาะในเรื่อง "การผลักดันการโจมตีอิรัก" มาตั้งแต่แรก (ลีเบอร์แมน เป็นอเมริกัน-ยิว ผู้เคยนั่งตำแหน่งประธานดีแอลซีปี 1995-2000 ปัจจุบันเป็นสว. อิสระ อันเนื่องมาจากสอบตกรอบคัดตัวจึงไม่ได้ลงสมัครในนามเดโมแครต แต่ยังคงมีคอนเนคชันลึกซึ้งกับอีลิตจำนวนหนึ่งในพรรคอยู่)

 

ในเอกสารของ "พีพีไอ"  (Progressive Policy Institute) สถาบันนโยบายในเครือข่ายดีแอลซี ซึ่งวิล มาร์แชล เป็นคนรับผิดชอบ นอกจากจะสนับสนุนการโจมตีและยึดครองอิรักมาตลอดแล้ว ยังกล่าวถึงภัยคุกคามใหม่ของอเมริกาว่า "เช่นเดียวกับสงครามเย็น การต่อสู้ที่เราเผชิญอยู่ในวันนี้ น่าจะดำเนินต่อไปไม่ใช่แค่หลายปี...แต่เป็นหลายทศวรรษ" 

 

พีพีไอส่งเสริม "การปรับโครงสร้าง" ขนาดใหญ่-ทั้งภูมิภาคตะวันออกกลาง พฤษภาคม 2006 ในหนังสือ With all Our Might ของพีพีไอ ที่วิล มาร์แชลเป็นบรรณาธิการ มีการตีพิมพ์ความเรียง 6 เรื่องว่าด้วยแนวทางต่อสู้กับลัทธิก่อการร้ายจิฮัดดิสต์ ตามทัศนะของเขา สงครามในอิรักคือส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ที่ใหญ่กว่าในการ "สร้างโลกที่ปลอดภัยสำหรับประชาธิปไตยและเสรีภาพ"

 

มาร์แชลยังวิจารณ์บุชและรีพับลิกันในเรื่องสงครามนี้ว่า "tough  แต่ไม่ smart" พร้อมเรียกร้องให้มีการลงทุนพัฒนากองทัพ

 

ในช่วงที่อิสราเอลถล่มเลบานอน กรกฎาคม 2006 จดหมายข่าวของดีแอลซีได้สะท้อนจุดยืนที่อยู่เคียงข้างอิสราเอลอย่างเต็มๆ ไม่บันยะบันยัง ดีแอลซีไม่ต้องการให้บุชอ่อนข้อในสงครามครั้งนี้ พร้อมกับเรียกร้องให้อิสราเอลโจมตีต่อไปเพื่อเป็นการ "ป้องกันตัวเอง"

 

ตุลาคม 2006 รายงานจากพีพีไอ มีการพูดถึงแผนพัฒนากองทัพอีกครั้ง พร้อมกับย้ำจุดเดิมว่า

 

"อเมริกาจำเป็นต้องมีกองทัพที่ดีกว่านี้และใหญ่กว่านี้"

 

"เดโมแครตจะต้องก้าวออกมาพร้อมแผนที่จะบูรณะซ่อมแซมความเสียหาย (จากอิรัก) ที่เกิดขึ้น ด้วยการเพิ่มจำนวนทหารมากขึ้น ทำให้คลังอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ถดถอยกลับมาแข็งแกร่งเพียบพร้อม จัดการปรับรื้อกองกำลังใหม่เพื่อตอบสนองภารกิจเกี่ยวกับสงครามนอกแบบ การต่อต้านการก่อการร้าย และการก่อสร้างในส่วนที่เกี่ยวกับกิจการพลเรือน"

 

 

 แฮโรลด์ ฟอร์ด

 

แน่นอน 200% ดีแอลซีไม่เห็นด้วยกับการถอนตัวจากอิรัก - - ต้นปีนี้ แฮโรลด์ ฟอร์ด (Harold Ford) ผู้ซึ่งเพิ่งจะได้รับการโปรโมทให้เป็นผู้นำเจนเนอเรชันใหม่ของดีแอลซี ได้ออกมาแสดงทัศนะหลายครั้งเกี่ยวกับเรื่องแผนใหม่ในอิรัก ในบทความชิ้นหนึ่งของเขาที่ชื่อ "Plan B on Iraq"  ฟอร์ดยังได้เยาะเย้ยเสียงเรียกร้องในพรรคที่ให้มีการถอนทหารทั้งหมดจากอิรักและถอนอย่างรวดเร็วว่าเป็น "แผนหมายเลขศูนย์"

 

ฟอร์ดเสนอให้ถอนทหารบางส่วนแบบไม่ระบุเดดไลน์ พร้อมกับยืนยันว่า อเมริกาต้องอยู่ต่อไป และต้องมองไปไกลกว่าอิรัก แผนของเดโมแครตจะต้อง "เอาชนะลัทธิสุดขั้ว"

 

"เรามีผลประโยชน์ในอิรักและในภูมิภาคนั้น เราไม่สามารถปล่อยให้ความผิดพลาดนับไม่ถ้วนของคณะผู้บริหารบุชในการทำสงคราม มาหันเหเราไปจากการผลักดันให้อเมริกามีอำนาจและอิทธิพลในภูมิภาคนั้นได้"

 

สอดคล้องกับ ฮิลลารี คลินตัน - ผู้สมัครเข้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีที่ถูกติดป้าย "ขวาสุด-เหยี่ยวสุด" อยู่ในขณะนี้ - ในการให้สัมภาษณ์ นิวยอร์คไทมส์ 15 มีนาคม คลินตันประกาศว่า ถ้าเธอได้รับเลือกตั้งเป็นผู้นำคนต่อไป เธอจะคงกำลังทหารจำนวนมากไว้ในอิรักอย่างแน่นอน เพื่อปกป้อง "ผลประโยชน์ด้านความมั่นคงแห่งชาติซึ่งสำคัญอย่างยิ่งที่อยู่ในอิรัก"

 

เธอพูดขยายความต่อไปว่า "มันตั้งอยู่ตรงใจกลางของภูมิภาคน้ำมันพอดี"

 

สำหรับทหารที่ทิ้งไว้ในอิรัก คลินตันระบุว่า จะทิ้งเอาไว้เพื่อภารกิจรบกับอัล-ไคดา คอยระวังและคุมเชิงอิหร่าน ปกป้องคุ้มครองชาวเคิร์ด (จากการแทรกแซงของเติร์ก) และอาจจะสนับสนุนทหารอิรัก แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น เพื่อลดความสูญเสียของกองทัพอเมริกา อเมริกาจะหลบฉากไปจากถนน ไปประจำอยู่ที่ฐานทัพเป็นหลัก ไม่ยุ่งเกี่ยวกับสงครามในเมืองและสงครามกลางเมืองอีก ปล่อยให้ชาวอิรักทั้งสองนิกายรบกันไป โดยอเมริกาจะโอนภารกิจปกป้องพลเรือนและรักษาความสงบเรียบร้อยให้กับกองกำลังความมั่นคงของอิรักแทน (หรือพูดง่ายๆ ว่า Iraqization - ทำให้สงครามและการยึดครองครั้งนี้มีใบหน้าเป็นอิรักะ...นั่นเอง)

 


โจ ไบเดน

 


และที่น่าสนใจ ยังรวมถึงบิ๊กสายเหยี่ยว-ดีแอลซีอีกราย โจ ไบเดน ให้สัมภาษณ์รายการ  hardball  28 มีนาคม ว่า

 

"นโยบายของผมวางไว้ตั้งแต่ปีครึ่งมาแล้ว โดยตั้งเป้าว่าเราจะเริ่มออกจากอิรักภายในมีนาคม 2008 ให้มีการทำประชามติในท้องถิ่น ให้รัฐธรรมนูญอิรักได้ใช้งาน แล้วชีอะต์ก็จะได้ควบคุมพื้นที่ของมัน ซุนนีควบคุมพื้นที่ของมัน เคิร์ดควบคุมพื้นที่ของมัน ซึ่งหมายถึงการมีตำรวจดูแลพื้นที่หรือท้องถิ่นของมันเอง และมีรัฐบาลกลางที่มีอำนาจอ่อนๆ เอาไว้ควบคุมกองทัพ ดูแลพรมแดน และจัดสรรทรัพยากรให้แต่ละฝ่าย และนั่นก็คือวิธีการที่คุณจะใช้แยกกลุ่มต่างๆ ออกจากกัน"

 

ตกลงตามแผนนี้...อิรักต้องแตกเป็น 3 ส่วน? ไบเดนอธิบายเหตุผลประกอบว่า

 

"ยังไม่เคยมีกรณีไหนในประวัติศาสตร์เลยว่า เมื่อเกิดความรุนแรงทางนิกายที่ขับเคลื่อนไปอย่างต่อเนื่องแล้ว จะมีอะไรที่ยับยั้งมันได้ นอกเหนือจากการปกครองโดยเผด็จการ การยึดครองจากต่างชาติ หรือระบบสหพันธรัฐ  เราจำเป็นจะต้องมีระบบสหพันธรัฐขึ้นที่นี่ (อิรัก)"

 

หลังไบเดนให้สัมภาษณ์ได้ไม่นาน ก็มีข่าวตามมาว่า กองทัพอเมริกาเพิ่งจะสร้าง "กำแพง" ขึ้นในเขตหนึ่งของแบกแดด ผลลัพธ์ของ "แผนเพิ่มทหาร" ที่ทำให้แบกแดดลุกเป็นไฟอยู่ขณะนี้

 

 

ฮาเวิร์ด ดีน 

 

แนนซี เพโลซี กับ แฮรี รีด

 

พ้นไปจากกลุ่มก้อนของดีแอลซี ยังมีองค์กรบริหารกิจกรรมของพรรค ดีเอ็นซี (Democratic National Committee) ซึ่งเป็นคณะกรรมาธิการที่เป็นทางการ แม้ ฮาเวิร์ด ดีน ผู้นั่งตำแหน่งประธาน จะไม่ใช่คนในสังกัดดีแอลซีและมีบางประเด็นไม่ได้เห็นตรงกัน แต่เรื่องสนับสนุนกองทัพ/สงคราม/อิสราเอล ดีนไม่เป็นรองใคร 

 

และที่ไม่สามารถข้ามไปได้ สิ่งที่มีอิทธิพลอย่างมากต่อแผนอิรักของเดโมแครตอีกส่วนหนึ่งก็คือ รายงานของคณะกรรมการไอเอสจี  Iraq Study Group ซึ่งบรรดาผู้นำเดโมแครตส่วนใหญ่ต่างก็ยึดถือเป็นไกด์พื้นฐาน และมักจะมีการอ้างอิงถึงบ่อยๆ รวมถึงสองผู้นำคองเกรสอย่าง แฮรี รีด และ แนนซี เพโลซี ด้วย

 

ไอเอสจีคือ คณะทำงานร่วม 10 คนจากสองพรรคใหญ่ นำโดย เจมส์ เบเกอร์ (James Baker ) จากรีพับลิกัน และ ลี แฮมิลตัน (Lee Hamilton) จากเดโมแครต โดยคองเกรสได้ให้ทุนไปศึกษาหาแนวทางแก้ปัญหาในอิรักตั้งแต่มีนาคม 2006 เป็นต้นมา หลังจากผ่านการรวบรวมข้อมูลความคิดเห็นจากชนชั้นนำกลุ่มต่างๆ มากมาย รายงานนี้ก็คลอดออกมาในเดือนธันวาคมที่ผ่านมา

 

บิ๊กเจ้าคุณปู่ เจมส์ เบเกอร์ จัดเป็น "คนวงใน" ผู้ที่มีบทบาทโดดเด่นทางการเมืองอเมริกามาแต่ไหนแต่ไร นอกจากจะเคยนั่งเก้าอี้รัฐมนตรีต่างประเทศและอีกหลายตำแหน่งใหญ่ๆ สมัยเรแกนและบุชพ่อ  จอร์จ เอช ดับเบิลยู บุช แล้ว เบเกอร์ยังมีความสัมพันธ์กับบุชพ่อแนบแน่นทั้งในทางส่วนตัว ธุรกิจ และการเมือง ตั้งแต่ยุคเรแกนมาแล้ว ที่เบเกอร์เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับธุรกิจ ผลักดันขยายการค้า โดยได้รับการแบ็คอัพจากพวกบรรษัทและบิ๊กน้ำมันเป็นอย่างดี ปัจจุบัน เบเกอร์เป็นที่ปรึกษาอาวุโสให้กับ Carlyle Group กลุ่มบริษัทการเงินการลงทุนและ "กลุ่มผลประโยชน์อุตสาหกรรม-กองทัพ" ชื่อดัง (ฉาว) ที่อาศัยหากินกับเครือข่ายคอนเนคชันระหว่างอเมริกา-ตะวันออกกลางนั่นเอง

 

เบเกอร์ไม่ใช่พวกบ้าสงครามศาสนาหรือยึดติดกับแนวคิดอุดมคติอะไร เขาเป็นแค่นักการเมืองที่ยึดถือ "ผลประโยชน์ของอเมริกา" เป็นใหญ่ เพราะฉะนั้นแนวทางการแก้ปัญหาของไอเอสจีที่เขาเป็นผู้นำทีม จึงเทียบได้กับการสะท้อนมติของอีลิตกลุ่มที่สนับสนุนวิธีการแบบ pragmatic (พวก realist ในนโยบายต่างประเทศ) และไม่เห็นด้วยกับยุทธวิธีที่ผิดพลาดของดิก เชนีย์และนีโอคอนบางกลุ่ม

 

เป้าหมายของไอเอสจียังคงเดิม เช่นเดียวกับบุช นั่นก็คือ การได้อิรักเป็นรัฐบริวารและรักษาสถานะบทบาทของเอ็มไพร์ในภูมิภาค ด้วยเหตุนี้ ข้อเสนอไอเอสจีจึงลงตัวออกมาที่ "การย้ายทหาร-เปลี่ยนมิชชัน" ซึ่งหมายถึงการถอนกำลังบางส่วน แต่ปฏิเสธการถอนด่วน ปิดฐานทัพ และให้ทิ้งกำลังบางส่วนไว้ โดยมีรายละเอียดดังนี้

 

"ภายในไตรมาสแรกของปี 2008 กองกำลังในหน่วยรบทั้งหมดที่ไม่จำเป็นต่อภารกิจคุ้มกันกองกำลังที่เหลือสามารถออกจากอิรักได้ ทั้งนี้ ให้พิจารณาสถานการณ์จริงด้านความปลอดภัยซึ่งอาจจะมีพัฒนาการที่ไม่คาดคิดประกอบด้วย - ถึงช่วงเวลานั้น กองกำลังอเมริกาที่เหลือประจำการอยู่ในอิรักจะเป็นหน่วยที่ฝังตัวไปกับกองกำลังอิรัก ในทีมปฏิบัติการพิเศษและทีมตอบโต้แบบรวดเร็วฉับพลัน ในส่วนของการฝึก การดูแลจัดการด้านอาวุธ การให้คำแนะนำปรึกษา การให้ความคุ้มกันอารักขา และในภารกิจค้นหาและช่วยชีวิต ส่วนงานด้านข่าวกรองและความพยายามอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับข่าวกรองจะดำเนินต่อไป และแม้ว่าอเมริกานำส่วนที่เป็นกำลังในหน่วยรบออกไปแล้ว เราก็จะยังคงไว้ซึ่งกำลังทหารขนาดใหญ่ประจำการอยู่ในภูมิภาคนั้น ด้วยกองกำลังที่ยังคงมีอยู่มากเพียงพอในอิรัก ประกอบกำลังทางเรือ ทางอากาศ และทางบกอันทรงอานุภาพ ใน คูเวต บาห์เรน และ กาตาร์ รวมทั้งกองทัพที่เพิ่มขนาดขึ้นใน อัฟกานิสถาน"

 

และนี่คือแม่บทสำหรับรายละเอียดในแผนถอนทหารของเดโมแครต แม้แต่เกณฑ์วัดความก้าวหน้าในอิรัก และรายละเอียดเรื่องการจัดการกับน้ำมันอิรัก ก็ปรากฎอยู่ในแผนนี้เช่นกัน (อย่างไรก็ตาม ในส่วนของการแยกประเทศอิรักออกเป็นรัฐย่อยๆ ตามข้อเสนอของไบเดน เป็นสิ่งที่รายงานของไอเอสจีไม่เห็นด้วย)

 

หลังรายงานออกไม่กี่ชั่วโมง 6 ธันวาคม เบเกอร์ให้สัมภาษณ์รายการของพีบีเอสว่า อเมริกาจะมีทหารเหลือไว้ในอิรักในระดับที่เพียงพอ เป็นกำลังที่แข็งแกร่งมาก และอยู่ในอิรัก "เป็นเวลานาน...นานทีเดียว"

 

แต่ความแตกต่างของสองแนวทางในนโยบายตะวันออกกลางก็ยังไม่จบง่ายๆ แค่นั้น (ศึกเรียลลิสต์ VS นีโอคอน) เพราะในรายงานของไอเอสจี ยังมีข้อเสนอสำคัญซึ่งนีโอคอนรับไม่ได้-ทำใจลำบาก นั่นก็คือ แนะนำให้แก้ปัญหาทั้งหมดในระดับภูมิภาคและใช้แนวทางการทูตเข้าช่วย โดยเฉพาะการเจรจาโดยตรงกับอิหร่าน-ซีเรีย ตลอดจนให้รื้อฟื้นการเจรจาสันติภาพระหว่างอิสราเอล-ปาเลสไตน์ไปด้วยพร้อมกัน

 

คุยกับอิหร่าน? เจรจาเรื่อง "สิทธิที่จะกลับบ้าน" ของผู้ลี้ภัยปาเลสไตน์?.......

 

สุดท้าย แม้ว่าอีลิตเดโมแครตจะเปิดแขนอ้ารับข้อเสนอของคณะกรรมการไอเอสจี ในส่วนที่เกี่ยวกับการ "ถอนทหารแบบไม่ถอนทหาร" อย่างพร้อมเพรียง แต่สำหรับส่วนหลัง...โดยเฉพาะความสัมพันธ์กับอิหร่าน ดูเหมือนการเดินตามแนวทางของไอเอสจีจะมี "ราคาที่ต้องจ่าย" และไม่ใช่สิ่งที่บิ๊กๆ เดโมแครตหลายคนพร้อมจะชูธงแห่ตามเอาง่ายๆ

 

เหตุผลไม่เกี่ยวกับอะไรกับใครต่อใครแถวๆ ทำเนียบ  แต่เกี่ยวกับคำบางคำที่ค่อนข้างจะลึกลับและมีฤทธิ์เดชไม่ใช่เล่น : อภิมหาเครือข่ายล็อบบี้โพร-อิสราเอล o

 

 - - - - - - - - - - -

 

 

หมายเหตุท้าย : ผิดมากมั้ย...ถ้าเดโมแครตคิดจะลุยหนักในอัฟกานิสถาน?

 

อัฟกานิสถานคือแนวรบที่ถูกต้อง อัฟกานิสถานคือ "สงครามต่อต้านการก่อการร้าย" ของแท้ อเมริกากับกองกำลังของเนโตกำลังไล่ล่าอัล-ไคดากับทาลีบานอยู่ที่นั่น - - เดโมแครตบอกเราอย่างนั้น ว่าแล้วเดโมแครตก็เพิ่มงบให้รีพับลิกัน พร้อมกับวางแผนจะเพิ่มทหารอีกในอนาคต

 

อเมริกากำลังทำให้โลกนี้ปลอดภัย? อเมริกากำลังรบกับ "ผู้ก่อการร้าย" ในอัฟกานิสถาน?

 

หลังการบุกโจมตีและยึดครองอัฟกานิสถานมากว่า 5 ปี น่าเสียดายที่กองทัพอเมริกาและเนโตยังคงมีปัญหา...แยกแยะระหว่างทาลีบาน อัล-ไคดา และประชาชนตาดำๆ ธรรมดาๆ ไม่ออกเป็นประจำ

 

ล่าสุด 4 มีนาคม 2007 บนถนนสายหนึ่งในจังหวัด นันการ์ฮาร์ (Nangarhar) ทหารนาวิกโยธินอเมริกัน ในรถฮัมวี่สามคัน (ทีมปฏิบัติการพิเศษ) โกรธที่ถูกซุ่มยิงโจมตีมาจากจุดอื่น ได้ปฏิบัติการบ้าคลั่งกราดยิงไม่เลือกไปตามทาง สังหารชาวบ้านไปอย่างน้อย 12 คน (รวมเด็กผู้หญิงสี่ขวบ เด็กผู้ชายหนึ่งขวบ คนแก่ 3 คน) และบาดเจ็บอีก 35 คน หลังจากนั้น  อเมริกาได้ทำลายภาพถ่ายและวิดีโอหลักฐานของนักข่าวเอพีตามมา

 

วันรุ่งขึ้น กองกำลังของเนโตบอมบ์บ้านหลังหนึ่งด้วยระเบิด 2,000 ปอนด์ สังหารเด็กไป 3 คน ผู้หญิง 5 คน และคนแก่อายุ 80 อีกหนึ่งคน - เอ๊ะ...หรือว่าทั้งหมดนี้จะเป็นทาลีบาน???

 

การสังหารไม่เลือก การบอมบ์ไม่เลือก การกราดยิงไม่เลือก เกิดขึ้นเป็นประจำใน "สงครามต่อต้านการก่อการร้ายที่ถูกต้องชอบธรรมมากๆ ของเดโมแครต"  ปีที่แล้ว 2006 ฮิวแมน ไรทส์ วอทช์ รายงานว่า ชาวอัฟกันที่ตายจากความรุนแรงมีประมาณ 4,400 คน

 

ที่ผ่านมา "กองทัพผู้ยึดครอง" ทั้งอเมริกาและเนโต พยายามสร้างภาพว่า ชาวอัฟกานิสถานที่ลุกขึ้นมาต่อต้านพวกมันคือทาลีบาน แต่เพราะการบอมบ์ ยิง ทำลายล้างไม่เลือก ประกอบกับสภาพความเป็นอยู่ที่แร้นแค้นเลวร้ายขนาดหนัก ความไม่ปลอดภัย ความยากไร้ ความสิ้นหวัง กำลังให้ประชาชนอัฟกานิสถานจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ลุกขึ้นมาต่อต้านผู้ยึดครองต่างชาติและรัฐบาลหุ่นเชิดของ ฮามิด คาร์ไซ (Hamid Karzai) ขบวนการชาตินิยมปลดปล่อยอัฟกานิสถานกำลังโตวันโตคืน พร้อมๆ กับความขัดแย้งที่ขยายตัวรุนแรงขึ้น สถานการณ์ในอัฟกานิสถานกำลังย่ำแย่และร้อนระอุ...เจริญรอยตามอิรักเข้าไปทุกที

 

ถึงแม้จะไม่มีน้ำมันและทรัพยากรล้ำค่า แต่ด้วยความสำคัญด้าน "ภูมิรัฐศาสตร์" เป็นเริ่ด อเมริกา-หัวหน้าเนโตจึงไม่คิดที่จะทิ้งที่นี่ไปไหน ยิ่งกว่านั้น ฤดูใบไม้ผลินี้ กองทัพอเมริกากับอังกฤษกำลังจับมือกันระดมปฏิบัติการ "ปราบใหญ่" อยู่อย่างแข็งขัน ซึ่งก็แน่นอนว่า เหตุการณ์ "ปราบประชาชนเจ้าของประเทศ" ด้วยความรุนแรงไม่เลือกหน้าก็จะตามมาอีก

 

ฮิวแมน ไรทส์ วอทช์ อาจจะยังบวกลบคูณหารคาดการณ์ไม่ถูก...ว่างานนี้จะสร้างความเสียหายทำลายชีวิตชาวอัฟกานิสถานไปอีกเท่าไหร่

 

12 กุมภาพันธ์ ระหว่างทัวร์ต่างประเทศเพื่อเตรียมการสำหรับปฏิบัติการปราบใหญ่ที่ว่านี้ รอเบิร์ต เกตส์ กล่าวว่า "หลังโซเวียตถอนออกไป อเมริกาได้ทำผิดพลาด เราปล่อยปละละเลยอัฟกานิสถาน และพวกเอ็กซตรีมมิสต์สุดขั้วทั้งหลายก็ได้มายึดประเทศนั้นไป เราจะไม่ทำผิดพลาดอีกแล้ว...เราจะอยู่ที่นี่เพื่อภารกิจอันยาวนาน"

 

เนโตมีกองกำลัง 35,000 อเมริกามีกองกำลังที่อยู่กับเนโต 14,000  แยกบัญชาการเองอีก 12,000 ต้นปีนี้ นอกจากอิรัก บุชเพิ่งจะสั่งเพิ่มทหารที่นี่อีก 3,500 ขณะนี้ อเมริกาจึงมีทหารทั้งหมดราวๆ 27,000 ในอัฟกานิสถาน - - ต้นปีนี้เช่นกัน ทั้ง ฮิลลารี คลินตัน และ แนนซี เพโลซี ต่างก็แวะเวียนมาเปลี่ยนอากาศกันแถวๆ คาบูล ไม่มีใครรู้ว่าปีนี้ ปีหน้า ปีโน้นจะมีการเพิ่มทหารเข้ามาอีกเท่าไหร่ แต่ตราบใดที่ทั้งรีพับลิกันกับเดโมแครตต่างก็ "เห็นพ้องต้องกัน" กับแนวรบนี้ ภารกิจที่นี่...ก็คงจะอีกยาววววว อย่างที่เกตส์ว่า

 

จากอิรัก ถึงอัฟกานิสถาน เดโมแครตบอกเราว่า...อย่างน้อยก็มีหนึ่งสงครามที่ถูกต้อง อย่างน้อยก็มีหนึ่งสงครามที่จำเป็นต้องทำ ขอบคุณอเมริกาที่เอาประชาธิปไตยมาให้ ขอบคุณอเมริกาที่กำลังทำให้โลกนี้ปลอดภัย ไม่มีอะไรผิดอยู่แล้ว ไม่มีอะไรผิดทั้งสิ้น........

 

อ้อ แล้วก็ขอบคุณจริงๆ ที่ทำให้ประชาชนดีๆ อยากเป็น "ผู้ก่อการร้าย" มากขึ้น o

 

 

- - - - - - - - - -

 

(ตอน 3 ตอนสุดท้าย : เดโมแครต อิสราเอล อิหร่าน/ ความตีบตันของระบบพรรคการเมืองสองพรรค)

 

 

 

 

อ่านตอนแรก

 


แผนถอนทหารจากอิรัก?! รู้จัก "ลิเกเดโมแครต" (ตอน1)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท