Skip to main content
sharethis

ชำนาญ จันทร์เรือง


 


หนึ่งในจำนวนบรรดาผู้คนจำนวนมากที่มีความรู้สึกอึดอัดขัดข้องและทุกข์ระทมในประเทศไทยปัจจุบันนี้ คงจะต้องรวม พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน หัวหน้าคณะรัฐประหาร 19 ก.ย. 49 และ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรีที่มาจากการรัฐประหารในครั้งนี้เข้าไปด้วยอย่างแน่นอน


 


เนื่องเพราะการตัดสินใจทำรัฐประหารในครั้งนี้เกิดขึ้นอย่างไม่มีการเตรียมพร้อมที่จะเผชิญกับสถานการณ์ที่แตกต่างไปจากการรัฐประหารที่ผ่านๆ มาในอดีต ไม่ว่าจะเป็นการต่อต้านจากกลุ่มอำนาจเก่า หรือคลื่นใต้น้ำ การก่อความไม่สงบ ไม่ว่าจะเป็นการวางระเบิดหรือเผาโรงเรียนที่ระบาดจากภาคใต้เข้าสู่เมืองหลวงและเมืองอื่นๆ การชุมนุมประท้วงของกลุ่มต่างๆ การเข้าเกียร์ว่างของบรรดาข้าราชการทั้งหลาย ทั้งข้าราชการประจำและข้าราชการการเมืองที่คณะรัฐประหารตั้งมาเองกับมือแท้ๆ ตลอดจนการไม่ยอมรับจากบรรดานานาประเทศที่ต่อต้านการยึดอำนาจโดยใช้กำลัง ฯลฯ


 


การขับเคลื่อนรัฐนาวาเป็นไปด้วยความอึดอัดขัดข้อง จะเดินหน้าก็เดินไม่ได้ จะถอยหลังด้วยการวางมือกลางคันก็ไม่ได้ เพราะเกรงว่านอกจากจะถูกตามเช็คบิลแล้วยังต้องเสื่อมเสียถึงเกียรติประวัติวงศ์ตระกูลเสียอีก เพราะต้นทุนเดิมที่มีอยู่ค่อนข้างสูง ด้วยความเชื่อว่าเป็นผู้ที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นผู้อยู่เหนือเส้นมาตรฐานของความดี แต่เมื่อเข้าสู่อำนาจแล้ว ความดีต่างๆ ที่สั่งสมมาไม่ได้ช่วยให้การบริหารประเทศเป็นไปอย่างราบรื่นแต่อย่างใด แต่กลับถูกว่ากล่าวโจมตีอย่างเสียๆ หายๆ รวมไปถึงการขุดคุ้ยทั้งเรื่องจริงและไม่จริงออกมาก่นด่าประจานโดยเฉพาะอย่างยิ่งทางสื่ออีเล็กโทรนิกส์


 


จากประวัติศาสตร์ชาติไทยที่ผ่านมา ไม่มีคณะรัฐประหารใดที่จบลงอย่างสวยงามเลย แม้แต่จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ หัวหน้าคณะรัฐประหารเมื่อ 16 ก.ย. 2500 และ 20 ต.ค. 2501 เจ้าของวลีอมตะ "ข้าพเจ้าขอรับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว" ที่บางคนยังถวิลหาความเด็ดขาดในการบริหารบ้านเมือง มีการยิงเป้าผู้ถูกข้อหาลอบวางเพลิงและข้อหากระทำการอันเป็นคอมมิวนิสต์ ด้วยการใช้ ม.17 อย่างมากมาย จนท้ายสุดต้องเสียชีวิตคาตำแหน่ง แต่ทรัพย์สมบัติหรือมรดกตกทอด ก็ต้องถูกตามยึดอายัดตกเป็นของแผ่นดินด้วยม.17 ที่ตนเองใช้ประหารชีวิตผู้อื่นนั่นเอง


 


การรัฐประหารครั้งแรกหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 1 เม.ย. 2476 รัฐบาลโดยพระยามโนปกรณ์นิติธาดา นายกรัฐมนตรี ได้ประกาศพระราชกฤษฎีกา "ให้ปิดสภาผู้แทนราษฎรและตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่" โดยยุบคณะรัฐมนตรี แล้วตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ เป็นผลให้พระยามโนปกรณ์นิติธาดาเป็นนายกรัฐมนตรีต่อไปอีกสมัยโดยมิได้รับความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎร พร้อมทั้งงดใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2475 บางมาตรา ซึ่งน่าประหลาด เพราะพระราชกฤษฎีกาซึ่งถือว่ามีลำดับศักดิ์ทางกฎหมายต่ำกว่ารัฐธรรมนูญ แต่กลับไปบังคับให้งดใช้รัฐธรรมนูญ จึงถือได้ว่าเป็นการรัฐประหารเช่นกัน แต่เป็นการรัฐประหารเงียบ


 


แต่ต่อมาเมื่อ 20 มิ.ย. 2476 พระยามโนฯ ก็ถูกยึดอำนาจโดยคณะราษฎร์เดิม จนต้องเดินทางออกจากเมืองไปลี้ภัยอยู่ที่เกาะปีนังเป็นเวลา 15 ปีเศษโดยมิได้กลับมาเมืองไทยอีกเลยและเสียชีวิตที่นั่น


 


ส่วนการรัฐประหารของจอมพลถนอม กิตติขจร เมื่อ 17 พ.ย. 2514 ที่รัฐประหารรัฐบาลของตนเอง แล้วร่างรัฐธรรมนูญฉบับมาราธอนเป็นปีๆ ก็ไม่เสร็จ จนเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลา 16 ที่นักศึกษาและประชาชนออกมาเรียกร้องรัฐธรรมนูญและขับไล่ออกจากตำแหน่งจนต้องหนีออกนอกประเทศ แต่ก็ยังถือว่าโชคดีที่ได้กลับมาใช้ชีวิตบั้นปลายในประเทศไทย


 


การรัฐประหารที่สำคัญอีกครั้งหนึ่ง คือการรัฐประหารเมื่อ 23 ก.พ. 2534 โดยคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติหรือ รสช. ที่คณะรัฐประหารของ พล.อ.สนธิ นำรูปแบบมาใช้เกือบทุกอย่าง แม้กระทั่งรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 49 ก็แทบจะลอกมาทุกมาตรา เพียงแต่เปลี่ยนจากคำว่า รสช. เป็น คมช. เท่านั้น และผลสุดท้ายของการรัฐประหารของ รสช. ก็จบลงด้วยเหตุการณ์นองเลือด "พฤษภาทมิฬ" อันเศร้าสลดเมื่อปี 2535


 


เมื่อหันกลับมาดูการรัฐประหาร 19 ก.ย. 2549 จนถึงปัจจุบันที่ล่วงมา 6 - 7 เดือนนั้นเล่า นับได้ว่าเป็นการรัฐประหารที่มีผู้คนออกมาแสดงความเห็นคัดค้านอย่างชัดแจ้งมากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการแสดงความเห็นผ่านสื่อต่างๆ ที่สำคัญคือ ในโลกของไซเบอร์หรืออินเตอร์เน็ตที่กระทรวงไอซีทีต้องตามไปปิดไปบล็อกอย่างจ้าละหวั่น แต่การปิดเว็บก็ไม่ได้ทำให้อะไรดีขึ้น เพราะเป็นเหมือนกับการวิ่งไล่จับเงานั่นเอง


 


ส่วนการร่างรัฐธรรมนูญนั้นเล่า โอกาสที่จะไม่ผ่านประชามติก็มีค่อนข้างสูง เพราะในเนื้อหาหลักๆ ไม่ว่าจะเป็นการสรรหา ส.ว.ซึ่งผมก็ไม่รู้ว่าหากเรามี ส.ว. ที่มาจากการแต่งตั้งแล้ว ก็ไม่รู้ว่าเราจะมี ส.ว. ไว้ทำไมให้อับอายขายหน้าประชาชีเขา เพราะแม้แต่สภาขุนนางของอังกฤษที่มีวิวัฒนาการมาเป็นหลายร้อยปี เดี๋ยวนี้ก็มีการเสนอให้เลือกตั้งกันหมดแล้ว หากเรามี ส.ว.ที่มาจากการแต่งตั้ง สู้เรามีสภาเดียวเหมือนสวีเดนหรือนอร์เวย์เสียยังจะดีกว่า


 


อีกทั้งระบบการเลือกตั้งที่จะใช้แบบแบ่งเขตเรียงเบอร์แทนแบบเขตเดียวคนเดียว ที่เดิมผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งมีสิทธิ์เท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะอยู่จังหวัดเล็กหรือจังหวัดใหญ่นั้น มองอย่างไรก็ไม่อาจคิดเป็นอย่างอื่นได้ว่า ไม่ใช่การจงใจทำลายระบบพรรคการเมือง ไม่ว่าจะเป็นพรรคเก่าพรรคใหม่ หรือพรรคที่หลงไปเชลียร์คณะรัฐประหารมาตั้งแต่ต้น ที่ตอนนี้ก็คงรู้ซึ้งแล้วว่าเขาคิดอย่างไรกับระบบพรรคการเมือง และยิ่งจะเลวร้ายมากขึ้นไปอีก หากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติแล้ว คมช.หยิบเอารธน.ที่ต่ำกว่ามาตรฐานฉบับปี 40 มาใช้ ซึ่งจะถูกต่อต้านอย่างรุนแรงอย่างแน่นอน


 


จากเหตุผลที่ยกมาข้างต้นทั้งหมดนี้ จึงจะเห็นได้ว่า การทำรัฐประหารในยุคต่อไปนี้ "ไม่หมู" แล้วสำหรับการนำรถถังเก่าๆ ออกมาวิ่งในถนน ยึดสถานีวิทยุโทรทัศน์ พร้อมกับออกประกาศยึดอำนาจเพื่อปกครองผู้คนในยุคที่โลกมีการสื่อสารถึงกันทั่วโลกในพริบตาเดียวเช่นนี้ให้เชื่อฟังและปฏิบัติตามโดยไม่หือไม่อือเหมือนในอดีตที่ผ่านมา


 


การห้ามความคิดของคนที่อยากจะทำรัฐประหารนั้น คงห้ามความคิดกันไม่ได้ เพราะคนที่คิดแก้ปัญหาบ้านเมืองด้วยวิธีการมักง่าย ใจร้อน นั้นมีอยู่มากมาย แม้แต่กลุ่มองค์กรที่มีชื่อต่อท้ายว่า "ประชาธิปไตย" ทั้งหลาย ก็ยังพากันเรียกร้องให้ทหารออกมายึดอำนาจ แทนการแก้ไขปัญหาในวิถีทางประชาธิปไตยตามชื่อเรียกของกลุ่มตนเอง


 


ฉะนั้น จากบทเรียนอันเจ็บปวดที่ผมยกมาทั้งหมดนี้ จึงเชื่อได้ว่าการรัฐประหาร 19 ก.ย. 49 นี้จะเป็นการรัฐประหารครั้งสุดท้ายของไทยเรา ด้วยเหตุว่าคนที่คิดจะทำรัฐประหารต่อไปในอนาคต นอกจากจะ "โง่" แล้วยัง "บ้า" อีกต่างหาก นอกเสียจากว่าอยากจะคิดฆ่าตัวเองและประเทศชาติให้ตายตกไปตามกันเท่านั้น


 


 


 


 


-----------------------------


 


หมายเหตุ เผยแพร่ครั้งแรกในกรุงเทพธุรกิจ วันพุธ 26 เม.ย. 50

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net