รอฟัง ! ผู้ใหญ่กำลังคุยกันบัญญัติหรือไม่เรื่องศาสนาพุทธในรัฐธรรมนูญ

ประชาไท - 26 เม.ย. 50 นายจรัญ ภักดีธนากุล กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญกล่าวถึงการเสนอร่างรัฐธรรมนูญร่างแรกให้ ส.ส.ร. ชุดใหญ่และ 12 องค์กรตามรัฐธรรมนูญนำไปพิจารณาและรับฟังความคิดเห็นว่า ร่างนี้เป็นเพียงร่างแรกที่กรรมาธิการทำขึ้นเท่านั้น ต้องนำกลับไปรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนหลังจากนั้นจึงจะมาจัดทำเป็นร่างที่ 2 ต่อไป ทั้งนี้ เนื้อหาต่างๆ ในรัฐธรรมนูญยังสามารถเปลี่ยนแปลงได้

 

เมื่อถามถึงกรณีข้อเรียกร้องให้บัญญัติพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติและทางกลุ่มผู้ชุมนุมอ้างว่ามีผู้สนับสนุนอีกเป็นจำนวนมาก นายจรัญ กล่าวว่า ไม่มีอะไรหากทุกคนมีความสุจริตใจเอาผลประโยชน์ของบ้านเมืองเป็นเป้าหมายและมีความเมตตาและในขณะนี้เรื่องดังกล่าวผู้ใหญ่ก็กำลังหารือกันอยู่

 

เมื่อถามถึงกรณีการสรรหา ส.ว. ซึ่งหลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่าไม่เป็นประชาธิปไตย นายจรัญ กล่าวว่า ในระบอบประชาธิปไตย หากเป็นองค์อำนาจเช่นสภาผู้แทนราษฏรหรือรัฐบาลก็ควรให้มาจากการเลือกตั้ง เพราะต้องถือว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน แต่อย่างไรก็ตาม ยังต้องมีหลายองค์กรที่จะมีบทบาทเป็นผู้คัดกรองการใช้อำนาจและตรวจสอบการใช้อำนาจ ดังนั้น ก็ควรจะไม่เป็นฝักเป็นฝ่ายกับนักการเมือง เช่น ฝ่ายตุลาการหรือองค์กรอิสระขอถามว่าเราต้องการให้วุฒิสภาเป็นองค์อำนาจหรือเป็นผู้คัดกรองอำนาจ ซึ่งหากเราให้วุฒิสภามาจากการเลือกตั้งจะหนีไม่พ้นความเป็นฝักฝ่ายกับนักการเมือง วุฒิสภาก็จะไม่มีความหมายและมีสภาพเป็นเพียงสภาผู้แทนราษฏรชุดที่ 2 เท่านั้น

 

"หากให้ ส.ว. มาจากการเลือกตั้งเราก็จะไม่สามารถได้ตัวแทนที่มาจากสัดส่วนของประชาชนในภาคส่วนต่างๆ ของสังคมเช่นตัวแทนวิชาชีพ และอีกหลายต่อหลายคนก็จะไม่มีโอกาสเข้ามาเป็นกลไกในสภาได้ และเราก็จะได้เพียงนักเลือกตั้งมือสองรองจาก ส.ส. ที่เป็นองค์อำนาจเท่านั้น" นายจรัญกล่าว

 

เมื่อถามว่า หากมีการเสนอประเด็นนี้แปรญัตติ นายจรัญจะคัดค้านใช่หรือไม่ นายจรัญปฏิเสธว่า เขาเพียงจะนำเสนอความเห็นของคณะกรรมาธิการเท่านั้น ไม่มีจุดยืนว่าจะต้องเป็นแบบนั้นแบบนี้ ทั้งหมดจะต้องรับฟังความคิดเห็นอีกครั้งหนึ่ง

 

เมื่อถามต่อว่า หลายฝ่ายตั้งคำถามว่าจะเชื่อใจคณะกรรมการสรรหา ส.ว.ได้อย่างไร นายจรัญกล่าวว่า ถามว่ามีองค์กรไหนในบ้านเมืองที่เป็นกลางทางการเมืองมากกว่าคนกลุ่มนี้และหลายคนจะตั้งข้อสังเกตว่าองค์กรอิสระในชุดที่แล้วก็ไม่เป็นกลาง แต่ทั้งนี้ก็เนื่องจากกลไกการเข้าสู่อำนาจขององค์กรอิสระชุดที่แล้วการเมืองสามารถส่งคนเข้าแทรกแซงได้ เราก็ต้องการช่องทางในการปิดเรื่องนี้ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้ปิดช่องโหว่เรื่องเหล่านี้ไว้หมดแล้ว

 

เมื่อถามต่อว่า มีผู้เรียกร้องให้ใช้มาตรฐานในการตรวจสอบศาลเช่นเดียวกับนักการเมืองเพราะศาลค่อนข้างมีอำนาจมากในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ นายจรัญกล่าวว่า ยินดีที่สุด เขาเห็นด้วยกับแนวคิดดังกล่าวที่จะให้ตรวจสอบศาลอย่างเข้มงวด

 

ผู้สื่อข่าวจึงถามต่อว่า แนวคิดดังกล่าวรวมไปถึงการถือหุ้นด้วย นายจรัญกล่าวว่า เขามองว่าอำนาจของผู้พิพากษาตุลาการยังห่างไกลกับกรณีนี้ แต่อย่างไรก็ตาม หากต้องการระบุไว้ ก็ไม่ขัดข้องเพราะไม่ว่าใครก็ตามที่เป็นตุลาการแล้วยังคงเล่นหุ้นก็ควรลาออกไป

 

นรนิติ ห่วงมือที่ 3 โหนกระแสการชุมนุม

ด้านนายนรนิติ เศรษฐบุตร ประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ให้สัมภาษณ์ก่อนเข้าสู่พิธีมอบรัฐธรรมนูญให้องค์กรตามรัฐธรรมนูญ 12 องค์กรว่า อยากให้ประชาชนดูภาพรวมของร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ซึ่งมีทั้งสิ้น 299 มาตรา มากกว่าการดูเพียงมาตราใดมาตราหนึ่ง แล้วเอาข้อด้อยที่ไม่เห็นด้วยมาพูดกัน อย่างไรก็ตามหลังจากรับร่างในวันนี้ขั้นตอนต่อไปคือการรับฟังความคิดเห็นตามมาตรา 26 ส่วนการแปรญัตตินั้น จะต้องมีสมาชิก ส.ส.ร.จำนวน 10 คนในการรับรองเพื่อขอแปรญัตติ ทั้งนี้นายนรนิติ ยอมรับว่า มีความเป็นห่วง เกี่ยวกับการชุมนุมของกลุ่มต่างๆ ซึ่งผู้ที่ไม่เห็นด้วยในเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญ อาจแสดงความคิดเห็นได้ก็ไม่เป็นไร แต่ถ้ามีการชุมนุมกันมากอาจมีปัญหาอื่นแทรกซ้อนได้

 

ผู้สื่อข่าวถามว่าหากมีการชุมนุมมากขึ้น อาจส่งผลต่อการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญหรือไม่ นายนรนิติ กล่าวว่า เขาไม่มีหน้าที่ในการแก้ไข กรรมาธิการยกร่างฯ ต้องไปดู ว่าควรจะแก้อย่างไร แต่คิดว่าคงไม่ได้แก้เพราะหากมีการแก้ไขตามคำเรียกร้องของกลุ่มผู้ชุมนุมก็คงแก้ไม่ได้ เมื่อมีการยกร่างรัฐธรรมนูญต้องมีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเป็นหลัก ถ้าจะบอกว่าฟังความเห็นของประชาชนแล้วไม่ได้มีการบรรจุในรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยาก ซึ่งอาจะนำมาใส่บ้างและต้องดูจากเหตุผลในการพิจารณา

 

เมื่อถามว่าอยากฝากอะไรไปถึงการทำประชามติบ้าง นายนรนิติกล่าวว่า ประชามติต้องรอให้ร่างรัฐธรรมนูญร่างแรกผ่านการรับรองจากรัฐสภาก่อน เพราะตอนนี้ถ้าพูดไปอาจมีการแก้ไขได้ ซึ่งอาจมีองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญแสดงความคิดเห็น และกรรมาธิการยกร่างฯ และ ส.ส.ร.จะนำความคิดเห็นนั้นๆไปพิจารณา

 

องค์กรพุทธ ยื่นหนังสือบรรจุพุทธใน รธน. ถึงมือนายกฯ

วันเดียวกันที่รัฐสภา เมื่อเวลา 10.00 น. ตัวแทนองค์กรพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย นำโดย พระเทพสุทธิกวี รองประธานองค์กรพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย ตัวแทนฝ่ายสงฆ์ พล.อ.ธงชัย เกื้อสกุล ประธานอำนวยการองค์กรพุทธฯ ตัวแทนฝ่ายฆราวาส ได้ยื่นหนังสือเรียกร้องต่อ นายเสรี สุวรรณภานนท์ ประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) คนที่ 1 เพื่อให้รัฐธรรมนูญปี 2550 บัญญัติให้ประเทศไทยมีศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ

 

โดย พระเทพวิสุทธิกวี กล่าวว่า ขอส่งความต้องการเรื่องนี้ให้ ส.ส.ร.พิจารณา โดยต้องการให้เรื่องดังกล่าวบัญญัติในรัฐธรรมนูญ มาตรา 2 ว่า ประเทศไทยมีศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ ทั้งนี้ข้อเรียกร้องดังกล่าวได้รวบรวมมาจากวงสัมมนาต่างๆ ที่เป็นความเห็นของประชาชนอย่างแท้จริง พร้อมย้ำว่าการเคลื่อนไหวเรียกร้องครั้งนี้ไม่มีอะไรแอบแฝง เพราะพุทธศาสนิกชนไม่ต้องการอะไรมากไปกว่าที่จะเห็นพุทธศาสนาเกิดความมั่นคง ยั่งยืนในประเทศไทย

 

ด้านนายเสรี กล่าวว่า จะนำข้อคิดเห็นดังกล่าวไปให้กับ สมาชิก ส.ส.ร. พิจารณาอย่างแน่นอน ทั้งนี้ได้รับรู้ถึงความต้องการและประสงค์ดีที่ต้องการจะสืบทอดให้พุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองในประเทศไทย อย่างไรก็ตามเชื่อว่า คณะกรรมาธิการยกร่างต้องยกร่างรัฐธรรมนูญให้อย่างดีที่สุด พร้อมกับรับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วน เพื่อนำไปปรับปรุงร่างรัฐธรรมนูญให้เหมาะสม

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างที่ตัวแทนองค์กรดังกล่าว จะเดินทางออกจากอาคารรัฐสภา ปรากฏว่า ได้พบกับ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี ที่ชั้น 2 หน้าห้องประชุมรัฐสภา โดยตัวแทนกลุ่ม ได้ยื่นเอกสารข้อเรียกร้องดังกล่าวให้กับนายกรัฐมนตรีด้วย ทั้งนี้ พล.อ.สุรยุทธ์ กล่าวสั้นๆ ว่า สิ่งที่รัฐบาลอยากเห็นคือ การพูดจาหารือกันในลักษณะนี้ เชื่อว่าทุกฝ่ายจะมีการร่วมมือกันต่อไป

 

สมาคมคนตาบอด ชุมนุมขอแก้ รธน. ม.30 เพื่อความเสมอภาค  

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่บริเวณด้านหน้ารัฐสภา ได้มีสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย ตั้งเต็นท์ พร้อมมีเครื่องขยายเสียง ชุมนุมเรียกร้องอยู่ที่บริเวณด้านหน้ารัฐสภา ตรงข้ามกับสวนสัตว์ดุสิต โดยได้มี นาย มณเฑียร บุญตัน นายกสมาคม เป็นผู้นำสมาชิกมาร่วมชุมนุมแสดงพลังกว่า 100 คน

 

ทั้งนี้ นายมณเฑียร กล่าวว่า ภายหลังจากที่พิธีมอบร่างรัฐธรรมนูญให้กับองค์กรตามรัฐธรรมนูญ แล้วเสร็จ จะนำตัวแทนประมาณ 10 เข้ายื่นหนังสือต่อ นายนรนิติ เศรษฐบุตร ประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ ( ส.ส.ร.) เพื่อเรียกร้องให้มีการพิจารณาแก้ไขมาตรา 30 (3) ที่กล่าวถึงการห้ามเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม โดยอยากให้เพิ่มคำว่า "ความพิการ" เข้าไป ทั้งนี้เห็นว่าข้อความในมาตรา 30 (3) ไม่ได้ครอบคลุมถึงกลุ่มคนพิการ อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดการเลือกปฏิบัติได้

 

นายมณเฑียร กล่าวด้วยว่า ข้อเสนอดังกล่าวอยากจะให้คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ และฝ่ายที่เกี่ยวข้องเขียนเข้าไปก่อนที่จะมีการแปรญัตติตามกระบวนการ เนื่องจากพวกเขาได้เรียกร้องหลายครั้งแล้ว แต่ก็ไม่มีความคืบหน้าในการดำเนินการแต่อย่างใด ซึ่งหากพวกเขาไม่ได้รับการตอบสนองตามข้อเรียกร้อง อาจจะระดมคนพิการทั่วประเทศออกมาเคลื่อนไหวในการเรียกร้องต่อไป

 

นายต่อพงษ์ เสลานนท์ โฆษกสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย กล่าวถึงการรณรงค์เผยแพร่รัฐธรรมนูญของสภาร่างรัฐธรรมนูญ ว่า การรณรงค์ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการร่างรัฐธรรมนูญของ ส.ส.ร.ไม่เคยคำนึงถึงคนตาบอดที่มีอยู่ในประเทศไทยไม่น้อยกว่า 6 แสนคน เพราะไม่เคยมีการจัดทำรัฐธรรมนูญที่เป็นอักษรเบรล หรือสื่อเสียง ที่จะทำให้คนตาบอดเข้าใจเนื้อหาในรัฐธรรมนูญ

 

"ผมขอตำหนิการทำงานของสภาร่างรัฐธรรมนูญว่าไม่สนใจในประเด็นนี้เลย คนตาบอดก็เป็นคนไทยเหมือนกัน เวลามีปัญหาทางกฎหมายก็บอกว่าคนจะอ้างว่าไม่รู้กฎหมายไม่ได้ แต่พอจะร่างกฎหมายเราไม่เคยรับรู้เลยว่าเขียนอะไรกันบ้าง เพราะไม่เคยมีสื่อที่คนตาบอดจะอ่านรัฐธรรมนูญได้ ทำให้เราไม่มีสิทธิรู้ข้อความที่บัญญัติด้วยตัวเองถ้าไม่มีคนอื่นเล่าให้ฟังก็ไม่มีทางรู้ พวกเราเข้าใจว่าการดำเนินการต้องคิดถึงส่วนใหญ่เป็นหลักแต่หลักการประชาธิปไตยที่สมบูรณ์นั้นต้องไม่ละเลยเสียงของคนส่วนน้อยในสังคม"นายต่อพงษ์ กล่าว

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท