บทความ : บทพิสูจน์น้ำยารัฐทหาร กรณีแก้ปัญหาราคาหอมแดงแม่แจ่มตกต่ำ

โดย สุริยันต์ ทองหนูเอียด


ฝ่ายวิชาการและนโยบาย กองเลขานุการสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ


 



ขณะที่ คมช. และ รมต.หลายคนในรัฐบาลชุดนี้ กำลังออกมาข่มขู่การชุมนุมเคลื่อนไหวของกลุ่มองค์กรประชาชนทั่วประเทศ ทั้งกลุ่มอำนาจเก่า ไม่เก่า มีท่อน้ำเลี้ยง หรือไม่มีท่อ พร้อมขู่จะดำเนินการทางกฎหมายอย่างเด็ดขาด และจะตรวจสอบเบื้องหลังการเคลื่อนไหวของแกนนำทั้งหลายอย่างถี่ยิบ               


แต่นอกจากโวหารเหล่านี้ ดูเหมือนว่าพวกเขา ยังไม่ได้ให้เห็นถึงกึ๋นหรือ ภูมิปัญญาว่าจะแก้ไขปัญหาการชุมนุมอย่างไร ด้วยวิธีไหน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแก้ปัญหาความเดือดร้อนของกลุ่มเกษตรกร

ดังเช่น การการชุมนุมเรียกร้องของสมาชิกสหกรณ์ผู้ปลูกหอมแดงแม่แจ่ม จำกัด และกลุ่มเกษตรผู้ปลูกหอมแดง อำเภอแม่แจ่ม กว่า 300 ราย ที่ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ โดยเรียกร้องขอให้รัฐบาลเร่งดำเนินการช่วยเหลือเพื่อแทรกแซงปัญหาราคาหอมแดงตกต่ำ ฤดูกาลผลิตปี 2549/2550 ระหว่างวันที่ 9 -12 เมษายน 2550 และล่าสุด ตั้งแต่วันที่ 23 เมษายนจนขณะนี้ของกลุ่มเกษตรกรฯ ยังคงปักหลักชุมนุมอยู่

ย้อนความเป็นมา ของปัญหาหอมแดงแม่แจ่ม
พื้นที่ อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ แม้จะมีพื้นที่ใหญ่อันดับหนึ่งของจังหวัด และอันดับสามของประเทศ แต่พื้นที่ราบที่เหมาะแก่การเพาะปลูกมีน้อยและพืชที่เกษตรกรปลูกเป็นอันดับหนึ่ง ก็คือ หอมแดง

ข้อมูลจากสำนักงานเกษตรกร อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ (22 กุมภาพันธ์ 2550) ระบุว่า พื้นที่เพาะปลูกหอมแดงฤดูแล้งของปีการผลิต 2549/2550 ของอำเภอแม่แจ่มมีพื้นที่ 6 ตำบลเนื้อที่ 9,059 ไร่ มีเกษตรกรเพาะปลูก 2,780 ราย ผลผลิตรวม 31,706,500 กิโลกรัม โดยมีผลผลิต เฉลี่ย 3,500 กก./ไร่ คิดเป็น 79.08% ของพื้นที่ทั้งหมดของจังหวัด โดยผลผลิตจะออกสู่ตลาดสูงสุดในช่วงเดือนมีนาคมต่อเนื่องถึงต้นเมษายน

 

การคาดการณ์เฉพาะหน้าว่า ราคาหอมแดงปีนี้ จะตกต่ำแน่ หากรัฐใช้แค่กลไกการตลาดปัจจุบัน ผ่านมือพ่อค้าคนกลางเพียงอย่างเดียว ดังนั้นสหกรณ์ผู้ปลูกหอมแดงแม่แจ่มจำกัด จึงได้รวบรวมข้อมูลและและขอรับแนวทางการแก้ไขปัญหาจากจังหวัดเชียงใหม่ นับตั้งแต่เดือนธันวาคม 2549 แล้ว หากแต่กลไกรัฐระดับล่างถึงส่วนบน ก็อยู่ในอาการเดียวกัน นั่นคือ ไม่เกียรว่าง ก็ถอยหลัง

การดำเนินการของหน่วยงานของรัฐ คืบคลานแต่ไม่คืบหน้า

การประชุมคณะกรรมการนโยบายและมาตรการและมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร (คชก.) ครั้งที่ 2/2550 (ครั้งที่ 174) เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2550 ที่สำนักงานปลักกระทรวงพาณิชย์ ผลการประชุมเรื่องการแทรกแซงตลาดหอมแดงหอมแดงฤดูแล้งของปีการผลิต 2549/2550 ทั้งระบบมีมติว่า

1.กำหนดราคาเป้าหมายนำ หอมแดงฤดูแล้งจังหวัดแหล่งผลิตภาคเหนือ เทียบเคียงจากฐานราคาเป้าหมายนำหอมแดงจังหวัดศรีษะเกษ ปีการผลิต 2549/2550 โดยคำนวณในแต่ละพื้นที่ เพิ่ม - ลด ตามสัดส่วนราคาตลาดและคุณภาพ (ราคาเป้าหมายนำของจังหวัดศรีษะเกษ แห้งใหญ่คละ กก.ละ 11.00 บาท)

2.อนุมัติเงินทุนหมุนเวียนปลอดดอกเบี้ย จำนวน 75 ล้านบาท ให้กระทรวงมหาดไทย(กรมการปกครอง) นำไปให้จังหวัดที่เป็นแหล่งผลิตหอมแดงฤดูแล้งจังหวัดแหล่งผลิตภาคเหนือ ได้แก่ ลำพูน อุตรดิตถ์ เชียงใหม่ พะเยา เพชรบูรณ์ และเชียงรายฯ ตามสัดส่วนผลผลิต เพื่อนำไปจัดสรรให้ผู้เข้าร่วมร่วมโครงการยืมใช้รับซื้อหอมแดงจากเกษตรกรในราคานำตลาด เมื่อราคาต่ำกว่าหรือคาดว่าจะต่ำกว่าราคาเป้าหมายนำ ระยะเวลาแทรกแซงรับซื้อ-พฤษภาคม 2550 ระยะเวลาโครงการ มีนาคม - กันยายน 2550 โดยให้ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการของส่วนราชการ ตามที่จ่ายจริงร้อยละ 3 ของวงเงินดำเนินการ

จากมติ คชก. ดังกล่าว คณะกรรมการสหกรณ์ผู้ปลูกหอมแดงแม่แจ่มจำกัด ได้ตรวจสอบราคาหอมแดง ร่วมกับกรมการค้าภายในจังหวัดเชียงใหม่ ณ ตลาดหอมแดงลำพูน เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2550 พบว่าการแทรกแซงราคาหอมแดง ตามมติ คชก.นั้นในทางปฏิบัติเป็นไปได้ยาก เนื่องจากพ่อค้ามีทุนอยู่แล้ว แต่ขาดตลาดเพื่อระบายสินค้าเท่านั้น หากผู้เข้าร่วมโครงการแทรกแซงราคาหอมแดงทำการยืมเงินมาแล้วซื้อหอมแดงในราคานำตลาด แต่ไม่สามารถขาดสินค้าออกไปได้เนื่องจากราคาสูงกว่าท้องตลาด ก็จะประสบปัญหาขาดทุน

สหกรณ์ผู้ปลูกหอมแดงแม่แจ่มจำกัด จึงประชุมคณะกรรมการแล้วมติร่วมกัน เพื่อยื่นหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2550  เพื่อเรียกร้องให้ คชก.ทบทวนมติดังกล่าว โดยเรียกร้องให้องค์การคลังสินค้า(อคส.) เป็นหน่วยงานลงมารับซื้อ โดยให้รัฐบาลชดเชยส่วนต่างของราคาเป้าหมายนำ โดยกำหนดราคาเป้าหมายนำในช่วงเดือนเมษายน กก.ละ 11 บาทและหลังเดือนเมษายนแล้ว กก.ละ 15 บาท โดยขอให้ทางรัฐชี้แจงความคืบหน้าการให้ความช่วยเหลือภายในวันที่ 6 เมษายน 2550

ต่อมา คชก. ได้มีหนังสือ เรื่อง การแทรกแซงตลาดหอมแดงฤดูแล้ง ฤดูการผลิต 2549/2550  เมื่อวันที่ 12 เมษายน 2550 อ้างถึงข้อเรียกร้องของสหกรณ์ผู้ปลูกหอมแดงแม่แจ่มจำกัด 4 ข้อนั้น กรมการค้าภายในในฐานะฝ่ายเลขานุการ คชก.พิจารณาแล้ว ให้ใช้มติว่าการแก้ไขปัญหาราคาหอมแดงตกต่ำให้ใช้การแทรกแซงตลาดหอมแดงแนวทางเดียวกับจังหวัดศรีษะเกษ เพื่อเป็นหลักการเดียวกันอย่างเป็นธรรมและไม่เลือกปฏิบัติ การช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกหอมแดงอำเภอแม่แจ่มก็ต้องดำเนินการตามมติดังกล่าว

ดังนั้น ข้อเสนอของกลุ่มเกษตรกรที่เรียกร้องให้รัฐ ชดเชยส่วนต่างของราคาเป้าหมายนำ เพื่อช่วยเหลือปัญหาราคาตกต่ำ ตามท้องตลาดเพื่อให้เกษตรกรอยู่ได้ไม่ต้องเป็นหนี้มากหนัก จึงถูกเพิกเฉย

คณะกรรมการเพื่อแก้ไขปัญหาเกษตรกรอันเนื่องจากผลิตผลการเกษตรระดับจังหวัด ได้ประชุม เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2550 ณ ห้องประชุมสำนักงานพาณิชย์จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีนายธงชัย วงษ์เหรียญทอง รองผู้ว่าราชการฯ เป็นประธานฯ ได้มีความเห็นร่วมกันว่าให้จังหวัดจัดทำหนังสือตามข้อเรียกร้องของกลุ่มเกษตรฯ เพื่อขอความร่วมมือไปนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อขอให้พิจารณาในการช่วยเหลือโดยการขอให้รับเป็นหน่วยงานรับซื้อหอมแดง โดยขอทราบคำตอบภายในวันที่ 23 เมษายน 2550 เพื่อเป็นข้อพิจารณาในการนัดประชุมของคณะกรรมการชุดนี้ครั้งต่อไป

การประชุมคณะกรรมการชุดดังกล่าวเมื่อวันที่ 24 เมษายนที่ผ่านมา เพื่อขอทราบคำตอบว่า อบจ.เชียงใหม่ จะดำเนินการอย่างไร คำตอบที่ได้ คือ อบจ. ยังไม่มีคำตอบในเรื่องนี้ แต่จะประชุมกลุ่มเกษตรกร ทั้งจังหวัดกว่า 50 กลุ่ม ในวันที่ 27 เมษายน นี้ เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาของใคร แบบไหนไม่ทราบได้

ความไม่คืบหน้าดังกล่าว ทำให้สหกรณ์ผู้ปลูกหอมแดงแม่แจ่ม จำกัด จึงขอเสนอตัวเข้าโครงการโครงการยืมใช้รับซื้อหอมแดงจากเกษตรกรในราคานำตลาด และเรียกร้องให้จังหวัดดำเนินการดังต่อไปนี้

1.ขอเรียกร้องให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดของจังหวัดและฐานะที่ได้รับมอบหมายจากส่วนกลาง ทั้งรัฐบาลและคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ(คมช.) ต้องลงมาแก้ไขปัญหาราคาหอมแดงตกต่ำโดยตนเอง เพื่อให้ความเดือดร้อนของเกษตรกรได้รับการแก้ไขโดยเร่งด่วน

2.ขอให้ผู้ว่าราชการแต่งตั้งคณะทำงานช่วยเหลือการดำเนินการของสหกรณ์ฯ เพื่อจัดหาตลาดทั้งภายในและภายนอกประเทศ ทั้งส่วนราชการและเอกชน และหวังว่า รัฐบาลปัจจุบัน และผู้ว่าราชการในจังหวัดเชียงใหม่จะได้แสดงความกล้าหาญ กล้าตัดสินใจ เร่งเข้าเกียรห้า แก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของเกษตรกรในระดับพื้นที่อย่างมืออาชีพ หยุดอ้างกลไกราชการ เพื่อผลักภาระให้พ้นจากความรับผิดชอบ

ปัญหาและอุปสรรคมันเกิดขึ้นตรงไหน!?
การแก้ไขปัญหาราคาราคาหอมแดงตกต่ำที่ อ.แม่แจ่ม ไม่ใช่จะเพิ่งเกิดขึ้น ครั้งนี้เป็นครั้งแรก หากแต่เกิดขึ้นซ้ำซากเกือบทุก เช่น ปี 2544, 2547 หรือกระทั่งปัจจุบัน ปัญหาที่เกษตรกรประสบ ก็คือ

1.การแก้ปัญหาของส่วนราชการเป็นไปลักษณะตั้งรับ ไม่สร้างนโยบาย ไม่กล้าตัดสินใจในเชิงรุก ติดขัดระบบราชการ ซึ่งไม่ต่างอะไรกับบทสรุป เมื่อปี 2544 คือ ที่ท่าทีของรัฐราชการ ก็คือเมินเฉย ปล่อยให้การแก้ไขปัญหาผ่านกลไกปกติ กรรมการชุดต่างๆ สุดท้ายก็ต้องให้กลุ่มผู้ชุมนุมกดดันเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

2.การจัดทำข้อมูลของส่วนราชการไม่ตรงกับข้อเท็จจริงของกลุ่มเกษตรกร ทำให้การเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาผิดพลาด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ต้นทุนผลผลิต เช่น ราคาต้นทุนหอมแดงปีนี้ กลุ่มเกษตรกรคำนวณราคาหอมสดอยู่ที่ 10.14 บาท/กก. เกษตรอำเภอแม่แจ่มคำนวณต้นทุนอยู่ที่ 4.70 บาท/ กก.และเมื่อพิจารณาร่วมกันกับสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเขต 1 ปรับมาอยู่ที่ 8.10 บาท/กก.เป็นต้น

3.กลไก คชก.ระดับชาติไม่สามารถแก้ไขปัญหาเกษตรระดับพื้นที่ได้ ด้านหนึ่ง คชก.เป็นกลไกไกล่เกลี่ยให้เกษตรกรยอมรับมาตรการเพื่อยุติการชุมนุมเท่านั้น โดยไม่สนใจว่ามาตรแต่ละครั้งจะแก้ไขปัญหาเกษตรกรได้ทุกครั้งหรือไม่ ไม่คำนึงถึงความแตกต่างตามแต่ละภูมิประเทศและเงื่อนไขการตลาด

ด้านหนึ่ง คชก.ก็คือเวทีต่อรองผลประโยชน์ของนายทุนนักการเมือง และข้าราชการระดับสูง เป็นโครงระบบปิดไม่มีตัวแทนภาคประชาชน และปราศจากการตรวจสอบจากภาคสังคม ทำให้การแก้ไขปัญหาไม่สอดคล้องกับความต้องการของเกษตรกร แม้จะเคยมีข้อเสนอให้รื้อปรับโครงสร้าง โดยให้ตัวแทนของกลุ่มเกษตรกรร่วมเป็นคณะกรรมการด้วย และให้มี กลไก คชก.ระดับจังหวัดเพื่อแก้ไขปัญหาเร่งด่วนได้ทันท่วงที แต่ข้อเสนอชนิดนี้ไม่เคยได้รับการตอบรับและมีการปรับปรุงแต่ประการใด

 

บทสรุปสำหรับรัฐทหาร คมช. ครม.และวอรูม นักที่ปรึกษา รัฐมนตรีทั้งหลาย
1.ควรแยกแยะการแก้ไขปัญหาตามมูลเหตุแห่งกรณีของแต่ละพื้นที่ สร้างกลไกแก้ไขปัญหาเชิงรุก กำหนดรูปธรรมที่จับต้องได้ โดยรับฟังข้อเสนอของชาวบ้านเป็นหลักปรับมาตรการของรัฐให้สอดคล้อง          

 

2. เปลี่ยนทัศนะจากศัตรูเป็นเพื่อนร่วมงานเป็นมิตร ไม่สร้างความหวาดระแวงในหมู่ประชาชน

3.กรณีหอมแดงแม่แจ่ม ต้องใช้สมองทุกซีก คิดในกรอบและนอกกรอบ สร้างเป็นโอกาสฟื้นวิกฤตศรัทธาจากประชาชนเป็นแนวทางแก้ไขปัญหาให้กับกลุ่มเกษตรกรภาคอื่น พื้นที่อื่น ปัญหาอื่นๆ

ประเด็นอยู่ที่ว่า พวกท่านทั้งหลายรับรู้เรื่องราวหน้าศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ แล้วหรือยัง!?  จงตื่นได้แล้ว!!

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท