Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis







นำเสนอข้อเขียนของ แกนนำเยาวชน โครงการเยาวชนรู้เรียน Right to know (RTK) ซึ่งเป็นโครงการเกี่ยวกับการพัฒนารูปแบบการสื่อสารเรื่องเอดส์และเรื่องเพศแก่เยาวชน ดำเนินการโดย มูลนิธิพัฒนาเครือข่ายเอดส์ (เอดส์เน็ท) สำนักงานภาคเหนือ สนับสนุนงบประมาณโดยองค์การยูนิเซฟประเทศไทย


 


ชาฟิว มาเยอะ เยาวชนโครงการมิตรข้างถนน อ.แม่สาย จ.เชียงราย และแกนนำเยาวชน RTK


           


ก่อนข้ามสะพานมาที่แม่สายและอยู่ในโครงการมิตรข้างถนน ชาฟิวเป็นนักเรียนชั้น ม.2 ในประเทศพม่า เธอจำเป็นต้องออกจากบ้าน เพราะปัญหาความยากจนของครอบครัว มีพี่สาวคนหนึ่งแนะนำให้เธอมาที่โครงการมิตรข้างถนน


 


ชีวิตใหม่ของชาฟิว


 


ชาฟิวเริ่มต้นจากมาเรียนวิชาชีพเย็บผ้าและทำขนม ต่อมาได้ทำงานอาสาสมัครของโครงการมิตรข้างถนน


ในช่วงเช้าชาฟิวจะได้เรียนภาษาไทย ภาษาอังกฤษ เรียน กศน.และเรียนที่เอ็มพาวเวอร์ ช่วงบ่ายลงพื้นที่ทำงานตรงใกล้สะพานที่เชื่อมต่อระหว่างไทยพม่า มีเด็กๆ จำนวนมากข้ามมาที่ฝั่งไทย มีทั้งพวกเร่ร่อนขอทาน และขายเทปอยู่ตามตลาดแม่สาย มีมากถึง 30-40 คน บางคนแม่พามา บางคนมากับเพื่อนกับพี่


 


งานที่ซาฟิวทำคือเช็คข้อมูลเด็กและดูแลสุขภาพ ชาฟิวกับเพื่อนอาสาสมัครมีกระเป๋าใส่ยาไปด้วย เพราะพวกเด็ก ๆ ข้างถนน มักจะมีแผลผุพอง เป็นแผลรื้อรัง ทันทีที่เห็นเธอพวกเขาจะวิ่งมาหา


"ยามาแล้ว ยามาแล้ว" เด็ก ๆ ต่างวิ่งมาหาเธอ พร้อมกับบอกที่ตัวเองเจ็บ บางคนแผลหายแล้ว ก็ยังบอกว่า


"ยังไม่หาย.. เจ็บตรงนี้ ทาตรงนี้หน่อย"  เพราะเขาอยากให้พี่ ๆ ดูแล


 


บางวันเด็กพวกนี้ก็ถูกจับ พอจับแล้วเขาก็ปล่อย บางวันเด็ก ๆ ก็ถูกยิงด้วยหนังสติ๊ก เพราะทางฝั่งนี้เขาไม่อยากให้เด็กข้ามมา เด็ก ๆ จะวิ่งไปกลางสะพาน ถ้าอยู่กลางสะพานใครก็ทำอะไรไม่ได้ ปลอดภัย นอกจากทำแผลให้แล้ว เธอก็จะบอกพวกเขาว่า มีพี่ๆ สอนหนังสือให้ฟรีนะ ใครสนใจก็ไป


 


ชาฟิวบอกว่า "เด็กมาเรียนหนังสือที่โครงการมีตั้งแต่ 5 ขวบขึ้นไป เด็กบางคนพ่อแม่เขาเลี้ยงไม่ได้จริงๆ  พ่อแม่คนกินฝิ่นติดฝิ่นด้วยกันทั้งคู่  เขาก็ต้องออกมาขอเงินไปเลี้ยงพ่อแม่ พอเราทำงานกับเขา แม่เขาก็พยายามเลิกฝิ่นอยู่ แม่เขาก็มาที่นี่"


 


แม่ๆ ที่มาที่นี้ทำงานขายพวกผ้าเย็บลาย สร้อยข้อมือลูกปัดบ้างหินบ้าง มีเจ้าหน้าที่ที่นี่ช่วยออกแบบเช่นเอาผ้าที่แม่ปักมาทำเป็นการ์ดอวยพร สร้อยก็ออกแบบให้ทันสมัยขึ้น เมื่อมีงานประชุมงานสัมมนาก็ได้ขาย 


 


ชาฟิวบอกว่า ปัญหาก็คือไม่มีที่ทำมาหากินจริง ๆ 


 


นอกจากทำงานกับเด็กๆ ข้างถนนแล้ว ชาฟิวเป็นแกนนำเยาวชนโครงการ RTK ซึ่งตอนนี้มีอยู่ 4 คน มีชาฟิว ดาว นุและเดวิด  ชาฟิวมีปัญหาเดียวกับดาว คือไปมาไม่สะดวกเพราะไม่มีบัตรเหมือนกัน ปัญหาที่ทำบัตรไม่ได้ในช่วงนั้นเพราะชื่อชาฟิว ชื่อที่โรงเรียนกับทะเบียนบ้านไม่ตรงกันระหว่างชาฟิวกับชาเฟิล ถ้าจะทำได้อีกครั้งหนึ่งต้องอายุครบ 18 ก่อน


"บางครั้งก็เคลียร์ได้บางครั้งก็จ่ายเงิน"


 


แต่แม้จะลำบากเรื่องการเดินทางเข้าออกบ้าง แต่เธอบอกว่าไม่เป็นไร ชีวิตสบายกว่าอยู่ที่โน่น และอยู่ฝั่งไทยได้ช่วยเหลือน้องๆ คนที่อยู่ฝั่งโน้นด้วย


"เรื่องกลัวหนูไม่ค่อยกลัว เรื่องงานเรื่องเอดส์ เพื่อน ๆ ก็รู้อยู่ แต่เขาไม่รู้อย่างละเอียดเราก็บอกเขา ลงพื้นที่ทำงานกับพี่ดาวปัญหาที่ฝั่งโน้นก็แบบที่พี่ดาวเล่านั่นแหละ ไม่เปิดกว้าง เรื่องเพศเขาไม่ให้คุยกัน ทำงานยาก"


 


"เราก็มาประเมินกัน มาคุยกันว่าจะทำอย่างไรต่อ ทุกวันพุธ-พฤหัสจะประชุมกันที่นี่ ก็โอเคนะงานตรงนี้ทุกคนก็สนใจ มีใจ แล้วก็อยากทำ"


 


ความสนใจส่วนตัวของชาฟิวคือดนตรี เธอฝึกเล่นกีตาร์โดยฝึกเล่นเอง จากการไปดูไปฟังเขาเล่นและจำมาฝึกเอง เธอฝึกมาหลายปีแล้ว


 


ในวันอาทิตย์เธอจะได้พบกับน้องชาย ที่ออกจากบ้านเหมือนกัน แต่พักอยู่อีกแห่งหนึ่งและได้เรียน กศน.เช่นเดียวกัน เธอจะได้ฝึกกีตาร์กับน้อง ชาฟิวเล่นกีต้าร์และร้องเพลงอาข่าให้ผู้มาเยือนฟัง เธอบอกว่าเพลงแรกพี่ชายแต่ง ส่วนเพลงที่สองน้องชายแต่ง


 


"ปัญหาหนูคือความยากจน แม่อายุมากแล้วหกสิบกว่าปี มีลูก 9 คน แม่ไม่มีแรงทำงานให้ลูกแล้ว ถ้าหนูมีเงินก็ส่งไปให้แม่"


 


ความฝันของชาฟิวในวันข้างหน้า เธออยากจะเป็นนักดนตรี


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net