Skip to main content
sharethis

ประชาไท - 1 พ.ค.50 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เครือข่ายแรงงานนอกระบบ ร่วมกับแผนงานพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานนอกระบบเพื่อสุขภาวะ สสส. จัดเวทีเสวนาผลักดันนโยบาย "ร่วมคิด เร่งสร้าง ... การคุ้มครองแรงงานนอกระบบ: ชีวิตและงานที่มีคุณค่า" เมื่อวันที่ 30 เม.ย.ที่ผ่านมา


 


ทพ.ศิริเกียรติ เหลียงกอบกิจ ผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมสุขภาวะและลดปัจจัยเสี่ยงรอง สสส. กล่าวว่า ปัจจุบันจำนวนประชากรอายุ 15 ปีขึ้นไปที่อยู่ในวัยแรงงานมีทั้งสิ้น 50.4 ล้านคน เป็นผู้มีงานทำ 35.5 ล้านคน ในจำนวนนี้ เป็นแรงงานนอกระบบเกินครึ่ง ถึง 21.8 ล้านคน หรือ 2 เท่าของการจ้างงานในระบบ โดยภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นภาคที่มีแรงงานนอกระบบมากที่สุด คือ 8.8 ล้านคน หรือร้อยละ 77.9 ของแรงงานในพื้นที่ ส่วนภาคกลางมีจำนวนแรงงานนอกระบบ 4.4 ล้านคนหรือร้อยละ 47.8 ขณะที่กรุงเทพมหานคร มีแรงงานนอกระบบ 1.2 ล้านคน หรือร้อยละ 30.7 ทั้งหมดนี้ทำงานอยู่ในหลากหลายอาชีพ และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และกลายเป็นแรงงานส่วนใหญ่ของประเทศ


 


โดยแรงงานนอกระบบยังเข้าไม่ถึงสิทธิขั้นพื้นฐานหลายประการ เช่น งานที่ทำขาดความมั่นคง ไม่ได้รับค่าตอบแทนแรงงานที่เป็นธรรม งานที่ทำมีความเสี่ยงและอันตรายต่อสุขภาพ เข้าไม่ถึงกองทุนประกันสังคมและบริการอื่นๆ ของรัฐ และไม่สามารถใช้สิทธิในการรวมตัวต่อรอง เนื่องจาก พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ไม่ครอบคลุมการคุ้มครองแรงงานนอกระบบ และในขณะเดียวกันก็มิได้มีกฎหมายเฉพาะๆ ที่จะคุ้มครองแรงงานนนอกระบบอย่างเพียงพอ จากการสำรวจพบว่า แรงงานนอกระบบประสบอุบัติเหตุจากการทำงานถึง 2.9 ล้านคน ซึ่งการรักษาโดยใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติไม่สามารถครอบคลุมค่าใช้จ่ายและอุบัติเหตุหรือโรคที่เกิดจากการทำงานทั้งหมด


 


นายสมคิด ด้วงเงิน ประธานเครือข่ายแรงงานนอกระบบ กล่าวว่า รัฐบาลในอดีตมองเรื่องความมั่นคงของกองทุนมากกว่าการพัฒนาระบบสวัสดิการเพื่อคนทำงานที่ด้อยโอกาส แต่ภายใต้รัฐบาลคุณธรรมเราเชื่อมั่นว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลง โดยสนับสนุนให้เกิดสวัสดิการในรูปแบบของประกันสังคมแรงงานนอกระบบขึ้น โดยมีหลักการเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุข ให้แรงงานนอกระบบทุกกลุ่มอาชีพเข้าสู่กองทุน จ่ายเงินสมทบตามฐานของรายได้และได้รับการดูแลเมื่อประสบความยากลำบากในการดำเนินชีวิตโดยเบื้องต้นควรจัดสวัสดิการที่จำเป็นได้แก่ 1) เงินชดเชย การขาดรายได้เนื่องจากการเจ็บป่วย ประสบอุบัติเหตุและไม่สามารถทำงานได้ 2) กรณีทุพพลภาพ 3) กรณีเสียชีวิต ได้ค่าทำศพและเงินสงเคราะห์บุตรของผู้เสียชีวิต และ 4) กรณีชราภาพ และสำนักงานประกันสังคมต้องออกแบบการบริหารกองทุนที่จะจัดตั้งขึ้นนี้โดยเน้นการมีส่วนร่วมของแรงงานนนอกระบบในฐานะเจ้าของกองทุนที่แท้จริง  


 


นายณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า แรงงานนอกระบบเป็นแรงงานที่อ่อนแอ ทั้งยังไม่มีกฎหมายรองรับ ไม่มีการรวมตัวและต่อรอง จึงถูกเอาเปรียบถูกบังคับ ทำงานหนักแต่ค่าจ้างน้อย สวัสดิการน้อยหรือไม่มีเลย สภาพการทำงานไม่ดี เสี่ยงอันตรายต่อสุขภาพและชีวิต ในบางธุรกิจมีลักษณะเป็นธุรกิจนรก เช่น โรงงานนรก ซ่องโสเภณีบังคับ เป็นต้น มีการใช้แรงงานเด็กและแรงงานผู้หญิงอย่างไม่เหมาะสม เช่น แรงงานเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ใช้แรงงานหญิงมีครรภ์ ทำงานเกินวันละ 8-9 ชั่วโมง โดยไม่มีค่าล่วงเวลา และค่าจ้างต่ำกว่าค่าจ้างขั้นต่ำ


 


สิทธิในการรวมตัวและต่อรองตามอนุสัญญาขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ ไม่ได้จำกัดว่าจะต้องเป็นแรงงานที่มีนายจ้างเท่านั้น รัฐบาลควรให้กฎหมายคุ้มครองแรงงานและกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ครอบคลุมลูกจ้างทุกประเภท เพื่อให้ลูกจ้างได้รับการคุ้มครองชีวิตและสภาพการจ้าง รวมถึงการมีอำนาจต่อรองในตลาดแรงงาน นอกจากนี้ยังรวมถึงการประกันสังคมด้วย


 


ในช่วงบ่าย นายทวี ทองอยู่ ตัวแทนจากแรงงานนอกระบบที่ได้รับผลกระทบ เล่าว่า เขาทำงานขี่มอเตอร์ไซค์รับจ้างมาหลายสิบปี ปกติทำเงินได้ประมาณวันละสองร้อยกว่าบาท แต่หากรับส่งเอกสารด้วยจะได้วันละ 500 บาท รวมแล้วมีรายได้ประมาณ 4000 บาทต่อเดือน แต่เมื่อเจ็บป่วยก็ต้องหยุดขี่มอเตอร์ไซค์ทำให้ขาดรายได้ในวันนั้นๆ ไป นอกจากนี้ยังต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลเอง โดยเห็นว่าโครงการ 30 บาทฯ (ในอดีต) นั้นถ้าเสียเงิน (จ่ายค่ายาตามจริง) จะหายเร็ว แต่หากไม่เสียเงินก็ไม่หาย


 


นายทวี กล่าวถึงปัญหาที่ต้องการให้รัฐช่วยเหลือว่า เวลาวิ่งย้อนศร ตำรวจจะจับ โดยกล่าวเสริมว่า "ทีตำรวจย้อนศร ทำไมไม่จับ"


 


ด้านนายอภัย จันทนะจุลกะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวถึงร่าง พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงานรับงานไปทำที่บ้าน พ.ศ. ... ซึ่งเป็นฉบับที่กระทรวงแรงงานเสนอเข้าสู่การประชุมคณะรัฐมนตรีว่า ขณะนี้ ร่าง พ.ร.บ. ฉบับนั้น ครม. ได้ให้ความเห็นชอบแล้วเมื่อวันที่ 24 เม.ย. ที่ผ่านมา ต่อไปจะส่งเข้าสู่สำนักงานกฤษฎีกาและสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ตามลำดับ


 


ต่อคำถามว่า กฎหมายฉบับนี้จะเสร็จทันอายุของรัฐบาลชุดนี้ไหม นายอภัย กล่าวว่า อยากให้เสร็จทัน ก็ให้รัฐบาลนี้อยู่ยาวๆ  

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net