Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

มุทิตา  เชื้อชั่ง


 


 


การประกาศใช้ "ซีแอล" หรือมาตรการบังคับใช้สิทธิ ของกระทรวงสาธารณสุข ไม่มีคำถามเรื่อง "ความดีงาม" เพราะมันอยู่บนความต้องการรักษาชีวิตของผู้ป่วยที่ (ถูกทำให้) ยากไร้


 


การประกาศใช้ "ซีแอล" ของกระทรวงสาธารณสุข ไม่มีคำถามเรื่อง "ความชอบธรรม" เพราะข้อตกลงทริปส์สร้างความยืดหยุ่นในมาตรการนี้  องค์กรระหว่างประเทศมากมายให้การสนับสนุน ขณะเดียวกันสหรัฐอเมริกาก็ไม่กล้าฟันธงว่าทำผิดทริปส์ ทั้งตัวทูตเองก็ออกมาปัดข่าวให้วุ่นว่าที่ยกระดับให้ไทยเป็นประเทศต้องจับตามองเป็นพิเศษเรื่องละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาจนอาจถูกตัดจีเอสพีนั้น ไม่ใช่เพราะเรื่องซีแอล (ทั้งที่ใครๆ ก็รู้ว่าใช่ !)


 


ยังไม่นับรวมเหตุผลที่ว่า บริษัทยาทำกำไรบนชีวิตคนมากเกินไป (และอย่างยาวนาน) โดยอ้างเหตุผลเรื่องที่ต้องลงทุนวิจัยมหาศาล แต่ไม่ยอมให้ใครตรวจสอบ และไม่เคยมีการควบคุม (การทำกำไร) จนกลายเป็นอุตสาหกรรมที่ร่ำรวยติดอันดับต้นๆ ของโลก ทั้งที่ยารักษาโรคไม่ควรเป็นสินค้าที่การเข้าถึงขึ้นกับเงินในกระเป๋า


 


อย่างเดียวที่พอจะเป็นคำถามได้คือ ความฉลาด !!!


 


 


การบังคับใช้สิทธิเพื่อผลิตหรือนำเข้ายาติดสิทธิบัตรจากที่อื่นที่ถูกกว่า เป็นเพียงมาตรการเฉพาะหน้า ตามกติกาโลกที่วางกันไว้ เราไม่สามารถใช้ได้มากมายหลายครั้งนัก เพราะมีเงื่อนไขความจำเป็นที่กำหนดไว้ชัดเจน (แค่นี้ประเทศยากจนที่อาจหาญใช้ก็หืดขึ้นคอไปตามๆ กันแล้ว)  


 


หากจะดูแลชีวิตผู้คนกันในระยะยาว ทางเดียวที่จะเป็นไปได้คือ การพัฒนาศักยภาพของอุตสาหกรรมยาในประเทศ ซึ่งโชคดีเหลือคณาที่มันได้ "ถูกตอน" ไปแล้วเรียบร้อยตั้งแต่สมัยรัฐบาลอานันท์ฯ ของคณะรสช.(2535) คราวนั้นสหรัฐกดดันให้ประเทศกำลังพัฒนาอย่างไทยแก้กฎหมายสิทธิบัตรให้เข้มงวดล่วงหน้าชาวโลกไปหลายปี จนอุตสาหกรรมยาในบ้านที่กำลังพัฒนาอยู่ดีๆ ....ตายจ้อย


 


โจทย์ข้อนี้ ใครแก้สมการได้แล้ว กรุณาแจ้งไปที่สายด่วนสาธารณสุข หรือสายตรงทำเนียบรัฐบาล...


 


อย่างไรก็ตาม การบังคับใช้สิทธิก็เป็นมาตรการเฉพาะหน้าที่ควรต้องเริ่มใช้ เพื่อแก้ปัญหาสาธารณสุขของประเทศ เนื่องจากผู้ติดเชื้อ ผู้ป่วยโรคหัวใจ รวมถึงโรคเรื้อรังอื่นๆ มีแนวโน้มจะเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ตามวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป แต่ด้วยราคาที่ไม่เป็นธรรมเช่นที่เป็นอยู่ ทำให้รัฐบาลหรือบุคคลเองก็ตามไม่สามารถจะดูแลตัวเองในเรื่องนี้ได้ จึงจำเป็นต้องนำช่องทางที่พอมีอยู่มาใช้ เพราะโอกาสในการเข้าถึงยาจำเป็นเหล่านี้หมายถึงโอกาสในการมีหรือไม่มีชีวิตต่อไป


 


กระนั้น คนในแวดวงสาธารณสุขย่อมต้องรู้ดีว่า มาตรการกระตุกหนวดเสือนี้จะให้ผลอย่างไร มุขเดิมๆ อย่างการขู่ตัดจีเอสพีย่อมต้องเกิดขึ้นแน่นอน หรือการฟ้องร้องของบริษัทยาก็อาจเกิดได้ เพราะเกิดขึ้นอยู่บ่อยๆ กับหลายประเทศที่หาญกล้าท้าทาย (แต่การกดดันด้านเศรษฐกิจนั้นได้ผลชะงัดกว่าการกดดันผ่านกระบวนการยุติธรรมเสมอ)


 


คำถามคือ รัฐบาลเข้มแข็งพอที่จะยืนหยัดหรือไม่ ฝ่ายเศรษฐกิจกับฝ่ายสาธารณสุขมีความเป็นเอกภาพเพียงไร มีกลยุทธ์อย่างไรในการต่อรอง ถึงที่สุด หากโดนตัดจีเอสพีแล้วจะแก้ไขปัญหาแบบไหน ทิศทางเศรษฐกิจจะมีการปรับตัวอย่างไร ฯลฯ ... หลายคนได้แต่บนบานกับองค์จตุคามรุ่น1 ว่าคงมีการเตรียมการไว้หมดแล้ว !


 


แต่ว่าก็ว่า ดูจากการบริหารงานที่ผ่านมาของรัฐบาลซึ่งไม่มีความเชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจ ประกอบกับความเกรงอกเกรงใจนักลงทุนต่างประเทศเป็นล้นพ้น เพราะตัวเองขึ้นมาบริหารประเทศอย่างสวนยุคสมัย ก็ไม่แน่ว่า ซีแอลจะไปได้ตลอดรอดฝั่งหากสหรัฐเพิ่มแรงกดดันมากขึ้นกว่านี้


 


ด้วยสภาวการณ์เช่นนี้ หัวขบวนอันได้แก่เอ็นจีโอที่ทำเรื่องยา เรื่องเอดส์ จึงต้องเร่งรณรงค์ให้คนไทยเข้มแข็ง รวมพลังเป็นแบ็คอัพให้รัฐบาลที่ไม่เข้มแข็ง ซึ่งนั่นต้องทะลุทะลวงโจทย์ใหญ่ 2 ข้อ นั่นคือ


 


-มายาคติเรื่องการลงทุนมหาศาลในการค้นคว้าวิจัยของบริษัทยา ตลอดจนความเชื่อว่าโลกหมุนได้ด้วยระบบทรัพย์สินทางปัญญา จึงนับให้มันเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์อันละเมิดมิได้ โดยไม่ดูประวัติศาสตร์และพัฒนาการของมันในบริบทของเศรษฐกิจ การเมืองโลกที่แสนสลับซับซ้อน


 


-ความไม่ชอบธรรมของรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร มีผู้คนจำนวนไม่น้อยที่ยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตยและไม่ยอมรับรัฐบาลนี้ เขาควรจะตอบตัวเองอย่างไรสำหรับการสนับสนุนมาตรการนี้ ซึ่งเป็นนโยบายที่ดีจากรัฐบาลที่บิดเบี้ยว


 


 


 


อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางโจทย์น่าปวดหัวมากมายชวนท้อแท้ ยังมีประกายแห่งความหวังอยู่บ้าง เมื่อบรรดาประเทศกำลังพัฒนาและประเทศยากจนเริ่มส่งเสียงสนับสนุนกันอึงมี่ ตลอดจนมีบางประเทศในห้วงยามนี้  เช่น บราซิล ที่ตัดสินใจวินาทีสุดท้ายสดๆ ร้อนๆ บุกเบิกให้มาตรการนี้มีผลบังคับใช้หลังจากออกประกาศมาซักพัก และต่อรองราคากับบริษัทยามาหลายยกแล้ว แต่ไม่ได้ผลน่าพอใจ


 


หากว่านี่ไม่ใช่ความบังเอิญ หากว่านี่เป็นโอกาสให้ประเทศกำลังพัฒนาอีกหลายประเทศที่อยากใช้มาตรการนี้แต่กล้าๆ กลัวๆ ได้เรียนรู้ที่จะรวมพลังกันต่อรอง ก็นับว่าเป็นปรากฏการณ์ที่น่าสนใจ น่าลุ้นระทึกอยู่ไม่น้อย บางทีเราอาจจะได้เห็นศักราชใหม่ของระบบสาธารณสุขในหลายประเทศ


 


ว่าแต่ คราวนี้ควรจะบนบานกับอะไรดี !

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net